.
วีรพัฒน์ ปริยวงศ์: ยุบศาลไทย แต่เอาใจศาลโลก ?
ใน www.prachatai.com/journal/2012/07/41592 . . Tue, 2012-07-17 15:41
วีรพัฒน์ ปริยวงศ์
นักกฎหมายอิสระ
www.facebook.com/verapat
หลังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ฉบับ ‘ศุกร์ 13’ ผ่านไป ก็มีข่าวว่า ไทย-กัมพูชาจะ ‘ปรับกำลัง’ บริเวณปราสาทพระวิหาร โดยนำ ‘ทหาร’ บางส่วนออกจาก ‘เขตปลอดทหารชั่วคราว’ แล้วนำ ‘ตำรวจ’ เข้าไปแทนที่ แต่อาจยังมีทหารจำนวนหนึ่งคงอยู่เช่นเดิม กล่าวคือ ไม่ใช่ถอนทั้งหมด
การ ‘ปรับกำลัง’ ซึ่งอาจมองว่าทำเป็นมารยาทพองามในครั้งนี้ จะมีขึ้นในวันที่ 18 กรกฎาคม ซึ่งครบรอบ 1 ปี ที่ ‘ศาลโลก’ มีคำสั่งเรื่อง ‘เขตปลอดทหารชั่วคราว’ ที่ว่าพอดี (ดูเพิ่มที่ http://bit.ly/VP18July)
แต่ไม่ทันรอให้ปรับกำลังกันเสร็จ ส.ว. คำนูณ สิทธิสมาน ก็ตั้งข้อสังเกตน่าสนใจทำนองว่า ทีกรณี ‘คำสั่งศาลโลก’ รัฐบาลยิ่งลักษณ์บอกว่าต้องปฏิบัติตาม แต่พอเป็น ‘คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ’ ของไทยเอง กลับปฏิเสธว่าศาลไม่มีอำนาจ เช่นนี้ ถือว่า ‘2 มาตรฐาน’ หรือไม่ ?
ไทยโต้แย้งอำนาจ ‘ศาลโลก’ หรือไม่ ?
ในขั้นแรก คงต้องให้ความเป็นธรรมกับ ‘ฝ่ายไทย’ ซึ่งสู้คดีมาตั้งแต่ ‘สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์’ ว่า ไทยเองก็ ‘โต้แย้ง’ อำนาจศาลโลกมาตั้งแต่ต้น และก็ยังคงโต้แย้งต่อไปว่า คำร้องที่กัมพูชาขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารนั้น ‘ไม่เข้าเกณฑ์ที่ศาลโลกจะรับพิจารณา’ (inadmissible)
กล่าวคือ ไทยโต้แย้งว่า กัมพูชากำลังขอให้ศาลโลก ‘เพิ่มเติมคำตัดสิน’ ที่เกินเลยไปกว่าเรื่องเดิมที่ตัดสินไว้ใน พ.ศ. 2505 ศาลจึงต้องปฏิเสธคำขอของกัมพูชา
ที่สำคัญ ในคดีนี้เอง ศาลโลกได้ย้ำว่า ‘เขตปลอดทหารชั่วคราว’ เป็นเพียงเรื่องมาตรการชั่วคราวที่มุ่งป้องกันการปะทะกันด้วยอาวุธเท่านั้น และย้ำอีกว่า คำสั่งชั่วคราวย่อมไม่ก้าวเข้าไปวินิจฉัยประเด็นเรื่องดินแดนหรือเขตแดน หรือเส้นแผนที่ใด (เช่น ย่อหน้าที่ 21, 38 และ 61 ของคำสั่งฉบับวันที่ 18 กรกฎาคม 2554)
ยิ่งไปกว่านั้น หากพิจารณาคดีศาลโลกในอดีต เช่น คดี Avena ระหว่าง เม็กซิโกและสหรัฐฯ ก็จะเห็นว่า แม้ศาลโลกจะรับคำร้องและมีคำสั่งมาตราการชั่วคราวไประหว่างพิจารณาแล้วก็ตาม แต่ในที่สุด ศาลโลกก็ยังสามารถพิพากษาว่าคำร้อง ‘ไม่เข้าเกณฑ์ที่ศาลจะรับพิจารณา’ ได้
ดังนั้น แม้ไทยจะปฎิบัติตามคำสั่งชั่วคราวก็ตาม แต่ศาลโลกก็ยังคงรับฟังข้อโต้แย้งของไทยเรื่อง ‘อำนาจศาล’ อยู่ และหากจะบอกว่า ‘ฝ่ายไทย’ (ไม่ว่าจะรัฐบาลชุดไหน) ยอมตามศาลโลกหมดเลย ก็คงไม่เป็นธรรมนัก
ตรงกันข้าม หากกัมพูชายอมปรับกำลัง แต่ฝ่ายไทยขึงขังไม่ฟังศาลโลก ผู้พิพากษาบางท่านอาจนำพฤติการณ์ความแข็งกร้าวของฝ่ายไทยไปประกอบการตีความในคดี ซึ่งอาจไม่เป็นคุณต่อฝ่ายไทย ก็เป็นได้
ยุบศาลไทย แต่เอาใจศาลโลก ?
หากผู้ใดประสงค์จะเทียบกรณี ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ ของไทย กับ ‘ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ’ ของชาวโลก ก็ขอให้คำนึงถึงข้อพิจารณาดังนี้
ประการแรก อำนาจของ ‘ศาลโลก’ เรื่อง คำสั่งมาตรการชั่วคราวก็ดี หรือ เขตอำนาจ (jurisdiction) ในการรับคำร้องขอให้ตีความคำพิพากษาก็ดี ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนตาม ‘ตัวบทสนธิสัญญา’ ซึ่งประเทศไทยยอมรับผูกพันในฐานะสมาชิกของสหประชาชาติ และแม้แต่ ‘รัฐธรรมนูญไทย’ มาตรา 82 ก็บัญญัติให้ไทยพึงปฏิบัติตาม
ผิดจากกรณี ‘ศาลรัฐธรรมนูญไทย’ ที่ละเมิดไวยากรณ์ของมาตรา 68 ประเภทที่ครูภาษาไทยต้องส่ายหน้า จากนั้นก็ปลุกเสกเจตนารมณ์ (ของศาล) ขึ้นเองกลางอากาศ แต่สุดท้ายพออ่านคำวินิจฉัย กลับไม่แน่ใจในอำนาจตนเอง เลยได้แต่ยกคำร้อง แต่ก็อุตส่าห์สอดแทรกข้อเสนอแนะเรื่อง ‘การลงประชามติ’ ทั้งที่ไม่มีกฎหมายใดรองรับ
กล่าวคือ ‘ศาลรัฐธรรมนูญไทย’ ไม่มีแม้แต่ ‘เขตอำนาจ’ จะรับพิจารณาคดีการแก้รัฐธรรมนูญแต่แรก มิพักต้องพูดถึงความล้มเหลวของศาลในการอธิบายว่าคำร้องเข้า ‘หลักเกณฑ์การรับพิจารณา’ (inadmissible) หรือไม่ เช่น คำร้องที่ยื่นโดยคุณเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ซึ่งศาลกลับมีคำสั่งจำหน่ายคำร้องได้อย่างสะดวกมือโดยไม่ทราบว่ามีหลักเกณฑ์อย่างไร
ศาลไทย ‘ใหญ่’ คับโลก ?
ความพิสดารต่อไปของ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ ไทยที่อาจเกิดได้ คือ การใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ที่แม้จะไม่ได้บัญญัติถึงกรณีการปฎิบัติตามคำสั่งศาลโลกไว้ แต่ก็อาจมีผู้ตีความว่า ไทยและกัมพูชาจะไปตกลงถอนหรือปรับกำลังทหารตามคำสั่งศาลโลกไม่ได้ แต่อาจต้องขอสภาก่อน
โปรดอย่าลืมว่า คดี มาตรา 68 แสดงให้เห็นแล้วว่า ศาลไทยพร้อมที่จะปลุกเสกอำนาจคำสั่งชั่วคราว เพื่อให้รัฐสภาไทยชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ จึงคิดต่อว่า ศาลไทยจะสั่งฝ่ายบริหารไทย ให้ชะลอการถอนทหารร่วมกับกัมพูชาตามคำสั่งศาลโลกได้หรือไม่ !!??
หากพิจารณาหลักการของ มาตรา 190 ให้ถ่องแท้ การดำเนินการใดที่เป็นการประสานงานเป็นการชั่วคราวระหว่างฝ่ายบริหารของไทยและต่างประเทศ โดยเป็นเรื่องฝ่ายบริหารโดยแท้ เช่น การควบคุมเคลื่อนย้ายกำลังพล ซึ่งสภาได้มอบอำนาจตามกฎหมายให้ฝ่ายบริหารจัดการอยู่แล้ว การดังกล่าวก็มิต้องด้วยกรณีของมาตรา 190 ที่ต้องขอสภา
ในทางกลับกัน การพยายามยัดเยียดให้อำนาจของฝ่ายบริหารโดยแท้ เช่น การควบคุมเคลื่อนย้ายกำลังพลทหาร ตกอยู่ภายใต้อำนาจนิติบัญญัติหรือตุลาการตามมาตรา 190 นั้น นอกจากจะทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจและความรับผิดชอบในทางประชาธิปไตยแล้ว ยังจะก่อความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน จนสุ่มเสี่ยงต่อการทำลายสันติภาพระหว่างประเทศในที่สุด
เพื่อไทยควรเดินหน้า วาระ 3 หรือไม่ ?
ข้อกฎหมายถูกกล่าวถึงไปชัดพอแล้ว สิ่งที่ไม่ชัดกลับเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากศาล เพราะบัดนี้ ก็ยังไม่ชัดเจนว่า ศาลได้ลงมติวินิจฉัยประเด็นที่ 2 เรื่องการทำประชามติ ตามที่ข่าวรายงานว่ามีมติ 8 -0 หรือไม่ ? และหากมีการงดเว้นไม่ลงมติ จะถือว่าศาลทำผิดกฎหมายหรือไม่ ? (ดู http://bit.ly/Praden2 )
ผู้เขียนกล่าวได้แต่เพียงว่า รัฐสภาต้องยึดกฎหมายให้อยู่เหนือศาลรัฐธรรมนูญ หากศาลเองไม่กล้าจะวินิจฉัยให้ชัดว่า “ต้อง” ทำประชามติหรือไม่ แต่เลือกใช้ถ้อยคำว่า “ควร” ก็ย่อมเป็นหลักฐานว่าศาลยอมให้รัฐสภามีดุลพินิจในเรื่องดังกล่าว ซึ่งในการเดินหน้าต่อนั้น ผู้เขียนขอเสนอแนวทาง ที่สอดคล้องกับหลักกฎหมาย และน่าจะเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ดังนี้
(1) แทนที่สภาจะแสดงท่าทีไม่ฟังศาล สภาก็อาจเดินหน้าอย่างแยบยล โดยการน้อมรับความห่วงใยของศาลเรื่องการทำประชามติมาปฏิบัติ ‘ภายใต้กลไกและกรอบอำนาจของสภา’ เช่น การให้ ส.ส. ส.ว. ลงพื้นที่รับฟังความเห็นของประชาชนว่า ต้องการให้มีการเดินหน้าลงมติในวาระ 3 หรือไม่ แล้วจึงนำความเห็นจากแต่ละเขตเลือกตั้งมารับฟังแทนการทำประชามติ ก่อนเดินหน้าต่อ วาระ 3
(2) หากความเห็นที่ว่ายังไม่เป็นที่พอใจของผู้คัดค้าน รัฐสภาสามารถให้คำมั่นทางการเมืองแก่ประชาชนว่า ในวันที่ไปเลือกตั้ง ส.ส.ร. หากประชาชนกาช่อง ‘ไม่ประสงค์ลงคะแนน’ (Vote No) รวมกันทั้งประเทศสูงเป็นลำดับที่ 1 สภาก็จะกลับไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อยกเลิกการตั้ง ส.ส.ร. เพราะถือว่าประชาชนแสดงความประสงค์ว่าไม่ต้องการให้มีการตั้ง ส.ส.ร. (โดยยอมรับข้อจำกัดว่า อาจมีประชาชนบางส่วนต้องการให้มี ส.ส.ร. แต่ไม่ประสงค์เลือก)
(3) หากกระบวนการ Vote No ยังชัดเจนไม่พอ ก็ขอให้ผู้ที่ต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โปรดส่งตัวแทนมาลงสมัครเป็น ส.ส.ร. ในแต่ละเขต และประกาศเจตนารมณ์คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ชัดแจ้ง หากผู้ต่อต้านเหล่านี้ได้รับเลือกเข้าไปเป็น ส.ส.ร. เสียงข้างมาก ก็เพียงแต่ลาออกจากการเป็น ส.ส.ร. ซึ่งจะทำให้กระบวนการ ส.ส.ร. ต้องสิ้นสุดลงตาม ร่าง มาตรา 291/15
วิธีที่กล่าวมา เป็นขั้นตอนที่ประชาชนสามารถร่วมตัดสินใจยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้แม้จะมีการลงมติในวาระ 3 ไปแล้ว ที่สำคัญ แม้ ส.ส.ร. จะร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ แต่สุดท้ายก็จะต้องให้ประชาชนได้ลงประชามติเพื่อเลือกว่า จะเก็บรัฐธรรมนูญฉบับเดิมไว้หรือไม่ รัฐสภาจึงไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องยอมทำประชามติก่อนการลงมติ วาระ 3 ซึ่งไม่มีกฎหมายรองรับ อีกทั้งสิ้นเปลือง และไม่มีตัวเลือกที่ชัดเจนอีกด้วย
‘นิติราษฎร์’ เสนอยุบเลิกศาล ?
แม้ผู้เขียนจะวิพากษ์ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ ไว้มาก แต่ก็ทำไปด้วยความศรัทธาในสถาบันตุลาการและหวังให้วัฒนธรรมการวิพากษ์ตามครรลองประชาธิปไตยเป็นประหนึ่ง ‘วัคซีนทางปัญญา’ ที่สังคมจะนำมาใช้สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ทั้งตนเองและ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ ในระยะยาว
ผู้เขียนจึงต้องคิดหนัก เมื่อ ‘นิติราษฎร์’ ได้นำเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญ และจัดตั้ง ‘คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ’ ขึ้นมาแทน
ผู้เขียนเห็นพ้องในแนวคิดว่า ศาลรัฐธรรมนูญต้องถูกปฏิรูปอย่างเร่งด่วนโดยเฉพาะในแง่ที่มาของตุลาการ และเห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่า ‘ระบอบรัฐธรรมนูญ’ ต้องคงอยู่และสำคัญกว่า ‘ตัวรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ...’ ซึ่งอาจเปลี่ยนไปตามกาลเวลา
แต่ผู้เขียนก็ฝากความห่วงใยเบื้องต้น 7 ข้อ ให้ ‘นิติราษฎร์ ทั้ง 7’ โปรดทบทวนและอธิบายเพิ่มเติม ดังนี้
(1) การที่นิติราษฎร์เสนอให้ฝ่ายการเมือง (ส.ส. ส.ว. และ ครม.) เป็นผู้เลือกตุลาการทั้งหมดโดยไม่มีการกลั่นกรองหรือร่วมกระบวนการโดยองค์กรอื่นที่ไม่ใช่ฝ่ายการเมือง (แม้จะให้มีตุลาการมาจากศาลสูงอย่างน้อยสองคน หรือ ส.ว. จะถูกสรรหามาบางส่วนก็ตาม) จะทำให้เกิดปัญหาอย่างน้อยสองประการดังนี้ หรือไม่ ?
(1.1) ตุลาการไม่เป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง จนนำมาสู่ความอ่อนแอในการตรวจสอบผู้ที่เลือกตน และขาดความน่าเชื่อถือยิ่งกว่าศาลชุดเดิม
(1.2) ตุลาการทั้ง 8 ถูกเลือกโดยฝ่ายการเมืองที่ยึดโยงเสียงข้างมากทั้งหมด จนสุ่มเสี่ยงต่อกรณี ‘ทรราชเสียงข้างมาก’ (tyranny of the majority) เช่น การตีความกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงสิทธิของเสียงข้างน้อย
(โปรดสังเกตว่า การทำให้ตุลาการยึดโยงกับประชาชนอาจทำได้หลายรูปแบบและอาศัยส่วนร่วมได้จากองค์กรอื่นที่ไม่ใช่องค์กรการเมืองทั้งหมด นอกจากนี้ คุณค่าระดับอุดมการณ์ของระบอบประชาธิปไตยประการหนึ่ง คือ การเคารพความประสงค์ของเสียงข้างมาก แต่คุ้มครองสิทธิของเสียงข้างน้อย ซึ่งในทางหนึ่งอาจแสดงออกได้โดยการมีองค์กรตุลาการที่มีความเป็นตัวแทนของเสียงข้างน้อยโดยปริยาย หรือการอาศัยกลไกทางการเมืองในบริบทเฉพาะ เช่น การเสนอชื่อตุลาการโดยพรรคการเมือง 2 ขั้วที่สลับกันเป็นรัฐบาล)ใน
(2) นิติราษฎร์เสนอให้มีการเลือกผู้พิพากษาจากศาลสูงอย่างน้อยสองคน แต่หากไม่มีผู้พิพากษาศาลสูงยอมให้นักการเมืองมาชี้นิ้วเลือกเป็นตุลาการ จะมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร ?
(3) นิติราษฎร์เสนอให้อำนาจของคณะตุลาการชุดใหม่มีอำนาจดังที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอยู่ในปัจจุบัน (ร่างมาตรา 5) แต่วิธีการร่างของนิติราษฎร์ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า อำนาจการวินิจฉัยกฎหมายที่ถูกโต้แย้งในคดีตาม มาตรา 211 ก็ดี อำนาจการรับคำร้องโดยตรงจากประชาชนตาม มาตรา 212 ก็ดี หรือ อำนาจในการชี้ขาดข้อขัดแย้งระหว่างองค์กรรัฐธรรมนูญตาม มาตรา 214 ก็ดี จะถูกยุบเลิกไปโดยเหตุการยกเลิก หมวด 10 ส่วนที่ 2 ทั้งหมด (ร่างมาตรา 2) หรือไม่ และหากเลิกอำนาจเช่นนั้น จะจัดการคดีที่ค้างมาตาม ร่างมาตรา 8 อย่างไร ?
(4) นิติราษฎร์เสนอให้เพิ่มคำว่า “หลักการนิติรัฐประชาธิปไตย” (ร่างมาตรา 4 ในส่วน มาตรา 196/3) ซึ่งแม้นิติราษฎร์อาจมีนิยามทางวิชาการของกลุ่มเอง แต่อาจมีผู้สงสัยว่า “หลักการนิติรัฐประชาธิปไตย” ที่ว่านี้ แตกต่างไปจาก “หลักนิติธรรม” ซึ่งมีอยู่แล้วตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 หรือไม่ และการบัญญัติคำที่ต่างกันนี้ จะนำไปสู่ปัญหาว่าคณะตุลาการชุดนี้จะแตกต่างไปจากองค์กรอื่นของรัฐที่ถูกกำหนดให้ยึด “หลักนิติธรรม” หรือไม่ ?
(5) การกำหนดให้คณะตุลาการมีทั้งหมด 8 คน ซึ่งเป็นเลขคู่ และกำหนดว่ามติวินิจฉัยที่คะแนนเสียงเท่ากัน “ให้คำร้องเป็นอันตกไป” (ร่างมาตรา 4 ในส่วน มาตรา 196/11) นั้น มีผลในทางรัฐธรรมนูญอย่างไร เช่น หากเป็นคำร้องของประชาชนที่โต้แย้งกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ เท่ากับว่าคณะตุลาการไม่อาจคุ้มรองสิทธิเสรีภาพได้กระนั้นหรือ ? หรือหากเป็นกรณีที่มีความขัดแย้งระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญ จะหาทางออกอย่างไร ?
(6) ถ้อยคำของ ร่างมาตรา 4 ในส่วน มาตรา 196/13 ที่ว่า “ห้ามมิให้คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญกระทำการใดอันมีผลเป็นการขัดขวางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” นั้นกินความกว้างขวางมาก และอาจมีปัญหาในการตีความ เช่น หากรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติใดที่มีสาระสำคัญเป็นไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ การขัดขวางการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ว่าจะถูกตีความอย่างไร หรือ แม้แต่การใช้อำนาจอื่นของคณะตุลาการที่รับรองไว้ เช่น กรณีตาม มาตรา 65 หากมติของพรรคมีความสัมพันธ์กับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการจะยังสามารถวินิจฉัยยกเลิกมติได้หรือไม่ ?
(7) โดยรวมแล้ว ข้อเสนอของนิติราษฎร์สามารถบรรลุผลตามเจตนารมณ์ได้โดยวิธีการอื่น ที่ไม่ต้องยุบเลิกความเป็นสถาบันของศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ? เช่น การแก้ไขที่มาและจำนวนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะโดยการคงตุลาการชุดเดิมไว้และสรรหาหรือเลือกเพิ่มอีก 6 คน หรือ โดยการกำหนดให้ตุลาการทั้ง 9 คนพ้นจากตำแหน่ง และสรรหาหรือเลือกใหม่ตามกระบวนการที่ยึดโยงกับประชาชนและหลากหลายมากขึ้น แต่ทั้งนี้ โดยการรักษาคุณค่าและประสบการณ์ของความเป็นสถาบันศาลไว้ ?
โปรดระวัง ศาล 3จี ให้ดี !
พฤติกรรมการลุอำนาจและล่วงล้ำกฎหมายไม่ได้เกิดขึ้นได้เฉพาะที่ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ หรือ องค์กรการเมือง เท่านั้น แต่คนไทยโปรดระวังว่า ผู้ใช้อำนาจรัฐ หากไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ ก็มีแนวโน้มจะทำผิดกฎหมายและเอาเปรียบประชาชนได้เสมอ
ผู้เขียนเองได้ติดตามการใช้อำนาจของ กสทช. ในการออก “ร่างประกาศ กสทช. ว่าด้วยข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะที่เป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ. …” ซึ่งจะถูกนำมาใช้ “คัดกรอง” บริษัทที่จะเข้ามาประมูลขุมทรัพย์คลื่น 3จี ปลายปีนี้
ผู้เขียนเกรงว่า กสทช. กำลังใช้อำนาจที่ “เกินกฎหมาย” “ผิดตรรกะ” “ขัดหลักนิติศาสตร์” และ “ละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศ” ที่สำคัญ ยังเป็นการใช้อำนาจที่ “ทำลายประชาธิปไตย” โดย กสทช. รวบอำนาจให้ตนแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายได้เองแทน “รัฐสภา” แถมอุดช่องว่างกฎหมายได้เองแทน “ศาล” อีกทั้งยังกำหนดนโยบายการค้าการลงทุนของชาติได้เองแทน “รัฐบาล” !
ที่ผ่านมาผู้เขียนได้แสดงความเห็นเรื่องนี้ไปยัง กสทช. หลายครั้ง แต่ กสทช. ไม่มีทีท่าจะรับฟัง และจะยังคงเดินหน้าออกร่างประกาศฯ ดังกล่าว ในช่วงวันที่ 18 นี้ ซึ่งอาจนำไปสู่การฟ้องร้องเพื่อขัดขวางการประมูล 3จี หรือล้มประมูล 3จี ปลายปีนี้ และประชาชนอย่างพวกเรา ก็ได้แต่กระพริบตาปริบๆ ไม่ต่างจากที่ กสทช. ปล่อยให้ ‘จอดำ’ เกิดขึ้นมาแล้ว
ดังนั้น นอกจากเรื่อง ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ และ ‘ศาลโลก’ ก็ขอเชิญชวนประชาชนผู้ใช้มือถือทั้งประเทศ อย่าลืมตรวจสอบ กสทช. ที่กำลังลุอำนาจกลายมาเป็น ศาล 3จี เร็วจี๋จนจับไม่ทัน ! (ดูเพิ่มที่ http://bit.ly/3Gthai )
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย