http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-13

วีรพัฒน์: ความ ‘ตลก’ ของ ‘ตลก.’ ศาลรัฐธรรมนูญ

.

ความ 'ตลก' ของ 'ตลก.' ศาลรัฐธรรมนูญ
โดย วีรพัฒน์ ปริยวงศ์
ใน www.prachatai.com/journal/2012/07/41540 . . Fri, 2012-07-13 17:43
( และ http://news.voicetv.co.th/thailand/44596.html )


วีรพัฒน์ ปริยวงศ์
นักกฎหมายอิสระ
http://www.facebook.com/verapat



กฎหมายกำหนดว่า คำวินิจฉัยให้มีผลในวันอ่าน ดังนั้น ต้องยึดถือว่าสิ่งที่ศาลอ่าน เป็นคำวินิจฉัย
คำถามคือ สิ่งที่ ตลก.อ่านไป ฟังแล้ว 'ตลก' ไหมครับ ?


*** ตลก ที่ 1 ***

ศาลบอกบอกว่า ถ้าตั้ง สสร. แก้ทั้งฉบับ สภาจะต้อง (หรือ "ควร" ?) ไปถามประชาชนก่อน

ในขั้นแรก รัฐธรรมนูญ มาตรา 165 เองไม่ได้ให้อำนาจรัฐสภาไปทำประชามติถามประชาชน ผู้ที่จะทำประชามติได้ คือ คณะรัฐมนตรี แล้วศาลจะให้ 'ฝ่ายบริหาร' ไปก้าวล่วงถามเรื่องแก้รัฐธรรมนูญแทน 'ฝ่ายนิติบัญญัติ' กระนั้นหรือ ?

หรือศาลจะให้สภา ไปตรากฎหมายที่ 'เล็กกว่า' รัฐธรรมนูญ มาขอทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ 'ที่ใหญ่กว่า' ?

แล้วตอนไปถามประชาชน จะให้ถามว่าอะไรครับ จะให้เลือกระหว่าง 
ก. เลือกเก็บ รธน 2550 ทั้งฉบับไว้ 
กับ 
ข.  เลือกร่างใหม่ ที่ยังไม่ทันได้ร่าง 

แล้วจะให้ประชาชนเลือกอย่างไร ? ในเมื่อตัวเลือกมันยังไม่มีให้เลือก ?



*** ตลก ที่ 2  ***

ศาลบอกว่า แก้ทั้งฉบับ ต้องถามประชาชนก่อน  
แต่แก้ทีละมาตรา ไม่ต้องถามประชาชน

สรุป ถ้าจะแก้ทีละมาตรา ทั้งหมดซัก 300 มาตรา ..สภาทำได้ ไม่ต้องถามประชาชน ? 
ตรรกะนี้ผิดเพี้ยนมาก เอาคำหรู เช่น "อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ" มาอ้าง ก็ไม่ได้ช่วยให้มีตรรกะแต่อย่างใด


*** ตลก ที่ 3 ***

หลังศาลอ่านคำวินิจฉัย โฆษกศาลแถลงว่า ข้อกฎหมายที่ศาลวินิจฉัย คือ มาตรา 68 สรุปว่าไม่ได้มีการล้มล้างการปกครองฯ แต่พอถูกนักข่าวถามว่า ศาลวินิจฉัยเรื่อง มาตรา 291 ว่าห้ามแก้ไขทั้งฉบับหรือไม่ โฆษกกลับตอบว่า เป็นข้อเสนอแนะ เป็นความเห็น หากรัฐสภาดำเนินการต่อ ต้องรับผิดชอบเอง
แล้วสรุป ถ้าจะยกคำร้อง แล้ว จะยึกยัก แสดงความเห็นนอกประเด็นไปเพื่อเหตุใด ?


*** ผมย้ำอีกครั้งว่า *** 
ประเด็นของคดีนี้ คือ มาตรา 68 ไม่ใช่ มาตรา 291 ศาลจึงไม่มีอำนาจไปก้าวล่วงว่า มาตรา 291 แก้ไขอย่างไร
ขนาดสมัยประชาธิปัตย์แก้รัฐธรรมนูญทีละมาตรา แล้วเพื่อไทยนำไปร้องศาลตาม มาตรา 154 ศาลยังปฏิเสธคำร้องเพื่อไทย บอกว่า มาตรา 291 เป็น "เรื่องเฉพาะ" ที่สภาต้องดำเนินการสามวาระ ศาลไม่เข้าไปก้าวล่วง

มาตรา 291 กำหนดว่า เมื่อพ้น 15 วันหลังลงมติวาระ 2 ไปแล้ว สภามี "หน้าที่ตามกฎหมาย" ต้องเดินต่อไปยัง วาระ 3 
ดังนั้น เมื่อศาลวินิจฉัยแล้วว่า คดีนี้ไม่ขัด มาตรา 68 รัฐสภาต้องเดินหน้าต่อวาระสามตามที่ มาตรา 291 กำหนดไว้ รัฐสภาจะนำความเห็นหรือข้อเสนอแนะนอกคำวินิจฉัยมาใช้ไม่ได้
และหากประชาชนผู้รักประชาธิปไตยจะหลงตามศาลจนเสียงแตกกันว่า จะเดินหน้าวาระ 3 หรือไม่ ก็จะน่าเสียดาย

ส่วนถ้าสภาเดินต่อวาระ 3 แล้วมีคนไปฟ้องซ้ำว่าขัดมาตรา 68 ศาลก็ต้องตอบให้ชัดเจนว่า ที่บอกว่า มาตรา 291 แก้ได้อย่างนั้นอย่างนี้ เป็น "ความเห็น" ของศาล แต่ไม่ใช่ "คำวินิจฉัย"

เพราะคำวินิจฉัย วันศุกร์ที่ 13 นี้ มีผูกพันเพียงประการเดียว คือ "ยกคำร้อง" !



.