http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-23

ส่อ“ถอย”อีก โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

.
บทความอีกแง่หนึ่ง - ศึกรัฐธรรมนูญ ฝุ่นตลบ "การเมือง"ขยายแนวรบ จับตา"ประชามติ"

____________________________________________________________________________________________________

สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร : ส่อ“ถอย”อีก
ในมติชน ออนไลน์  วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 22:51:11 น.
( ที่มา คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 ของ นสพ.มติชนรายวัน 22 ก.ค.2555 )


โดยส่วนตัวอยากจะเห็นการลงประชามติ วัดใจคนไทยไปเลยว่า จะเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 ทั้งฉบับ ยกเว้นหมวดพระมหากษัตริย์ หรือไม่
เพราะจะทำให้หลายเรื่องชัดเจนขึ้น 
ถ้าเห็นชอบ ก็สามารถเดินหน้ารื้อรัฐธรรมนูญที่เป็นผลพวงการรัฐประหารได้โดยไม่ต้องกังวลกับขบวนการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ จากใครหรือฝ่ายใดอีก 
ใครขัดขวางก็เท่ากับไม่เคารพประชามติของประชาชน

เช่นกัน ในกรณีประชามติไม่ผ่าน 
พรรคเพื่อไทยก็ต้อง "ถอย" ไม่ผลักดันเรื่องนี้อีก 

ประชามตินอกจากจะทำให้เรื่องรัฐธรรมนูญชัดเจนแล้ว 
ที่จะทำให้ชัดเจนอีกประเด็นหนึ่ง นั่นก็คือ จะได้พิสูจน์ว่า รัฐบาล น.ส.  ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อยู่ในใจของชาวบ้านอย่างที่อ้างหรือเปล่า 
ซึ่งจะให้นัยยะทางการเมืองสูงยิ่ง



อย่างไรก็ตาม เมื่อลงสู่รายละเอียด พบว่าเรื่องประชามติไม่ง่ายอย่างที่คิด 
เดิมไปคิดถึงเฉพาะการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2550 
ซึ่งตอนนั้นผู้มีสิทธิออกเสียงมี 45,092,955 คน 
มาใช้สิทธิ 25,978,954 คน หรือ 57.61% 
เห็นชอบ 14,727,306 คน 56.69%  
ไม่เห็นชอบ 10,747,441 คน 41.37% 
และอย่างที่ทราบกัน คนอีสานที่มาใช้สิทธิ 8,350,677 คน หรือ 54.39% เห็นชอบ 3,050,182 หรือ 36.53% น้อยกว่าไม่เห็นชอบ 5,149,957 หรือ 61.67%

รัฐธรรมนูญ ปี 2550 จึงไม่ได้เป็นฉันทามติร่วมกันของคนทั้งประเทศ 
เสียงเห็นชอบก็ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด 
แต่ตอนนั้น ยึดหลักเพียงเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบก็ถือว่าผ่าน 
รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 จึงถือว่าได้รับความเห็นชอบ

ซึ่งแตกต่างจากตอนนี้ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 165 (2) ระบุว่า การออกเสียงประชามติ จะมีข้อยุติโดยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ  
นั่นก็หมายความว่า หากผู้มีสิทธิลงประชามติ มีจำนวน 45 ล้านคน ประชามติจะต้องได้เสียงสนับสนุนถึง 23 ล้านคน  
สูงลิบลิ่ว

แม้ นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง จะมาลดตัวเลขลงตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ปี 2552 มาตรา 9 ที่ระบุว่า การออกเสียงจะถือว่ามีข้อยุติ จะต้องมีผู้มาออกเสียงเป็นจำนวนเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียง  
นั่นก็หมายความว่า หากมีผู้มีสิทธิลงประชามติ 45 ล้านคน ต้องมีผู้มาใช้สิทธิ 22.5 ล้านคน 
และใน 22.5 ล้านคนนั้น ต้องเห็นชอบ 11.25 ล้านคนขึ้นไป  
ซึ่งก็ยังคงสูงไม่เบา ลุ้นกันเหนื่อย  

แถมยังอาจต้องตีความว่า การที่กฎหมายลูกไปขัดกับกฎหมายแม่ในรัฐธรรมนูญเช่นนี้ จะทำอย่างไร 
ออกอาการ "วุ่น" ให้เห็นตั้งแต่ไก่โห่  
เรื่องประชามติก็เลยทำท่าไม่ง่าย  


ยิ่งถ้าอีกฝ่ายซึ่งไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ออกมารณรงค์ต่อต้าน 
ด้วยการบอกให้ชาวบ้าน "นอนหลับทับสิทธิ" 
และอีกด้าน รณรงค์ให้ "โหวตคว่ำ" 
ก็ยิ่งหวาดเสียวขึ้นไปอีก


การที่รัฐบาลจะชนะโหวตประชามติ นอกจากชี้แจงเหตุผลดีๆ ที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว 
ความนิยมในรัฐบาลก็ถือว่ามีส่วนสำคัญด้วย 
 
แต่อย่างที่เราทราบ "ผลงาน" รัฐบาลที่ผ่านมา ยังไม่ดีตามที่คาดหวัง 
แถมพรรคประชาธิปัตย์ ก็เตรียมลับมีด ไว้เชือดในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจอีก

รัฐบาลก่อนประชามติคงไม่สวยเหมือน น.ส.ยิ่งลักษณ์แน่  
ด้วยเหตุผลที่ยกมา เลยอาจต้องทำใจว่า "การลงประชามติรัฐธรรมนูญ" อาจไม่เกิดขึ้น  
พรรคเพื่อไทยต้องถอยอีก?



+++

ศึกรัฐธรรมนูญ ฝุ่นตลบ "การเมือง"ขยายแนวรบ จับตา"ประชามติ"
คอลัมน์การเมือง ในมติชน ออนไลน์  วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 11:04:45 น.


หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกรณีคำร้องว่าการแก้ไขมาตรา 291 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 นั้น ขัดต่อมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน คือ ถือเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ 
ปรากฏว่า คำวินิจฉัยแบ่งเป็น 2 ส่วน หนึ่ง เป็นส่วนวินิจฉัย ตอบคำถามโจทย์ 4 ข้อ คือ 1.ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญสามารถรับคำร้องโดยตรงตามมาตรา 68 โดยไม่ต้องผ่านอัยการสูงสุดได้ 2.ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อให้มี ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ถือเป็นการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้่งฉบับต้องทำประชามติ และ 3.ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการแก้ไขมาตรา 291 ที่กำลังดำเนินการอยู่ไม่ถือว่าเป็นการล้มล้างการปกครองฯ ตามมาตรา 68

เมื่อการแก้ไขมาตรา 291 ครั้งนี้มิได้เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำให้ไม่ต้องพิจารณาข้อ 4.เรื่องยุบพรรค


สอง เป็นส่วนการแนะนำ คือ แนะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา หรือไม่ก็ต้องทำประชามติหากคิดจะยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพราะถือว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้รับการสถาปนาด้วยการทำประชามติก่อนประกาศใช้ ดังนั้น เมื่อจะมีการแก้ไขยกร่างใหม่จึงต้องใช้อำนาจของประชาชนด้วยการประชามติเช่นกัน 

คำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญเกิดเป็นปัญหาตามมา เพราะรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยเริ่มไม่แน่ใจว่าจะต้องทำอย่างไรต่อ โดยในพรรคเพื่อไทยเองยังมีกระแสเสียงแตกต่างกันไป 

ทางหนึ่งเห็นว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราไปเลยเพื่อความสบายใจ ทางหนึ่งเห็นว่าควรกลับมาทำประชามติก่อน อีกทางหนึ่งเห็นว่าให้ลงมติวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ค้างสภาอยู่ทันทีแล้วค่อยไปทำประชามติทีหลัง  
จนถึงขณะนี้ยังตกลงวิธีดำเนินการไม่ได้ สุดท้ายต้องขอทิ้งระยะด้วยการรออ่านคำวินิจฉัยกลางที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเปิดเผยในวันที่ 26 กรกฎาคมนี้ 
แต่ในบรรดาทางเลือกทั้งหมด การทำประชามติเพื่อผลักดันการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กลายเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในขณะนี้ ดังนั้น การเผชิญหน้าครั้งใหม่ในสนามการเมืองคงหนีไม่พ้นการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย

การทำประชามตินั้นมีบทบัญญัติมาตรา 165 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 เปิดทางไว้ให้ โดยบัญญัติว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งย่อมมีสิทธิออกเสียงประชามติ  
1.ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ากิจการใดเรื่องใดอาจกระทำถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือประชาชน นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีอาจปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงประชามติได้  
2.ในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีการออกเสียงประชามติ

ขณะที่นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง ขยายความวิธีทำประชามติว่าต้องทำตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การออกเสียงประชามติ ปี 2552
มี 2 กรณี คือ 1.การที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและมีผลกระทบต่อประชาชน และ 2.กฎหมายบัญญัติให้ออกเสียงประชามติ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มี 
การทำประชามติเป็นหน้าที่ของกรรมการการเลือกตั้ง โดยหัวใจของการลงประชามติ คือ 1.ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิต้องมีจำนวนเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง

และ 2.ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธินั้นเป็นประชามติ

ดังนั้น เมื่อเทียบผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือผู้มีสิทธิออกเสียงเมื่อการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ซึ่งมีจำนวน 46 ล้านคน เท่ากับว่าการทำประชามติต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิมากกว่า 23 ล้านคน 
ในจำนวน 23 ล้านคนนี้ ต้องมีเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่ง คือ 11.5 ล้านคน จึงถือเป็นประชามติเสียงข้างมาก  
ด้วยจำนวนตัวเลขที่ปรากฏทำให้มีผู้คาดการณ์ว่า สนามประลองกำลังทางการเมืองครั้งต่อไปคือ การทำประชามติ นี่เอง

ทั้งนี้ เพราะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 มีผู้มาใช้สิทธิประมาณ 35 ล้านคน เลือกพรรคเพื่อไทย 15.7 ล้านคน พรรคประชาธิปัตย์ 11.4 ล้านคน ที่เหลืออีกประมาณ 8 ล้านคนเลือกพรรคอื่น และไม่เลือก หรือทำบัตรเสีย 
ดังนั้น หากพรรคประชาธิปัตย์เดินเกมบอยคอต รณรงค์ไม่ให้คนไปลงประชามติ พรรคเพื่อไทยก็ต้องรณรงค์หาคนมาลงประชามติเพิ่มขึ้นอีก 23 ลบด้วย15 ล้านคน เท่ากับ 8 ล้านคน

ด้วยเหตุนี้ทำให้ฐานคะแนนเสียงของพรรคการเมืองอื่น ที่มิใช่พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์มีความสำคัญขึ้นมาทันที


ยิ่งเมื่อมีความเคลื่อนไหวล่าสุดจากพรรคภูมิใจไทยกลุ่มนายเนวิน ชิดชอบ ที่ขยับประชุมสมาชิกกลุ่ม พร้อมแพร่ข่าวยก 2 ล้านเสียงร่วมทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญออกมา ยิ่งตอกย้ำความสำคัญของฐานคะแนนเสียงของพรรคการเมือง
ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าการทำประชามติที่กำลังจะมีขึ้น จะเป็นการปะทะทางการเมืองยกใหม่

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเคยผ่านการประชามติมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2550 ซึ่งขณะนั้นก็มีความแตกแยก มีการข่มขู่ มีสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างกัน 
ย้อนกลับไปเมื่อการรับร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ประเทศไทยก็ชักธงเขียวสนับสนุน ธงเหลืองต่อต้าน

แต่แม้จะมีความขัดแย้ง ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็สามารถหาทางออกร่วมกันได้ ดังนั้น หากประเทศไทยจำเป็นต้องมีการทำประชามติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ควรจะใช้การประชามติเป็นทางออกให้แก่ประเทศ

ไม่ควรทำให้การประชามติกลายเป็นปัจจัยผลักดันประเทศเข้าสู่ทางตัน



.