.
สนามรบตุลาการ! แนวรบใหม่ในการเมืองไทย
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1667 หน้า 37
"ประชาชนคือผู้ออกกฎหมายอย่างแท้จริง
ในรัฐบาลทุกรูปแบบ"
Edmund Burke
นักปรัชญาชาวอังกฤษ
หลังจากการยึดอำนาจในวันที่ 19 กันยายน 2549 แล้ว เห็นได้ชัดเจนว่ากลุ่มอนุรักษนิยม-จารีตนิยมในการเมืองไทยได้เปิด "แนวรบใหม่" ด้วยการใช้กลไกของสถาบันตุลาการเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมือง
พวกเขาสร้างความชอบธรรมกับการใช้เครื่องมือเช่นนี้ด้วยการสร้างวาทกรรมที่เรียกว่า "ตุลาการภิวัฒน์" ขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอาศัยปัญญาชนบางส่วนในการนำเสนอแนวคิดนี้สู่สังคม
และต้องยอมรับว่า แนวคิดดังกล่าวได้รับการตอบรับจากกลุ่มการเมืองในปีกอนุรักษนิยม-จารีตนิยมอย่างมาก เพราะเป็นเครื่องมือใหม่ที่ทำให้ภาพลักษณ์ของผู้ใช้อำนาจยังมีความชอบธรรมอยู่ในตัวเอง
เพราะการใช้อำนาจเช่นนี้เป็นเรื่องของ "อำนาจตุลาการ" ไม่ใช่การใช้ในรูปแบบเก่า เช่น การยึดอำนาจหรือการรัฐประหาร ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเครื่องมือที่หมดความชอบธรรมในตัวเองลงอย่างเห็นได้ชัดในโลกปัจจุบัน
ก่อนอื่นคงต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่า คำว่า "ตุลาการภิวัฒน์" ไม่ใช่วาทกรรมที่มีนัยของภาษาใน "เชิงลบ" แต่อย่างใด เพราะโดยความเป็นจริง คำๆ นี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อบ่งบอกถึงบทบาทของสถาบันตุลาการใน "เชิงบวก"
กล่าวคือ เป็นบทบาทของสถาบันนี้ในการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนด้วยมาตรการทางกฎหมาย
หรือกล่าวง่ายๆ ก็คือ การอาศัยคำตัดสินของศาลในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในทางการเมืองของประชาชน
แต่ประเด็นที่จะต้องระมัดระวังในการใช้อำนาจเช่นนี้ก็คือ อาจจะทำให้สถาบันตุลาการต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองได้ไม่ยากนัก
ในประเทศที่การเมืองในระบอบประชาธิปไตยมีเสถียรภาพแล้ว ปัญหาเช่นนี้อาจจะไม่ยุ่งยาก ดังจะเห็นได้จากบทบาทของศาลสูงของสหรัฐอเมริกาที่มีการตีความกฎหมายในหลายๆ เรื่อง ที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แม้การตีความเช่นนี้อาจจะขัดแย้งกับท่าทีของฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) ก็ตามที
ตัวแบบของการให้ความคุ้มครองหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ในการตีพิมพ์เอกสารของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ในเรื่องของสงครามเวียดนาม หรือที่รู้จักกันในชื่อของ "เอกสารลับเพนตากอน" (The Pentagon Paper) อาจจะถือได้ว่าเป็นบทบาทของ "ตุลาการภิวัฒน์" ที่ชัดเจน เพราะถือว่าสังคมอเมริกันมีสิทธิที่สามารถรับรู้ถึงปฏิบัติการของรัฐบาลของตนในเวียดนามได้ หรืออย่างน้อยก็เป็นเรื่องของ "เสรีภาพในการเข้าถึงข่าวสาร" (Freedom of Information) เป็นต้น
ดังนั้น แม้คำตัดสินของศาลจะทำให้รัฐบาลต้อง "เสียหน้า" ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากการรั่วไหลของเอกสารลับและไม่สามารถสั่งให้ยุติการตีพิมพ์ได้ หรือเกิดจากข้อมูลลับหลายๆ อย่างปรากฏในเวทีสาธารณะ จนเสมือนเป็นการ "เปิดโปง" รัฐบาลอเมริกันก็ตาม
แต่ศาลก็ถือว่า สิทธิในการเข้าถึงข่าวสารของประชาชนเป็นประเด็นสำคัญ
จนอาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ศาลให้ความคุ้มครองต่อสิทธิเช่นนี้ของสาธารณชนมากกว่าจะคำนึงถึงเอกสิทธิของฝ่ายบริหารในเรื่องของเอกสารลับ
น่าสนใจว่าถ้าสถานการณ์แบบเดียวกันเกิดขึ้นในประเทศที่ระบอบประชาธิปไตยไม่มีเสถียรภาพ หรือเกิดกับประเทศที่การเมืองอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านแล้ว ผลจากการร้องขอของรัฐบาลต่อศาลให้มีคำสั่งให้หนังสือพิมพ์ยุติการตีพิมพ์เอกสารลับของกระทรวงกลาโหมนั้น จะจบแบบกรณีเอกสารลับเพนตากอนในการเมืองอเมริกัน หรือจะจบลงด้วยการสั่ง "เซ็นเซอร์" ด้วยอำนาจของรัฐบาลต่อการพิมพ์ดังกล่าว
ในอีกด้านหนึ่งถ้าเป็นการเมืองในระบอบเผด็จการ หรือในระบอบอำนาจนิยมแล้ว เรื่องเช่นนี้จัดการได้ไม่ยากเลย เช่น การจัดการด้วยอำนาจของ "ตำรวจลับ" หรือบางทีก็อาศัยอำนาจของทหาร ซึ่งก็อาจจะจบลงด้วยการหายตัวไปของบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว เป็นต้น
ตัวแบบของการใช้อำนาจของสถาบันตุลาการไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายในทางการเมือง ตราบเท่าที่พวกเขายึดเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก
แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามหากสถาบันตุลาการตัดสินใจเข้าสู่เวทีการต่อสู้ทางการเมืองในลักษณะของการใช้อำนาจเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของชนชั้นนำ อย่างเช่นที่กำลังเกิดขึ้นกับการเมืองในตะวันออกกลางแล้ว ผลที่ตามมาก็คือ การเปิด "แนวรบใหม่" ในทางการเมืองนั่นเอง
จนวันนี้อาจจะเห็นได้ว่า ผลพวงของ "อาหรับสปริง" จากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในอียิปต์นั้น ดูจะเป็นการเปลี่ยนผ่านอำนาจจากกลุ่มทหารไปสู่กลุ่มตุลาการ
ดังจะเห็นได้ถึงบทบาทใหม่ทางการเมืองของสถาบันตุลาการในอียิปต์
และขณะเดียวกันก็เกิดปรากฏการณ์คล้ายคลึงกันในหลายๆ ประเทศที่สถาบันตุลาการมีบทบาททางการเมืองอย่างชัดเจน ปรากฏการณ์เช่นนี้กำลังเป็นข้อสังเกตว่า การเมืองในระยะเปลี่ยนผ่านของต้นศตวรรษที่ 21 นั้น อำนาจอาจเปลี่ยนผ่านจากสถาบันทหารไปสู่สถาบันตุลาการมากขึ้น
ปรากฏการณ์เช่นนี้สามารถกล่าวเป็นข้อสรุปอย่างหยาบๆ ได้ว่า รัฐประหารด้วยการยึดอำนาจของทหารในแบบเก่านั้นกำลังสิ้นพลังลง จนกลุ่มชนชั้นนำต้องแสวงหาเครื่องมืออื่นที่ทรงพลังในการจัดการทางการเมือง และขณะเดียวกันก็สามารถดำรงความชอบธรรมทางการเมืองไว้ได้ด้วย
ซึ่งเครื่องมือนี้ในสถานการณ์ปัจจุบันไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการใช้อำนาจของสถาบันตุลาการในทางการเมือง
ถ้าการใช้อำนาจของสถาบันตุลาการในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้น เราอาจจะเรียกว่าเป็น "ตุลาการภิวัฒน์เชิงบวก" แต่ถ้าเป็นการใช้อำนาจเพียงเพื่อการคุ้มครองผลประโยชน์และอภิสิทธิ์ของชนชั้นนำในทางการเมืองแล้ว ก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็น "ตุลาการภิวัฒน์เชิงลบ"
และดูเหมือนว่า เรากำลังเห็นบทบาทในลักษณะเชิงลบมากขึ้นกับการเมืองในระยะเปลี่ยนผ่านของหลายๆ ประเทศในปัจจุบัน จนหลายๆ ฝ่ายเชื่ออย่างมั่นใจว่า กระบวนการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลแบบไม่ปกติในอนาคตนั้น ไม่ใช่การใช้เครื่องมือของทหารดังเช่นรูปแบบของการรัฐประหารแบบเก่าอีกต่อไป
แต่การเปลี่ยนที่ดูเหมือนสามารถสร้างความชอบธรรมของการใช้อำนาจแบบไม่ปกตินั้นจะกระทำได้ดีกว่าด้วยเครื่องมือของสถาบันตุลาการ
ซึ่งตัวแบบเช่นนี้ต้องถือว่าเป็น "ความใหม่" ทางการเมืองเป็นอย่างยิ่ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เครื่องมือเช่นนี้สามารถลดแรงเสียดทานทางการเมืองได้อย่างมากด้วย เพราะทำให้โลกภายนอกเห็นว่ากระบวนการของการจัดการกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองกระทำโดยตุลาการ
มิใช่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจของกองทัพ ซึ่งมักจะถูกมองว่าเป็นอำนาจที่ไม่ชอบธรรมในทางการเมืองและอาจถูกต่อต้านได้ง่าย
หากพิจารณาจากปัญหาการเมืองไทยชุดปัจจุบัน การใช้อำนาจของตุลาการเชิงลบเป็นสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนนับตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา
กรณีการยุบพรรคไทยรักไทยกลายเป็นตัวอย่างแรกของอำนาจตุลาการภิวัฒน์และเป็นปรากฏการณ์อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่ก็อธิบายในอีกด้านหนึ่งได้ว่า เป็นเพราะอำนาจของทหารในการเมืองเป็นสิ่งที่ไม่มีพลัง และไม่สามารถสถาปนาอำนาจเด็ดขาดของผู้ชนะจากการรัฐประหาร 2549 ได้แต่อย่างใด
สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนขึ้นก็คือ รัฐประหารกลายเป็นเครื่องมือที่ไม่สามารถทำให้ชนชั้นนำสามารถควบคุมระบบการเมืองได้ และที่สำคัญก็ไม่เอื้อให้พรรคการเมืองในสายอนุรักษนิยมประสบชัยชนะในทางการเมือง และทั้งยังไม่สามารถทำให้ระบบการเมืองมีเสถียรภาพจนเป็นสัญญาณของความสำเร็จได้แต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามรัฐประหารกลับกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพมากขึ้น สภาพเช่นนี้อาจกล่าวได้ไม่ยากนักว่า รัฐประหารไม่เป็นเพียงเครื่องมือที่อ่อนด้อยในทางการเมืองเท่านั้น หากแต่ยังเป็นเครื่องมือที่ล้าสมัยกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีกด้วย
ในส่วนของไทยหลังจากกรณีการยุบพรรคไทยรักไทยแล้ว ก็เห็นกรณีอื่นๆ เช่น การออกคำตัดสินยุบพรรคครั้งที่ 2 จากกรณีอดีตนายกรัฐมนตรีทำรายการทำกับข้าว จนทำให้การตัดสินใจในคดีนี้ต้องเปิดพจนานุกรมเพื่อใช้เป็นเครื่องช่วยในการตัดสิน และนายกรัฐมนตรีสมัครก็หลุดจากตำแหน่ง
หรือต่อมาก็เห็นได้จากกรณีของ นายนพดล ปัทมะ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ) ที่ถูก "ถอด" ด้วยกรณีแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา-ยูเนสโก หรือกรณีการตัดสินยุบพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หากเป็นในอดีต การออกคำตัดสินของฝ่ายตุลาการคงไม่มีการโต้แย้งมากเท่าใดนัก ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเกรงการ "หมิ่นศาล" และก็ดูจะเป็นประเพณีที่ผู้คนโดยทั่วไปก็มักจะให้ความเคารพกับบุคคลที่มีตำแหน่งเป็น "ตุลาการ" ดังจะเห็นได้ว่า เราแทบจะไม่เคยมีปรากฏการณ์ของการ "โต้ศาล" แต่ประการใด
แต่ผลพวงจากการใช้อำนาจของสถาบันตุลาการที่เป็น "ตุลาการภิวัฒน์เชิงลบ" จนนำไปสู่การสร้างวาทกรรม "สองมาตรฐาน" นั้น กลายเป็นปรากฏการณ์ที่รับรู้กันอย่างกว้างขวาง
และจะพบได้ว่า วาทกรรมดังกล่าวได้รับการตอบรับอย่างมาก จนกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงขยายตัวได้อย่างมากเช่นในปัจจุบัน
หลังรัฐประหาร 2549 เราได้เห็นปรากฏการณ์ใหม่อีกชุดหนึ่งก็คือ ฝ่ายต่อต้านรัฐประหารสามารถตอบโต้การใช้อำนาจของตุลาการได้อย่างแหลมคม
การกำเนิดของกลุ่มนักวิชาการทางกฎหมาย ได้แก่ กลุ่ม "นิติราษฎร์" จนกลายเป็นการต่อสู้อย่างเข้มข้นกับการใช้อำนาจของกลุ่มตุลาการภิวัฒน์
ดังนั้น ถ้าวันนี้สนามรบใหม่ของการเมืองไทยคือ การใช้อำนาจของชนชั้นนำผ่านสถาบันตุลาการ ฝ่ายคัดค้านก็ประสบความสำเร็จอย่างมากกับการก่อตัวและขยายบทบาทของกลุ่ม "นิติราษฎร์" จนอาจต้องยอมรับว่า บทบาทของกลุ่มนี้กลายเป็นพลังทางการเมืองที่สำคัญของฝ่ายต่อต้านชนชั้นนำในปัจจุบัน
ตัวอย่างเช่นบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีการรับคำร้องของบุคคล โดยเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะนำพาไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น จะเห็นได้ว่ากลุ่มที่ออกมาตอบโต้กับการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองปีกขวาในกระบวนการตุลาการภิวัฒน์อย่างเข้มแข็งก็คือ กลุ่ม "นิติราษฎร์"
จนอาจกล่าวได้ว่า กลุ่มนิติราษฎร์ในวันนี้มีฐานะเสมือน "ตุลาการประชาชน" ได้แสดงบทในการตีโต้การรุกของชนชั้นนำอย่างแหลมคม
ดังนั้น คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า ใน "สนามรบด้านตุลาการ" ซึ่งในอดีตชนชั้นนำเป็นผู้ครองเวทีนี้อย่างชัดเจนนั้น วันนี้สนามรบด้านตุลาการกำลังถูกท้าทายเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าพวกเขาจะนำเสนอวิธีการใดหรือมาตรการทางกฎหมายอย่างใด ก็มักจะถูกตอบโต้กลับโดยกลุ่มนิติราษฎร์ซึ่งเป็นดัง "ตุลาการประชาชน" ทุกครั้งไป
และที่สำคัญก็คือ ชุดคำอธิบายทางกฎหมายของกลุ่มนิติราษฎร์ได้ถูกส่งผ่านไปยังกลุ่มคนต่างๆ ในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบรรดาคนในชนบทที่วันนี้เสมือนกำลังเข้า "คอร์สวิชากฎหมาย" กับคณาจารย์จากกลุ่มนิติราษฎร์อย่างขะมักเขม้น
วันนี้เราได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง การเมืองชุดเก่าที่ใช้เครื่องมือทหารในการยึดอำนาจรัฐกลายเป็นความล้าหลัง และเป็นตัวแบบของความล้มเหลว ตัวแบบใหม่เป็นพลังของอำนาจตุลาการ แต่หากการใช้พลังนี้เป็นเพียงการต่อสู้เพื่อคงไว้อำนาจของชนชั้นนำแล้ว ในที่สุดเครื่องมือดังกล่าวก็หมดพลังลงได้ไม่ยากนัก เพราะจะถูกต่อต้าน
และที่สำคัญก็คือถูกเปิดโปงจาก "ตุลาการประชาชน" เช่น ที่ตุลาการภิวัฒน์กำลังเผชิญกับการตอบโต้อย่างแหลมคมจากกลุ่มนิติราษฎร์...
ฤๅว่าตุลาการภิวัตน์สิ้นมนต์ขลังแล้ว!
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย