http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-21

ปัญหาพระวิหาร : ระเบิดเวลารัฐบาลยิ่งลักษณ์! โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

ปัญหาพระวิหาร : ระเบิดเวลารัฐบาลยิ่งลักษณ์!
โดย สุรชาติ บำรุงสุข  คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1666 หน้า 37


"ด้วยเหตุผลเช่นนี้ ศาลจึงมีมติเอกฉันท์ยกคำร้องของราชอาณาจักรไทยที่ให้ถอนคดี
ที่ถูกนำเสนอโดยราชอาณาจักรกัมพูชาในวันที่ 28 เมษายน ค.ศ.2011
ออกจากบัญชีทั่วไปของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ"
มาตรการชั่วคราวกรณีปราสาทพระวิหาร
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

(คำแปลไม่เป็นทางการ)



นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2554 เป็นต้นมา ต้องถือว่ารัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกทดสอบด้วยเรื่องต่างๆ อย่างหนักหน่วงมาโดยตลอด เพราะหลังจากเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาลในเวลาไม่นานนัก สังคมไทยต้องเผชิญกับสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนก็คือ "มหาอุทกภัย" ที่เกิดขึ้นในวงกว้าง และก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อทรัพย์สินและความน่าเชื่อถือของรัฐบาล แต่ในที่สุดนายกรัฐมนตรีก็สามารถนำพา "รัฐนาวา" ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ฝ่ากระแสน้ำเชี่ยวมาได้อย่างปลอดภัย และถือกันว่ามหาอุทกภัยครั้งนี้เป็นบททดสอบที่สำคัญยิ่งต่อรัฐบาล
ต่อมาในปี 2555 ก็มีบททดสอบอื่นๆ ตามมา เพียงแค่ในช่วง 6 เดือนแรกของปี บททดสอบนี้มีตั้งแต่เรื่องของการโจมตีทางการเมืองของฝ่ายค้าน ตลอดรวมถึงเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นกรณีราคาพลังงานหรือราคาสินค้าในตลาดก็ตาม 
หากแต่ประเด็นสำคัญกลับเป็นเรื่องของความพยายามในการนำร่างกฎหมายปรองดองเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งก็ถูกฝ่ายค้านและกลุ่มต่อต้านเปิดเวทีโจมตีอย่างหนัก จนในที่สุดรัฐบาลตัดสินใจถอย...
ตามมาด้วยความพยายามในการผลักดันร่างแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญเข้าสู่รัฐสภา ซึ่งก็คาดเดาได้ไม่ยากว่าจะถูกต่อต้านอย่างรุนแรงอีก จนถึงขนาดมีกลุ่มบุคคลไปร้องศาลรัฐธรรมนูญว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญก็รับคำร้อง และใช้อำนาจแทรกแซงกระบวนการทางรัฐสภา อันตามมาด้วยการให้ฝ่ายต่างๆ ไปให้ปากคำต่อศาล
เช่นเดียวกันในกรณีนี้รัฐบาลก็ถอยอีกครั้ง หรือเป็นการถอยทางการเมืองครั้งที่ 2...

ต่อมาก็มีกรณีขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือ "นาซา" ที่ได้มีคำร้องขอถึงรัฐบาลไทยตั้งแต่เมื่อครั้งรัฐบาลที่แล้ว (ก่อนการเลือกตั้ง) แต่เมื่อรัฐบาลปัจจุบันเข้ามารับตำแหน่งและต้องตอบคำร้องขอของนาซาในการบินสำรวจอากาศ โดยเฉพาะการถ่ายภาพก้อนเมฆ 
รัฐบาลซึ่งมีท่าทีว่าจะยอมตามคำขอดังกล่าว กลับถูกฝ่ายค้านกดดันให้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รัฐบาลซึ่งกังวลอย่างมากกับกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ด้วยการใช้อำนาจของสถาบันตุลาการในทางการเมือง โดยเฉพาะบทเรียนในอดีตจากกรณีของ นายนภดล ปัทมะ ในกรณีปราสาทพระวิหารในสมัยรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช และกรณีปัจจุบันในการยับยั้งการพิจารณาร่างแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญของรัฐสภา ตลอดรวมถึงกรณีอื่นๆ ล้วนแต่ก่อให้เกิดความกังวลอย่างมากกับอนาคตของรัฐบาล
ผลที่เกิดขึ้นก็คือ รัฐบาลตัดสินใจไม่นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การประชุมของคณะรัฐมนตรี จนทำให้คำขออนุญาตในการวิจัยความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศในไทยและในภูมิภาคต้องยุติไปโดยปริยาย อันถือได้ว่าเป็นการถอยทางการเมืองครั้งที่ 3 ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

ปรากฏการณ์เช่นนี้อาจกล่าวได้ว่า ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลยิ่งลักษณ์ถอยร่นใหญ่ถึง 3 ครั้ง และเป็นความหวังว่า การถอยร่นเช่นนี้จะมีส่วนโดยตรงที่ทำให้อายุของรัฐบาลยืนยาวขึ้น เพราะรัฐบาลดูจะกังวลอย่างมากว่า หากตัดสินใจเผชิญหน้ากับเรื่องต่างๆ แล้ว อาจจะส่งผลให้โอกาสการอยู่รอดของรัฐบาลนั้นหดสั้นลงได้


อย่างไรก็ตาม ผลจากการถอยทางการเมืองดังกล่าวทำให้เกิดคำถามตามมาว่า นับจากเดือนที่ 7 เป็นต้นไป รัฐบาลจะต้องเผชิญกับปัญหาอะไรที่หนักหน่วงอีกหรือไม่ แน่นอนว่า หากมองจากการเมืองภายในมีเรื่องราวหลายๆ ประเด็นที่ท้าทายรออยู่ข้างหน้าอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐสภาเปิดการประชุมขึ้นอีก
แต่ถ้ามองจากการเมืองภายนอกแล้ว สิ่งที่น่ากังวลในอนาคตอาจจะมีทั้งเรื่องของปัญหาเศรษฐกิจขนาดใหญ่จากกรณีวิกฤตการเงินในยูโรโซน ไปจนถึงปัญหาเก่าที่ค้างคามาจากการต่อสู้ทางการเมือง อันได้แก่ ปัญหาพระวิหาร ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาได้ยื่นให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ตีความคำตัดสินเดิมในปี 2505 เป็นต้น

ปัญหายูโรโซนเป็นเรื่องใหญ่ของยุคสมัยอย่างปฏิเสธไม่ได้ และอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของโลกอย่างมาก แต่ถ้าจะถามว่ารัฐบาลไทยจะทำอะไรได้หากไทยเผชิญกับปัญหาดังกล่าว คงต้องยอมรับว่ากรณีนี้ออกจะใหญ่เกินกว่าที่รัฐบาลท้องถิ่นประเทศหนึ่งจะทำอะไรได้ จนบางทีอาจต้องยอมรับว่าสิ่งที่รัฐบาลประเทศเล็กๆ จะทำได้ก็คือ การ "รอดู" ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

ในส่วนของปัญหาของการตีความคำตัดสินเดิมในกรณีปราสาทพระวิหารนั้น ดูแล้วน่าจะเป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์อาจจะต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะศาลโลกได้ออก "มาตรการชั่วคราว" ตามคำร้องของรัฐบาลกัมพูชาหลังจากการสู้รบเกิดขึ้นตามบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา และมาตรการนี้ได้ออกมาตั้งแต่กลางปี 2554 แล้ว แต่ทุกอย่างก็ดูจะถูก "เก็บเงียบ" เอาไว้ เพราะว่าไปแล้วไม่มีรัฐบาลไหนอยากแบกรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการออกมาตรการชั่วคราวดังกล่าว 
แต่สังคมไทยคงต้องทำความเข้าใจว่า ผลจากความขัดแย้งอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการยื่นขอจดทะเบียนพระวิหารเป็นมรดกโลกในปี 2550 นั้น ได้ถูกนำมาใช้เป็นประเด็นในการปลุกระดมทางการเมืองอย่างมากนับจากปี 2551 เป็นต้นมา จนปัญหาขยายตัวเป็นความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาในเวลาต่อมา ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวในที่สุดแล้วก็นำไปสู่การสู้รบถึง 2 ครั้งที่จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดสุรินทร์ ในช่วงเดือนมิถุนายน 2554 (ก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554)

ผลจากความขัดแย้งเช่นนี้ทำให้รัฐบาลกัมพูชายื่นต่อศาลโลกให้ออก "มาตรการชั่วคราว" (provisional measures) เพื่อคุ้มครองปราสาทพระวิหาร และศาลโลกพิจารณาเห็นว่ามีโอกาสที่การสู้รบจะเกิดขึ้นอีกในพื้นที่ความขัดแย้งดังกล่าว อันจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ตัวปราสาท ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว 
ดังนั้น ศาลโลกจึงได้ออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า


มาตรการชั่วคราวนี้ได้กำหนดให้รัฐคู่กรณีทั้งสองฝ่ายต้องนำเอา "กำลังทหาร" ออกจากพื้นที่รอบๆ ตัวปราสาทพระวิหาร ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวศาลโลกได้ลากเส้นตรงกำกับด้วยพิกัดทางภูมิศาสตร์ทั้งสี่ทิศ และถือว่าพื้นที่นี้เป็น "เขตปลอดทหารชั่วคราว" (provisional demilitarized zone) โดยพื้นที่นี้จะต้องปลอดจากกำลังทหารของทั้งสองฝ่าย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ รัฐคู่กรณีจะต้องถอนเจ้าหน้าที่ทางทหารทั้งหมด (all military personnel) ออกจากพื้นที่ดังกล่าว 
และการกำหนดของมาตรการชั่วคราวนี้ไม่ใช่แค่เพียงห้ามการมีกำลังทหารไว้ในเขตปลอดทหารชั่วคราวเท่านั้น หากแต่ยังห้ามมีกิจกรรมทางทหาร (armed activity) ในพื้นที่นี้อีกด้วย
นอกจากนี้ ศาลโลกยังกำหนดให้รัฐทั้งสองฝ่ายต้องให้ความร่วมมือกับอาเซียน ด้วยการอนุญาตให้ "ผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศ" ที่จะถูกแต่งตั้งโดยอาเซียนให้สามารถเข้าสู่พื้นที่เขตปลอดทหารชั่วคราวได้

และที่สำคัญศาลยังได้ออกมาตรการให้กัมพูชาสามารถเข้าถึงตัวพระวิหารได้อย่างเสรี (free access) และทั้งสามารถส่ง "สิ่งสนับสนุน" ในลักษณะที่เป็น "ของสด" (fresh supplies) ให้เจ้าหน้าที่ที่ไม่ใช่ทหารของกัมพูชาที่ประจำอยู่ที่พระวิหารได้ โดยประเทศไทยจะต้องไม่ขัดขวางการเข้าถึงอย่างเสรีของฝ่ายกัมพูชาในกรณีนี้  
มาตรการชั่วคราวของศาลโลกนี้เป็นเสมือน "คำตัดสินชั่วคราว" ที่มีผลผูกพันรัฐคู่กรณีทั้งสองฝ่ายให้ต้องปฏิบัติตาม เพราะถือว่ามาตรการนี้เป็น "พันธะทางกฎหมายระหว่างประเทศ" ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งหากรัฐบาลไทยหรือกองทัพไทยคิดที่จะปฏิเสธต่อพันธกรณีดังกล่าว ก็ไม่น่าจะเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของไทยในเวทีสากลแต่อย่างใด เพราะการกระทำดังกล่าวจะยิ่งทำลายภาพของไทยในกรณีพระวิหารให้ตกต่ำลง จนอาจจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่คุ้มค่าในการเมืองและการทูต 
แต่สิ่งสำคัญก็คือ สังคมไทยคงจะต้องยอมรับต่อผลผูกมัดทางกฎหมาย ในฐานะไทยเองเป็นชาติสมาชิกของสหประชาชาติ

อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐคู่กรณีนำเอากำลังทหารออกจากพื้นที่ที่เป็นเขตปลอดทหารชั่วคราวแล้ว ก็มิได้หมายความว่า พื้นที่ดังกล่าวจะกลายเป็น "พื้นที่สุญญากาศ" แต่อย่างใด เพราะในทางกฎหมายระหว่างประเทศ เมื่อมีการสับเปลี่ยนกำลังทหารแล้ว รัฐคู่กรณีก็สามารถส่งกำลังตำรวจ เช่น ตำรวจตระเวนชายแดนโดยไม่มีอาวุธหนักเข้าสู่พื้นที่นี้ได้ เพื่อทดแทนกำลังทหาร 
การดำเนินการในลักษณะนี้ไม่ใช่ข้อห้ามในทางกฎหมายระหว่างประเทศแต่อย่างใด เพราะเมื่อมีการนำกำลังทหาร (หมายถึงทหารจริงๆ) ออกไปแล้ว ก็มักจะห้ามการมีกิจกรรมทางทหารในพื้นที่ด้วย เช่น การเคลื่อนไหวทางทหาร เป็นต้น การใช้ตำรวจตระเวนชายแดนจึงเป็นช่องออกในทางกฎหมายระหว่างประเทศที่ทำให้รัฐบาลสามารถคงกำลังของฝ่ายตนไว้ในพื้นที่ดังกล่าวได้

ประเด็นสำคัญอีกส่วนหนึ่งในเชิงรายละเอียดก็คือ กองกำลังตำรวจนี้มีไว้เพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของพื้นที่ จึงไม่ได้รับอนุญาตให้ติดอาวุธหนัก เพราะหากเป็นกำลังตำรวจพร้อมอาวุธหนักแล้ว ก็อาจถูกตีความว่าเป็นกำลังทหารได้ทันที 
ดังนั้น หากรัฐบาลกัมพูชาตัดสินใจปรับกำลังทหารในพื้นที่ออกไปแล้ว จึงมีความเป็นไปได้มากที่จะมีการนำเอาตำรวจตระเวนชายแดนของกัมพูชาประจำในพื้นที่นี้แทน ซึ่งผลจากการปรับกำลังของทางฝ่ายกัมพูชาย่อมจะทำให้รัฐบาลไทยต้องดำเนินการในลักษณะไม่แตกต่างกัน

แต่จะคิดว่าปล่อยให้กัมพูชาทำฝ่ายเดียว และฝ่ายไทยไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามก็ได้นั้น อาจจะเป็นความคิดที่เป็นไปไม่ได้ สิ่งที่จะต้องตระหนักอย่างมากก็คือ การปรับกำลังทหารของกัมพูชาจะกลายเป็น "แรงกดดันทางการเมือง" ต่อฝ่ายไทยทันที หากรัฐบาลไทยปฏิเสธที่จะดำเนินการตามมาตรการชั่วคราวของศาลโลก



ฉะนั้น ทางออกที่ดีที่สุดของรัฐบาลไทยก็คือ การเตรียมปรับย้ายกำลังทหารออกจากพื้นที่ และขณะเดียวกันก็จะต้องเตรียมกำลังตำรวจตระเวนชายแดนให้มีความพร้อมที่จะรับภารกิจใหม่ในพื้นที่พิพาทดังกล่าว กล่าวคือ สำหรับพื้นที่พิพาทในอนาคตจะมีแต่เพียงกำลังตำรวจตระเวนชายแดนของทั้งสองฝ่ายรักษาการณ์อยู่ในพื้นที่เท่านั้น 
การคงหรือไม่คงกำลังทหารจึงไม่ใช่เรื่องของการสูญเสียอธิปไตยแต่อย่างใด หากแต่เป็นหลักการในกฎหมายระหว่างประเทศว่า เมื่อเกิดกรณีพิพาทในพื้นที่นั้น ก็จำเป็นต้องเอากำลังทหารออกเพื่อไม่ให้ความขัดแย้งด้วยการใช้กำลังขยายตัวลุกลามออกไป

ถ้าเรายอมรับในหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ก็คงจะ "ทำใจ" ได้ไม่ยากนัก แต่ถ้าเกิดการฉวยโอกาสทางการเมือง โดยใช้วิธีปลุกระดมด้วยลัทธิชาตินิยมสุดโต่งแล้ว รัฐบาลนี้ก็จะต้องพบกับวิกฤตอีกครั้ง... 
แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหรือฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจะทำอะไรก็ตาม รัฐบาลก็ไม่อาจปฏิเสธพันธะทางกฎหมายที่เกิดขึ้นจากมาตรการของศาลโลกได้ และปฏิเสธไม่ได้อีกว่ามาตรการครั้งนี้เป็นผลจากการดำเนินการของรัฐบาลที่แล้วด้วย! 



.