http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-18

ปริญญา: บ้านท้ายวัง(อยุธยา), + ปัญหาอาคารใหญ่พิเศษ

.

บ้านท้ายวัง
โดย ปริญญา ตรีน้อยใส คอลัมน์ มองบ้านมองเมือง
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1665 หน้า 71


ในขณะที่กระแสบูติคโฮเต็ลกำลังมาแรง โฮมสเตย์ก็มีผู้กล่าวถึงอยู่เสมอ ทำให้ไม่รู้จะเรียกขาน บ้านท้ายวัง (0-3532-3001) ที่พระนครศรีอยุธยาอย่างไรดี เพราะเป็นทั้งโฮมสเตย์และบูติคโฮเต็ลในสถานที่เดียวกัน

ลัดดาวัลย์ พลทรัพย์ เป็นชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง เคยมีครอบครัวใหญ่คึกคักมาก่อน ต่อมาลูกหลานย้ายถิ่นไปทำงานและตั้งรกรากในกรุงเทพฯ จะแวะเวียนมาหาก็เฉพาะวันหยุดหรือวันว่างเท่านั้น เธอจึงอยู่บ้านอย่างว่างๆ เหงาๆ 
ลูกชายเธอที่เป็นสถาปนิก ออกแบบบ้านคล้ายเรือนไทยโบราณ มีใต้ถุนโล่งไว้นั่งเล่น มีชานใหญ่อยู่ระหว่างพื้นชั้นล่างและชั้นบนไว้รับแขก
เพราะรู้ว่าจะต้องเจอะเจอกับน้ำท่วมตามฤดูกาล (เมื่อตอนที่พระนครศรีอยุธยาเจอะเจอกับน้องน้ำ สามีเธอก็แค่พายเรือออกไปซื้อหาอาหาร เพื่อจะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ) 
สามีเธอเป็นนักสะสมของโบราณ ทั่วทั้งบ้านจึงมีทั้ง โต๊ะตั่ง ตู้ ชามสังคโลก ไม้แกะสลัก แม้ว่าราคาไม่ได้แพงและไม่ได้เป็นโบราณวัตถุเหมือนในพิพิธภัณฑ์ แต่ก็ช่วยเสริมสร้างบรรยากาศให้บ้านดูขลังและน่าสนใจ

บ้านเธออยู่ภายในเกาะเมือง ตรงชุมชนโรงสุรา ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเจดีย์พระศรีสุริโยทัย ทางเข้าออกบ้านค่อนข้างวกวน อีกทั้งอยู่ท้ายซอย จึงค่อนข้างหายาก 
แต่เมื่อบ้านอยู่ติดคลองเก่าที่เคยใช้ขนส่งสุรา ก็เลยกลายเป็นบ้านริมคลองที่รื่นรมย์


ทุกวันนี้ ลัดดาวัลย์ พลทรัพย์ ไม่เป็นชาวบ้านธรรมดาอีกต่อไป ลูกชายและลูกสะใภ้ที่เป็นสถาปนิก ช่วยกันออกแบบก่อสร้างบ้านเพิ่มให้อีกหลัง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสูงสองชั้น รูปแบบภายนอกเรียบง่าย ตรงไปตรงมา 
กำแพงบ้านแค่ฉาบปูนเรียบทาสีขาว พื้นชั้นล่างเป็นซีเมนต์ขัดมัน ส่วนชั้นบนเป็นพื้นไม้ ภายในกั้นแบ่งเป็นห้องพักได้แปดห้อง ชั้นบนสี่ห้อง และชั้นล่างสี่ห้อง ทุกห้องมีห้องน้ำกว้างขวางสะดวกสบาย 
การตกแต่งก็เรียบง่ายต่างไปจากบูติคโฮเต็ลอื่น ที่มักจะวุ่นวายเกินเหตุ
ตัวอาคารหันหน้าสู่สนามหญ้ากว้างและคลอง มีต้นจามจุรีใหญ่แผ่พุ่มใบให้ร่มเงาสนาม ช่วยเสริมบรรยากาศบ้านริมคลองที่ร่มรื่น ร่มเย็น

ลัดดาวัลย์ พลทรัพย์ เป็นชาวบ้านไทยใจดี ออกปากเชิญชวนให้ไปค้างแรมที่บ้านท้ายวัง สถานที่สะดวกสบายเหมือนอยู่โรงแรม แต่เป็นส่วนตัวเหมือนอยู่บ้าน มีผู้อาวุโสใจดี ปรุงอาหารเช้า ซักรีดเสื้อผ้า และทำความสะอาดห้อง รวมทั้งแนะนำตักเตือนในการท่องเที่ยวเมืองประวัติศาสตร์
ผู้ที่สนใจจะไปเยี่ยมชมหรือพักแรม ต้องติดต่อโดยตรง หรือใช้บริการจองห้องผ่านเครือข่ายอโกดาเท่านั้น เพราะบ้านท้ายวังไม่มีป้ายโฆษณาและโฆษณาใดๆ แม้แต่ป้ายชื่อบ้านก็ยังเป็นแค่ป้ายเล็กๆ ริมประตู


สําหรับคนต่างถิ่นต่างด้าว น่าจะแวะไปนอน บ้านท้ายวัง เพราะเป็นที่พักแรมชั้นดี ที่เป็นทั้งบูติคโฮเต็ล และโฮมสเตย์
สำหรับคนไทยทั่วไป น่าจะแวะไปชม บ้านท้ายวัง เพราะเป็นแบบอย่างบ้านชั้นดี เผชิญกับปัญหาน้ำท่วมได้
สำหรับคนในแวดวงธุรกิจ น่าจะแวะไปดูงาน บ้านท้ายวัง เพราะเป็นกิจการ SME"s ที่รวมธุรกิจกับวิถีชีวิตประจำวันเข้าด้วยกัน จำนวนห้องพักไม่มากนัก จึงไม่เป็นภาระหนักหนา แม้ผลตอบแทนในการลงทุนอาจต่ำ แต่ผลตอบแทนทางสังคมและจิตใจน่าจะสูง
สำหรับคนในแวดวงวิชาการผู้สูงอายุ น่าจะแวะไปศึกษา บ้านท้ายวัง เพราะเป็นแบบอย่างของความลงตัวของครอบครัวไทยร่วมสมัย ในยุคที่ประชากรกลุ่ม สว. เพิ่มจำนวนมากขึ้น เมื่อลูกหลานเลือกที่จะแยกครัวเรือนออกไป พ่อแม่จึงเปลี่ยนไปดูแลผู้ที่มาพักแรมซึ่งอายุรุ่นราวคราวเดียวกับลูกหลาน

บ้านท้ายวังที่เป็นทั้งบูติคโฮเต็ลและโฮมสเตย์ในสถานที่แห่งเดียวกัน ยังเป็นการดำเนินธุรกิจขนาดเล็กและการดำรงสถาบันครอบครัวในสถานที่แห่งเดียวกัน



++++
บทความของปี 2554 

ปัญหาอาคารใหญ่พิเศษ
โดย ปริญญา ตรีน้อยใส คอลัมน์ มองบ้านมองเมือง
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1604 หน้า 76


บ้านเมือง ก็เหมือนกับ บ้านเรือน เพียงแต่ขนาดเท่านั้นที่ต่างกัน บ้านเรือนมีขนาดเล็ก ผู้คนอาศัยไม่กี่คน การสัญจรไปมาไม่วุ่นวาย ระบบน้ำ ระบบไฟไม่ยุ่งยาก งานดูแลรักษาทำโดยคนในครอบครัว 
บ้านเมืองมีขนาดใหญ่โต ผู้คนอาศัยอยู่เป็นแสนเป็นล้าน การจราจรวุ่นวายสับสน ระบบน้ำระบบไฟเป็นเรื่องราวใหญ่โตซับซ้อน งานดูแลรักษาต้องอาศัยผู้ว่าการหรือนายกเทศมนตรีและเจ้าหน้าที่จำนวนมาก 
สำหรับอาคารสูงหรือใหญ่พิเศษ ผู้คนใช้สอยเป็นร้อยเป็นพัน การสัญจรมีทั้งลิฟต์ บันไดเลื่อน และบันไดหนีไฟ มีระบบน้ำ ระบบไฟ ไปจนถึงระบบปรับอากาศ การดูแลต้องมีผู้ชำนาญการดูแลรับผิดชอบ พร้อมกับสถาปนิก วิศวกร และช่างเทคนิค 
แม้ว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอาคารใหญ่พิเศษจะมาจากการใช้งาน แต่ รองศาสตราจารย์ ดร.เสริชย์ โชติพานิช ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการบริหารจัดการอาคาร ได้เสนอรายงานเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอาคารนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการออกแบบ 
โดยเฉพาะสถาปนิกที่มุ่งเน้นเฉพาะความสวยงาม และไม่คำนึงถึงการดูแลรักษาอาคาร จึงนำไปสู่การสูญเสียของความงดงามที่นึกฝันไว้


การออกแบบให้มีส่วนประกอบภายนอกอาคาร จะนำมาซึ่งปัญหาในการทำความสะอาดอย่างมาก ปัญหานกพิราบมาเกาะเกี่ยวทำรังพัก นอน ขับถ่าย กลายเป็นคราบสกปรก และอาจนำพาเชื้อโรคมาสู่ผู้ใช้อาคาร เช่นเดียวกับซอกหลืบต่างๆ ส่วนตกแต่ง บัวปูนปั้น ล้วนเป็นที่เก็บกักฝุ่นและสิ่งสกปรกเช่นกัน 
ผนังกระจกที่ดูแวววาวสวยงาม จะเป็นภาระในการดูแลรักษาทำความสะอาด เช่นเดียวกับช่องแสงกระจกบนหลังคาทั้งขนาดใหญ่และเล็กที่ทุกคนลืมไปว่า ต้องมีการทำความสะอาด เช่นเดียวกับอาคารหรือห้องที่มีเพดานสูง ที่สร้างปัญหาเวลาเปลี่ยนหรือซ่อมแซมหลอดไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า 
สถาปนิกและวิศวกรที่ชื่นชอบเลือกใช้ผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ นอกจากไม่ค่อยเหมาะกับดินฟ้าอากาศเมืองไทยแล้ว ยังมีปัญหาเวลาต้องปรับเปลี่ยน ทดแทน เมื่อหมดอายุการใช้ เช่นเดียวกับการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ โดยเฉพาะสุขภัณฑ์ สำหรับที่อยู่อาศัยมาใช้ในอาคารสาธารณะ ย่อมเกิดความเสียหายได้ง่าย 
สถาปนิกส่วนใหญ่ไม่อยากให้เห็นระบบท่อต่างๆ ที่วิศวกรออกแบบไว้ จึงซ่อนท่อไว้ในฝ้าหรือผนัง หากไม่ได้เตรียมช่องเปิดสำหรับการซ่อมบำรุงหรือการปรับเปลี่ยนก็จะเป็นปัญหา การนำงานระบบต่างๆ มารวมกันในช่องหรือพื้นที่เดียวกัน ก็ก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น ท่อน้ำกับท่อไฟฟ้า ท่อไฟฟ้ากับท่อโทรศัพท์ เป็นต้น

หากวิศวกรและสถาปนิกไม่ร่วมมือกันในตอนออกแบบ งานระบบต่างๆ อาจกระจายอยู่ทั่วไป กลายเป็นปัญหาเวลาซ่อมบำรุง รวมทั้งไม่ได้เตรียมพื้นที่ห้องเครื่อง หรือมีแต่พื้นที่เล็กเกินไป ก็เป็นปัญหาอีกเช่นกัน
อาคารขนาดใหญ่และสูงย่อมมีผู้ใช้สอยมาก จึงต้องมีเจ้าหน้าที่และช่างประจำอาคาร ช่างต้องการห้องทำงานหรือห้องพัก เช่นเดียวกับพนักงานรักษาความปลอดภัย และพนักงานทำความสะอาด ก็ต้องการห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ที่แยกเป็นสัดส่วนและมีขนาดพอเพียง หากสถาปนิกไม่ได้เตรียมการไว้ ช่างและพนักงานจะดัดแปลงพื้นที่ เช่น ห้องไฟฟ้า บันไดหนีไฟ ห้องเก็บของ เป็นต้น ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาและความเสียหายภายหลัง

เรื่องขยะ ก็เป็นเรื่องใหญ่ นอกจากปริมาณแล้ว ยังเกี่ยวกับกลิ่น เมืองไทยเป็นเมืองร้อน การเน่าเสียของขยะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และส่งกลิ่นเหม็นรุนแรง จึงต้องเตรียมการออกแบบที่พักขยะให้ดี รวมทั้งคิดถึงพื้นที่แยกชนิดขยะ
ทุกวันนี้ บางอาคารถึงกับต้องติดตั้งเครื่องปรับอากาศเพื่อหน่วงการเน่าเสีย ที่สำคัญ ลดปัญหากลิ่นที่ไปรบกวนผู้ใช้อาคาร



ปัญหาที่อาจารย์เสริชย์อุตส่าห์ไปรวบรวมมา อาจเป็นเรื่องที่รู้ๆ กันอยู่ หรือพบเห็นกันอยู่เสมอ เมื่ออาคารบ้านเราสูงขึ้น ใหญ่ขึ้น ซับซ้อนมากขึ้น ผู้ใช้สอยมากขึ้น ปัญหาที่เคยเป็นเรื่องเล็ก ก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ รุนแรง และนำไปสู่อุบัติภัยได้เช่นกัน ยิ่งคนไทยเราไม่คุ้นเคยกับภัยพิบัติต่างๆ เวลาเกิดเหตุร้ายที่ใด ก็มีแต่เรื่องเศร้าและสูญเสียกันทั่วหน้า

จะอ้างว่า ไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกโก่งหน้าไม้ คงจะได้สำหรับอาคารเล็ก
แต่ถ้าเป็นอาคารใหญ่ คงต้องนึกว่า กันไว้ดีกว่าแก้ ล้อมคอกก่อนวัวหาย มากกว่า



.