อาร์เจนตินา: สิบปีที่ไม่มีดาริโอและมักซี
แปลโดย ภัควดี วีระภาสพงษ์
ใน www.prachatai.com/journal/2012/07/41675 . . Sat, 2012-07-21 19:10
ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปลจาก Francesca Fiorentini, “A Decade Without Dario and Maxi,”
http://upsidedownworld.org/main/argentina-archives-32/3732-a-decade-without-dario-and-maxi, Wednesday, 04 July 2012.
ปีเกเตโรส์ แห่งอาร์เจนตินา ผู้เป็นตัวแทนคนรุ่นขบถ
คุณไม่จำเป็นต้องเคยพบดาริโอ ซันตีญานเพื่อรู้จักเขา กระนั้น คุณก็น่าจะรู้จักเขาอยู่แล้ว
แม้ว่าความตายของเขาเป็นเรื่องที่โจษจันกันมาก แต่การทำงานในแนวทางสมานฉันท์และการเป็นผู้นำระดับรากหญ้าในช่วงชีวิตสั้น ๆ ของเขาต่างหากที่นิยามความเป็นตัวตนของเขา มันเป็นคุณสมบัติที่ดำรงอยู่ต่อไปในขบวนการสังคมที่เขามีส่วนร่วมสร้างขึ้นมา หลังจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและการลุกฮือทางสังคมในอาร์เจนตินาเมื่อปี ค.ศ. 2001 ซันตีญานถูกตำรวจอาร์เจนตินายิงเสียชีวิตพร้อมกับเพื่อนนักเคลื่อนไหว มักซีมิเลียโน คอสเตกี แต่จิตวิญญาณแห่งการขัดขืนของทั้งสองยังคงมีชีวิตชีวาโลดแล่นในตัวนักจัดตั้งอีก 15,000 คน ที่มาชุมนุมกันในวันอังคาร [26 มิถุนายน] เพื่อรำลึกวันครบรอบสิบปีของการเสียชีวิตและการเรียกร้องหาความยุติธรรม
สมาชิกจากองค์กรของคนงานไร้งาน นักศึกษา แรงงานค่าจ้างต่ำและองค์กรฝ่ายซ้ายอื่น ๆ รวมแล้วหลายร้อยองค์กร ร่วมกันปิดสะพานปูเอนเตปวยรีโดน ซึ่งเป็นสะพานเชื่อมกรุงบัวโนสไอเรสกับย่านชานเมืองทิศใต้ จากนั้นพวกเขายกขบวนลงมายังสถานที่ที่ซันตีญานและคอสเตกีถูกยิงตาย ผู้เข้าร่วมจำนวนมากเป็นเพื่อน สมาชิกในครอบครัวและกอมปันเญอโร (สหาย) ที่ไม่เคยปล่อยให้วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปีผ่านไปโดยปราศจากงานชุมนุมรำลึกข้ามคืนมาตั้งแต่ ค.ศ. 2002
“ผมรู้สึกภูมิใจที่เป็นพ่อของดาริโอ” อัลแบร์โต ซันตีญานกล่าว เขายืนอยู่ที่หัวขบวน เมื่อมองดูกลุ่มนักเคลื่อนไหวหนุ่มสาวจำนวนมาก เขาบอกว่าไม่เคยรู้สึกโดดเดี่ยว แต่รู้สึกมีเพื่อนร่วมทางเสมอ “ในตัวของพวกเขาและเธอแต่ละคน ผมมองเห็นลูกชายของผม”
สัญลักษณ์ของคนรุ่นขบถ
คอสเตกีและซันตีญานไม่ได้เป็นแค่เหยื่อการกดขี่ของรัฐ แต่เป็นสัญลักษณ์ของคนหนุ่มสาวชนชั้นแรงงานรุ่นใหม่ที่ตอบโต้ต่อความยากจนขั้นร้ายแรงในอาร์เจนตินา หนึ่งทศวรรษของนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ในอาร์เจนตินาทำให้หลาย ๆ เมืองปราศจากงาน การศึกษาและสาธารณูปโภคพื้นฐาน อันเป็นชนวนให้เกิดขบวนการปีเกเตโรส์ละแวกบ้านและขบวนการแรงงานไร้งาน (MTDs) ขึ้น [1] เนื่องจากไม่มีกระบอกเสียงทางการเมือง ขบวนการเหล่านี้จึงใช้วิธีเรียกร้องด้วยการปิดถนนสายสำคัญ ๆ และขัดขวางการขนส่งสินค้าเข้าสู่เมืองหลวง
ซันตีญานอาศัยอยู่ในโครงการเคหะของชนชั้นแรงงานในละแวกบ้านดอนโอริโอเน และเริ่มมีบทบาทในสหภาพนักเรียนไฮสกูลตั้งแต่อายุ 17 แต่เมื่อความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานไร้งานเติบโตมากขึ้นในละแวกบ้านรอบนอก เขาก็เข้าร่วมกับ MTD แห่งหนึ่งในเมืองใกล้ ๆ ชื่อลานุสและเริ่มทำงานกับเยาวชน
“เขาเข้ามาหาเราและต้องการมีส่วนร่วม” วอลเตอร์ บอร์เดการ์รี สมาชิกคนหนึ่งของ MTD Lan?s รำลึกความหลัง
“เนื่องจากเขาเป็นเด็กหนุ่มที่ได้เรียนหนังสือ เขาจึงเริ่มสอน กอมปันเญอโร บางคนในละแวกบ้านนี้เกี่ยวกับการทำข่าวและสื่อ” ซันตีญานจัดเวิร์คช็อปอบรมสมาชิกของ MTD เกี่ยวกับการวิเคราะห์หนังสือพิมพ์และทำความเข้าใจว่า สื่อรายงานข่าวความเคลื่อนไหวของขบวนการ ปีเกเตโรส์ ว่าเป็นปัญหาเยาวชนมั่วสุม โดยไม่สนใจข้อเรียกร้องของพวกเขา ซันตีญานช่วยก่อตั้งกลุ่มในเมืองลานุสในชื่อว่า Juventud Piquetero (กลุ่มเยาวชนปีเกโตโร) โดยมีกลุ่มเป้าหมายอยู่ที่คนหนุ่มสาวในช่วงวัยยี่สิบที่มีครอบครัวและไม่มีงานทำ บอร์เดการ์รีกล่าวว่า ซันตีญานต้องการช่วยคนกลุ่มนี้ให้หลุดพ้นจากโลกของยาเสพย์ติดและอาชญากรรม
“เขานึกถึงคนอื่นอยู่เสมอ และคอยสอบถามพวกเราว่ามีที่อยู่อาศัยและมีงานทำหรือเปล่า”
ใน ค.ศ. 2001 ซันตีญานย้ายไปที่ละแวกบ้านลาเฟ่อันเสื่อมโทรม เพื่อช่วยจัดตั้งครอบครัวจำนวนหนึ่งที่กำลังจะไร้ที่พักพิงให้เข้าไปตั้งนิคมในที่ดินว่างแปลงหนึ่ง
ด้วยความที่มีบุคลิกเป็นผู้นำมีวินัย มุ่งมั่นและพูดจาเด็ดเดี่ยว ทั้งยังไว้เคราหนา ซันตีญานมีบุคลิกภาพของคนที่แก่เกินวัย กอมปันเญอโร จำนวนมากไม่เคยล่วงรู้อายุที่แท้จริงของเขาจนกระทั่งวันที่เขาเสียชีวิต เขาอายุแค่ 21 ปี
ส่วนคอสเตกีนั้นตรงข้ามกับซันตีญาน เขาเพิ่งเข้าร่วมขบวนการแรงงานไร้งานได้ไม่นาน “เขามาทำงานในครัวรวมและจัดเวิร์คช็อปด้านศิลปะ” วานินา คอสเตกี พี่สาวของเขาเล่า เธอคล้องแขนอยู่กับอัลแบร์โต ซันตีญาน “วันนั้นเป็นการมาชุมนุมครั้งแรกของเขา” คอสเตกีอายุ 23 ปี
การสังหารหมู่ที่อาเวญาเนดา
ระหว่างการลุกฮือของประชาชนในวันที่ 19 และ 20 ธันวาคม ค.ศ. 2001 ประชาชนเสียชีวิตด้วยเงื้อมมือตำรวจไปแล้วถึง 39 คน เมื่อประธานาธิบดีเฉพาะกาล นายเอดูอาร์โด ดูอัลเด ขึ้นดำรงตำแหน่งในเดือนมกราคม ค.ศ. 2002 เขาเดินหน้า “สร้างระเบียบ” ให้สังคมและสานต่อนโยบายปราบปรามการประท้วง
ในวันที่ 26 มิถุนายน ขบวนการแรงงานไร้งานและสมัชชาละแวกบ้านทั่วทั้งกรุงบัวโนสไอเรสและปริมณฑลร่วมกันวางแผนปิดถนนเข้าออกเมืองหลวงทุกสาย ซันตีญานและคอสเตกีเป็นส่วนหนึ่งของ MTD สาขาอานิบัลเวโรน ซึ่งประกอบด้วย MTD ย่อย ๆ หลายสิบแห่งมารวมตัวกัน และรับผิดชอบปิดสะพานปูเอนเตปวยรีโดนในเมืองอาเวญาเนดา
นักจัดตั้งทุกคนรู้ดีว่ามีความเสี่ยงที่จะถูกปราบปราม แต่ไม่มีใครเตรียมตัวรับมือกับสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญจริง ๆ ตำรวจที่มาปราบปรามไม่ได้ติดอาวุธแค่แก๊สน้ำตาและกระสุนยาง แต่มาพร้อมปืนลูกซองบรรจุกระสุนจริง ตำรวจยิงกราดเข้ามาในแถวของปีเกเตโรส์ ซึ่งมีทั้งผู้หญิงและเด็ก
“พวกเราวิ่งหนีเข้ามาในนี้และวิ่งไปตามสะพาน” บอร์เดการ์รีเล่าพลางเดินย้อนไปตามเส้นทางเดิมเมื่อสิบปีก่อน “เราพยายามพาเด็ก ๆ หนีออกไปก่อน พร้อมกับพวกแม่ที่มีรถเข็นเด็กและคนแก่”
พอถึงตรงถนน คอสเตกีก็ถูกยิง เพื่อนผู้ประท้วงที่หนีมาด้วยกันได้ยินเสียงเขาร้อง จึงช่วยลากร่างของเขาไปอีกช่วงถนนหนึ่งเพื่อหลบเข้าไปในสถานีรถไฟอาเวญาเนดา ซันตีญานอยู่ในนั้น ดาริโอบอกให้เพื่อนคนนั้นวิ่งหนีไปและบอกว่าเขาจะอยู่กับมักซีมิเลียโนเอง จังหวะนั้นเอง ผู้บัญชาการตำรวจอัลแบร์โต ฟานชิออตตีก็ยิงใส่ซันตีญานที่ด้านหลัง นักข่าวหลายคนในที่เกิดเหตุถ่ายวิดีโอและถ่ายภาพการฆาตกรรมไว้ได้ ภาพที่สะเทือนใจที่สุดในวันนั้นคงเป็นภาพของซันตีญานที่ก้มอยู่เหนือร่างคอสเตกี ยกมือขึ้นวิงวอนตำรวจให้หยุดยิง
การต่อสู้เพื่อความยุติธรรม
เหตุการณ์วันที่ 26 มิถุนายนกลายเป็นหมุดหมายทั้งต่อขบวนการปีเกเตโรส์ และสังคมอาร์เจนตินาทั้งสังคม เพราะมันเปิดโปงให้เห็นการใช้ความรุนแรงของรัฐโดยไร้ความปรานี ประธานาธิบดีดูอัลเดประกาศให้มีการเลือกตั้งเร็วขึ้นกว่ากำหนด และประธานาธิบดีคนต่อมา นายเนสเตอร์ เคียร์ชเนอร์นำนโยบาย “งดเว้นการปราบปราม” การชุมนุมประท้วงของประชาชน
บอร์เดการ์รีกล่าวว่า สำหรับขบวนการสังคม “มันเป็นการสูญเสียอย่างใหญ่หลวง” กระนั้นก็ตาม ครอบครัวของผู้ตายและเพื่อนนักเคลื่อนไหวก็ไม่ยอมเสียเวลา พวกเขาลงไปตามท้องถนนอีกครั้งเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม
ใน ค.ศ. 2006 หลังจากต่อสู้อยู่สี่ปี อดีตผู้บัญชาการตำรวจอัลแบร์โต ฟานชิออตตีและคนขับรถ อเลฆันโดร อาโกสตา ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต นอกจากนี้ก็มีตำรวจอีกเจ็ดนายได้รับโทษจำคุก แต่นักการเมืองที่สั่งการปราบปรามในวันนั้น กล่าวคือ อดีตประธานาธิบดีดูอัลเด อดีตผู้ว่าการกรุงบัวโนสไอเรส ปัจจุบันคือวุฒิสมาชิกการ์โลส โซลา รวมทั้งคนอื่น ๆ ยังคงไม่ถูกดำเนินคดี
“เรายังพยายามต่อสู้เพื่อดำเนินคดีและลงโทษทุกคนที่รับผิดชอบทั้งโดยตรงและในทางการเมือง” วานินา คอสเตกีกล่าว “ตอนนี้เราพบว่าคดีฟ้องร้องผู้มีอำนาจเหล่านี้ถูกเก็บเข้าแฟ้มไปแล้ว”
แต่ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ขบวนการไม่ได้ปล่อยให้เรื่องอยู่ในศาลเพียงอย่างเดียว ใน ค.ศ. 2004 นักเคลื่อนไหวร่วมกันก่อตั้งองค์กร Frente Popular Dario Santill'n (แนวหน้าประชาชนดาริโอซันตีญาน) องค์กรอิสระหลายภาคส่วนที่มีกลุ่มสมาชิกทั่วทั้งอาร์เจนตินา หลายปีที่ผ่านมา องค์กรนี้ช่วยประสานงานให้การประท้วง ปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้าและโปสเตอร์รณรงค์ต่อต้านอดีตประธานาธิบดีดูอัลเด รวมไปถึงการตั้งเต็นท์หน้าที่อยู่อาศัยของเขา ทำให้เขาไม่สามารถชุบตัวรอดพ้นจากเหตุการณ์ครั้งนั้นหรือกอบกู้ชื่อเสียงทางการเมืองกลับคืนมา
“เราเลือกใช้วิธีการระดมมวลชนและใช้การประณามทางสังคม ซึ่งทำให้อดีตประธานาธิบดีดูอัลเดมีผลงานย่ำแย่ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด” เฟเดริโก ออร์ชานีกล่าว เขาเป็นโฆษกขององค์กรแนวหน้าประชาชนดาริโอซันตีญาน
การต่อสู้ขยายตัว
ในขณะที่รัฐบาลเนสเตอร์ เคียร์ชเนอร์และคริสตินา เฟร์นันเดซ เด เคียร์ชเนอร์พยายามอ้างว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเสาหลักทางการเมืองของรัฐบาลทั้งสอง แต่ความตายของซันตีญานและคอสเตกีไม่ใช่รายสุดท้ายที่เสียชีวิตในเงื้อมมือตำรวจอาร์เจนตินาในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
“เรายังมีการเสียชีวิต การถูกอุ้มให้สาบสูญ เรายังมีรัฐบาลที่ปกปิดความรับผิดชอบทั้งในเชิงกายภาพและในเชิงการเมือง” วานินา คอสเตกีกล่าว เธอหยิบยกมาสองกรณีที่ถูกกล่าวขวัญถึงมากที่สุด นั่นคือ การหายสาบสูญของฆอร์เก ฆูลิโอ โลเปซและลูเซียโน อาร์รูกา โลเปซสาบสูญไปในปี ค.ศ. 2006 หลังจากให้การเป็นพยานโจทก์ในการฟ้องมิเกวล เอตเชโกลัตซ์ อดีตนายตำรวจที่ดูแลค่ายกักกันลับในช่วงเผด็จการทหาร ส่วนอาร์รูกา เด็กหนุ่มวัยสิบหกปี หายตัวไปใน ค.ศ. 2009 หลังจากถูกจับและถูกตำรวจท้องถิ่นบัวโนสไอเรสทรมานหลังจากเขาไม่ยอมทำงานปล้นให้ตำรวจ
“สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้คือ สำนึกทางชนชั้นที่มักซีและดาริโอเคยมีและดำรงอยู่ในตัวทุกคนที่ต้องการต่อสู้ต่อไปเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมในประเทศนี้” วานินากล่าว
MTD สาขาลานุส ซึ่งดาริโอเริ่มงานเคลื่อนไหวทางการเมือง ยังขยายตัวออกไปอย่างเข้มแข็ง ซันตีญานช่วยเริ่มต้นโครงการโรงเรียนไฮสกูลมวลชนเอาไว้ บอร์เดการ์รีกล่าวว่า ตอนนี้สมาชิกที่เคยจบแค่โรงเรียนระดับประถมกำลังศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของรัฐ
“เราพยายามสานต่อสิ่งที่เขามุ่งมั่นและสิ่งที่เขาจะทำต่อไป”
“พวกนั้นไม่ได้ฆ่าเขา พวกนั้นทำให้เขามีจำนวนเพิ่มขึ้นต่างหาก” อัลแบร์โต ซันตีญานกล่าวถึงลูกชาย “ผมคิดว่าดาริโอล่องลอยอยู่เหนือพวกเราที่นี่ในวันนี้ อาจกำลังสูบบุหรี่ ดื่มชามาเต และมองลงมาดูพวกเราด้วยรอยยิ้มสดใสบนใบหน้า”
* * * * * * * * * * *
เชิงอรรถ
[1] http://upsidedownworld.org/main/argentina-archives-32/3411-remembering-the-social-movements-that-reimagined-argentina-2002-2012
.