http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-13

จุดเปลี่ยน!, ลึกแต่ไม่ลับ13ก.ค.55

.
คอลัมน์ ในประเทศ - เปิดกลยุทธ์คู่ต่อสู้ "คดีแก้ รธน." "ล้ม-ไม่ล้ม(ล้าง)" การปกครอง "ศุกร์13" สะเทือน "ตุลาการ"
รายงานพิเศษ - ..ทหารทรหด ทบ.พร้อมรบ กลางการเมืองร้อน "สุกำพล-ประยุทธ์" วัดใจ แม่ทัพ 1 ดัชนีความแข็งของ "บิ๊กตู่"
คอลัมน์ โล่เงิน - แผนพิทักษ์เลือกตั้ง "54 ตรึง 3,118 ศึก "ท้องถิ่น" จับตา "อบต." เล็กแต่แรง


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

จุดเปลี่ยน!
คอลัมน์ ในประเทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1665 หน้า 9


ไม่ว่าผลการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาในรูปแบบไหน 
การเมืองไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป 
ก่อนหน้านี้หลายคนมีความหวังที่การเมืองไทยจะเข้าสู่โหมดการปรองดอง 
เมื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีแสดงท่าทีเมตตา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีอย่างเปิดเผย 
ยอมให้เข้าบ้านสี่เสาเทเวศน์อวยพรวันสงกรานต์ 
ยอมมาเป็นประธานร่วมฟังการบรรเลงเพลงออเคสตราที่ทำเนียบรัฐบาล  
ทุกฝ่ายตีความว่านี่คือการส่งสัญญาณ "ปรองดอง" ระหว่าง 2 ขั้วอำนาจ

แต่ทันทีที่พรรคเพื่อไทยเปิดเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับตามที่เคยหาเสียงไว้โดยผ่านมาตรา 291 
และตามด้วย พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน 
บรรยากาศ "ปรองดอง" ก็เปลี่ยนไปทันที

ม็อบพันธมิตรฯ ล้อมสภาผู้แทนราษฎร 
พรรคประชาธิปัตย์ป่วนหนักในสภาผู้แทนราษฎรถึงขั้นดึงแขนประธานสภาผู้แทนราษฎร และปาแฟ้มเอกสารใส่ 
และวันนั้นเองตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็แถลงรับคำร้องของ 5 กลุ่มที่กล่าวหาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68


ไม่แปลกที่ "จาตุรนต์ ฉายแสง" จะสรุปว่านี่คือการรัฐประหารโดย "ตุลาการภิวัฒน์" 
และการเมืองไทยได้ปรับโหมดสู่สมรภูมิสู้รบอีกครั้งหนึ่ง 
ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่งจินตนาการว่ารัฐธรรมนูญใหม่ที่จะร่างขึ้นโดย ส.ส.ร. จะล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข 
กลุ่มคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยก็จินตนาการในทางลบเช่นกันว่าการเดินเกมครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะยุบพรรคเพื่อไทย
และเปลี่ยนขั้วอำนาจ 
เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีตกับพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน 
และเมื่อความหวาดระแวงเกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินออกมาในทางใด 
อุณหภูมิการเมืองนับจากนี้ต้องดุเดือดเลือดพล่านอย่างแน่นอน



"คนเสื้อแดง" นั้นมีความเชื่อว่ากลุ่มอำมาตย์ไม่ยอมปรองดองอย่างแน่นอน 
ทุกอย่างเป็นเกมหลอกให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตายใจ 
เพราะรู้ว่า "จุดอ่อน" ของ "ทักษิณ" คืออยากกลับบ้าน 
ยิ่งอยากกลับ ยิ่งอยากปรองดอง

ในขณะที่ "คนเสื้อแดง" ยังไม่คลายความแค้นจากความสูญเสียในเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 
แกนนำ "เสื้อแดง" อ่านเกมว่าการหลอกล่อ "ทักษิณ" ให้ปรองดอง คือ กลยุทธ์การสร้างความแตกแยก ระหว่าง "ทักษิณ" กับ "เสื้อแดง" 
และเมื่อจังหวะเหมาะสมก็เดินเกม "ตุลาการภิวัฒน์" ทันที 
ไม่แปลกที่การรับคำร้องของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะมี "จุดอ่อน" หลายเรื่อง 
ตั้งแต่การรับคำร้องโดยตรงไม่ผ่าน "อัยการสูงสุด" 
ทั้งที่เว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญระบุชัดว่าผู้มีสิทธิ์ยื่นคำร้องตามมาตรา 68 คือ "อัยการสูงสุด" 
หรือคำสัมภาษณ์ในอดีตของ "จรัญ ภักดีธนากุล" และ "วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์" จะสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญ 
แต่กลับพลิกเปลี่ยนท่าทีแบบ 180 องศา

การพลิกเปลี่ยนความคิดเช่นนี้ย่อมทำให้หลายฝ่ายมองว่าไม่ใช่ปรากฏการณ์ธรรมชาติ 
หากเป็นปรากฏการณ์ที่มี "ที่มา-ที่ไป" 
และแน่นอน คำว่า "มือที่มองไม่เห็น" ย่อมกลับมาสู่ความคิดคำนึงอีกครั้งหนึ่ง 
"ความหวาดระแวง" เช่นนี้เองทำให้สถานการณ์การเมืองนับจากนี้จะรุนแรงขึ้น 
ไม่ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร

ถ้าวินิจฉัยแบบแรงสุดๆ คือ พรรคเพื่อไทยล้มล้างการปกครองและต้องยุบพรรค 
รับรองได้ว่าเราจะได้เห็นการเมืองบนท้องถนนอีกครั้ง  
และครั้งนี้จะแรงกว่าทุกครั้ง 
ต้องยอมรับว่าเชื้อไฟของคำว่า "สองมาตรฐาน" นั้นอยู่ในใจ "คนเสื้อแดง" มานานแล้ว 
ปลุกไม่ยาก 
ยิ่งพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงเดินสาย 30 เวทีทั่วประเทศ จัดปราศรัยโจมตีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างดุเดือด 
โดยมีสถานี "เอเซียอัพเดต" เป็นกระบอกเสียง 
เชื้อไฟแห่งความแค้นถูกปูทางไว้เรียบร้อยแล้ว 
ถ้าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโยนก้านไม้ขีดไฟลงไปเมื่อไร 
ลุกพรึ่บแน่นอน

หรือแม้ว่าสถานการณ์จะพลิกกลับวินิจฉัยให้ยกคำร้อง และพรรคเพื่อไทยสามารถเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อในวาระที่ 3 ได้ 
"ความหวาดระแวง" ก็ยังคงอยู่ 
เพราะปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติเช่นนี้เมื่อเกิดขึ้นมาได้ครั้งหนึ่ง 
ครั้งต่อไปก็ย่อมมีอีก


แกนนำพรรคเพื่อไทย เชื่อว่าฝ่ายตรงข้ามจะต้องพยายามพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญปี 2550 เอาไว้ให้ได้ 
เพราะเป็นเครื่องมือเดียวที่ทำให้ฝั่งตนได้เปรียบ 
โดยเฉพาะจากองค์กรอิสระทั้งหลาย 
ช่วงที่ผ่านมา ยุทธวิธีของพรรคเพื่อไทย คือ การถอย 
ขัดแย้งหนักๆ เมื่อไร
...ถอย

ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดมาตรา 68 
แทนที่พรรคเพื่อไทยจะเดินหน้าลงมติวาระที่ 3 ไปเลย 
พรรคเพื่อไทย...ถอย

มีปัญหาเรื่อง "นาซ่า"
รัฐบาล...ถอย

ยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทยคือการรักษา "อำนาจรัฐ" ให้นานที่สุด 
แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ บางที "ทักษิณ" อาจกลับมาคิดแบบแกนนำ "คนเสื้อแดง" อีกครั้งด้วยการเดินเกมรุกทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง
เพราะยิ่งนานวัน ยิ่งไม่เชื่อว่าอีกฝั่งหนึ่งจะยอมปรองดอง

"จาตุรนต์" เคยบอกว่าบางทีต้องชนะให้ขาดไปเลย จึงจะปรองดองสำเร็จ 
ที่สำคัญถ้าดูจากประวัติศาสตร์การเมืองที่ล้มพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน กลไกของของอีกฝั่งหนึ่งยังใช้ไม่หมด
พลัง "สีเขียว" ยังไม่ขยับ 
เพราะ 2 ครั้งที่ผ่านมา พลัง "สีเขียว" คือตัวปิดเกมการเปลี่ยนแปลง 
ครั้งแรก รัฐประหาร 
ครั้งที่สอง ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร

แต่ครั้งนี้ยังไม่ขยับ
อย่าลืมว่า ตามปกติของการเมืองไทยยิ่งใกล้เดือนตุลาคมที่จะมีการโยกย้ายทหารประจำปี อุณหภูมิการเมืองจะยิ่งร้อนแรง 
การเมืองไทยนับจากวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ 
จึงไม่เหมือนเดิมอย่างแน่นอน



++

คอลัมน์ ลึกแต่ไม่ลับ โดย จรัญ พงษ์จีน
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1665 หน้า 8


ลุ้นระทึก "ศุกร์ 13" กับคิวพิเศษ วาระสำคัญประเทศไทย ว่าด้วยประเด็น "ศาลรัฐธรรมนูญ" นัดหมายฝ่ายผู้ร้อง-ผู้ถูกร้องฟังคำวินิจฉัย การไต่สวนคำร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 เข้าข่าย ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย หรือไม่ ในวันที่ 13 กรกฎาคม ลงล็อกตรงกับวันศุกร์พอดิบพอดีเด๊ะ 
อันว่า "ศุกร์ 13" ฝรั่งมังค่า ถือว่าเป็นวันอัปมงคล "อันลักกี้ เดย์" จะไม่ทำงานทำการอะไรที่สำคัญในวันนี้เด็ดขาด 

คอและเซียนการเมือง ทั้งสำนักฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล ฟันธงกันล่วงหน้าว่า "หวยล็อก" กระดานนี้ มีทางออกอยู่ 4 ประตูเท่านั้น จักเป็นอื่นไปไม่ได้ คือ
1. ขัดรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 และนำไปสู่การยุบพรรค
2. ขัดมาตรา 68 แต่ไม่นำไปสู่การยุบพรรค
3. ข้อเท็จจริงขณะนี้ยังไม่เข้าข่ายขัดมาตรา 68 เพราะยังไม่มีการตั้ง ส.ส.ร. มาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 
4. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ไม่เข้าข่ายมาตรา 68 ให้ยกคำร้อง

ไม่ว่าคำวินิจฉัยของ "ศาลรัฐธรรมนูญ" จะออกมาตรงกับข้อหนึ่งหรือข้อใด ความวุ่นวายในสังคมการเมืองไทยต้องระเบิดเถิดเทิงขึ้นมาแน่นอน เพราะไม่ถูกใจของฝั่งผู้ร้อง และผู้ถูกร้อง พร้อมที่จะหยิบฉวยมาขับเคลื่อน นำไปสู่เงื่อนไขทางการเมือง 
และจะเป็นชนวนนำพาประเทศสู่ภาวะวิกฤต ขั้นแตกหัก "เลือด" ต้อง "ล้างเลือด" นับศพกันไม่ถ้วนอีกครั้ง 
ในจำนวน "หวยล็อก" 4 ประตูที่คาดหมายไว้ ดูเหมือนว่า "เต็งหนึ่ง" คือ ข้อ 1 ขัดมาตรา 68 และนำไปสู่การยุบพรรคเพื่อไทย และชาติไทยพัฒนา ซึ่งตกที่นั่ง "ผู้ถูกร้อง" 
ซึ่งกรณีวินิจฉัยออกมาเป็นประเด็นนี้ "ผู้ร้อง" คือ พรรคประชาธิปัตย์เองก็มิใช่ว่าจะหลบรอดปลอดภัย มีสิทธิแปลงกายเป็น "เทพประทาน 2" ได้ดุจเดิมแต่ประการใด
เพราะ "นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" อดีต ส.ว.สรรหา ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ อัดตูดไว้เฉกเช่นเดียวกัน ว่า กรณีเดียวกันต้องยุบทั้ง 6 พรรคการเมือง อันประกอบด้วย 1.เพื่อไทย 2.ชาติไทยพัฒนา 3.ภูมิใจไทย 4.ชาติพัฒนา 5.ประชาธิปัตย์ 6.พลังชล
เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้ผ่านขั้นตอนการพิจารณาในวาระที่ 1 และ 2 ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รอลงมติในวาระ 3 ดังนั้น ทุกพรรคต่างเข้าบริบทเดียวกัน เพราะมีส่วนแก้ไขด้วยกัน คือการส่งตัวแทนพรรคเข้าไปเป็นกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขรัฐธรรมนูญกันทั้ง 6 พรรคการเมือง

เมื่อศาลวินิจฉัยว่าโหมดการแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดมาตรา 68 และนำไปสู่การยุบพรรค จึงต้องลงโทษกันด้วยความเสมอภาค จะยกเว้นพรรคหนึ่งพรรคใดไม่ได้ ทั้งฝั่งผู้ร้อง-ผู้ถูกร้อง ล้วนมีความผิดร่วม 
หากคำวินิจฉัยลงเอยสูตรนี้ เท่ากับว่า "ประชาธิปัตย์" โดนย้อนรอยและเจ็บแสบสุด เพราะ ส.ส. ทั้งบัญชีรายชื่อและเขตเลือกตั้ง ต่างเป็นกรรมการบริหารพรรค ต้องหลุดออกจากวงโคจรติดโทษแบนกันมากที่สุด 
ผิดกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นลูกข่ายของ "ไทยรักไทย" และ "พลังประชาชน" ถูกยุบพรรคมา 2 ครั้งซ้อน และได้เตรียมทางหนีทีไล่ไว้ ป้องกันการยุบพรรครอบ 3 ด้วยลงตัว 
ส.ส. ทั้งบัญชีรายชื่อ และเขตเลือกตั้ง ที่เป็นกรรมการบริหารพรรคกันค่อนข้างน้อยมาก



สัดส่วน ส.ส.เพื่อไทย ทั้ง 2 ระบบที่เป็นกรรมการบริหารพรรคระนาบแถวหน้า หากพรรคถูกยุบ กรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ให้เป็นไปตามข้อที่ 1 มีอยู่แค่ 2 รายคือ "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" หัวหน้าพรรค กับ "จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ" เลขาธิการพรรค เท่านั้น 
ขณะที่ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี เป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ไม่มีสถานะว่าเป็นกรรมการบริหารพรรค หากเพื่อไทยถูกคำสั่งยุบพรรค จึงไม่ติดร่างแห ยังคงดำรงอยู่ในตำแหน่งนายกฯ ต่อไปได้ 
"บิ๊กเนม" ที่จะหลุดวงโคจร เพราะต้องโทษแบนทางการเมืองคนละ 5 ปี คือ "ยงยุทธ" กับ "จารุพงศ์"
เข้าเหลี่ยม เอื้อเงื่อนไข ให้กับการปรับปรุงคณะรัฐมนตรีได้ลงตัวอีกต่างหาก เพราะสามารถเปิด 2 ตำแหน่งหลัก คือ รองนายกฯ-ว่าการกระทรวงมหาดไทย และว่าการกระทรวงคมนาคม  
รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ 2" ใกล้จะมีการผลัดใบ ปรับปรุง ครม. อยู่ และกำลังมีปัญหาใหญ่ภายในพรรคเพื่อไทย ในการคัดคนออก

ตามโผ "นายใหญ่ดูไบ" ตกล่องปล่องชิ้นกับ "น้องสาว" เรียบร้อยแล้วว่า จะเร่งดำเนินการปรับ ครม. "ปู 3" ในเร็ววัน ก่อนศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ และเตรียมดึงประชากรบ้านเลขที่ 111 ที่พ้นโทษแบนมาเสริมเขี้ยวเล็บ รับมือกับพรรคฝ่ายค้านให้พอฟัดพอเหวี่ยง  
มีการปล่อยรายชื่อ คนตองหนึ่ง ออกมาสี่ซ้าห้าคน  
แต่เรื่องสะดุด สืบเนื่องจากตำแหน่งรัฐมนตรีมีจำกัด 35 ที่นั่ง การจะเขี่ยใครออก เอาใครเข้า มีปัญหาน่าหนักใจ โดยเฉพาะในรัฐบาล "ปู 2" นั้น "ยิ่งลักษณ์" อ้างว่า ทำงานเข้าขากันมากขึ้น "ส่วนใหญ่" ยังไม่ควรปรับออก 
อยากประคับประคองไปอีกระยะ

แต่กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน พรรคเพื่อไทยถูกยุบและกรรมการบริหารพรรคต้องโทษแบน 
มองเป็นมุมบวก สามารถหยิบฉวยมาเป็นประโยชน์ เอื้อกับสถานการณ์ปรับ ครม. นำประชากรบ้านเลขที่ 111 เข้ามาร่วมรัฐบาลได้พลัน น้ำภายในไม่กระเพื่อมมากนัก 
2 ตำแหน่งที่เปิดช่อง ก็ลงล็อกพอดีเลยทีเดียว "โภคิน พลกุล" มือกฎหมายรุ่นใหญ่ ระดับอินเตอร์ ผงาดคืนถิ่นเก่าเสียบแทน "ยงยุทธ" เป็นรองนายกฯ ดูแลกฎหมาย ควบ มท.1 ขณะที่ "พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล" คนใกล้ชิด ก็เดินกลับบ้านเก่าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคมนาคม แทน "จารุพงศ์"
หวยรัฐธรรมนูญ จะออกทางไหน ลงเอยยังไง สรุปแล้ว "พรรคเพื่อไทย" ไม่ถึงกับเสียหายหลายแสน เช่นตอนยุบพรรคไทยรักไทย หรือพลังประชาชน



+++

เปิดกลยุทธ์คู่ต่อสู้ "คดีแก้ รธน." "ล้ม-ไม่ล้ม(ล้าง)" การปกครอง "ศุกร์13" สะเทือน "ตุลาการ"
คอลัมน์ ในประเทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1665 หน้า 11


เปิดกลยุทธ์คู่ต่อสู้ "คดีแก้ รธน." "ล้ม-ไม่ล้ม(ล้าง)" การปกครอง "ศุกร์13" สะเทือน "ตุลาการ" 

"คดีนี้หากทอดเวลาการพิจารณาไปนานจะเป็นเรื่องไม่มงคลทั้งสิ้น ถ้าตัดสินเร็วไปก็หาลุกลี้ลุกลน มีธงตัดสินช้าไปก็ดึงเกม ทำอะไรก็ผิดหมด" เป็นคำยืนยันของ "วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์" ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนมีคำสั่งนัดให้คู่กรณีมาฟังคำวินิจฉัยคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ ในวันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม 
ซึ่งไม่ว่าผลแห่งการวินิจฉัยคดีขององค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใน "วันศุกร์ 13" จะมีมติออกมาในทางใด คดีดังกล่าวก็ได้ถูกบันทึกให้เป็น "เหตุการณ์ประวัติศาสตร์" อีกหน้าหนึ่งของการเมืองไทย 
ปมปัญหา การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้มี "สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)" ได้เปลี่ยน "เกมการต่อสู้" ในเวที "รัฐสภา" กลายมาเป็น "เกมแห่งการหักล้าง" ข้อกล่าวหาต่อหน้า ใน "ศาลรัฐธรรมนูญ" 
โดยเฉพาะช่วงที่ศาลเปิดการไต่สวนพยานฝ่ายผู้ร้องและพยานฝ่ายผู้ถูกร้อง ในวันที่ 5-6 กรกฎาคม แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าทั้งสองฝ่าย ที่งัดพยานบุคคลมาเบิกความต่อศาลรวมทั้งหมด 14 ปาก เปิดฉากใส่กันอย่างไม่ไว้หน้า

ซึ่งทันทีที่เปิดฉากไต่สวนพยานฝ่ายผู้ร้อง "พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม" ส.ว.สรรหา ก็ถูก "ภราดร ปริศนานันทกุล" ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ในฐานะผู้ถูกร้อง ซักถามอย่างดุเดือดว่าเมื่อปี 2549 เคยร่วมกับคณะปฏิวัติใช่หรือไม่ 
แม้ "พล.อ.สมเจตน์" จะปฏิเสธว่าไม่ได้ร่วมปฏิวัติ แต่เพียงเป็นหัวหน้าสำนักเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ทว่า ท้ายที่สุด "พล.อ.สมเจตน์" ต้องยอมรับว่า "การปฏิวัติ" กับ "การแก้ไขรัฐธรรมนูญ" ก็เป็นการล้มล้างการปกครองไม่ต่างกัน

ด้าน "วิรัตน์ กัลยาศิริ" ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะพยานฝ่ายผู้ร้อง เบิกความชี้ให้ศาลเห็นว่า การแก้ไขมาตรา 291 เป็นการเปิดทางให้มี ส.ส.ร. เพื่อมาล้มล้างการปกครอง พร้อมยกพฤติกรรมการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งในสภาและนอกสภา โดยเฉพาะการปราศรัยของกลุ่มคนเสื้อแดงเพื่อลดความน่าเชื่อถือของสถาบัน 
กลยุทธ์ฝ่ายผู้ร้องยังทิ้ง "ไพ่ใบสุดท้าย" ด้วยการเบิกตัว "สุรพล นิติไกรพจน์" อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะพยานฝ่ายผู้ร้องขึ้นเบิกความต่อศาล 
"สุรพล" ออกอาวุธด้วยการยืนยันว่า การแก้ไขมาตรา 291 ของรัฐสภาในขณะนี้เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมาตรา 291 ไม่เปิดทางให้มีการลบล้างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ แต่เป็นการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้เพียงบางมาตรา 
หากลบล้างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับก็เท่ากับล้มอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งถือเป็นการทำลายล้างการลงประชามติของประชาชน



ขณะที่ฝ่ายผู้ถูกร้อง งัดพยานบุคคลซึ่งเชี่ยวชาญกฎหมายมหาชนอย่าง "โภคิน พลกุล" อดีตประธานรัฐสภา มาหักล้างคำให้การของ "สุรพล"

โดยเฉพาะข้อหา "ล้มล้างการปกครอง" โดยยืนยันว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีข้อเท็จจริงยุติเพียงว่าเพิ่งผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ในวาระที่ 2 ยังไม่ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่กลับมีการ "จินตนาภาพ" ไปตัดสินข้อเท็จจริงในปัจจุบัน ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีความผิด
นอกจากนี้ "สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์" ประธานรัฐสภาในฐานะผู้ถูกร้อง ก็เบิกความโดยพยายามชี้ให้ศาลเห็นว่าไม่มีแนวความคิดจะล้มล้างการปกครอง 
ที่สำคัญคือฉลาดพอที่จะไม่นำเกียรติศักดิ์ศรีสถาบันนิติบัญญัติมาเอาเปรียบทางการเมือง 
ซึ่งคำให้การของ "ประมุขนิติบัญญัติ" ได้การันตีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร. นั้นยังจะคงหมวด 2 ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ของรัฐธรรมนูญ 2550 ไว้ตามเดิม

ในส่วนของ "ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.)" นั้น นอกจากจะช่วยยืนยันในคำเบิกความแล้ว คำแถลงการณ์ปิดคดี หนักแน่นด้วยสาระสำคัญ อาทิ
1. "ศาลรัฐธรรมนูญ" ไม่มีอำนาจรับคำร้องวินิจฉัยได้ตามมาตรา 68 จึงไม่เป็นเหตุให้วินิจฉัยในประเด็นอื่นที่ศาลได้ตั้งไว้ได้ 
2. ยกมาตรา 197 วิงวอนศาลให้พิจารณาอรรถคดีให้เป็นไปอย่างยุติธรรม โดยเพิกถอนคำสั่งที่ศาลได้รับคำร้องไว้อย่างไม่ถูกต้องตั้งแต่แรก
3. อ้างคำให้สัมภาษณ์ของ "ประธานศาลรัฐธรรมนูญ" ในคลิปวิดีโอ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2554 ว่าสามารถแก้ไขมาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้ตั้ง ส.ส.ร. ได้ 
ฉะนั้น กระบวนการหักล้างข้อกล่าวหาผ่านคำแถลงการณ์ปิดคดีของ "พท." เป็นการงัดทุกมิติทางกฎหมายมหาชน ขึ้นมาล้มล้างข้อกล่าวหาร้ายแรงของ "ฝ่ายผู้ร้อง" เพื่อขอความเมตตาจาก "ศาลรัฐธรรมนูญ" เป็นครั้งสุดท้าย

ขณะที่ คำแถลงการณ์ปิดคดีของ "ฝ่ายผู้ร้อง" ซึ่งนำโดย "ปชป." ก็พยายามจะทำให้เห็นว่า
1. "ศาลรัฐธรรมนูญ" มีอำนาจรับคำร้องตามมาตรา 68 
2. การแก้ไขมาตรา 291 เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ ทั้งฉบับ และจะต้องแก้ไขได้เพียงรายมาตราเท่านั้น
และ 3. การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นการล้มล้างการปกครอง ผ่านพฤติการณ์ของการเคลื่อนไหวของ "คนเสื้อแดง" และ "พท." ที่มีเนื้อเดียวกัน

ซึ่งทั้งหมดเป็น "กลยุทธ์" ห้ำหั่นทางการเมืองของ "ผู้ร้อง" และ "ผู้ถูกร้อง" ในสถานการณ์การเมืองที่คุกรุ่น รุนแรงและอ่อนไหว อย่างยิ่ง
กระทั่งหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องพยายามออกมาแสดงความเป็นห่วงเป็นใยแต่ละหนทางออกแห่ง "คำวินิจฉัย"
จนทำให้เห็นว่า สุดท้ายไม่ว่าคำตอบจาก "ศาลรัฐธรรมนูญ" ในวันที่ "13 กรกฎาคม" จะออกมาเป็นแบบใด 
"กระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม" จะขัดต่อ "มาตรา 68" เป็นการล้มล้างการปกครอง หรือไม่
การเมืองไทยวันนี้ ไม่ใช่การเมืองใน "ภาวะปกติ" อีกต่อไป 
ผลแห่งคำวินิจฉัย ย่อมส่งผลสะเทือนต่อ "ประเทศไทย" อย่างปฏิเสธไม่ได้

และไม่เว้นแม้กระทั่ง "ศาลรัฐธรรมนูญ" เอง!!!



+++

จาก Small Unit ถึง ทหารทรหด ทบ.พร้อมรบ กลางการเมืองร้อน "สุกำพล-ประยุทธ์" วัดใจ แม่ทัพ 1 ดัชนีความแข็งของ "บิ๊กตู่" "วลิต-ไพบูลย์-กัมปนาท"
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1665 หน้า 14


แม้ บิ๊กโอ๋ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม จะมั่นอกมั่นใจถึงขั้นที่ว่า "เอาปืนจี้หัว" ผู้นำทหารให้ปฏิวัติ ก็ยังไม่กล้าทำเลย ก็ตาม
แต่ในใจของเหยี่ยวอากาศผู้นี้ ก็หาได้มั่นใจ 100% เพราะความเคลื่อนไหวบางอย่างในกองทัพ ทำให้ฝ่ายการเมือง และหน่วยข่าวลับส่วนตัว ต้องจับตาแบบเงียบ เพราะพวกเขารู้ดีว่ากองทัพจะยังคงเป็นอาวุธ หรือเขี้ยวเล็บสุดท้ายของอำมาตย์ ในที่สุด เมื่อปฏิวัติซ่อนรูปในรูปแบบอื่นๆ ไม่สำเร็จ
โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวในกองทัพบกของบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ผู้คุมกำลังสำคัญ และมีบิ๊กหนุ่ย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รอง ผบ.ทบ. เพื่อนรัก ตท.12 อยู่ข้างกาย ในฐานะมันสมอง คลังแห่งความคิด และวางแผน
อย่าลืมว่า พล.อ.ดาว์พงษ์ นั้นมักตกเป็นจำเลยทุกครั้งที่คนเสื้อแดงหรือแกนนำพรรคเพื่อไทย ปูดข่าวปฏิวัติรัฐประหาร ตั้งแต่ตู่ จตุพร พรหมพันธุ์ ที่ระบุว่า หัวหน้าปฏิวัติจะไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ก็เป็นพวกเดียวกัน 
ครานั้น ชื่อของนายพลเจี๊ยบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. เพื่อน ตท.12 ของ พล.อ.ประยุทธ์ ตกเป็นเป้าหมาย ในฐานะพี่ใหญ่ ที่พยายามกระชับ ผบ.เหล่าทัพ ให้แน่นแฟ้นเป็นเอกภาพ เพื่ออำนาจต่อรองและป้องกันการเมืองแทรกแซง
หลังฉาก ก็ยังมีการโฟกัสไปที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ อีกเช่นเคย จนเจ้าตัวรู้ดีว่าตกเป็นเป้า แต่อดน้อยใจ บ่น "ไม่ยุติธรรม" ไม่ได้


แน่นอนว่า นอกจาก ทบ. เป็นเหล่าทัพใหญ่ที่สุด และมีอำนาจแฝงทางการเมืองแล้ว อำนาจที่ฝังตัวมั่นคงตั้งแต่ก่อนปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 ทำให้ยังเกิดความหวาดระแวง เพราะไม่ว่าจะระดับแม่ทัพนายกอง ลงไปจนถึง ผู้บัญชาการกองพล ผู้บังคับการกรม ผู้บังคับกองพัน หรือแม้แต่ ผู้บังคับกองร้อย และอาจจะเรียกได้ว่า ถึงผู้บังคับหมวดด้วยซ้ำ ที่เป็นสายตรงของ พล.อ.ประยุทธ์ และ แผงอำนาจ 3 ป. ตั้งแต่ในยุคบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ และบิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ.
ที่สำคัญ ความเคลื่อนไหวของ 3 ป. ที่แท็กทีมกันไปรับเสด็จสมเด็จพระราชินีฯ ที่เสด็จสดับพระธรรมเทศนา ที่วัดหงส์รัตนารามฯ เป็นการส่วนพระองค์ เมื่อ 3 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ก็ถูกจับตามองจากฝ่ายตรงข้ามไม่น้อย
แม้แต่ บิ๊กจิ๋ว พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ และอดีต ผบ.ทบ. ฝั่งพรรคเพื่อไทย ก็ยังทำนายทายทักถึงบทบาทของทหารที่จะกลับมา จากตัวเลข 3 ตัว คือ มาตรา 68 การยุบพรรค และมาตรา 77 บทบาททหาร ที่อาจรวมถึงการรัฐประหาร และมาตรา 7 นายกรัฐมนตรีพระราชทาน หรืออาจหมายถึงรัฐบาลพระราชทาน ด้วยซ้ำ 
อีกทั้งในระยะหลัง พล.อ.ประยุทธ์ หันมามุ่งเน้นเรื่องความพร้อมรบของ ทบ. ที่หากมองในแง่ดี คือการกลับมาสู่การเป็นทหารอาชีพ ทำงานในหน้าที่ของทหารมากขึ้น หรือการพร้อมรับสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ด้านเขาพระวิหาร ที่อาจตึงเครียดจากมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลก ที่เขมรเร่งให้ไทยถอนทหาร และอาจไปถึงมติของศาลโลก  
แต่หากมองในอีกแง่หนึ่ง ก็ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย ว่าจะเป็นการเตรียมพร้อมไปเพื่อประการใด 
ทั้งการสั่งเตรียมความ "พร้อมรบ" ของหน่วยทหารขนาดเล็ก (Small Unit) ในทุกกองทัพภาค กองพลละ 2 ชุดปฏิบัติการ โดยเน้นทั้งหน่วยทหารราบ และทหารม้า ถึงขั้นที่ให้มีการแข่งขันกันด้วย 
โดยจะเน้นสมรรถภาพในการรบทุกด้าน โดยเฉพาะการใช้อาวุธ

ที่สำคัญคือ การสร้าง "ทหารทรหด" ที่ พล.อ.ประยุทธ์ นึกชื่อไม่ออก แม้จะมีชื่อจริงยาวมาก แต่ก็เรียกกันสั้นๆ ตาม ผบ.ทบ. เรียก สำหรับการสร้างทหารที่มีความสามารถในการรบในทุกสภาวะ ไม่ว่าจะในสภาพภูมิประเทศใด น้ำ ฟ้า ฝั่ง หรือในทุกสภาวะของร่างกาย ไม่ว่าจะเหนื่อย ง่วง หิว ในสภาพกดดันมากแค่ไหนก็จะต้องทำการรบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่ฝึกหนักฝึกเข้ม ไม่แพ้หน่วยมนุษย์กบ หรือหน่วยซีลของ ทร. เรียกได้ว่าฝึกให้เก่งกว่าทหารรบพิเศษของ ทบ. เองด้วยซ้ำ 
ประมาณว่า พล.อ.ประยุทธ์ อยากให้ ทบ. มีนายทหารที่เป็นทหารนักรบที่มีความสามารถสูงเป็นพิเศษ สูงมากกว่าทหารรบพิเศษ ให้อดทนและเข้มแข็ง เป็นเสมือน Superman คล้ายกับการฝึกหน่วยลาดตระเวนสะเทินน้ำสะเทินบกของนาวิกโยธิน หรือ Recon -Reconnaissance และหลักสูตรมนุษย์กบ SEAL-Sea -Air-Land หรือนักทำลายใต้น้ำจู่โจม UDT- Underwater Demolition Team ของกองทัพเรือไทย
หรืออาจเรียกอีกอย่างว่าเป็น Army Seal เลยด้วยซ้ำ


งานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ สั่งให้มีการสร้าง "ทหารทรหด" ขึ้นในทุกกองทัพภาค ที่เริ่มการคัดเลือกและฝึกทหารที่มีคุณสมบัติพิเศษนี้แล้ว โดยให้มีการฝึกให้เข้ากับภารกิจของแต่ละกองทัพภาค แต่คุณสมบัติหลักและการฝึก คือ จะต้องสามารถแบกอาวุธน้ำหนัก 22 กิโลกรัม หรือ 50 ปอนด์ ในการปฏิบัติภารกิจติดตัวได้ตลอด ต้องสามารถเดินเร็ว พร้อมเครื่องสนาม ระยะทาง 3 ไมล์ ในเวลา 45 นาที หรือ 6 ไมล์ในเวลา 1 ช.ม. 30 นาที และรอบรู้เรื่องวัตถุระเบิด ทั้งแบบมาตรฐานและแสวงเครื่อง 
นอกเหนือจากกองร้อยรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ร้อย รส. ที่ไว้เตรียมพร้อมปราบม็อบหรือดูแลความสงบภายใน ที่เคยตั้งไว้หลังยุค ศอฉ. แล้ว ก็มีการสั่งตั้งชุดปฏิบัติการพิเศษขึ้นหลายชุด จนทำให้ทหารแตงโมและฝ่ายแกนนำเสื้อแดงวิตกจริต ว่าเป้าหมายแฝงของทหารหน่วยพิเศษเหล่านี้ คือเอาไว้เป็นกองกำลังในการจับกุมตัว วี.ไอ.พี. เมื่อต้องปฏิวัติ หรือเข้ายึดที่หมายสำคัญ รวมทั้งทำภารกิจลับ 
รวมทั้งการที่ พล.อ.ประยุทธ์ เสนอขอเพิ่มกำลังทหารพรานในภาคใต้อีก 5 กรม และการเสนอตั้งกองทัพน้อยที่ 4 เพื่อเสริมกำลังในการดูแล 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ค่ายวชิราวุธ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ใช้อาคารสถานที่ที่มีอยู่เดิม ที่ตั้งเป้าเข้า ครม. ภายในเดือนกันยายน ปี 2555

แต่แค่ขั้นตอนแรก พล.อ.อ.สุกำพล ก็สั่งยุติแล้ว เพราะสวนทางกับนโยบายในการปรับลดขนาดกองทัพและลดกำลังพล ซึ่งเป็นเรื่องหลักที่ พล.อ.อ.สุกำพล ต้องการจะทำให้สำเร็จ เพราะมองว่าการตั้งกองทัพน้อยที่ 4 มีแค่หัวและโครง เพื่อให้มีแม่ทัพน้อยที่ 4 เป็น พลโท เพิ่มอีกคน
ทั้งๆ ที่การตั้ง กองพลทหารราบที่ 15 (พล.ร.15) ตั้งแต่ปี 2549 เพื่อมาดูแล 3 จ.ภาคใต้ ก็ยังไม่สำเร็จ ยังบรรจุไม่เต็มอัตรา และมีปัญหาเรื่องงบประมาณและกำลังพล จึงทำให้กำลังทหารจากกองทัพภาค 1-2-3 ยังไม่อาจถอนกลับที่ตั้งได้ 
อีกทั้งตามแผนของกองทัพแล้ว มีแต่จะยุบกองทัพน้อยที่ 1,2,3 ภายในปี 2559 นี้เสียมากกว่าที่จะให้มีการตั้งหน่วยเพิ่ม เพราะกองทัพน้อย จัดตั้งขึ้นในยามสงคราม และเพื่อหาตำแหน่งลงในการแก้ปัญหาโยกย้ายทหาร 
อีกทั้งที่ผ่านมา ทบ. เพิ่งมีการตั้งกองพลทหารม้าที่ 3 (พล.ม.3) ที่ขอนแก่น และ กองพลทหารราบที่ 7 (พล.ร.7) ที่เชียงใหม่ แล้ว แต่ก็ยังไม่คืบหน้า เพราะใช้งบประมาณหลายหมื่นล้านบาท 

พล.อ.ประยุทธ์ มักออกตัวเสมอว่า อยากมีกำลังทหารของ ทบ. เพิ่มขึ้นสัก 5 แสนคน จากที่ตอนนี้มีราวเกือบ 3 แสนคน เพื่อให้เพียงพอกับภารกิจที่มีอยู่ และมากขึ้นๆ
แต่การมีกำลังทหารมากขึ้น ก็หมายถึงพลังอำนาจที่มากขึ้น จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ พล.อ.อ.สุกำพล ต้องกลั่นกรองอย่างรอบคอบ 
ตรงกันข้าม พล.อ.อ.สุกำพล กลับอนุมัติให้มีการตั้ง กรมทหารราบนาวิกโยธินที่ 2 ตามที่ ทร. เสนอขอมาหลายปี เพื่อที่จะมาดูแลพื้นที่ด้านอันดามัน และพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งอาจเป็นเพราะทหารเรือไม่เป็นพิษเป็นภัยทางการเมือง 
และตรงกันข้าม ทหารเรือภายใต้การนำของบิ๊กหรุ่น พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร. ก็ดูจะไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และอาจเป็นที่พึ่งพิงของฝ่ายการเมืองได้ เพราะที่ผ่านมา ทร. มักถูกดองและตัดแขนตัดขามาตลอด ตั้งแต่กบฏแมนฮัตตัน



เหล่านี้ อาจเป็นสัญญาณที่ พล.อ.ประยุทธ์ เองก็ไม่อาจมองข้าม ทั้งในแง่ "ความแข็ง" ของ พล.อ.อ.สุกำพล ที่เหมือนจะคุยกันได้ แต่ในบางเรื่อง พล.อ.อ.สุกำพล ก็ไม่หมู เช่นการไม่อนุมัติงบประมาณในการซื้ออุปกรณ์ปราบจลาจล ที่ตกค้างมาตั้งแต่ยุค ศอฉ. และไม่อนุมัติให้คงกำลังทหารในพื้นที่รอบเขาพระวิหาร ที่ต้องใช้เดือนละ 30 ล้านบาท จน พล.อ.ประยุทธ์ ต้องสั่งปรับลดกำลังทหารลงโดยปริยาย 
"ผมกับ ผบ.เหล่าทัพ พูดคุยกันได้ มีอะไรก็ขอกันได้ ซึ่งผมไม่ขออะไรมาก แต่ถ้าขอแล้วจะต้องได้ เวลากองทัพขอมา อันไหนผมให้ได้ ผมก็ให้ อันไหนไม่ได้ก็ต้องพูดกันตรงๆ" พล.อ.อ.สุกำพล กล่าว 
นี่อาจจะหมายถึงการแต่งตั้งโยกย้ายทหารที่กำลังคุกรุ่นกันตอนนี้ เพราะนอกจาก พล.อ.อ.สุกำพล จะเร่งให้ทำเสร็จภายในต้นเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อตัดปัญหาการวิ่งเต้นแล้ว ยังเพื่อให้เสร็จสิ้นก่อน หากว่าตนเองต้องหลุดจากเก้าอี้ รมว.กลาโหม ไปเสียก่อน  
พล.อ.อ.สุกำพล จึงเดินสายไปทานข้าวต้ม หรือจิบกาแฟกับ ผบ.เหล่าทัพ แบบส่วนตัว ถึงกองบัญชาการ เริ่มจากไปถกกับ พล.อ.ธนะศักดิ์ ผบ.สส. ก่อน แล้วก็มุด บก.ทบ. มาหา พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนไปกินข้าวกับบิ๊กเฟื่อง พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ. และ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ ผบ.ทร. เป็นคนสุดท้าย เพื่อถกโผทหาร ที่ต้องการมีการโยกสลับข้ามห้วยกันหลายตำแหน่ง และอีกหลายเรื่อง 
นัยหนึ่งก็เพื่อกระชับสัมพันธ์พี่น้อง และเป็นการให้เกียรติ ผบ.เหล่าทัพ ที่ รมว.กลาโหม รุ่นพี่ เป็นฝ่ายมาเยือนถึงบ้าน 
แต่ก็หวาดหวั่นกันว่า ความแข็งของ พล.อ.อ.สุกำพล แบบที่คาดไม่ถึงนี้ อาจทำให้การโยกย้ายทหารครั้งนี้ มีลุ้น


นอกจากความวุ่นวายในตำแหน่ง ผบ.ทอ. คนใหม่ ที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผช.ผบ.ทอ. เต็งหนึ่ง จะต้องหวั่นไหวกับบิ๊กหนู พล.อ.อ.บุญยฤทธิ์ เกิดสุข รอง ผบ.สส. ที่อาจข้ามห้วยมาเสียบแทน เพราะเป็นจังหวะที่ดีในการวางตัวแม่ทัพฟ้าคนใหม่ ที่ไม่ใช่สายอำมาตย์ แล้ว 
ที่ ทบ. ก็หวาดๆ กันว่าการเมืองจะเข้ามามีเอี่ยว เพื่อวางตัวผู้คุมกำลังในยามที่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ดูอ่อนข้อให้ฝ่ายการเมือง เพราะความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และความเกรงใจในรุ่นพี่ ตท.10 อย่าง พล.อ.อ.สุกำพล เพราะไม่อยากให้เกิดความขัดแย้ง ไม่อยากให้กระทบเก้าอี้ ผบ.ทบ. ของเขา 
พล.อ.ประยุทธ์ มักแสดงความมั่นใจเสมอ ว่าเขาจะได้เป็น ผบ.ทบ. ต่อไปจนเกษียณ "ผมก็จะเป็นต่ออีก 2 ปี คงไม่เบื่อหน้าผมเสียก่อน" รวมทั้งการสั่งการนโยบายความพร้อมรบในปี 2556 ที่ให้ฝ่ายอำนวยการเตรียมร่างนโยบายและแผนการพัฒนากองทัพแล้ว  
โดยเฉพาะการจัด 5 เสือ และ 18 สิงห์ ใน ทบ. รอง เสธ.ทบ., ผช.เสธ.ทบ. และแม่ทัพภาคต่างๆ ที่ต้องมีการเขย่ากันใหม่ เพราะเป็นจังหวะที่เหมาะสม แม้ว่าจะให้ พล.อ.ประยุทธ์ จัดเองทั้งหมด แต่ก็ต้องมีรายการ "คุณขอมา" หรือต่อรอง ขอร้องกันมา เกิดขึ้น 
แน่นอนว่า ฝ่ายการเมืองคงไม่ขัดที่จะให้ดันบิ๊กโด่ง พล.ท.อุดมเดช สีตบุตร แม่ทัพภาค 1 ทหารเสือราชินี แห่ง ตท.14 ขึ้นมาเป็น ผช.ผบ.ทบ. จ่อเป็น ผบ.ทบ. ต่อจาก พล.อ.ประยุทธ์ ที่เกษียณกันยายน 2557 แล้วสร้างแผงอำนาจ ตท.12 ให้บิ๊กนมชง พล.ท.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รอง เสธ.ทบ. ขึ้นเป็น เสธ.ทบ. และเป็นเลขาธิการ กอ.รมน. คุม กอ.รมน. อีกด้วย และให้บิ๊กยอด พล.ท.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ผบ.นปอ. แห่ง ตท.12 ขึ้นเป็น ผช.ผบ.ทบ. อีกคน
แต่เก้าอี้แม่ทัพภาค 1 อาจต้องมีการกดดันและต่อรอง ในเมื่อตัวเลือกนั้นล้วนบาดใจคนเสื้อแดง โดยเฉพาะเต็งหนึ่งอย่างบิ๊กอู๊ด พล.ต.วลิต โรจนภักดี รองแม่ทัพภาค 1 อดีต ผบ.พล.ร.2 รอ. ที่เคยประฝีมือกับคนเสื้อแดง มาตั้งแต่สามแยกดินแดง สงกรานต์ 2552 จนมาสี่แยกคอกวัว เมษายน 2553 ที่แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องการดันน้องรัก ทหารเสือราชินีและบูรพาพยัคฆ์คนนี้ ขึ้นคุมขุมปฏิวัติก็ตาม
แต่ก็ยังมีศึกภายใน เพราะต้องชิงกับบิ๊กต๊อก พล.ต.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รองแม่ทัพภาค 1 เพื่อน ตท.15 ของ พล.ต.วลิต เอง อีกคน เพราะ พล.ต.ไพบูลย์ ถือเป็นตัวแทนของทหารวงศ์เทวัญ เพราะโตมาใน ร.11 รอ. และ พล.1 รอ. ที่สำคัญ เขาเป็นน้องรักของบิ๊กตุ๋ย พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี อดีต ผบ.ทบ. ที่แนบแน่นกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และยังเป็นน้องเลิฟของบิ๊กบัง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช. อีกด้วย

ไม่แค่นั้น ด้วยสายใยแห่ง ร.11 รอ. ทหารล้อมวัง พล.ต.ไพบูลย์ เป็นน้องรักของ พล.อ.ดาว์พงษ์ อีกต่างหาก
ถ้าพูดเรื่องเล็กพริกขี้หนู หรือใจถึงพึ่งได้ แล้ว พล.ต.ไพบูลย์ ไม่แพ้ พล.ต.วลิต เลยทีเดียว แต่ทว่ากระแสต้านจากคนเสื้อแดงจะน้อย เพราะในเวลานั้น พล.ต.ไพบูลย์ ไม่ได้มีตำแหน่งหลัก 
แต่ก็ไม่อาจลืมบิ๊กตึ๋ง พล.ท.อุทิศ สุนทร แม่ทัพน้อยที่ 1 น้องรักของ พล.อ.ประวิตร อดีต รมว.กลาโหม พี่ใหญ่ของ พล.อ.ประยุทธ์ 
แต่ที่มาแรงคือม้ามืดอย่างบิ๊กโชย พล.ต.กัมปนาท รุดดิษฐ์ รองแม่ทัพภาค 1 อดีต ผบ.พล.1 รอ. ตท.16 ที่ถือเป็นวงศ์เทวัญ เพราะโตมาจาก ผบ.ร.31 รอ. เป็นทหารนักรบ และเป็นทหารอาชีพ ที่โตมาแบบเงียบๆ และช้า เพราะเป็น ผบ.พล.1 รอ.นานถึง 3 ปี ทำให้เสียจังหวะ แต่การมีอายุราชการถึงปี 2560 ก็อาจเป็นม้ามืดที่น่าจับตามอง เพราะไม่ใช่เด็กในสังกัดใครที่ก็อาจกลายเป็นตัวเลือกที่อาจใช้ผ่าทางตัน ที่ทั้งคนใน ทบ. ยอมรับ และฝ่ายการเมืองสบายใจ
แต่ก็อยู่ที่ความแข็งของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะต่อต้านและต่อรองให้ พล.ต.วลิต ได้หรือไม่ ในเมื่อเขาก็เสียสละตัวเองในการทำตามคำสั่ง เอาตัวเข้าเสี่ยงกับม็อบเสื้อแดงมาตลอด จนต้องบาดเจ็บสาหัส ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ เคยรับปากว่าจะดูแล


การโยกย้ายทหาร จึงจะเป็นปัจจัยที่ยิ่งทำให้การเมืองร้อนแรงมากขึ้นๆ เพราะส่อแววแห่งการต่อรอง ล้วงลูก ถ้าคุยกันได้ ยอมกันได้ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้ากองทัพไม่ยอมแล้ว พล.อ.อ.สุกำพล ก็แข็ง ต้องแสดงเพาเวอร์และศักดิ์ศรีของ รมว.กลาโหม ทหารเก่า ไม่ยอมด้วยอีกคน อะไรจะเกิดขึ้น
นอกจากศึกอำมาตย์แท้ กับ ไพร่กลายพันธุ์เป็นอำมาตย์ และทหารสับปะรดกับทหารแตงโม แล้ว ยังมีศึกของวงศ์เทวัญ กับบูรพาพยัคฆ์ ในกองทัพ ที่จะทำให้การเมืองไทย มีอะไรที่คาดไม่ถึงอุบัติขึ้นได้เสมอ...



+++

แผนพิทักษ์เลือกตั้ง "54 ตรึง 3,118 ศึก "ท้องถิ่น" จับตา "อบต." เล็กแต่แรง
คอลัมน์ โล่เงิน ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1665 หน้า 99


กรณี "นายประพันธ์ นัยโกวิท" คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านการบริหารงานเลือกตั้ง ออกมาแสดงความห่วงใยถึงการเลือกตั้งในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ปี 2555 ที่มีมากถึง 3,118 แห่ง จากการเลือกตั้งในหลายจังหวัดในห้วงครึ่งปีที่ผ่านมา พบว่าหลายพื้นที่แข่งขันดุเดือด ถึงขั้นประทุษร้าย เอาชีวิตผู้สมัคร และหัวคะแนน 
จากประเด็นนี้เอง กกต. ร่อนหนังสือด่วนส่งตรง "พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์" ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ขอความร่วมมือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ให้ช่วยแก้ปัญหาความรุนแรงในการเลือกตั้ง

"โล่เงิน" สัปดาห์นี้ สัมภาษณ์พิเศษ "พล.ต.ท.ประยูร อำมฤต" ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) ด้านความมั่นคง ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศรส.ลต.ตร.) ถึงมาตรการรับมือการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ ทั้งสนามนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี นายก-สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ไปจนถึงสนามกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน 
โดย พล.ต.ท.ประยูร เปิดเผยว่า การดูแลความสงบเรียบร้อยการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นเป็นภารกิจที่ ตร. ได้รับมอบหมายจาก กกต. มาโดยตลอด ช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ตร. เข้าไปดูแลความสงบเรียบร้อยทุกสนาม ดำเนินการตามแผนรักษาความสงบเรียบร้อยการเลือกตั้ง หรือ "แผนพิทักษ์เลือกตั้ง 54" แผนเดียวกับที่ใช้ดูแลการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ผ่านมา เพียงแต่ลดขนาดกำลังลงตามสถานการณ์

ผู้ช่วย ผบ.ตร. เผยด้วยว่า เมื่อมีการเลือกตั้ง ตร. จัดตั้ง ศรส.ลต. ระดับ ตร. ซึ่งมี พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา ที่ปรึกษา (สบ 10) เป็นผู้อำนวยการ ตั้งอยู่ที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) ชั้น 20 คอยติดตามสถานการณ์และพร้อมสนับสนุนพื้นที่เมื่อต้องการ ขณะเดียวกัน มีการตั้ง ศรส.ลต. ในระดับ กองบัญชาการ (บช.) กองบังคับการ (บก.) ระดับจังหวัดทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง เพื่อเป็นศูนย์อำนวยการ บริหารจัดการตามแผนพิทักษ์เลือกตั้ง 
"การเลือกตั้งแต่ละครั้ง ตำรวจเข้าไปตั้งแต่เริ่มกำหนดให้มีการเลือกตั้ง เข้าไปหาข้อมูล หาข่าวความเคลื่อนไหวของผู้สมัคร หัวคะแนน จากนั้นเริ่มเข้าแผนตั้งแต่วันรับสมัครเลือกตั้ง หาเสียง ในพื้นที่แข่งขันสูงผู้สมัครรายใดที่รู้สึกกลัวว่าจะถูกปองร้าย ก็ร้องขอมา เราก็จัดกำลังไปตามสมควร แต่ใช่ว่าขอมาแล้วได้ทุกคน ต้องดูตามสถานการณ์ ตอนเปิดเวทีหาเสียงปราศรัยก็เข้าไปดูแล แต่การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ค่อยเปิดเวทีเท่าไหร่ เป็นลักษณะการเดินหาเสียงมากกว่า"
ผู้ช่วย ผบ.ตร. ระบุ


เมื่อถามถึงประเด็น การห้ำหั่นรุนแรงในการชิงเก้าอี้สภาท้องถิ่น พล.ต.ท.ประยูร แจงว่า ภาพอาจจะออกมาอย่างนั้น แต่เท่าที่ผ่านมา การแข่งขันในหลายจังหวัดไม่มีความขัดแย้งเท่าไหร่ ถึงขั้นใช้วิธีการรุนแรงหมายปองชีวิตก็เป็นเพียงข่าว 
"ต้องยอมว่าการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น การเมืองท้องถิ่นคือฐานของการเมืองระดับประเทศ มีการแข่งขันสูง หลายจังหวัด ผมว่าผู้สมัครในปัจจุบันเข้าใจประชาธิปไตยมากขึ้น การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นที่ผ่านมาก็มีบ้างที่ขอกำลังตำรวจไปคุ้มกันเพราะกลัว แต่ไม่มาก ปีนี้เลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ ผมลงไปตรวจสอบหลายจังหวัด สิ่งแรกที่กำชับตำรวจคือการวางตัวเป็นกลาง สำคัญที่สุด ใครแข่งขันก็แข่งไป แต่ตำรวจถ้ารักใครชอบใครไม่ว่า แต่หน้าที่ก็คือหน้าที่ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีการร้องเรียนเรื่องวางตัวไม่เป็นกลาง 
"พื้นที่แข่งขันแรง ลักษณะที่พบคือจะมีการปล่อยข่าวว่าจะทำร้ายกันบ้าง เพื่อให้คู่ต่อสู้ระวังตัว ไม่ออกไปปราศรัยหาเสียง แต่ก็ยังไม่มีการทำร้ายกัน ตลอดปีที่ผ่านมาที่มีเหตุทำร้าย ฆ่ากัน สันนิษฐานตอนแรกก็ว่า เกี่ยวกับการเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่น แต่เอาเข้าจริงๆ ไม่ใช่ มีเหตุอื่นผสม ยังไม่มีเหตุไหนชัดเจนว่ามาจากเรื่องการเมืองท้องถิ่น
"หลายพื้นที่กลุ่มผู้สนับสนุนเสื้อแดงแข่งกันเอง อย่าง จ.อุดรธานี ที่ว่าแข่งกันแรง แต่เอาเข้าจริงๆ ไม่มีอะไร หรือ จ.ลำปาง ก็ไม่มีอะไรที่ใช้ความรุนแรง กลุ่มเหล่านี้ล้วนมีฐานเสียงเหนียวแน่นของตัวเอง ที่ว่าจะห้ำหั่นเอาชีวิตกันยังไม่ได้รับรายงาน และ 2 จังหวัดที่ว่าก็ไม่มีการร้องขอกำลังตำรวจคุ้มกัน
"เท่าที่ผมฟังข่าว ติดตามการเลือกตั้งยิ่งระดับเล็ก การแข่งขันยิ่งแรง อบต. นี่แข่งขันสูง เพราะสนามเล็กคือการเริ่มต้นเข้าสู่การเมือง คนเหล่านี้ฐานเสียงยังไม่มี เพราะฉะนั้น จึงแสวงหา มันก็มีความขัดแย้ง พอขึ้นมาระดับหนึ่งสนามใหญ่ขึ้นมองเห็นฐานเสียงแล้ว พวกสนามแรก สนามเล็กจึงแย่งเสียง ชิงรักหักสวาทกันเต็มที่ อบต. จึงน่าเป็นห่วงมากที่สุดในเรื่องความรุนแรง" ผู้ช่วย ผบ.ตร. ชี้แจง


สําหรับพื้นที่รุนแรง พล.ต.ท.ประยูร บอกว่า ภาคอีสานก็มี แต่ไม่ใช่ทุกจังหวัด ภาคเหนือก็มี แต่ที่ห่วงคือ 3 จังหวัดภาคใต้ เพราะมีปัญหาแทรกซ้อน การวางกำลังในการดูแลความสงบเรียบร้อยการเลือกตั้งต้องขอสนับสนุนกำลังทหาร เรียกว่าใช้กำลังมากกว่าพื้นที่อื่น 3 เท่า เรื่องการผสมโรง มีทุกพื้นที่ พอการแข่งขันเลือกตั้งมีการทำร้ายกันจากมูลเหตุอื่นแต่โยนเข้าเรื่องเลือกตั้ง หรือบางทีมีกระแสข่าวว่าปมมาจากเรื่องเลือกตั้ง แต่กลับไปโยงเข้ากับการก่อความไม่สงบก็มี
"ด้านหัวคะแนน หลายจังหวัดมีการเชิญหัวคะแนน มาคุยกันทำสัญญาประชาคมกัน ว่าจะหาเสียงกันด้วยความสุจริต ทางตำรวจก็พยายามไปเกาะติดคนเหล่านี้ ทำให้เขาขยับที่จะทำอะไรไม่เหมาะได้ลำบาก รวมถึงการซื้อเสียงด้วย ถ้าถามผมว่าการซื้อเสียงมีไหม ผมว่ายังมีอยู่ แต่ผมว่าประชาชนเดี๋ยวนี้มีประสบการณ์ เรียนรู้การเมืองมาเยอะ การซื้อเสียงหวังผลยากขึ้น แต่หน้าที่เราคือทำให้มีน้อยที่สุด"

เมื่อถามถึงการป้องกันเหตุรุนแรง รอง ผอ.ศรส.ลต.ตร. กล่าวว่า กลุ่มมือปืน ผู้มีอิทธิพล ตร. สั่งการให้ตรวจสอบ มือปืนรับจ้างที่มีประวัติต้องคอยระมัดระวัง
"แม้บางทีข่าวอาจไม่มีอะไร แต่ประมาทไม่ได้ ต้องคอยระมัดระวัง พวกมีหมายจับอยู่แล้ว ก็สั่งให้ตามจับ กวดขันเข้ม อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าตำรวจมีปัญหาเรื่องการกำลังพล เนื่องจากกำลังตำรวจมีไม่เต็มอัตรา เมื่อต้องมาดูแลความสงบเรียบร้อยเลือกตั้ง บางจังหวัดใช้กำลังเกือบทั้งหมดต้องให้ระดับกองบัญชาการสั่งการให้กำลังที่อื่นมาช่วยสนับสนุน ดูแลป้องกันอาชญากรรมทั่วไป มาอุดช่องว่างไม่ให้มีปัญหาแทรกซ้อน
"ตำรวจต้องทำให้เห็นว่าเราเข้าไปช่วยดูแลความสงบ ดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริต เริ่มต้นที่ตัวเองก่อน ผมพูดกับตำรวจเสมอ อย่าให้การเลือกตั้งมีผลกับการแต่งตั้ง กำชับเสมอ จะรักใครชอบใครห้ามไม่ได้ แต่ต้องสำนึกว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขณะปฏิบัติหน้าที่ต้องเป็นกลาง เวลาเขาขอกำลังไปรักษาความปลอดภัย ต้องไปในหน้าที่ ตำรวจไม่มีหน้าที่ไปชี้แจงหัวคะแนน ถือกระเป๋า หรือไปช่วยหาเสียง ต้องเป็นกลางทั้งในและนอกเวลาราชการ เพราะคุณเป็นตำรวจตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะสนามใหญ่ สนามเล็ก เจอศึกช้างชนช้าง หากตำรวจวางตัวเป็นกลางก็ไม่น่าหนักใจ ถ้าทำทุกอย่างเป็นกลาง ผิดก็ว่าผิด หากไม่วางตัวเป็นกลางหนักใจทันที

"ซึ่งหลักของแผนพิทักษ์เลือกตั้ง 54 คือ 1.ตำรวจต้องวางตัวเป็นกลาง 2.การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม และ 3.ต้องเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อยปลอดภัย"
พล.ต.ท.ประยูร กล่าวทิ้งท้าย



.