.
รัฐธรรมนูญที่ดีไม่มีใครแจก ต้องใช้เลือด...ชีวิตแลก...จึงได้มา
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1666 หน้า 20
คงอีกนาน กว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตย ในอดีตการต่อสู้เพื่อให้มีรัฐธรรมนูญ ใช้เวลาหลายปี แต่ได้มาแล้วก็อาจถูกฉีกทิ้งอีก ถ้าไม่รู้จักจัดโครงสร้าง และวิธีการรักษาเอาไว้
ระบบอุปถัมภ์ที่ฝังรากลึกในบ้านเรา และผลประโยชน์เฉพาะหน้า ทำให้คนที่เคยก้าวหน้าและผู้มีความรู้จำนวนหนึ่งเปลี่ยนไป ทั้งอยากมีเงิน มีอำนาจ อยากมีนายอุปการะ อยากเป็นอภิสิทธิ์ชน คนเหล่านี้ไม่เห็นคนเท่าเทียมกัน นี่คือชนชั้นที่ซ่อนอยู่ในใจ และกลายเป็นจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างจากพวกเสรีชน
สุดท้ายเมื่อมีรัฐธรรมนูญ ก็เขียนไม่เหมือนกัน เขียนเพราะคิดว่าคนเท่ากัน หรือเขียนให้คนอื่นอยู่ใต้เท้าตัวเอง
รัฐธรรมนูญที่ดี
ได้มาจากการต่อสู้ทั้งสิ้น
การจะได้รัฐธรรมนูญดีๆ จำเป็นต้องผ่านการต่อสู้ ใช้เวลายาวนานทุกครั้ง หลั่งเลือดทุกที่ การต่อสู้ในอดีตมักจะพุ่งเป้าไปที่ผู้ถืออาวุธ หรือผู้กุมกำลังที่มายึดอำนาจ
แต่วันนี้เมื่อโลกไม่ยอมรับ ผู้กุมกำลังทหารก็ถอยกลับไปอยู่แถวหลัง อำนาจที่เข้ามาครอบงำกลับเป็นอำนาจตุลาการโดยใช้ผ่านกฎหมายรัฐธรรมนูญ
การต่อสู้เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่ดีครั้งใหญ่ของไทย ที่พอจำกันได้...คือ
พ.ศ.2475-2476 ต้องมีการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจนไปถึงการปราบกบฏบวรเดช คณะราษฎรต้องเสี่ยงชีวิตปฏิวัติและต่อสู้หลายรูปแบบ นานนับปี จึงค่อยๆ สถาปนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยและวางรากฐานของรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดได้
พ.ศ.2516 หลังจากถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหารมานาน 16 ปี นักศึกษาประชาชน ก็ลุกขึ้นสู้ ต้องหลั่งเลือดเพื่อเปิดฟ้าประชาธิปไตยอีกครั้ง จึงมีโอกาสร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2517 ได้สำเร็จ
พ.ศ.2535 หลังจากการต่อสู้กับคณะรัฐประหาร รสช. จนต้องหลั่งเลือดแลกชีวิตในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ก็มีการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 ได้สำเร็จ
แต่หลังรัฐประหาร 2549 การต่อสู้จะยาวนาน เพราะมีรัฐธรรมนูญ 2550 ที่มาจากการรัฐประหาร มีนักกฎหมายขายตัวร่างไว้ โดยแอบซ่อนเงื่อนเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไปเรื่อยๆ เผด็จการที่แปลงรูปเป็นตุลาการธิปไตย แบบนี้กำลังแพร่เชื้อจากประเทศไทย ไปยังพวกเผด็จการทั่วโลก
การต่อสู้กับเผด็จการในยุคนี้ จึงกลายเป็นการต่อสู้กับอำนาจตุลาการ ต่อสู้เพื่อแก้ไขกฎหมายหรือล้มกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม กลายเป็นภาระหน้าที่อันดับแรกของฝ่ายประชาธิปไตย
สรุปสถานการณ์ปัจจุบันจากข่าว
ข่าวอาชญากรรม การปล้นกลางแดด
ครั้งที่ 4 เกือบสำเร็จ...
วันที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมาข่าวทุกสำนักรายงานว่า... ชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งถูกกลุ่มโจรยกพวกเข้าปล้น กระโดดโลดเต้นด้วยความดีใจ บอกว่าเคราะห์ดี คราวนี้ เพียงเสียทรัพย์สินไปส่วนหนึ่ง ชาวบ้านไม่มีใครบาดเจ็บเสียชีวิต
เมื่อถามว่า ทำไมต้องแสดงความดีใจ ชาวบ้านตอบว่า ทำไมจะไม่ดีใจ เพราะเมื่อปี 2549 โจรพวกนี้บุกปล้นมาแล้ว ได้ทรัพย์สินไปเกือบหมด ทำร้ายผู้ใหญ่บ้านอาการสาหัส ปี 2551 เข้ามาปล้นอีก 2 ครั้ง เคราะห์ร้าย เพราะเจ้าของบ้านบาดเจ็บ 2 คน ปี 2553 พวกเราไปตามทรัพย์สินคืนจากโจร ก็ถูกพวกมันใช้ปืนยิงและทำร้ายจนญาติพี่น้องเราบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายคน ยังจับพวกมันไม่ได้
คราวนี้ มันแอบบุกเข้าบ้านเราอีก เรารู้ทัน รวมกำลังสู้ มันหลบหนีไป แต่ก็เอาทรัพย์สินไปได้ส่วนหนึ่ง ครั้งนี้จึงนับว่าเคราะห์ดีที่ไม่มีใครบาดเจ็บเสียชีวิต แต่ก็ไม่รู้ว่ามันจะแอบเข้ามาขโมยหรือมาปล้นอีกเมื่อไร คิดว่าจะปลอดภัยเมื่อจับพวกนี้เข้าคุกให้หมด
เจ้าหน้าที่กล่าวว่าโจรกลุ่มนี้ ผู้มีอิทธิพลหนุนหลังเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเอาตัวมาลงโทษได้ ส่วนชาวบ้านที่กำลังถกเถียงกันว่า จะต่อสู้กับโจรยังไงดี ส่วนใหญ่ยังกล้าๆ กลัวๆ
วิเคราะห์...ทำไมแผนหมาป่ากินลูกแกะจึงไม่สำเร็จ
ผู้วิเคราะห์บอกว่า แผนการเดิมที่ต้องการบดขยี้เพื่อไทยและขวางการแก้รัฐธรรมนูญของกลุ่มอำนาจเก่า ฝ่ายเสื้อเหลืองและประชาธิปัตย์ หวังไว้ถึงขั้นยุบพรรค แต่กระแสต้านที่แรงจัดโดยเฉพาะการไปขุดคลิปของเก่า ที่มีทั้งคำพูดของ ตลก. บางคน เสื้อเหลืองบางคน และหัวหน้าพรรคบางพรรค เหมือนเป็นการตบปากตัวเอง ทำให้ไม่มีใครเถียงออก พยานก็ถอนตัว
เมื่อกระแสต้านแรงถึงจุด ตลก. ก็เริ่มถอย สังเกตได้จากวันกำหนดการตัดสินซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้หลายคนคาดได้ว่า น่าจะออกมาในแบบสู้พลาง หาทางลงไปพลาง วางกับดักไว้ด้วย
ฝ่ายเสื้อเหลืองก็ไม่ยินยอม เพราะไม่ได้ผลตามเป้าที่ตั้งไว้ จึงไปเสนอให้ศาลเลื่อนการพิจารณาออกไปอีก โดยหวังจะพลิกสถานการณ์ แต่ฝ่าย ตลก. ก็ไม่อยากเป็นแพะรับบาป ผลจึงออกมาเป็นเช่นนี้
มีบางคนคิดว่า นี่เป็นเพราะมีการตกลงกันไว้ แต่ผู้วิเคราะห์อยากจะบอกว่าการถอยครั้งนี้ เป็นเพราะมีแรงต้านมหาศาล ซึ่งตบหน้าจนบางคนไม่กล้าโผล่หน้าออกโทรทัศน์ ถ้าหากไม่มีแรงต้านแบบนี้ รับรองว่าจะโดนหนักกว่านี้
แต่หมาป่ายังคอยดักที่ลำธารต่อไป มันยกขาฉี่ไว้รอบลำธาร เหมือนจะบอกว่าถ้าล่วงล้ำมาเมื่อไร โดนแน่!
เลือกสู้แนวทางไหน? ได้ประโยชน์สูงสุด
ทีมวิเคราะห์บ่นพึมพำว่า เป็นอย่างที่เขียนไว้เมื่อ 10 วันที่แล้วจริงๆ ...คำตัดสินจะออกมาแบบ ไม่ผิด ไม่ล้มล้างการปกครอง แต่...ควรจะ 1...2...แบบนี้ยุ่งอีกแล้ว และคำถามก็ยังเหมือนเดิม คือสภาจะทำตามมั้ยละ แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้ ตลก. บอกว่าตัวเองมีอำนาจเป่านกหวีดให้สภาหยุดเกมได้ ซึ่งสภาไม่เห็นด้วย แต่พวกอยากได้รัฐธรรมนูญใหม่จะเลือกสู้แนวไหน
1. แนวทางแรกเป็นพวกสู้แรงสุด มีทั้งคนในพรรคเพื่อไทยและนอกพรรคบอกว่าจะเดินหน้าต่อ ทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้สภาลงคะแนนเสียง ผ่านวาระ 3 และเลือกตั้ง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ
เรื่องการลงประชามติว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 บอกว่าเป็นการเสียเวลาและต้องย้อนกลับไปเริ่มใหม่ ไม่ควรทำก่อน ควรทำหลังร่างเสร็จแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีคนเสนอให้ใช้วิธีสวนหมัด ด้วยการแก้ไข เพื่อให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญ ผู้วิเคราะห์ประเมินจากฝ่ายนำ และการไม่ยอมยืนยันการโหวต วาระ 3 ที่ผ่านมา ก็รู้ว่าใจไม่ถึง แม้หลักการถูกต้อง และมี 15 ล้านเสียงก็เชียร์ไม่ขึ้น แนวทางนี้คงเป็นแค่ความฝันในฤดูฝน พอฟ้าร้องครืน ก็ตกใจจนฝันสลาย
2. แนวทางที่สอง คนที่สนับสนุนมีทั้งคนในพรรคและคนนอก แม้แต่คนทั่วไป นักวิชาการ เสื้อทุกสี อยากให้ทำตามคำแนะนำของ ตลก. คือ ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยตั้ง สสร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ควรจะลงประชามติว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 แต่พวกนี้เห็นว่า ควรสอบถามประชาชนถึงความต้องการที่จะแก้ไขและสิ่งที่อยากจะได้ใหม่เพื่อรวบรวมความเห็นและให้ลงประชามติ ตามหัวข้อที่อาจเป็นประเด็นสำคัญ จะได้ประโยชน์และเป็นแนวทางในการร่างรัฐธรรมนูญ
นี่เป็นระบบประชาธิปไตยทางตรง ไม่ต้องมีตัวแทน ด้วยระบบสื่อสารสมัยใหม่ ท่ามกลางความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชน ทั้งมีสี และไม่มีสี ถือเป็นการรณรงค์ครั้งใหญ่ ประชาชนจะได้เข้าใจถึงเหตุผล ความต้องการของกลุ่มต่างๆ วิธีนี้จะเป็นการปูรากฐานทางประชาธิปไตยไปสู่ประชาชนที่มีความตื่นตัวทางการเมืองอยู่แล้ว ให้แข็งแรง มั่นคงและมีเหตุผล
แนวทางนี้ใช้เวลาบ้าง ใช้เงินบ้างแต่คุ้มค่า เพราะคนส่วนใหญ่ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น แต่คงต้องศึกษาถึงข้อกฎหมายและอุปสรรคต่างๆ ว่าจะแก้ให้ผ่านได้หรือไม่
3. แนวทางที่สาม แก้ไขรายมาตรา คนที่สนับสนุนเป็นพวกมีตำแหน่งและมีอำนาจในพรรคเพื่อไทย และ ส.ส. ปชป. พวกเขาจะยอมแก้ไขทีละมาตรา ตามที่ ตลก.รัฐธรรมนูญแนะนำ พวกหนึ่งทำเพื่อรักษาสถานภาพ ทุกตำแหน่ง พวกหนึ่งทำเพื่อถ่วงเวลา ซึ่งกว่าจะครบทุกมาตรา คงจะใช้เวลาหลายปี
ทีมวิเคราะห์กังวลว่า หัวหน้าฝูงแกะอาจจะคล้อยตามความคิดที่ล้าหลัง แกะฝูงนี้จะไม่ลงไปแถวลำธารแต่จะยอมเดินไปตามสันเขา โดยหวังว่าหมาป่าจะไม่ติดตามมาจับกิน นั่นจะเป็นการรอความตายอย่างช้าๆ
ถ้าเป็นฟุตบอล ทีมที่ถอยไปตั้งรับหน้าประตูตั้งแต่ต้นเกม โอกาสแพ้ 70% เสมอ 30% ไม่มีโอกาสชนะ การยอมแก้ไขเป็นรายมาตราคือการจำกัดให้การแก้รัฐธรรมนูญอยู่แต่ในสภา และไม่มีโอกาสทำสำเร็จ
ทำแบบนี้ก็เหมือนกับสมคบกัน โดยรักษารัฐบาลและสภาไว้โดยอยู่ไปวันๆ ไม่ต้องมีผลงานอะไรที่สำเร็จ วิธีนี้อย่าคิดว่าจะกีดกันประชาชนได้ ประชาชนอาจเสนอให้กำหนดเวลาให้เสร็จ ถ้าทำไม่เสร็จก็ต้องยุบสภา การทะเลาะกันอาจเกิดขึ้น และลุกลามได้
เพื่อไทยต้องเข้าใจว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ และสภา ไม่ได้เป็นของพรรค แต่เป็นของคนทั้งประเทศ การอยู่รอดหรือการพัฒนาประชาธิปไตยมีผลต่อคนทั้งประเทศ
ข้อสังเกตท้ายบท
วันนี้อำนาจตุลาการถูกจับตามองอย่างไม่ไว้ใจ สมัยก่อนคนเคยเชื่อว่าถ้าหนังสือพิมพ์ลงคือเรื่องจริง แต่วันนี้ต้องตรวจสอบ ศาลก็เคยได้รับการเชื่อถือมาก และวันนี้ คนทั่วไปก็แยกชนิดของศาลไม่ออก ความไม่เชื่อมั่นกระจายจากองค์กรอิสระ มาถึงศาลรัฐธรรมนูญ และกำลังถูกโยนต่อไปที่ศาลอาญา ช่วงนี้ โรคมือเท้าปากเปื่อย กำลังระบาด ต้องระมัดระวัง
มาตรา 69 บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้
แต่ใครเชื่อบ้างว่าวันนี้ ถ้าฝ่ายรัฐประหารนำรถถังออกมา การต่อต้านโดยสันติวิธีคือการนั่งพับเพียบกราบรถถัง หรือถ้าเป็นตุลาการภิวัฒน์ จะยังมีคนไปกราบขอร้องศาล
รัฐธรรมนูญที่ดีสร้างความยุติธรรมให้ทุกคน ทำให้ชีวิตมีความหวัง ทำให้คนมีกินในปัจจุบัน และมีความฝันถึงอนาคต มันจึงเป็นสิ่งคุ้มค่าให้เสรีชนหลายรุ่นเสี่ยงชีวิตแลกมา รัฐธรรมนูญที่ยังไม่มีใครเห็นฉบับนี้ก็เช่นกัน เพียงเริ่มต้นก็ต้องเสียสละนับร้อยชีวิต
ถึงตอนนี้หยุดไม่ได้แล้วที่ต้องคิดคือ ทำอย่างไร จะดีที่สุด สอดคล้องกับยุคสมัย ให้คุ้มกับเลือดและชีวิตที่เสียไป
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย