http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-14

เครื่องบินนาซาถูกพายุ(การเมือง) ตกในไทย! โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

เครื่องบินนาซาถูกพายุ (การเมือง) ตกในไทย!
โดย สุรชาติ บำรุงสุข  คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1665 หน้า 37


"ความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศจะเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญต่อความไม่มั่นคงของโลก"
เอกสาร "ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติของสหราชอาณาจักร
:ความมั่นคงสำหรับคนรุ่นต่อไป,"

มิถุนายน ค.ศ.2009



ในโลกของความเปลี่ยนแปลงเช่นในยุคสมัยปัจจุบันนั้น ทำให้ประเด็นปัญหาใหม่ๆ ซึ่งในยุคสมัยหนึ่งไม่ได้ถูกยอมรับว่าเป็นเรื่องสำคัญนั้น กลับได้รับการพิจารณาว่าเป็นประเด็นที่รัฐและสังคมจะต้องนำมาใคร่ครวญ และนำมาเป็นวาระหลักด้านความมั่นคง...

หนึ่งในหัวข้อของวาระความมั่นคงใหม่เช่นนี้ก็คือ ปัญหาเรื่องของความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศกับความมั่นคง 
อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับว่า ประเด็นเช่นนี้เป็นเรื่องใหม่ในเวทีโลก และเป็นประเด็นที่ไม่ค่อยเหมือนกับเรื่องอื่นๆ เพราะไม่ใช่ปัญหาที่จะทำลายอธิปไตยของรัฐในลักษณะของภัยคุกคามทางทหาร 
หากแต่เป็นการคุกคามต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษยชาติโดยรวม โดยไม่ถูกจำกัดอยู่ในขอบเขตของความเป็นอธิปไตยแห่งรัฐของรัฐหนึ่งรัฐใดโดยเฉพาะ 
การยอมรับถึงปัญหาเช่นนี้ทำให้การประชุมสุดยอด G8 อันเป็นการประชุมสุดยอดของผู้นำประเทศพัฒนาแล้ว ยอมรับว่ามีประเด็นนี้เป็นปัญหาสำคัญของโลกในอนาคต 
การยอมรับดังกล่าวยังเห็นได้ชัดเจนจากคำกล่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอังกฤษในปี 2549 (ค.ศ.2006) ว่า "ความเปลี่ยนแปลงของอากาศและความมั่นคงของอากาศ (Climate Security) จะต้องเป็นความเร่งด่วนของนโยบายต่างประเทศในปัจจุบัน"

ในสภาพเช่นนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ประเทศใหญ่หลายประเทศจะมีการศึกษาค้นคว้าในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ
เพราะถือว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่เป็นภัยคุกคามระดับโลก และขณะเดียวกันก็เป็นภัยคุกคามต่อโลกด้วย


องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือที่รู้จักกันในชื่อของ "นาซา" (NASA) นั้น แม้โดยพื้นฐานจะเป็นองค์กรที่ทำงานโดยตรงในเรื่องของอวกาศ เช่น การส่งจรวดไปสำรวจดวงดาวต่างๆ หรือส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ เป็นต้น
ซึ่งงานด้านการบินและอวกาศมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องของความเปลี่ยนแปลงของอากาศ และการศึกษาเรื่องนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในภารกิจของนาซามาอย่างยาวนาน 

ขณะเดียวกันในระยะเวลาที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เหมือนกับหลายๆ ภูมิภาคในโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศอย่างมาก
และยังเห็นได้ชัดเจนถึงผลกระทบในช่วงที่ผ่านๆ มาถึงการก่อตัวของพายุใหญ่หลายลูกในภูมิภาค จนทำให้นาซาสนใจที่จะทำการศึกษาในเรื่องการก่อตัวของก้อนเมฆ อันจะมีส่วนช่วยอย่างมากต่อการคาดคะเนพายุที่จะเกิดตามมา
กล่าวคือ เป็นความหวังว่าการศึกษาเช่นนี้จะมีส่วนช่วยอย่างมากต่อการทำนายพายุมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น



ในกรณีของประเทศไทยนั้น นาซาได้ทำความตกลงกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "จิสด้า" (JISTDA) อันเป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยการวิจัยนี้อยู่ภายใต้โครงการศึกษาองค์ประกอบเมฆ อุณหภูมิ และความชื้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Composition, Cloud, Climate Coupling Regional Study หรือ SEAC4RS)
โครงการนี้ถูกนำเสนอมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว แต่ผลจากการเลือกตั้งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ทำให้คำขออนุญาตของนาซาที่จะใช้สนามบินในประเทศไทยในภารกิจดังกล่าวต้องชะลอไปโดยปริยาย

จนกระทั่งเมื่อใกล้เวลาที่จะเริ่มดำเนินภารกิจ จึงมีการทวงถามจากทางฝ่ายสหรัฐอเมริกา ทางด้านสหรัฐ ซึ่งมีความใกล้ชิดกับรัฐบาลไทยมาอย่างยาวนานคงไม่ได้ประเมินว่า จะเกิดอุปสรรคจากคำขอเช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฝ่ายค้านอันมีฐานะเป็นรัฐบาลที่ผ่านมาเองก็ได้รับทราบในเบื้องต้นแล้ว และก็มิได้มีท่าทีที่จะคัดค้านคำขออนุญาตดังกล่าวแต่ประการใด 
สภาพเช่นนี้ดูจะทำให้สถานทูตสหรัฐ มั่นใจอย่างมากว่า คำขอนี้คงจะได้รับอนุมัติและผ่านไปได้อย่างสะดวก และอาจจะไม่ทันคิดมาก่อนว่าจะถูกคัดค้านจากฝ่ายค้าน ซึ่งว่าที่จริงแล้วในระดับของตัวบุคคลก็มีความใกล้ชิดกับทางฝ่ายสหรัฐ มากอยู่พอสมควร

และที่สำคัญก็คือทางฝ่ายสหรัฐ ดูจะไม่ได้ประเมินเลยว่า เรื่องเช่นนี้จะกลายเป็น "ปัญหาใหญ่" ในการเมืองไทยจนเกือบจะเป็นวิกฤต
คำขอดังกล่าวอาจจะไม่มีปัญหาเลย หากผลการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2554 นั้น พรรครัฐบาลเดิมเป็นผู้ชนะและแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล 
และก็คงตามมาด้วยคำอธิบายแบบต่างๆ เพื่อยืนยันถึงความจำเป็นในการอนุญาตให้นาซาเข้ามาใช้สนามบินอู่ตะเภาในการศึกษาค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์

เมื่อพรรคเพื่อไทยชนะ ก็มีการผลักดันจากบรรดานักวิทยาศาสตร์ให้รัฐบาลไทยตอบรับคำขอนี้ เพราะเชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากทั้งกับภูมิภาคและต่อสังคมไทยเอง
และที่สำคัญก็คือน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโลกโดยรวม ดังได้กล่าวมาแล้วในข้างต้นว่า การศึกษาเรื่องความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศเป็นความจำเป็นในระดับโลก และจะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการสร้าง "ความมั่นคงทางอากาศ" ทั้งแก่ไทยและแก่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวม

แต่ในสถานการณ์การเมืองปัจจุบันที่การต่อสู้ยังคงทวีความเข้มข้นอย่างมากนั้น กรณีคำขออนุญาตจึงกลายเป็น "เหยื่อ" อันโอชะให้แก่ฝ่ายค้านเพื่อใช้ในการโจมตีทางการเมืองต่อรัฐบาล 
และทั้งยังมีความหวังอย่างยิ่งว่า หากรัฐบาลเกิดความเพลี่ยงพล้ำแล้ว ก็อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนขั้วทางการเมือง และเปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง


นอกจากนี้ยังเห็นอีกด้วยว่า ฝ่ายค้านได้หยิบฉวยเอาเรื่องนี้มาใช้ในการสร้างประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างกระแสให้เกิดความรู้สึกในสังคมไทยว่า การศึกษาเรื่องของอากาศเป็น "งานข่าวกรอง" 
แน่นอนว่าการสร้างความรับรู้เช่นนี้ย่อมก่อให้เกิดความหวาดระแวงอย่างมาก เพราะบทบาทของรัฐมหาอำนาจใหญ่มักจะไม่เป็นที่ไว้วางใจสำหรับประเทศเล็กๆ โดยทั่วไป 
ยิ่งบทบาทในเรื่องของการจารกรรมและงานข่าวกรองแล้ว ก็ยิ่งเป็นอะไรที่ต้องจับตามองอย่างมาก
ผลก็คือในความรับรู้ของคนบางกลุ่มที่ไม่ยอมรับเรื่องเช่นนี้ รู้สึกแต่เพียงอย่างเดียวว่า สหรัฐกำลังเอาเครื่องบินตรวจอากาศมาบังหน้า แต่เบื้องหลังเป็น "เครื่องบินสายลับ" (spy plane)

แต่หากเราทำความเข้าใจกับงานข่าวกรองในโลกสมัยใหม่ของยุคปัจจุบัน การทำงานข่าวกรองเช่นในลักษณะของการทำ "ข่าวกรองภาพ" (Photo Intelligence-PHOTINT) นั้น จะใช้ดาวเทียมมากกว่าอากาศยาน ซึ่งเป็นทั้งเรื่องของความปลอดภัยและเทคโนโลยี กล่าวคือ ความเสี่ยงในการใช้เครื่องบินจารกรรมนั้นมีมาก เพราะอาจจะถูกยิงจากอาวุธยิงสมัยใหม่ได้ง่าย
นอกจากนี้ เราคงต้องทำความเข้าใจมากขึ้นว่า การจารกรรมในความหมายของข่าวกรองภาพนั้น เป็นเรื่องของการใช้ดาวเทียมในระดับอวกาศ หรือที่รู้จักกันเล่นๆ ว่า "ดาวเทียมสายลับ" (spy satellite) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่รัฐมหาอำนาจใช้อย่างมาก และมีความปลอดภัยเพราะอย่างน้อยก็อยู่เกินกว่าระดับการตรวจจับทางอากาศจากรัฐเป้าหมาย อันเป็นหลักประกันว่าจะไม่ถูกยิงตกและนักบินจะถูกจับจนต้องกลายเป็น "จำเลย" ในเวทีระหว่างประเทศ 
นอกจากนี้ หากพิจารณาจากมุมเช่นนี้จะเห็นได้ว่า เครื่องบินหรืออากาศยานนั้นเป็นการใช้ในระดับทางอากาศ แต่ดาวเทียมเป็นการใช้ในระดับของอวกาศ และงานข่าวกรองในโลกสมัยใหม่ก็อยู่ในระดับดังกล่าว


แต่ปัญหาทั้งหมดอาจจะเป็นเรื่องของการเมืองไทย ซึ่งยังคงมีการต่อสู้กันอย่างเข้มข้น 
การเปิดประเด็นของกลุ่มการเมืองอนุรักษนิยมและปีกฝ่ายค้านจึงไม่ใช่เรื่องของการเมืองภายนอก แต่เป็นความหวังว่าจะทำให้รัฐบาลเกิด "ภาพลักษณ์ของความอ่อนแอ" เพราะเมื่อถูกแรงกดดันจากฝ่ายค้านแล้ว รัฐบาลเองก็มีท่าทีถอยทางการเมือง ในลักษณะของการประนีประนอมที่จะไม่นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี  
และสิ่งที่น่ากังวลอย่างมากก็คือ เท่ากับทำให้รัฐบาลไม่สามารถตัดสินใจในกระบวนการทำนโยบายต่างประเทศได้ เพราะเรื่องต่างประเทศกลายเป็นต้องผ่านการตรวจสอบจากมาตรา 190 ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

สภาพที่ไม่แยกแยะการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารเช่นนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในการเมืองไทย เมื่อมีการฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในสมัยรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช ในกรณีปราสาทพระวิหาร จนต้องถูกปลดออกจากตำแหน่งจากคำตัดสินของศาลมาแล้ว 
ดังนั้น เห็นได้ชัดว่า รัฐบาลมีเงาของความกลัวจากกรณีของ นพดล ปัทมะ จากกรณีมาตรา 190 ในอดีต จนทำให้ในกรณีคำขอของนาซาต้องประสบปัญหาจนในที่สุดต้องยุติโครงการไป 
และอีกส่วนหนึ่งก็มาจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่จะมีการใช้เครื่องมือ "ตุลาการภิวัฒน์" เช่น กรณีของศาลรัฐธรรมนูญกับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เป็นต้น



สภาพเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่ยังคงซ่อนตัวอยู่กับการเมืองไทยว่า โอกาสของการประนีประนอมหรือที่เรียกว่า "การปรองดอง" นั้นดูจะยังอยู่ห่างไกลอย่างมาก 
การเล่นการเมืองของปีกอนุรักษนิยมเช่นนี้ ทำให้การเมืองมีความตึงเครียดขึ้นโดยปริยาย เพราะหากรัฐบาลเกิดความพลาดพลั้งขึ้น ก็อาจจะถูกกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ถอดถอนตัวออกจากอำนาจได้ไม่ยากนัก
ดังนั้น แม้จะมีเสียงสนับสนุนอย่างมากเท่าใดจากประชาคมนักวิทยาศาสตร์ไทย รัฐบาลเองก็ดูจะอยู่ในสภาพที่ไม่กล้าผลักดันให้วาระเข้าสู่การอนุมัติของคณะรัฐมนตรี เพราะเชื่อว่าการกระทำดังกล่าวในที่สุดแล้ว จะถูกมาตรา 190 บังคับให้เกิดผลในทางลบกับตัวเองแน่นอน

นอกจากนี้ ก็มีเสียงวิจารณ์อย่างมากว่า การเปิดโอกาสให้นาซาทำการศึกษาอากาศในไทย จะทำให้รัฐบาลจีนไม่พอใจ แต่หากเราพิจารณาดูในรายละเอียดจะพบว่า ก่อนที่โครงการนี้จะมาไทย นาซาก็ได้ทำการศึกษาอากาศที่ฮ่องกงด้วย 
และนอกจากที่ฮ่องกงแล้ว นาซายังได้ทำความตกลงกับรัฐบาลสิงคโปร์และกัมพูชาในเรื่องเดียวกันด้วย

หากพิจารณาในประเด็นเช่นนี้ สิ่งที่รัฐบาลจะต้องระมัดระวังก็คือ จะต้องสื่อสารให้ชัดเจน เมื่อโครงการนาซาเป็นการศึกษาวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ รัฐบาลก็จะต้องทำประเด็นเช่นนี้ให้เกิดความกระจ่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลต้องชี้แจงให้กับ 3 ส่วนให้เกิดความเข้าใจที่แจ่มชัดในเรื่องนี้ ได้แก่ 
1. การชี้แจงในระดับของสังคมไทย
2. การสร้างความเข้าใจในระดับของอาเซียน
และ 3. การสร้างความรับรู้ร่วมกันในระดับระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการสื่อสารให้รัฐบาลจีนเกิดความเข้าใจมากขึ้น

ดังนั้น หากเราทำเช่นนี้ได้ ก็อาจจะเป็นหนทางของการ "สร้างสมดุล" ทั้งในระดับของการเมืองภายใน ระดับของภูมิภาค และระดับระหว่างประเทศ อันจะเป็นหลักประกันสำคัญต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยในอนาคต 
ถ้าคิดในมุมบวก ปัญหานี้อาจจะเป็น "บทเรียน" สำหรับรัฐบาลว่า ถ้าไม่เตรียมตัวและชี้แจงให้เกิดความกระจ่างแล้ว ปัญหาทางเทคนิคบางเรื่องก็อาจกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ได้ไม่ยากนัก และบางทีก็เป็นบทเรียนสำหรับสถานทูตสหรัฐ
ด้วยว่า เรื่องบางประเด็นถ้านำเสนอ "ผิดเวลา ผิดที่" ก็อาจทำให้ปัญหาเทคนิคกลายเป็นปัญหาการเมืองได้ และในท้ายที่สุดก็นำไปสู่ความล้มเหลวเสมือนเครื่องบินนาซาถูกพายุการเมืองพัดตกในไทย!



.