http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-28

นักเสรีนิยมในกะลาออกทัศนศึกษา โดย คำ ผกา

.

บทความของปี 2554 

นักเสรีนิยมในกะลาออกทัศนศึกษา
โดย คำ ผกา http://th-th.facebook.com/kidlenhentang
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1610 หน้า 89


มติชนสุดฯ ฉบับวันศุกร์นี้ได้ฤกษ์งามยามดีมากเพราะตรงกับวันปฏิวัติสยาม 2475 (1932) จึงขอให้พื้นที่ในคอลัมน์สักเล็กน้อยเพื่อระลึกถึงวันสำคัญวันหนึ่งในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของประเทศไทย เพราะเป็นวันที่สยามได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่ราษฎรได้เปลี่ยนมาเป็น "ประชาชน" หรือ "พลเมือง" 
และได้ใช้สิทธินั้นปกครองตนเองโดยผ่านตัวแทนที่เราเรียกว่า "ผู้แทนราษฎร"
(แอบแปลกใจว่าทำไมไม่เป็น "ผู้แทนประชาชน" หรือ "ผู้แทนพลเมือง" ละหนอ)


จากการเมืองระดับชาติ อาทิตย์นี้อยากจะนำคุณผู้อ่านไปสัมผัสกับการเมืองเรื่องอุดมการณ์เกี่ยวกับอัตลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ เยาวชน คนหนุ่มสาว ที่ฉันเองก็เพิ่งจะได้เรียนรู้ (ไปมุดหัวอยู่ที่ไหน?) และตื่นเต้นกับความรู้และข้อมูลใหม่ๆ ที่ตนเองได้รับเป็นอย่างยิ่ง
เหตุเกิดมาจากที่ฉันตกปากรับคำเชิญของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากรให้ไปพูดเรื่องการรับน้อง อีกทั้งทราบมาว่าที่นี่มีการรับน้องที่จริงจังไม่แพ้สถาบันไหนในประเทศไทย 

ด้วยความที่เป็นนักเขียนอยู่ในกะลาของเสรีนิยมจึงกระตือรือร้นที่จะไปพูดเอามากๆ คิดเองเออเองว่าเผื่อจะเป็นแรงบันดาลใจให้น้องๆ ปีหนึ่งมีกำลังใจลุกขึ้นมาตั้งคำถามว่า 
"ไม่เข้าร่วมได้ไหม การรับน้อง?" 
"ทำไมต้องมีการรับน้อง?" 
ทั้งนี้ นักเสรีนิยมในกะลาอย่างฉันคิดง่ายๆ ว่าใครๆ ก็ต้องรักและชื่นชมในเสรีภาพ และใครๆ ก็น่าจะรังเกียจการถูกบังคับ กดขี่ ขืนใจ (โดยมาทราบภายหลังว่า คนที่ชื่นชอบเสรีภาพในทุกเงื่อนไขอย่างฉันนั้นเป็นคนกลุ่มน้อยในประเทศไทย) 

เมื่อคิดโดยมิได้เฉลียวใจเช่นนั้น จึงพ่นพล่ามนานาเหตุผลที่ไม่ควรมีการรับน้องและยืนยันว่ามีแต่น้องปี 1 เท่านั้นที่ต้องกล้าจินตนาการถึงสังคมใหม่อันมนุษย์ทุกผู้ทุกนามพึงมีความสัมพันธ์กันในแนวราบมิใช่แนวดิ่งทั้งไม่ผ่านการใช้พิธีกรรมมาสะกดจิตให้เรา "รัก" หรือ "บูชา" ไม่ว่าจะเป็น "คน" "สถาบันการศึกษา" "เพื่อนร่วมสถาบัน, คณะ, ภาควิชา" อย่างไม่ลืมหูลืมตา เพราะปัญญาชนพึงมีคุณสมบัติในการตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์

ทีนี้ประเด็นที่ทำให้เกิดการเดือดดาล กลายเป็นดราม่า และเพจ รายการ คิด เล่น เห็น ต่าง ของฉันที่เคยเงียบงันกลับเดือดพล่านไปด้วยความคับข้องใจจาก "หลายภาคส่วน" เพราะไม่พอใจที่ฉันบอกว่า 
1. ทำไมน้องปีหนึ่งต้องห้อยป้ายชื่อพร้อมหมายเลขประจำตัวราวกับสัตว์ในฟาร์มที่มี serial number 
2. แทนความรักและภาคภูมิใจในสถาบันเพียงเพราะเราเป็นคนของสถาบันนี้ แทนการการภูมิใจในเพลง ในพิธีกรรม น่าจะตั้งคำถามว่า มหาวิทยาลัยของเราผลิตศิลปินระดับโลกออกมากี่คน 
และหากยังเป็นกันอยู่อย่างนี้ก็ไม่แปลกใจว่าทำไมถึงไม่มีศิลปินระดับโลก


ข้อแรก : คนที่เดือดดาลมากๆ บอกว่าการห้อยป้ายชื่อเพราะจะได้รู้จักกัน คำถามคือ สมมติว่าหากไม่มีป้ายชื่อแล้วเราไม่อาจรู้จักกันได้ 

คำถามต่อมาคือ เราจำเป็นต้องห้อยป้ายอันใหญ่ๆ และห้อยเกือบตลอดเวลาในทุกๆ กิจกรรมด้วยหรือไม่? คำถามของฉันคือ 
"เหตุใดมนุษย์อย่างเราจำยอมให้ถูกกระทำและลดทอนความเป็นมนุษย์ของเราด้วยการแขวนป้ายบอก identity เช่นนั้น ในเมื่อเราเป็นคน มิใช่สัตว์ในฟาร์มที่ต้องมีเลขประจำตัวเพื่อบันทึกเวลากินอาหารและฉีดวัคซีน เราควรมีวิธีการทำความรู้จักเพื่อน และการเข้าสังคมอย่างศิวิไลซ์หรือมีอารยธรรมได้หรือไม่?" - บอกตัวเองไว้ ว่าเราเป็นคนที่คิดเองได้ ตัดสินใจเองได้ และเลือกได้ว่าอยากจะจำชื่อใครและใครที่เราอยากให้จำชื่อของเรา 
นั่นคือสิ่งที่อยากจะ "สื่อสาร" แต่นั่นก็ทำให้ฉันนึกถึงทฤษฎี "การอ่าน" ที่ว่าบางครั้งคนเราอ่านหนังสือแบบ "ตกปลา" คือเลือก "เกี่ยว" เอาเฉพาะ "คำ" ที่เราสนใจ จากนั้นก็แต่งประโยคเชื่อมโยงความหมายไปตาม "ความรู้หรือความเข้าใจเดิม" ที่มีอยู่แล้ว เกิดเป็น "ตัวบท" อันใหม่ เป็นเอกเทศจากความหมายในตัวบทเดิม 
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ที่ประเด็นนี้จะถูกนำไปขยายอย่างกว้างขวางจากคำคำเดียวในประโยคที่โดดเด่นที่สุด


ข้อที่ 2 อาการหนักที่สุด เพราะมีนัยในเชิงดูหมิ่นถิ่นแคลนว่าศิลปากรไม่มีศิลปินระดับโลก

ซึ่งข้อนี้ฉันยอมรับผิดว่าได้ใช้ "มาตรฐานส่วนตัว" ของตนเองไปตัดสิน "ความเป็นระดับโลก" ซึ่งเป็นเรื่องที่ใช้ไม่ได้ จึงต้องขออภัยมา ณ ที่นี้

และได้ชี้แจงไปในเพจว่า "นับตั้งแต่มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ก่อตั้งขึ้นมาในปี 1942 ได้ผลิตบุคลากรที่น่านับถือและมีชื่อเสียงระดับโลกออกมาอย่างไม่ต้องสงสัย" เพราะฉะนั้น โปรดสบายใจว่า คนที่ไม่ได้อยู่ในกะลาอย่างฉันต้องทราบแน่นอนถึงชื่อเสียงและเกียรติประวัติของมหาวิทยาลัยศิลปากร 

เกี่ยวกับความสำคัญของมหาวิทยาลัยศิลปากร (และเกี่ยวเนื่องกับวันสถาปนารัฐประชาชาติในวันที่ 24 มิถุนายน 1932) ทำให้ฉันนึกถึงบทความของ เดวิด เทห์ ที่พูดถึง บทบาทของ คอร์ราโด เฟโรซี หรือ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ความสัมพันธ์ของศิลปะสมัยใหม่ในบริบทของไทยและรัฐชาติสมัยใหม่ของไทย (เดวิด เทห์ กล่าวว่า "ความพยายามที่จะทำตัวให้ "ทันสมัย" ของไทยนั้น ศิลปะที่ได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐกลับไขว่คว้าไปยังความสมัยใหม่ของต่างชาติ ที่กลับกลายเป็นทั้งขนบและอนุรักษนิยม...เฟโรซีเองมิได้มีแนวคิดต่อต้านขนบเดิมแต่อย่างใด ตรงกันข้ามเขากลับระมัดระวังเลือกสรรให้การสอนศิลปะแบบยุโรป "สมัยใหม่" ของเขาเคารพขนบธรรมเนียมประเพณีสยาม เมื่อพิจารณาผ่านผลงานของลูกศิษย์เฟโรซี จะพบว่าเขาบ่มสร้างความกำกวมขึ้นมาอย่างรอบคอบให้แก่แต่ละสิ่งที่อาจมองว่ามีความเป็นไทยก็ได้ หรือเป็นตะวันตกก็ได้..." (วารสาร "อ่าน" หน้า 147 หมายเหตุด้วยว่าในเวลาที่ ศิลปะสมัยใหม่เดินทางมาพร้อมกับเฟโรซีและการตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรในปี 1942 ในโลกตะวันตกได้เกิดการท้าทายความหมายของคำว่า "ศิลปะ" อย่างแหลมคมตั้งแต่ครั้ง Duchamp นำผลงาน Fountain ของเขาออกแสดงในปี 1917
ในวารสาร "อ่าน" เล่มล่าสุด ได้เขียนเอาไว้อย่างวิจิตร ผู้ที่รักมหาวิทยาลัยศิลปากรทุกท่านควรจะได้อ่านอย่างละเอียด (อย่าเพิ่งรังเกียจว่าเป็นบทความที่เขียนโดยคนต่างชาติ ต่างภาษา เพราะ อาจารย์ศิลป์ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเองก็เป็นชาวอิตาลี ได้ชื่อ-นามสกุลไทยมาโดยหลวงวิจิตรวาทการในบริบทของสงครามโลกครั้งที่ 2 ณ เวลานั้น)


อย่างไรก็ตาม ความเดือดดาลต่อ statement ที่ฉันได้แสดงเอาไว้ในวันนั้นได้นำไปสู่สิ่งที่ฉันจะเรียกว่า "นิทรรศการแสดงปัญญา วิสัยทัศน์ และ อุดมการณ์" ของนักศึกษา คนหนุ่มสาว ครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในรอบปี และเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ คนหนุ่มสาวเหล่านี้ได้ดาหน้าออกมาแสดงทัศนคติของคนเองอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เป็นที่น่าชื่นชม
เพราะที่ผ่านมา สังคมบ่นว่า ทำไมนักศึกษาสมัยนี้ไม่ค่อยได้แสดงพลังทางความคิดออกมาให้สังคมเป็นที่ประจักษ์ ยกเว้นกิจกรรมของกลุ่ม สนนท. ที่มีนักศึกษาเข้าร่วมในจำนวนน้อยนิดในกิจกรรมทางการเมือง การเรียกร้องประชาธิปไตย

ผู้สนใจอยากชมนิทรรศการแสดงปัญญา วิสัยทัศน์ และอุดมการณ์ ของนักศึกษาและผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการวิจารณ์การรับน้องและการหมิ่นแคลนมหาวิทยาลัยศิลปากรของฉัน (ด้วยเหตผลตื้นๆ ว่า พูดที่ ม.ศิลปากร ก็เลยยกตัวอย่างศิลปากร ถ้าไปพูดที่ มช. ฉันก็คงบอกว่า ทำไม มช. ไม่มีนักวิชาการระดับโลกอยู่นั่นเอง) สามารถเข้าไปชมนิทรรศการได้ที่ เพจ คิด เล่น เห็น ต่าง, เพจ มั่นใจว่าชาวศิลปากรไม่พอใจคำพูดของ คำ ผกา, เพจ รวมพลคนเกลียด คำ ผกา - ไม่นับกระทู้ในพันทิป และ เว็บ drama addict 
ความคึกคักนี้ เห็นได้จากยอดผู้เข้าชมเพจ ทะลุสามพันคนในเวลาอันสั้น 
เพราะฉะนั้น ใครที่บอกว่า นักศึกษาไทยขี้เกียจหรือไม่กล้าแสดงทัศนคติ ความคิดเห็นในที่สาธารณะ คงจะต้องเปลี่ยนความคิด



ในข้อถกเถียง ส่วนหนึ่งที่ดูเหมือนจะไร้สาระ แต่สำหรับฉันทัศนคติเหล่านี้ไม่ไร้สาระ แต่มีคุณค่าสำหรับใช้ศึกษาทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาไทย
เช่น ส่วนหนึ่งที่พอใจจะใช้วิธีการดิสเครดิตด้วยประเด็นที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นสิ่ง "ต่ำ" สำหรับสังคมไทย 
เช่น บอกว่า "คำ ผกา ผู้หญิงที่หน้าเหมือนจิ๋มปลาดุกชนบ่อ", "เห็นฟันล่าง คำ ผกา แล้ว อยากพาไปหาหมอฟัน" และที่ได้รับความนิยมมากคือการใช้ความ "โสเภณี" มาเพื่อการประณาม เช่น "คำ ผกา คือใคร?" ตอบ "คือกะหรี่คนหนึ่ง" รวมไปถึงการอ้างถึงเรื่องชู้สาวคาวสวาท หรือในทางกลับกันก็บอกว่า "ไม่มีใครเอส", การถ่ายนู้ด (ซึ่งเป็นความภูมิใจของฉัน)
ทัศนคติเหล่านี้แสดงให้เห็นว่านักศึกษาเหล่านี้มีทักษะอันแหลมคมในการใช้รหัสทางวัฒนธรรมในการโต้เถียงและลดทอนความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้าม - ทักษะเช่นนี้หากฝึกฝนจนเชี่ยวชาญ และใช้ให้ถูกวิธี ในอนาคตเราจะสร้างนักสัญศาสตร์ที่มีคุณภาพขึ้นมาในสังคมไทยได้อีกหลายคนทีเดียว

ข้อถกเถียงอีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจคือ "คนที่ไม่เคยผ่านการรับน้อง ไม่มีสิทธิ์วิจารณ์การรับน้อง" ซึ่งมีการตอบโต้จากเพื่อนนักศึกษาด้วยกันว่า "งั้นหมอรักษาคนบ้าต้องเป็นบ้าก่อนหรือเปล่า?" เรื่องนี้คงต้องกลับไปดูที่คุณภาพการเรียนการสอนของแต่ละมหาวิทยาลัยว่าได้สอนเรื่องทฤษฎีการวิจารณ์กันอย่างไร

ข้อถกเถียงต่อมา "จะวิจารณ์เรื่องการรับน้องอย่างไรก็ได้ แต่ขอร้อง อย่าพาดพิงถึงสถาบันการศึกษาของเรา มหาวิทยาลัยใครใครก็รัก คณะใคร ใครก็รัก รับน้องของเราไม่เหมือนที่ไหน คุณไม่รู้หรอกว่าเรารักกันอย่างไร ถ้าไม่มีการรับน้อง เราคงไม่รัก ไม่ช่วยเหลือกันอย่างนี้ ฯลฯ
อันนี้ ฉันอ่านแล้วเข้าใจทันที แบบว่า ถ้าคุณเป็นคนไทย คุณจะสามารถเข้าใจตรรกะนี้อย่างรวดเร็ว ไร้ข้อถกเถียง - ความรักเป็นสิ่งที่ไร้เหตุผลที่สุดแต่ทรงพลังที่สุดในบรรดาอารมณ์ทุกอารมณ์ ไม่อย่างนั้นคงไม่มีคนฆ่าตัวตายเพราะอกหัก หรือ ในเนื้อเพลงชาติไทยก็บอกอยู่แล้วว่า "สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี" 
โธ่ คำ ผกา เธอพลาดไปได้อย่างไร???

ว่าแล้วไปค้นหาความหมายของคำว่า Fundamentalism ที่ไม่มีใครให้ความหมายในภาษาไทยได้ดีไปกว่า มุกหอม วงษ์เทศ ว่า 
"Fundamentalism อ้างความเคร่งครัดสูงสุดต่อ "จารีตดั้งเดิม" ทว่าในความจริงแล้วอาจเป็น "ประเพณีประดิษฐ์" และในขณะเดียวกันก็สร้าง "จารีตใหม่" ขึ้นเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของขบวนการ หากจารีตดั้งเดิมในสมัยโบราณเป็นจารีตที่กดขี่ การกดขี่นั้นก็ต้องดำเนินต่อไปในยุคปัจจุบันโดยมิอาจเปลี่ยนแปลงได้ ท่าทีแบบ Fundamentalism มักไม่มีความอดทนอดกลั้นใดๆ ทั้งสิ้นให้กับการวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถาม โต้แย้งด้วยเหตุผล เสียดสีหรือยั่วล้อ "บรมครู" ของพวกตน (มุกหอม วงษ์เทศ)"


ข้อถกเถียงที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ "ถ้าคุณเชื่อมั่นในเสรีภาพ ทำไมคุณไม่เคารพในเสรีภาพของคนที่สนับสนุนและอยากให้มีการสืบทอดประเพณีการรับน้อง อีกทั้งการเคารพความอาวุโสอันเป็นวัฒนธรรมไทยมันผิดตรงไหน?"
นับว่านักศึกษาและผู้ที่ยกประเด็นนี้ขึ้นมาได้อยู่ในข้อถกเถียงร่วมสมัย ขอยืนยันว่าด้วยข้อถกเถียงนี้ คุณไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวแน่นอน เพราะในขบวนการเรียกร้องให้ยกเลิกการคลุมหน้าของสตรีมุสลิม ฝ่ายที่ต่อต้านก็ออกมาปกป้องด้วยเหตุผลชุดเดียวกันนี้ว่า "วัฒนธรรมการคลุมหน้าเป็นสิทธิของมุสลิมที่พึงได้รับการเคารพโดยไม่เอามาตรฐานว่าด้วยสิทธิแบบตะวันตกมาตัดสิน"

หรือขบวนการต่อต้านการขริบอวัยะเพศสตรีในแอฟริกาก็โดนตอบโต้เช่นนี้ว่า "นี่เป็นความสมัครใจของผู้หญิงที่จะเข้ารับการขริบและเป็นความภาคภูมิของพวกเธอที่ผ่านพ้นความเจ็บปวดนั้นและผ่านเข้าสู่วัยผู้ใหญ่อย่างสง่างาม และโปรดอย่าเอามาตรฐานของวัฒนธรรมตะวันตกมาใช้กับเรา
ดังนั้น สิ่งที่ฉันได้เรียนรู้อีกจากนิทรรศการทางปัญญาครั้งนี้คือได้เห็นการปะทะกันระหว่างคุณค่าของความเป็น "สากลนิยม" และ "ท้องถิ่นนิยม" (และเริ่มคล้อยตามว่า อือม...โอท็อปก็ไปตลาดโลกได้นี่นา)


ยังมีอีกหลายแง่มุมให้เข้าไปศึกษาจากนิทรรศการทางปัญญาครั้งนี้ บางอย่างก็ทำให้ถึงกับอมยิ้ม เช่น "จะรวมตัวกันเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เรียกคืนปริญญาบัตรของ คำ ผกา"

จากนั้น อนุสรณ์ ติปยานนท์ ก็ได้เข้ามาเฉลยปริศนาการรับน้องของมหาวิทยาลัยศิลปากรอย่างน่าฟังอย่างยิ่งใน facebook ว่า
"ดังที่เราทราบลักษณะการถ่ายทอดแบบช่างนั้นอิงอาศัยความสัมพันธ์เชิงศิษย์กับครูเป็นอันมาก โดยเฉพาะในสมัยก่อนที่ช่างทั้งหลายเป็นพระและถ่ายทอดกันในวัด ดังนั้น คณะทั้งหลายในมหาวิทยาลัยศิลปากรยุคแรกจึงมีลักษณะดังเป็นอาราม มากกว่าคณะการศึกษา เราไม่ได้มีเพียงพิธีการไหว้ครูแต่ยังมีพิธีการครอบครูที่ไม่ต่างจากพิธีกรรมการบวชย่อยๆ ที่ผู้มาใหม่จะต้องถูกเจิมดังการรับศีล ดังนั้น การเคารพอาวุโสในคณะจึงไม่ต่างจากการที่พระพรรษาอ่อนกว่า ไม่ว่าจะมีอายุมากเพียงใดก็ต้องทำความเคารพพระที่มีพรรษาแก่กว่าเพราะการครองตนที่สงบรำงับยิ่งๆ ไป การรับน้องในมหาวิทยาลัยศิลปากรยุคแรกๆ จึงไม่ใช่เพียงการประสานผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือชนชั้น หากแต่หยิบยืมการเข้าสู่อารามใหม่ที่ผู้มาใหม่จะต้องถูกกดข่มสภาวะที่มีมานะหรือการถือตัวให้หมดสิ้นไป เพื่อเข้าสู่สภาวะผ้าขาวที่จะซึมซับสิ่งใหม่ๆ ได้อย่างไม่ลังเล พัฒนาการจากอุดมทัศน์นี้อาจเปลี่ยนแปลงเฉไฉบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับถูกทำลายเสียเลย ดังการเคารพรุ่นพี่ยังอิงกับความสามารถในเชิงช่างที่สูงกว่า ไม่ใช่การแสดงอำนาจแต่เพียงอย่างเดียว เราอาจเรียกพิธีกรรมรับน้องในรูปแบบนี้ได้ว่าเป็นดังการปวารณาตนเข้าสู่โลกของช่างที่มีศีล และวินัยในแบบของมัน"

ในฐานะของนักเสรีนิยมในกะลาที่มีความรู้กระจิ๊ดเดียว ฉันได้ถาม อนุสรณ์ ไปว่า
"ขอความรู้เป็นวิทยาทานเถิดว่า ช่างกับศิลปินต่างกันอย่างไร?"



.