.
การเมืองในสายฝน อยู่ใต้ฟ้า อย่ากลัวฝน...และเสียงฟ้าร้อง
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1667 หน้า 20
การเมืองไทยเหมือนสายฝนมีทั้งเบาบางและรุนแรงจนถึงพายุ ให้ความอุดมสมบูรณ์กับทุกชีวิตและแผ่นดิน แต่ถ้าควบคุมและป้องกันไม่ดี น้ำจะท่วมเมือง ปีนี้แม้ยังไม่มีการเมืองเรื่องน้ำ ก็ยังมีหลายเรื่องรอคิวอยู่
บางเรื่องเป็นฝนธรรมดา บางเรื่องเป็นพายุฝน
1. การถอนประกันแกนนำกลุ่มเสื้อแดง คือ ฝนฟ้าคะนอง
หลังจากศาลรัฐธรรมนูญบุกเข้ามาในเขตอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ แม้สภาจะไม่กล้ากระโดดออกมาต่อกรอย่างเต็มตัว แต่กลุ่มเสื้อแดงโดยเฉพาะนักพูดฝีปากกล้าทั้งหลายก็ออกมาถล่ม ตลก.ศาลรัฐธรรมนูญแบบไม่ยั้งปาก
หลายคนต้องกลับไปเย็บแผลที่ใบหน้า แต่ฝ่ายตรงข้ามก็แก้เกมโดยยื่นเรื่องถอนประกันไปที่ศาลอาญา หวังว่าศาลอาญาจะช่วยยั้งปากของแกนนำทั้งหลายได้
และที่สำคัญ ถ้าทำสำเร็จจะเป็นการปิดปาก จตุพร พรหมพันธุ์ นอกสภาหลังจากที่ปิดปากในสภาสำเร็จมาแล้ว
แต่เรื่องนี้เท่ากับลากศาลอาญาเข้ามาอยู่ในความขัดแย้งทางการเมือง ขณะเขียนต้นฉบับศาลอาญาก็ขอเลื่อนการตัดสินของคุณจตุพรออกไปเป็นวันที่ 9 สิงหาคม พร้อมกับแกนนำคนอื่นๆ
ทีมวิเคราะห์คาดว่าทุกคนจะต้องถูกตักเตือนอย่างหนัก ว่าให้ระวังปากไว้
นี่เป็นฝนที่มาพร้อมเสียงฟ้าร้อง แต่ดูแล้วฝนตกไม่หนักแต่ไม่รู้ฟ้าจะผ่าโดนใคร
ฝนแบบนี้ไม่เคยตกใส่กลุ่มคนเสื้อเหลืองเพราะยังอยู่ใต้ชายคาบ้านใหญ่ซึ่งคงคุ้มหัวได้อีกระยะหนึ่ง
2. เรื่องคนหนีทหาร... เป็นแค่ ฝนปรอยเม็ดแต่อาจทำให้เป็นไข้หวัด
จากการที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ฟ้องหมิ่นประมาทจตุพรตามคำท้าเพราะมากล่าวหาว่าเขาหนีทหาร ผลการสอบสวนเกี่ยวกับปัญหาการเกณฑ์ทหารของอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ ในปี 2542 ยุคนายกฯ ชวน หลีกภัย ปรากฏว่าหลักฐานการเกณฑ์ทหารไม่ถูกต้องและมีผู้กระทำความผิดในการออกใบสำคัญสองคน
เรื่องนี้แม้คดีการเกณฑ์ทหารจะหมดอายุความแต่ในทางการเมืองถือเป็นเรื่องที่น่าอับอาย
แต่อภิสิทธิ์ยืนยันว่าไม่เคยหนีทหาร
มีคนบางกลุ่มวิจารณ์ว่า อภิสิทธิ์ไม่มีทางหนีทหาร ชีวิตของเขาเกี่ยวพันกับการเมืองและทหารมาโดยตลอด เคยสมัครเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อยเพื่อสอนทหาร (ไม่รู้ว่าสอนได้กี่ชั่วโมง) มามีอำนาจหลังการรัฐประหารของทหาร จัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร และตอนที่ประชาชนมาชุมนุมเรียกร้องให้ยุบสภา ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 อภิสิทธิ์ใช้ชีวิตอยู่ในค่ายทหารตลอดเวลา ตอนตัดสินใจปราบผู้ชุมนุม ก็ใช้กำลังทหารปราบ (ไม่ใช้ตำรวจปราบจลาจล)
ดูจากพฤติกรรมต่างๆ แล้ว อภิสิทธิ์ไม่คิดหนีทหาร
แต่แกนนำเสื้อแดงต้องหนีหลัง 19 พฤษภาคม 2553
เรื่องนี้เป็นแค่ฝนที่ปรอยเม็ด แต่ถ้าใครตากฝนนานๆ อาจเป็นไข้หวัดได้
3. ระวัง! ฝนเหลือง จากกลุ่ม ผรท. ทั้งจริงและปลอม
แม้นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เซ็นคำสั่งที่ 157/2555 แต่งตั้ง คณะกรรมการช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยโดยมี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีกลาโหม เป็นรองประธาน แต่จะมีคนโดนลูกหลง หลังจากที่มีคนหลอกให้บุคคลกลุ่มหนึ่งสวมเครื่องแบบทหารปลดแอก เข้ามาชุมนุมสนับสนุนที่หน้าศาลรัฐธรรมนูญ
เหตุการณ์นี้ทำให้หลายหน่วยงานรู้สึกไม่พอใจ ข่าวว่าเรื่องน่าจะลุกลามไปถึงการตั้งกรรมการสอบ เกี่ยวกับการจ่ายเงินชดเชยให้ ผรท. คนละ 225,000 บาท ทั้งที่จ่ายไปแล้วสมัยรองนายกฯ สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นประธานเรื่องนี้ และในยุครัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์มีคนพยายามชงรายชื่อเพิ่มเติมซึ่งน่าจะมี ผรท. ของจริงเหลือเพียงไม่กี่คน แต่ข่าวแจ้งว่ามีการนำรายชื่อ ผรท. มาส่งไว้ที่ กอ.รมน. แล้วประมาณ 5 หมื่นคน
ถ้าตรวจสอบไม่ดี เรื่องนี้จะเป็นการโกงที่ดังกว่า GT200
แต่ กอ.รมน. ที่รับผิดชอบก็ยืนยันว่าจะใช้ร่างระเบียบเดิม ช่วยเหลือสหาย แต่ไม่เอาแนวร่วม (ชาวบ้านทั่วไป)
ถ้ารัฐบาลตรวจสอบอย่างจริงจัง ก็จะมีผลให้ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ผรท. ปลอม และนายหน้าซึ่งเป็น ผรท. จริง จะโดนข้อหาฉ้อโกง เพราะเรื่องแบบนี้ตรวจสอบไม่ยาก
กรณีนี้เป็นการทำลายเกียรติภูมิทหารทั้งสองกองทัพ ยิ่งตรวจสอบลึกเข้าไป อาจจะมีผลให้รู้ถึงการนำเงินไปใช้เกี่ยวกับ ผรท. ทุกโครงการว่ามีเงินไปถึง ผรท. กี่บาท ไปตกค้างอยู่กลางทางเท่าไร
เพราะขนาดนายหน้ายังออกรถป้ายแดง ลองคิดดูว่าระดับบนจะออกเบ๊นซ์ไปกี่คัน ถ้าไม่ระวังรัฐบาลจะโดนข้อหาทุจริต
นี่เป็นฝนเหลืองที่ปนสารเคมีพิษร้ายแรงมาด้วย
4. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ...พายุฝนต่อเนื่อง
การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญและซับซ้อนแต่ไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด ที่ว่าสำคัญนั้นมิได้หมายความว่าเมื่อแก้รัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อย ประเทศไทยก็จะได้ประชาธิปไตยแบบสมบูรณ์มาให้ชื่นชมกันเพราะรัฐธรรมนูญที่ดีเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น
ลองย้อนกลับไปดูบทเรียนเมื่อปี 2549 วันนั้นเรามีรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีฉบับหนึ่ง ใช้เวลาร่าง เวลาถกเถียงกันหลายปี
เมื่อนำมาใช้ก็ได้รัฐบาลประชาธิปไตยอยู่จนครบ 4 ปี
แต่พอถึงปี 2549 พรรคไทยรักไทยขณะนั้น ได้รับเลือกเป็นรัฐบาล ได้ ส.ส. ถึง 377 ที่นั่งจาก 500 ที่นั่ง เศรษฐกิจไม่มีปัญหา รัฐบาลและคนไทยสามารถใช้หนี้ IMF ได้เรียบร้อย แต่แล้วก็เกิดการรัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณ
คมช. ฉีกรัฐธรรมนูญ ส.ส. 377 คน ช่วยอะไรไม่ได้ แม้แต่ตัวเองก็รักษาเก้าอี้ไม่ได้
รัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุดถูกโยนลงตะกร้า คะแนนเสียง 19 ล้านเสียงที่เลือกไทยรักไทย ซึ่งกลับไปนอนอยู่ที่บ้านก็ช่วยอะไรไม่ได้
คณะรัฐประหารบอกว่า 2+2=5
...ตุลาการภิวัฒน์บอกว่า 3+3=9
หลังรัฐประหาร 2549 ประชาชนถูกสอนว่า 2+2 ต้องเท่ากับ 5 หลังจากผ่านไปปีเศษ ก็มีการเลือกตั้งใหม่ ประชาชนยืนยันเลือกพรรคพลังประชาชน เหมือนเป็นการยืนยันว่า 2+2=4
แต่วันนี้กลุ่มอำนาจเก่าไม่ใช้กำลังทหารมาบังคับอีกแล้ว พวกเขาเสนอทฤษฎีใหม่ว่า 3+3=9 การต่อสู้จึงกลายเป็นการถกเถียงตีความว่าเครื่องหมายระหว่างเลข 3 สองตัวซึ่งเป็นรูปกากบาท คืออะไรกันแน่
ถ้าตั้งตรงก็เป็นเครื่องหมาย +
ถ้าตะแคงก็เป็นเครื่องหมาย x
ถ้าหากว่าเอียงนิดหน่อย ก็กลายเป็นปัญหาเพราะ อาจจะมีผลลัพธ์ได้สองอย่างคือ 6 หรือ 9
ในท่ามกลางความสับสนวุ่นวาย ศาลก็เข้ามามีอำนาจอย่างกว้างขวางอีกครั้ง ไม่ว่าใครจะอ้างกฎหมาย คิดวาทกรรมสวยหรูแค่ไหน เป้าหมายก็ยังเป็นการยึดอำนาจอธิปไตยไปจากประชาชน
ถ้าเปรียบเทียบการต่อสู้ในปี 2549 และ 2554 จะพบว่าในปี 2549 ฝ่ายประชาธิปไตยมีอำนาจตามโครงสร้างเกือบครบ ทั้งรัฐธรรมนูญ ส.ส. รัฐบาล แต่ฝ่ายอำนาจเก่า มีกำลังมวลชนจัดตั้งและทหาร
ในเดือนกันยายน 2549 สัจธรรมที่ประธานเหมาเคยกล่าวไว้ก็ปรากฏเป็นจริง "อำนาจรัฐมาจากกระบอกปืน" ทั้งกระบอกปืนใหญ่จากรถถังและกระบอกปืนเล็กอย่าง M-16 ไม่ต้องลั่นกระสุนแม้แต่นัดเดียวก็ยึดอำนาจไว้ได้
แม้ฝ่ายประชาธิปไตย มีจำนวนมาก ก็เปรียบเสมือนเพียงฝูงแกะ คนส่วนใหญ่จึงจำต้องยอมรับว่า 2+2=5
แต่ในปี 2553-2554 ฝ่ายประชาธิปไตยซึ่งไม่ได้เป็นรัฐบาลมี ส.ส. น้อยกว่า รัฐธรรมนูญก็เป็นฉบับเผด็จการกลับรุกจนกระทั่งได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง แม้ไม่มีกำลังทหารแต่พวกเขามีกำลังจากประชาชนและคนเสื้อแดงสนับสนุน
การเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปลายปี 2554 ถ้าหากไม่มีพลังของประชาชนสนับสนุน รัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ต้องลอยไปกับกระแสน้ำไม่เกินต้นปี 2555 แน่นอน
- การต่อสู้ในปี 2553-2554-2555 พิสูจน์ว่าพลังของประชาชนสามารถสกัดกั้นการรัฐประหารที่พวกกลุ่มอำนาจเก่าอยากจะทำไม่ให้เกิด แต่พวกตุลาการภิวัฒน์ ใช้ความพยายามครั้งใหม่ทำให้คนเชื่อว่า 3+3=9
การต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความจริงเป็นเรื่องท้าทายแต่จะได้ประโยชน์
การกำหนดยุทธศาสตร์
และแนวทางการต่อสู้ของแต่ละฝ่ายวันนี้
ผู้วิเคราะห์อยากให้ย้อนดูว่าตลอดเหตุการณ์หลายปีที่ผ่านมา ฝ่ายประชาธิปไตยได้เดินตามยุทธศาสตร์หลายเรื่อง
เช่น ปี 2553 ยุทธศาสตร์คือให้มีการยุบสภา
ในปี 2554 ยุทธศาสตร์คือการเอาชนะเลือกตั้ง
และในปี 2555 ยุทธศาสตร์คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จ
ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด แต่เป้าหมายสูงสุดคือการสร้างประเทศให้เป็นประชาธิปไตยและมีความยุติธรรมเกิดขึ้นในสังคม
ถ้าหากปี 2555 แก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สำเร็จก็มิได้หมายความว่าจะพ่ายแพ้ย่อยยับไปในการต่อสู้ แต่ก็ยังมีเวลาเดินหน้าเพื่อต่อสู้ตามจังหวะก้าวต่อไป
ตลอดทั้งปี 2555 การขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญต้องเป็นยุทธศาสตร์ของกลุ่มอำนาจเก่า ซึ่งจำเป็นต้องใช้แนวทางการต่อสู้แบบประสานทั้งนอกสภาในสภา
ใช้ยุทธวิธีผ่านทั้งองค์กรอิสระ ส.ส และ ส.ว ศาลต่างๆ กลุ่มมวลชนจัดตั้ง เล่นเกมให้เข้าจังหวะกัน
ส่วนฝ่ายประชาธิปไตยก็ไม่มีทางเลือกมากนัก ถ้าเล่นแต่ในสภาคือแก้รายมาตราล้วนๆ มีแต่เสียเวลา ถ้าเปิดเกม แก้รายมาตราเฉพาะที่เป็นอุปสรรค และเดินหน้าทำประชามติจะเดินได้ทั้งนอกและในสภา สมใจอยากด้วยกันทุกฝ่าย ประชาชนมีส่วนร่วม จะถกเถียงและอธิบายปัญหาทุกเรื่องผ่านสื่ออะไรก็ได้ มีเวลา 90 วัน ก็ตั้ง 90 เวที ขึ้นอยู่กับว่า ใครจะพูดสิ่งที่เป็นสัจธรรมมากกว่ากัน
ผู้อาวุโสวิเคราะห์การต่อสู้ทุกยุทธศาสตร์ที่ผ่านมา พบว่าแนวทางการต่อสู้ที่สำคัญที่สุดในปัจจุบัน คือต้องเดินหน้า ขยายจำนวนประชาชนที่ก้าวหน้า ขยายคุณภาพด้วยการติดอาวุธความคิดให้มีความเข้าใจ และยกระดับความรู้ทางการเมืองและทางกฎหมาย ทั้งคนเสื้อแดงคนเสื้อเหลืองคนเสื้อฟ้ายังต้องการความรู้เพิ่ม เพื่อใช้กระจายข่าวสารและตัดสินใจ นี่จึงเป็นโอกาสของการเปลี่ยนประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง
สรุปว่า เมฆฝนทุกลูกที่กล่าวมาหรือแม้แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็เป็นแค่ฝนตามฤดูกาล
แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่ฝนธรรมดา เป็นพายุฝนที่ให้ทั้งประโยชน์และโทษตามธรรมชาติ
เราต้องหาวิธีป้องกันความเสียหาย และหาทางใช้ประโยชน์จากน้ำฝนให้มากที่สุด
เพราะนี่เป็นปัจจัยสำคัญที่เลี้ยงชีวิตพวกเราอยู่ใต้ฟ้าเมืองไทยไม่ต้องกลัวฝนและฟ้าร้อง
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย