.
ภาพจาก www.facebook.com/khananitirat
ข้อเสนอคณะนิติราษฎร์ให้ยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญ
จากเวบไซต์ นิติราษฎร์ www.enlightened-jurists.com/blog/66 . . 15 July 2012
ข้อเสนอ
แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเพื่อยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ
และจัดตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ
ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่รัฐธรรมนูญสร้างขึ้นเพื่อให้ใช้อำนาจที่รัฐธรรมนูญมอบให้ เพื่อทำหน้าที่รักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้อำนาจหน้าที่นั้นไปในทางที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบรัฐธรรมนูญและหลักการนิติรัฐประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจซึ่งมีผลเป็นการเพิ่มถ้อยคำที่ไม่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ การใช้อำนาจที่สร้างความเคลือบแคลงสงสัยแก่สาธารณชนว่าเข้าเป็นฝ่ายทางการเมืองเพื่อทำลายอีกฝ่ายหนึ่ง การใช้อำนาจที่มีผลขยายเขตอำนาจของตนเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ การใช้อำนาจตีความรัฐธรรมนูญที่ส่งผลประหลาดและผิดพลาดอย่างแจ้งชัด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อำนาจที่มีผลเป็นการยับยั้งการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ทั้งที่ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเข้าแทรกแซงกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ไม่ว่าจะในขั้นตอนใด จากพฤติการณ์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ขยายแดนอำนาจของตนออกไปจนกลายเป็นองค์กรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญและอยู่เหนือองค์กรทั้งปวงของรัฐ มีผลเป็นการทำลายหลักนิติรัฐประชาธิปไตยลงอย่างสิ้นเชิง ศาลรัฐธรรมนูญถูกก่อตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญก็เพื่อรักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ แต่วัตถุประสงค์และภารกิจดังกล่าวกลับไม่บรรลุผลและถูกทำลายไปโดยศาลรัฐธรรมนูญเอง นอกจากนี้ การได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เพราะไม่ยึดโยงกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย อันเป็นลักษณะสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญในประเทศเสรีประชาธิปไตย การเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทำได้ยากในทางปฏิบัติ และหากเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ ก็ยังไม่เพียงพอต่อการปฏิรูปองค์กรที่ทำหน้าที่รักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ
จากเหตุผลดังกล่าวมาแล้วนั้น คณะนิติราษฎร์จึงมีข้อเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเพื่อยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ และจัดตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อทำหน้าที่ให้เป็นไปตามระบอบรัฐธรรมนูญและหลักการนิติรัฐประชาธิปไตย โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้...
๑. ให้มีการยกเลิกบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ในหมวด ๑๐ ศาล ส่วนที่ ๒ ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งย่อมมีผลให้ศาลรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง และประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง
๒.ให้เพิ่มความในรัฐธรรมนูญเพื่อจัดตั้ง “คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ” โดยบรรดาอำนาจหน้าที่ต่าง ๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ
๓. คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญมีหน้าที่พิทักษ์ประชาธิปไตยและนิติรัฐ รักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ โดยการใช้อำนาจนั้นต้องคำนึงถึงอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย หลักการแบ่งแยกอำนาจ และหลักการประกันสิทธิและเสรีภาพ
๔. คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญประกอบด้วยตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ ๘ คนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของประธานรัฐสภา โดยมาจากบุคคลซึ่งได้รับเลือกโดยสภาผู้แทนราษฎร ๓ คน วุฒิสภา ๒ คน และคณะรัฐมนตรี ๓ คน โดยที่
ตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญซึ่งมาจากการเลือกของสภาผู้แทนราษฎรอย่างน้อย ๑ คนต้องเป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกาหรือตุลาการในศาลปกครองสูงสุด
ตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญซึ่งมาจากการเลือกของวุฒิสภาอย่างน้อย ๑ คนต้องเป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกาหรือตุลาการในศาลปกครองสูงสุด
๕. บุคคลผู้ซึ่งจะได้รับเลือกเป็นตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิด
มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าปีบริบูรณ์ในวันที่ได้รับการเสนอชื่อ เป็นผู้เคารพและยึดมั่นหลักนิติรัฐประชาธิปไตย เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางรัฐธรรมนูญ โดยต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งตุลาการรัฐธรรมนูญหรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ว่าในรัฐธรรมนูญฉบับใด และต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งในองค์กรใดที่ตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พุทธศักราช ๒๕๔๙ หรือโดยประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
๖. ประธานตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญและตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญมีวาระการดำรงตำแหน่ง ๗ ปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
๗. ระหว่างวาระการดำรงตำแหน่ง ประธานตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญและตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญต้องไม่ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพประจำอื่นใด
๘. องค์คณะของตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญในการนั่งพิจารณาและในการทำคำวินิจฉัย ต้องประกอบด้วยตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า ๕ คน โดยคำวินิจฉัยให้ถือตามเสียง
ข้างมาก ในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้คำร้องนั้นตกไป
๙. คำวินิจฉัยของคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญให้มีผลทั่วไปและเป็นเด็ดขาด ผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และหน่วยงานทั้งปวงของรัฐ
๑๐. วิธีพิจารณาของคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ
๑๑. ห้ามมิให้คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญกระทำการใดอันมีผลเป็นการขัดขวางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
คณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร
๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๕.
.