.
บทความ 'กรณีเขาพระวิหาร' ของปี 2554 - เราชะนะ(อีก)แล้วแม่จ๋า
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ความละเอียด อ่อนไหว ของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นพิเศษ กรณี กัมพูชา เขาพระวิหาร
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1665 หน้า 8
ทั้งๆ ที่ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2552 มีมติยกเลิกบันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชา พ.ศ.2544 มากับมือ
แต่เมื่อมีข่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเดินทางไปเมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา
เพื่อเป็นองค์ปาฐกหลักในที่ประชุมสัมมนาภายใต้หัวข้อ "พันธกรณีต่อการเสริมสร้างโยงใยในด้านคมนาคมต่างๆ ในอาเซียน" อันเป็นความร่วมมือระหว่างอาเซียน หอการค้าสหรัฐและกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ
พรรคประชาธิปัตย์ก็มี "อาการ"
"สหรัฐมีท่าทีเร่งรีบผิดสังเกตทั้งการให้วีซ่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กรณี นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ บินมากัมพูชา และเชิญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นกรณีพิเศษ"
เป็นแถลงจาก นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์
"น่าจับตาว่าการไปกัมพูชาครั้งนี้จะมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเกี่ยวกับทรัพยากรทางทะเลหรือไม่ เพราะทรัพยากรในพื้นที่ทับซ้อนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางธุรกิจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร"
เป็นความเห็นจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
คําตอบจาก นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คือ
เรื่องบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา พ.ศ.2544 อยู่ระหว่างให้ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายศึกษาอยู่ เพื่อดูว่าจะดำเนินการต่อไปหรือยกเลิก
เนื่องจากรัฐบาลที่แล้วพยายามจะบอกว่า มีมติ ครม. ยกเลิกไปแล้ว
ขณะนี้เรื่องบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา พ.ศ.2544 ยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจน อีกทั้งนายกรัฐมนตรีมีบัญชาว่า ให้เชิญทุกฝ่ายรวมถึงทหารและภาคประชาชนเข้าร่วมด้วย เพราะไม่ต้องการให้นำมากล่าวหากันอีก
สุดท้าย หากจำเป็นต้องเอาเข้าสภาก็เข้า เพื่อให้รับรู้โดยทั่วกัน ไม่อย่างนั้นจะมีการกล่าวหาต่างๆ ให้ประชาชนสับสน
มันไม่ใช่เรื่องรีบร้อน
ยืนยันว่าเรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ มีแต่ข่าวและความพยายามสร้างกระแส มีประเทศไทยประเทศเดียวที่พยายามออกข่าวทำลายกันเอง ถ้าเป็นประเทศพัฒนาแล้วเขาจะไม่หยิบยกประเด็นเหล่านี้มาเป็นเรื่องการเมือง นักการเมืองที่ยังไม่พัฒนาตัวเองควรไปศึกษาว่าประเทศที่พัฒนาแล้วเขาทำกันอย่างไร
อยากให้ฝ่ายค้านเลิกนิสัยแบบนี้เสียที เพราะท่านทำความเสียหายมามากแล้ว
น่าเห็นใจพรรคประชาธิปัตย์ น่าเห็นใจ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อย่างเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้าไปสัมพันธ์กับกัมพูชา
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มากด้วยความอ่อนไหว
ขนาดรัฐบาล จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเปี่ยมด้วยอำนาจเมื่อปะเข้ากับคำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศวินิจฉัยว่าปราสาทเขาวิหารเป็นของกัมพูชา
ยังระมัดระวัง ไม่ยอมขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว
จากรัฐบาล จอมพลสฤษดิ์ ชนะรัชต์ ผ่านรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร จนถึงรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ไม่มีใครอยากต่อความยาวสาวความยืด มีแต่รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั่นแหละที่ดำเนินนโยบายแหลมคมอย่างยิ่ง
กระทั่งกัมพูชานำเอากรณีปราสาทเขาพระวิหารย้อนกลับไปวินิจฉัยตีความอีกครั้งในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เก่งจริงๆ
++++
บทความ 'กรณีเขาพระวิหาร' ของปี 2554
เราชะนะ(อีก)แล้วแม่จ๋า
คอลัมน์ ในประเทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1614 หน้า 8
"เชิญทั้งกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม และฝ่ายกฎหมายมาดูถึงการปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลก ตามมาตรการชั่วคราวที่ออกมา เบื้องต้นได้วิเคราะห์ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ซึ่งในส่วนข้อเท็จจริงพบว่าพิกัดที่ระบุไว้ในคำสั่งศาลให้เป็นเขตปลอดทหาร มีพื้นที่รวม 17.3 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) ถ้ายึดสันปันน้ำเป็นหลัก จะเป็นพื้นที่ไทย 8.5 ตร.กม. ซึ่งรวมถึงพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร 4.6 ตร.กม.เล็กน้อย และเป็นพื้นที่กัมพูชา 8.8 ตร.กม."
"นอกจากนี้ ยังมีการประเมินกำลังทหารทั้ง 2 ฝ่าย ฝ่ายกัมพูชาน่าจะมีราว 4,000 นาย(ที่ต้องถอนออกไป) ฝ่ายไทยน้อยกว่านั้นมาก "
"นี่คือข้อเท็จจริงที่อยากเรียนให้ทราบ เพราะไม่อยากให้เกิดความเข้าใจผิดว่าคำสั่งศาลโลกระบุว่าเฉพาะดินแดนไทย ตรงกันข้ามถ้ายึดตามสันปันน้ำ จะมีพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นเขตปลอดทหารใกล้เคียงกันมาก พูดง่ายๆ จะคร่อมสันปันน้ำ ถ้ายึดในมุมมองกัมพูชาจะกินพื้นที่ของเขามากกว่าเยอะ ยึดตามแผนที่ที่เขาอ้างสิทธิจะมีพื้นที่ ที่เขาต้องถอนกำลังถึง 13 ตร.กม."
"รัฐบาลนี้ไม่ได้เอาคดีไปขึ้นศาลโลก กัมพูชาใช้สิทธิในการขึ้นศาลโลก เพื่อขอให้ตีความคำพิพากษาในคดีเดิม และขอมาตรการชั่วคราว รัฐบาลนี้เพียงแต่ไปต่อสู้ และการต่อสู้ดังกล่าว ทำให้ศาลโลกไม่อนุมัติตามคำสั่งของกัมพูชา"
นี่คือ ถ้อยแถลงของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี หลังประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคง และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือ กรณีที่ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีคำวินิจฉัย คำร้องขอของกัมพูชาให้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ในคดีอันเกี่ยวเนื่องกับปราสาทพระวิหาร เมื่อวันที่ 18 กรกฏาคม ที่ผ่านมา
จะสังเกตว่า นายอภิสิทธิ์ และรวมถึงคนในรัฐบาล จะคงเส้นคงวากับท่าทีต่อปัญหาปราสาทเขาพระวิหารโดยไม่เสื่อมคลาย ว่ากัมพูชาไม่ได้ตามที่ต้องการ ขณะที่ไทยได้เปรียบ
หรืออย่างน้อย ก็ไม่เสียเปรียบ
แต่ถ้าฟัง อาจารย์ไชยวัฒน์ ค้ำชู ศาสตราจารย์ประจำ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กล่าวถึงเรื่องเดียวกันพบว่า ให้ความรู้สึกที่ต่างไปจากนายอภิสิทธิ์ มาก
โดยล่าสุดเกี่ยวกับคำสั่งศาลโลก อาจารย์ชัยวัฒน์ บอกว่า
"ดูเผินๆ หลายฝ่ายอาจจะมองว่าศาลตัดสินกลางๆ ตามที่ทั้งสองฝ่ายมีจุดยืน"
"แต่ถ้าดูอย่างละเอียดยังไม่แน่ใจว่าฝ่ายไทยได้ประโยชน์อะไร"
"เพราะศาลก็มีมติข้อแรกเลยว่าไม่รับคำคัดค้านจากฝ่ายไทยในการให้ยกเรื่องออก หมายถึงกำลังจะบอกว่าศาลโลกมีสิทธิตีความ"
"นอกจากนี้ ศาลได้ออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเปิดให้ฝ่ายกัมพูชาได้ส่งเสบียงบำรุงฟื้นฟูปราสาท เท่ากับศาลย้ำชัดว่าสิทธิปราสาทเป็นของกัมพูชาจึงเปิดทางให้ซ่อมบำรุง"
"กัมพูชาจึงไม่เสียอะไร แต่สำหรับของไทย ในอนาคตถ้าศาลตัดสินแบบใด อย่างดีก็เท่าทุน"
"ไม่รู้ว่าอนาคตศาลจะตัดสินอย่างไร น่าสนใจว่าถ้าดูจากมาตรการสร้างเขตทหารทั้งสองฝ่ายห้ามเข้า แต่ไม่ได้สั่งให้พลเรือนกัมพูชาที่อยู่ในพื้นที่นั้นออก ทำไมศาลถึงตีเขตในขนาดดังกล่าว"
นั่นคือ ความห่วงใยของนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ขณะที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย อดีตเอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ กล่าวถึงคำวินิจฉับคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลกสั้นๆ แต่ได้ใจความชัดเจนยิ่งว่า
"นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดเรื่องนี้ของไทย"!
แน่นอนย่อมเป็นความ "สิ้นสุด" ที่ไม่เป็นคุณแก่ไทย ตรงข้ามกับสิ่งที่ที่นายอภิสิทธิ์ และรัฐบาล พยายามบอกกับคนไทยนับตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศกว่า 2 ปีที่ผ่านมา
นายอภิสิทธิ์ ประกาศนโยบายต่างประเทศ นับตั้งแต่เข้าบริหารประเทศ ว่าจะมีสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน
แต่ ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ คือนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ก็เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบุคคลที่ไปเติมเชื้อไฟให้ลุกโพลงขึ้น ด้วยการเข้าไปตรวจ"หลักหมุด"เขตแดนไทย-กัมพูชา จนนำไปสู่การจับกุมพร้อมกับ 6 คนไทย
แม้นายอภิสิทธิ์จะบอกว่าได้พยายามช่วยเหลือคนไทยเต็มที่ อย่างน้อยที่สุดก็ได้ตัวนายพนิชกลับมา
แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ขณะนี้ นายวีระ สมความคิด และนางราตรี พิพัฒนาไพบูลย์ ก็ยังอยู่ในเรือนจำเขมร
เป็น"ปม"ที่รอให้รัฐบาลใหม่ แก้ไขอยู่
ขณะเดียวกันภายใต้นโยบายที่ดีกับเพื่อนบ้าน สถานการณ์กลับบีบให้ไปถึงจุด"สงคราม"ที่ทำให้มีคนตาย บาดเจ็บ จำนวนมาก
และที่สำคัญชาวบ้านหลายหมื่นคนตามแนวชายแดนต้องเดือดร้อนอพยพออกจากบ้านเรือน
แม้ไทยจะตีฆ้องร้องป่าวว่า เขมร ลั่นกระสุนก่อน และมีแผนที่จะนำเรื่องไปสู่เวทีสากล
แต่เสียงของไทย กลับแผ่วเบายิ่งในเวทีนานาชาติ
ไม่มีการถามว่าใครลงมือก่อน
มีแต่เสียงเรียกร้องให้ไทย-เขมร ยุติความขัดแย้ง
แถมมีคำถามกลับมายังไทยอีกว่า "โอเวอร์รีแอ๊ค"หรือไม่
เพราะมีการกล่าวหาว่า ทำให้ปราสาทเขาพระวิหารเสียหาย และยังใช้อาวุธต้องห้าม เช่นระเบิดพวง เสียอีก
ท่าทีของนานาชาติข้างต้น ได้ส่งผลสะเทือนต่อจุดยืนอันแน่วแน่ของนายอภิสิทธิ์และรัฐบาล นั่นคือปัญหาไทย-กัมพูชา จะต้องเป็นเรื่อง "ทวิภาคี"เท่านั้น
ไม่ยินยอมให้ใครเข้ามายุ่งเกี่ยว
แต่เมื่อเขมรนำเรื่องสู่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ แม้นายอภิสิทธิ์ จะบอกว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติไม่ได้เล่นไปตามเกมของเขมร
คือไม่ได้ตั้งกองกำลังรักษาสันติภาพ
ไม่ได้ได้ส่งเรื่องสู่ศาลโลกเพื่อตีความคำพิพากษาของศาลเมื่อปี 2505 ตามที่กัมพูชาเสนอ
อย่างไรก็ตามจะบอกว่าเป็นชัยชนะของไทยก็ไม่เต็มปาก
เพราะคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้โยนลูกมาสู่อาเซี่ยน ที่มีอินโดนีเซีย นั่งเป็นประธาน อันนำไปสู่มติของอาเซี่ยนที่จะให้มีผู้สังเกตุการณ์เข้ามายังดินแดนพิพาท และให้อินโดนีเซียเข้าร่วมการหารือของสองประเทศเพื่อหาทางยุติความขัดแย้ง
ทำให้เรื่องนี้ไม่เป็น"ทวิภาคคี"อย่างที่ไทยต้องการอีกต่อไป
และความล่าช้าของคณะผู้ตรวจการณ์จากอินโดนีเซีย ที่เกิดขึ้นโดยความจงใจและเปิดเผยของฝ่ายไทยที่นำไปสู่การสู้รบอีกครั้งที่ปราสาทตาเมือน-ตาควาย ทำให้เขมรได้ช่องยื่นให้ศาลโลก ตีความคำพิพากษา และออกมาตรการชั่วคราวคุ้มครอง
ซึ่งเขมรก็ทำสำเร็จสามารถดึงให้ไทยขึ้นสู่ศาลโลก และต้องยอมรับคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้มีเขตปลอดทหารและให้มีคณะผู้สังเกตุการณ์จากอาเซี่ยนเข้ามา
อันเท่ากับว่า จุดยืนที่ไทยต้องการให้เรื่องนี้เป็น"ทวิภาคี" .. ไม่ใช่อีกต่อไป
เช่นเดียวกับเรื่องมรดกโลก นายอภิสิทธิ์ และรัฐบาล ก็มีจุดยืนแจ่มชัดที่จะให้ คณะกรรมการมรดกโลกเลื่อนแผนบริหารปราสาทเขาพระวิหารออกไป
ซึ่งแม้จะมีการเลื่อนรับรองแผนออกไปจริง
แต่จะว่าเราได้รับชัยชนะก็ไม่ได้อีกเช่นกัน
เพราะไทยต้องมีค่าใช้จ่ายมหาศาลด้วย
นั่นคือการประกาศเจตนารมย์ขอถอนตัวออกจากคณะกรรมการภาคีมรกดโลก ที่มีประเทศต่างๆทั่วโลก 186 ประเทศเป็นสมาชิก เนื่องจากไม่อาจยอมรับเงื่อนไขของคณะกรรมการมรดกโลกที่จะให้มีการบูรณะตัวปราสาทที่เสียหาย
ไทยยังมีเวลาอีก 1ปี ในการที่จะยืนยันเจตนารมณ์นี้ ซึ่งเป็นภาระหนักของรัฐบาลใหม่ที่จะตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร
เพราะไม่ว่าจะเลือกเดินทางไหน ก็ล้วนแต่มีผลกระทบทั้งสิ้น
ในช่วง 2 ปีของการแก้ไขวิกฤตชายแดนไทย-เขมร ของ นายอภิสิทธิ์ และรัฐบาล แม้จะมีความพยายามยืนยันว่า ไทยได้ยืนหยัดในการรักษาอธิปไตยและได้ขับเคี่ยวกับกัมพูชาโดยไม่เสียเปรียบ
ซึ่งก็เหมือนบอกกลายๆว่า ไทยชนะ
แต่จะให้เน้นคำชัดๆ แบบ "ชะ-นะ"ตามสำนวนของนายผี ที่ว่า "เราชะนะแล้วแม่จ๋า" เชื่อว่าคนในรัฐบาลอภิสิทธิ์คงไม่มีใครกล้าเอ่ย " ชะ-นะ " แบบเต็มปากเต็มคำ
เพราะมีคำถามหากชนะแล้ว ทำไม ที่สุดแล้ว ทางเลือกเราลดน้อยและโดดเดี่ยวยิ่งขึ้นทุกที
อีก 2 ปีข้างหน้า เราต้องลุ้นกับคำตัดสินของศาลโลก ที่จะตีความพื้นที่โดยรอบเขาพระวิหารจะเป็นของเขมรเท่าใด
ซึ่งก็น่าหวั่นใจอย่างยิ่ง
เพราะคำคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลกที่ออกมา แม้นายอภิสิทธิ์และรัฐบาลจะบอกว่าไม่เสียเปรียบ
แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายก็บอกว่าไม่ใช่เช่นนั้น
จึงมีคำถามว่าแนวทางที่นายอภิสิทธิ์ และรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ พาเราเดินไปนั้น เป็น ชัย "ชะ-นะ"จริงหรือ
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
สำหรับ " ความกังวลเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเกี่ยวกับทรัพยากรทางทะเล.. " ของอภิสิทธิ์
อ่านข้อสังเกตุบางประการ ที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2012/07/sod-fri13.html หัวข้อ ใครเจรจาลับ!?
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย