.
เหตุผลของ “หัวใจ”
โดย หนุ่มเมืองจันท์ boycitychan@matichon.co.th www.facebook/boycitychanFC คอลัมน์ ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1665 หน้า 24
ทุกครั้งที่มีน้องๆ ขอสัมภาษณ์ ผมจะขอร้องทุกคนว่าอย่าถามอะไรยากๆ
เพราะตอบไม่ได้จริงๆ
หรือถ้าใครยังถามยากๆ อีก
ผมจะขอเวลาคิด 1 วัน แล้วจะเขียนคำตอบส่งตามไปภายหลัง
ส่วนใหญ่น้องๆ จะไม่ชอบการรอคอย ทุกคนจะเลือกเปลี่ยนคำถามมากกว่ารอคำตอบ
มีเรื่องหนึ่งที่ผมจะบอกน้องๆ เป็นประจำ คือ อย่าจินตนาการว่าผมรู้เยอะ
เพราะจริงๆ แล้ว ผมรู้เท่าที่เขียน
"อภิสิทธิ์" ข้อหนึ่งของนักเขียน คือ เรามีสิทธิ์เลือกที่จะเล่าอะไรก็ได้
และผมเลือกเล่าในสิ่งที่ "รู้"
รู้แค่ไหนเล่าแค่นั้น
เรื่องไหนไม่รู้ ไม่เล่า
ถ้าจำเป็นก็แตะๆ เท่าที่พอรู้เรื่อง
แต่บางคนคิดว่าผมเขียนเรื่องธุรกิจแล้วต้องรู้เรื่องเศรษฐกิจดีมาก
ขอบอกว่าเรื่องนี้เป็น "จินตนาการ" ครับ
ไม่ใช่ "เรื่องจริง"
คิดดูสิครับ ว่าอยู่ดีๆ มีคนเชิญไปพูดเรื่อง "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" หรือ "AEC"
ไม่ใช่รายเดียว แต่ 2-3 ราย
เขาคงคิดว่าผมรู้เรื่องนี้ดี
ขอโทษนะครับ เมื่อสักครู่นี้เพิ่งเข้า Google ค้นคำว่า AEC อยู่เลย
ผมจำคำว่า "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" ไม่ได้ครับ
พอรู้เรื่อง AEC บ้าง แต่ไม่รู้ลึก
ขืนไปพูด คงปล่อยโง่แน่นอนเลย
นอกจากเรื่องคำถามยากๆ แล้ว อีกคำถามหนึ่งที่ผมขอร้องน้องที่มาสัมภาษณ์ คือ อย่าถามเรื่อง "ที่สุด"
นักธุรกิจคนไหนที่ชอบที่สุด
ชอบหนังสือเล่มไหนมากที่สุด ฯลฯ
เหมือนจะง่าย แต่ยากมากเลยครับ
ผมถือคติของ "เนลสัน แมนเดลา"
ทุกคำถามไม่จำเป็นต้องมีคำตอบเดียว
ตอนที่นักข่าวชาวอเมริกันถามว่าท่านทำเรื่องนี้เพราะอะไร
เพราะ 1 หรือ 2
"แมนเดลา" ตอบว่าอาจจะเป็นเพราะ 1 หรือ 2 ก็ได้
ไม่มีอะไรชัดเจนแบบ "ขาว" กับ "ดำ"
ยิ่งเป็นเรื่อง "ความรู้สึก" แล้ว ยิ่งผสมปนเปจนบางครั้งก็ยากจะแยกแยะว่าเป็นเพราะอะไรกันแน่
ชอบนักธุรกิจคนนี้เรื่องนี้ แต่ไม่ชอบเรื่องนั้น
ชอบอีกคนเรื่องนั้น แต่ไม่ชอบเรื่องโน้น
ไม่มี "ที่สุด"
ปรอทวัด "ที่สุด" ของผมมีปัญหาจริงๆ ครับ
เจอคำถามเรื่อง "ที่สุด" เมื่อไร
ผมจะบอกน้องว่า "ที่สุด" เรื่องอื่นไม่รู้
แต่ถ้าเป็นเรื่องคำถาม
คำถามเรื่อง "ที่สุด" ยากที่สุด
อีกคำถามหนึ่งที่ยาก
...มีอะไรที่อยากทำแล้วยังไม่ได้ทำบ้าง
ไม่ใช่เพราะตอนนี้มีอายุระดับ "อดีตยาว-อนาคตสั้น" ทำให้ได้ทำสิ่งต่างๆ มากมายจนไม่เหลืออะไรที่ "อยาก" อีกแล้ว
แต่คำถามนี้เป็นคำถามที่ยากมานานแล้ว
เพราะไม่ค่อยมี "ความใฝ่ฝัน" แบบสุด-สุด
เท่าที่นึกออก มีอยู่เรื่องเดียว คือ อยากไปดูบอลโลก
และได้ไปแล้วตอนที่เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพ
ที่นั่งอยู่สูงลิบเลยครับ
ดูจบ บอกตัวเองเลยว่าดูโทรทัศน์สนุกกว่าเยอะ
จากนั้นต่อมความใฝ่ฝันก็ตีบตัน
เจอคำถาม "มีอะไรที่อยากทำแล้วยังไม่ได้ทำบ้าง" เมื่อไร
ตอบทันทีเลยว่า "ไม่มี"
มีแต่ "ทำก็ได้-ไม่ทำก็ได้"
จนวันหนึ่ง ความรู้สึกเริ่มเปลี่ยนไป
"ต่อมความใฝ่ฝัน" ที่เสื่อมสมรรถภาพไปนาน กลับคึกคักขึ้นมา
เริ่มรู้สึกว่ามีบางอย่างที่อยากทำ
จำได้ว่าวันที่นิตยสาร 10 pm มาคุยด้วย
"ฝ้าย" ที่เคยเข้าค่ายนักเขียนของมติชนเป็นคนสัมภาษณ์
เธอถามคำถามนี้ขึ้นมา
"มีอะไรที่อยากทำแล้วยังไม่ได้ทำบ้าง"
วันนั้น ผมไม่ได้ตอบว่า "ไม่มี" เหมือนเดิม
แต่ตอบตามความรู้สึกใหม่ของตัวเอง
"อยากใช้ชีวิต"
เป็นคำตอบเท่มาก
แต่เมื่อถามต่อว่า "ใช้ชีวิต" แบบไหน
คำตอบกลับทื่อมาก
...ไม่รู้
ไม่รู้จริงๆ ครับ
แต่ "รู้สึก"
แค่นี้ก็ดีใจแล้ว
ดีใจว่าเราก็ "ติสต์" กับเขาเป็นเหมือนกัน
นึกถึงตอนที่น้องที่ชอบ "ติสต์" มาปรึกษาเรื่องงาน
อารมณ์เยอะ เหตุผลน้อย
ทุกครั้งที่เจอปรากฏการณ์นี้ ผมจะเตือนสติน้องๆ เหล่าศิลปินทั้งหลาย
"อย่าตัดสินใจด้วยอารมณ์ ให้ใช้เหตุผล"
แต่พอเจอคนที่เหตุผลเยอะ จนลืมความรู้สึกของตัวเอง
ผมจะเตือนสติใหม่
"ให้ถามตัวเองว่าชอบอะไร อย่าลืมว่าความรู้สึกคือเหตุผลอย่างหนึ่ง"
หรือบางครั้งก็ใช้คำคมของ "ปาสกาล" นักคิดชาวฝรั่งเศส
"หัวใจมีเหตุผล ที่เหตุผลไม่รู้จัก"
เมื่อทุกคำถามไม่จำเป็นต้องมีคำตอบเดียว
หลักของเหตุผลก็ไม่จำเป็นต้องมีแบบเดียว
"หัวใจ" นั้น ก็มีเหตุผลแบบหนึ่งที่ "สมอง" ไม่รู้จัก
เป็น "เหตุผล" ที่ไม่ตรงกับหลักของเหตุผลทั่วไป
อย่าถามต่อ เพราะผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันครับ
แต่ชอบ เพราะเป็นประโยคที่เท่มาก
ลองเอาไว้ใช้สิครับ ตอนที่หา "เหตุผล" อื่นมาเถียงไม่ได้
พอเถียงด้วยเหตุผลไม่ได้ปั๊บ
เปรี้ยงเลย...
"พี่ไม่เข้าใจหรอก มันเป็นเหตุผลของหัวใจ"
วิ้วววว...
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย