.
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ฮิตเลอร์และวาทกรรมต้านประชาธิปไตย
ใน www.prachatai.com/journal/2012/07/41433 . . Sat, 2012-07-07 22:17
หลักการสำคัญอย่างหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยในทุกประเทศคือ การปกครองโดยเสียงข้างมากในกรอบเวลาที่ชัดเจน หมายถึงการที่พรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งโดยได้เสียงในสภามากที่สุดจะได้สิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล และดำเนินนโยบายบริหารประเทศ แต่ในสังคมไทย มักจะมีการผลิตวาทกรรมต่อต้านประชาธิปไตย โดยอ้างกันว่า ประชาธิปไตยที่เป็นอยู่คือเสียงข้างมากลากไป และที่มักจะใช้ยกตัวอย่างกันเสมอก็คือ การเลือกตั้งในเยอรมนี ที่นำมาซึ่งการครองอำนาจของฮิตเลอร์
ในที่นี้จึงจะขออธิบายก่อนว่า ในระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก มีการเลือกตั้งกันมาแล้วมากมาย แต่ก็ไม่ได้นำมาซึ่งการครองอำนาจแบบฮิตเลอร์ หรืออธิบายให้ชัดเจนขึ้นก็คือ การเกิดของระบอบแบบนาซีของฮิตเลอร์นั้นเป็นกรณีพิเศษที่ไม่ได้เกิดขึ้นทั่วไป และสิ่งที่มักจะมองข้ามไป คือ บริบทหรือสถานการณ์ที่นำมาซึ่งระบอบเช่นนั้น
อด็อฟ ฮิตเลอร์เกิดในออสเตรียเมื่อ ค.ศ.๑๘๘๙ เขาเป็นผู้ที่มีแนวคิดชาตินิยมเยอรมันแบบขวาจัด ในวัยหนุ่มของเขา ได้เป็นทหารในกองทัพเยอรมนีไปรบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และได้รับเหรียญกล้าหาญ ต่อมา ฮิตเลอร์เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ไม่พอใจที่เยอรมนียอมแพ้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรใน ค.ศ.๑๙๑๙ โดยเห็นว่าเยอรมนีไม่ได้พ่ายแพ้ในสมรภูมิรบ แต่ถูกหักหลังจากฝ่ายพลเรือนและพวกสังคมนิยม ดังนั้น ฮิตเลอร์ยิ่งยอมรับไม่ได้กับสัญญาแวร์ซาย ที่ทำให้เยอรมนีต้องรับผิดชอบในสงครามแต่ผู้เดียว ต้องเสียดินแดน เสียอาณานิคม เสียค่าปฏิกรรมสงคราม และต้องถูกกระทำจนสิ้นสภาพมหาอำนาจ
ใน ค.ศ.๑๙๒๑ เขาได้เป็นหัวหน้าพรรคสังคมชาตินิยม หรือ พรรคนาซี ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีแนวทางขวาจัดที่สุด ที่มุ่งจะพื้นอำนาจเยอรมนี ต่อมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.๑๙๒๓ เขาพยายามก่อรัฐประหารในเมืองมิวนิคที่รู้จักกันว่า กบฏโรงเบียร์ แต่ล้มเหลว ฮิตเลอร์ถูกจำคุกเป็นเวลาหนึ่งปี ซึ่งในระหว่างนั้นเองที่เขาเขียนบันทึกความทรงจำเป็นหนังสือชื่อ ไมน์คัมพฟ์(การต่อสู้ของข้าพเจ้า) หลังได้รับการปล่อยตัวเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ.๑๙๒๔ เขาได้รับเสียงสนับสนุนมากขึ้นจากความมั่นคงในการโจมตีสนธิสัญญาแวร์ซาย และต่อต้านคอมมิวนิสต์ และจากการที่เขาเป็นนักพูดที่มีวาทศิลป์และจูงใจคน และหนังสือของเขาก็กลายเป็นหนังสือขายดี แต่กระนั้นในการเลือกตั้ง พรรคของเขาก็ยังได้คะแนนนิยมไม่มากนัก เช่น การเลือกตั้ง ค.ศ.๑๙๒๔ พรรคนาซีได้เสียง ๓ % ต่อมา เลือกตั้งใน ค.ศ.๑๙๒๘ พรรคนาซีเหลือ ๒.๖ % แต่พรรคนาซีมีลักษณะพิเศษคือ มีการจัดตั้งกองกำลังฝ่ายขวาของพรรคด้วย
ค.ศ.๑๙๒๙ เกิดเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ทำให้พรรคนาซีได้รับคะแนนนิยมมากขึ้น ฮิตเลอร์รับอิทธิพลของพรรคฟาสซิสม์อิตาลี และหวังว่าแนวทางแบบฟัสซิสม์จะนำมาใช้แก้ปัญหาของเยอรมนีได้ ปรากฏว่าในการเลือกตั้ง ค.ศ.๑๙๓๐ พรรคนาซีได้คะแนนถึง ๑๘.๓ % ทำให้ได้ที่นั่งในสภามากถึง ๑๐๗ เสียงจากจำนวน ๕๗๗ เสียง หลังจากนั้น พรรคนาซีก็ยิ่งได้คะแนนเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่เคยได้ถึงครึ่ง ใน ค.ศ.๑๙๓๒ ฮิตเลอร์ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานธิบดีกับนายพลฟอน ฮินเดนบูร์ก วีรบุรุษสงคราม ฮิตเลอร์ก็ยังพ่ายแพ้ แต่พรรคนาซีของเขาได้เสียงเพิ่มเป็น ๓๗.๓ % คิดเป็นที่นั่งในสภา ๒๓๐ ที่นั่ง ซึ่งยังไม่ถึงครึ่ง แต่เขาเริ่มได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นนำ ซึ่งหวาดวิตกในการเติบโตของฝ่ายสังคมนิยมและพรรคคอมมิวนิสต์ นอกจากนี้ยังเห็นว่า นโยบายชาตินิยมขวาจัดของพรรคนาซี ตอบสนองต่อประชาชนจำนวนที่ขมขื่นกับสภาวะของสัญญาแวร์ซาย ซึ่งจะทำให้เยอรมนีมีเสถียรภาพ และฟื้นเกียรติในสายตานานาชาติ
ดังนั้น กลุ่มชนชั้นนำเยอรมนี จึงผลักดันให้ประธานธิบดีฮินเดนบูร์กตั้งฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งรัฐบาลผสมหลายพรรคบริหารประเทศ โดยมีพรรคฝ่ายขวาอื่นเข้าร่วมด้วย นี่เป็นครั้งแรกที่ฮิตเลอร์เข้าสู่อำนาจ เมื่ออยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขาขยายกองกำลังของพรรค และเริ่มใช้นโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์รุนแรงมากขึ้น
จากความขัดแย้งในรัฐบาลผสม ฮิตเลอร์จึงเสนอให้ประธานาธิบดียุบสภา และกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนมีนาคม ค.ศ.๑๙๓๓ แต่ปรากฏว่าในวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ อาคารรัฐสภาเยอรมนีถูกวางเพลิง ฮิตเลอร์โจมตีว่าเป็นแผนการของฝ่ายคอมมิวนิสต์ และถือโอกาสออกกฤษฎีกาไฟไหม้สภา เพื่อควบคุมสิทธิพื้นฐานของประชาชน และเปิดโอกาสในการกวาดล้างสมาชิกสหภาพแรงงาน ยุบพรรคคอมมิวนิสต์และกวาดล้างสมาชิกพรรคและกลุ่มฝ่ายซ้าย ทำให้ผู้ต้องสงสัยกว่า ๔,๐๐๐ คนถูกจับกุม จากนั้นก็มีการโฆษณาชวนเชื่ออย่างหนักในเรื่องชาตินิยมเยอรมนี ที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์และฟื้นเกียรติยศแห่งชาติ ทำให้พรรคนาซีชนะได้เสียงมากที่สุดในการเลือกตั้ง แต่ก็ยังได้เสียงเพียง ๔๓.๙ % ได้ที่นั่ง ๒๘๘ ที่นั่งจาก ๖๔๗ ที่นั่ง และนี่เป็นการเลือกตั้งแบบหลายพรรคครั้งสุดท้ายในสมัยนาซี นั่นหมายความว่า ตามความจริงพรรคนาซีไม่เคยได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนในการเลือกตั้งเสรีเลย
หลังจากการเลือกตั้ง รัฐบาลฮิตเลอร์ได้เสนอรัฐบัญญัติยึดอำนาจ ให้รัฐสภาลงมติมอบอำนาจนิติบัญญัติให้รัฐบาลออกกฎหมาย โดยไม่ต้องผ่านสภาผู้แทนได้ ๔ ปี รัฐบาลใช้วิธีการคุกคามให้พรรคฝ่ายกลางสนับสนุน และริดรอนสิทธิพรรคฝ่ายซ้ายที่จะคัดค้าน ทำให้รัฐสภาต้องผ่านกฎหมายนี้ด้วยคะแนนเสียง ๔๔๔ ต่อ ๙๓ เสียง เมื่อได้อำนาจตามกฎหมายมาแล้ว รัฐบาลฮิตเลอร์ก็กลายเป็นเผด็จการเต็มรูปโดยการปราบคู่แข่ง ยุบพรรคสังคมประชาธิปไตยและพรรคฝ่ายกลางอื่น ยุบเลิกและทำลายสหภาพแรงงานทั่วประเทศ และกวาดล้างคู่แข่งทางการเมืองทั้งหมด ทำให้พรรคนาซีกลายเป็นพรรคการเมืองที่ถูกฎหมายเพียงพรรคเดียว จากนั้น จึงได้จัดให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.๑๙๓๓ โดยมีพรรคนาซีสมัครเพียงพรรคเดียว ทำให้ได้คะแนนเสียงทั้งหมด ๖๖๑ ที่นั่ง และนี่เป็นการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายภายใต้ระบบนาซี เพราะสภาชุดนี้ได้รับการต่ออายุจนสิ้นอำนาจของนาซี
เดือนสิงหาคม ค.ศ.๑๙๓๔ ประธานาธิบดีฮินเดนแบร์กถึงแก่อสัญกรรม รัฐบาลได้ออกกฎหมายรวมอำนาจของประธานาธิบดีกับนายกรัฐมนตรี ฮิตเลอร์จึงกลายมาเป็นผู้นำสูงสุดอย่างเป็นทางการ เรียกว่า ฟือแรร์ หรือ ท่านผู้นำ ซึ่งโดยตำแหน่ง ฮิตเลอร์เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด บัญชาการกองทัพเยอรมนีด้วย การรวมตำแหน่งประธานาธิบดีกับนายกรัฐมนตรีได้รับการอนุมัติโดยการลงประชามติเมื่อ ค.ศ.๑๙๓๘ ซึ่งพรรคนาซีได้รับเสียงสนับสนุน ๙๐ % ของผู้ออกมาใช้สิทธิ
สรุปแล้วระบอบของฮิตเลอร์คือระบอบเผด็จการฝ่ายขวา การได้อำนาจของพรรคนาซีต้องถือว่ามาจากการยึดอำนาจ หรือการก่อรัฐประหารโดยการสนับสนุนของกลุ่มนายทุนและนักอุตสาหกรรม ไม่ได้มาจากกระบวนการประชาธิปไตย การรักษาอำนาจใช้การโฆษณาชวนเชื่ออย่างหนัก ให้ถืออุดมการณ์ชาตินิยมเยอรมันสุดขั้ว แล้วสร้างให้ยิวกับคอมมิวนิสต์เป็นศัตรูร้าย ความเสียหายเกิดขึ้นจากกการที่พรรคนาซีได้ใช้อำนาจในการขยายดินแดนในยุโรป แล้วร่วมมือกับอิตาลี กับ ญี่ปุ่น ก่อสงครามโลกครั้งที่สองที่สร้างความเสียหายไปทั่วโลก และการกีดกันเชื้อชาติโดยสังหารหมู่ชาวยิวอย่างเหี้ยมโหดผิดมนุษยธรรม
ตลอดเวลาที่พรรคนาซีอยู่ในอำนาจ ก็ไม่เคยมีศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลไหนมาควบคุมหรือถ่วงดุลเลย หรือกล่าวได้ว่าศาลทั้งหลายสมัยนาซีก็รับใช้พรรคนาซีทั้งสิ้น ไม่ได้มีเกียรติประวัติหรือความกล้าหาญในการตรวจสอบรัฐบาลฮิตเลอร์ อำนาจพรรคนาซีสิ้นสุดลงเพราะเยอรมนีแพ้สงครามใน ค.ศ.๑๙๔๕
กระบวนการของฮิตเลอร์จึงไม่มีอะไรที่จะเรียกได้ว่าเป็น”เผด็จการเสียงข้างมาก” หรือ “เผด็จการรัฐสภา” เพราะพรรคนาซีไม่ได้เผด็จการโดยอาศัยรัฐสภาแต่อย่างใด และความจริง พรรคที่บริหารประเทศในระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องเป็นพรรคที่ได้เสียงข้างมาก แต่ถ้าพรรคนั้นบริหารผิดพลาด คราวต่อไปก็จะเป็นสิทธิของพรรคอื่นที่จะต้องมาด้วยเสียงข้างมากเช่นกัน นี่เป็นกติกาประชาธิปไตย
ดังนั้นวาทกรรมเรื่องเผด็จการเสียงข้างมากก็เป็นวาทกรรมลวง และอ้างกันว่า ระบอบประชาธิปไตยนำมาซึ่งนักการเมืองฮิตเลอร์แล้วต้องเอาศาลมาปกป้องก็เป็นเรื่องอ้างผิด สะท้อนถึงความโง่ในการอ้างเหตุผลของพวกฝ่ายขวาไทยนั่นเอง
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย