.
คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม - ด่าเจ้าของ โดย สมิงสามผลัด
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ใครเจรจาลับ!?
โดย สมิงสามผลัด คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์ วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.
แค่ขยับตัวก็โดนจับผิดอีกแล้ว
ตามคิววันนี้ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บินไปกล่าวสุนทรพจน์ต่อนักธุรกิจสหรัฐอเมริกาในการประชุมฟอรั่มธุรกิจอาเซียนที่กัมพูชา
ก็โดนฝ่ายตรงข้ามค่อนแคะว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนบ้าง เจรจาธุรกิจให้พี่ชายบ้าง
ทั้งที่ กระทรวงต่างประ เทศยืนยันแล้วว่าการเยือนกัมพูชาครั้งนี้
นายกฯยิ่งลักษณ์ ได้รับเชิญไปในฐานะ "แขกพิเศษ" นางฮิลลารี คลินตัน
รมว.ต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา
ไม่ใช่อยู่ๆ ก็บินไปเอง
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกปชป.แถลงให้จับตาให้ดี
อาจมีการเจรจาลับเรื่องพลังงานในพื้นที่ทับซ้อน
อาจมีการเจรจาลับกับสหรัฐแลกกับวีซ่า 10 ปีของ พ.ต.ท.ทักษิณ
แม้แต่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าปชป.ถึงกับบอกว่า "ไม่ใช่วาระปกติ"
เพราะทักษิณเคยประกาศว่าสนใจลงทุนเรื่องธุรกิจพลังงานในพื้นที่ทับซ้อน
ก้าวไม่พ้นทักษิณเหมือนเดิม!?
ก็ไม่เป็นไร เป็นสิทธิ์ของของปชป.ที่จะตรวจสอบรัฐบาล
แต่ไม่อยากให้มองว่ารัฐบาลนี้ต้องทำอะไรเป็นเรื่องลับๆ เสมอ
เพราะมีตัวอย่างในอดีตกรณีของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่แอบบินไปเจรจา "ลับ" ถึง 3 ครั้งที่กัมพูชา-คุนหมิง-ฮ่องกง
โดย สมเด็จฮุนเซน นายกฯ กัมพูชาเป็นคนเปิดโปงเรื่องลับนี้เอง
ระบุว่าสมัยที่นายสุเทพเป็นรองนายกฯ เคยไปกินแกงเลียง ฝีมือภริยาฮุนเซนถึงที่บ้าน
ขอเจรจาลับเกี่ยวกับบล็อกน้ำมันในทะเล
บอกด้วยว่านายอภิสิทธิ์มอบหมายมา และต้องการเจรจาให้จบในสมัยรัฐบาล ปชป. แต่นายกฯ ฮุนเซนไม่เจรจาด้วย
เป็นการยืนยันถึงการเจรจาลับในยุคนั้น
ส่วนการออกมาวิพากษ์นายกฯ ปูเตรียมบินไปเจรจาลับครั้งนี้
ลงเอยก็แค่จินตนาการอีกกระมัง
++
เทพประทาน 2
โดย มันฯ มือเสือ คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.
ประเทศไทยหยุดนิ่งชั่วคราวเพื่อรอลุ้นผลตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญวันศุกร์ 13 ก.ค.
ซึ่งไม่เพียงเป็นวันชี้ชะตาการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าสามารถทำได้ตามกฎกติกาประชาธิปไตยหรือไม่
แต่ยังเป็นวันชี้อนาคตประเทศชาติบ้านเมืองว่าจะถอยหลังย้อนกลับไปสู่ความวุ่นวายแตกแยกรอบใหม่หรือไม่
มีการประเมินกันแบบกำปั้นทุบดินว่า
ผลวินิจฉัยตัดสินของศาลฯ น่าจะออกมาแนวทางใดแนว ทางหนึ่งจาก 3 แนวทางด้วยกัน
แนวทางแรก วินิจฉัยยกคำร้องทั้ง 5 สำนวน
หมายถึงทันทีที่เปิดสมัยประชุมเดือนส.ค.
รัฐสภาสามารถลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ในวาระ 3
ต่อจากสมัยประชุมที่แล้วได้ทันที
แนวทางที่สอง วินิจฉัยออกมาไม่บวกไม่ลบ
ทำนองว่าการแก้ไขมาตรา 291 อาจขัดต่อมาตรา 68 แต่โทษไม่หนักหนาถึงขั้นต้องยุบพรรคที่เสนอแก้ไข
ในความไม่บวกไม่ลบนี้ ศาลฯ อาจสั่งให้นำร่างแก้ไขกลับไปพิจารณาทบทวนใหม่ พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขบางอย่างให้ต้องปฏิบัติ
ส่วนแนวทางที่สาม เป็นผลวินิจฉัยที่หลายคนวิตกกังวลมากที่สุดว่าจะเป็นชนวนนำไปสู่สถานการณ์วุ่นวายทางการเมืองอีกรอบ
รุนแรงเท่าหรือมากกว่าที่ผ่านมา
นั่นคือการตัดสินให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม มาตรา 291 มีความผิดฐานเปลี่ยนแปลงล้มล้างการปกครอง ตามมาตรา 68
ตามมาด้วยคำสั่งยุบพรรค
ในสามแนวทางดังกล่าว ซีกรัฐบาลเพื่อไทยย่อมคาดหวังให้ผลวินิจฉัยของศาลฯ ออกมาแนวทางแรกมากที่สุด หรือถ้าหากออกมาในแนว ทางที่สอง
ก็ยังพอรับไหว
ขณะเดียวกันฝ่ายผู้ยื่นคำร้องคัดค้านก็อยากให้ผลวินิจฉัยตัดสินออกมาในแนวทางที่สาม
จุดมุ่งหมายเพื่อพิทักษ์ไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับรัฐประหาร
ต้องการเห็นรัฐบาลเพื่อไทยพังโค่นไปต่อหน้าต่อตาเหมือนรัฐบาลไทยรักไทยและพลังประชาชนในอดีต
ทั้งหมดเพื่อให้ความฝันรัฐบาล "เทพประทาน 2"
เป็นจริงขึ้นมา
++
แล้วแต่วาสนา
โดย คาดเชือก คาถาพัน คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์ วันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น. ข่าวสดออนไลน์
การไต่สวนในศาลรัฐธรรมนูญในคดีที่มีผู้ร้องว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา
ชุดปัจจุบัน เป็นการล้มล้างการปกครอง ผ่านไปแล้วเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน
ใครเป็นใคร จุดยืนพิสดารขนาดไหน จินตนาการประหลาดล้ำลึกเพียงใด
ท่านที่ติดตามการถ่ายทอดจากโทรทัศน์ดาวเทียมช่องต่างๆ หรือด้วยช่องทางอื่น
ก็คงรับรู้และซึ้งแก่ใจไปแล้ว
ศาลรัฐธรรมนูญก็ทันอกทันใจ นัดตัดสินกันในวันมะรืนนี้ (13 กรกฎาคม)
จะเป็นศุกร์ 13 ฝันร้ายหรือศุกร์ 13 ฝันหวานต้องรอติดตามกันต่อไป
ทั้งหมดนี้ขึ้นกับเหตุผลในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเองเป็นหลัก
ถ้าหนักแน่นมั่นคง ไม่มีใครจับผิดโต้เถียงได้ ไม่ว่าจะในข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริง
ไม่ว่าจะเป็นทางไหนก็รอด
แต่ถ้าเป็นไม้หลักปักขี้เลน โอนเอนไปได้ตามอคติ 4 ใครอ่านคำวินิจฉัยแล้วส่ายหัว
อย่างนั้นก็ท่าทางจะยุ่ง
เพราะลำพังตัวคดีก็ยุ่งมาแต่ต้นแล้ว ว่าเรื่องนี้อยู่ในขอบเขตอำนาจศาลหรือไม่
ถ้าต้นคดปลายตรง ก็ยังพออาศัย
ถ้าเป็นอย่างอื่น ไม่ยากที่จะคาดเดาผลตามมาได้
ที่น่าเป็นห่วงกว่าก็คือการประเมินสถานการณ์
ในเรื่องนี้ของ "ชนชั้นนำ" ซึ่งมักคิดว่าถ้า "เกี้ยเซี้ย"
กันอยู่ในหมู่ชนชั้นนำได้แล้วเรื่องอาจจะจบลงไปง่ายๆ
อาจจะไม่ง่ายอย่างที่คิด
เพราะวันนี้ ชาวบ้าน คนธรรมดา
แสดงตัวชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่า
ต้องการมีส่วนมีเสียงในการแสดงความคิดเห็นบ้าง
ในเรื่องที่เป็นความเป็นความตายของประเทศและอนาคตของตัวเอง
หลอกไม่ง่าย กล่อมให้เชื่องไม่ง่ายเหมือนที่ผ่านมา
และส่วนใหญ่ เขาไม่เข้าร่วมขบวนการเกี้ยเซี้ยด้วย
ฉะนั้น จะทำอะไรก็โปรด "เกรงใจกันบ้าง"
โดยเฉพาะท่านทั้งหลายที่เล่นการเมืองโดยสวมเสื้อคลุมสีอื่น
ซึ่งอันตรายไม่แพ้พวกที่เล่นการเมืองโดยใส่เสื้อคลุมการเมือง
ทั้งหมดนี้จะได้รู้กันวันมะรืน
ระหว่างนี้ก็สวดมนต์ไปพลางๆ
หัดๆ ไว้เผื่อต้องสวดใหญ่ในไม่ช้า
++
เกลียดและกลัว
โดย สับไก กระสุนธรรม คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์ วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.
ถึงแม้ว่า "ศุกร์ 13" จะเป็นวันฤกษ์ไม่งามตามความเชื่อของฝรั่ง
แต่สื่อฝรั่งไม่ได้มองว่า ศุกร์ 13 เป็นเรื่องสำคัญอะไร
ในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญของไทยนัดอ่านคำตัดสิน
ประเด็นสำคัญอยู่ที่คำตัดสินว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครอง ตามมาตรา 68 หรือไม่
สำนักข่าวเอพีของสหรัฐอเมริกา วิเคราะห์ว่า คำตัดสินในวันศุกร์ที่ 13 ก.ค. อาจส่งผลให้ความแค้นเคืองในสังคมไทยปะทุขึ้นมาอีกรอบ
พร้อมกับเปลี่ยนบรรยากาศที่เริ่มสงบลงหลังการเลือกตั้งปี 2554 ให้กลับไปปั่นป่วนอีกครั้ง
กรณีนี้เป็นศึกล่าสุดระหว่างกลุ่มผู้สนับ
สนุนและกลุ่มผู้ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกโค่นจากอำนาจด้วยวิธีรัฐประหารในปี 2549
สื่อฝรั่งให้ข้อมูลถึงรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ด้วยว่า พยายามจำกัดอำนาจของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง
โดยโยงใยถึงกลุ่มอนุรักษนิยมที่ทั้งเกลียดและกลัว (loathe and fear) พ.ต.ท.ทักษิณ
ส่งผลให้พรรคไทยรักไทยถูกยุบมาแล้ว และมีนักการเมือง 111 รายถูกแบนจากการเมือง 5 ปี
ความเคลื่อนไหวของฝ่ายตุลาการจึงถูกครหาในเรื่องเป้าหมายในทางการเมือง
ขณะที่สำนักข่าวเอเอฟพีของฝรั่งเศส
มองคล้ายกันว่า ฝ่ายต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ
ทั้งพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มเสื้อเหลือง พยายามที่จะขัดขวาง
พ.ต.ท.ทักษิณกลับประเทศ อันเป็นประเด็นที่สร้างความร้าวฉานและร้าวลึกอย่างใหญ่หลวงให้ประเทศไทย
มุมมองของสื่อต่างประ เทศครั้งนี้ ไม่ได้แตกต่างจากที่คนไทยรู้ๆ กันอยู่
เหมือนที่ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ เพิ่งกล่าวในงานปาฐกถาพิเศษของหนังสือ
พิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ว่า "เสียดายที่การเมืองไทยไม่นิ่ง
ถ้าการเมืองนิ่งเมื่อไหร่ วันนี้คนไทยจะร่ำรวยกว่าเขาแล้ว"
ปมที่ทำให้การเมืองไม่นิ่งนั้น ทั้งไทยและเทศ ก็รู้กันว่าคืออะไร ดูเหมือนจะเป็นปมเดียวกับ ศุกร์ 13
สิ่งที่ทำให้ศุกร์ 13 กลายเป็นความเชื่อเรื่องอาถรรพ์ขึ้นมาได้ก็คือ "ความเกลียดและกลัว" ที่อยู่ในใจคนนั่นเอง
++
ระทึกศุกร์13
โดย สมิงสามผลัด คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์ วันจันทร์ที่ 09 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:43 น. ข่าวสดออนไลน์
เสร็จสิ้นกระบวนการไต่สวน กรณีศาลรธน.รับคำร้องว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.291 เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปก ครองตาม ม.68 หรือไม่
ฝ่ายผู้ร้องพยายามชี้ให้เห็นว่าการแก้ไขรธน.เพื่อคนๆ เดียว โยงถึงรัฐไทยใหม่
บอกว่าการ “แก้ไข” หรือ “ยกเลิก” เป็นการ “ล้มล้าง”
และหยิบยกเรื่องสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้อง
ขณะที่ฝ่ายผู้ถูกร้องย้ำว่า คำร้อง ม.68 ยื่นตรงต่อศาลรธน.ไม่ได้ ต้องผ่านอัยการก่อน
ส่วนการล้มล้างการปกครองก็เป็นการจินตนาการที่เลื่อนลอย คาดเดาในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
ที่สำคัญการแก้ไขรธน.ไม่มีการแตะต้องหมวดที่เกี่ยวข้องกับสถาบันเด็ดขาด
ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลสนับสนุน
สุดท้ายคงต้องลุ้นกันอย่างระทึกวันศุกร์ที่ 13 ก.ค.นี้ เพราะศาลรธน.นัดอ่านคำตัดสิน
โดยองค์คณะตุลาการจะมี 8 ท่าน
เนื่องจากนายจรัญ ภักดีธนากุล ขอถอนตัว
เพราะไม่สบายใจกรณีมีการอ้างถึงคำให้สัมภาษณ์สมัยเป็นส.ส.ร.
ยอมรับว่าแก้ไขรธน.(ปี 50)ได้
ต่อมานายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ นายสุพจน์ ไข่ มุกด์ และนายนุรักษ์ มาประณีต 3 ตุลาการก็ขอถอนตัว แต่ที่ประชุมไม่อนุญาต
ในกรณีของนายวสันต์คงไม่สบายใจเช่นกัน เพราะมีการเผยแพร่คลิปคำให้สัมภาษณ์หลายครั้ง
18 ส.ค.54 นายวสันต์ระบุว่า “หากรัฐบาลต้องการแก้ไข รธน.ก็ควรแต่งตั้ง ส.ส.ร.3 ขึ้นมาทำหน้าที่ เพื่อยกร่างรธน.ใหม่ทั้งหมด”
19 ก.พ.55 นายวสันต์ให้สัมภาษณ์อีกครั้งในการแก้ไข รธน.ว่า “เขา
ยังไม่ได้เขียนเลย แล้วเราไปรู้ได้ยังไงว่าจะแก้เพื่อคนนั้นคนนี้
ควรดูเขาก่อนและตอนนี้ก็กำลังที่จะเริ่มตั้ง ส.ส.ร.ใหม่
และเรายังไม่รู้เลยว่าใครจะเข้ามาเป็น ส.ส.ร.บ้าง ยังไม่เห็นตัวบุคคลเลย
แล้วรู้ได้อย่างไรว่าเขาจะแก้รธน.เพื่อใคร มันอาจไม่ใช่ก็ได้”
เชื่อว่าคำให้สัมภาษณ์และความเห็นของนายวสันต์ในอดีตกรณีการแก้ไขรธน.
น่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย และทั่วทั้งสังคมก็คาดหวังให้ทุกสิ่งทุกอย่างคลี่คลายไปในทางที่ดี !?
+++
ด่าเจ้าของ
โดย สมิงสามผลัด คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์ วันเสาร์ที่ 07 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.
การเมืองในโลกไซเบอร์ดูแล้วจะดุเด็ดเผ็ดมันจริงๆ
ฮอตฮิตน่าติดตามยิ่งกว่าดูข่าวนักการเมืองตอบโต้กันเสียอีก
เอากันง่ายๆ แค่เฟซบุ๊กของ โอ๊ค พานทองแท้ ชินวัตร ที่ประกาศตัวเป็นนักรบไซเบอร์-องครักษ์พิทักษ์นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
มีแฟนๆ แห่กดไลก์ทะลุ 7 หมื่นคนแล้ว
การโพสต์ของ โอ๊ค พาน ทองแท้ ผ่านทางเฟซบุ๊ก ก็สร้างแรงกระเพื่อมไปทั้งพรรคประชาธิปัตย์
นั่งกันไม่ติดตั้งแต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคยันทีมโฆษกทุกคน
ต้องดาหน้าออกมาโต้ตอบหลานชายนายกฯปู-ลูกพ่อแม้วกันถ้วนหน้า
ลูกแถวเล่นเลยเถิดถึงขนาดด่าพ่อล่อแม่กันเลย
โอ๊คก็จัดหนักเอาคืนด้วยทฤษฎี หมากัด ให้ด่าเจ้าของหมา
จากนั้นก็ทยอยปล่อยออกมาเป็นระยะ ทิ้งห่างกันวันสองวันครั้ง
เป้าหลักก็อัดตรงเปรี้ยงไปที่ "เจ้าของ"เลย
ไม่ต้องอ้อมค้อมให้เสียเวลา
โพสต์รูปมาร์คตำส้มตำ แต่งตัวถ่ายแบบ หลังพูดค่อนแคะเรื่องนายกฯปูเก่งแต่แต่งตัว-ตำส้มตำ
หรือเรียกร้องให้ผู้นำฝ่ายค้านรับผิดชอบกรณีลูกพรรคปาหนังสือ-แฟ้มป่วนสภา
หรือคลิปย้อนรอยมาร์คเคยพูดไว้ว่าให้รับๆ รัฐธรรมนูญปี50ไปก่อนแล้วค่อยไปแก้ทีหลัง
หรืองัดข้อมูลเปิดโปงเงื่อนงำการต่อต้านนาซ่าขอวิจัยสภาพอากาศในไทย
แค่ไม่กี่โพสต์ก็เต้นผางกันทั้งพรรค
จนโฆษกประชาธิปัตย์ต้องแก้ลำ งัดมุข โอ๊คแท้-โอ๊คเทียม มีพวกอีแอบหน้าจอคอมพ์คอยโพสต์แทน
โอ๊คก็สวนกลับทันที บอกที่ผู้นำฝ่ายค้านเคยโพสต์ในทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก
พี่มาร์คโพสต์เองหรือเปล่าครับ..ถ้าไม่โพสต์เองจะเป็นอีแอบ !?
เอาคืนทันควันแบบเจ็บๆ คันๆ
แล้วก็ตามเคย มองข้ามช็อต ไม่สนตัวโฆษก
ยึดทฤษฎีเดิม พุ่งเป้าเล่นงานเจ้าของอย่างเดียว !?
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย