http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-23

สัญญาณการปรองดอง, เมื่อความ“โง่”มาเยือน โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

.

สุชาติ ศรีสุวรรณ : สัญญาณการปรองดอง
ในมติชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 23:00:25 น.
( ที่มา คอลัมน์ ที่เห็นและเป็นไป ของ นสพ.มติชนรายวัน 22 ก.ค.2555 )


ถ้ามอง "ปรองดอง" ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเรียกร้องต้องการ เป็นเรื่องระหว่าง "อำนาจเดิม" ที่ยังมีบทบาทและอิทธิพลสูงยิ่งกับความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคม กับ "อำนาจจากประชาธิปไตย" ซึ่งค่อยๆ เข้ามามีบทบาทแทน ด้วยกระแสที่แรงขึ้นเรื่อยๆ 

"อำนาจเดิม" ประกอบด้วยผู้มีบารมีนอกระบบ แต่มีอิทธิพลต่อกลไกราชการ โดยเฉพาะทหาร และองค์กรอิสระ มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายการเมืองที่เสนอตัวให้เลือกใช้ 
"อำนาจจากประชาธิปไตย" ซึ่งก็คือพรรคการเมืองที่ประชาชนเลือกเข้ามาด้วยเสียงข้างมาก ขณะนี้ก็คือพรรคเพื่อไทย

และหากมองว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดี "ล้มล้างการปกครอง" ที่เพิ่งผ่านมา เป็นการแสดงท่าทีของ "ฝ่ายอำนาจเดิม"
ก็น่าจะเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับคนส่วนใหญ่ เพราะว่าท่าทีดังกล่าวชัดเจนว่า "อำนาจเดิม" ยอมให้พรรคเพื่อไทยบริหารประเทศต่อไป ด้วยการยกคำร้อง 
แต่มีเงื่อนไขว่าเป็นคำเตือนว่าจะต้องอยู่ในกรอบกติกาของรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ซึ่ง "อำนาจเดิม" ยังควบคุมพฤติกรรมการบริหารประเทศได้ด้วยอำนาจของ "องค์กรอิสระ" ทั้งหลาย 
ไม่ใช่การเลือกใช้ "พรรคประชาธิปัตย์" เหมือนที่ผ่านมา

การเลือกให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์บริหารประเทศในเงื่อนไขต้องเป็นไปตามกติกาที่อำนาจเดิมกำหนด ถือเป็นการ "ปรองดอง" ระดับหนึ่ง 
จากความชัดเจนนี้ ทำให้ "รัฐบาลพรรคเพื่อไทย" ต้องกำหนดยุทธศาสตร์อย่างรอบคอบยิ่ง

ทางแรก รับภาพ "ตัวเลือก" ของ "อำนาจเดิม" เพื่อรักษา "ความเป็นผู้กุมอำนาจรัฐ" ไว้ แม้จะต้องอยู่ในกติกาที่ตัวเองกำหนดไม่ได้ 
ทางที่สองคือ "แตกหัก" ไม่ยอมรับการขึ้นอยู่กับ "กติกา" ที่เอื้อต่ออิทธิพลของ "อำนาจเก่า" ที่จะเข้ามามีบทบาทควบคุมรัฐบาลอย่างเข้มข้น

การจะเลือกเดินทางใด จำเป็นจะต้องวิเคราะห์ถึงพลังทางสังคมอย่างละเอียด

แม้จะได้รับการเลือกตั้งมาอย่างท่วมท้น แต่จริงหรือไม่ว่าหากเดินไปในทางแตกหัก หาญสู้กับอิทธิพลของอำนาจเดิมแบบแพ้ชนะกันไปข้าง แล้วพรรคเพื่อไทยจะชนะได้ 
ถ้ายังไม่เห็นทางชนะ การยอมรับการเป็น "ตัวเลือก" แล้วค่อยๆ หาทางเคลียร์ทีละเรื่อง จะเป็นทางออกที่ดีกว่าหรือไม่

"อยู่ในอำนาจไว้ก่อน" อย่างอื่นค่อยๆ เคลียร์ 

ถ้ามองว่าที่สุดแล้วกระแสโลกที่เอื้อต่อพัฒนาการของ "เสรีนิยม" จะทำให้ "อนุรักษนิยม" ค่อยๆ หดพื้นที่ลง 
พัฒนาการของเทคโนโลยีการสื่อสาร จะทำให้กระแสของโลกเข้ามาครอบงำกระแสภายใน ซึ่งจะเป็นตัวเองให้ "อนุรักษนิยม" ต้องถอยร่น


หากมองแบบนี้ "เพื่อไทย" แค่รักษาสถานะเป็น "ตัวเลือก" ของ "อำนาจเดิม" ไว้ 
อย่างอื่นปล่อยให้กระแสโลกจัดการไปเอง โดยมี "ขบวนการเสื้อแดง" และ "นักวิชาการฝ่ายเสรีนิยม" เป็นตัวเร่งกระแสการรับรู้ของประชาชนในประเทศ 
ในที่สุดการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นเอง


หาก "เพื่อไทย" แบ่งการต่อสู้เป็นระยะเฉพาะหน้า กับระยะยาว 
เฉพาะหน้า "ยอมเป็นตัวเลือก" 
ระยะยาวยึดกุมภาพของ "พรรคฝ่ายเสรีนิยม" ไว้ให้แน่น 
การเปลี่ยนผ่านจะเป็นไปโดยไม่ต้องเสียเลือดเสียเนื้อ

เพียงแต่ว่าประเทศชาติจะพัฒนาได้ช้าไปสักหน่อย 

ที่น่าสนใจตรงที่ หาก "เพื่อไทย" ยอมที่จะเป็น "ตัวเลือก" จะเกิดอะไรขึ้นกับ "ประชาธิปัตย์" ที่เสนอตัวให้เลือกอย่างเต็มที่ 
แต่กลับไม่มีใครเลือก ทั้ง "ประชาชนเสียงข้างมาก" และ "ฝ่ายอำนาจเดิม"




++

สุชาติ ศรีสุวรรณ : เมื่อความ"โง่"มาเยือน
ในมติชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 20:01:29 น.
( ที่มา คอลัมน์ ที่เห็นและเป็นไป ของ นสพ.มติชนรายวัน 15 ก.ค.2555 )


เราเรียนรู้ประวัติศาสตร์กันเพื่ออะไร
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เพียงแต่รูปแบบการอยู่ร่วมกันต่างจากสัตว์สังคมอื่น เพราะเราใช้สมอง ใช้ความคิด จัดความคิดให้เป็นกระบวนการของเหตุผล วางระบบจัดโครงสร้างการอยู่ร่วมกัน หรือที่เรียกว่า "ระบบการปกครอง" ขึ้นมา 
ขณะที่สัตว์สังคมอื่นใช้สัญชาตญาณในการจัดระบบการอยู่ร่วมกัน เหมือนกับว่าระบบการปกครองถูกจัดมาแล้วตั้งแต่กำเนิด เป็นไปตามธรรมชาติอย่างที่ควรจะเป็น โดยไม่จำเป็นต้องใช้ความคิด 
ระบบการอยู่ร่วมกันของสัตว์สังคมอื่นไม่ค่อยเป็นปัญหา เพราะแต่ละตัวต่างรู้หน้าที่และฐานะของตัวเอง เพียงปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปตามที่ธรรมชาติกำหนด ก็สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบ 


"สงบสุข" เป็นเป้าหมายของการอยู่ร่วมกันของสัตว์สังคมทุกชนิด 
มนุษย์ก็เช่นกัน เราสร้างระบบการอยู่ร่วมกันขึ้นมาก็เพื่อความสุขสงบ แบ่งปันหน้าที่กันทำ ช่วยเหลือ เกื้อกูลกัน 
แต่อย่างที่บอก มนุษย์ใช้สมองในการจัดระบบมากกว่าจะใช้แค่สัญชาตญาณ 
โครงสร้างการอยู่ร่วมกันของมนุษย์จึงมีความซับซ้อน หลากหลาย และแปรเปลี่ยนไปเรื่อยตามความเหมาะสมแห่งยุคสมัย และสถานการณ์ ไม่เหมือนกับของระบบสังคมของสัตว์อื่นที่เรียบง่ายกว่า และไม่ค่อยแปรเปลี่ยน

เพราะใช้สมองจึงคล้ายกับว่ามนุษย์ฉลาดกว่า 
แต่เพราะใช้สมองเช่นกันทำให้เกิดความสับสน เพราะต่างคนต่างคิด แล้วเชื่อว่าแบบของตัวเอง หรือแบบที่ตัวเชื่อดีกว่าระบบอื่น 
ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้น เกิดการต่อสู้ จากสัตว์สังคม มนุษย์พัฒนาเป็น "สัตว์การเมือง" 
เกิดการช่วงชิงอำนาจระหว่างความเชื่อในระบบการปกครองในแบบที่ตัวเองศรัทธากับระบบอื่น 
ดังนั้น แทนที่การรวมตัวเป็นสัตว์สังคมจะเป็นไปตามเป้าหมายเพื่อความสงบสุข และความสุขสบายจากการแบ่งหน้าที่กันทำ หรือช่วยเหลือเกื้อกูลกัน กลับกลายเป็นความแตกแยกสู้รบเข่นฆ่ากัน


เมื่อบางคนเห็นว่านี่เป็นปัญหาในการอยู่ร่วมกันของสังคมมนุษย์ จึงมีการบันทึกไว้ในรูปของข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน 
บทเรียนทางประวัติศาสตร์ของเผ่าพันธ์ุมนุษย์ในแต่ละเชื้อชาติได้รับการบันทึกและถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลัง เป็นประวัติศาสตร์ในด้านต่างๆ 

การเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะด้านการเมืองควรจะเป็นไปเพื่อให้ได้รับรู้ในเรื่องที่จะก่อปัญหาให้กับการอยู่ร่วมกันในสังคม ว่ารูปไหนมีปัญหาอย่างไร ต้นเหตุของปัญหาคืออะไร เพื่อคนรุ่นหลังหรือผู้เรียนรู้ประสบการณ์จะได้ใช้สมองคิดหาทางแก้ไขเพื่อนำสังคมไปสู่ความสุขสงบมากขึ้น หรือป้องกันความขัดแย้ง แตกแยก และทำลายล้างกันระหว่างมนุษย์ 
การถ่ายทอดองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ทั้งในเรื่องสาเหตุที่ก่อปัญหา และวิธีการแก้ปัญหาเป็นสมบัติที่คนรุ่นก่อนถ่ายทอดให้คนรุ่นหลัง
ซึ่งสมควรที่คนรุ่นหลังจะเรียนรู้ให้ลึกซึ้งและนำมาใช้อย่างชาญฉลาด

ยิ่งในสมัยปัจจุบันที่เทคโนโลยีการสื่อสารพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ ข้อมูล ความรู้ หลักคิดและวิธีปฏิบัติจัดการจากสังคมมนุษย์ทั้งโลกได้รับ

การถ่ายทอดให้กันและกันอย่างกว้างขวาง ลึกซึ้ง และรวดเร็ว 
ปัญหาทางการเมืองที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างความเชื่อได้เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า 
มีตัวอย่างของความรุนแรงแต่ละระดับให้ได้เรียนรู้ ทั้งในเรื่องสาเหตุและวิธีการแก้ไขจัดการ ป้องกัน


ทว่าความรู้ทางประวัติศาสตร์นั้นแทบไม่เป็นประโยชน์ เพราะทั้งที่มีตัวอย่างมากมาย แต่มนุษย์กลับไม่เก็บเกี่ยวประสบการณ์นั้นมาพัฒนาความคิดของตัวเอง 
ประเทศไทยของเราที่ต่างฝ่ายต่างโหมความเกลียดชังให้กันและกันในขณะนี้ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการไม่รู้จักใช้ประวัติศาสตร์ให้เป็นประโยชน์ 
เรารับรู้เรื่องราวของสงครามการเมืองมามากมายจากทั่วโลก 
ทั้งสาเหตุ และผลที่เลวร้ายต่อประเทศชาติ 
แทนที่จะช่วยกันหาทางไม่ให้เกิดขึ้น 
กลับทำเหมือนช่วยกันพยายามเร่งเร้าให้เกิด

แทนที่จะใช้เทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนามาอย่างมีประสิทธิภาพ และความรู้ต่างๆ มาช่วยกันนำพาสังคมไทยสู่ความสงบสุข 
กลับใช้เพื่อการกระตุ้นให้เกิดสงครามการเมือง 
ใช้เพื่อสนองด้านมืดของเผ่าพันธุ์มนุษย์ 
ขณะที่สัตว์อื่นใช้สัญชาตญาณสร้างสังคมขึ้นมาเพื่อก่อการอยู่ร่วมกันอย่างสุขสงบ 
มนุษย์กลับใช้สมองและปัญญา รับใช้กิเลส ตัณหา โลภ หลง ทำลายความสงบสุขของสังคม

ซึ่งที่สุดแล้วหมายถึงความสุขสงบของตัวเอง และพวกพ้องด้วยอย่างบ้าคลั่ง
ความรู้ทางประวัติศาสตร์ไม่มีผลสำหรับผู้คนที่บ้าคลั่งในตัณหาของตัวเองอย่างโง่เขลา



.