http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-05

อภิญญา: [1]ชะตากรรมหมู่ บนทางกลับสู่อำนาจ

.

ชะตากรรมหมู่ บนทางกลับสู่อำนาจ
โดย อภิญญา ตะวันออก jayakhm@yahoo.com คอลัมน์ อัญเจียขะแมร์ (กระฮอม)
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1661 หน้า 42


คืนวันของกัมพูชานั้น ดูเหมือนจะยาวนานกว่าที่ใด เป็นความเห็นของนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น กาอุน วันดี เคยกล่าวไว้ในหนังสือ "ราตรีในกัมพูชานั้นมีระยะนาน-La nuit sera long" แต่สำหรับนักเขียนนอกที่ตรงไปตรงมาอย่าง Benny Widyono อาจฟันธงลงไป การเมืองกัมพูชาหลังการสถานปนาระบอบประชาธิปไตยในปี ค.ศ.1993 ว่า มีสภาวะไม่ต่างจากการ "เต้นรำใต้เงามืด-Dancing in Shadow" ที่เต็มไปด้วยอุปสรรคจากการกระทำในหมู่นักการเมืองด้วยกันเอง

สำหรับความเห็นฉัน นี่คือช่วงเวลาที่ยาวนานและขมขื่นสำหรับใครหลายคน ในจำนวนนั้นคือนักการเมืองเขมรฝ่ายที่เพลี่ยงพล้ำและพ่ายแพ้เกมโหดอย่างหมดสภาพ นั่นคือฟุนซินเปกและกลุ่มเขมรแดง 
เมื่อสู้กันในเกมสงครามที่ใช้อาวุธแล้ว รัฐบาลพนมเปญและพรรคประชาชนกัมพูชาไม่เคยเอาชนะสองกลุ่มดังกล่าวอย่างเด็ดขาดนับร่วมทศวรรษ

แต่ ฮุน เซน กลับใช้เวลาเพียง 3 ปีเศษ ก็สามารถวางระบบอำนาจแก่ตนเองอย่างเบ็ดเสร็จได้ไม่ยาก ช่างน่าแปลกใจ
มีเงื่อนไขสิ่งใดฤๅ ที่ทำให้เป็นเช่นนั้น




สมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ นั้นตกที่นั่งโชคร้ายที่เกิดมาในฐานะผู้สืบทอดมรดกทางการเมืองของพรรคราชนิยมอย่างฟุนซินเปกและการเกือบๆ ปริ่มๆ ด้วยลิ่มเลือดที่จะดำรงตำแหน่งในฐานะองค์รัชทายาท 
นับเป็น โชคร้ายในชั้นแรก

แต่โชคร้ายในชั้นสอง นั่นคือ ช่วงเวลาที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ยังเป็นห้วงเวลาแห่งกรรมวิบัติที่ยังไม่จบสิ้น นั่นคือ การถวิลหาอดีตแห่งอำนาจที่ยังไม่สิ้นสุดในความรู้สึกของพระบิดา-พระบาทนโรดม สีหนุ ซึ่งขณะนั้นได้เถลิงราชเป็นพระมหากษัตริย์ไปแล้ว

หลักฐานบันทึกในความปราถนาแห่งอำนาจที่ยังไม่สะเด็ดน้ำในความรู้สึกของพระบาทสีหนุคือ เมื่อกัมพูชาเพิ่งได้รัฐบาลยังไม่ทันข้ามปี พระองค์ซึ่งใช้เวลาส่วนใหญ่ในปักกิ่ง ก็เปิดฉากให้สัมภาษณ์ส่วนตัวกับ เนต ตาเยอร์ ซึ่งขณะนั้นยังเป็นผู้สื่อข่าวพิเศษของฟาร์อีสเทิร์นอีโคโนมิก รีวิว ว่าทรงเป็นห่วงว่า สองนายกรัฐมนตรีกัมพูชาจะทำให้ประเทศไปไม่รอด 
ทรงมีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า "มีแต่พระองค์เท่านั้น ที่นำพากัมพูชาให้รอดพ้นปากเหยี่ยวปากกานี้ไปได้"  
ทรงลืมไปว่า ความเห็นสนับสนุน ฮุน เซน เป็นสหนายกรัฐมนตรีร่วมกับพรรคที่ได้ชัยชนะการเลือกตั้ง และเป็นพรรคที่พระองค์ก่อตั้งขึ้นนั่นเอง ก็หาใช่วิถีการปกครองในแบบประชาธิปไตยในแบบสากล หนำซ้ำยังเป็นการเติมเชื้อความขัดแย้งจากคู่ขัดแย้งของพรรคซีพีพีที่ไม่เห็นด้วยอย่าง (รุนแรง) เช่น กลุ่มเขมรแดง

นาย Benny Widyono ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเสียมเรียบในนามตัวแทนอันแทคขณะนั้น ยังให้ความเห็นอีกว่า พระบาทนโรดม สีหนุ "ทรงเข้าใจว่า จะควบคุม นายฮุน เซน ได้ แต่เข้าใจผิด" 
อืมห์ แฮะ ยอมรับว่า ดูเหมือน เบ็นนี่ วิดโยโน จะเป็นสิ่งที่เหลืออยู่และมีคุณค่าชิ้นเดียวของอันแทค จนศูนย์เขมรศึกษาในกัมพูชาถึงกับต้องหยิบ Dancing in Shadow มาแปลและดัดแปลงชื่อเล่มเมื่อปีที่ผ่านมา ในฐานะที่เป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ในห้วงถ่ายผ่านการเมืองครั้งสำคัญ

ด้วยเหตุนี้ นายเขียว กัญญาฤทธิ์ รัฐมนตรีกระทรวงข่าวสารจึงเขียนคำนำเล่มอย่างภาคภูมิใจ



นับเป็นความโชคดีของ ฮุน เซน ที่สามารถผลักดันคู่แข่งคนสำคัญและสมน้ำสมเนื้อทางการเมืองอย่างสีหนุ ให้ยอมรับการเป็นกษัตริย์ที่กัมพูชาสถาปนาขึ้นมาใหม่ในช่วงเจรจาเขมร 4 ฝ่ายว่าด้วยการปรองดอง 
กล่าวตามตรง สีหนุยังลังเลที่จะกลับมาเล่นการเมืองอีกครั้งในฐานะผู้นำประเทศดังจะเห็นได้จากหนังสือเล่มล่าสุดที่ทรงเขียนในช่วงก่อนจะสิ้นสุดการเป็นสามัญชน  
บ่งบอกว่า ทรงมีความผูกพันและพันผูกที่จะเป็นนักการเมืองอย่างหาที่สุดไม่ได้ เพราะทุกแง่มุมที่ผ่านความเห็นของพระองค์นั้น ล้วนเป็นแง่มุมในทุกกลุ่มทุกฝ่ายในแง่การเมือง 

หากเลือกครั้งนั้น สีหนุไม่ลังเลจะเติมเต็มความฝันที่รอคอยและต่อสู้มายาวนาน ตั้งแต่เกิดรัฐประหาร 1970 และจราจลเขมรแดง หากการมาถึงซึ่งโอกาสครั้งที่ 2 พระองค์จะไม่ลังเล มีความเป็นไปได้ว่า การเมืองกัมพูชาจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปจากปัจจุบัน รวมทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์เขมรด้วย
เพราะมีความเป็นไปได้ว่า หากสีหนุเลือกเส้นทางการเมืองแต่แรก ฟุนซินเปกจะไม่ได้ชัยชนะท่วมท้น จากคะแนนเสียงที่ควรจะได้ของการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1993 ได้เป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก และได้บริหารประเทศ โดยมีพรรรคซีพีพีเป็นฝ่ายแค้น

หากสีหนุควบคุมเป็นรัฐบาลในเลือกตั้งมีแนวโน้มว่า รัฐประหารและการยึดอำนาจ (น่า) จะยังไม่เกิดขึ้น อย่างน้อยก็ในสมัยแรก ข้อสมมุติฐานนี้ จากการเป็นรัฐบาลเดี่ยวในสมัยสังคมราชนิยม (1960-1970) ของพระองค์ 
โอรสทั้งสอง "จักรพงษ์และรณฤทธิ์" ที่ห้ำหั่นกันเป็นใหญ่ทางการเมืองจะยุติบทบาทอันนำไปสู่การแตกแยก อย่างน้อยก็ช่วงสมัยแรกที่ฟุนซินเปกได้เป็นรัฐบาลและทั้งสองได้ตำแหน่งทางการเมืองที่น่าพึงพอใจ กรมขุนนโรดม สิริวุธ (อนุชา) จะไม่ถูกขับออกนอกประเทศและถูกกล่าวหา "วางแผนสังหารทางความคิด นายฮุน เซน" เนื่องจากไม่น่าจะมีแรงจูงใจให้ทำเช่นนั้นได้ มีความหมายว่าหัวหน้าพรรคซีพีพีไม่ได้อำนาจแข็งแกร่งจะทำให้กรมขุนฯ เกิดอารมณ์เกลียดชัง และประกาศไม่กลับมาเล่นทางการเมือง ซึ่งข้อหลังนี้น่าจะเป็นเรื่องดีที่ฟุนซินเปกบางคนเห็นด้วย 
บรรดาโอรสและประยูรญาตินโรดม-สีโสวัตเกิดการลงตัวด้วยผลประโยชน์ ฟุนซินเปกมีสภาวะเสถียร ปราศจากความกระด้างกระเดื่องจนระส่ำระสายในหมู่ผู้อยู่ใต้การปกครองของพระองค์ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับรณฤทธิ์



อีกด้านหนึ่ง หากทรงเลือกการเมืองแทนการเป็นกษัตริย์ สีหนุน่าจะมีส่วนทำให้ ฮุน เซน ลดอาการห้าวหาญกระด้างกระเดื่องทางกริยาวาจา เป็นไปได้ว่าสุขภาพของเขาจะทรุดโทรมจากการสูบบุหรี่ยี่ห้อ 555 จากปกติวันละ 2 ซอง เป็น 3 ถึง 4 ซอง โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีแรกที่พ่ายแพ้การเลือกตั้ง 
บรรดาสมาชิกพรรรคหัวแข็งและเป็นตัวเองที่ไม่ลงให้แก่รณฤทธิ์ แต่ยินยอมลดท่าทีกับพระกรุณาจะไม่มีการแยกตน (หรือถูกขับออก) อย่างที่เกิดขึ้นกับนายสัม รังและภรรยาซึ่งเป็นลูกสาวที่ปรึกษาคนโปรดของพระองค์ ในทางตรงกันข้ามพรรคฟุนซินเปกจะมีโอกาสแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นจากการเข้าร่วมสังฆกรรมของกลุ่มซีพีพีที่ไม่ชอบ ฮุน เซน เช่น นายสอ เคง และกลุ่มที่เคยใกล้ชิดสีหนุ เช่น นายเกียต ชน รวมทั้ง นายฮอร์ นัม ฮอง 
นายตวน จาย อดีตผู้ว่าราชการเมืองเสียมเรียบ และเป็นบุคคลที่มีความสำคัญยิ่งของพรรค จะไม่กบฏลุกขึ้นมาขับไล่รณฤทธิ์ด้วยข้อหาไม่มีความสามารถในการทำพรรคขณะที่เขากำลังเพลี่ยงพล้ำ ฮุน เซน 
ประเด็นกองกำลังเขมรแดงโดย เอียง สารี จะไม่มีวันคิดการณ์นี้ขึ้นได้เลยหากไม่มี ฮุน เซน ในฐานะนายกรัฐมนตรี (ร่วม) และแอบไปเจรจาให้นายสารีตั้งพรรคการเมือง

กัมพูชาจะมีความก้าวหน้าทางประชาธิปไตยอย่างมีนัยยะ เมื่ออดีตพรรคคอมมิวนิสต์อย่างซีพีพี เรียนรู้การเป็นผู้นำฝ่ายค้าน และนำไปสู่การพัฒนาพรรคของตนจนแข็งแกร่ง

นายฮุน เซน จะเดินสายพบปะชาวบ้านมากขึ้นเหมือนสมัยที่เขาเพิ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพนมเปญ การเรียนรู้ด้านองคาพยพในมวลชนรากหญ้าจะนำพาให้เขากลับมีชัยชนะได้เป็นรัฐบาลในอีกหนึ่งหรือสองสมัยต่อมา โดยไม่จำเป็นต้องก่อรัฐประหารหรือสร้างกองทัพน้อยเพื่อปราบปรามฝ่ายตรงข้าม
ทั่วทั้งประเทศจะมีโรงเรียนมัธยม ฮุน เซน นับเป็นพันๆ แห่ง และโลกจุมเตียว-ท่านผู้หญิงฮุน เซน อาจไม่คิดเปลี่ยนแปลงชื่อใหม่ที่ไม่ใช่ บุน รานี ฮุนเซน ณ ปัจจุบัน 
การใคร่ครวญความผิดหวังทางการเมืองครั้งสำคัญนี้ จะทำให้ นายฮุน เซน แหลมคมแยบคายทางการเมืองมากขึ้นกว่าเดิมเป็นร้อยเท่า
ความสามารถในการแยกหมู่มิตรและศัตรู ที่จะส่งผลต่ออนาคตทางการเมืองระยะยาว โดยเฉพาะบทบาทที่จะทำให้เขาได้รับการยอมรับจากนอกประเทศ 



.