http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-04-21

หนัง "ภูมิภาค"/ SALMON FISHING IN THE YEMEN โดย คนมองหนัง/ นพมาส

. 


หนัง "ภูมิภาค"
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก "กระแส"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1653 หน้า 85


เมื่อช่วงหยุดยาววันสงกรานต์ มีโอกาสไปดูหนังรอบพิเศษ เรื่อง "Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ"
หลังจากเข้าฉายจริงในวันที่ 19 เมษายน คงจะเริ่มมีบทวิจารณ์ที่เขียนถึงผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุด ของ "ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล" (ผู้กำกับ "รักแห่งสยาม" และ "13 เกมสยอง" ฯลฯ) ทยอยเผยแพร่ออกมา
สิ่งที่จะเขียนถึง "Home" ในคอลัมน์นี้ จึงไม่ใช่บทวิจารณ์ หากเป็นข้อสังเกตบางประการมากกว่า

ผมไม่อยากเรียก "Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ" ว่าเป็นหนัง "ภูมิภาคนิยม" หากคำดังกล่าวจะทำให้คนนึกไปว่า หนังเรื่องนี้มีเนื้อหาเชิดชูภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง (ในกรณีของ "Home" ก็คือ จังหวัดเชียงใหม่ หรือ ภาคเหนือ)
แต่เมื่อพิจารณาจากวิธีการคัดเลือกนักแสดง (แคสติ้ง) ที่ไม่ค่อยมีหนังในระบบอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยเรื่องไหนทำกัน นั่นคือ การเลือก "คนเหนือ" มาแสดงเป็น "คนเหนือ" และ "คนใต้" มาแสดงเป็น "คนใต้" กันจริงๆ แบบ (เกือบ?) ยกชุดแล้ว
(ตัวละครส่วนใหญ่ในหนังต้องเล่นเป็นคนเชียงใหม่ ขณะที่ตัวละครกลุ่มเล็กๆ อีกส่วน เล่นเป็นคนภูเก็ต)

"Home" ก็ถือเป็นหนังที่เล่นกับประเด็นเรื่อง "ภูมิภาค" หรือ "ท้องถิ่น" ได้อย่างน่าสนใจ


หลังจากดู "Home" จบ ผมมีโอกาสพูดคุยทางอินเตอร์เน็ตกับเพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งมีโอกาสได้อ่านบทภาพยนตร์ (และยอมรับว่าเขาอ่านบทใน "องก์ที่สอง" ซึ่งพูดภาษาเหนือกันทั้งตอน แทบไม่รู้เรื่อง) แต่ยังไม่ได้ชมหนังเรื่องนี้
เพื่อนคนนั้นตั้งข้อสังเกตว่า เขาได้ยินปฏิกิริยาของคนดูหลายรายที่บอกว่า หนังเรื่องล่าสุดของชูเกียรติ มี "ความสมจริง" เพราะใช้ "คนเหนือ" มาเล่นเป็น "คนเหนือ" และนำ "คนใต้" มาเล่นเป็น "คนใต้"
คำถามของเขาก็คือ คนดูที่ไม่ใช่ "คนเหนือ" และ "คนใต้" จริงๆ จะตัดสินหรือประเมินได้อย่างไร ว่าตัวละครในหนัง "อู้กำเมือง" และ "แหลงใต้" ได้สมจริงมากๆ?

แน่นอน ปัญหาของการประเมินค่าแบบนี้มักเกิดขึ้นเสมอ เวลาเราคนไทยดูหนังที่ตัวละครพูดภาษาอังกฤษ แล้วไม่สามารถระบุได้ว่า ตัวละครคนนั้นใช้ภาษาอังกฤษสำเนียงไหน? หรือนักแสดงออสซี่คนนี้พูดภาษาอังกฤษสำเนียงอังกฤษได้ดีจริงหรือไม่?
เช่นเดียวกับที่ฝรั่งก็มีแนวโน้มจะเห็นว่าภาษาพูดของจีน, เกาหลี และญี่ปุ่นนั้น ฟังไม่รู้เรื่องเหมือนกันหมด จนพวกเขายอมรับได้ หากมีการแคสติ้ง "นักแสดงจีน" ไปเล่นเป็น "คนญี่ปุ่น"



อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีของ "Home" ผมกลับรู้สึกว่าปัญหามันไม่ได้ยุ่งยากถึงขนาดนั้น เพราะในฐานะคนไทยกรุงเทพฯ ผมยังพอประเมินออกว่า คนนี้พูดจาสำเนียง "เหนือ" คนนั้นพูดจาสำเนียงทองแดงแบบ "ใต้" คนโน้นพูดเหน่อคงมาจากบางจังหวัดในภาคกลาง หรือสำเนียงการพูดของบางคนก็ทำให้เรารู้ว่าเขามีพื้นเพอยู่แถวอีสานใต้
ที่สำคัญ แม้เราอาจไม่แน่ใจว่า ตัวละครที่ถูกระบุว่าเป็น "คนเหนือ" หรือ "คนใต้" สามารถ "อู้กำเมือง" หรือ "แหลงใต้" ได้ดีขนาดไหน
แต่หากพวกเขาและเธอสามารถหันไปทุ่มเทสมาธิให้แก่การแสดงด้านอื่นๆ โดยไม่ต้องพะวงอยู่กับเรื่องการใช้ภาษาท้องถิ่นในหนังแล้ว
นั่นก็แสดงว่า นักแสดงเหล่านี้สามารถก้าวข้ามอุปสรรคดังกล่าวไปได้พ้น

จุดนี้นี่เอง ที่ทำให้คนดูอย่างผมตระหนักว่า วิธีการคัดเลือกนักแสดงแบบเน้นพื้นเพของพวกเขาและเธอนั้น นำไปสู่จุดแข็งบางประการ

กล่าวคือ นักแสดงส่วนใหญ่ใน "Home" ไม่ได้มีลักษณะพะวง เคร่งเครียด หรือทุ่มเทสมาธิให้กับการใช้ภาษาท้องถิ่น ทั้งในเรื่อง "คำ" และ "สำเนียง" อันเป็นสิ่งที่ "ไม่จำเป็นต้องแสดง" (ถ้าตัวละครเป็นคนในภูมิภาคนั้นจริงๆ) มากเกินไปนัก
จนพวกเขาและเธอสามารถหันไปใส่ใจหรือเคี่ยวกรำตนเองกับการแสดงด้านอื่นๆ ที่ "จำเป็นต้องแสดง" มากกว่า เช่น การแสดงผ่านสีหน้าแววตา หรือ การแสดงอากัปกิริยาตามอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร ได้อย่างเต็มที่
กระทั่งหลายคน อาทิ เพ็ญพักตร์ ศิริกุล และ ศิรพันธ์ วัฒนจินดา มีผลงานการแสดงระดับสุดยอดในหนังเรื่องนี้

(ขณะที่องก์แรกของหนังกลับมีองค์ประกอบน่าสนใจอันผิดแผกออกไป เมื่อชูเกียรติกำหนดให้ตัวละครนักเรียนชายสองคนในโรงเรียนแห่งหนึ่งของเชียงใหม่ พูดจากันด้วยภาษาไทยกลางตลอดทั้งตอน 
ลักษณะเช่นนี้อาจแสดงให้เห็นถึงความใฝ่ฝันในการเดินทางลงไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ของตัวละครทั้งคู่ รวมถึง การเป็นพื้นที่ที่บังคับใช้อำนาจรัฐส่วนกลางอย่างเข้มข้นของโรงเรียนก็เป็นได้ )



ผมอดเปรียบเทียบระบบการคัดเลือกนักแสดงของหนังเรื่อง "Home" กับละครโทรทัศน์หลายๆ เรื่องไม่ได้
ระยะหลังๆ มานี้ มีละครทีวีที่เล่นกับประเด็น "ภูมิภาค/ท้องถิ่น" อยู่ไม่น้อย แต่หลายเรื่องมักผลักดันตัวเองไปสู่การขาย "ท้องถิ่น" ให้ตื่นตาตื่นใจแบบแคมเปญการท่องเที่ยว
ขณะเดียวกัน ละครส่วนใหญ่ก็ยังต้องวางรากฐานของตัวเองเอาไว้กับชื่อเสียงของ "ดารา"
ผลงานที่ออกมาจึงกลายเป็นการมี "ดาราดัง" แต่งองค์ทรงเครื่องแบบ "เหนือๆ" ซึ่งดูดีกว่าชุดให้เช่าในสตูดิโอถ่ายภาพตามไนท์บาซ่าร์เล็กน้อย มาเฉิดฉายหน้าจอ

นอกจากนั้น "ดารา" ที่ไม่ได้เป็น "คนท้องถิ่น" ยังต้องถูกบังคับให้ "อู้กำเมือง" ด้วยสำเนียงที่แปลกแปร่ง และเต็มไปด้วยท่าทีวิตกกังวล แข็ง เกร็ง
ส่งผลให้การแสดงด้านอื่นๆ ของพวกเขาและเธอถูกลดทอนพลังลงตามไปด้วย

(จริงๆ ปัญหาเช่นนี้อาจหมดไป ถ้าผู้จัดละครกำหนดให้นักแสดงพูดภาษาไทยกลางเหมือนแต่ก่อน ทว่ากรอบของ "ศิลปะการแสดง" ในวงการทีวีปัจจุบัน ก็เปลี่ยนแปลงไป ด้วยการให้น้ำหนักแก่ "ความสมจริง" และ "ความหลากหลายทางวัฒนธรรม" พอๆ กับการขาย "ดารา" ที่ไม่ได้มีพื้นเพมาจากวัฒนธรรมอันหลากหลายดังกล่าว)


นอกจากจะนำเอาวิธีแคสติ้งแบบที่ให้ความสำคัญกับ "ภูมิภาค" มารับใช้หนังอย่างได้ผลในแง่ "ความสมจริง" หรือการแสดงแล้ว
การคัดเลือกนักแสดงระบบนี้ ยังช่วยสร้างเสน่ห์เฉพาะให้กับหนังว่าด้วยจังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง "Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ" อยู่ไม่น้อย
ดังเช่นการได้ตัว "วิฑูรย์ ใจพรหม" นักร้องลูกทุ่งตลกคำเมืองชื่อดัง มาร่วมแสดงในภาพยนตร์

ป.ล. สำหรับแฟนๆ มติชนสุดสัปดาห์ ฉากพูดคุยกันระหว่างสาวเชียงใหม่ (ซึ่งกำลังจะเข้าพิธีวิวาห์กับหนุ่มภูเก็ต) กับคนรักเก่าชาวเหนือ ซึ่งมีการกล่าวถึงนิตยสารข่าวรายสัปดาห์เล่มนี้นั้น ถือเป็นฉากหนึ่งที่มีอารมณ์ขันอยู่เต็มเปี่ยม



++

SALMON FISHING IN THE YEMEN "ตกปลากลางทะเลทราย"
โดย นพมาส แววหงส์  คอลัมน์ ภาพยนตร์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1653 หน้า 87


กำกับการแสดง Lasse Hallstrom 
นำแสดง Ewan McGregors
Emily Blunt
Amr Waked
Kristin Scott Thomas


หนังเรื่องนี้ถ้าได้ยินชื่อเผินๆ อาจนึกว่าเป็นหนังสารคดี แต่พอนึกอีกที ก็ชวนสะดุดใจว่า อะไรกัน ทำไมถึงได้ไปตกปลาแซลมอนในประเทศเยเมนล่ะ ฟังดูไม่น่าจะไปด้วยกันได้เลย คงจะทราบกันอยู่แล้วว่าเยเมนเป็นประเทศในตะวันออกกลาง อยู่ทางใต้สุดของคาบสมุทรอาระเบีย พรมแดนทิศเหนือติดกับซาอุดีอาระเบีย ทิศตะวันออกติดโอมาน ทิศตะวันตกติดทะเลแดง และทิศใต้ติดอ่าวเอเดนในมหาสมุทรอินเดีย

และแน่นอน ใครๆ ก็คิดว่าตะวันออกกลางย่อมมีแต่ทะเลทรายกับความแห้งแล้ง จะไปตกปลาอะไรกันในทะเลทราย แถมยังเป็นการตกปลาแซลมอนซึ่งมีถิ่นกำเนิดในน้ำเย็น

ปลาแซลมอนเกิดที่ต้นแม่น้ำ และเมื่อเติบโตขึ้นก็จะว่ายออกสู่มหาสมุทร จนเมื่อถึงเวลาที่มันจะวางไข่ มันจะว่ายทวนน้ำขึ้นมายังแหล่งกำเนิดของมัน วางไข่ แล้วก็ตาย เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ว่ามันมีสัญชาตญาณอะไรในตัวที่บอกว่าจะต้องกลับไปวางไข่ที่ตรงไหน หลังจากออกไปใช้ชีวิตเวียนว่ายในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่อยู่นาน และหาทางกลับไปต้นแม่น้ำได้อย่างไร

เวลาปลาแซลมอนว่ายทวนกระแสน้ำขึ้นไป ฝรั่งเรียกว่า salmon run มีการวิจัยและทดลองที่เอาเครื่องกีดขวางมากั้นไม่ให้ปลาแซลมอน "วิ่ง" ทวนน้ำขึ้นไปสู่ที่วางไข่ของมัน แต่มันก็ยังกระโดดแผล็วๆ ข้ามอุปสรรคไปได้ หรือไม่ก็เฝ้าเพียรพยายามไม่ยอมแพ้อยู่อย่างนั้นแหละ

เพื่อการป้องกันไม่ให้แซลมอนสูญพันธุ์ มีกฎหมายห้ามจับปลาแซลมอนในฤดูวางไข่ อย่างไรก็ตาม การตกปลาแซลมอนยังเป็นกีฬายอดนิยมของคนรักธรรมชาติและความสงบอยู่ตามแม่น้ำลำคลองในประเทศอย่างเช่นอังกฤษหรือแคนาดา

อย่างที่สถิติในหนังอ้างว่ามีนักตกปลาอยู่ในอังกฤษถึงสองล้านคน



หนังเรื่องนี้เป็นหนังอังกฤษนะคะ สร้างจากนวนิยายขายดีในอังกฤษ ซึ่งเป็นเรื่องเสียดสีการเมืองโดย พอล ทอร์เดย์ และกำกับฯ โดย ลาสซี ฮัลสตรอม ที่ทำหนังดรามาหวานปนเศร้าหลายเรื่อง อย่างเช่น Chocolat (จอห์นนี เดปป์ กับ จูเลียต บินอช) The Cider House Rules (โทบี แม็กไกวร์ และ ไมเคิล เคน) และล่าสุด Dear John (แชนนิง เททัม กับ อแมนดา เซย์ฟรีด)

และได้นักแสดงนำที่เหมาะเจาะลงตัวดีในบทที่วางไว้ให้เป็นคอเมดีเสียดสีการเมืองนี้ มีทั้ง ยวน แม็กเกรเกอร์ส เอมิลี บลันต์ (The Devil Wears Prada และ The Adjustment Bureau) และ คริสติน สก็อต โธมัส (The English Patient)

ดร.อัลเฟรด โจนส์ (ยวน แม็กเกรเกอร์ส) ผู้เชี่ยวชาญกรมประมง ได้รับการติดต่อทางอีเมลจาก แฮเรียต (เอมิลี บลันต์) เจ้าหน้าที่บริษัทจัดการทรัพย์สินของ ชีกมูฮัมหมัด ซึ่งเป็นประมุขของประเทศเยเมน ขอความร่วมมือในโครงการที่มีชื่อตามชื่อหนังนี่แหละ

ดร.โจนส์ คิดว่าเป็นเรื่องล้อเล่น หรือไม่ก็เป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระที่สุด ซึ่งไม่มีทางทำได้เลย และตอบปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใย

ให้เผอิญ เกิดเหตุการณ์ที่อังกฤษส่งทหารไปรบในอัฟกานิสถาน แฟนที่เพิ่งจะคบกันหวานแหววของแฮเรียตเป็นทหารประจำการ และถูกส่งตัวไปในครั้งนี้

ระหว่างนั้น แพตริเชีย แม็กซ์เวลล์ (คริสติน สก็อต โธมัส) โฆษกรัฐบาลจอมบงการ ก็หาทางสร้างภาพลักษณ์ให้รัฐบาลด้วยการสร้างสัมพันธไมตรีกับประเทศอาหรับ และเผอิญไปสะดุดตากับโครงการนี้เข้า

เรื่องไร้สาระสำหรับนักวิทยาศาสตร์การประมง จึงถูกหยิบยกขึ้นมาสร้างภาพให้แก่รัฐบาลอังกฤษ และ ดร.โจนส์ได้รับคำสั่งให้ทำโครงการนี้ โดยฝ่ายการเมืองไม่ยอมฟังความเห็นทางวิชาการใดๆ ทั้งสิ้น

ดร.โจนส์ต้องตกบันไดพลอยโจน ยอมร่วมงานกับแฮเรียต ทั้งๆ ที่ไม่เต็มใจ และตั้งงบฯ ไว้สูงลิ่วถึงห้าสิบล้านปอนด์ ซึ่งเงินถุงเงินถังของท่านเชกของเนรมิตทุกอย่างให้ได้ดังใจ ไม่ว่าจะอยากได้อะไร ยากเย็นแสนเข็ญขนาดไหน เงินก็เนรมิตได้เหมือนเสกขึ้นจากอากาศ

เพื่อโครงการนี้ ชีกมูฮัมหมัด (เอเมอร์ วาเคด) ได้ริเริ่มสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำไว้แล้ว เหลืออยู่แต่ความร่วมมือจากอังกฤษคือการหาปลาแซลมอนธรรมชาติหนึ่งหมื่นตัว จับใส่แท็งก์ขนาดใหญ่บินไปกับเครื่องบินเพื่อไปปล่อยลงแม่น้ำในเยเมน 



อย่านึกว่าเงินจะซื้อได้ทุกอย่างจากคนอังกฤษนะคะ เพราะนักอนุรักษ์และนักตกปลาชาวอังกฤษไม่ยอมให้จับปลาแซลมอนสักตัวออกจากแม่น้ำลำคลองเพื่อเป็นสินค้าเอ็กซ์ปอร์ตไปยังต่างแดน ไม่ว่ารัฐบาลจะใช้สายสนกลในอย่างไร ก็ยังเปลี่ยนใจนักอนุรักษ์ของอังกฤษไม่ได้

โครงการนี้ทำท่าจะล้มมิล้มแหล่ เพราะดูท่าว่าเมื่อหาปลาแซลมอนธรรมชาติไม่ได้ การใช้ปลาแซลมอนเลี้ยง ก็ไม่น่าจะใช้ได้ผล

ปลาแซลมอนที่เพาะพันธุ์เลี้ยงขึ้นมา เติบโตขึ้นมาในที่จำกัดและไม่เคยได้ว่ายน้ำไปไหน มีหรือที่แซลมอนที่เลี้ยงไว้สำหรับขายให้ซูเปอร์มาร์เก็ตจะไปมีชีวิตอยู่ตามธรรมชาติได้ อย่าว่าแต่ในธรรมชาติแปลกถิ่นและไม่เอื้ออำนวยเลย

ระหว่างนั้น ดร.โจนส์ หรือ เฟรด แฮเรียต และท่านชีกผู้สุขุมคัมภีรภาพ ก็กลายเป็นมิตรอันดีต่อกัน ถึงขั้นที่เฟรดได้ช่วยชีวิตท่านชีกไว้จากการถูกลอบสังหาร ในฉากที่คนดูต้องอมยิ้มแม้ในช่วงเวลาวิกฤตเรื่องความเป็นความตาย ด้วยวีรกรรมอันไม่คาดคิด แม้แต่ตัวเฟรดเองก็คงนึกไม่ถึงว่าเขาจะทำได้ถึงปานนั้น

ท่ามกลางการทำเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ คนรักของแฮเรียตที่ถูกส่งตัวไปรบ ก็สูญหายไประหว่างปฏิบัติการ ทำให้เฟรด ซึ่งประสบปัญหาในชีวิตแต่งงานของตัวเองอยู่เหมือนกัน หันมาหลงรักแฮเรียต

นอกจากนั้น พล็อตยังมีเรื่องราวของกลุ่มพวกอนุรักษ์ชาวเยเมนที่ไม่ต้องการให้โครงการนี้สำเร็จ และพยายามสร้างความปั่นป่วนและทำลายโครงการเสีย

ทว่า แซลมอนที่เพาะเลี้ยงในกระชัง ก็ยังไม่ลืมธรรมชาติดั้งเดิมของมันที่จะต้องว่ายทวนน้ำขึ้นไป ไม่ผิดอะไรกับความพยายามของท่าน ชีก เฟรด และแฮเรียต ที่เป็นเสมือนการว่ายทวนกระแสต่อต้านอันยากเย็น เพื่อประโยชน์สุขทั้งส่วนตัวและส่วนรวม



บทของชีกมูฮัมหมัด แม้ในทีแรกจะดูเหมือนเป็นเศรษฐีอาหรับที่เอาแต่หว่านเงินโดยไร้เหตุผลเพื่อความสุขความพอใจส่วนตัว แต่กลับพัฒนาไปสู่บุคคลผู้เต็มไปด้วยศรัทธาและการสร้างประโยชน์ให้แก่คนในชาติ

นานทีปีหนจึงจะได้เห็นคนอาหรับในบทสำหรับอื่นๆ นอกจากผู้ก่อการร้าย 

ส่วนบทที่ให้สีสันมากคือบทของ คริสติน สก็อต โธมัส ซึ่ง "กัด" นักการเมืองได้อย่างเจ็บแสบและจี้เส้น

สรุปว่าเป็นหนังที่ให้ความรู้สึกดีๆ เมื่อดูจบ ชอบดูหนังแบบนี้ค่ะ



.