http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-04

บันทึกถึง 24 มิถุนายน จากจันทร์ถึงอาทิตย์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์

.

บันทึกถึง 24 มิถุนายน จากจันทร์ถึงอาทิตย์
โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (frontfirework@hotmail.com)  คอลัมน์ ท่าอากาศยานต่างความคิด
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1663 หน้า 51


วันที่สิบแปด มิถุนายน 

ค้นหาความเป็นมาของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พบประกาศการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พุทธศักราช 2482 ในหนังสือชื่อ หลุมศพสยาม ของ คฑาดำและบุญรอด โมราเรือง
-ด้วยรัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปรึกษาลงมติให้สร้างอนุสาวรีย์-ประชาธิปไตย-ขึ้นที่กรุงเทพพระมหานคร ณ ตำบลที่ถนนราชดำเนินผ่านถนนดินสอ เพื่อเป็นที่ระลึกอันยั่งยืนถึงการที่ชาติได้มีการปกครอง โดยระบอบประชาธิปไตย ยังผลให้เจริญรุ่งเรืองเป็นศรีสวัสดิวัฒนาการ

ลุสุรทินที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2482 ตรงกับจันทรคตินิยมวันเสาร์ขึ้น 8 ค่ำ บูรพาษาฒมาส ปีเถาะ จุลศักราช 1301 ระวางศุภมงคลฤกษ์ เวลา 9 นาฬิกา 16 นาที ถึง 9 นาฬิกา 57 นาที นายกรัฐมนตรีได้วางศิลาฤกษ์สร้างอนุสาวรีย์ ประชาธิปไตย ณ ที่นี้ พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ 10 รูปมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานเจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัยสังข์แตรและเครือวงดุริยางค์ ทหารทำความเคารพแตรวงบรรเลงเพลงชาติ

ได้จารึกคำปรารภนี้ บรรจุไว้ในศิลาฤกษ์ แต่ ณ วันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2482

สิ่งที่น่าสนใจคือภายในปีเดียวกับที่มีการวางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนั้น จอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ลงนามในคำสั่งประหารชีวิตฝ่ายตรงข้ามจากคดีกบฏของศาลพิเศษไปถึงสิบแปดคน นับว่าเป็นการเฉลิมฉลองการก่อสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยได้อย่างย้อนแย้งยิ่ง


วันที่สิบเก้ามิถุนายน

อ่านพบถึงองค์ประกอบของอนุสาวรีย์ในหนังสือชื่อ-คณะราษฎรฉลองรัฐธรรมนูญ-ของ อาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ 

- ปีกทั้ง 4 ด้านของอนุสาวรีย์ สูง 24 เมตร รัศมีของอนุสาวรีย์ยาว 24 เมตร สื่อถึงวันที่ 24 มิถุนายน
ปืนใหญ่ที่ฝังไว้รอบอนุสาวรีย์ มี 75 กระบอก สื่อถึงปี พ.ศ.2475
ภาพดุนหรือภาพนูนสูงบริเวณฐานของปีกทั้ง 4 แสดงภาพประวัติคณะราษฎร
พานรัฐธรรมนูญ สูง 3 เมตร หมายถึงเดือนสาม คือเดือนมิถุนายน
พระขรรค์ทั้ง 6 ซึ่งประดับโดยรอบป้อมกลาง หมายถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ที่มุ่งหวังให้เกิดแก่ประชาชนไทย อันได้แก่ ความเป็นเอกราช ความปลอดภัยในชีวิต เศรษฐกิจที่มั่งคั่ง ความเสมอภาคของผู้คน เสรีภาพอันเท่าเทียม และการศึกษาอันทั่วถึง

อ่านพบถึงความหมายของพานแว่นฟ้าในอีกมุมหนึ่งจากหนังสือ ชาติไทย เมืองไทย แบบเรียน และอนุสาวรีย์ ของ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ 
อาจารย์นิธิได้กล่าวถึงพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญในวันที่สิบธันวาคม 2475 และสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญที่ถูกวางไว้บนพานแว่นฟ้าที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ว่า นัยสำคัญของพระราชพิธีคือการที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาพระราชทาน สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแก่ตัวแทนประชาชน เพราะฉะนั้น ระบอบการปกครองใหม่นี้จึงเป็นของพระราชทาน ตราบเท่าที่เป็นของพระราชทานก็ย่อมจะระงับยับยั้งหรือเพิกถอนเสียได้ หากทำในพระปรมาภิไธย
- แต่ไม่จำเป็นว่าพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญจะต้องตีความไปในทำนองเดียวเสมอไป ประจักษ์พยานอันหนึ่งที่เห็นได้ว่าควรมีการตีความพระราชพิธีนี้ไปในอีกทางหนึ่งคือพานแว่นฟ้า 
ทำไมจึงต้องมีพานแว่นฟ้ารองรับรัฐธรรมนูญที่อนุสาวรีย์-หากเป็นของพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ ตัวแทนของประชาชนก็พึงรับเอารัฐธรรมนูญนั้นจากพระราชหัตถ์เพื่อน้อมใส่เกล้า เป็นการรับของจากพระเจ้าแผ่นดินอย่างที่บัณฑิตของมหาวิทยาลัยรับพระราชทานปริญญาบัตร ไม่มีความจำเป็นจะต้องมีพานแว่นฟ้ารองรับอีกทอดหนึ่ง

ในทางตรงกันข้ามเป็นเพราะตัวแทนของประชาชนจะทูลเกล้าฯ ถวายรัฐธรรมนูญให้พระมหากษัตริย์ทางลงพระปรมาภิไธยต่างหาก จึงต้องทอดรัฐธรรมนูญนั้นลงบนพานแว่นฟ้า เพื่อจะได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายให้ลงพระปรมาภิไธยด้วยความเคารพในองค์พระมหากษัตริย์ตามธรรมเนียมไทย 
- เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญที่อยู่บนพานแว่นฟ้า จึงหมายถึงรัฐธรรมนูญที่ส่งจากข้างล่างขึ้นไปข้างบน ไม่ใช่ส่งจากของบนลงมาข้างล่าง-


วันที่ยี่สิบ มิถุนายน

พบสมุดนักเรียนที่ตีพิมพ์และเผยแพร่ในรัชกาลที่แปด ภาพหน้าปกเป็นภาพสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลที่อยู่ใต้พานแว่นฟ้าและรัฐธรรมนูญ อันเป็นหลักฐานที่ชัดเจนอันหนึ่งว่า ถ้อยคำที่ว่าการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญนั้นมีการแทนด้วยภาพที่จับต้องได้ในยุคสมัยนั้น

พบว่าพานแว่นฟ้าที่รองรับธรรมนูญในวันที่สิบธันวาคม 2475 นั้นได้ถูกนำมาแสดงในปราสาททองในงานฉลองรัฐธรรมนูญปี 2477 ที่สวนลุมพินีโดยมีทหารสี่นาย เฝ้าระวังทั้งสี่มุม มีผู้คนหลั่งไหลไปชมพานที่ว่านี้อย่างมากมาย


วันที่ยี่สิบเอ็ด มิถุนายน

พบเหรียญที่ระลึกที่แจกในวันที่ยี่สิบสี่ มิถุนายน 2483 ในงานเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นเหรียญทองแดงด้านหน้าเป็นรูปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ด้านหลังมีคำว่า-สร้างชาติ  
เหรียญที่ว่านี้อาจจะเป็นเหรียญศักดิ์สิทธิ์เหรียญเดียวที่ว่าด้วยการมี-ชาติ-อยู่พร้อมรัฐธรรมนูญ 

พบว่าหมุดคณะราษฎรที่ลานพระรูปทรงม้าถูกนำมาฝังไว้เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2479 ในเวลา 14.30 น. 
หมุดที่ถูกฝังนั้นเรียกขานกันว่า-หมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ-
หลักฐานที่ว่านี้ตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมฉบับเดือนมิถุนายน โดย ผู้เขียนคือ ปรมินทร์ เครือทอง โดยได้มีการนำเอกสารชั้นต้นจากเอกสารพระยาพหลฯ ที่พิพิธภัณฑ์พระยาพหลฯ ศูนย์การทหารปืนใหญ่มาแสดงด้วย


วันที่ยี่สิบสอง มิถุนายน

พบว่าในวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายนนั้น กำลังของคณะราษฎรมีเพียงหยิบมือเดียว หากแต่ด้วยมันสมองอันแยบยลของ พันเอก พระยาทรงสุรเดช อาจารย์ใหญ่จากกรมยุทธศึกษาทหารบก หนึ่งในสี่ทหารเสือ ของคณะผู้ก่อการที่ได้มีหนังสือแจ้งไปยังหน่วยทหารต่างๆ ทั้งทหารบก ทหารเรือ ทั้งในพระนครและธนบุรี ว่าในเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายนนั้นให้ทุกหน่วยทหารที่ได้รับหนังสือแต่งกายพร้อมรบมาพร้อมกันที่หน้าลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อมาดูการซ้อมรบยุทธวิธีสมัยใหม่
เช้าตรู่ของวันนั้นจึงมีกำลังชุมนุมที่หน้าลานพระรูปอย่างมโหฬาร ไม่เว้นแม้ กองกำลังนาวิกโยธินของกองทัพเรือที่ลงเรือข้ามฟากจากฝั่งธนบุรีมาแต่เช้าตรู่

พบว่า อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรืออนุสาวรีย์ปราบกบฏ ที่ตั้งอยู่ที่สี่แยกหลักสี่เพื่อระลึกถึงการปะทะกันอย่างรุนแรงในเหตุการณ์กบฏบวรเดช กำลังเป็นอนุสาวรีย์ที่ถูกลืมภายใต้ชื่อใหม่คือ อนุสาวรีย์หลักสี่


วันที่ยี่สิบสาม มิถุนายน

พบว่าในพระราชบันทึกฉบับสุดท้ายที่พระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ยื่นต่อนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นั้นมีพระราชดำริที่จะยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันรัฐธรรมนูญ 
เพราะเหตุว่า...พระราชบัญญัตินั้น มีวิธีการที่ขัดกับหลักเสรีภาพในร่างกายของประชาชน  
เช่น บางคนอาจถูกจับกุมโดยข้อหาว่าคิดจะทำลายรัฐธรรมนูญ แล้วถูกนำตัวขึ้นให้คณะกรรมการที่ไม่ใช่ศาลพิจารณา และกรรมการนั้นอาจสั่งให้เนรเทศบุคคลเหล่านั้นไปอยู่ในที่อันมีเขตจำกัด 
การกระทำเช่นนี้เป็นการตัดสิทธิของพลเมือง...


วันที่ยี่สิบสี่ มิถุนายน

ฟัง อาจารย์บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ พูดเรื่องทัศนียภาพของการต่อต้าน : เรื่องเล่าของการปฏิวัติสยามในสื่อร่วมสมัย ที่แกลเลอรี่ Ver ที่ตลาดนัดรถไฟ 
อาจารย์บัณฑิตเล่าถึงความแตกต่างระหว่างรูปประติมากรรมของชนชั้นสูงที่ถูกสร้างโดยน้ำมือของช่างตะวันตกและช่างไทยว่ามีความแตกต่างกันเพียงไรและมีผลอย่างไรต่อทัศนาวัฒนธรรมหรือ Visual Culture ของสังคมไทย รวมถึงการจัดแสดงของละครเวทีและภาพยนตร์หลายเรื่องที่บิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และกล่อมเกลาผู้ที่ได้พบเห็นให้มีความเชื่อที่แปลกและแตกต่างออกไปจากความจริง

ยกตัวอย่างเช่นการทำให้คณะราษฎรกลายเป็นฝ่ายชั่วร้ายในละครเวทีเรื่องสี่แผ่นดิน
หรือการทำให้ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม กลายเป็นคนที่หลงใหลในวัฒนธรรมตะวันตกและปฏิเสธคุณค่าของวัฒนธรรมไทยในภาพยนตร์เรื่องโหมโรง  
ทั้งที่หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปะบรรเลง) เสียชีวิตหลังจากนั้นเนิ่นนานนัก หาใช่เสียชีวิตจากการตรอมใจที่จอมพลแปลก ริเริ่มการใช้โน้ตสากลในการบรรเลงและการแสดงในประเทศไทย

ฟัง อาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ พูดเรื่อง 80 ปี 2475 : 80 ปี ความล้มเหลวคณะราษฎรบนพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่แกลเลอรี่ Ver ที่ตลาดนัดรถไฟ 
อาจารย์ชาตรีเล่าถึงความผิดพลาดของคณะราษฎรที่ปล่อยให้พานแว่นฟ้ามีตำแหน่งแห่งที่ในทางวัฒนธรรม และก่อให้เกิดการถกเถียงอันคลุมเครือในเวลาต่อมา 
การทุบทำลายสถาปัตยกรรมคณะราษฎร โดยปราศจากการปกป้อง อาทิเช่น การทุบทำลายโรงภาพยนตร์เฉลิมไทยและอาคารอื่นๆ อีก
เป็นการลบความทรงจำของผู้คนสมัยใหม่ที่มีต่อคุณูปการของคณะราษฎร รวมถึงการเปลี่ยนวันชาติจากวันที่ 24 มิถุนายน อันเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่วันอื่น


วันที่ยี่สิบห้ามิถุนายนและวันอื่นต่อๆ ไปอีก

พบว่าการค้นหาประชาธิปไตย การค้นหาความทรงจำเกี่ยวกับประชาธิปไตย และการค้นหาการหลงลืมเกี่ยวกับประชาธิปไตย ยังดำเนินต่อเนื่องไปอย่างไม่สิ้นสุด

และอาจเป็นหนทางที่ยาวไกลและเวลาอันยาวนาน



.