.
บทความของต้นปีที่แล้ว 2554
บางประการว่าด้วยการล่มสลายในปัจจุบัน
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1587 หน้า 45
การล่มสลาย (Collapse) ของอารยธรรม เกิดขึ้นมานานแต่โบราณ ตั้งแต่อารยธรรมอียิปต์จนถึงอารยธรรมโรมัน การทำนายเรื่องการล่มสลายของอารยธรรมก็มีมานานเป็นพันปีเช่นกัน มักปรากฏในคัมภีร์ทางศาสนาที่กล่าวถึงวันสิ้นโลก หรือวันสิ้นสุดของปฏิทินของชาวมายา
ปรากฏการณ์เหล่านี้แสดงว่าผู้คนแต่โบราณมามีความรู้สึกว่าอารยธรรมที่สร้างขึ้นนั้นไม่ยั่งยืน ความพยายามที่จะรักษาหรือขยายอารยธรรมออกไป เมื่อถึงเวลาหนึ่งกลายเป็นการเร่งสู่จุดจบของอารยธรรมนั้น
การล่มสลายของจักรวรรดิโซเวียตในปลายศตวรรษที่ 20 นับเป็นเรื่องสดๆ ร้อนๆ มีผู้ศึกษาไว้ไม่น้อยว่า มันเกิดขึ้นได้อย่างไร มีความเหมือนและต่างกับการล่มสลายสมัยโบราณอย่างไร มีการคลี่คลายไปแบบไหน
คำอธิบายเกี่ยวกับการล่มสลายนี้มีหลากมิติ จากมุมมองของเศรษฐกิจ-การเมือง และความเชื่อทางศาสนา ไปสู่ด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐศาสตร์นิเวศ (Eco-Economics)
นอกจากนี้ ยังมีทฤษฎีระบบซับซ้อนที่ปรับตัวได้ (Complex Adaptive System- CAS) ที่ช่วยให้เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการล่มลายได้ดีขึ้นว่ามันเป็นปรากฎการณ์ทั่วไปของสังคมที่มีความซับซ้อน และเป็นสิ่งที่แก้ไขหลีกเลี่ยงได้ยาก
เปรียบเทียบการล่มสลายในอดีตกับปัจจุบัน
การล่มสลายของจักรวรรดิหรืออารยธรรมมีมาแต่โบราณ การอธิบายเหตุปัจจัยของการล่มสลายเดิมนั้น เน้นในเรื่องปัญหาทางเศรษฐกิจ-การเมือง แต่ในระยะหลังได้เพิ่มความสำคัญทางสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติขึ้น รวมทั้งการสร้างแบบจำลองว่าอารยธรรมและสังคมทั้งหลายมีพฤติกรรมเหมือนระบบซับซ้อนที่ปรับตัวได้ (Complex Adaptive System) เหล่านี้ช่วยให้สามารถพบลักษณะร่วมของการล่มสลายดังกล่าวได้ เช่น ในงานของ จาเร็ด ไดอะมอนด์ ชื่อ "ล่มสลาย" (Collapse: How Society Choose to Fail or Succeed เผยแพร่ปี 2005)
อย่างไรก็ตาม การล่มสลายของจักรวรรดิในปัจจุบัน ถ้าหากใช้กรณีการล่มสลายของจักรวรรดิโซเวียต ก็พบว่ามีลักษณะเฉพาะบางประการที่ต่างกับในครั้งอดีตที่ควรกล่าวถึง 3 ประการ ได้แก่
1) การผลิตสมัยใหม่กับเชื้อเพลิงฟอสซิล ยุคสมัยใหม่เริ่มจากใช้เครื่องจักรกล เพื่อการผลิตทางอุตสาหกรรมแบบใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ใช้ เริ่มจากถ่านหิน ต่อมาเป็นน้ำมัน และแก๊สธรรมชาติ แต่ที่สำคัญที่สุด ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียม แม้ว่าจะมีการใช้พลังงานทดแทนอื่น ได้แก่ พลังน้ำ พลังนิวเคลียร์ เป็นต้น เครื่องจักรกลที่หยาบๆ ในตอนแรก พัฒนาไปสู่เครื่องจักรกลที่ละเอียดและเป็นแบบอัตโนมัติ สามารถผลิตของกินของใช้และบริการได้มากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ใช้แรงงานคนและสัตว์น้อยลงไปทุกที
จนในปัจจุบันทั่วทั้งโลกและอารยธรรมมนุษย์ได้เสพติดและขึ้นต่อเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างน่ากลัว หากขาดน้ำมันหรือน้ำมันราคาสูงมากก็จะทำให้ขาดสินค้าอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์การเกษตร และบริการขนส่ง จนสิ่งทั้งหลายผิดปกติไปหมด
ในสมัยก่อนจักรวรรดิอาจอ่อนแอหรือล่มสลายไปได้เพราะว่าขาดแคลนอาหารสำหรับคนและสัตว์ แต่ในปัจจุบันความสำคัญย้ายมาอยู่ที่พลังงานซึ่งเป็นอาหารของเครื่องจักร
2) ตลาดโลกกับโลกาภิวัตน์ ทั่วทั้งโลกได้เชื่อมกันเป็นหนึ่งเดียวโดยตลาดโลกและกระบวนโลกาภิวัตน์ สิ่งนี้ก็ไม่เคยปรากฏมาก่อนในสมัยโบราณ เชื่อมโลกอยู่ภายใต้ตลาดเดียวกัน มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดี ได้แก่ การสร้างความมั่งคั่งไพบูลย์ เนื่องจากสามารถเพิ่มปริมาณเงินตรา การค้าและการลงทุนได้อย่างต่อเนื่องท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของประชากร
จนกระทั่งไม่มีครั้งใดในประวัติศาสตร์ที่มนุษย์สามารถสร้างอารยธรรมที่เจริญรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่นเท่ากับครังนี้
ในด้านลบ ตลาดโลกและโลกาภิวัตน์ ยิ่งทำให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติสิ้นเปลือง และขึ้นต่อเชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังสร้างความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคม รวมศูนย์ความมั่งคั่งและอำนาจอยู่ในกลุ่มคนจำนวนน้อยนิด สร้างวัฒนธรรมผู้บริโภค ก่อหนี้สินขึ้นในทุกภาคส่วน เกิดความขัดแย้งในสังคมและระหว่างประชาชาติ ถึงขั้นที่คุกคามต่อความอยู่รอดของมนุษย์เอง
3) การก้าวสู่สังคมข่าวสารความรู้ ภาคการผลิตจริงได้แก่การเกษตรและอุตสาหกรรม ลดความสำคัญ ขณะที่ภาคบริการใหญ่ขึ้นแทน ซึ่งก็เป็นสิ่งใหม่ในประวัติศาสตร์เช่นกัน
เศรษฐกิจ-สังคมอยู่รอดโดยอาศัยการพัฒนาเทคโนโลยีและการสร้างนวัตกรรม บางทีเรียกว่าเศรษฐกิจฐานความรู้ก็มี เศรษฐกิจนวัตกรรมก็มี
การก้าวสู่สังคมข่าวสารความรู้มีด้านดีที่ทำให้เกิดการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว เกิดเทคโนโลยีใหม่ ได้แก่ เทคโนโลยีข่าวสาร เทคโนโลยีชีวภาพ และนาโนเทคโนโลยี เป็นต้น ทำให้การผลิตมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว
แต่ในความก้าวหน้านี้ มีด้านลบได้แก่
(ก) เทคโนโลยีทั้งหลายนั้นยิ่งใช้หรือพึ่งพลังงานมากขึ้น ใช้แรงงานคนและสัตว์น้อยลงไปอีก
(ข) อำนาจในการดัดแปลงหรือทำลายธรรมชาติของมนุษย์ยิ่งมากขึ้นทุกที
(ค) ทำให้สังคมยิ่งมีความซับซ้อนขึ้นทุกที และค่าใช้จ่ายในการรักษาและพัฒนาความรู้ใหม่ก็สูงขึ้นโดยลำดับ เวลาที่เด็กและเยาวชนต้องอยู่ในสถานศึกษายาวขึ้น จนกระทั่งกลายเป็นการศึกษาตลอดชีวิต ความรู้ชั้นสูงมักมีราคาแพง ก่อให้เกิดช่องว่างทางความรู้ บางกรณีเรียกว่าช่องว่างทางดิจิตัล (Digital Gap) เป็นการขยายช่องว่างทางสังคมอย่างยากที่จะลดลงได้
(ง) ข่าวสารและความรู้ที่สร้างขึ้นนั้นมีแนวโน้มที่จะเป็นไปเพื่อคนมั่งคั่งมีอำนาจจำนวนน้อย มากกว่าต่อประโยชน์ร่วมของสังคม เป็นความรู้เพื่อแสวงกำไรและอำนาจมากกว่าสร้างปัญญาและความแน่นเหนียวทางสังคม
การล่มสลายของจักรวรรดิหรือารยธรรมปัจจุบันจึงมีลักษณะเด่นที่ล้อมรอบ 3 ประการดังกล่าว และเพื่อที่จะเข้าใจการล่มสลายได้ดีขึ้นบางทีเราอาจต้องเข้าใจ "ธรรมชาติ" ของมนุษย์เอง
มองจากภายในและภายนอก
การล่มสลายของจักรวรรดิหรืออารยธรรมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ แต่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ทั้งนี้เพราะว่าจักรวรรดินั้นมีช่วงของการเจริญเติบโตยาวนาน ส่วนช่วงของการล่มสลายสั้นกว่า
เราสังเกตเห็นการล่มสลายจากภายนอกในฐานะเป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์หรือในประเทศที่ห่างไกลมากกว่าที่จะประจักษ์ด้วยตนเองอยู่ภายในเหตุการณ์นั้น
ที่ยอมรับกันว่าเป็นการล่มสลายใหญ่สดๆ ร้อนๆ ได้แก่ การล่มสลายของจักรวรรดิโซเวียต
นอกจากนั้น มีการแตกสลายของยูโกสลาเวีย และ "ห้วงเวลาพิเศษ" ที่ยากลำบากของคิวบา มีผู้ตกอยู่ในสถานการณ์นั้นจำนวนนับร้อยล้าน ที่สามารถเล่าประสบการณ์ตรงของพวกเขาได้
การมองจากภายนอก เช่น จากสหรัฐ ทั้งนักวิชาการและประชาชนทั่วไปแสดงความยินดีที่จักรวรรดิโซเวียตล่มสลาย
หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ของสหรัฐ ถึงกับเขียนบทวิจารณ์ว่ารัสเซียที่เป็นฟาสซิสต์ก็ยังดีกว่าเป็นคอมมิวนิสต์
แต่การสำรวจประชามติชาวรัสเซียในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาพบว่า ชาวรัสเซียส่วนใหญ่รู้สึกเสียใจกับการล่มสลายนี้ เนื่องจากสูญเสียรัฐที่คุ้นเคยและชีวิตที่มั่นคง และคิดถึงวันเก่าที่สวยงาม
ชาวรัสเซียจำนวนไม่น้อยเห็นว่าการแตกแยกหรือที่เรียกกันว่าการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เป็นเพียงเรื่องชั่วคราว เมื่อปรับเปลี่ยนอะไรแล้วก็จะกลับมารวมกันดังเดิม (ดูบทความของ Stephen F. Cohen นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญด้านสหภาพโซเวียต ชื่อ The Soviet Union, R.I.P.? ใน thenation.com 261206 และของ Tony Wesolowsky ชื่อ USSR Breakup: Historian Explains Phenomenon of "Soviet Nostalgia" ใน cdi.org 151201)
มีนักจิตวิทยาชื่อดังชาวสวิส ดร.อลิซาเบธ คิวเบลอร์ รอสส์ ได้เสนอว่า คนที่ประสบวิกฤติ เช่น ต้องเผชิญความตายจะมีปฏิกิริยาทางจิตตอบโต้เป็น 5 ขั้น (Five Stage of Grief Model) ประกอบด้วย
ขั้นการปฏิเสธ (Denial) ไม่ยอมรับข้อเท็จจริง ข่าวสารและความเป็นจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เผชิญ
ความโกรธ โกรธตัวเองและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อไม่ให้ใครมายุ่งเกี่ยว
การต่อรอง (Bargaining) เช่นต่อรองกับพระเจ้าหรือต่อรองเพื่อการปรองดอง แบบลมๆ แล้งๆ (ไม่ยั่งยืน)
ความซึมเศร้า (Depression)
และขั้นสุดท้ายคือ การยอมรับความจริง ว่าจะต้องตาย สิ่งทั้งหลายจะต้องแตกหรือล่มสลาย สี่ขั้นแรกกล่าวไปแล้วก็คือการปฏิเสธในรูปแบบต่างๆ ในการเผชิญกับหายนะใหญ่ทางสังคมผู้คนจำนวนมากอยู่ในขั้นปฏิเสธ ไม่ยอมรับจนถึงวาระสุดท้าย
มีนักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลีผู้หนึ่ง เชี่ยวชาญทางด้านเคมี และสนใจประวัติศาสตร์โรมันได้ศึกษาว่าชาวโรมันที่เป็นตัวตนจริงในช่วงที่โรมันล่มสลายนั้น ได้ยอมรับมันแท้จริงหรือไม่
สรุปทำนองว่า ชาวโรมันจำนวนมากรู้สึกถึงความไม่ปกติ ความอึดอัดไม่สบาย "ชาวโรมันไม่ได้เข้าใจอย่างแท้จริงว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นในจักรวรรดิของตน นอกจากว่ากองทหารของตนรบไม่ชนะ แต่นั่นก็เป็นสิ่งชั่วคราว พวกเขาดูเหมือนคิดอยู่เสมอว่าการพ่ายแพ้นี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการขยายกองทัพและสร้างป้อมปราการใหม่"
(ดูปาฐกถาของ Ugo Bardi ชื่อ Peak Civilization: The Fall of the Roman Empire ใน theoildrum.com 220709)
ตกเหวหรือตกบันได
เรื่องของการล่มสลาย (Collapse) ดูจะเป็นสิ่งที่เข้าใจง่าย สามารถเห็นประจักษ์ชัด แต่หากจะถามไปให้แน่ว่า การล่มสลายหมายถึงอะไร เป็นด้านใดบ้าง และมีแบบจำลองอย่างไร เรื่องง่ายก็กลับกลายเป็นเรื่องยากขึ้นมาโดยฉับพลัน
หนังสือของ จาเร็ด ไดอะมอนด์ ที่ว่าด้วยการล่มสลายก็ยังไม่ได้ชี้ชัดว่ามันหมายถึงอะไร ในที่นี้ไม่ได้ต้องการตอบปัญหาดังกล่าวโดยตรง เป็นเพียงความพยายามจะวาดภาพกว้างๆ ของการล่มสลายที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและในอนาคตเท่านั้น
มีแบบจำลองของการล่มสลายที่มีการกล่าวถึงมากอยู่ 2 แบบๆ หนึ่งคือ พังทลายอย่างฉับพลัน หรือที่เรียกกันว่า ตกเหว อันนี้พูดกันทั่วไปโดยเฉพาะในหมู่นักเคลื่อนไหว ที่ต้องการให้เกิดการตระหนกและเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คน ซึ่งมักไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เนื่องจากผู้คนทั้งหลายในกลไกทางจิตวิทยาในการปกป้องตนเองในยามหายนะดังกล่าวแล้ว
อีกแบบหนึ่งที่กล่าวกันมากขึ้น ได้แก่ การพังเป็นขั้นๆ หรือแบบตกบันได ทั้งนี้โดยอาศัยแบบอย่างจากกรณีสหภาพโซเวียตเป็นต้น ที่สามารถฟื้นได้ในเวลาราว 7-8 ปี
การแตกสลายของยูโกสลาเวียและห้วงเวลาพิเศษของคิวบา ก็สามารถฟื้นตัวในเวลาราว 5 ปี แม้ว่าการฟื้นตัวนั้นจะไม่มั่นคง และอาจทรุดลงได้อีก
ปรากฏการณ์ล่มสลายแบบตกบันไดนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งของการล่มสลายในปัจจุบัน ทั้งนี้ ด้วยเหตุปัจจัยบางประการ ได้แก่
(ก) ทั้งโลกได้รวมกันเป็นระบบโลกเป็นแบบทุนนิยม มีการอิงอาศัยกัน เมื่อส่วนหนึ่งทรุด ก็อิงส่วนหนึ่ง การล่มสลายแบบตกเหวจะเกิดขึ้นได้เมื่อประเทศใหญ่ทั้งโลกล่มสลายลงพร้อมกัน และก็หมายถึงว่าระบบทุนนิยมล่มสลาย ซึ่งต้องใช้เวลาที่ยาวนานหลายสิบหรือกระทั่งเป็นร้อยปีนับจากนี้ กว่าการล่มสลายจะเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไป
(ข) การผลิตของมนุษย์ได้พัฒนาถึงขั้นภาคบริการขึ้นมามีบทบาทสำคัญ และเกิดการบริโภคแบบฟุ่มเฟือยทั่วไป ถ้าหากเศรษฐกิจหรือมาตรฐานการครองชีพทรุดลง ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกอย่างจะพังลงไปหมด เช่น ถ้าผู้คนลดการบริโภคเนื้อหรือการบริโภคแบบฟุ่มเฟือยลง สังคมก็ยังคงอยู่ได้ และในบางด้านอาจดีกว่าเดิม
(ค) หากไม่เกิดสงครามใหญ่แบบสงครามโลกที่เคยเกิด และรบกันด้วยอาวุธนิวเคลียร์ การล่มสลายของอารยธรรมมนุษย์ก็ไม่น่าจะเป็นไปอย่างรวดเร็วแบบตกเหว
(ง) ความสามารถในการปรับตัวอย่างเหลือเชื่อของมนุษย์ทั้งในการสร้างอารยธรรม และในช่วงที่ประเทศหรือจักรวรรดิของตนล่มสลายมีสูงมากอย่างไม่น่าเชื่อ ดังกรณีของชาวรัสเซีย เป็นต้น
(จ) เหตุการณ์สำคัญที่จะทำให้การล่มสลายเป็นไปอย่างรวดเร็ว ได้แก่ การขาดแคลนน้ำมันและทรัพยากรธรรมชาติอื่น แต่การปรับตัวของผู้คนด้วยวิธีต่างๆ จะช่วยลดผลกระทบนี้ลงได้ แต่เมื่อถึงเวลาหนึ่งการล่มสลายแบบตกเหวก็อาจเกิดขึ้นได้
โดยสรุปแล้วการล่มสลายในปัจจุบันมีลักษณะเหมือนการปรับตัวอย่างรุนแรงทางสังคม เป็นการถอยร่นอย่างมีแบบแผน ไม่ใช่แตกกระเจิง และแน่นอนว่าชีวิตของประชาชนโดยทั่วไปจะลำบากยากแค้นแสนสาหัส
และถ้าการล่มสลายไม่รุนแรงมากก็ลืมมันไปอย่างรวดเร็วหลังจากที่อะไรต่ออะไรพอเข้าที่เข้าทางใหม่แล้วเหมือนเช่นชาวรัสเซียในปัจจุบัน
+ + + +
การลดลงของประชากร กับการล่มสลายของอารยธรรมสมัยใหม่
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1591 หน้า 43
อารยธรรมทั้งหลายนั้นประกอบด้วย 2 ส่วนที่สัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกันคือพื้นที่กับประชากร ในเชิงพื้นที่นิยมแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ ได้แก่ ส่วนที่เป็นเมืองมีประชากรหนาแน่น มีระบบและการจัดองค์กรที่ซับซ้อน เป็นศูนย์กลางของอำนาจที่ครอบงำและขับเคลื่อนอารยธรรมนั้น
ที่เรียกว่าการล่มสลายของอารยธรรมก็คือการล่มสลายของเมืองที่เป็นศูนย์กลางนี้
อีกส่วนหนึ่งได้แก่ ชนบทอันกว้างไพศาล มีประชากรจำนวนมากอยู่อย่างกระจัดกระจาย ไม่มีการจัดองค์กรที่ซับซ้อนเท่า
ในสมัยก่อนโดยทั่วไปจำนวนประชากรในชนบทจะมากกว่าที่อยู่ในเมือง เป็นผู้ที่สนองความมั่งคั่ง อาหารและแรงงานแก่เมือง
ในส่วนประชากรอาจแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ได้แก่ ชนชั้นผู้ปกครอง กุมความรู้ระดับสูง ประเพณีวัฒนธรรม และเศรษฐกิจการค้า ตลอดจนอำนาจกลไกรัฐ มีทหาร ศาลและคุก เป็นต้น บางทีเรียกว่าชนชั้นที่มั่งมี
อีกกลุ่มหนึ่งคือ เป็นชนชั้นผู้ถูกปกครอง เป็นชนชั้นที่เรียกว่าผู้ยากไร้ ทั้งส่วนพื้นที่และประชากรต้องมีขนาดและปริมาณพอสมควร ได้แก่พื้นที่ต้องกว้างขวาง ประชากรต้องมาก
เช่น ชาติที่จะเป็นมหาอำนาจในปัจจุบันได้ ควรมีประชากรสัก 200 ล้านคนขึ้นไป และมีพื้นที่กว้างขวาง ญี่ปุ่นที่อยู่เป็นเกาะไม่อาจไต่ขึ้นเป็นมหาอำนาจใหญ่ในปัจจุบันได้
จากนี้กล่าวได้ว่า อารยธรรมมนุษย์นั้นเกิดขึ้นในสังคมชนชั้น และมีวิวัฒนาการที่ซับซ้อน วกวน และไม่สม่ำเสมอ มีการต่อสู้กันระหว่างศูนย์กลางกับชายขอบ การต่อสู้ภายในและระหว่างศูนย์กลางด้วยกัน ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ไป
จนกระทั่งในปัจจุบันก้าวสู่อารยธรรมสมัยใหม่ในระบบทุน
กรณีเกาะอีสเตอร์
เกาะอีสเตอร์ (Easter Island นักสำรวจตะวันตกพบเกาะนี้ในวันอีสเตอร์จึงตั้งชื่อเช่นนั้น) เป็นเกาะโดดเดี่ยวเล็กๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ มีเนื้อที่เพียงราว 160 ตารางกิโลเมตรเศษ ห่างจากเกาะที่มีผู้อยู่อาศัยใกล้ที่สุดราว 2,000 กิโลเมตร
เมื่อนักสำรวจพบเกาะนี้ในปี 1722 พวกเขาได้พบกับความแปลกประหลาดยากที่จะอธิบายได้ นั่นคือทั่วทั้งเกาะเป็นทุ่งหญ้า ไม่มีต้นใหญ่สักต้นขึ้น ผิดกับเกาะอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ที่ปกคกคลุมด้วยป่าเขตร้อน
ซ้ำยังมีรูปหินสลักเป็นตัวคนศีรษะโตขนาดใหญ่อาจสูงถึงราว 30 ฟุต น้ำหนัก 80 ตันเรียงรายอยู่รอบเกาะ
ใครเป็นผู้สร้างมัน และนำมันมาที่ตั้งของมันได้อย่างไร
ส่วนประชากรของเกาะมีราว 2-3 พันคน ขณะที่มีการคำนวณกันว่าจะต้องมีประชากรอย่างน้อย 6 พันคนจึงจะสามารถสร้างและขนรูปหินสลักเหล่านั้นมาตรงที่ตั้งของมัน
อะไรเกิดขึ้นกับประชากรเหล่านี้
จากการศึกษาของนักวิชาการหลายคณะและจากหลายประเทศต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน กรณีชาวเกาะอีสเตอร์ได้ฉายภาพสำคัญบางประการได้แก่
1) ความสัมพันธ์ที่เป็นหนึ่งเดียวระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติแวดล้อม
2) เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นและบริโภคจนเกินความสามารถในการรองรับชีวิตของธรรมชาติแวดล้อม ก็จะเกิดการล่มสลายทั้งระบบนิเวศน์และสังคมนั้น
3) จำนวนประชากรจะลดลงอย่างรวดเร็วในท่ามกลางการล่มสลายของอารยธรรม
ประวัติของการเจริญและความเสื่อมของวัฒนธรรมชาวเกาะอีสเตอร์อาจสรุปได้ดังนี้
(ก) ตั้งแต่ราว ค.ศ.400 มีชาวเกาะทะเลใต้แห่งมหาสมุทรแปซิฟิกหรือชาวโปลินีเซียนจำนวนน้อยกว่า 100 คน ได้มาขึ้นบกที่นี้เป็นครั้งแรก ตลอดช่วงหลายร้อยปีแรกๆ จนถึงปี ค.ศ.1100 ประชากรของชาวเกาะแทบไม่เพิ่มขึ้นเลย
(ข) นับแต่ปี 1100 ได้ปรากฏประชากรชาวเกาะเพิ่มขึ้น ตอนแรกอย่างช้าๆ และสูงขึ้นเร็วมากในช่วงปี ค.ศ.1400 ถึง 1600 ซึ่งจำนวนอยู่ระหว่าง 10,000-15,000 คน) ซึ่งเกินความสามารถในการรองรับชีวิตของเกาะนี้
สังคมชาวเกาะนี้มีลักษณะเป็นสังคมชนชั้น โดยมีหัวหน้าใหญ่ที่ดูแลตระกูล (Clan) ต่างๆ และอยู่เหนือหัวหน้าของตระกูลเหล่านั้น การเพิ่มขึ้นของประชากรนั้นมีคำอธิบาย 2 กระแสใหญ่
กระแสแรกมองในแง่ของการตัดไม้ทำลายป่ามากเกินไป นั่นคือ เมื่อมีการเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ชาวเกาะก็จะโค่นต้นไม้เพื่อทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ได้แก่ การทำไร่ การปลูกบ้าน และการสร้างเรือแคนู เพื่อการหาสัตว์ทะเล เป็นต้น ซึ่งทำให้จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น และการตัดไม้เพิ่ม
ซ้ำเมื่อมีการตั้งรูปสลักหินขนาดใหญ่ ยิ่งต้องตัดไม้เพื่อการชักลาก จนกระทั่งทั้งเกาะไม่มีต้นไม้ใหญ่เหลืออยู่เลย
ระบบนิเวศน์และความหลากหลายทางชีวภาพจึงล่มสลายพร้อมกับอารยธรรมนี้
อีกกระแสหนึ่งเห็นว่า การเพิ่มขึ้นของประชากรนี้น่าจะมีเหตุปัจจัยหลักทางสังคม นั่นคือ การขาดการประนีประนอมในการแบ่งปันผลผลิตทางการเกษตร และมีการคุกคามที่จะใช้สงครามเพื่อการตัดสิน
ทั้งนี้ ได้ยกข้ออ้างว่ามีบางเกาะ เช่น เกาะทีโกเปีย (Tikopia) มีสภาพคล้ายกับเกาะอีสเตอร์ แต่ก็ไม่ปรากฏการล่มสลายของระบบนิเวศน์ เนื่องจากมีมาตรการหลายประการในการรักษาจำนวนประชากรไว้ให้คงอยู่ที่ระดับ 1,200 คน (แต่ชาวเกาะดังกล่าวก็ไม่ได้สร้างรูปหินสลักอันน่าอัศจรรย์เหล่านั้น)
ปฏิบัติการสงครามและการคุกคามว่าจะก่อสงคราม เกิดขึ้นเนื่องจากค่าใช้จ่ายในสงครามน้อยกว่าผลได้หากชนะ และอีกส่วนหนึ่งเนื่องจากยังไม่ได้มีระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ทำให้ไม่ชัดเจนว่าผลผลิตควรเป็นของใคร (อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีระบบกรรมสิทธิ์ชัดเจน ก็สามารถเกิดสงครามรบพุ่งเพื่อปล้นความมั่งคั่งได้) การก่อสงครามได้จะต้องมีกำลังคนหนุ่มจำนวนที่พอเพียง ดังนั้นจึงเกิดการแข่งขันทางจำนวนประชากร เร่งให้จำนวนชาวเกาะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
(ดูบทความของ David de la Croix และเพื่อน, Easter Island"s Collapse: A Tale of an Population Race ใน uclouvain.be 2007)
(ค) การสร้างรูปหินสลักเกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ.1000-1500 รูปหินสลักนี้เป็นตัวแทนของบรรพบุรุษหัวหน้าที่เก่งกล้าและเป็นที่ทำพิธีกรรมที่ซับซ้อน มีจำนวนเกือบ 900 รูปด้วยกัน แต่ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในที่แกะสลัก ที่ขนมาตั้งในที่ของมันมีเพียงเกือบ 300 ตัว
ชาวเกาะน่าจะคิดว่าการปฏิบัตินี้น่าจะทำให้อารยธรรมของตนยั่งยืนเป็นพันปี ไม่ใช่เร่งการล่มสลายในไม่กี่ร้อยปี
รูปสลักหินดังกล่าวเป็นเป้าหมายสำคัญของสงคราม กล่าวคือแต่ละตระกูลก็พยายามไปล้มรูปหินของตระกูลที่เป็นปรปักษ์ เมื่อชาวตะวันตกไปพบเกาะ ปรากฏว่ารูปหินสลักจำนวนมากถูกล้มลง
การใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการสร้างและขนไปยังที่ตั้ง ทำให้เกิดการขาดแคลนอาหาร เกิดการกินเนื้อมนุษย์ และจำนวนประชากรลดลงอย่างรวดเร็วระหว่างปี ค.ศ.1500-1600
ง) เมื่ออารยธรรมล่มสลาย เนื่องจากการเสื่อมโทรมของดิน การทำลายป่า และการทำสงครามที่ยาวนาน ไม่เพียงทำให้จำนวนประชากรจะลดลงอย่างรวดเร็วเท่านั้น หากระดับทางศีลธรรมก็ลดลงด้วย ชาวเกาะหันไปปฏิบัติการกินเนื้อมนุษย์ (Cannibalism) เข้าใจว่าเนื่องจากความอดอยาก ทั้งไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของตน
เมื่อถูกถามว่ารูปหินแกะสลักนี้มาตั้งรอบเกาะได้อย่างไร พวกเขาตอบว่ามันเดินมาเอง
อนึ่ง เรื่องเล่าประวัติศาสตร์ข้างต้นมีนักวิชาการบางคนปฏิเสธ โดยชี้ว่าสาเหตุที่ทำให้อารยธรรมนี้ล่มสลายเกิดจากการเข้าไปของนักสำรวจ หมอสอนศาสนาที่นำโรคระบาด เช่น ฝีดาษและวัณโรคและนักค้าทาสชาวตะวันตก ในที่นี้ใช้คำอธิบายที่กล่าว ข้างต้น
อารยธรรมสมัยใหม่ของมนุษย์
จะประสบชะตากรรมเหมือนชาวเกาะอีสเตอร์หรือไม่
อารยธรรมสมัยใหม่ต่างกับอารยธรรมเก่าโดยเฉพาะของชาวเกาะอีสเตอร์หลายประการ และก็มีส่วนที่คล้ายคลึงกันด้วย อารยธรรมสมัยใหม่เป็นอารยธรรมแบบทุนนิยม มีลักษณะเด่นคือ มีระบอบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล มีการผลิตปริมาณมาก (Mass Production) และมีการพัฒนาเทคโนโลยีทางการผลิตตลอดเวลา
อารยธรรมสมัยใหม่ที่เติบโตมั่นคงในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ประกอบด้วยการปฏิวัติทางการผลิต ได้แก่ ปฏิวัติอุตสาหกรรม (ค.ศ.1775 ปีการปฏิวัติเครื่องจักรไอน้ำของ เจมส์ วัตต์) การปฏิวัติทางการเมือง เช่น สงครามปฏิวัติในสหรัฐ (ค.ศ.1775-1783) การปฏิวัติฝรั่งเศส (ค.ศ.1789) และการปฏิวัติทางปัญญา (Enlightenment)
และก่อนหน้านั้นมีการปฏิวัติทางศาสนาและศิลปวัฒนธรรม (Renaissance)
อารยธรรมแบบทุนนิยมได้สร้างสิ่งอัศจรรย์ยิ่งกว่ารูปแกะสลักของชาวเกาะอีสเตอร์เป็นอันมาก นั่นคือ 200 ปีนับแต่ปี 1800 รายได้ประชากรต่อหัวของโลกเพิ่มขึ้น 10 เท่า และประชากรโลกเพิ่มขึ้น 6 เท่า ทั้งโลกได้รวมเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ตลาดโลกที่มีตะวันตกเป็นศูนย์กลางซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน
และนับเป็นชัยชนะใหญ่อย่างหนึ่งของมนุษย์ ที่ทำให้มนุษย์สามารถเพิ่มจำนวนประชากรทั้งยังมีของกินของใช้มากขึ้น
แต่ชัยชนะในช่วง 2 ศตวรรษนี้มีด้านลบแฝงอยู่ ทั้งมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนเหมือนว่ามันจะพบการล่มสลายเหมือนชาวเกาะอีสเตอร์
สัญญาณดังกล่าว เช่น ประชากรโลกจำนวนมากถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง เกือบ 1 พันล้านคนอยู่อย่างหิวโหย อีกราว 1 พันล้านไม่ได้รับอาหารเต็มที่ และอีก 1 พันล้านกินอาหารมากเกินไป จนเป็นโรคอ้วน
วิกฤติเศรษฐกิจขนาดใหญ่เกิดบ่อยขึ้น ครั้งล่าสุดปี 2008 ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ฟื้นตัวอย่างแข็งแรง
วิกฤติอาหารที่เมื่อไม่กี่สิบปีนี้กล่าวว่าจะไม่มีวันเกิดขึ้นอีก ก็กลับมาเกิดในปี 2008 เมื่อราคาอาหารแพงจนเกิดจลาจลในหลายประเทศ
ครั้นถึงปลายปี 2010 และต้นปี 2011 ก็เกิดเหตุทำนองเดียวกัน ซ้ำมีแนวโน้มที่จะร้ายแรงขึ้น
ทรัพยากรสำคัญในการผลิตอาหารอย่างเช่นที่ดินเพาะปลูกได้ก็ใช้ไปเกือบหมด หน้าดินขาดความอุดมสมบูรณ์ น้ำจืดก็ขาดแคลนในหลายพื้นที่ อากาศก็แปรปรวน เกิดภัยแล้ง ภัยหนาว และภัยน้ำท่วมในที่ต่างๆ ทั่วโลก
ที่เป็นปัญหายิ่งก็คือ ยุคน้ำมันราคาถูกที่ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสมัยใหม่สิ้นสุดลง ซึ่งเทียบไปแล้วก็คล้ายกับการตัดต้นไม้จนหมดของชาวเกาะอีสเตอร์
และที่เหมือนกับเกาะอีสเตอร์อีกอย่างหนึ่งก็คือ ทั่วโลกได้กลายเป็นแบบทหาร (Militarism) มีการแข่งขันอาวุธ เตรียมก่อหรือคุกคามว่าจะก่อสงครามมากขึ้น
สงครามทั้งภายในและระหว่างประเทศรวมทั้งการจลาจลได้ลุกโชน โดยเฉพาะในบริเวณที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติเช่นน้ำมัน
ไม่เพียงสงครามเพื่อแย่งทรัพยากรธรรมชาติ ยังมีสงครามกับการก่อการร้าย สงครามเงินตราและกำลังกลายเป็นสงครามทางเศรษฐกิจ สงครามทางศาสนาและเชื้อชาติ
ความสำเร็จของระบบทุน ทำให้โลกเล็กลงจนเป็นเหมือนหมู่บ้าน ทำให้อารยธรรมสมัยใหม่เป็นระบบปิดเหมือนเกาะอีสเตอร์ที่โดดเดี่ยวห่างไกลนั้น ดาวเคราะห์อื่นที่มีมนุษย์อาศัยอยู่ ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน ที่แน่ก็คือ ไม่อยู่ในระบบสุริยะนี้ การเดินทางไปตั้งอาณานิคมในอวกาศเป็นมากกว่าลงเรือแคนูไปในมหาสมุทรเวิ้งว้าง
ท้ายสุด อารยธรรมสมัยใหม่ไม่อาจหยุดยั้งการเติบโตของประชากรได้ เพราะระบบทุนต้องการประชากรที่มากขึ้น เพื่อเป็นแหล่งของแรงงานราคาถูกและผู้บริโภคสินค้าที่หลั่งไหลอย่างไม่จบจากโรงงาน และยิ่งไม่สามารถหยุดยั้งการบริโภคที่หรูหราขึ้นเรื่อยๆ ได้ เช่น จากการบริโภคธัญพืชสู่การบริโภคเนื้อสัตว์ จากการบริโภคเครื่องใช้ธรรมดาสู่การบริโภคสินค้าแบรนด์เนม จากการมีรถจักรยาน สู่มอเตอร์ไซค์และปิกอัพ จากการบริโภคของที่คงทนสู่การบริโภคของใช้แล้วทิ้ง จากการมีโทรทัศน์เครื่องเดียวสู่การมี 2 เครื่องและมากกว่า
ระบบเศรษฐกิจที่มีความเหลื่อมล้ำ หันจากการลงทุนเพื่อการผลิต สู่การลงทุนเพื่อเก็งกำไร ใช้สินเชื่อหรือหนี้สินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำนองเดียวกับการสร้างรูปหินสลักมหึมา
ทุนนิยมปฏิรูป
แนวคิดทุนนิยมปฏิรูปเกิดขึ้นเมื่อสัญญาณด้านลบปรากฏชัด มันเป็นความหวังน้อยๆ ที่จะแก้ปัญหาและต่ออายุของระบบ
แนวคิดนี้มีเช่นทุนนิยมธรรมชาติ ที่เสนอให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ และการผลิตที่ให้มีของเสียน้อยที่สุด
ทุนนิยมใจบุญ ให้บรรดาเศรษฐีบริจาคเงินของตนเพื่อทำโครงการที่มีประโยชน์ต่อสังคมผู้ยากไร้
ทุนนิยมสร้างสรรค์ที่เสนอให้ใช้ระบบตลาดเพื่อประโยชน์ของคนหมู่มากกว่านี้
ทุนนิยมที่มีโฉมหน้าเป็นมนุษย์หรือทุนนิยมศีลธรรมที่ไม่มุ่งเน้นกำไรอย่างเดียว ตลอดจนการสร้างกระแสบรรษัทที่รับผิดชอบสังคม (Corporate Social Responsibility-CSR) และวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise-SE) รวมทั้งทุนนิยมที่มีระบบเศรษฐกิจเสถียร (Steady State Economy)
ในปัจจุบัน จำนวนและการบริโภคของประชากรโลกได้สูงเกินความสามารถในการรองรับชีวิตของธรรมชาติแวดล้อมไปแล้ว แต่จำนวนประชากรมนุษย์ยังขยับสูงขึ้นไปอีก การบริโภคในประเทศตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้น
ในที่สุดแล้ว สังคมสมัยใหม่ก็จะลดขนาดและความซับซ้อนลงไปเอง เหลืออยู่เพียงว่ามันจะลดระดับลงอย่างนิ่มนวล หรือตกกระแทกพื้นจนเกิดการล่มสลายอย่างฉับพลันหรือไม่เท่านั้น
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย