http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-02-22

2555-ปีทองของพม่า!, +..ขอเพียงไม่มีสงคราม โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

2555-ปีทองของพม่า!
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1644 หน้า 39


"เราอาจจะต้องก้าวย่างอีกเป็นพันก้าว...(และ) ผมอยากจะเตือนคุณว่า
คุณจะต้องทำใจและหวังว่าสิ่งที่ดีที่สุดจะเกิดขึ้นอย่างไม่สงสัย
แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมทำใจสำหรับสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นด้วย"
Saw Tamla Baw
ผู้นำกลุ่ม KNU


ข่าวใหญ่ในช่วงต้นปี 2555 สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คงหนีไม่พ้นเรื่องของการเมืองพม่า ซึ่งมีแนวโน้มมากขึ้นถึงโอกาสของการปฏิรูปทางการเมือง และการเดินทางสู่กระบวนการสร้างประชาธิปไตย

แนวโน้มเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นสัญญาณอย่างมีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในพม่า

และอาจคาดการณ์ได้ว่า ปี 2555 น่าจะเป็น "ปีแห่งการเปิดประเทศ" ของพม่า อันจะเป็นหนึ่งในภูมิทัศน์ใหม่ทางยุทธศาสตร์ของภูมิภาคในอนาคต

ถ้ารัฐบาลทหารพม่าตัดสินใจเปิดประเทศจริง ก็ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง

เพราะผลจากการปิดประเทศอย่างยาวนาน ตลอดรวมถึงการใช้อำนาจเผด็จการทางการเมืองทำให้สังคมพม่าตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากประชาคมระหว่างประเทศ

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามที่จะจำกัดบทบาทของผู้นำฝ่ายค้านอย่างกรณีของ นางออง ซาน ซูจี นั้น ก็ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลทหารพม่าตกต่ำอย่างมาก เพราะในยุคปัจจุบันการดำรงอยู่ของรัฐบาลทหารในเวทีโลก เหลืออยู่เพียงไม่กี่ประเทศ

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ คำถามอีกด้านหนึ่งก็คือ แล้วผู้นำทหารจะ "เล่นเกม" กับโลกาภิวัตน์ที่อยู่รอบๆ ตัวพม่าอย่างไร



คงต้องยอมรับว่า ผู้นำทหารพม่าไม่ได้ "โง่" จนไม่รู้ว่าอะไรเกิดในโลกภายนอก

แต่ปัญหาก็คือ พวกเขาเดินเส้นทางการเมืองอย่างไรที่โลกาภิวัตน์จากภายนอกนั้น จะไม่กลายเป็นแรงกระแทกจนพวกเขาต้องตกจากเก้าอี้ไปอย่างที่ควบคุมไม่ได้

อย่างน้อยในสถานการณ์ร่วมสมัย พวกเขามองเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของทหารกับการเมืองในประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นความพ่ายแพ้ของกองทัพในการเมืองไทยในเดือนพฤษภาคม 2535 และตามมาด้วยความพ่ายแพ้ของกองทัพในการเมืองอินโดนีเซียหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่ในปี 2540

หรือในสถานการณ์ล่าสุด แม้กองทัพไทยจะหวนกลับมาเป็นผู้กุมอำนาจทางการเมืองหลังจากการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 แต่ก็เห็นความเป็นจริงอีกด้านว่า เป็นเพียงชัยชนะชั่วคราวที่ทำให้กองทัพต้องบอบช้ำในทางการเมืองเป็นอย่างยิ่ง หรือกองทัพของจีนอย่างกรณีการใช้กำลังปราบปรามประชาชนที่จัตุรัส เทียน อัน เหมิน แม้จะเป็นชัยชนะทางการทหารบนถนนในกรุงปักกิ่ง แต่ในทางการเมืองแล้ว ต้องถือว่ากองทัพจีนพ่ายแพ้ ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากกองทัพไทยหลังการยึดอำนาจในปี 2549 เช่นกัน

ดังนั้น โจทย์สำคัญของผู้นำทหารพม่าก็คือ พวกเขาจะยอมเล่นกับเกมโลกาภิวัตน์ ด้วยการเปิดระบบการเมืองให้เป็นเสรีนิยมจากการตัดสินใจของรัฐบาลทหารเอง หรือเป็นการเปิดจากความริเริ่มของตัวระบอบเดิม มิใช่ต้องเปิดจากผลของแรงกดดันจนตัวรัฐบาลทหารนั้นไม่สามารถดำรงอยู่ได้

(สามารถเปรียบเทียบได้กับกรณีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือพฤษภาคม 2535 ในไทย)


โจทย์เช่นนี้เป็นปัญหาของรัฐบาลทหารทั่วโลกทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติ เพราะการตัดสินใจด้วยความริเริ่มภายในนั้น เป็นโอกาสที่จะทำให้รัฐบาลทหารยังคงดำรงอำนาจและสิทธิพิเศษทางการเมืองบางประการไว้ได้ในระบบการเมือง

แต่การถูกบังคับด้วยความพ่ายแพ้ทางการเมืองนั้น อาจทำให้บทบาทของทหารต้องถูกผลักให้ออกจากเวทีการเมือง หรือเกิดกระบวนการ "การถอนตัวของทหารจากการเมือง" (military withdrawal from politics) อันเป็นตัวแบบที่ปรากฏให้เห็นจากการต่อสู้ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศในช่วงของการสร้างประชาธิปไตย (democratization)

ซึ่งก็คือคำตอบว่า ในที่สุดแล้วการแข็งขืนที่จะอยู่ในระบบการเมืองโดยอาศัยอำนาจเผด็จการเป็นพื้นฐานอย่างปราศจากความคิดริเริ่ม และขาดความตระหนักรู้ถึงสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองรอบๆ ตัวแล้ว สุดท้ายพวกเขาจะถูกบังคับให้ต้องลงจากเก้าอี้อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้

แต่ในกรณีของพม่า เห็นได้ชัดเจนว่า ผู้นำทหารพร้อมแล้วที่จะเล่นในเกมการเมืองแบบโลกาภิวัตน์ ที่มีประชาธิปไตยแบบผู้แทนเป็นแกนกลางของการต่อสู้

ภาพข่าวปลายปี 2554 จากการเดินทางเยือนพม่าของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะภาพสำคัญจากการสวมกอดระหว่าง นางฮิลลารี คลินตัน และ นางออง ซาน ซูจี บ่งบอกถึงสัญญาณของความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน

ถ้าผู้นำทหารพม่ายังใช้นโยบายแข็งกร้าวแบบเดิมแล้ว โอกาสของสองสตรีสำคัญในการเมืองโลกที่จะได้พบปะสวมกอดนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

สัญญาณใหม่เช่นนี้ตามมาด้วยท่าทีของ นางออง ซาน ซูจี ที่ก็มีลักษณะประนีประนอมกับผู้นำทหารมากขึ้น พร้อมๆ กับท่าทีของผู้นำทหารก็มีลักษณะเปิดกว้างมากขึ้นเช่นกัน

และก่อนที่ปี 2554 จะสิ้นสุดก็มีการตอกย้ำที่ชัดเจนขึ้นจากการเดินทางเข้าเยือน นางออง ซาน ซูจี ของเอกอัครราชทูตอังกฤษ ซึ่งก็เท่ากับบ่งบอกถึงท่าทีที่อาจเปลี่ยนแปลงของกลุ่มสหภาพยุโรป ที่เดิมถือเอานโยบายปิดล้อมทางเศรษฐกิจเป็นทิศทางหลัก (ไม่แตกต่างจากนโยบายของทำเนียบขาว)

แต่สัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ กระบวนการทางการเมืองที่เดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขกฎหมายต่างๆ และที่สำคัญก็คือการเปิดโอกาสให้ นางออง ซาน ซูจี เดินสายหาเสียงไปยังพื้นที่ต่างๆ

ซึ่งเท่ากับเป็นการตอกย้ำว่า ผู้นำทหารพม่าตัดสินใจอย่างชัดเจนแล้วที่จะนำพาประเทศไปสู่การเมืองแบบการเลือกตั้ง และอย่างน้อยก็บ่งบอกอีกด้วยว่า พวกเขาจะไม่รวบอำนาจไว้ในมือเหมือนอย่างเมื่อปฏิเสธผลการเลือกตั้งของนางซูจีครั้งก่อนในปี 1988



ดังนั้น หากต้องตีความจากสัญญาณต่างๆ นับตั้งแต่การเดินทางเยือนพม่าของนางคลินตัน และภาพสวมกอดระหว่างเธอกับนางซูจีเป็นต้นมาแล้ว ก็พอจะอนุมานได้ว่าจะเกิดกระบวนการทางเศรษฐกิจและการเมืองสำคัญใน 4 ส่วนคือ


1) กระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตยกำลังเดินหน้าในพม่า

คงต้องยอมรับว่า ผู้นำทหารพม่าได้แสดงท่าทียอมรับต่อการเมืองแบบการเลือกตั้งมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากในอดีตอย่างมาก

การแสดงออกเช่นนี้ทำให้พวกเขาได้รับสัญญาณเชิงบวกจากประชาคมระหว่างประเทศมากขึ้นเช่นกัน

แม้จะมีข้อกังวลว่า หากการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง ผู้นำทหารอาจจะใช้วิธีการต่างๆ ที่จะทำให้พวกเขา/กลุ่มของเขาเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง

แต่ก็คงต้องยอมรับในอีกด้านหนึ่งว่า หากเกิดการเลือกตั้งในพม่า ก็คงจะเป็นที่จับตามองจากเวทีภายนอก จนถึงอาจมีการส่งผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศเข้ามาตรวจดูการเลือกตั้ง ซึ่ง "กลการเมือง" คงใช้ไม่ได้ง่ายนัก

และในทางกลับกัน อีกด้านหนึ่งก็อาจเป็นสัญญาณเชิงบวกด้วยว่า รัฐประหารในพม่าคงไม่อาจเกิดขึ้นได้ง่ายในสถานการณ์การเมืองใหม่ อย่างน้อยก็เห็นจากท่าทีของผู้นำทหารที่ตัดสินใจเปิดระบบการเมือง

ประเด็นสำคัญจากกรณีนี้ก็คือ การปฏิรูปการเมืองยังอาจตีความได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการ "เปิดประเทศ" และอาจต้องถือว่าเป็นอีกเรื่องเชิงบวกก่อนที่ประชาคมอาเซียนจะถือกำเนิดขึ้นในปี 2558


2) กระบวนการสร้างทุนนิยมกำลังขยายตัวในพม่า

การเปิดประเทศในทางการเมืองนั้น ย่อมส่งผลโดยตรงต่อการเปิดระบบเศรษฐกิจของพม่า

เพราะในด้านหนึ่งเมื่อเกิดการปฏิรูปทางการเมืองขึ้น จะทำให้บรรดาประเทศตะวันตกยกเลิกนโยบายแซงก์ชั่นเช่นที่ใช้เป็นเครื่องมือในการกดดันรัฐบาลพม่า

ซึ่งการยกเลิกนโยบายดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้ทั้งเอกชนและภาครัฐเข้ามาลงทุนในพม่ามากขึ้นในอนาคต

ในอีกด้านหนึ่งการปิดประเทศอย่างยาวนาน ทำให้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติภายในประเทศยังมีเหลืออยู่มาก อันจะเป็นประเด็นที่นักลงทุนจากภายนอกสนใจที่จะบุกเข้าสู่แหล่งทรัพยากรในพม่า พร้อมๆ กับความต้องการที่จะบุกเข้าสู่ตลาดพม่า ซึ่งจะเป็นดัง "ตลาดใหม่" ในภูมิภาค

นอกจากนี้ การขยายตัวของระบบทุนนิยมในพม่าในอนาคต ย่อมจะนำไปสู่การก่อตั้งตลาดหุ้นขึ้น

ซึ่งก็จะเป็นปัจจัยชักจูงให้เกิดการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้นนั่นเอง


3) กระบวนการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจกำลังเพิ่มมากขึ้นในพม่า

การเปิดประเทศของพม่าจะนำมาซึ่งการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจภายนอกที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในพม่า ดังปรากฏการณ์ของความพยายามในการปรับนโยบายของรัฐบาลของประธานาธิบดี บารัค โอบามา ที่ต้องการเปลี่ยนทิศทางของสหรัฐอเมริกาจากการปิดล้อมไปสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนาคต

ในขณะที่ความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนแต่เดิม ก็ยังคงมีความสำคัญในยุทธศาสตร์ของพม่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปรากฏการณ์เช่นนี้สะท้อนให้เห็นในอนาคตว่า พม่าจะเป็นพื้นที่สำคัญของการต่อสู้เชิงอิทธิพลระหว่างสหรัฐกับจีน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือเป็น "สนามแข่งขันทางการเมือง" ของสองมหาอำนาจใหญ่อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ในอีกด้านหนึ่ง บทบาทของอินเดียก็ขยายมากขึ้นในพม่า ผลของความต้องการพลังงานผลักดันอย่างมากให้อินเดียต้องมุ่งพัฒนาความสัมพันธ์กับพม่าเพื่อรองรับต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมในบ้าน

และในส่วนของสหภาพยุโรปเอง ก็คาดการณ์ได้ไม่ยากว่า เมื่อการเปิดประเทศเกิดขึ้น ประเทศต่างๆ ในยุโรปโดยเฉพาะอังกฤษก็จะมุ่งเข้าสู่พม่าเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่แตกต่างกัน ตลอดรวมถึง รัสเซีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ก็คงจะมุ่งสู่พม่าเช่นกันด้วย

ผลจากสภาพเช่นนี้ พม่าอาจจะดูเหมือน "สาวเนื้อหอม" ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ พม่าจะเป็น "สนามแข่งขันทางเศรษฐกิจ" ของบรรดารัฐมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตและการลงทุนเข้ามาในพม่ามากขึ้นในอนาคต


4) กระบวนการปรองดองกำลังเดินต่อไปในพม่า

หากพิจารณาว่าภาพคู่ขนานกับการปฏิรูปทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้น เราอาจจะเห็นอีกภาพหนึ่งก็คือ การปรองดองทางการเมืองระหว่างรัฐบาลกลางกับชนกลุ่มน้อย ซึ่งก็ปรากฏภาพของการวางอาวุธของกลุ่มต่างๆ จนอาจถือเป็นสัญญาณเชิงบวกของกระบวนการปรองดองที่เดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้งเช่นกัน

ซึ่งหากแนวโน้มของสงครามกลางเมืองลดความรุนแรงลง จนเกิดเสถียรภาพของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลในอนาคตกับชนกลุ่มน้อยได้แล้ว สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นแรงกระตุ้นที่จะทำให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนและการท่องเที่ยวในพม่ามากขึ้นด้วย

แม้จะมีข้อกังวลถึงความไม่แน่นอนจากฝ่ายต่างๆ แต่อย่างน้อยก็เห็นทิศทางเชิงบวกมากขึ้น ในขณะเดียวกันอาจจะไม่มีคำตอบที่ชัดเจนในอนาคต โดยเฉพาะคำถามว่า รัฐบาลใหม่จะนำเอา "ข้อตกลงปางหลวง" (เรียกด้วยเสียงแบบไทย) กลับมาใช้เป็นรากฐานของความสัมพันธ์กับชนกลุ่มน้อยในอนาคตอีกหรือไม่ ซึ่งก็หวังว่าทุกฝ่ายต่างมีบทเรียนจากปัญหาเช่นนี้มาแล้วในอดีต

สิ่งที่กล่าวมาแล้วในข้างต้นว่าที่จริง ตอบคำถามสำคัญประการเดียวก็คือ พ.ศ.2555 น่าจะเป็น "ปีทองของพม่า" และอย่างน้อยก็แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวครั้งใหญ่ก่อนที่พม่าจะเป็นประธานอาเซียนในปี 2557

และในขณะเดียวกัน ปรากฏการณ์ต่างๆ แม้จะสะท้อนภาพเชิงบวก แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ในกระบวนการเช่นนี้ มีปัญหาต่างๆ อีกเป็นจำนวนมากที่รอการแก้ไข และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป อย่างน้อยก็พอจะกล่าวด้วยความยินดีว่า เราพอจะเห็น "แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์" ของการเมืองพม่าได้บ้างแล้ว

เพราะแต่เดิมนั้นอุโมงค์นี้ "มืดทึบและตีบตัน" เป็นอย่างยิ่ง!



++++
บทความของปีที่แล้ว 2554

ไม่สิ้นทางออก ไม่สุดทางตัน ขอเพียงไม่มีสงคราม!
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1593 หน้า 36


"เวลานี้เราอยู่ในสังคมของโลก สมัยนี้ไม่มีชาติใดที่จะอยู่โดยโดดเดี่ยวได้
ประเทศไทยของเราได้รับความนิยมนับถือจากสังคมนานาชาติเพียงใด
พี่น้องทั้งหลายคงจะทราบดีอยู่แล้ว ถ้าชาติของเราต้องเสียศักดิ์ศรี
และเกียรติภูมิไปเนื่องจากซากปราสาทพระวิหารคราวนี้แล้ว อีกกี่สิบกี่ร้อยปี
เราจึงจะสามารถสร้างเกียรติภูมิที่สูญเสียไปคราวนี้กลับคืนมาได้"
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
4 กรกฎาคม 2505


ยิ่งนานวันความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาก็ยิ่งถดถอยลงอย่างเห็นได้ชัด

ปัญหาปราสาทเขาพระวิหารได้กลายเป็นประเด็นพื้นฐานอย่างดีที่ถูกใช้เพื่อการปลุกระดมของกระแสชาตินิยมซึ่งเกิดขึ้นในสองฟากฝั่งของเส้นเขตแดนและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของไทยนับตั้งแต่กลางปี 2551 เป็นต้นมา ได้มีการโหมกระหน่ำปลุกกระแสนี้อย่างหนักหน่วง

จนก่อเกิดความกังวลว่า การขับเคลื่อนของกระแสขวาชาตินิยมนั้น อาจทำให้เกิดความขัดแย้งจนถึงขั้นใช้กำลังอาวุธเข้าตัดสินปัญหาระหว่างประเทศทั้งสองได้ไม่ยากนัก ดังเช่นเหตุการณ์การสู้รบที่เกิดขึ้น

ดังนั้น ถ้าสำรวจทางออกจากปัญหาข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในกรณีปราสาทพระวิหาร เราอาจประมวลความเป็นไปได้ของทางออกใน 6 ทางเลือก

ได้แก่


1) ใช้สงครามเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา (ตัวแบบ 2484)

ถ้าเราย้อนกลับไปรำลึกถึงประวัติศาสตร์ของขบวนการเรียกร้องดินแดนคืนในปี 2483-84 อาจจะเห็นได้ถึงความคล้ายคลึงของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตกับปัจจุบัน

กล่าวคือ หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 แล้ว เราได้เริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้นในการก่อตัวของ "ลัทธิชาตินิยมไทย" ที่มีความผูกโยงกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทยและอาณาเขตที่สยามเคยมีอำนาจการปกครองแต่เดิม และปาฐกถาของหลวงวิจิตรวาทการที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในเดือนสิงหาคม 2481 เป็นคำยืนยันที่ดีในกรณีนี้

ดังจะเห็นได้ว่า หลังจากนั้น การเคลื่อนตัวของกระแสชาตินิยมดังกล่าวได้เผยแพร่อย่างกว้างขวางทั้งในกลุ่มทหารและกลุ่มพลเรือน

ประจักษ์พยานที่ชัดเจนที่แสดงให้เห็นต่อมาก็คือ การเดินขบวนเรียกร้องดินแดนคืนของนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การก่อตัวของกระแส "ชาตินิยมไทย" ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของกรนำพาประเทศเข้าสู่สงครามอินโดจีนในเวลาต่อมา ผลของสงครามทำให้ไทยได้ดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงพร้อมกับมณฑลบูรพาคืนด้วยอนุสัญญาโตเกียว พ.ศ.2484

แต่เมื่อสงครามสงบในปี 2488 ไทยก็ต้องคืนดินแดนที่ครอบครองไว้ให้แก่เจ้าอาณานิคมเดิมดังความตกลงในอนุสัญญาวอชิงตัน พ.ศ.2489

ในสถานการณ์ปัจจุบัน กองทัพกัมพูชาอาจจะอ่อนด้อยกว่ากองทัพไทย แต่ชัยชนะทางทหารแต่เพียงประการเดียวย่อมไม่ใช่คำตอบที่ไทยจะสามารถยึดครองดินแดนของประเทศเพื่อนบ้านได้ตามอำเภอใจ

และในโลกาภิวัตน์ ไทยเองก็ไม่สามารถกำหนดเขตแดนใหม่ถาวรให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นจริง เพราะโอกาสและแนวโน้มที่ประชาคมระหว่างประเทศจะยอมรับต่อการปรับเส้นเขตแดนใหม่ในศตวรรษที่ 21 ย่อมไม่น่าจะเป็นไปได้

ดังนั้น การคิดใช้มาตรการทางทหารเพื่อเปลี่ยนสถานะเดิมของเส้นเขตแดน อาจจะทำให้ไทยเองต้องเผชิญกับแรงกดดันจากประชาคมระหว่างประเทศมาก

จนแม้จะชนะการรบในพื้นที่พิพาท แต่ในท้ายสุดก็ต้องตอบกลับสู่ "สถานภาพเดิม" ของเส้นเขตแดนไทยเช่นที่เป็นอยู่


2) นำข้อพิพาทขึ้นสู่การตัดสินของศาลโลก (ตัวแบบ 2505)

ปัญหาความขัดแย้งเรื่องอาณาเขตของรัฐในหลายกรณี มักจะไปจบลงที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือที่เราเรียกกันว่า "ศาลโลก" ดังนั้น หากปัญหายังคงมีคาราคาซังไม่สิ้นสุดพร้อมกับมีแนวโน้มของความรุนแรงมากขึ้นแล้ว สถานการณ์ดังกล่าวจะกลายเป็นโอกาสสำหรับรัฐบาลกัมพูชา ในการนำเอากรณีนี้ไปสู่การพิจารณาคดีของศาลโลกในอนาคต

แน่นอนว่ารัฐบาลไทยไม่ปรารถนาที่จะเดินบนเส้นทางสายนี้ เพราะประสบการณ์ในอดีตของการที่ศาลโลกตัดสินให้ปราสาทพระวิหารอยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชาในปี 2505 ได้กลายเป็นสิ่งที่คอยตามมาหลอกหลอนรัฐบาลต่างๆ ในทุกครั้งที่เกิดปัญหาในบริเวณตามแนวชายแดน

อย่างไรก็ตาม คงต้องตระหนักว่า ถ้าต้องไปศาล คู่กรณีก็จะต้องใช้เอกสารเดิมในการต่อสู้ในช่วงปี 2502 - 2505 ไม่ว่าจะเป็นอนุสัญญา ค.ศ.1904 และสนธิสัญญา ค.ศ.1907 พร้อมแผนที่ปักปันเขตแดน ซึ่งก็ทำให้เกิดคำถามว่า จากเงื่อนไขของเอกสารดังกล่าวไทยเคยแพ้คดีมาแล้ว ถ้านำมาใช้อีกจะทำให้เราได้ชัยชนะหรือ ?

หากพิจารณาเช่นนี้แล้ว จะเห็นได้ชัดเจนว่า ทางเลือกด้วยการตัดสินใจไปศาลนั้น ผลที่เกิดขึ้นไม่น่าจะเป็นบวกแก่ไทยเท่าใดนัก


3) ใช้กระบวนการเจรจาแบบพหุภาคี (ตัวแบบ 2489)

หนึ่งในหนทางสำคัญของการแก้ปัญหาความขัดแย้งในเรื่องเส้นเขตแดนของรัฐที่เป็นกรณีพิพาทก็คือ การนำปัญหาเข้าสู่ที่ประชุมของประชาคมระหว่างประเทศ และหวังว่าที่ประชุมดังกล่าวจะออกข้อมติอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาเพื่อควบคุมพฤติกรรมของรัฐ หรืออาจจะใช้รัฐที่สาม (ซึ่งอาจจะมากกว่าหนึ่งรัฐก็ได้) เป็น "คนกลาง" ในการเจรจา เพราะการเจรจาแบบสองฝ่ายไม่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ก็จะต้องตระหนักว่า คำตัดสินดังกล่าวมีผลผูกพันรัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ไทยเองก็เคยมีบทเรียนจากการแก้ปัญหาชายแดนด้วยคณะกรรมการพหุภาคีมาแล้ว เป็นแต่เพียงเรื่องราวดังกล่าวอาจจะเก่า จนดูเหมือนเราจะหลงลืมไปกับอดีตของปัญหาในปี 2489

กล่าวคือ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลงในปี 2488 หนึ่งในประเด็นสำคัญก็คือ ดินแดนที่ไทยได้มาจากสถานการณ์สงครามในปี 2484 จะยังคงเป็นของไทยต่อไปหรือไม่

ผลจากความตกลงระงับกรณีระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส และพิธีสารว่าด้วยการถอนตัวออกไป และการโอนอาณาเขต (ลงนาม ณ กรุงวอชิงตัน, 17 พฤศจิกายน 2489) ได้จัดตั้งคณะกรรมการประนอมฝรั่งเศส-ไทย ขึ้น และผลของการประชุมของคณะกรรมการประนอมฝรั่งเศส-ไทย ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในวันที่ 27 มิถุนายน 2490 มีความเห็นที่สำคัญ ผูกมัดให้ในที่สุดแล้ว รัฐบาลไทยได้ส่งคืนดินแดนทั้งสามส่วน (มณฑลบูรพา หลวงพระบาง และจำปาศักดิ์) ให้แก่ฝรั่งเศส ซึ่งอีกส่วนหนึ่งของดินแดนที่ได้มาในปี 2486 รัฐบาลไทยก็ส่งมอบคืนกลับให้แก่อังกฤษด้วยเช่นกัน

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เส้นเขตแดนไทยกับ อินโดจีนฝรั่งเศสกลับคืนสู่สถานภาพเดิม ดังที่เป็นไปตามสัญญา ค.ศ.1893 อนุสัญญา ค.ศ.1904 สัญญา ค.ศ.1907 เช่นที่ได้ดำเนินการแล้วในสมัยรัชกาลที่ 5

ซึ่งก็คือการกลับสู่ "สถานภาพเดิม" ของเส้นเขตแดน


4) ใช้กระบวนการเจรจาแบบทวิภาคี (ตัวแบบ 2484)

เห็นได้ชัดเจนว่ารัฐบาลไทยมีความประสงค์อย่างมากที่จะจำกัดแนวทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเส้นเขตแดนไว้ในรูปของการเจรจาแบบสองฝ่าย เพราะไม่ต้องการให้ปัญหาถูกขยายด้วยการมีประเทศอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะอาจจะทำให้ควบคุมได้ยาก

แต่ก็ไม่มีความชัดเจนว่าถ้าปล่อยให้เป็นปัญหาของการเจรจาแบบสองฝ่ายเช่นที่รัฐบาลไทยต้องการแล้ว และปัญหาได้ขยายความรุนแรงมากขึ้นดังกรณีการรบที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา รัฐคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะยอมอดทนอยู่กับการเจรจาแบบสองฝ่ายอีกต่อไปหรือไม่

และหากรัฐคู่กรณีเลือกหนทางของการขึ้นศาล หรือเจรจาแบบหลายฝ่ายแล้ว รัฐบาลไทยจะทำอย่างไร

หรือว่าความฝันของรัฐบาลไทยยังคงหวังในแบบปี 2484 ว่า สุดท้ายแล้วเราจะมีรัฐมหาอำนาจเข้ามาช่วยเป็น "ผู้กำกับ" เหมือนเช่นญี่ปุ่นช่วยทำให้ปัญหาความขัดแย้งไทยกับฝรั่งเศสจบลงด้วยผลตอบแทนที่ทำให้ไทยสามารถปรับปรุงเส้นเขตแดนด้านตะวันออกด้วยการได้ดินแดนบางส่วนกลับคืนมา (ผลจากอนุสัญญาโตเกียว พ.ศ.2484)

ในความเป็นจริงของปัญหาปัจจุบัน สิ่งที่ไทยต้องตระหนักก็คือ ไทยไม่เพียงแต่จะไม่มีรัฐมหาอำนาจที่เป็นเสมือนญี่ปุ่นในปี 2484 เท่านั้น เราอาจจะไม่มีรัฐมหาอำนาจใดเลยมาช่วยเราเลยก็ได้

เว้นแต่เราจะยังคงเชื่อเอาเองว่า ในท้ายที่สุด สหรัฐอเมริกาจะเป็น "พระเอกขี่ม้าขาว" มาช่วยไทยได้ เช่นในยุคสงครามเย็น หรือสงครามเวียดนาม เพราะอย่างน้อยไทยได้ส่งตัวทั้งฮัมบาลี และวิคเตอร์ บูท ให้สหรัฐฯ แล้ว



5) ความรุนแรงขยายตัวนำไปสู่การแทรกแซงจากภายนอก (ตัวแบบแคชเมียร์)

แน่นอนว่าทางเลือกเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลและสังคมไทยปรารถนา เพราะถ้าปัญหาข้อพิพาทในปัญหาเขตอธิปไตยระหว่างไทยกับกัมพูชาขยายตัวมากขึ้นจนกลายเป็นสงครามและไม่สามารถควบคุมได้แล้ว โอกาสที่ปัญหาดังกล่าวจะถูกแทรกแซงจากปัจจัยภายนอกก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งที่รัฐบาลและสังคมไทยอาจจะต้องตระหนักไว้บ้างก็คือ ถ้าความขัดแย้งขยายตัวมากขึ้น จนถึงขั้นมีการใช้กำลังอาวุธเข้าจัดการกับปัญหาเช่นที่เกิดขึ้นแล้ว ปัญหานี้ในอนาคตจะถูกแทรกแซงจากสหประชาชาติ เช่น คณะมนตรีความมั่นคง (UNSC) อาจจะออกข้อมติให้พื้นที่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกลายเป็น "เขตปฏิบัติการรักษาสันติภาพ" พร้อมๆ กับมีการส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้ามาเป็นผู้ควบคุมและดูแลเพื่อทำหน้าที่ในการ "หย่าศึก" ระหว่างรัฐสองฝ่าย

ซึ่งในกรณีนี้จะขอเทียบเคียงกับกรณีแคชเมียร์ (อินเดีย v ปากีสถาน) ที่ใช้กองกำลังรักษาสันติภาพเข้าควบคุมพื้นที่ที่เป็นปัญหาข้อพิพาท

ทางออกในลักษณะเช่นนี้ไม่เป็นผลประโยชน์สำหรับฝ่ายไทยแต่อย่างใด เพราะในท้ายที่สุดก็อาจจะต้องจบลงด้วยการนำคดีขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เพื่อเป็นการยุติปัญหา



6) สร้างโอกาสและแสวงประโยชน์ร่วม (ตัวแบบไทย-มาเลเซีย)

หนทางที่น่าจะเป็นประโยชน์ที่สุดในความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก็คือการเปลี่ยน "พื้นที่ขัดแย้ง" เป็น "พื้นที่พัฒนาร่วม" หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการลดเงื่อนไขความขัดแย้ง เพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงจาก "จับอาวุธ" เป็น "จับมือ" แทน

โดยหวังว่าในที่สุดแล้ว รัฐคู่กรณีจะไม่ใช้มาตรการทางทหาร มาตรการทางการศาลและกฎหมาย หรือมาตรการเจรจาแบบไม่มีทางออก และหันไปสู่การยอมรับว่า รัฐและประชาชนของสองประเทศต้องอยู่ร่วมกันอย่างสันติในพื้นที่ตลอดแนวชายแดน และจะต้องเป็นผู้รับผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่ใช่กลายเป็น "เหยื่อสงคราม" หรือเป็นผู้รับผลพวงของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างไม่รู้จบในอนาคต

ซึ่งตัวแบบเช่นนี้ไทยเองก็ประสบความสำเร็จมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย หรือการจัดทำพื้นที่ลาดตระเวนร่วมทางทะเลไทย-เวียดนาม

และจะบอกว่าไทยไม่เคยทำให้พื้นที่ความขัดแย้งกลายเป็นเขตสันติภาพก็คงไม่จริง !

แม้ทางออกประการสุดท้ายอาจจะดูเป็นอุดมคติ และดูจะเป็นไปได้ยากในภาวะที่มีการเผชิญหน้าเกิดขึ้น แต่ถ้าเราตั้ง "สติ" ได้มากขึ้นแล้ว บางทีเราอาจจะทำให้อุดมคติเป็นความจริงขึ้นได้ เพราะอย่างน้อยก็ทำให้อนาคตของผู้คนที่เป็นพี่น้องบนสองฟากของพรมแดน เป็นอนาคตของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติโดยปราศจากสงครามชายแดน

แต่ถ้าใช้สงครามเป็นเครื่องมือของการแก้ปัญหาแล้ว สุดท้ายเรื่องราวชุดปราสาทพระวิหารจะจบลงด้วยการแทรกแซงจากปัจจัยภายนอกอย่างแน่นอน และผลลัพธ์ก็จะไม่สวยหรูอย่างที่ชนชั้นนำและรัฐบาลไทยคาดหวังไว้เลย

เว้นแต่เราจะฝันอย่างลมๆ แล้งๆ ว่าเรากำลังอยู่ในช่วงปี 2484 ก่อนการกำเนิดของอนุสัญญาโตเกียว!



.