http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-02-26

คนขาว โดย คำ ผกา

.

คนขาว
โดย คำ ผกา http://th-th.facebook.com/kidlenhentang
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1645 หน้า 89


"อยากมีรายได้เพิ่มขึ้นหนึ่งล้านบาท ทำไง?"
อยู่ๆ เพื่อนที่กำลังเดินไปขึ้นรถไฟฟ้าก็ถามขึ้นมาอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ฉันมัวแต่งงง เพื่อนเลยตอบให้เสร็จสรรพว่า
"หาผัวฝรั่งดิมึง" ฟังคำตอบเพื่อนยิ่งงงเข้าไปใหญ่ จนกระทั่งเพื่อนพูดต่อว่า
"ตรูจะไปเรียนภาษาอังกฤษกับมึงทำไมให้เสียเวลา"-อ๋อ-เพื่อนไม่ได้คุยกับฉันสักหน่อยแต่กำลังโต้ตอบกับป้ายโฆษณาที่แปะหราอยู่ตามสถานีรถไฟฟ้านั้นต่างหาก

ป้ายนั้นเขียนว่า "อยากหาเงินเพิ่มหนึ่งล้านบาท ทำอย่างไร?" คำตอบมีให้เลือกจากรูปภาพ ผู้หญิงหัวฟูแบบแอฟโฟร หน้าตาเปิ่นเทิ่น บูดบึ้ง มีพวงมาลัยแบบคล้องศาลพระภูมิห้อยอยู่เต็มคอ จากนั้นเขียนว่า "เป็นนักร้อง" อีกภาพหนึ่ง เป็นภาพหญิงสาวผมยาวสลวย ยิ้มสวย อันเป็นรอยยิ้มแบบฉบับการโฆษณาผงซักฟอก นม เครื่องดื่มบำรุงสุขภาพ คะนอร์ซุปไก่ คือเป็นรอยยิ้มที่มีความเป็นแม่ ลูกสาว และเมียที่ดี สวมเสื้อยืดเขียนคำภาษาอังกฤษถึงโรงเรียนสอนภาษาแห่งหนึ่ง

สารที่โฆษณานี้ต้องการจะบอกกับเราคือ หากคุณอยากมีรายได้เพิ่มหนึ่งล้านบาท คุณจงมาเรียนภาษาอังกฤษกับโรงเรียนสอนภาษาของเรา
มิหนำซ้ำยังอ้างผลสำรวจว่าคนเรียนภาษาอังกฤษกับโรงเรียนแห่งนั้นได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นถึง 20% และเก็บเงินได้ถึง หนึ่งล้านบาท

เป็นการโฆษณาเกินจริงหรือไม่คงต้องเป็นเรื่องของ สคบ. ที่จะต้องตรวจสอบ เพราะการเก็บเงินได้ถึงหนึ่งล้านบาทนั้น เก็บได้เพราะประหยัดมาก เก็บได้เพราะเงินเดือนสูงมาก เก็บได้เพราะอาศัยอยู่ร่วมชายคากับพ่อ-แม่ ไม่ต้องจ่ายค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ากับข้าว
เก็บเงินได้เพราะผัวเลี้ยง
เก็บเงินได้เพราะเป็นนายหน้าขายที่ดินเป็นรายได้เสริม และอีกสารพัดปัจจัยที่อาจทำให้คนเก็บเงินได้ หนึ่งล้านบาท อันมิใช่เงินก้อนใหญ่ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน
พิสูจน์ได้อย่างไรว่า เก็บเงินได้เพราะเรียนภาษาอังกฤษ?

เอาประโยคนี้ไปไว้ในโฆษณาธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยอัตราสูงสุดกับการฝากประจำหรือโฆษณาสลากออมสิน ยังจะน่าเชื่อถือเสียมากกว่า



คนเรียนภาษาอังกฤษกับโรงเรียนสอนภาษาแล้วมีรายได้สูงขึ้น 20% เป็นถ้อยคำที่โกยผลประโยชน์เข้าตนโดยอาศัยความกำกวม เพราะทักษะภาษาอังกฤษที่มากกว่าคนอื่นย่อมทำให้มีโอกาสรับรายได้หรืออัตราเงินเดือนที่สูงกว่าผู้อื่นอยู่แล้ว

ไม่เพียงแต่ภาษาอังกฤษ ความรู้ภาษาต่างประเทศทุกภาษาย่อมเป็นหนทางเพิ่มรายได้ ไม่ว่าจะเป็นภาษาจีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี พม่า เขมร ฯลฯ เพื่อนของฉันที่รู้ภาษาญี่ปุ่นอย่างเลิศนั้นสามารถหาเงินล้านจากการเป็นล่ามได้ไม่ยากเย็นเลย

แต่สิ่งที่ฉันสนใจไม่ใช่เรื่องการโฆษณาว่าเกินจริงหรือไม่ แต่เป็น "รหัส" ที่อยู่ในโฆษณาชิ้นนี้ และอาจจะจริงอย่างที่เพื่อนของฉันแสดงความคิดเห็นไปว่า "หาผัวฝรั่งจะเร็วกว่าไปนั่งเรียนภาษาอังกฤษ-ที่ไม่รับประกันว่าสอนดีจริงหรือไม่ แถมยังอาจแพงระยับ"

รหัสแรกคือ รูปลักษณ์ของผู้หญิงที่ไม่เป็นที่พึงปราถนาของสังคมไทย-ผมหยิกฟูฟ่อง ปากหนา ตาโตไม่เท่ากัน จมูกบาน ปากหนาแดงเจ่อ

ทั้งหมดนี้ มันคือการจำลองถอดภาพจำแลงอย่างย่นย่อของผู้หญิงผิวสี

ฉันมั่นใจว่าคนที่ทำภาพนี้ไม่ได้ตั้งใจ และไม่รู้ตัว แต่เขาหรือเธอคือผลผลิตของสังคมที่เชื่อว่าความขาวคือความงาม จมูกโด่ง ริมฝีปากเรียวเล็กคือความงาม

และคงยากที่คนเหล่านี้จะเห็นว่านักร้องทรงเสน่ห์อย่าง Jill Scot นั้น "งาม" หรือจะเลือกระหว่าง ริฮานน่า กับ แอฟ ทักษอร-ก็คงเห็นว่า แอฟ ทักษอร นั้น "งาม" กว่าอย่างแน่นอน

เพราะความน่าปรารถนานั้น ไม่ได้อยู่ที่ความสวยแต่เพียงอย่างเดียวแต่ต้องบรรจุ "คุณภาพ" แห่งความเป็นกุลสตรีของยุคสมัย เช่น มาจากครอบครัวที่ดี มีการศึกษาดี ผิวพรรณ รูปลักษณ์ ทรงผม เสื้อผ้า-ย่อมบอกคุณภาพทางชนชั้นอุดมการณ์ของผู้หญิง


คำถามคือ ทำไมต้อง "นักร้อง?" พวงมาลัยที่คล้องคอผู้หญิงในโฆษณาดังกล่าว บอกเราว่า นี่ไม่ใช่นักร้องของเอเอฟ หรือเดอะสตาร์ อย่างแน่นอน แต่คือนักร้องคาเฟ่

คงมีแต่สังคมที่หูหนาตาเล่อต่อการเหยียดหยามเพศ ชาติพันธุ์ ชนชั้น อาชีพ สีผิว อย่างสังคมไทยเท่านั้นที่ปล่อยให้โฆษณาชิ้นนี้ลอยนวลอยู่ได้

เพราะคำถามแรกที่เราต้องถามคือ "เป็นนักร้องแล้วไง?" ที่สำคัญ "เป็นนักร้องคาเฟ่แล้วไง?"

เมื่อไหร่สังคมจะเติบโต บรรลุวุฒิภาวะ เลิกเป็นเด็กอมมือและรู้สำเหนียกอย่างคนที่มี cultivation-นิยามของผู้มีวัฒนธรรมนั้นไม่เกี่ยวอะไรกับสยามเมืองยิ้ม ไม่เกี่ยวกับโขน ละครนอก ละครใน วัดวาอาราม ไม่เกี่ยวกับความภูมิใจในภาษาไทยที่ไม่เหมือนใคร แต่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเคารพและให้เกียรติเพื่อนมนุษย์ โดยไม่เกี่ยงสัญชาติ สีผิว ชนชั้น อาชีพ

และการเคารพนี้ไม่เป็นเรื่องเดียวกันกับความสงสาร เห็นใจ ไปจนถึงสมเพช เวทนา นักร้องคาเฟ่ หมอนวด กะหรี่ สามล้อ คนงานต่างด้าว และอีกหลายอาชีพที่ "คนขาว" ในสังคมไทยทั้งหลายรังเกียจนั้น พวกเขาไม่ได้ต้องการความปรานี เห็นใจ ไม่ต้อง กรี๊ดกร๊าด เข้าไปสังคมสงเคราะห์ หรือ ยื่นมือลงไปอยากช่วยให้พวกเขาพ้นจากความเป็นกะหรี่มานุ่งซิ่นนั่งทอผ้าขายโอท็อป

สิ่งที่พวกเขาต้องการก็เหมือนกับสิ่งที่มนุษย์ต้องการคือ "การเคารพในความเป็นมนุษย์" ที่มีเกียรติและศักดิ์ศรีเท่ากัน



การลดความเหลื่อมล้ำในสังคมนั้น ไม่ได้อยู่ที่การลดจำนวนกะหรี่หรือลดจำนวน "คนจน" แต่คือการเริ่มต้นที่เราต้องเห็น "คน" ในฐานะที่เป็น "พลเมือง" ของรัฐที่มีศักดิ์ศรีเท่ากัน

เห็นดังนี้ เราจึงจะสามารถคิดถึงนโยบายที่เอื้อต่อ "สาธารณะ" หรือคนส่วนใหญ่ของสังคมมากกว่าจะออกแบบการพัฒนาประเทศหรือเมืองที่เอื้อประโยชน์และอภิสิทธิ์ต่อคนส่วนน้อย ขณะเดียวกันก็แบ่งเค้กชิ้นบางๆ ไปทำการสงเคราะห์คนจนไปวันๆ

นโยบายที่ให้ความสำคัญกับ "สาธารณะ" ที่จะไปช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้โดยอัตโนมัติ แต่มันไม่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทย (หรือเกิดแต่ไม่สำเร็จเพราะไม่ได้รับการสานต่อ ) เช่น นโยบายที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย แฟลตของการเคหะ หรือ บ้านเอื้ออาทร
หากรัฐบาลให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง สองโครงการใหญ่นี้จะต้องมีความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ
มากไปกว่านั้น มันต้องไม่มาพร้อมกับทัศนคติที่ว่า แฟลตหรือบ้านของคนจนต้อง "อัปลักษณ์"

ปฏิเสธได้หรือไม่ว่า บ้านเอื้ออาทรและแฟลตของการเคหะส่วนใหญ่นั้น ปราศจากซึ่งการใส่ใจในการออกแบบเพื่อคุณภาพของการอยู่อาศัยอย่างแท้จริง

ไปถามสถาปนิกคนไหนก็ได้ว่า ที่อยู่อาศัยราคาถูกไม่จำเป็นต้องมาพร้อมกับรสนิยมที่แย่
หากรัฐบาลไม่มีทัศนคติดูถูก "คนจน" เสียแล้วก็จะสามารถออกแบบแฟลตหรือบ้านเอื้ออาทรให้มี "รสนิยม" มีฟังก์ชั่นการใช้สอยที่ดีในราคาที่เหมาะสมได้


มากไปกว่านั้น รัฐบาลยังสามารถ "ออกแบบ" ไลฟ์สไตล์ใหม่ให้แก่ชีวิตคนจนทั้งเมืองใหญ่ และเมืองเล็กผ่านการ "ออกแบบ" ทั้งตัวบ้าน แฟลต และแลนด์สเคป เช่น การออกแบบสวน หรือพื้นที่ที่ชุมชนจะใช้สอยร่วมกัน เช่น สนามเด็กเล่น อันเชื่อมโยงกับบริการสาธารณสุขในชุมชน


นอกจากที่อยู่อาศัย สิ่งที่รัฐไทยล้มเหลวมาโดยตลอด ไม่ได้ล้มเหลวเพราะไร้ความสามารถแต่ล้มเหลวเพราะไม่เคยเห็นคนจนเป็นพลเมือง แต่เป็น "ผู้ที่ต้องการได้รับการสงเคราะห์" เมื่อเป็นเช่นนั้นนโยบายเกี่ยวกับการขนส่งมวลชนสาธารณะ จึงอัปลักษณ์มาตลอดประวัติศาสตร์ของมัน

เพราะเราเชื่อเสียแล้วคนจนต้องนั่งรถเมล์ช้าๆ เหม็นๆ แน่นๆ รถเมล์ไม่มีความจำเป็นต้องสะอาด สวยงาม ไม่ต้องมีตารางเส้นทางและเวลาการเดินรถ ไม่จำเป็นต้องกวดขันเรื่องความปลอดภัย จะกี่สิบปีรถเมล์ก็ยังไม่จอดตรงตามป้าย

แทนนโยบายการขึ้นรถเมล์ฟรี-มาเปลี่ยนความคิดกันใหม่ไหมว่า บริการขนส่งมวลชนสาธารณะนั้นมีไว้สำหรับ "พลเมือง" ทุกคนไม่ว่าจะรวยหรือจน จะคนเงินเดือนสามแสนหรือเงินเดือนสามพันก็ย่อม "แชร์" พื้นที่บนรถเมล์ที่มาตรฐานการให้บริการสำหรับ "คน"

เช่น มีความสะอาด ปลอดภัย ตรงต่อเวลา ขับรถด้วยความสุภาพ มีเส้นทางการเดินรถที่แน่นอน ชัดเจน มีป้ายรถเมล์ที่น่านั่ง

"คนจน" ไม่ได้ต้องการนั่งเมล์ฟรี "จน" ไม่ได้แปลว่าไม่มีเงินค่ารถเมล์ คนจนยอมจ่ายค่ารถเมล์ในราคาสมเหตุสมผลแต่เขาต้องการรถเมล์ที่มีคุณภาพและให้เกียรติผู้ใช้บริการต่างหากเล่า

รถเมล์ฟรีคือการ "สงเคราะห์" แต่การปรับปรุงมาตรฐานของรถเมล์คือการให้เกียรติกับ "พลเมือง" ของรัฐในฐานะที่เป็นมนุษย์เท่ากัน

ไม่เพียงแต่รถเมล์ ทำอย่างไรจะขยายบริการขนส่งมวลชนให้ได้ทั้งกว้างขวาง ครอบคลุม หลากหลาย ทั้งรถไฟฟ้า รถใต้ดิน รถราง รถไฟ

แต่ปัญหาของสังคมไทยคือทัศนคติที่แบ่งคนจนออกจากความเป็น "คน" สิ่งใดก็ตามที่เป็นบริการสาธารณะของ "คนจน" จึงมีมาตรฐานการให้บริการที่ต่ำกว่าที่ "มนุษย์" พึงได้รับ

ไม่เชื่อลองไปนั่งรถไฟชั้นสามดู


หากรัฐไทยมีสิ่งที่เรียกว่า "จิตสาธารณะ" (มิใช่จิตอาสา) รัฐไทยคงจะให้ความสำคัญกับเลนจักรยานทั่วประเทศ การเอาสายไฟฟ้าลงดิน การลงทุนกับระบบการส่งก๊าซโดยท่อ มิใช่ยกกันเป็นถังๆ อย่างทุกวันนี้

พูดง่ายๆ ว่า รัฐไทยคงจะให้ความสำคัญกับการสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานสำหรับ "มวลชน" และแน่นอนว่า หากฝันของฉันเป็นจริง ป่านนี้เราคงมีการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ภาษีที่ดินอันจะนำไปสู่การปฏิรูปที่ดิน ภาษีมรดก เพื่อจะนำภาษีเหล่านี้กระจายมาเป็น "สวัสดิการ" ของสาธารณะ

จินตนาการเล่นๆ ว่าหากหกสิบเปอร์เซ็นต์ของประชากรไทยสามารถเดินทางด้วยจักรยาน-เพียงเท่านี้ คนไทยจะ "รวย" ขึ้นอีกสักกี่เท่าจากการที่ไม่ต้องซื้อรถให้ตัวเอง ให้ลูก ให้เมีย ไม่ต้องเติมน้ำมัน คนมีรายได้น้อยสามารถเอาเงินค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่ามอเตอร์ไซค์ไปเพิ่มคุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ เช่น อาจจะซื้อหนังสือมากขึ้น หรือเก็บเงินซื้อคอมพิวเตอร์ให้ลูกได้ ฯลฯ

จินตนาการเล่นๆ ว่าหากคนไทยห้าสิบเปอร์เซ็นต์ใช้บริการจากการขนส่งมวลชน คนไทยจะรวยขึ้นอีกเท่าไหร่-การทำให้คนหายจนไม่ใช่เรื่องการเพิ่มรายได้ แต่หมายถึงการลดรายจ่ายมิใช่ด้วยการรัดเข็มขัดในระดับเศรษฐกิจครัวเรือน แต่คือการเพิ่มสวิสดิการสังคม

จินตนาการเล่นๆ ต่อไปว่าหากมีโรงเรียนรัฐบาลคุณภาพดีให้เรียนฟรีตั้งแต่ ป.1-ม.6 มีสถานีอนามัย โรงพยาบาลของรัฐที่พึ่งพาอาศัยได้ คนไทยจะรวยขึ้น ไม่เพียงแต่รวยเพราะค่าใช้จ่ายลดลง แต่คน "จน" จะหายจนเพราะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนรุ่นลูกและรุ่นหลานได้ด้วยการศึกษา ที่ไม่จำเป็นต้องไปที่โรงเรียนสอนภาษา

จินตนาการเล่นๆ ต่อไปว่าหากรัฐลงทุนกับห้องสมุดสาธารณะให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ของชุมชน ไม่ได้เห็นว่า "สถานที่ราชการห้ามเข้า" หรือ ห้องสมุดของคนจนให้อ่านแต่นิยายกับคู่สร้างคู่สม-เพียงมีห้องสมุดที่ริเริ่มด้วยการเห็น "คน"เป็น "คน" เห็นคนเท่ากัน

เพียงเท่านี้ คนไทยก็จะร่ำรวยขึ้นในทางสติปัญญาและวัฒนธรรมอย่างมหาศาล



ฝันหวานไปเรื่อย แต่ความจริงที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า สังคมไทยได้ฉีกขาดออกจากกันอย่างยากจะเยียวยา
มีแต่ "คนขาว" เท่านั้นที่ได้เป็น "คน" ในสังคมไทย
คนที่ขาวด้วยสถานะทางเศรษฐกิจที่เหนือกว่า
คนขาวที่นั่งอยู่ในรถติดแอร์เย็นฉ่ำและตลอดชีวิตนี้ไม่เคยขึ้นรถเมล์เพราะเป็นบริการสาธารณะสำหรับสิ่งมีชีวิตอีกสปีชี่ส์หนึ่งที่ "คนขาว" ต้อง เอื้อเฟื้อแกมรำคาญ
คนขาวที่ไม่จำเป็นต้องนั่งรถทัวร์ รถตู้ รถไฟเหม็นขี้เหม็นเยี่ยว ไม่ต้องส่งลูกเข้าโรงเรียนรัฐบาลราคาถูก ที่ตรวจผม ตรวจเล็บนักเรียนราวกับเป็นนักโทษ
คนขาวที่ไม่จำเป็นต้องเข้าคิวยาวเหยียดในโรงพยาบาล

คนขาวที่รังเกียจเคียดขึ้งไม่เข้าใจว่าสิ่งมีชีวิต "จนๆ" นั้นทำไมต้องมีเสียงโหวตหนึ่งเสียงเหมือนกัน โง่ก็ปานนั้น จนก็ปานนั้น

ที่น่าขำในโฆษณาชิ้นนั้นคือ-การเข้าสู่ความเป็น "คนขาว" อาจทำได้ด้วยการ "เรียนภาษาอังกฤษ"!!!



.