http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-02-10

ทักษิณต้องจ่าย!? / ลึกแต่ไม่ลับ 10 ก.พ.55

.
รายงานพิเศษ
- รักป๋า รักประเทศไทย
- การแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลยุทธ์ใหม่ จาก ประชาธิปัตย์ "สัญญาประชาคม"
- ข่าวไม่สืบสวน-ไม่สอบสวน กรณี "นามบัตรปู-สามี" "...โดนอัดฟรีอีกแล้วครับท่าน"

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ทักษิณต้องจ่าย!?
โดย วงค์ ตาวัน คอลัมน์ ชกคาดเชือก
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1643 หน้า 98


ดูเหมือนประชาธิปัตย์จะยิ่งถลำลึกในปัญหา 91 ศพ จากเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 โดยล่าสุดอดีตหัวหน้าพรรค อดีตนายกฯ ชวน หลีกภัย ได้ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านเงินเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งการเมือง

ถึงกับใช้คำว่า ต้องเอาเงินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาชดเชย เพราะผู้ชุมนุมมาเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งต้องแยกกันให้ออก ไม่ใช่เอาภาษีชาวบ้านไปชดเชยพวกที่ทำเพื่อตัวเอง

เสียยี่ห้อนักการเมืองอาวุโสแห่งระบอบประชาธิปไตยอย่างยิ่ง

อันที่จริงเป็นความคิดเห็นที่ต้องการเปรียบเทียบกับการเยียวยาภาคใต้

โดยอดีตนายกฯ ชวน เห็นว่า ปัญหาภาคใต้เกิดจากนโยบายของรัฐบาล ไม่เหมือนเหตุการณ์ในกรุงเทพฯ

"เพราะเขามาเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคเพื่อไทย เงินของท่านเยอะแยะต้องไปใช้เป็นส่วนตัว ไม่ใช่เอาเงินภาษีประชาชนมาจ่ายแทน สิ่งที่เขาทำก็เพื่อพวกท่านทั้งหลาย"

ความคิดแบบนี้ก็คือความคิดเดียวกับอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ อันนำมาสู่การตัดสินใจแก้ปัญหาม็อบแดง โดยละเลยขั้นตอนปฏิบัติในการสลายการชุมนุมตามมาตรฐานสากล

ล่อกันด้วยกองกำลังทหารติดอาวุธเลย แบบรัฐบาลจอมพล รัฐบาลพลเอก สมัยปี 2516 และ 2535

เพราะปักธงลงไปแล้วว่า นี่คือพวกศัตรูทางการเมือง จะมาล้มล้างรัฐบาลของตนเอง เลยส่งกองทัพเข้าไปจัดการ แทนที่จะใช้ตำรวจปราบจลาจล แก๊สน้ำตา กระสุนยาง

จะว่าไปแล้ว การชุมนุมของเสื้อแดงเมื่อปี 2553 นั้น ส่วนหนึ่งก็มาเพื่อทักษิณจริง มาเพื่อขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์จริง

แต่ยังมีอีกมากมายหลายเหตุผล ไม่ใช่เหตุผลอันสุดแสนจะคับแคบ แบบที่นายชวนพูด

อีกทั้งข้อเรียกร้องของม็อบอยู่บนหลักการของประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ

คือเรียกร้องให้ยุบสภา

รัฐบาลขณะนั้นเอง เป็นฝ่ายที่ไม่ปฏิบัติกับม็อบด้วยหลักประชาธิปไตย โดยหันใช้มาตรการทหารเข้าดำเนินการ

จะว่าเดินตามวิธีของรัฐบาลเผด็จการในอดีตก็ไม่เชิง เพราะสมัยโน้นยังไม่กล้าใช้หน่วยสไนเปอร์เลย!?!


ตอนที่นายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ เมื่อต้องให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่างประเทศ มักจะโดนคำถามจี้ใจดำที่ว่า ทำไมพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่ผู้ชนะเลือกตั้ง แต่เป็นรัฐบาลนั่งเก้าอี้นายกฯ ได้

เป็นคำถามจากมุมมองพื้นๆ ของนักประชาธิปไตยทั่วโลก

การไปพบปะกันในกรมทหารราบที่ 1 ก่อนจะเกิดการพลิกขั้ว ทำให้ประชาธิปัตย์พลิกมาเป็นผู้จัดรัฐบาล เป็นข้อมูลที่ไม่ได้ลึกลับอะไร

นั่นเป็นรอยตำหนิรอยใหญ่ ที่ทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์เหน็ดเหนื่อยมาโดยตลอด

อาจจะเป็นเหตุผลเรื่องทางออกให้กับบ้านเมืองในขณะนั้น เพราะการเมืองเข้าถึงทางตัน

แต่หากรัฐบาลที่มีประชาธิปัตย์พลิกขั้วมาเป็นแกนนำ จะใช้เวลาในการครองอำนาจไม่ยาวนานนัก ทำให้เห็นชัดเจนว่าเข้ามาเพื่อคลี่คลายปัญหา พร้อมกับตระเตรียมการเลือกตั้งใหม่ จะไม่เกิดข้อครหา และไม่นำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น

จะเห็นได้ว่า การชุมนุมของเสื้อแดงในเดือนเมษายน 2552 หลังจากที่อภิสิทธิ์เพิ่งเข้ามาเป็นรัฐบาลไม่กี่เดือน จึงเป็นการชุมนุมที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากวงกว้าง

แต่พอถึงต้นปี 2553 มีการชุมนุมอีกครั้ง เพื่อเรียกร้องให้ยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ โดยมีเหตุผลก็คือ รัฐบาลอภิสิทธิ์เกิดในค่ายทหาร จากนั้นบ้านเมืองยังเกิดปัญหา 2 มาตรฐานในหลายกรณี ทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้รับการขนานนามว่ารัฐบาลมีเส้น

โดยช่วงเวลาก็น่าจะเหมาะสมแล้วที่รัฐบาลน่าจะยอมยุบสภา เพื่อให้ประชาชนตัดสินการเมืองกันใหม่!

จริงอยู่ม็อบเสื้อแดง เป็นม็อบที่สนับสนุนทักษิณ หลงใหลทักษิณ

แต่นั่นก็มิใช่เหตุผลเดียวของการชุมนุม

อีกทั้งในฐานะรัฐบาล มีหน้าที่รับผิดชอบเต็มเปี่ยมในการคลี่คลายสถานการณ์ ถ้าไม่สามารถทำให้การชุมนุมประท้วงของประชาชนยุติลงได้โดยไม่เสียเลือดเนื้อ

ความรับผิดชอบทั้งหมดย่อมอยู่กับรัฐบาล!!

รัฐบาลอภิสิทธิ์ ตั้งธงเอาไว้เสียแล้วว่า นี่คือม็อบของศัตรูทางการเมือง และไปเชื่อผิดๆ เอาเองว่าม็อบนี้มีกองกำลังติดอาวุธเต็มไปหมด

เหตุการณ์ที่มีหลักฐานการปรากฏตัวของชายชุดดำพร้อมอาวุธสงครามมีเพียงครั้งเดียว ในคืนวันที่ 10 เมษายน 2553 ที่สำคัญก็ไม่ใช้หลักฐานที่เห็นได้ชัดว่า ขณะที่ชายชุดดำรัวปืนอาก้านั้น ได้ทำให้ใครล้มตายลงบ้าง

จากนั้นชายชุดดำก็มีแต่คำพูดและความเชื่อ ความกลัว และความหวาดผวาของเหล่าเจ้าหน้าที่ทหาร ที่ต้องลงไปประจำการบนท้องถนน

ภาวะเช่นนี้ เข้าใจได้ไม่ยากเลยว่า ทำไมเจ้าหน้าที่ทหารพร้อมจะลั่นไกสาดกระสุนตลอดเวลา

ภาพหลักฐาน เจ้าหน้าที่ทหารภายใต้คำสั่งของ ศอฉ. รัวปืนใส่ประชาชนผู้ชุมนุม ล้มร่วงระนาว มีปรากฏชัดเจน ในหลายจุดหลายพื้นที่และหลายศพ

ไม่ใช่หลักฐานเลื่อนลอยและเห็นแค่แว่บเดียวแบบนักรบชุดดำ!



เท่าที่พนักงานสอบสวนของดีเอสไอเคยรวบรวมพยานหลักฐานเอาไว้ ในช่วงอภิสิทธิ์ยังเป็นนายกฯ และต่อมาพนักงานสอบสวนตำรวจรับสำนวนมาดำเนินการต่อ

ขณะนี้มี 16 สำนวน มี 16 ศพ ที่มีพยานหลักฐานรองรับจนสรุปได้ว่า เกิดจากการยิงของเจ้าหน้าที่ทหาร

16 ศพที่เป็นหลักเป็นฐาน

นี่จึงเป็นเครื่องส่อแสดงให้เห็นว่า คำสั่งของ ศอฉ. ขณะนั้น น่าจะนำมาสู่การแก้ปัญหาที่ผิดพลาด จนเป็นเหตุให้มีประชาชนต้องล้มตายเป็นจำนวนมากเกือบร้อยศพ

ในมติ ครม.ยิ่งลักษณ์ ที่ให้จ่ายเงิยชดใช้เยียวยาต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งการเมืองนับตั้งแต่ปี 2548 จนถึง 2553

ระบุเหตุผลไว้ว่า เพราะรัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อความสูญเสียของประชาชน เนื่องจากรัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพในการคลี่คลายสถานการณ์ด้วยสันติวิธี

มติ ครม. นี้ เหล่านักประชาธิปไตยต้องสนับสนุน และจะกลายเป็นบรรทัดฐานให้รัฐบาลต่อๆ ไปต้องยึดถือ!!


รัฐบาลอภิสิทธิ์ ใช้วิธีโยนผิดให้ชุดดำ และประชาชนที่มาประท้วง

เป็นไปได้อย่างไร ที่จะยกฐานะคนชุดดำ ซึ่งไม่รู้เป็นใคร ให้มีความรับผิดชอบต่อปัญหาบ้านเมืองเทียบเท่ากับรัฐบาล

เหตุผลการชุมนุมเพื่อทักษิณก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เหตุผลแรกเลยที่เขาชุมนุมคือ รัฐบาลประชาธิปัตย์กำเนิดอย่างไม่ชอบธรรม และเขาต้องการให้ยุบสภาเพื่อให้ประชาชนตัดสินเลือกตั้งกันใหม่

การเลือกตั้งก็ต้องสู้กันระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ ประชาธิปัตย์ที่นายอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้า เพื่อไทยที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 ไปจนถึงพรรคอื่นๆ ทุกพรรค

ลงสนามแข่งกันอย่างเปิดเผย ให้ประชาชนตัดสิน


ถึงแม้ส่วนหนึ่งเขาจะมาชุมนุมเพื่อทักษิณ แต่เมื่อรัฐบาลและ ศอฉ. สั่งทหารติดอาวุธจริงลงไปบนถนน ลงเอยมีคนตายเกือบร้อย

มองมุมไหนก็ไม่เห็นเหตุผลที่ว่าทักษิณต้องเป็นคนจ่าย

ทักษิณอาจจะอยู่เบื้องหลังม็อบ แต่ทักษิณไม่ใช่คนสั่งทหารถือปืนบรรจุกระสุนจริงลงไปเผชิญหน้ากับม็อบ

สิ่งที่ทักษิณจ่ายอยู่แล้วในวันนี้ก็คือการต้องระเหเร่ร่อนอยู่ต่างแดน เพราะปัญหาการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายในอดีต

แต่กรณีคนตาย 91 ศพ คนออกคำสั่งจนเกิดการฆ่านั่นแหละต้องจ่าย แต่บัดนี้ยังไม่ยอมจ่าย!



++

ลึกแต่ไม่ลับ โดย จรัญ พงษ์จีน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1643 หน้า 8


เพื่อป้องกันความสับสน ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนในลำดับแรกว่า "ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112" ที่กลุ่มนักวิชาการในนามของ "คณะนิติราษฎร์" กำลังขับเคลื่อนขอแก้ไขใหม่ กับ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่ "พรรคเพื่อไทย" ตั้งธงแก้ไข เปิดประเด็นแก้ที่มาตรา 291 เพื่อเลือกตั้งและสรรหา "ส.ส.ร." มาทำการยกร่างจำนวน 99 คน และสังคมส่วนใหญ่ พากันเข้าใจว่า เป็นเกม "ขายพ่วง" เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 112 ไปในโอกาสเดียวกันด้วย

"พรรคเพื่อไทย" ไขประตูเซฟ แก้มาตรา 291 เพื่อหวังหยิบชิ้นปลามัน แก้มาตรา 112 ด้วยเข้าใจว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กับรัฐธรรมนูญมาตรา 112 มันคือ มาตราเดียวกัน

ซึ่งข้อเท็จจริงมันคนละเรื่องกันเลย ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่ง "ลึกแต่ไม่ลับ" เคยคัดลอกมาบอกกล่าวไปแล้ว ในฉบับก่อนว่า "เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดโทษ ในความผิดฐานหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปี ถึงสิบห้าปี"

ขณะที่รัฐธรรมนูญมาตรา 112 อยู่ในหมวดหมู่ "วุฒิสภา" มีสาระโดยสังเขปว่า การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในแต่ละจังหวัด ให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งและให้มีสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดละหนึ่งคน โดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้หนึ่งเสียงและให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ

เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งสามารถหาเสียงเลือกตั้งได้ก็แต่เฉพาะที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ของวุฒิสภา

จึงสรุปได้ว่า "ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112" กับ "รัฐธรรมนูญมาตรา 112" เป็นเรื่องคนละขั้วโลกไม่เกี่ยวดองข้องแวะอะไรกันเลย

กรณีที่ "พรรคเพื่อไทย" ในฐานะพรรคเสียงข้างมากในสภา เกิดอาการฮึกเหิมมีความจำเพาะจงใจจะแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น สามารถ "ยิงตรง" ยื่นแก้ได้ โดยไม่ต้องพึ่งพิงแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 112 แต่ประการใด



"พิมพ์เขียว" อันเป็นแก่นสารของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม ที่คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร หรือวิปรัฐบาล จากพรรคเพื่อไทย เป็นผู้ยกร่าง และเตรียมเสนอประธานสภาในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ มีสาระสำคัญ เพื่อแก้ไขมาตรา 291 ของร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ขึ้น

มีสาระสำคัญ ให้สมาชิก หรือ ส.ส. ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จังหวัดละ 1 คน รวม 77 จังหวัด สรรหาโดยที่ประชุมรัฐสภาจำนวน 22 คน ในสัดส่วนนี้มาจาก ผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชนจำนวน 7 คน ผู้เชี่ยวชาญรัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์ 7 คน ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญ ตามหลักเกณฑ์ที่ประธานรัฐสภาประกาศกำหนด 8 คน

ตามโปรแกรม เมื่อยื่นต่อประธานสภาในวันที่ 9 กุมภาพันธ์แล้ว จะมีการตรวจสอบรายชื่อ ส.ส. จึงบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม จากนั้นจะมีการตั้งกรรมาธิการ ใช้เวลาประมาณ 2 เดือนครึ่ง จึงเข้าสู่หมวดกระบวนการสรรหา ส.ส.ร. ใช้เวลาอีกประมาณเดือนเศษๆ เมื่อได้ ส.ส.ร. ครบจำนวนแล้ว จะเข้ามาทำหน้าที่แก้ไข ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประมาณ 180 วัน เท่ากับว่า จะเสร็จสิ้นทุกระบบต้องประมาณเดือนธันวาคม ปลายปี 2555

ความสับสนมันอยู่ตรงที่ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แบบยกเครื่อง โดย "วิปรัฐบาล" มีธงที่มาตรา 291 เพื่อสรรหา ส.ส.ร. จึงถูกผูกโยง ด้วยการลากเส้นโค้ง ไปมีเอี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้ ตรงจุดที่ เมื่อ ส.ส.ร. เคาะเรียบร้อย จะดึงหมวดสถาบันให้เข้ามามีเอี่ยวได้ ตรงที่ ขอบเขตการแก้ไข ไปเกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรมด้วยหรือไม่

เพราะดังที่ทราบว่า หากมีการออกนิรโทษกรรมผู้กระทำผิดทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ไม่ว่าสีเหลือง-สีแดง หรือสีอะไร ส่งผลให้ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" เข้าข่ายได้รับอานิสงส์ด้วย



แม้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กับรัฐธรรมนูญมาตรา 112 มันจะคนละเรื่อง อยู่คนละขั้วโลก แต่มีความเพียรพยายามต่อจิ๊กซอว์ให้มาเกี่ยวข้อง หรือบางรายแปลออกมาเป็นกฎหมายฉบับเดียวกัน

และก่อกระแสให้สังคมไทยเกิดความสับสน มีกลุ่มต่อต้าน "คณะนิติราษฎร์" มากมาย และโหมกระหน่ำว่า เป็นหมากกลที่สลับซับซ้อน เป็นการขับเคลื่อนร่วมกันกับ "พรรคเพื่อไทย" มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ มาตรา 112 โดยแก้ไขรัฐธรรมนูญนำร่องไปก่อน

ดูเหมือนว่า กระแสต่อต้านจะแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ดังกึกก้องกังวาน เซียนการเมืองฟันธงตรงกันว่า หากยังดื้อแพ่ง จะนำพาประเทศสู่วิกฤตรุนแรง และนองเลือดใหญ่อีกคำรบ

แม้กระทั่งการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยเองก็ตาม จะเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดความขัดแย้งใหญ่ และตามข่าว เชื่อว่า "นายใหญ่ดูไบ" เองมิได้กินแกลบ ย่อมเข้าใจในปัญหาดีกว่าใครเพื่อน

การขับเคลื่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้จะเน้นหนักว่า แค่ 291 ตั้ง ส.ส.ร. แต่ดูเหมือนเมื่อมีปัญหา เชื่อว่าทักษิณ เคยได้รับบทเรียนมาแล้ว ก็ไม่น่าจะดึง

จึงเป็นไปได้ว่า การสั่งลูกน้องเคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญแม้จะเดินหน้าไปไกลถึงขั้นผ่านขั้นตอนวิปรัฐบาลแล้ว แต่สามารถสั่งถอยได้ เป็นการสับขาหลอก เพราะขณะนี้ปัญหาอื่น เบี่ยงเบนประเด็น เป้าไม่ต้องตกกับ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" แต่พุ่งหลาวไปยังพรรคเพื่อไทย

พื้นที่ข่าวเชิงลบเกี่ยวกับเศรษฐกิจ สินค้าเกษตร ราคาสินค้าในท้องตลาด ไข่มันแพง ประชาธิปัตย์ไม่หยิบมาเป็นประเด็นเลย หลงเกมอยู่กับแก้รัฐธรรมนูญ



+++

รักป๋า รักประเทศไทย
คอลัมน์ ในประเทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1643 หน้า 9


วันที่ 10 กุมภาพันธ์ คงต้องลุ้นระทึกกันทั้ง 2 ฝ่าย

ลุ้นว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี จะมาร่วมงานเลี้ยงขอบคุณหน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมกันฟันฝ่าวิกฤตน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะผู้นำรัฐบาล เป็นเจ้าภาพ ภายใต้ชื่องาน "รักเมืองไทย เดินหน้าประเทศไทย" หรือไม่


ฝ่ายแรก เป็นฝ่ายลุ้นที่ไม่อยากให้ พล.อ.เปรม มา

แน่นอนที่สุด ที่ชัดเจนในฝ่ายนี้ คือพรรคฝ่ายค้านอย่างประชาธิปัตย์

ที่ทั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค และ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรค มองงาน "รักเมืองไทย เดินหน้าประเทศไทย" เลวร้ายอย่างยิ่ง

คือเป็นแค่เปิดแคตวอล์กให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินโชว์แฟชั่นราคาแพง ขณะที่ประชาชนกว่า 5 แสนครัวเรือน ยังไม่ได้เงินเยียวยา 5 พันบาท

ทั้งนี้ นายชวนนท์ถึงขนาดไปนั่งทำการบ้าน และกลั่นออกมาคำถาม 4 ข้อ ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบ คือ

1. การจัดงานเลี้ยงครั้งนี้ ใช้งบฯ เท่าไร จะส่งผลอย่างไรในการบริหารน้ำปีนี้ ว่าจะไม่ท่วมอีก

2. การจัดเลี้ยงอย่างยิ่งใหญ่ให้ ศปภ. แสดงว่าพอใจที่ทำให้คนตาย 815 คน เศรษฐกิจเสียหาย 1.4 ล้านล้านบาทใช่หรือไม่

3. จะมอบหน้าที่ ผอ.ศปภ. ให้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม อีกหรือไม่ หากเกิดปัญหาวิกฤตน้ำขึ้นอีกในปีนี้

4. การจัดงานเลี้ยงครั้งนี้ เท่ากับรัฐบาลกำลังยืนยันว่า ไม่มีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข ทั้งในเรื่องโกงของบริจาค ส.ส. แทรกแซงการบริหารราชการแผ่นดิน โกงถุงยังชีพ ก็เลยฉลองที่ตบตาประชาชนได้ใช่หรือไม่

งานที่มีคำถาม "หนักๆ" ให้ตอบอย่างนี้ ถ้าหาก พล.อ.เปรม ยังมาร่วม พรรคประชาธิปัตย์ ก็คงไม่แฮปปี้แน่ๆ

และคงจะแอบลุ้นไปจนถึงนาทีสุดท้าย ว่าอาจจะมี "เหตุ" ให้ พล.อ.เปรม ตัดสินใจ "ไม่มา"

ซึ่งการแอบลุ้นเช่นนี้ ก่อนหน้านี้ก็เคยมีผู้แอบลุ้น ซึ่งแน่นอนคงมีคนบางส่วนของพรรคประชาธิปัตย์รวมอยู่ด้วย ว่า นายสุเมธ ตันติเวชกุล นายปราโมทย์ ไม้กลัด นายสมิทธ ธรรมสโรช อาจจะตัดสินใจลาออกจากคณะกรรมการที่ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตน้ำท่วม

แต่ที่สุดแล้ว กลับไม่มีอะไรในกอไผ่ ทุกคนยังเดินหน้าทำงานต่อไป

ตอนนี้จึงต้องหันมาลุ้นเรื่อง พล.อ.เปรม แทน


สําหรับประชาธิปัตย์นั้นเข้าใจได้ไม่ยาก ว่าทำไมถึงไม่อยากให้ พล.อ.เปรม มา

เพราะนอกเหนือจะทำให้ภาพการแก้ไขน้ำท่วมของรัฐบาลดีขึ้นแล้ว

ในทางการเมือง พรรคประชาธิปัตย์คงจะยินดีกับสภาพที่ "ไพร่" กับ "อมาตย์" ยืนประจันหน้ากันตลอดไป

และอยากจะให้คำพูดที่หลุดออกมาจากปากของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อครั้งที่โฟนอินมาในงาน "37 ปี พลังหนุ่ม พลังสร้างเมืองนนท์" ที่ศูนย์ราชการ จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 29 มกราคม ที่ว่า

"ปัญหาบ้านเมืองเราแก้ง่ายจะตาย อย่าปล่อยให้ประเทศอื่นรวย โดยประเทศไทยจะรวยง่ายๆ แค่เลิกทะเลาะกัน ผมนึกว่าเป็นเรื่องใหญ่ แต่พอเอาเข้าจริงๆ ก็เป็นเรื่องปัญญาอ่อนทั้งนั้น เป็นพวกหัวแก่หัวหงอกทั้งนั้นที่ทะเลาะกัน"

ดังสนั่นต่อไป

ดังเพื่อที่จะให้ "พวกหัวแก่หัวหงอก" ยืนตรงข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ รัฐบาลพรรคเพื่อไทย นิรันดรกาล


พร้อมๆ กับพยายามที่จะต่อเชื่อมให้เห็นว่า คนเสื้อแดง ซึ่งเป็นมวลชนพื้นฐานของพรรคเพื่อไทย เป็นเนื้อเดียวกับกลุ่มนิติราษฎร์ที่ต้องการให้แก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งสร้างผลกระทบให้กับ "สถาบัน"

ดังนั้น พล.อ.เปรม ในฐานะประธานองคมนตรี จึงไม่ควรที่จะมีปฏิสัมพันธ์ใดๆ กับพรรคเพื่อไทยและรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์

นี่จึงทำให้เราเข้าใจได้ว่า ทำไมพรรคประชาธิปัตย์ลุ้นไม่อยากให้ พล.อ.เปรม มา

แน่นอนที่สุด หากวันที่ 10 กุมภาพันธ์ มี "เหตุขัดข้องบางประการ" ที่ทำให้ พล.อ.เปรม มาร่วมงาน "รักเมืองไทย เดินหน้าประเทศไทย" ไม่ได้

พรรคประชาธิปัตย์ก็เหมือนจะได้ "อาวุธอันตราย" อีกชิ้นไว้ในกำมือ และคงใช้ตะลุยฟันรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ อย่างไม่ยั้งแน่



นี่เอง ทำให้ฝ่ายที่สอง คือ พรรคเพื่อไทย ลุ้นหนักเช่นกัน

ลุ้นให้ พล.อ.เปรม เดินทางมาร่วมงานในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ให้ได้

ถึงขนาด นางฐิติมา ฉายแสง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาบอกกับสาธารณชนว่า พล.อ.เปรม ยืนยันว่าจะมาร่วมงาน

"คำพูด พล.อ.เปรม หนักแน่นดุจขุนเขา จึงเชื่อว่าจะมาร่วมงานอย่างแน่นอน"

ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็มาตอกย้ำความสำคัญของ พล.อ.เปรม อีกเช่นกัน ว่า "ท่านเป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมือง และได้ตอบร่วมที่จะมาร่วมงานแล้ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ความสามัคคีปรองดอง ให้เกิดขึ้นภายในประเทศ"

ส่วนรูปแบบงาน ที่ใช้งบประมาณถึง 3.5 ล้านบาท ถูกออกแบบ ชนิดให้เกียรติ พล.อ.เปรม สุดๆ

โดยยกให้เป็นประธานของงาน ยืนโดดเด่นท่ามกลางแขกวีไอพีตั้งแต่ คณะรัฐมนตรี องคมนตรี ข้าราชการ ชั้นผู้ใหญ่ คณะทูตานุทูตจากประเทศที่ให้ความช่วยเหลือไทยในช่วงน้ำท่วมร่วม 500 คน

ส่วนกำหนดการงานถูกจัดวางอย่างประณีตถึงขนาดว่าเพลงที่ดนตรีวงดุริยางค์ไทยแลนด์ฟิลฮาร์โมนิก พร้อมด้วยนักร้องประสานเสียงของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และวงดุริยางค์ซิมโฟนีออเคสตราของเหล่าทัพ นำมาบรรเลงและร้องนั้น ส่วนหนึ่งจะเป็นเพลงที่ พล.อ.เปรม ประพันธ์ขึ้นมาด้วย


นี่ย่อมถือเป็นการทุ่มทุนสร้างของรัฐบาลที่หวังจะให้งานออกมายิ่งใหญ่

นอกเหนือจะเป็นขวัญกำลังใจสู้น้ำท่วม อย่างที่ว่าแล้ว

รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยย่อมคาดหวังอย่างสูงว่า งาน "รักเมืองไทย เดินหน้าประเทศไทย" กว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง โดยมีโทรทัศน์ถึง 2 ช่องถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศนี้ จะเป็นการส่งสัญญาณการเมืองอันสำคัญ ว่า ความบาดหมางระหว่าง พล.อ.เปรม พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ต่อเชื่อมถึงพรรคเพื่อไทยเริ่มมีพัฒนาการที่ดีขึ้น

โดยที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทยก็พยายามที่จะลดเงื่อนไขโดยอ้อม ที่จะทำให้บรรยากาศโดยรวมดีขึ้น

เช่นไม่แตกหักกับกองทัพมากเกินไป

การประกาศจุดยืนไม่ขอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฏร์

การยืนยันในความจงรักภักดี

เป็นต้น

เหล่านี้ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ พล.อ.เปรม มีระยะห่างระหว่างกันลดน้อยลง

และคาดหวังกันว่า งาน "รักเมืองไทย เดินหน้าประเทศไทย" จะทำให้ทั้งสองฝ่ายใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ คือเมื่อวันที่ 19 มกราคม "วันกองทัพบก" พล.อ.เปรม และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ออกงานร่วมกันเป็นครั้งแรกเป็นไปอย่างราบรื่น



การมาหรือไม่มาร่วมงาน "รักเมืองไทย เดินหน้าประเทศไทย" ของ พล.อ.เปรม ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ จึงถือว่าทรงความหมายทางการเมืองอย่างยิ่ง

สะท้อนให้เห็นว่า ถึงอย่างไร พล.อ.เปรม ก็ยังคงทรงอิทธิพลต่อการเมืองไทย

และเป็น "เป้า" ที่ถูกรุมรัก

ซึ่งแน่นอนว่า การรุมรักของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย มี "เป้าหมาย" ต่างกันโดยสิ้นเชิง

จึงอยู่ที่ว่า พล.อ.เปรม จะตอบรับ "รัก" ใคร และอย่างไร ในจังหวะและสภาพแวดล้อมเช่นนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อ "ชาติ ศาสน์ กษัตริย์" ที่ พล.อ.เปรม รักและเทิดทูนยิ่ง



+++

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลยุทธ์ใหม่ จาก ประชาธิปัตย์ "สัญญาประชาคม"
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1643 หน้า 8


มติของคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เรื่องการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ผ่านมาตรา 291

นับว่าแจ่มชัด

แจ่มชัดว่าจะดำเนินไปในพิมพ์เขียวเดียวกันกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 นั่นก็คือ การเริ่มต้นที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)

แม้ว่าคะแนนเสียง 300 เสียงของพรรคร่วมรัฐบาลอันประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังชล พรรคมหาชน จะเปิดทางสะดวกอย่างยิ่งในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

กระนั้น เสียงจากฝ่ายค้าน เสียงจากปัญญาชน นักวิชาการ รวมถึงพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ก็สำคัญอย่างมาก


น่าสนใจก็ตรงที่เสียงค้านจากพรรคประชาธิปัตย์ เสียงค้านจากนักวิชาการซึ่งใกล้ชิดพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินไปบนเส้นทางเดียวกัน

นั่นคือ เป็นห่วงเรื่องการล็อกสเป๊กสมาชิก ส.ส.ร.

นั่นก็ได้แก่เสียงจาก ดร.เสรี วงษ์มณฑา ผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ผ่านคลื่นเอฟเอ็ม 101

"จำนวน ส.ส.ร. 99 คน จะเป็นคนของนักการเมืองประมาณ 70 คน โดย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง 77 จังหวัด เมื่อดูจากพื้นที่ที่พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งเชื่อว่าภาคเหนือ อีสาน และภาคกลางหลายจังหวัดจะเป็นของพรรคเพื่อไทย ส่วน ส.ส.ร. ที่เป็นภาคนักวิชาการหากเขาไม่เหนียมจะมีสัดส่วน 15 คนเป็นของเขาและ 7 คนจะเป็นบุคคลเป็นกลาง"

บทสรุปอันรวบรัดจาก ดร.เสรี วงษ์มณฑา คือ

"เมื่อเป็นแบบนี้ การเสนอแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ถือว่าเป็นการเซ็นเช็กเปล่า เนื่องจากไม่มีสาระของการแก้ไขระบุไว้"

เช่นนี้เอง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงเสนอหนทางออก

"เราต้องการเป็นสัญญาประชาคมว่าจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อปรับปรุงระบบการเมืองไม่ใช่เพื่อพวกพ้อง ตรงนี้พูดกันให้เรียบร้อย ทำตามความตกลงอย่างนี้แล้วกระบวนการก็เดินได้ แต่ตราบเท่าที่ตรงนี้ยังมีความคลุมเครือผมยังเป็นห่วงว่าสุดท้ายเรื่องนี้จะนำไปสู่การเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งใหม่ในสังคม"

เป็นความขัดแย้ง "ใหม่" ขณะที่คู่ความขัดแย้งยังเป็น "เหมือนเดิม"



พรรคประชาธิปัตย์นั้นเห็นมาตลอดว่ายังไม่ใช่เวลาที่ควรเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันเป็นความเห็นเช่นเดียวกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

เหตุผล 1 คือ ยังมีปัญหาน้ำท่วม ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องรีบเร่งแก้ไข

เหตุผล 1 คือ การเร่งดำเนินการในช่วงที่ประเทศกำลังขัดแย้งเหมาะสมหรือไม่ และแม้จะมีการตั้ง ส.ส.ร.รับผิดชอบทั้งหมดคงไม่ได้

"อย่างน้อยรัฐบาลก็ต้องขีดเส้นให้ชัดเจนเพื่อคลายความกังวลให้กับสังคม"

ขณะที่กล่าวสำหรับรัฐบาลถือว่าเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ มิได้เป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร การขับเคลื่อนด้านหลักจึงเป็นการขับเคลื่อนของพรรคการเมือง เป็นการขับเคลื่อนของพรรคร่วมรัฐบาล

ยังมีเวลาอีกมากในการติดตามเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ



+++
พาดหัว นสพ.คม-ชัด-ลึก ในเครือเนชั่น

ข่าวไม่สืบสวน-ไม่สอบสวน กรณี "นามบัตรปู-สามี" "..โดนอัดฟรีอีกแล้วครับท่าน"
คอลัมน์ แมลงวันในไร่ส้ม ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1643 หน้า 78


ชื่อของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังเป็นเป้าในการถล่มโจมตี นอกจากฝ่ายค้าน และสื่อในเครือข่าย

ประเด็นล่าสุด เป็นเรื่อง "นามบัตร" ของนายกรัฐมนตรี ที่มีชื่อ นายอนุสรณ์ อมรฉัตร คู่สมรสพิมพ์อยู่ด้วย

มีการฟอร์เวิร์ดภาพนามบัตรดังกล่าว และเปิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เหมาะสม โดยอ้างเหตุว่า นายอนุสรณ์ไม่ได้มีตำแหน่งใดๆ ในทำเนียบ

ในหนังสือพิมพ์รายวันอาจจะมีข่าวนี้ปรากฏประปราย แต่ในเว็บไซต์ต่างๆ มีการ "เม้นต์" อย่างเมามันพอสมควร

เว็บข่าวไทยอีนิวส์ นำเรื่องนี้ไปพาดหัวเว็บ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ว่า บันทึกกรณีเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่งตีข่าว "นามบัตร "ยิ่งลักษณ์" ประทับตราสำนักนายกฯ พ่วงสามี"

โดยชี้ว่า การนำเสนอข่าวนี้ของสื่อสำนักหนึ่ง เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เป็นการแสดงถึง "การไร้ความเป็นมืออาชีพและห่วยแตก สร้างความแตกแยกร้าวฉาน ปล่อยข่าวลือ กุข่าวลวงประจำวันของสื่อสารมวลชนไทย"

ความพยายามเปิดประเด็นโจมตี หรือ "สร้างวาระ" ที่ภาษาต่างประเทศเรียกว่า "Agenda-Setting"

ข่าวในเว็บสื่อดังกล่าว พาดหัวว่า "นามบัตร "ยิ่งลักษณ์" ประทับตราสำนักนายกฯ พ่วงสามี"

รายละเอียดข่าวระบุว่า "...สังคมโซเชียลเน็ตเวิร์ก ได้ฟอร์เวิร์ดเมล์ภาพนามบัตรของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นที่แพร่หลาย มีข้อความเป็นภาษาอังกฤษระบุว่า "Yingluck Chinawatra Prime Minister Of The Kingdom Of Thailand And Anusorn Amornchat" โดยมีตราสัญลักษณ์ของสำนักนายกรัฐมนตรีประทับตราอยู่ด้านบนของนามบัตรด้วย"

และ "...ทั้งนี้ มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม เนื่องจาก นายอนุสรณ์ อมรฉัตร คู่สมรสนอกกฎหมายของนายกรัฐมนตรี ไม่มีตำแหน่งใดๆ ที่เกี่ยวข้องในสำนายกรัฐมนตรี จึงทำให้ตั้งข้อสงสัยว่านามบัตรดังกล่าวนี้เป็นของจริงหรือมีการปลอมแปลงขึ้นมาเพื่อให้นายกรัฐมนตรีเกิดความเสียหาย..."



ก่อนที่จะมีการเปิดเผยว่า ข้อมูลนามบัตรที่มีชื่อนายกฯ และคู่สมรสเป็นรูปแบบปกติ ที่สำนักนายกฯ จะจัดพิมพ์เพื่อใช้ในวาระต่างๆ

และจัดพิมพ์ออกมาหลายยุคหลายนายกฯ แล้ว

เว็บไซต์ข่าวสด www.khaosod.co.th เสนอข่าวในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ว่า "ทีมงาน "ยิ่งลักษณ์" เทียบภาพนามบัตรนายกฯ พ่วงชื่อคู่สมรส"

พร้อมกับรายละเอียดข่าวว่า จากกรณีมีรูปภาพนามบัตรของสำนักนายกรัฐมนตรี เขียนชื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และชื่อสามี นายอนุสรณ์ อมรฉัตร เป็นภาษาอังกฤษ "Yingluck Shinawatra Prime Minister Of The Kingdom Of Thailand And Anusorn Amornchat" โพสต์แพร่หลายอยู่ตามเว็บไซต์ต่างๆ และวิพากษ์วิจารณ์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่าไม่เหมาะสม

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ ทีมงานของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ส่งไฟล์ภาพผ่านอีเมลให้กับสื่อมวลชน โดยโชว์ภาพนามบัตรนายกฯ ในสมัยของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่พิมพ์ชื่อคู่สมรสลงบนนามบัตรดังกล่าวเช่นเดียวกัน



ประเด็นเรื่องนามบัตร ยังยืดยาวกินความไปถึงกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่จดทะเบียนสมรสกับนายอนุสรณ์

ทำให้เกิดการตอบโต้ไปถึงอดีตนายกฯ คนหนึ่ง ที่มีภรรยาไม่ได้จดทะเบียนสมรส แต่ก็ออกหน้าออกตาว่าเป็นคู่สมรส

ก่อนจะมีผู้ใช้นามว่า "เติ้ง1234" ชี้แจงในเว็บพันทิปเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ สรุปความได้ว่า การจดทะเบียนสมรสเป็นเรื่องของทะเบียนราษฎร

แต่ไม่กระทบถึงความเป็นสามีภรรยา ซึ่งความเป็นสามีภรรยา กฎหมายกำหนดให้ดูจากพฤติกรรม จารีตประเพณีและขนบธรรมเนียมต่างๆ

และเมื่อนายอนุสรณ์และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อยู่กินเป็นสามีภริยากัน การพิมพ์ชื่อในนามบัตรที่มีตราสัญลักษณ์สำนักนายกฯ จึงไม่ผิด

รวมถึงไม่ผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พุทธศักราช 2482 ที่มีผู้หยิบยก

ผู้ใช้นามว่า "ทิศทางลม" โพสต์ไว้ในเว็บพันทิปเช่นกัน เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ว่า

ใครโชว์ง่าวเรื่อง "นามบัตร นายกกับ สามี" ไว้มาเบิ่งด่วนเลย

พูดมาได้ว่า "สามีนายกมีตำแหน่งอะไร ถึงได้ใส่ชื่อในนามบัตร" ไงละ เห็นชื่อ เมียนายมาร์คไหม ไปถามมาร์คด้วยว่า เมียมีหน้าที่อะไรถึงต้องใส่ชื่อในนามบัตร สำนักนายก

ผมเห็นพวกนี้โชว์ง่าว "หน้าแหก" ไม่รู้กี่เรื่องแล้ว แต่ก็ไม่เข็ด กับไอ้นิสัย "อวดรู้ด่วนสรุป"

เหมือนกับที่ผมฟังรายการ อ.วีระ ธีรภัทร ที่มีพวก "ง่าว" ที่ไม่รู้เรื่องเลยเกี่ยวกับ ม.112 แต่โทร.เข้ามาแสดงความคิดเห็นและด่าคณะนิติราษฎร์ ให้ อ.วีระ ฟัง

สุดท้ายก็หน้าแหก โดน อ.วีระ สั่งสอนอบรมไปซะ

คุณภาพ ปัญญาชน ทาสอำมาตย์ กบในกะลา โคตร "อ่อน" เลย มิน่าถึงได้โดนหลอกซ้ำซาก

ล็อกอิน "เมฆาไร้เงา" ตั้งชื่อกระทู้ "นามบัตรเพชฌฆาต" ในพันทิป 3 กุมภาพันธ์ ว่า

นามบัตรเพื่อแจ้งให้สังคมและผู้คนรอบข้างทราบว่าตนมีคู่แล้ว แสดงถึงความบริสุทธิ์ใจ เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้สังคมในฐานะที่เป็นผู้นำระดับประเทศ

แต่ในสังคมจอมปลอม ผู้ดีขี้ครอก กลับมองถึงการทุจริต (ซึ่งคนพวกนั้นคงทำเป็นประจำ) ...ถามทุกคนตรงนี้ ถ้านายกหญิงไม่มีชื่อสามีในนามบัตรนั้น พวกคุณจะคิดอย่างไร

จะเอากฎ ระเบียบ ข้อไหนมาวิจารณ์เขาอีกครับ พวกคุณเคยทำอะไรไว้ ก็เลยเอามาเป็นมาตรฐานว่า ถ้ามีใครทำแบบนี้บ้าง ก็คงจะต้องทุจริตแน่ๆ งั้นใช่มั้ย

โธ่ กะแค่นามบัตร ถ้าไม่มีอะไรจะเล่นงานเขาแล้ว ก็หุบปากไปดีกว่ามั้ง อีกหน่อยนายกนั่งจิ้มฟัน ก็คงคิดว่าส่งซิกอะไรอีกอะดิ 55555

จาก "นายสบายสบาย" ในพันทิปวันที่ 2 กุมภาพันธ์

ปกติ งานสโมสรสันนิบาต จะต้องมาพร้อมคู่สมรสครับ แล้วการที่สำนักนายกฯ จัดทำ ก็ไม่ผิดมาตรา 6 ตามที่เอามาอ้าง เพราะนายกฯ ไม่ได้เป็นคนจัดทำเอง อีกอย่างระดับสำนักนายกฯ ไม่รู้จักธรรมเนียมปฏิบัติเลยเหรอครับว่าอะไรควรไม่ควร

นามบัตรปกติ จะเอาไว้เพื่อแนะนำตัวเอง เท่านั้นแหละครับ ว่าเป็นใครมากับใคร ไม่มีเบอร์โทรศัพท์ ไม่มีที่อยู่ติดต่อ เอาไปอ้างอิงอะไรไม่ได้ ถ้ามาพร้อมคู่สมรสก็ควรใส่ชื่อคู่สมรสด้วยสิครับ

ตอนผมป่วย ผมยังเคยได้นามบัตรของผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ติดมากับกระเช้า ก็พิมพ์ชื่อท่านเอง ตำแหน่งกับชื่อคุณหญิง มาในใบเดียว มีตราต้นสังกัดประทับด้วยเลยครับ

ไปที่เว็บบ้านราชดำเนิน ผู้ใช้นาม cyborg โพสต์เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์

ต้นเรื่องมาจาก เนเสี้ยมฯ เจ้าเก่าครับ เอามาเล่นเมื่อ 4-5 วันที่แล้ว

ผมก็อัดไปแล้วตั้งแต่วันนั้น ในกระทู้ของเนเสี้ยมฯ

ว่ามันไม่ใช่นามบัตร มันเป็นแค่การ์ดแนะนำตัวเท่านั้น และทางสำนักนายกฯ เป็นผู้จัดทำ

เพื่อให้นายกฯ และคู่สมรสใช้ในงานสโมสรสันนิบาต เมื่อปลายปีที่แล้ว

เอาประเด็นนี้มาเล่น เหมือนๆ กับครั้งที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์รับตำแหน่งใหม่ๆ ที่เอาเมนูอาหารมาใช้

จุดประเด็นว่า ทีมงานนายกฯ เล่นกินอาหารมื้อละ 3 หมื่นทุกมื้อ

ผมถามเนเสี้ยมฯ ที่หน้า FB ว่าทำเพื่ออะไร? นี่หรือสื่อฯ

ปิดท้ายเบาๆ จากผู้ใช้นาม Ton@tonnellato เม้นต์สั้นๆ ปลงๆ ใน twitpic ว่า

"ปรากฏว่าที่นามบัตรยิ่งลักษณ์มีชื่อสามีติด นายกคนก่อนๆ ก็ทำเช่นกัน..."

"สรุปโดนอัดฟรีอีกแล้วครับท่าน"



.