.
- "เกษียร"ชี้ไทยมีโครงสร้าง ปชต. แต่ ปชช.ยังคิดแบบสมบูรณาฯ ย้ำ มธ.ไม่มีล้มเจ้า แม้แต่ "สมศักดิ์ เจียมฯ"
- ตลกร้ายแห่งศตวรรษ : นิติราษฎร์ กับก้านธูป ใครที่เนรคุณธรรมศาสตร์!?!
- แฟนรายการขู่ทำร้ายนิติราษฎร์ "วีระ ธีรภัทร" แนะค้นคว้าข้อมูลก่อน "ฟันคอผิดคน"
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
เวทีประวัติศาสตร์
โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 03 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เวลา 22:00:00 น.
หลังจาก "มหาวิทยาลัย" ห่างหายไปจากความเคลื่อน ไหวการบ้านการเมืองมาหลายปี บทบาทของ "นักศึกษาปัญญาชน" ที่เคยเป็นหัวหอกในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เงียบหายไปจากสังคมไทยยาวนานไม่น้อย
กรณีนิติราษฎร์เหมือนได้ปลุกบรรยากาศเดิมๆ นั้นให้หวนกลับคืนมา
โดยมีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นเวทีอันคึกคักร้อนแรง
ดูจากภาพข่าวที่ช่างภาพบันทึกมานำเสนอบนหน้าหนังสือพิมพ์ ได้เห็นป้ายโปสเตอร์ ข้อความประท้วง คำประกาศจุดยืนความคิด ถ้อยคำเสียดสีประชดประชัน บทกวีอันคมคาย
นี่แหละ บรรยากาศการเคลื่อนไหวแบบปัญญาชน
อ่านเหตุผลของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ห้ามใช้พื้นที่เคลื่อนไหวกรณี 112 บอกว่า เพื่อป้องกัน ไม่ให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง จนไม่ปลอดภัยต่อบุคคลและทรัพย์สิน
ทำให้ต้องนึกย้อนไปว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตกเป็นเป้าหมายการใช้ความรุนแรงมาโดยตลอดจริงๆ โดยเฉพาะในยุคที่นักศึกษามีบทบาทสูงในปัญหาบ้านเมือง
แต่นั่นก็แปลว่า ธรรมศาสตร์ผูกพันกับการขับเคลื่อนของสังคมมาตลอดเช่นกัน
ในทางประวัติศาสตร์จะพบว่า การก่อตั้งของมหาวิทยาลัยแห่งนี้มีรากฐานจากปัญญาชนที่คิดหลุดพ้นจากกรอบเก่าๆ ชื่อเดิม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง บ่งบอกอะไรไว้มากมาย
การชุมนุมของนักศึกษาประชาชนก่อนจะนำไปสู่การ เดินขบวนใหญ่ 14 ตุลาคม 2516 ก็เกิดขึ้นจากเวทีที่ลานโพธิ์ ธรรมศาสตร์
ไปพลิกย้อนบันทึกของนักข่าวเก่าๆ จะพบว่า ธรรมศาสตร์เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์จริงๆ
เมื่อจะมีการชุมนุมเคลื่อนไหวใดๆ แม้จะทำในนามองค์กรรวมของเหล่านิสิตนักศึกษาทุกสถาบัน
มักใช้ธรรมศาสตร์เป็นสถานที่เคลื่อนไหว
เพราะที่ตั้งของธรรมศาสตร์อยู่ติดสนามหลวง ท่าพระจันทร์ อันเป็นศูนย์รวมของประชาชนทุกสารทิศ
เทียบกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ เช่น จุฬาฯ รามคำแหง มหิดล ถือว่าเป็นพื้นที่ห่างไกลมวลชน
หรือถ้าจะถึงขั้นใช้เป็นพื้นที่จัดชุมนุมประท้วงยืดเยื้อ ก็ต้องเลือกที่นี่ เพราะมีสนามฟุตบอลอยู่ตรงกลางล้อมรอบด้วยอาคารเรียนเป็นสัดส่วนชัดเจน ง่ายต่อการควบคุมสถานการณ์
แหล่งเสบียงอาหารก็ไม่ลำบาก ตลาดท่าพระจันทร์อยู่ แค่นั้น
เมื่อฝ่ายหนึ่งเลือกใช้ ฝ่ายต่อต้านก็มุ่งโจมตีที่นี่เช่นกัน
ธรรมศาสตร์จะถูกปาระเบิด ถูกยิงถล่ม จากกลุ่มเคลื่อน ไหวฝ่ายขวาเป็นระยะๆ
ก่อนจะรุนแรงที่สุดเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์คือ 6 ตุลาคม 2519
อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนปัจจุบันถึงกับใช้ คำว่า ไม่อยากให้เกิด 6 ตุลาฯครั้งที่สอง
ธรรมศาสตร์มีความเป็นมา ในฐานะเป็นเป้าหมายของลูกระเบิด กระสุนปืน การบุกเผาบุกโจมตี รุนแรงถึงขั้นเข่นฆ่า เช่นนั้นจริงๆ
แต่การถูกกระทำเหล่านี้ ทำให้ธรรมศาสตร์ดูน่าหวาดกลัวสยองขวัญ หรือว่าน่าเสียใจ แต่ก็ควรภาคภูมิใจ
และถามว่า ใครคือผู้ใช้ความรุนแรง
นักศึกษาประชาชนที่ใช้ธรรมศาสตร์เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลาคม 2516 หรือ
ผู้ที่ชุมนุมในธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 รึเปล่า
ลองเอาประวัติศาสตร์ของธรรมศาสตร์ในยุคนั้น
มาทาบกับปัญหาธรรมศาสตร์ในวันนี้ดู
++
วาทะสุดโต่ง
โดย สมิงสามผลัด คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในนสพ.ข่าวสดรายวัน วันที่ 03 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7736 หน้า 6
รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดวาทกรรม 2-3 วาทะบนโลกไซเบอร์ที่สร้างความมึนงงให้สังคมพอสมควร
วาทะแรกเป็นของ หมอตุลย์ สิทธิสมวงษ์ แกนนำเสื้อหลากสี
โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กถึงกรณีมีข่าวว่าคนลาวชื่นชม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เดินทางไปเยือนหลวงพระบาง ว่า
"คนลาวมันก็โง่เหมือนคนไทย ที่ไม่รู้ว่าเปลือกนอกแม้วที่ดูเก่งดูคล่องขายฝัน สร้างความเจริญ สุดท้ายทรัพยากรและความมั่งคั่งจะตกอยู่กับแม้ว ทิ้งให้ลาวจนกรอบ เจริญแต่วัตถุ สังคมฟอนเฟะ ดูพี่ไทยเป็นตัวอย่างก็แล้วกัน น้องลาวที่รัก"
อีกวาทะเกี่ยวข้องกับกรณีคณะนิติราษฎร์ออกมาเสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยมีกลุ่มปัญญาชนออกมาสนับสนุนอยู่ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา
และก็มีคนที่ออกมาคัดค้านในห้วงเวลาเดียวกัน
นายกนก รัตน์วงศ์สกุล ผู้ประกาศข่าวค่ายเนชั่น โฟสต์ลงในเฟซบุ๊กประณามคนที่สนับสนุนให้แก้มาตรา 112 ค่อนข้างก้าวร้าว
มีใจความตอนหนึ่งว่า "มัวแต่ดื้อด้านจะแก้กฎหมายท่าเดียว แล้วพ่อแม่พวกนี้ทำอะไรอยู่...ไม่ห้ามปรามเลยหรือ? หรือวายชนม์ไปหมดแล้ว? ผมขอโทษนะครับ อย่าหาว่าผมก้าวล่วง แต่อยากถามคนกลุ่มนี้จริงๆ ว่าพ่อแม่คุณอบรมสั่งสอนหรือเปล่า?"
ฟังวาทกรรมของทั้ง 2 คนแล้ว ประหลาดใจกับวิธีคิดของทั้งคู่อย่างยิ่ง
แต่ก็เข้าใจได้ในส่วนหนึ่ง เพราะวิธีคิดแบบนี้บ่งบอกถึงตัวตนของผู้ที่โพสต์ได้อย่างชัดเจนที่สุด
หมอตุลย์ออกมาประณามคนลาวว่าโง่เขลา ด้วยเหตุผลเพียงอย่างเดียวคือไม่พอใจที่ไปชื่นชมชื่นชอบทักษิณ
เป็นวิธีคิดแบบสุดโต่ง กดขี่ ดูหมิ่น
เช่นเดียวกับนายกนกวิพากษ์คนที่คิดต่างในเรื่องมาตรา 112
ด่ากราดว่าเป็นพวกดื้อด้าน เป็นพวกพ่อแม่ไม่สั่งสอน
นายกนกเอาความนึกคิดของตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่เปิดกว้างรับฟังความคิดของผู้อื่น
ยึดติดกับความคิดคร่ำครึ
ดูถูกและประณามคนอื่นแบบไม่มีเหตุมีผล
วิธีคิดแบบขวาจัดของทั้งคู่ เป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพทางความคิดของผู้อื่น
เพียงเพราะคิดไม่เหมือนตนเอง
+++
"เกษียร"ชี้ไทยมีโครงสร้าง ปชต. แต่ ปชช.ยังคิดแบบสมบูรณาฯ ย้ำ มธ.ไม่มีล้มเจ้า แม้แต่"สมศักดิ์ เจียมฯ"
จากมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 03 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เวลา 19:39:26 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่ห้องประชุมสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ มีการจัดเสวนาเรื่อง "ปรีดี พนมยงค์ กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" โดยมีนายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ มธ. และนายธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมรังสิต มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมเสวนา
นายธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ กล่าวว่า อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เคยกล่าวว่า ผู้สำเร็จการศึกษามีภารกิจสองด้าน หน้าที่หนึ่งยืนหยัดประชาธิปไตย หน้าที่ที่สองต้องช่วยให้ประชาชนใกล้ชิดประชาธิปไตยมากขึ้น นั้นคือเหตุผลว่า ทำไมต้องมีคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่าคณะราษฎรเกิดขึ้น เมื่อคณะราษฎรปฏิวัติเมื่อ พ.ศ. 2475 และมีรัฐธรรมนูญ มีกรอบว่าคนทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายอันเดียวกัน รวมทั้งผู้นำของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วย อาจารย์ปรีดีไม่เคยถกเถียงเรื่องประชาธิปไตย แต่ถกเถียงเรื่องคำ 3 คำคือ สิทธิ เสมอภาค และเสรีภาพ และสิ่งที่อาจารย์ปรีดีต้องการบอกคือ อย่างแรก เราต้องทำการผลิตมนุษย์ยุคใหม่เพื่อเข้าสู่ระบอบทางการเมืองใหม่ ภารกิจของ มธ.คือผลิตคนที่จบ มธ.เข้าสู่การเป็นราชการและนักการเมือง อาจารย์ปรีดีจึงสถาปนาชื่อมหาวิทยาลัยแห่งนี้ว่า มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เพื่อบอกนักศึกษาทุกคนว่า คุณต้องเกี่ยวกับการเมือง ไม่ว่าคุณจะต้องการหรือไม่ ดังนั้น นักศึกษา มธ.จึงต้องยืนยันหลักการทางการเมืองต่อไป
นายธำรงศักดิ์กล่าวต่อว่า คำถามที่นักศึกษามักจะถามคือ ทำไมต้องเกิดคณะราษฎรขึ้น และทำไมต้องปฏิวัติเมื่อ พ.ศ.2475 คำตอบก็คือ เพราะเราไม่สามารถแยกออกจากกระแสโลก คณะราษฎรสามารถบรรลุความสำเร็จได้ เพราะการรวมตัวของคน 7 คน
"ผมจะชี้ประเด็นว่า 7 คนนี้อายุสูงสุดคือ 29 ปี คือร้อยโทแปลก พิบูลสงคราม คน 7 นั่งคุยกันแล้วบอกว่าบ้านเมืองเราวันนี้ไม่ศิวิไลซ์ ถามต่ออีกว่าแผ่นดินนี้เป็นของใคร คณะราษฎรบอกว่าแผ่นดินนี้เป็นของราษฎร ดังนั้น เราต้องทำให้แผ่นดินนี้ศิวิไลซ์ลงไปสู่ราษฎรและรัฐธรรมนูญคือความศิวิไลซ์ และนี่คือพลังอันสำคัญ เมื่อคณะราษฎรประสบความสำเร็จ จึงเกิดหลัก 6 ประกัน คือ เอกราช ความปลอดภัยอย่างเท่าเทียม เศรษฐกิจ สิทธิเสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา ที่สำคัญเรามักจะบอกว่าการปฏิวัติในสมัย 2475 เป็นการปฏิวัติที่ไม่นองเลือด แต่มีการนองเลือดหลังจากนั้น เห็นได้จากการปฏิวัติเมื่อปี 2549 ซึ่งเป็นมรดกที่ได้จากการปฏิวัติเมื่อปี 2475"นายธำรงศักดิ์กล่าว
นายธำรงศักดิ์กล่าวว่า เคยตั้งคำถามหากมีกรณีของนิติราษฎร์ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยแห่งอื่น จะเกิดเหตุการณ์แบบที่นี่หรือไม่ คำตอบคือ เกิดไม่ได้ ทั้งนิติราษฎร์และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แล้ว เพราะการกำเนิดของ มธ. เป็นแบบพิเศษ นิติราษฎร์ไม่สามารถไปเกิดที่ไหนได้ นอกจากที่ มธ. และเมื่อเกิดที่ มธ. ผู้บริหารมหาวิทยาลัยทุกสมัยต้องเผชิญหน้า เวที มธ.เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดสิ่งใหม่ในสังคมไทยตลอดมา แน่นอนเมื่อคุณก่อให้เกิดสิ่งใหม่คุณต้องเจ็บปวด ในด้านผู้บริหารนับแต่ปี 2500
"ผู้บริหาร มธ.ได้รับแรงกดดันมาตลอด แต่จะเล่นบทนั้นอย่างไร ขอบอกว่าท่านต้องเล่นบทสองหน้า คือบอกกับสังคมว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ อาจารย์และนักศึกษาต้องถกเถียงกัน เพราะหากท่านเล่นบทหน้าเดียว นั่นหมายความว่าท่านได้สวามิภักดิ์แล้ว” นายธำรงศักดิ์กล่าว
ด้านนายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า มธ.เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานรัฐ แต่ขณะเดียวกันในสถานที่ราชการก็มีพื้นที่สาธารณะ แต่ มธ.อาจจะแตกต่างจากสถานที่ราชการอื่น ที่ต้องมีพื้นที่สาธารณะที่เราเรียกว่าเสรีภาพทางวิชาการ อาจารย์ปรีดีเรียกในวันเปิดมหาวิทยาลัยว่า เสรีภาพทางการศึกษา แต่เสรีภาพทางวิชาการได้มีการรับรองในรัฐธรรมนูญ สิ่งนี้เป็นประเด็นที่ต้องคิดว่ามีความหมายแค่ไหน อย่างไร เพราะยุคปัจจุบัน อาจเป็นวิกฤตทางภาษา เพราะมีคนใช้คำๆ เดียว แต่หลายความหมาย สิ่งที่ยังเป็นวาทะกรรมถกเถียงกันในการปฏิวัติเมื่อปี 2475 คือ คณะราษฎรชิงสุกก่อนห่ามหรือไม่ เพราะประชาชนยังไม่มีความเข้าใจว่าประชาธิปไตยคืออะไร แต่อีกฝ่ายเถียงว่า มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เพราะอย่างน้อยก็มีผู้มีการศึกษาค่อนข้างสูงเกิดขึ้น และเท่าที่ตนได้ศึกษา คิดว่ายุคนั้นน่าจะมีเสรีภาพทางความคิดและมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่ายุคนี้ ขณะที่เสรีภาพทางวิชาการหรือการแสดงออกทางความคิดเห็นในยุคหลัง มธ.ได้ชื่อว่า ณ สถานที่แห่งนี้เรามีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว ดังที่อธิการบดีคนปัจจุบันก็ยืนยัน โดยประกาศเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
นายพนัสกล่าวต่อว่า ในช่วงปี 2500 มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นใน มธ.มาก และจริงๆ เป็นการดิ้นรนต่อสู้ของนักศึกษารุ่นพี่ มธ. โดยมีการต่อสู้ของนักศึกษามาทุกรุ่นเป็นจิตวิญญาณที่อาจารย์ปรีดีประสาทให้ ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นใน มธ.ขณะนี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายมากๆ ถ้าคิดแบบนักกฎหมาย ต้องมากำหนดกันว่า เสรีภาพทางวิชาการต้องมีขอบเขต เสรีภาพระบอบประชาธิปไตยต้องมีขอบเขต เสรีภาพที่ไม่มีขอบเขตคืออนาธิปไตย คำถามคือ เสรีภาพทางวิชาการใน มธ. มีมากน้อยเพียงใด แต่ประกาศของอธิการบดีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์นั้น เสดงให้เห็นว่าเสรีภาพใน มธ. มีทุกตารางนิ้ว ยกเว้นเรื่องเลขสามตัว ซึ่งอาจเป็นประเด็นนำไปสู่การตีความโดยศาลรัฐธรรมนูญ หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แต่อย่างน้อยที่สุดจุดเริ่มต้นก็เกิดที่ มธ. ที่อาจารย์กลุ่มเล็กๆ จุดขึ้นในฐานะอาจารย์นิติศาสตร์คนหนึ่งตนมีความภูมิใจ
นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า อาจารย์ปรีดีบอกว่า ราษฎรไม่โง่ ต่อมาคือความรู้ใดที่ราษฎรขาด หมายถึง ประชาชนไม่สามารถคุมอะไรได้เลย ช่วยตัวเองไม่ได้ ไม่มีอำนาจอะไรเลย ในระบอบการเมืองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประชาชนไม่สามารถมีอำนาจใดๆ เลย แต่ระบอบประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ ดังนั้น อาจารย์ปรีดีจึงตั้ง มธ. เพื่อสอนวิชากฎหมายและการเมืองให้ประชาชน เพื่อให้ความรู้ประชาชน
"เรามีโครงสร้างประชาธิปไตย แต่ประชาชนยังมีความคิดในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อมีคนวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ คุณจะโกรธและรับไม่ได้ จึงทำให้ประมวลกฎหมายมาตรา 112 เกิดปัญหามาก ทันทีที่มีความขัดแย้งทางการเมือง ที่ขัดแย้งกับความคิดของคุณที่มีความคิดในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คุณก็คิดทันทีว่าต้องเอาพระบารมีเป็นที่พึ่ง ไม่ว่าคุณจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม คุณดึงสถาบันกษัตริย์ลงมาต่ำ ท่านคิดแบบนี้ได้ ทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขเกิดปัญหา ทำลายความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข รู้หรือปล่าว" นายเกษียรกล่าว
นายเกษียรกล่าวต่อว่า ขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน มธ. บางช่วง เช่น วันที่ 20 สิงหาคม 2518 นักศึกษาอาชีวะบุกเผา มธ. วันที่ 21 สิงหาคม 2519 มีอันธพาลการเมืองยิงถล่มกระทิงแดง และเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ยกเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อให้เห็นว่า นี่เป็นพันธสัญญาที่ชาว มธ.พึงมีและหาทางแก้ น่าเสียใจที่ประกาศห้ามใช้พื้นที่ของ มธ. ลืมและละทิ้งความรับผิดชอบและศีลธรรมดังกล่าวไปเสีย เพราะทั้งหมดเกิดมาโดยกระบวนการเดียวกัน วิธีการเดียวกัน
"สุดท้ายคงต้องบอกว่าไม่ต้องกลัว มธ. เท่าที่ทราบไม่ใครใน มธ.คิดล้มเจ้า แม้แต่นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มธ. แต่สิ่งที่คนใน มธ.คิดจะล้มคือ ล้มการเมืองที่คิดจะใช้เจ้าเป็นเครื่องมือไล่ล้างทำลายคนดีไปจากแผ่นดินไทย"นายเกษียรกล่าว
นายเกษียรกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ไม่เห็นด้วยกับประกาศผู้บริหาร มธ.อย่างมาก คือที่วิเคราะห์ว่า เราไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ 6 ตุลาคม ประการที่สอง รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นรัฐบาลที่อ่อนแอ แม้จะมีเสียงข้างมาก แต่ความชอบธรรมยังบกพร่อง เป็นรัฐบาลที่สั่นคลอน รัฐบาลที่คลอนจะใช้เวลามากในการตัดสินใจ ไม่แก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ดังนั้น รัฐบาลที่ค่อนข้างอ่อนแอแบบนี้ โดยตัวรัฐบาลเอง ไม่น่าจะใช้กำลัง และประการที่สาม เรื่องใหญ่ที่สุดของไทยคือ การแก้ปัญหาน้ำท่วม ดังนั้นถ้าเป็นความรุนแรงแบบจัดตั้งจากรัฐ คิดว่าไม่มี
"แต่สิ่งที่น่ากลัวคือ ม็อบที่เกิดแบบเป็นไปเอง แบบปลุกความโกรธ ความเกลียด อะไรก็ว่าล้มเจ้า ทั้งที่เขาก็เป็นคนหนึ่งที่รักในหลวง แต่คุณใช้คำพวกนี้เพราะอะไร เพราะคุณกลัวว่าจะไม่ได้ใช้เจ้าเป็นข้ออ้างทางการเมืองอีกต่อไป การเปิดพื้นที่ใน มธ. ถ้าจะเปิดก็ไม่ควรเลือกข้าง และการตัดสินใจควรมีกระบวนการปรึกษาหารือ และถ้ามติการบริหารมีปัญหา ก็ควรจะมีกระบวนการแก้ไข การรับผิดไม่ใช่เรื่องน่าอาย"นายเกษียรกล่าว
+++
ตลกร้ายแห่งศตวรรษ : นิติราษฎร์ กับก้านธูป ใครที่เนรคุณธรรมศาสตร์!?!
โดย Vee Intarakratug
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 03 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เวลา 19:00:00 น.
ในฐานะที่เป็น "ศิษย์เก่า" คณะวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ผมคิดว่าผมคงเป็นชนกลุ่มน้อย เมื่อดูจากพี่น้องและผองเพื่อนที่กำลังขะมักเขม้น เอาจริงเอาจังกับการล่ารายชื่อเพื่อรวมพลังต่อต้านคณะนักวิชาการที่ใช้นามว่า คณะนิติราษฎร์ ผู้ซึ่งเสนอแนวคิดให้แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยเหตุผลว่า นักวิชาการกลุ่มนี้ ล้มเจ้า รับเงินทักษิณ เนรคุณ ต่อสถาบัน ฯลฯ โดยแทบไม่ได้ยินการหักล้างทางวิชาการต่อข้อเสนอของนิติราษฎร์ ว่าตรงจุดใด ที่เห็นว่าไม่เหมาะสม เพราะอะไร แล้วควรจะต้องทำอย่างไรจึงจะเหมาะสม
รวมไปกรณีของน้องนักศึกษาที่ชื่อ ก้านธูป ที่ผมได้ยินแต่การโจมตีเรื่องส่วนตัว วิวาทะซึ่งมีแต่อารมณ์ มุ่งเน้นไปโจมตีเรื่องตัวบุคคลมากกว่าจะถกเถียงในเชิงหลักการ หรือวิชาการ ที่สำคัญยังหลายครั้งการโจมตีนั้นยังประกอบไปด้วยการขู่ อาฆาตมาดร้าย ใช้วิธีการที่เรียกได้ว่า "ล่าแม่มด" ต่อทั้ง คณะนิติราษฎร์ และก้านธูป
ไม่แต่เท่านั้น ท่านผู้เจริญทั้งหลายยังไล่ให้ ก้านธูป ไปศึกษาประวัติศาสตร์ และประณาม ว่า ก้านธูป เนรคุณ ไม่สมควรจะเข้ารับการศึกษาที่สถาบันอันทรงเกียรติแห่งนี้ ไล่ให้ไปเรียนที่อื่น เช่นเดียวกับที่ดิสเครดิตนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ ว่าเป็นพวกอยากดัง ปากยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม ฯลฯ และเช่นเคย ไล่ให้ไปศึกษาประวัติศาสตร์ ซึ่งผมคิดว่ามันคือ ตลกร้ายของศตวรรษ
ขออนุญาตทบทวนประวัติศาสตร์ และความเป็นมา ของสถาบันอันเป็นที่รักยิ่งของผม และท่านทั้งหลาย โดยข้อมูลของผมนำมาจาก http://www.tu.ac.th/default.tu/about/about.html และ http://www.pridi-phoonsuk.org/pridi-and-thammasat/ (เขียนโดย อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีต อธิการบดี มธ. และนักประวัติศาสตร์ชั้นแนวหน้าของประเทศ) บางท่านอาจจะมีข้อมูลทางประวัติศาสตร์แตกต่างจากแหล่งที่ผมมี เราอาจจะมาแลกเปลี่ยนกันได้ถ้าท่านไม่รังเกียจ
สรุปโดยย่อคือ
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อตั้งเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2477 โดยมีชื่อเมื่อเริ่มก่อตั้งว่า "มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ และการเมือง" (มธก.) มหาวิทยาลัยนี้ ถือกำเนิดมาจากความคิดริเริ่ม ดร.ปรีดี พนมยงค์
ปรัชญาของการตั้งมหาวิทยาลัย ปรากฏตามสุนทรพจน์ ของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ รายงานต่อผู้สำเร็จราชการ แทนพระองค์ มีดังนี้ "...มหาวิทยาลัยย่อมอุปมา ประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาส ที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักเสรีภาพของการศึกษา..."
มธก. ถือได้ว่าเป็นผลพวงหรือ "คู่แฝด" ของ การปฏิวัติสยาม 24 มิถุนายน 2475 อย่างไม่ต้องสงสัย หากไม่มี 24 มิถุนายน 2475 ก็อาจจะไม่มี (วันสถาปนา มธก.) 27 มิถุนายน 2477 ถ้าหากเราจะดูจาก "คำประกาศของคณะราษฎร" ในวันยึดอำนาจได้กล่าวว่า การที่ "ราษฎร" ยังถูกดูหมิ่นว่ายังโง่อยู่ (ไม่พร้อมกับระบอบประชาธิปไตย) นั้น "เป็นเพราะขาดการศึกษาที่เจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่" ดังนั้นในนโยบายหรือสิ่งที่เรียกว่า "หลัก 6 ประการ" ของคณะราษฎร ก็มีข้อหนึ่งที่ว่า "จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร" มีผลทำให้ต้องตั้ง มธก. ขึ้นมานั่นเอง
และสำหรับศิษย์เก่าบางท่านที่อาจจะไม่รู้ ไม่ใส่ใจ หรือรู้แล้วแต่ไม่อยากจำ อ.ปรีดี หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นผู้นำสมาชิกคณะราษฎร สายพลเรือน ผู้อภิวัฒน์การปกครองของสยาม จาก ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็น ประชาธิปไตย เป็นนายกรัฐมนตรี 3 สมัย และรัฐมนตรีกระทรวง ต่าง ๆ อีกหลายสมัย พูดง่าย ๆ ว่าเป็นแกนนำให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ให้มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่คงเลี่ยงไม่พ้นที่จะถูกกล่าวหาจากบางฝ่ายว่าล้มเจ้าเป็นแน่แท้ !!!
แต่อย่ากล่าวหาว่าท่านเนรคุณแผ่นดินนะครับ เพราะสิ่งที่ท่านทำให้แผ่นดิน ในสถานะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในฐานะผู้นำขบวนการเสรีไทย ซึ่งทำให้สยามไม่ต้องตกเป็นประเทศผู้แพ้สงครามร่วมกับญี่ปุ่น, ในฐานะผู้วางรากฐานระบอบเศรษฐกิจ และการปกครอง รวมทั้งระบบกฎหมายสมัยใหม่ที่ทำให้ประเทศก้าวหน้า ในฐานะรัฐมนตรีคลัง มหาดไทย และ ต่างประเทศ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ที่ประคองประเทศให้สามารถฟันฝ่าภาวะวิกฤติหลังสงครามโลก ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ล้วนเป็นคุโณปการอันใหญ่หลวงแก่ประเทศสยามทั้งสิ้น
และที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า ท่านเป็นผู้ก่อตั้ง หรือ ผู้ประศาสน์การ มหาวิทยาลัยของสามัญชน ที่ประกาศว่ามีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว ที่ชื่อว่า มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แห่งนี้ด้วย
ซึ่ง อ.ปรีดี ได้สอดแทรกความหมายและสัญลักษณ์เอาไว้ในมหาวิทยาลัยเช่น การเปิดเรียนภาคแรกของธรรมศาสตร์เปิด 27 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยาม ภาคสองเปิด 10 ธันวาคม ตรงกับวันรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่ 2) เป็นต้น
ท่านผู้ประศาสน์การได้พูดกับ อ.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นอธิการบดีว่า ส่วนหนึ่งมหาวิทยาลัยนี้มีทรัพย์สิน ที่ดิน มีตึกของตัวเองนั้น ก็ได้ด้วยเงินที่เก็บมาจากนักศึกษาทั้งสิ้น นักศึกษารุ่นแรก 7,094 คน ที่มาเสียค่าบำรุงในปีแรกนั้นนั่นแหละ ที่เงินของเขาและเธอซื้อที่ดินและสร้างตึกโดม ทำให้ มธก. มีความเป็นอิสระจากระบบราชการ ธรรมศาสตร์จะ "ถูกบิดเบี้ยว" และยึดให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของราชการ และเป็น มหาวิทยาลัย "ปิด" อย่างที่เห็นกันในปัจจุบันก็เมื่อหลัง พ.ศ. 2500 ในยุคที่บ้านเมืองเข้าสู่สมัยของการพัฒนาและลัทธิการทหารของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นั่นเอง
เมื่อบ้านเมืองขาดประชาธิปไตย ระบอบอำนาจนิยมเข้าครอง มหาวิทยาลัยก็เปลี่ยนแปลงไป แม้แต่ชื่อเดิมก็ถูกตัด คำว่า "วิชา" และ "การเมือง" ออก ฝ่ายอำนาจนิยมผลัดเวียนกันเข้ามา "รักษาการ" อย่างเช่นหลวงวิจิตรวาทการ (2493-2494) พลโท สวัสดิ ส. สวัสดิเกียรติ (2494-2495) ในฐานะตัวแทนคณะรัฐประหาร และท้ายที่สุดตำแหน่งผู้ประศาสน์การก็ถูกยุบ กลายเป็นตำแหน่งอธิการบดีที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้ามาดำรงอยู่เมื่อ 2495-2500 หรือ จอมพล ถนอม กิตติขจร ก็ยังเข้ามาดำรงตำแหน่งนี้ระหว่าง 2503-2506
นี่แหละครับที่ผมเห็นว่าเป็น ตลกร้ายแห่งศตวรรษ เพราะผมคิดว่าถ้าพูดถึง ธรรมศาสตร์ ในแง่ของมหาวิทยาลัยปิด ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของ ระบบราชการแล้ว และเคยมีอธิการบดีเป็นถึงจอมพลทั้ง 2 คน คณะนิติราษฎร์ หรือก้านธูป อาจจะสมควรถูกขับไล่หรือถูกประณาม แต่หากคำนึงถึงปรัชญาในการสถาปนามหาวิทยาลัยแห่งนี้ และคำนึงถึงประวัติ และชีวิตการทำงานของท่านผู้ประศาสน์การ บางครั้งคนที่น่าจะ ไม่เหมาะสม ไม่คู่ควร หรือถ้าใช้ถ้อยคำเดียวกับผู้เจริญหลายท่านคือ เนรคุณ กับ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง สมควรจะถูกขับไล่ออกจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ อาจจะไม่ใช่ คณะนิติราษฎร์ หรือก้านธูป แต่เป็น ...
+++
แฟนรายการขู่ทำร้ายนิติราษฎร์ "วีระ ธีรภัทร" แนะค้นคว้าข้อมูลก่อน "ฟันคอผิดคน"
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 02 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เวลา 22:00:00 น.
(ที่มา เว็บไซต์ประชาไท)
เมื่อ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา ในรายการ "คุยได้คุยดี Talk News & Music" ทางคลื่น 96.5 MHz อสมท. ดำเนินรายการโดยนายวีระ ธีระภัทรานนท์ หรือ "วีระ ธีรภัทร" ช่วงหนึ่งได้มีผู้โทรศัพท์เข้ามาแสดงความเห็นในเชิงตำหนิและระบุว่าต้องการจะทำร้ายกลุ่มนิติราษฎร์
ทำให้นายวีระรีบตัดบทและถามผู้ที่โทรศัพท์เข้ามาว่ารู้จักกลุ่มนิติราษฎร์หรือไม่ว่าสมาชิกประกอบด้วยใคร และถามด้วยว่ารู้ข้อความในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ และยังแนะนำให้กลับไปค้นคว้าข้อมูลจะได้มีพื้นฐานในการแสดงความรู้สึก ก่อนวางสาย โดยท้ายรายการนายวีระระบุด้วยว่าการเคลื่อนไหวแก้ไขมาตรา 112 อยู่ในประมวลกฎหมายอาญาไม่ใช่รัฐธรรมนูญ และประมวลกฎหมายอาญามาตราดังกล่าวเคยมีการแก้ไขมาแล้วในปี 2519
"คุณอยากรู้ คุณก็ไปหาความรู้สิครับ คุณจะมานั่งคิดเอาเองทำไม ถ้าคุณไม่แสวงหาข้อเท็จจริง แล้วคุณจะมีพื้นฐานในการแสดงความรู้สึกหรือ เดี๋ยวคุณฟันคอผิดคนนะ" นายวีระกล่าวตอนหนึ่งกับผู้ที่โทรศัพท์เข้ามาในรายการ
สำหรับรายละเอียดการสนทนาระหว่างนายวีระกับผู้โทรศัพท์เข้ามาแสดงความคิดเห็นมีดังต่อไปนี้
อ.วีระ + คนที่คิดตัดคอ นิติราษฎร์
www.youtube.com/watch?v=sZf-OQzYKL4
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย