http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-02-15

กระเช้าภูกระดึง (1) (2) โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน

.

กระเช้าภูกระดึง (1)
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 03 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1642 หน้า 40


โครงการก่อสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงมีมานานนับสิบปี และทุกครั้งที่มีการจุดประเด็นนี้ขึ้นมา จะมีเสียงคัดค้านตลอด

คุณปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้ไม่กี่วัน หยิบแฟ้มโครงการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงขึ้นมาปัดฝุ่นเป็นโครงการแรกๆ เหมือนตั้งใจจะให้เป็นผลงานชิ้นโบว์แดง ในฐานะเป็นเจ้ากระทรวงที่ดูแลด้านธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และในฐานะเป็นชาว จ.เลย ที่ตั้งของ "ภูกระดึง"

จากนั้นมีเสียงสนับสนุนตามมาเป็นระลอกๆ ทั้งจากหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับของคุณปรีชาและกลุ่มผู้สนับสนุนอื่นๆ

คุณดำรงค์ พิเดช เข้ามารับตำแหน่งอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ไม่กี่วัน ขานรับโครงการนี้ทันควัน

คุณดำรงค์บอกว่า เรื่องโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงนั้น มีการศึกษาไว้นานแล้ว มีแนวทางก่อสร้างไว้ 2-3 ทางเลือก ผ่านการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเรียบร้อยแล้ว

"กระเช้าลอยฟ้าภูกระดึงนั้น เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ เพราะวันนี้ปัญหาคนเจ็บป่วยบนภูกระดึง สัตว์ป่าโดยเฉพาะช้างกระทืบทำร้ายคนอาจจะถึงชีวิตได้หากนำตัวลงมารับการรักษาช้า รวมไปถึงปัญหาการจัดการขยะทั้งหลายเป็นเรื่องใหญ่ทั้งนั้น ที่สำคัญให้ไปถามเลยว่าคนที่มาประกอบอาชีพเป็นลูกหาบเมื่อแก่ตัวไปเป็นโรคกระดูกพรุนทั้งหมู่บ้าน บั้นปลายก็ต้องหาเงินมารักษาตัวเองเพราะการแบกหามสัมภาระขึ้นลงภูกระดึงมาตลอดชีวิต"

คือเหตุผลของ คุณดำรงค์ พิเดช ที่บอกผ่านสาธารณะ



โครงการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง ตามแนวคิดของ "ดำรงค์ พิเดช" นั้นจะดำเนินการคล้ายกับที่เกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย มีการสร้างกระเช้าเหนือเรือนยอดไม้มองลงไปเป็นกำมะหยี่สีเขียวสด ติดชายทะเลสวยงาม และไม่จำเป็นต้องตัดต้นไม้สักต้น

ขณะที่คุณปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข ออกมาสำทับซ้ำถึงสาเหตุในการผลักดันโครงการนี้ว่า ประธานหอการค้า จ.เลย ขอนแก่น หนองบัวลำภู ยื่นข้อเสนอที่ ทส. ให้สร้างกระเช้าเพื่อประโยชน์ทางการท่องเที่ยว และต้องการบูมให้ จ.เลย เป็นจังหวัดแห่งการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ในอนาคตจะมีเส้นทางระหว่าง จ.เลย ไปถึงหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

"ถ้ามีกระเช้าขึ้นภูกระดึง จะทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาที่ จ.เลย มากขึ้น โดยการเดินทางไปครั้งนี้ จะให้ศึกษาความเป็นไปได้ ในการสร้างกระเช้าว่า จะขึ้นเส้นทางไหน ที่จะให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ตั้งแต่การตัดต้นไม้น้อยที่สุด การวางเสากระเช้า การจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นใหม่ รวมทั้งผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม แม้ว่าที่ผ่านมา จะทำอีไอเอมาหลายครั้งแล้วก็ตาม แต่ครั้งนี้ต้องการให้ชัดเจน ให้ผลออกมาเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย"

คุณปรีชาอธิบาย



ถ้าย้อนดูข้อมูลเมื่อปี 2543 กรมอุทยานฯ สมัยยังเป็นหน่วยงานที่ใช้ชื่อว่า "กรมป่าไม้" อยู่ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ว่าจ้างบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด ศึกษาพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการกระเช้าลอยฟ้าภูกระดึง โดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อกำหนดรูปแบบและวิธีการจัดการด้านนันทนาการ การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เป็นต้นร่างในการพิจารณาในแง่วิชาการต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ผลการศึกษาของ "ทีม คอนซัลติ้งฯ" ในเวลานั้น ได้ข้อสรุปว่าระบบนิเวศบนยอดภูกระดึง ปัจจุบันเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย การก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าอาจไม่มีปัญหาในการก่อสร้างกระเช้า แต่จะมีปัญหาในการจัดการการท่องเที่ยวบนยอดภู

อาจมีความจำเป็นที่ต้องสร้างถนนหรือสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เพื่อนำนักท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวแต่ละจุด เพื่อให้สามารถท่องเที่ยวได้ภายในวันเดียว เพื่อเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวทุกวัย ทุกสถานะขึ้นไปท่องเที่ยวได้โดยสะดวก

การมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยรวมของภูกระดึง และหากมีกระเช้าจะมีการท่องเที่ยวบนยอดภูตลอดทั้งปี

"ทีมคอนซัลติ้งฯ" สรุปผลการศึกษาด้านเทคนิคการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้า พื้นที่สถานีต้นทาง-ปลายทาง 650 เมตร และ 400 ตร.ม. สถานีต้นทางอยู่ด้านล่างภูกระดึง ประกอบด้วยอาคารสำหรับขึ้น-ลงกระเช้า ลานจอดกระเช้า และห้องเครื่องยนต์ขับเคลื่อนซึ่งอยู่ใต้อาคารขึ้น-ลง ระยะเวลาก่อสร้าง 14 เดือน อุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างลำเลียงมาทางเฮลิคอปเตอร์เท่านั้น มีการเก็บกองวัสดุที่สถานีต้นทาง-ปลายทาง โดยใช้พื้นที่ 650 ม. และ 450 ตร.ม. เสากระเช้าประกอบเบื้องต้นจากโรงงาน จำนวน 2 ท่อน / 1 เสา แล้วมาประกอบที่บริเวณเก็บกองวัสดุที่สถานีต้นทาง แล้วยกไปติดตั้งบนฐานรากแต่ละจุดโดยเฮลิคอปเตอร์

การบำรุงรักษาเสา โครงสร้างจำนวน 16 ต้น จะทำเส้นทางเดินเท้า กว้างไม่เกิน 1 ม. ใช้แรงงานคนดูแล ลักษณะเสาเป็นทรงกระบอกส่วนใหญ่จะถูกบังโดยเรือนยอดไม้ ความสูงของเสา 64 ม. มีส่วนที่โผล่พ้นยอดไม้ 6 ม. เสาห่างกัน 240 ม. รูปแบบกระเช้าเป็นแบบเก๋ง 8 คนนั่ง ใช้สายเคเบิลแบบวนเวียน ความเร็วในการเดินทาง 6 ม./วินาที รวมเวลาเดินทาง 10 นาที

สำหรับแนวทางเลือกของกระเช้า ตามรายงานเลือกไว้ 2 จุด ดังนี้ แนวทางเลือกที่ 1 บ้านศรีฐาน-หลังแป อยู่ทางทิศใต้ของทางขึ้น-ลงปัจจุบัน ห่างจากเส้นทางเดิม 1 ก.ม. มีระยะความยาวของเคเบิลกว่า 3,819 ม. ผ่านป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณ และป่าสนเขา ซึ่งผลการสำรวจพบไม่มีไม้หายาก ถ้ามีการตัดฟันไม้สูญเสียพื้นที่ป่าไม้รวม 3.41 ไร่ หรือ 5,450 ตร.ม. เป็นไม้ใหญ่ 117.19 ต้น กล้าไม้ และลูกไม้ รวมมูลค่ากว่า 1.9 หมื่นบาท

ส่วนแนวทางเลือกที่ 2 บ้านไร่ใต้-คอกเมย อยู่ด้านตะวันตก ใกล้กับบ้านไร่ใต้ ซึ่งจะเป็นเขต อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ ระยะความยาวเคเบิล 4,299 ม. ผ่านป่าเบญจพรรณทั้งหมด ยกเว้นด้านบนภูเป็นทุ่งหญ้าจากสถานีคอกเมยไปศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวางต้องผ่านป่าดิบเขาที่เป็นป่าปิด 4 ก.ม. และตัดผ่านทุ่งหญ้าและป่าสนเขากลางภูอีก 9 ก.ม.

หากใช้เส้นทางนี้จะกระทบต่อป่าปิดและทั้ง 2 จุด เป็นแหล่งอาศัยและด่านสัตว์ป่า



++

กระเช้าภูกระดึง (จบ)
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1643 หน้า 38


การปัดฝุ่น "กระเช้า" ขึ้นภูกระดึงของ คุณปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงจะมีเสียงตอบรับจาก คุณดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานฯ และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องด้วยกันแล้ว แต่ยังมีเสียงสนับสนุนจากสื่อหลายสำนัก

สื่อส่วนใหญ่ที่แสดงท่าทีเห็นด้วยกับการสร้าง "กระเช้า" ขึ้นภูกระดึง เหตุผลคล้ายๆ กับคุณปรีชาและคุณดำรงค์อธิบดีกรมอุทยานฯ คือให้โอกาสผู้สูงอายุ เด็กสตรี ชื่นชมความสวยงามของธรรมชาติ ช่วยแก้ปัญหานักท่องเที่ยวเจ็บป่วย และปัญหาขยะที่ล้นบนภูกระดึง

บางสื่อยกตัวอย่างการสร้าง "กระเช้า" ในต่างประเทศที่รักหวงแหนธรรมชาติ อย่างเช่น สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี


แต่ฝ่ายคัดค้านการสร้าง "กระเช้า" ขึ้นภูกระดึง มีเหตุผลโต้แย้งว่าการสร้างกระเช้า จะทำให้สภาพธรรมชาติพังเร็วขึ้น สิ่งแวดล้อมเป็นพิษรุนแรงขึ้น

ฝ่ายคัดค้านเชื่อว่าสภาพภูผาสูง เป็นเกราะป้องกันผู้คนบุกรุกขึ้นไปทำลายสภาพธรรมชาติ

การปีนป่ายเพื่อขึ้นไปถึงยอด "ภู" ต้องใช้กำลังกายพลังใจอันเข้มแข็ง

เพราะระยะทางจากตีนผาถึงภูกระดึง 5 กิโลเมตร และเดินไปยังจุดพักแรกอีก 3 กิโลเมตร

สภาพอากาศเป็นอีกเกราะป้องกัน "ภูกระดึง"

ช่วงฤดูฝน อากาศแปรปรวน ฝนตกหนัก พื้นผิวเฉอะแฉะ ลื่นไถลเป็นอุปสรรคทำให้การเดินทางขึ้นสู่ภูกระดึง เป็นไปอย่างลำบาก

ฤดูฝนช่วงฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของ "ภูกระดึง"

ฝ่ายคัคค้านเชื่อว่า ถ้าหากมีกระเช้าลอยฟ้าขึ้นไปบนภูกระดึง ปริมาณนักท่องเที่ยวจะมีมากจนล้น ทำให้เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมตามมา

การสร้างกระเช้าลอยฟ้า ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ประเมินกันว่าไม่ต่ำกว่า 600 ล้านบาท

มองในแง่ธุรกิจ เงินลงทุนมากขนาดนี้จำเป็นต้องเร่งหารายได้คืนกลับมา ฉะนั้น ต้องคิดหาวิธีการทำอย่างไรจึงชักชวนให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวภูกระดึงกันมากๆ เพื่อให้คุ้มทุน


ปี 2543 บริษัททีม คอนซัลติ้ง ประเมินว่า ภูกระดึงสามารถเปิดท่องเที่ยวได้ตลอดปี

ถ้ากำหนดให้นักท่องเที่ยว 76,050 คน/ปี ค่าตั๋วโดยสารคนละ 756.25 บาทระยะเวลาที่คุ้มทุน ปีที่ 1-9

เมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาถี่บ่อยขึ้นเพราะมีกระเช้าเป็น "ตัวช่วย" อำนวยความสะดวก การก่อสร้างสาธารณูปโภค ตั้งแต่ห้องพัก ห้องน้ำไปจนถึงร้านค้า ร้านอาหาร ต้องมีรองรับให้เพียงพอ

เช่นเดียวกันขยะของเสียที่มาจากนักท่องเที่ยว ร้านค้า ร้านอาหาร ต้องมีกระบวนการบำบัด กำจัดไม่ให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ

คำถามที่ตามมา การดึงนักท่องเที่ยวขึ้นไปใช้บริการกันมากๆ ด้วยจุดประสงค์เพื่อเปิดกว้างผู้คนทุกเพศวัยได้ดื่มด่ำธรรมชาติบนภูกระดึงเช่นนี้ เราสามารถจะบริหารจัดการให้ "ธรรมชาติ" ที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้นให้ยั่งยืนได้อย่างไร

นี่เป็นเรื่องที่คุณปรีชา คุณดำรงค์ และหน่วยงานที่รับผิดชอบกับการอนุมัติโครงการนี้ต้องคิดตั้งแต่แรก



อย่าลืมว่า "ภูกระดึง" เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีความสำคัญมากแห่งหนึ่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในผลการศึกษาของ "ทีม คอนซัลติ้ง" บรรยายสภาพภูกระดึงเมื่อ 12 ปีที่แล้วว่า เป็นอุทยานฯ ที่มีความสำคัญ ประกอบด้วยป่า 6 ชนิด คือ ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าสนเขา ป่าเต็งรัง ป่าผสมผลัดใบ และทุ่งหญ้าเขตร้อน

สภาพป่าจะผันแปรตามระดับความสูงของภูมิประเทศ ตั้งแต่ 200-1,300 เมตร พบพืชที่มีเฉพาะในประเทศไทยและในอุทยานฯ ภูกระดึงเพียงแห่งเดียว 11 ชนิด เช่น หญ้านายเต็ม (Isachne smittinandiana A.Camus) หญ้า Eriocaulon siamcuse Mold. เอื้องแซะภู (Dendrobium mangaritaceum A.Finet)

พื้นที่ร้อยละ 99.47 ของอุทยานฯ เป็นป่าไม้

ส่วนสัตว์ป่าทั้งหมด 438 ชนิด แบ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีสัตว์ป่าสงวน 1 ชนิด คือ เลียงผา สัตว์ป่าคุ้มครอง 29 ชนิด ได้แก่ ลิ่นชวา ค่างแว่นถิ่นเหนือ

สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ 3 ชนิดได้แก่ เสือโคร่ง ช้าง หมาใน

สัตว์ป่าที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ 3 ชนิดได้แก่ หมีควาย เสือไฟ และเม่นใหญ่ สัตว์ป่าที่มีสภาวะใกล้ถูกคุกคาม 3 ชนิดได้แก่ นากใหญ่ภูเขา ชะนีมือขาว ลิ่นชวา

นกมีสัตว์ป่าสงวน 1 ชนิด คือ นกกระเรียน และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง 181 ชนิด

สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง 1 ชนิด คือ นกกระทาดงแข้งเขียว สัตว์เลื้อยคลาน มีสัตว์ป่าคุ้มครอง 7 ชนิด ได้แก่ เต่าเหลือง เต่าเดือย

สัตว์ป่าที่มีสภาวะใกล้ถูกคุกคาม 1 ชนิด คือ แย้อีสาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก มีสัตว์ป่าที่ถูกคุกคาม 1 ชนิด ได้แก่ กบห้วยขาปุ่ม

ปลา เป็นสัตว์น้ำที่มีแนวโน้มสูญพันธุ์ 2 ชนิด คือ ปลาดุกด้าน และปลาสร้อยน้ำผึ้ง

แมลงป่าไม้ สัตว์ป่าคุ้มครอง 1 ชนิด คือ ผีเสื้อถุงทองป่าสูง


ในอนาคต ถ้านักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัส "ภูกระดึง" ด้วยกระเช้าปีละ 7 หมื่นคน หนุ่มสาวแข็งแรงที่ต้องการสัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิดด้วยการปีนป่ายขึ้นภู กระดึงอีกราวๆ 1 แสนคน รวมๆ แล้วประมาณ 170,000 คน

ลองคำนวณกันเอาเองลักษณะธรรมชาติ "ภูกระดึง" จะเหลือให้คนรุ่นหลังๆ ได้สัมผัสอีกเท่าไหร่ ?



.