http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-02-11

นพมาส: THE LADY, +โอลด์บอย: Invictus ก้าวข้าม“ความเกลียด”

.
บทความปีที่แล้ว - ไม่มีคำตอบ (เดิมๆ) จาก...ปากเซ โดย คนมองหนัง

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

THE LADY "กล้วยไม้เหล็ก"
โดย นพมาส แววหงส์ คอลัมน์ ภาพยนตร์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1643 หน้า 87



กำกับการแสดง Luc Besson
นำแสดง Michelle Yeow
David Thewlis
Jonathan Reggett
Jonathan Woodhouse



เปิดตัวในประเทศไทยไปด้วยการมาร่วมงานของผู้กำกับฯ ลุก เบสซอง และนักแสดงนำ มิเชลล์ โหยว เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา หนังเรื่องนี้ถ่ายทำในเมืองไทย โดยท้องเรื่องเกิดขึ้นในพม่า เนื่องจากปัญหาการเมืองในพม่าไม่เอื้อให้แก่การใช้สถานที่จริงถ่ายทำ

ดังชื่อเรื่องซึ่งเป็นชื่อที่ชาวพม่าเรียกขานวีรสตรีของพวกเขา หนังเรื่องนี้เล่าประวัติชีวิตของ ออง ซาน ซูจี ผู้ที่โลกยกย่องในฐานะนักต่อสู้ทางการเมืองที่เด็ดเดี่ยวที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์สมัยใหม่

หนังเปิดเรื่อง ณ ปี ค.ศ.1947 ขณะที่ซูจียังมีอายุเพียงสามขวบ บิดาคือนายพลอองซาน วีรบุรุษของชาวพม่าที่เพิ่งต่อสู้เพื่อเอกราช ปลดปล่อยประเทศให้พ้นจากการปกครองของอังกฤษ

ช่วงเปิดเรื่องนี้เป็นภาพงดงามครั้งเก่าก่อนของพม่าที่เต็มไปด้วยศิลปวัฒนธรรม เห็นทิวทัศน์กลางหมอกของเมืองพุกามที่มีโบราณสถานอันงดงามของวัดวาอารามเก่าแก่ และอุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์ป่า โดยเฉพาะเสือลายพาดกลอนที่งามสง่า
แต่ นายพลออง ซาน ก็ถูกยึดอำนาจ ด้วยการถูกบุกเข้าสังหารอย่างเลือดเย็น
หนูน้อยซูจีในวัยสามขวบกำพร้าพ่อไปในบัดดล
และเอกราชที่ได้มาอย่างยากเย็นสำหรับประเทศชาติก็ตกอยู่ใต้ปกครองด้วยรัฐบาลเผด็จการทหารภายใต้นายพลเนวิน
พม่าจะยังไม่รู้จักประชาธิปไตยไปอีกนาน


สี่สิบเอ็ดปีต่อมา ซูจี (มิเชลล์ โหยว) ใช้ชีวิตอยู่ในลอนดอน ลงหลักปักฐานสร้างครอบครัวอันอบอุ่นกับชาวอังกฤษ มีลูกชายสองคน ชื่อ คิม (โจนาธาน แรกเก็ตต์) และ อเลกซ์ (โจนาธาน วูดเฮาส์)

สามีของเธอ ไมเคิล อาริส (เดวิด ธิวลิส) เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด

ค.ศ.1988 ซูจีได้ข่าวจากบ้านเกิดว่าแม่ผู้ชราล้มป่วยด้วยโรคเส้นโลหิตในสมองแตก จึงบินกลับมาเยี่ยมแม่ที่พม่า โดยกะว่าจะมาเพียงอาทิตย์สองอาทิตย์เท่านั้นก็จะกลับอังกฤษไปดูแลสามีกับลูกๆ เหมือนเดิม

ทว่า การณ์ไม่ได้เป็นไปดังที่คาดไว้ เธอประสบพบเห็นโศกนาฏกรรมของประเทศชาติและความโหดร้ายที่เพื่อนร่วมชาติต้องเผชิญอยู่

สถานการณ์อันรุนแรงในประเทศ ที่ทหารปราบปรามพวกคนหนุ่มคนสาวนักศึกษาผู้เรียกร้องประชาธิปไตยอย่างนองเลือด ทำให้เธอต้องทบทวนสถานภาพของตนอีกครั้ง

ในฐานะลูกสาวคนเดียวของนายพลออง ซาน วีรบุรุษที่ยังคงอยู่ในใจของประชาชนชาวพม่า ดูเหมือนว่า ออง ซาน ซูจี จะเป็นคนคนเดียวที่จะเป็นผู้นำขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยของพม่าอย่างได้ผลที่สุด

ผู้นำเผด็จการทหารไม่กล้าทำอันตรายเธอ เพราะอาจก่อให้เกิดการจลาจลวุ่นวายขึ้นใหญ่โตในประเทศ จึงได้แต่กักบริเวณเธอไว้ในบ้านของเธอเอง ไม่ปล่อยให้ออกไปไหนมาไหน และไม่ให้ใครเข้าพบ ตัดการติดต่อระหว่างเธอกับคนอื่นๆ รวมทั้งครอบครัวของเธอเอง และสร้างความไม่สะดวกสบายสารพัด

โดยหวังจะให้เธอกลับไปอยู่อังกฤษเสียกับครอบครัว จะได้หมดเสี้ยนหนามในประเทศ


ซูจีได้ฉายาว่า "กล้วยไม้เหล็ก" เนื่องจากเธอต่อสู้ด้วยวิถีสันติ และอหิงสา ทว่าด้วยความเด็ดเดี่ยวใจแข็งและไม่ยอมย่อท้อ

ถึงขั้นที่ว่าเธออดอาหารประท้วงถึงสิบสองวัน เมื่อเพื่อนร่วมงานถูกจับกุมคุมขังและยังไม่ทราบชะตากรรมของพวกเขาว่าดีร้ายเป็นตายอย่างไร จนรัฐบาลทหารต้องยอมอ่อนข้อ เพราะถ้าเธอตาย ก็จะต้องเกิดเรื่องจลาจลวุ่นวายที่อาจลุกลามไปใหญ่โตเกินจัดการได้

ไมเคิล อาริส เป็นกำลังใจและสนับสนุนภรรยาอย่างน่าสรรเสริญ โดยปราศจากความเห็นแก่ตัวและเอาตัวรอดแต่ครอบครัวตนเอง อาริสเป็นนักวิชาการต่างชาติ และรู้ดีว่าหากนานาประเทศให้ความสนใจและยกย่องอองซานซูจี ก็จะยิ่งเป็นการประกันความปลอดภัยของเธอในกรงเล็บของรัฐบาลทหารพม่า

ดังนั้น เขาจึงวิ่งเต้นเสนอให้เธอได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจนสำเร็จ และคำปราศรัยของ คิม อาริส ลูกชายเธอที่ขึ้นรับรางวัลแทนแม่ ก็สร้างความสะเทือนใจแก่ชาวโลกเสรี

สหรัฐอเมริกาและยุโรปออกมาตรการคว่ำบาตรพม่าทางด้านเศรษฐกิจ แต่ก็ยังไม่ก่อผลเป็นรูปธรรม จวบจนประเทศในเอเชียเข้าร่วมด้วย โดยเฉพาะญี่ปุ่น

ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลพม่าจำใจอ่อนข้อให้และยินยอมจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้น

การต่อสู้ของ ออง ซาน ซูจี ยังคงดำเนินอยู่ตราบจนทุกวันนี้



หนังถ่ายทำอย่างสวยงามด้วยฝีมือระดับ ลุก เบสซอง แม้ว่าเบสซองจะมีชื่อในด้านทำหนังแอ๊กชั่นที่อาจจะกลายเป็นหนังคลาสสิคสำหรับภาพยนตร์ประเภทนี้ไปแล้ว เช่น Leon The Professional และ La Femme Nikita แต่เขาก็เคยทำหนังการต่อสู้ของวีรสตรีให้ มิลา โจโววิช เล่นมาแล้วในเรื่อง Joan of Arc

เนื่องจากคนพม่าและไทยหน้าตาคล้ายๆ กัน หนังจึงใช้นักแสดงไทยในบทชาวพม่าหลากหลายบท ให้พูดพม่าบ้าง อังกฤษบ้างไปตามทำนอง

มิเชลล์ โหยว เป็นนักแสดงที่มาจากการเป็นรองนางงามจักรวาลรุ่นเดียวกับ ปุ๋ย ภรณ์ทิพย์ ของเรา และไปเล่นหนังกังฟู Crouching Tiger Hidden Dragon จนโด่งดัง ดังนั้น เวลาเล่นบทดรามาจึงยากกว่าเล่นบทบู๊นิดหน่อย ตอนเล่นบทเกอิชาใน Memoire of a Geisha ก็ไม่ใช่บทหลักที่ต้องมีความต่อเนื่องนานๆ

แต่โดยรวม เธอก็สมบทบาทดี เพราะหน้าตาท่าทางการแต่งเนื้อแต่งตัวที่ทำให้เธอสวยสง่าเหมือนกับ ออง ซาน ซูจี ตัวจริง

มีอิกนิดในตอนจบของหนังที่ทำให้ชาวพุทธอย่างเราๆ อาจรู้สึกสะดุดและแปลกแปร่ง ผู้กำกับฯ คงจะคิดแต่ในแง่ความงามและพลังของภาพที่จะสื่อสารออกมา จึงให้พระพม่าสวมจีวรเดินขบวนเป็นแถวเป็นแนวมาชุมนุมหน้าบ้าน ออง ซาน ซูจี แล้วจบด้วยการที่ซูจีปีนขึ้นแท่นสูงหลังประตูบ้าน เป็นสัญลักษณ์ของผู้นำขบวนประชาธิปไตย

รู้สึกแต่ว่าชาวพุทธคงไม่ทำอย่างนี้แน่ๆ



++++

บทความปีที่แล้ว 2554

Invictus โมเดล ก้าวข้าม “ความเกลียด”
โดย OLDBOY บางคูวัด คอลัมน์ หนังช่างคิด
ในมติชน ออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2554 เวลา 14:15:00 น.


คงเป็นเรื่องบังเอิญหลายๆ ประการมาบรรจบกัน ข้อเขียนใน “หนังช่างคิด” ครั้งนี้จึงอุบัติขึ้น

บังเอิญที่ มติชนรายวัน หน้า 14 ฉบับ 28 มิถุนายน 2554 นำเสนอคอลัมน์ “เคียงข่าว” เรื่อง กีฬาสร้างสามัคคี สไตล์ “แมนเดลลา” ตรงใจผมเป๊ะ ในสถานการณ์โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง

บังเอิญที่เรื่องราวของ “แมนเดลา” ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เรื่อง Invictus(พากษ์ชื่อไทยว่า “ไร้เทียมทาน”) พ้องพานกับกระแส “ปรองดอง” ที่เริ่มกระหึ่มขึ้นมา มากขึ้นเป็นลำดับ

บังเอิญที่บทความพิเศษขบวนล่าสุดจาก ราษฎรอาวุโส นพ.ประเวศ วะสี ที่ตั้งข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ถึง “ว่าที่รัฐบุรุษ/รัฐสตรี” ก็มีฐานคิดเพื่อสร้างสมานฉันท์แทนที่จะฆ่ากันหลังการเลือกตั้ง

และบังเอิญเหลือเกินที่ “แคมเปญทิ้งทวน” ของพรรคการเมือง ก็ผลิตวาทกรรมที่น่าจะเป็นกรณีศึกษาของประวัติศาสตร์การเมืองการเลือกตั้งไทย ได้อย่างแหลมคมและต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น

ถอนพิษทักษิณ, ไม่ล้างผิดบางคน , ตัดสินใจให้เด็ดขาดไปเลย, ไม่เลือกพวกเผาบ้านเผาเมือง, ไม่เอาพรรคการเมืองที่ยกดินแดนให้เขมร ......

ในเชิงยุทธศาสตร์การต่อสู้ นี่คือความพยายามที่น่ายกย่อง ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์เป็นรอง รอคอยแต่เพียงปาฏิหาริย์สำหรับการพลิกสถานการณ์ที่เหลือความหวังเพียงน้อยนิด

แต่คำถามที่น่าสนใจไม่แพ้กันนั่นคือ เพื่อที่จะไม่พ่ายแพ้ ต้องทำถึงขนาดนั้นเชียวหรือ?

และเมื่อเลือกเส้นทางที่จะเอาชนะกันด้วยการปลุกกระแสแห่งความกลัว ความเกลียด แบ่งแยกกันแบบนั้นแล้ว จะยังเหลืออะไรเอาไว้ให้ สมานฉันท์/ปรองดองกันได้อีก

ขณะที่เรื่องเล่าใน Invictus นั้น ผู้กำกับภาพยนตร์ คลิ้นต์ อีสต์วู๊ด ถ่ายทอด วิธีการที่ ประธานาธิบดี เนลสัน แมนเดลา เลือกใช้ “กีฬารักบี้” เป็นพาหนะในการนำคนในชาติ แอฟริกาใต้ ไม่ว่าจะผิวขาว ผิวดำ ร่ำรวย ยากจน คิด-เชื่อแตกต่างกันอย่างไร ให้กลับมาอยู่ร่วมกัน เคารพ ให้เกียรติ และยอมรับซึ่งกันและกัน ได้อย่างนุ่มนวลและชาญฉลาด


แต่แน่นอนว่า มิใช่เฉพาะกีฬารักบี้เท่านั้นที่เป็นยาวิเศษ บันดาลให้เกิดปาฏิหาริย์ได้ สังคมและประเทศแอฟฟริกาใต้ที่แตกแยก ร้าวฉาน เผชิญหน้ากันระหว่าง คนผิวสีขาว กับคนผิวสีดำ จนยากจะเชื่อว่าวันหนึ่งพวกเขาจะค่อยๆ สมานใจ เยียวบาดบาดแผลในอดีตด้วยความมุ่งมั่น

ความมุ่งมั่นที่เริ่มต้นจาก 2 ผู้นำคนสำคัญนั่นคือ ประธานาธิบดี เดอ เคลิร์ก(ผิวขาว) และ แมนเดลา(ผิวดำ) ผู้รับไม้ต่อมาสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของชาติ(ทั้ง 2 คนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกันในเวลาต่อมา)
ภาพสวยงามของคนขาวและคนดำที่ค่อยๆ เรียนรู้ที่จะเคารพกัน เข้าใจกัน จะไม่เกิดขึ้นอย่างเด็ดขาด หากทั้ง เดอ เคลิร์ก หรือ แมนเดลา ต่างยังมองอีกฝ่ายหนึ่งเป็นศัตรูที่ต้องพิฆาต เอาชนะ หรือโค่นอีกฝ่ายหนึ่งให้ย่อยยับลงให้ได้


Invictus วางโครงเรื่องเอาไว้ในช่วงที่ แมนเดลา พ้นโทษจากการถูกจองจำในคุกนาน 27 ปีกลับมาเป็นประธานาธิบดีของคนแอฟริกาทั้งประเทศ และเขาเลือกที่จะไม่ “ล้างแค้น” หรือเช็กบิลกับ คนผิดขาว แม้ว่าก่อนหน้านั้น ทั้งตัวเขาเองและคนผิวสีจะถูกปฏิบัติแบบ 2 มาตรฐานจากคนผิวขาวอย่างไม่เป็นธรรมมาอย่างยาวนาน

กระทั่งกีฬา “รักบี้” ที่แทบจะเป็นเหมือนอัตลักษณ์ของคนผิวขาว ไม่เคยอยู่ในความคิด ความสนใจของคนผิวดำเลย แต่เมื่อสถานการณ์นำพาให้แอฟริกาใต้ต้องเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน รักบี้ชิงแชมป์โลก (ขณะที่รักบี้ทีมชาติแอฟริกา เล่นกันห่วยแตก ไม่ต้องพูดถึงว่าจะฟลุ๊กคว้าแชมป์โลกเลย เอาแค่ไม่โดนถล่มเละ ตกรอบแรกก็ยากแล้ว) แมนเดลา ก็ตัดสินใจที่จะให้การสนับสนุนพวกเขา

ประเด็นสำคัญที่ภาพยนตร์ถ่ายทอดได้อย่างลุ่มลึกคือ ขั้นตอนของการคิด การเลือก ที่จะก้าวข้าม “ความแค้น” และ
“ความเกลียดชัง” ในอดีต แม้คนผิวดำส่วนใหญ่จะรักชอบหรือมีความสุขกับเกมฟุตบอลมากกว่า แต่เมื่อแมนเดลาทุ่มเท ให้ความสำคัญเพราะถือว่าความสำเร็จหรือล้มเหลวของทีมรักบี้ สปริงบอร์ก(ฉายาของทีมชาติแอฟริกา) คือหน้าตาคือความรับผิดชอบ ความสุข/เศร้า ที่จะเกิดขึ้น เป็นของคนแอฟริกาใต้ทั้งมวล มิใช่สำหรับใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

ดารานำที่เป็นตัวละครหลักอย่าง มอร์แกน ฟรีแมน ผู้แสดงเป็นแมนเดลา หรือ แมตท์ เดม่อน ผู้แสดงเป็นหัวหน้าทีมรักบี้ผิวขาว ทำหน้าที่ดำเนินเรื่อง ส่งรับอารมณ์ สื่อความหมายสำหรับความพยายามที่จะเชื่อมคน 2 ผิวสีในชาติให้กลับมาคิด เชื่อ และจดจ่อกับเรื่องเดียวกันร่วมกันอีกครั้งหนึ่งได้อย่างสมบูรณ์


แม้ในด้านหนึ่งอาจดูเหมือนจะดำเนินเรื่องไปตามขนบของภาพยนตร์กีฬา ที่ทีมรองบ่อนที่สุด เผชิญปัญหาอุปสรรคระหว่างทางมากมาย ค่อยๆ รวมพลังกันสู้ จนกระทั่งพลิกล็อค เอาชนะทีมตัวเต็งที่เก่งกว่า ไปได้ในที่สุด แต่รายละเอียดปลีกย่อยที่ คลิ้นต์ อีสต์วู๊ด ปะติดปะต่อเข้ามาในภาพยนตร์ ค่อยๆ โน้มน้าว สร้างอารมณ์ร่วมของ ผู้คนในภาพยนตร์และผู้ชมให้เคลื่อนไป จนเมื่อรู้สึกตัวอีกทีหนึ่ง แต่ละฝ่ายต่างก็เริ่มเปลี่ยน เริ่มมองอีกฝ่ายหนึ่งด้วยสายตา และมุมคิดที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

สาระหลักไม่ใช่เรื่องเหลือเชื่อที่คนเกลียดกัน กลายเป็นคนที่รักกัน หรือเดินไปสู่อุดมคติ “ปรองดอง” / “สมานฉันท์” อย่างหวานชื่น สังคมแอฟริกายังมีช่องว่างระหว่างคนยากจน คนร่ำรวยที่เปลี่ยนไม่ได้ภายในชั่วข้ามคืน หรือเพราะพวกเขาคว้าแชมป์โลกรักบี้ คนขาวก็ยังเป็นคนขาว คนดำก็ยังเป็นคนดำ

แต่พวกเขาไม่ต้องปักหลักอยู่คนละฟาก รอคอยเวลาว่าฝ่ายไหนชนะ จะได้ขึ้นเป็นใหญ่แล้ว “เอาคืน” ให้สาสม พวกเขาค้นพบพื้นที่ที่เขายืน พื้นที่ที่อีกฝ่ายหนึ่งยืน และพื้นที่ใหม่ที่ “ยืนร่วมกันได้”

นั่นต่างหากที่เป็น “ชัยชนะ” อย่างแท้จริงของคนส่วนรวมในชาติ หาใช่ทีมรักบี้ที่เก่งกาจ ไร้พ่าย ไร้เทียมทาน(ตามความหมายของคำว่า Invidtus)


ผมยังคงมองโลกในแง่ร้ายว่า ปรากฎการณ์แบบนี้คงยากจะเกิดขึ้นใน “ชาติไทย” ตราบเท่าที่ชุดความคิดของคนหลายกลุ่มยังไม่เปลี่ยน เพียงเพราะยังติดอยู่กับสถานะที่ “แพ้ไม่ได้” หรือ “ต่อให้แพ้ก็ไม่ยอมรับ”
นั่นแหละที่ผลักให้คนไทยทุกวันนี้ หากไม่ได้เป็น “พวกชั้น” ก็ต้องเป็น “พวกมัน”

วันนี้ไม่มีหรอก “พวกเรา” ....


( OLDBOY บางคูวัด sompratana08@yahoo.com )

"Forgiveness liberates the soul. It removes fear.That ?s why it is such a powerful weapon."
"การให้อภัยปลดปล่อยจิตวิญญาณ มันขับไล่ความกลัว นั่นคือเหตุผลว่าทำไมมันจึงเป็นอาวุธที่ทรงอานุภาพ"
จาก Blog Recycle Boy



++++

บทความปีที่แล้ว 2554

ไม่มีคำตอบ (เดิมๆ) จาก...ปากเซ
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก "กระแส"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 07 มกราคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1586 หน้า 85


"สะบายดี หลวงพะบาง" หนังของ "ศักดิ์ชัย ดีนาน" ผู้กำกับฯ ชาวไทย และ "อนุสอน สิริสักดา" ผู้กำกับฯ ชาวลาว ได้พูดถึงสังคมลาว รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศเพื่อนบ้านข้ามฝั่งโขง ผ่านหลากหลายประเด็นที่ชวนขบคิดและน่าสนใจ อาทิ

การปรับประสานต่อรองของสังคมลาวระหว่างยุคอาณานิคมกับหลังอาณานิคม, ความทรงจำและความพลัดพรากอันเนื่องมาจากการปฏิวัติลาว, การเดินทางของพระเอก ที่ค่อยๆ แปรเปลี่ยนสถานะจากการไปทำงานในฐานะช่างภาพมืออาชีพ สู่นักท่องเที่ยว และการย้อนกลับไปค้นหา "รากเหง้า" ของลูกครึ่งลาว-ออสเตรเลียคนหนึ่ง, สายสัมพันธ์รูปแบบใหม่ระหว่างผู้คนสองฝั่งโขงที่ดำเนินผ่านสื่อกลางสำคัญอย่าง "เงินตรา"

ตลอดจนประเด็นเรื่องแผนที่และเส้นพรมแดน


เมื่อปี 2553 ที่ผ่านมา "สะบายดี 2 ไม่มีคำตอบจาก...ปากเซ" ซึ่งเป็นผลงานการกำกับฯ ของ "ศักดิ์ชัย ดีนาน" (โดยที่ "อนุสอน สิริสักดา" ผันตนเองไปทำหน้าที่เป็น 1 ในผู้อำนวยการสร้าง) ได้ถ่ายทอดชีวิตคนทำหนังของตัวศักดิ์ชัยเอง ก่อนหน้าที่เขาจะมีโอกาสได้กำกับ "สะบายดี หลวงพะบาง"

ด้วยความที่เล่าเรื่องราวของคนทำหนังตกอับซึ่งมีที่ทางอยู่ตรงพื้นที่ "ชายขอบ" ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ประเด็นสำคัญยิ่งที่ถูกขับเน้นใน "ไม่มีคำตอบจาก...ปากเซ" จึงได้แก่ วิถีชีวิตของผู้คนสองฝั่งโขงและความสัมพันธ์ไทย-ลาว อันดำเนินผ่านสื่อกลางอย่าง "ระบบทุนนิยม"

เพราะภาวะสิ้นไร้หนทางทำมาหากินในแวดวงอุตสาหกรรมหนังไทย ได้ผลักดันให้พระเอกของเรื่องต้องตัดสินใจรับจ๊อบ ด้วยการเดินทางไปถ่ายทำวิดีโองานแต่งงานที่ปากเซ ประเทศลาว เพื่อรับค่าจ้าง 5 แสนกีบ (ราว 2 พันบาท)

หนังภาคต่อเรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวของชาวไทยตกยากคนหนึ่งที่เดินทางไปลาวในฐานะ "ลูกจ้าง" (แถมบางครั้งยังนำ "สินค้าขายตรง" ไปเสนอขายนางเอก ตอนที่เขาพยายามจะจีบเธอ) ผู้มักถูกตอกกลับหน้าหงายอย่างไม่สนใจไยดีโดยนางเอก ซึ่งเป็นเพื่อนของคู่บ่าวสาวที่เป็นนายจ้างของเขา

คล้ายกันกับ เด็กชายชาวลาว ซึ่งมารับหน้าที่เป็นผู้ช่วยช่างภาพของพระเอก ที่มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีใน "การสร้างภาพ" (และมีกล้องถ่ายรูปดิจิตอลในครอบครอง) จนสามารถนำความรู้ดังกล่าวมาอำและแฉเจ้านาย/ครูของตนเองได้ในตอนท้ายเรื่อง


"ไม่มีคำตอบจาก...ปากเซ" จึงไม่ได้ถ่ายทอดความสัมพันธ์ระหว่าง "พี่ไทย" กับ "น้องลาว" อย่างที่บางคนชอบทึกทักเอาเอง เพราะตัวละครชาวลาวสามารถหยอกล้อเล่นหัวหรือ "ตั๊น" คนไทยตกยากในหนังได้ทุกเมื่อ ผ่านความสัมพันธ์อันเท่าเทียมกันมากยิ่งขึ้น (นี่คือหนึ่งในประเด็นน่าสนใจที่เคยถูกนำเสนอใน "สะบายดี หลวงพะบาง" ก่อนจะกลายเป็นประเด็นหลักที่คมชัดมากขึ้นในหนังภาคนี้)

กระทั่งพระเอกของเรามีโอกาสลืมตาอ้าปากได้รับทุนทำหนังใหญ่ เขาจึงเดินทางกลับไปถ่ายทำภาพยนตร์ที่ลาว โดยนำแรงบันดาลใจมาจากความรักที่ปากเซของตนเอง ก่อนจะได้พบรักกับนางเอกในชีวิตจริงในท้ายที่สุด

อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่า การเดินทางข้ามฝั่งโขงของพระเอกได้ถูกขับเคลื่อนโดย "ระบบทุนนิยม" อีกเช่นกัน เพียงแต่ผู้กำกับฯ ตกยากคนเดิมมิได้ถูกผลักไปอยู่ตรงพื้นที่ชายขอบของอุตสาหกรรมภาพยนตร์อีกแล้ว ทว่าเขาเดินทางกลับมาปากเซในฐานะผู้เข้าถึงแหล่งทุน (และหลังจากทำหนังเรื่องนี้ ชีวิตของพระเอกนักทำหนังก็กลับไปล้มลุกคลุกคลานเหมือนเดิม)

สามารถกล่าวได้ว่า แรงผลักดัน/ผลักไสของ "ระบบทุนนิยม" ต่างหาก ที่ทำให้พระเอกไทยและนางเอกลาวคู่นี้ได้พบเจอและพลอดรักกัน

ขณะเดียวกัน ปัจจัยดังกล่าวก็ยังส่งผลให้เรื่องราวความรักในหนังไม่ได้ถูก "โรแมนติไซส์" หรือมีลักษณะพาฝันมากเกินไป จนนี่อาจกลายเป็นจุดดีข้อหนึ่งของ "ไม่มีคำตอบจาก...ปากเซ"



จากความรักของตัวละครเล็กๆ ในหนังเล็กๆ เรื่องหนึ่ง ถ้าหากเราลองฉายภาพความสัมพันธ์ดังกล่าวให้ทาบทับลงไปบนสายสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านสองฝั่งโขง

เราก็อาจพบว่าความสัมพันธ์ไทย-ลาว คงไม่ได้มีลักษณะเป็น "บ้านพี่เมืองน้อง" อย่างที่สังคมไทยเคยเชื่อถือฝังใจกันมาเนิ่นนาน

แต่คนไทยกับคนลาวในยุคสมัยปัจจุบัน กำลังสานต่อสายสัมพันธ์ซึ่งกันและกันผ่านกลไกของ "ระบบทุนนิยม" หรือ "เงินตรา" ซึ่งอาจเป็น "ตัวกลาง (อันค่อนข้าง) บริสุทธิ์" หรือเป็นหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่เราสามารถนำไปพูดคุยกับเพื่อนบ้านได้อย่างเท่าเทียมและปราศจากบาดแผลทางความทรงจำ

ก็ครั้นจะให้พูดคุยกันเรื่องกีฬา เดี๋ยว "พี่ไทย" ก็จะมีปมหรือไม่สะดวกใจอีก หากนึกถึงชะตากรรมของทีมบอลไทยซึ่งตกรอบแรกซีเกมส์ที่ลาว หรือต้องไล่ตามตีเสมอลาวในฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน

จะให้คุยเรื่องประวัติศาสตร์เหรอ พอ "พี่ไทย" เจออนุสาวรีย์ "เจ้าอนุวงศ์" ที่สูง 15 เมตร พร้อมทั้งยื่นพระหัตถ์ออกมาให้อภัย "ผู้รุกราน" และผู้ที่เคยกระทำต่อพระองค์ เราก็ไปไม่เป็นอีกเหมือนกัน

ฯลฯ

"ไม่มีคำตอบจาก...ปากเซ" จึงแสดงให้เราเห็นถึงอิทธิพล (ดีๆ ร้ายๆ) ของ "ระบบทุนนิยม" ในการขับเคลื่อนหรือผลักดันวิถีชีวิตตลอดจนความสัมพันธ์ของผู้คนท่ามกลางสังคมโลกร่วมสมัย

"ระบบทุนนิยม" ที่อาจมิได้มีแค่แง่มุมกดขี่ขูดรีดอย่างโหดเหี้ยมแต่เพียงด้านเดียว



.