http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-02-01

เกษียร: ถามใจคอจะไม่ให้คณะก้าวหน้าจากยุคสฤษดิ์เลยหรือ?, ปราปต์: ความรู้ (สึก)

.
มีโพสต์ถัดไป
- "สมคิด" ระบุผู้บริหารมีมติไม่ให้ใช้พื้นที่มธ.เคลื่อนไหว112 "เกษียร" ชี้น่าเสียใจ นศ.-ศิษย์เก่า ต้าน
- แถลงการณ์องค์กรสิทธิวิตกสถานการณ์คุกคามสิทธิเสรีภาพของกลุ่มนิติราษฎร์
- 224 นักวิชาการ-นักเขียน-นักกิจกรรมทางสังคมนานาชาติ หนุนนิติราษฎร์

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * ** * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

"เกษียร เตชะพีระ" แย้ง "นิติมธ.2501" ถามใจคอจะไม่ให้คณะก้าวหน้าจากยุคสฤษดิ์เลยหรือ?
จากมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 13:30:00 น.


จากกรณีชมรมนิติมธ.2501 ออกแถลงการณ์และทำจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดำเนินการห้ามไม่ให้มีการใช้สถานที่ของม.ธรรมศาสตร์รณรงค์ยกเลิกหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 8 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 อันเป็นพฤติกรรมเหิมเกริมจาบจ้วงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด และให้กลุ่มอาจารย์นิติราษฎร์ ซึ่งประกอบด้วยอาจารย์ชายหญิงคณะนิติศาสตร์ 5 คน และคณะอื่นอีกบางคณะ ให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่อาจารย์ทันที เพื่อไม่ให้นักศึกษารับความคิดมิจฉาทิฐิมาเป็นแบบอย่างต่อไป พร้อมทั้งให้มีการดำเนินการสอบสวนเพื่อลงโทษทางวินัยกลุ่มอาจารย์นิติราษฎร์ ซึ่งมีการแสดงออกอย่างชัดเจนว่า เป็นผู้ไม่นิยมเลื่อมใสการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ข้าราชการไทยทุกคนจะต้องมี


นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความเห็นต่อกรณีดังกล่าวผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก ดังนี้

มาตรา 50 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในทางวิชาการ การศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัยและการเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้เท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน - เปิดดีเบตกันเลยว่าสิ่งที่นิติราษฎร์ทำขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่? ถ้าไม่ ก็มีสิทธิทำได้ตามม.50 ของรธน.ปัจจุบัน คนที่จบนิติศาสตร์เชิญแสดงความเคารพรัฐธรรมนูญให้สมเป็นศิษย์เก่าหน่อย


ปี 2501 จอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ ตรงกับปีที่ศิษย์เก่าเหล่านั้นนับรุ่นพอดี, ปี 2549 คปค.ทำรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญอีกเหมือนกัน ไม่ทราบว่าคณะศิษย์เก่านิติ 2501 หลับไม่รู้นอนคู้ไม่เห็นหรือไงไม่ทราบ ไม่ออกมาแสดงจุดยืนปกป้องกฎหมายและหลักนิติธรรมเลย? ทำไมไม่ใช้มาตรฐานเดียวกันกับคณาจารย์ มธ.ที่สนับสนุนรัฐประหารหรือไปช่วยคปค.ร่างรธน.หรือทำงานการเมืองล่ะ? ไม่ห้ามท่านเหล่านั้นสอนหนังสือบ้างหรือไร? แปลกดีนะครับ

ถอยหลังเข้าคลองของจริง ใจคอจะไม่ให้คณะเก่าที่ท่านจบไปก้าวหน้าทางวิชาการไปจากยุคเผด็จการทหารอาญาสิทธิ์ของจอมพลสฤษดิ์เลยหรือไร? อย่าลืมนะครับว่าท่านจอมพลแสดงความรักชาติ รักสถาบันฯ ไม่ขาดปาก และท่านจอมพลก็โกงชาติเป็นพัน ๆ ล้านจนถูกยึดทรัพย์ฉาวโฉ่ และละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนเป็นร้อย ๆ จับพวกเขาไปขังคุกลืมและยิงเป้าโดยไม่ขึ้นศาลเลยไม่เคารพหลักนิติธรรมใด ๆ ทั้งสิ้น คณะศิษย์เก่ารุ่นสฤษดิ์ยึดอำนาจ ไม่รู้ไม่เห็นไม่สรุปบทเรียนเลยหรือไรครับ? ผมล่ะสงสารท่านผู้ประศาสน์การจริง ๆ ที่มีเหลนศิษย์แบบนี้



++

ความรู้ (สึก)
โดย ปราปต์ บุนปาน คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 19:00:00 น.


"ปัญญาชนสายอนุรักษนิยมหายไปไหน?"

น่าแปลกใจที่คำถามซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางภาวะปะทะกันทางความคิดครั้งสำคัญในสังคมการเมืองไทยร่วมสมัยดังกล่าว

มักถูกพูดหรือเขียนออกมาโดยผู้ที่เห็นว่าโครงสร้างทางอำนาจในสังคมไทยได้แปรผันไปแล้ว

จึงจำต้องปฏิรูปกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สอดคล้องรองรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

แน่นอนว่า ส่วนใหญ่ของคนกลุ่มนี้มีจุดยืนสนับสนุนนักวิชาการคณะ "นิติราษฎร์"

มิอาจปฏิเสธได้ว่า แม้แต่คณะนิติราษฎร์เอง ก็ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนจำนวนไม่น้อย

เพราะปัจจัยเรื่อง "อารมณ์ความรู้สึก"


ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา "โครงสร้างทางอารมณ์ความรู้สึก" ของผู้คนในสังคมไทย

เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายมหาศาลคู่ขนานกันกับสิ่งที่เกิดขึ้นในโครงสร้างทางอำนาจ

เป็นความรู้สึกที่เริ่มตระหนักว่า มีความไม่เป็นธรรมดำรงอยู่

เป็นความรู้สึกที่เริ่มตระหนักว่า กฎกติกาที่ถูกใช้ร่วมกันในสังคมประชาธิปไตยถูกละเมิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ณ จุดนี้นี่เอง ที่คณะนิติราษฎร์เปิดตัวออกมาอย่างเหมาะเจาะพอดีกับกาลเทศะของสังคม

ทว่า การเคลื่อนไหวของนิติราษฎร์ก็มิได้พึ่งพาอาศัยเพียงแค่ปัจจัยเรื่อง "ความรู้สึก" อันร้อนเร่ารุนแรงของประชาชนกลุ่มหนึ่ง

ว่าพวกตนตกเป็นฝ่ายถูกกระทำเท่านั้น

หากนักวิชาการกลุ่มนี้ยังพยายามนำเสนอหลักการ "ความรู้" แบบใหม่ๆ ที่ผู้มีอำนาจไม่คุ้นชิน (แต่สามัญชนบางส่วนเริ่มคุ้นเคย)

ด้วยความเชื่อว่า "ความรู้" ดังกล่าวจะช่วยประคับประคองให้สังคมการเมืองไทยไม่ต้อง "แตกหัก"

เพราะรับมือกับความขัดแย้งและความเปลี่ยนแปลงไม่ไหว


ผู้เห็นต่างสามารถถกเถียงเรื่องหลักการ "ความรู้" กับคณะนิติราษฎร์ได้อย่างเต็มที่

เมื่อขาหนึ่งของนิติราษฎร์และผู้สนับสนุนยืนอยู่บนฐานเรื่อง "องค์ความรู้" ชนิดใหม่

ผู้เห็นต่างสามารถ "รู้สึก" ไม่ชอบ ชิงชัง หงุดหงิดต่อคณะนิติราษฎร์ได้อย่างเต็มที่ (ตราบใดที่มิได้ลงมือใช้ความรุนแรงทางกายภาพ หรือกระทำการอันผิดกฎหมาย)

เมื่ออีกขาหนึ่งของนิติราษฎร์และผู้สนับสนุนยืนอยู่บนฐานเรื่อง "อารมณ์ความรู้สึก" ซึ่งไม่พอใจใน "สภาพที่เป็นอยู่" ของสังคมไทยปัจจุบัน


อย่างไรก็ตาม การต่อต้านคณะนิติราษฎร์ คงไม่มีส่วนร่วมผลักดันขยับเขยื้อนประเทศชาติให้เติบโตก้าวข้ามความขัดแย้งไปได้

หากการต่อต้านนั้นวางตัวเองอยู่บนพื้นฐานเรื่อง "ความรู้สึก" เพียงประการเดียว

(ที่แสดงออกผ่านนานาพฤติการณ์ อาทิ การเผาหุ่น, ดูถูกดูแคลน, ข่มขู่, ปรักปรำ และทวงบุญคุณ เป็นต้น)

โดยปราศจากการพัฒนาต่อยอด "องค์ความรู้" แบบเดิมขึ้นมาต่อสู้โต้เถียงอย่างสมเหตุสมผล

นี่คือที่มาของคำถามว่า "ปัญญาชนสายอนุรักษนิยมหายไปไหน?"

และหากคำจำกัดความของปัญญาชนประเภทนี้

หมายถึง ผู้ที่เสนอหลักการความรู้เพื่อปรับปรุง-สืบสาน-ธำรงสถาบันตามประเพณีต่างๆ ให้ดำรงคงอยู่อย่างเท่าทันความเปลี่ยนแปลงแล้ว

บางทีในระยะยาว นักเรียนทุนอานันทมหิดลชื่อ "วรเจตน์ ภาคีรัตน์" อาจถูกนับเป็น "ปัญญาชนสายอนุรักษนิยม" คนสำคัญก็ได้



+++

"สมคิด" ระบุผู้บริหารมีมติไม่ให้ใช้พื้นที่ มธ.เคลื่อนไหว112 "เกษียร" ชี้น่าเสียใจ นศ.-ศิษย์เก่า ต้าน
จากมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 20:30:00 น.


นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 30 มกราคมว่า

"ที่ประชุมกรรมการบริหารมหาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งประกอบด้วยคณบดี ผู้อำนวยการสำนักสถาบันมีมติเอกฉันท์ว่ามหาลัยคณะสำนักสถาบันจะไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่มหาลัยเพื่อเคลื่อนไหวกรณีมาตรา 112 อีกต่อไป เพราะมหาลัยเป็นสถานที่ราชการ การอนุญาตต่อไปอาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนีนการของมหาลัยหรือมหาลัยเห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างรุนแรงภายในบริเวณมหาลัย จนมหาลัยไม่อาจดูแลความปลอดภัยของบุคคลและทรัพย์สินของมหาลัยได้"


หลังจากอธิการบดีธรรมศาสตร์นำมติของกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยมาเปิดเผยในเฟซบุ๊กของตนเอง ปรากฏว่ามีผู้เข้ามาคลิก "ไลค์" เป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ก็มีผู้แสดงความเห็นต่อมติดังกล่าวอย่างหลากหลาย ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ซึ่งนายสมคิดได้พิมพ์ข้อความตอบผู้มาแสดงความคิดเห็นเหล่านั้นว่า

"หลากหลายดีครับ ผมขอขยายความให้ชัดเจนว่า

"1 มหาลัยได้เปิดโอกาสให้ใช้สถานที่ของมหาลัยในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้มาโดยตลอดโดยไม่ได้ปิดกั้น แม้จะมีผู้ไม่เห็นด้วยและวิพากษ์วิจารณ์ท่าทีของมหาลัยก็ตาม

"2 การแสดงความคิดเห็นดังกล่าวได้ขยายตัวไปสู่การเคลื่อนไหวทางการเมืองจนเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงและอาจนำไปสู่ปัญหาอย่างร้ายแรงในสังคมได้และมีความเสี่ยงเป็นอย่างมากที่จะเกิดความวุ่นวายในพื้นที่ของมหาลัย

"3 ประชาชนและศิษย์เก่าเข้าใจผิดว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นของมหาลัยหรือมหาลัยให้การสนับสนุน

"4 ผู้บริหารของมหาลัยจากทุกคณะสถาบันมีมติเอกฉันท์ร่วมกันในเรื่องนี้ โดยไม่กระทบต่อการอนุญาตที่ได้ให้ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตให้กับกลุ่มสนับสนุนหรือคัดค้านก็ตาม

"5 มหาลัยยังคงตระหนักถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ของคนทุกกลุ่มทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ แต่ใคร่ขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจในท่าทีและหลักการของมหาลัยที่ไม่เพียงแต่ต้องรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพของปัจเจกชนแต่ยังต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและผลประโยชน์ของมธ.โดยรวมด้วย"

รวมทั้งยังได้โพสต์ข้อความใหม่อีกหนึ่งข้อความ มีเนื้อหาว่า

"เป็นอธิการมธ.ก็ลำบากหน่อย

"1แสดงความไม่เห็นด้วยทางวิชาการกับนิติราษฎร์ก็มีคนออกมาประท้วง ด่าและข่มขู่คุกคาม ให้ปลดจากตำแหน่ง

"2อนุญาตให้นิติราษฎร์ใช้ที่มหาลัยก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งมากดดันคัดค้านต่อว่า

"3เห็นว่าควรพอได้แล้วกับ 112 (หลังจากอนุญาตไปแล้ว4-5 ครั้ง) คนกลุ่มแรกก็ออกมาอีก

"4 เห็นว่าไม่ควรไล่ล่าแม่มดก้านธูป คนกลุ่มแรกออกมาชม คนกลุ่ม 2 ออกมาว่าอีก

"สังคมไทยไม่ยอมให้คนยืนบนความถูกต้องและพอดีพองามเลยหรือไง"



จากการประกาศดังกล่าว ส่งผลให้นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นในหน้าเฟซบุ๊กของตนเองว่า

"ในฐานะอาจารย์ธรรมศาสตร์คนหนึ่ง ผมรู้สึกมติของกรรมการบริหารมธ.ข้างต้นเป็นเรื่องเศร้า แต่ไม่เหนือความคาดหมาย

"เหตุผลแรกเรื่องเกรงความเข้าใจผิดหากเปิดให้ใช้สถานที่ ฟังไม่ค่อยมีน้ำหนักนัก เพราะยังไม่เคยได้ยินใครว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เห็นด้วยกับการผลักดันให้แก้ไข ม. 112 เลย สังคมทั่วไปทราบดีว่าเป็นกลุ่มนิติราษฎร์และครก.112 ไม่ใช่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยรวม

"ส่วนเหตุผลหลังเรื่องเกรงความขัดแย้งรุนแรงในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เอง แม้ว่าไม่ถึงกับเป็นไปไม่ได้ แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่เห็นเค้ารอยความเป็นไปได้ชัดเจนนอกจากการเผาหุ่นโดยกลุ่มต่อต้านจากภายนอกที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจดังกล่าวเท่ากับผลักดันให้เวทีแสดงความเห็นและแก้ไขความขัดแย้งเรื่องนี้หลุดลอยจากวงวิชาการออกไปสู่ท้องถนนหรือที่สาธารณะอื่น ๆ ซึ่งน่าจะล่อแหลมต่อความรุนแรงมากกว่าด้วยซ้ำ


"น่าเสียใจที่คณะผู้บริหารไม่เห็นความจำเป็นของบทบาทของมหาวิทยาลัยในฐานะควรเป็นสถานที่แสวงหาทางออกจากความขัดแย้งแก่สังคมด้วยเหตุผลและหลักวิชาโดยสันติ"

นอกจากนี้ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. ยังได้โพสต์บทกวีชิ้นหนึ่ง โดยระบุว่า

"กลอนเก่า 30 ปีก่อนที่ในที่สุดก็ยังไม่ล้าสมัยสำหรับธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์

"ที่นั่นริมฝั่งเจ้าพระยา ลมชายโชยมาเวลาค่ำ
ท้องฟ้าเป็นสีมืดดำ ดาวตกเดือนต่ำราตรี
เป็นคืนที่ทุกสิ่งนิ่งหยุด เงียบเชียบทั้งมนุษย์ภูติผี
ดึกแล้วหลับเถิดนะคนดี มืดมิดเช่นนี้จงหลับตา
ลืมตาก็ไม่เห็นอะไรหรอก ป่วยการจะกลอกลูกตาหา
ปล่อยให้เป็นเรื่องของเวลา แล้วแต่ดินฟ้าจะพาไป
ผู้คนหลงทางก็ช่างเขา เป็นธุระของเราก็หาไม่
เรียนไปเล่นไปสบายใจ จบแล้วจะได้หางาน
หางานหาเงินเจริญทรัพย์ สินค้าให้จ่ายจับมหาศาล
เกิดมาแล้วชาติหนึ่งพึงสำราญ จะดิ้นรนรำคาญไปไย
ที่นั่นริมฝั่งเจ้าพระยา เป็นคืนที่ทุกวิญญาหลับใหล
หัวใจหยุดเต้นทุกหัวใจ ต้นหญ้าไม้ใบระเนนนอน
มืดฟ้ามืดตามืดสำนึก มืดข้างในลึกลึกเหมือนถูกหลอน
ถ้าฟ้าล่มถล่มทับนาคร ใครเลยจะเดือดร้อนสักคนเดียว....."


( ภาพเก่า ไม่ใช่เหตุการณ์เดียวกัน)
ด้านนักศึกษา ศิษย์เก่า และประชาชนกลุ่มหนึ่ง ได้ออก แถลงการณ์คัดค้านการปิดกั้นเสรีภาพในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีเนื้อหาว่า

สืบเนื่องจากสเตตัสล่าสุดของอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ในเฟสบุ๊ก ใจความว่าด้วยเรื่องของการจะห้ามใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการเคลื่อนไหวทางความคิดและการขับเคลื่อนประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา112 (กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) เห็นได้ชัดว่านี่เป็นการปิดกั้นเสรีภาพทางความคิด และเสรีภาพทางวิชาการ ในมหาวิทยาลัยที่มีคำขวัญอันโดดเด่นว่า เสรีภาพทุกตารางนิ้ว

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นเป็นพื้นที่สำคัญของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่การก่อตั้งมหาวิทยาลัยที่เป็นผลผลิตของคณะราษฎรที่จะมุ่งหวังในการสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในประเทศไทย มหาวิทยาลัยผ่านประสบการณ์การต่อสู้ทางการเมืองมาโดยตลอดตั้งแต่ ขบวนการ 11 ตุลาคม 2494 ในการเรียกร้องมหาวิทยาลัยคืนจากจอมพล ป., ขบวนการ 14 ตุลา 2516, ขบวนการ 6ตุลา2519, ฯลฯ เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้มหาวิทยาลัยได้รับการยกย่องในฐานะที่เป็นพื้นที่สาธารณะในการส่งเสริมความคิดทางการเมือง และประชาธิปไตย การเปิดให้วิพากษ์วิจารณ์ปัญหาที่แหลมคมควรจะเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยพึงกระทำโดยไม่มีการกีดกันและคัดค้าน คงจะมิเป็นการกล่าวเกินจริงว่าพื้นที่ทางวิชาการที่สำคัญที่สุดสำหรับประชาชนผู้รักประชาธิปไตยและเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างทางความคิดมากที่สุด คือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แต่มติเอกฉันท์ของผู้บริหารเพียงไม่กี่คนนำมาซึ่งการทำลายเสรีภาพในมหาวิทยาลัยอย่างร้ายแรง การจะไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยในการเคลื่อนไหวกรณีมาตรา 112 เป็นการปิดกั้น ปิดปาก นักศึกษาและประชาชน ผู้กระหายในเสรีภาพทางวิชาการและความถูกต้อง เป็นการทำลายเจตนารมณ์ของผู้ประศาสน์การที่มีความมุ่งหวังว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้จะเป็น "บ่อบำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาส ที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักเสรีภาพ ของการศึกษา "


นักศึกษา, ศิษย์เก่า แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประชาชนผู้รักในเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก ขอเรียกร้องให้ผู้บริหารทั้งหลายที่ลงมติในการไม่อนุญาตให้มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนกรณีการแก้ไขมาตรา 112 กลับไปทบทวนว่าความเข้มแข็งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่การก่อตั้งในปี พ.ศ. 2478 เป็นต้นมา เป็นพื้นที่ที่ยอมรับความหลากหลายทางความคิดและเปิดกว้างให้มีการใช้เพื่อพูดคุย ถกเถียง ประเด็นทางสังคมและการเมือง ไม่เคยมีครั้งไหนนอกจากยุคเผด็จการที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมีนโยบายปิดกั้นไม่ให้นักศึกษาและอาจารย์แสดงเสรีภาพทางความคิด


เราขอเรียกร้องให้ผู้บริหารยกเลิกมติข้างต้น หากมหาวิทยาลัยยังมีคำขวัญที่ว่า "ธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว" อธิการบดีและผู้บริหารมหาวิทยาลัยควรจะเห็นถึงความสำคัญของธรรมศาสตร์ในการเป็นพื้นที่สำคัญในการทำให้ความขัดแย้งบรรเทาลงและยอมให้มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่เปิดที่สามารถจัดกิจกรรมทางสังคม การเมือง และการวิพากษ์วิจารณ์ และถกเถียงอย่างเปิดกว้างอย่างที่เคยเป็นมาตั้งแต่การก่อตั้งมหาวิทยาลัย


ด้วยความเคารพ

รักษ์ชาติ์ วงศ์อธิชาติ อุปนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์/ นักศึกษาชั้นปีที่3 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ปกป้อง เลาวัณย์ศิริ อดีตสมาชิกสภานักศึกษาและศิษย์เก่าคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2544 - 2548)

บริภัทร ตั้งเสรีกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะศิลปศาสตร์ เอกปรัชญา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (class of 2013)

ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ อดีตกรรมการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (2553-2554)

ศรวิษฐ์ โตวิวิชญ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พัชรี แซ่เอี้ยว อดีตนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ รหัส48

สุเจน กรรพฤทธิ์ อดีตนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ รหัส 43

พันธุ์ภูมิ ผุดผ่อง กรรมการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (2554-2555)

ธันย์ ฤทธิพันธ์ ประชาชน

จีรนุช เปรมชัยพร อดีตนักศึกษาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน รหัส 29

ภูริพัศ เมธธนากุล มนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย

เพียงคำ ประดับความ อดีตนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คุปต์ พันธ์หินกอง อดีตนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์

พันธกานต์ ตงฉิน อดีตนักศึกษาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน รหัส 48

อนุธีร์ เดชเทวพร อดีตนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รหัส 49, อดีตอุปนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2551-2552, อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยปี 2552-2553

วันเพ็ญ ก้อนคำ/ ประชาชน

น้ำฝน ลิ่วเวหา วารสารศาสตร์48

รุ่งโรจน์ "อริน" วรรณศูทร (นิรันดร์ สุขวัจน์ มธ 159101) / ลาออกปีการศึกษา 2519 "รัฐศาสตร์ ทฤษฎีและปรัชญาการเมือง"

นุชจรีย์ วิริยางกูรภาพ อดีตนักศึกษาคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี

วรวิทย์ ไชยทอง ภาควิชาการปกครอง รัฐศาสตร์ จุฬา ฯ

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล /ประชาชน

พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ ศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ รหัส 46

ศรีสมร กิจภู่สวัสดิ์, นิสิตเกษตรศาสตร์, รหัส ๒๕๒๕

พิศาล ธรรมวิเศษ ชาวบ้าน

ศิรดา วรสาร อดีตนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รหัส 50

ธนุต มโนรัตน์ รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์

เทพวุธ บัวทุม คนไท

มูหัมหมัดฮาริส กาเหย็ม ราษฎร

สุเทพ ศิริวาโภ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น/ประชาชน

นายนิคม โชติพันธ์ ประชาชน

ธนพล พงศ์อธิโมกข์ CCP/ประชาชน

อดิศร เกิดมงคล นักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วรัญญา เกื้อนุ่น รหัส 37 คณะนิติศาสตร์ มธ

วรรษชล ศิริจันทนันท์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



+++

แถลงการณ์องค์กรสิทธิวิตกสถานการณ์คุกคามสิทธิเสรีภาพของกลุ่มนิติราษฎร์
ในมติชน ออนไลน์ วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 21:15:15 น.


วันนี้ องค์กรด้านสิทธิเสรีภาพ 5 ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและสิทธิในการมีส่วนร่วมในการเสนอแก้ไขกฎหมายตามกรอบรัฐธรรมนูญที่กำลังถูกคุกคาม

จากข้อเสนอของนักวิชาการนิติศาสตร์กลุ่มนิติราษฎร์และกิจกรรมของคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา ๑๑๒ เพื่อรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ หรือที่ทราบกันทั่วไปว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ได้นำมาซึ่งการถกเถียงอย่างกว้างขวางในสังคม มีทั้งเห็นด้วยและคัดค้านซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่างในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย ตราบใดที่การใช้สิทธิดังกล่าวได้ดำเนินไปในกรอบของสันติวิธีและเป็นไปตามตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยรัฐมีหน้าที่ต้องปกป้องและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพดังกล่าวของประชาชนทุกคน แต่ในขณะที่ปรากฏว่ามีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์บางกลุ่ม ได้แสดงออกในลักษณะของการคุกคามการใช้สิทธิเสรีภาพของกลุ่มนิติราษฎร์นั้น แทนที่รัฐจะได้ทำหน้าที่ดังกล่าวของตน กลับปรากฏว่าผู้นำของรัฐบาลทั้งในฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติบางคนได้แสดงออกไปในทางเสียดสี ข่มขู่ กระทั่งคุกคามการใช้สิทธิเสรีภาพของกลุ่มนิติราษฎร์


ประเทศไทยเป็นสังคมประชาธิปไตย ภายใต้บรรยากาศของความแตกต่างทางความคิดทางการเมือง การแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่างของคณะนิติราษฎร์เป็นเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นและความเชื่อ ตลอดจนข้อเสนอต่อการดำเนินการแก้ไขกฎหมายตามกรอบวิธีการที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญจึงเป็นสิ่งปกติ เมื่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดที่ไม่เห็นชอบด้วยกับความเห็นและข้อเสนอดังกล่าว ก็ย่อมมีสิทธิที่จะแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของตน และสามารถถกเถียงโต้แย้งได้ด้วยเหตุผล อย่างสันติและอารยะ แต่ต้องเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างจากตน ซึ่งเป็นแก่นของคุณค่าแห่งประชาธิปไตย

ดังนั้นเมื่อการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างตามครรลองประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ กลับนำมาซึ่งการคุกคามสิทธิเสรีภาพของคนอื่น รัฐจึงมีหน้าที่ต้องปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่างและสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมในการแก้ไขและการปฏิรูปกฎหมายอันเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญคือรัฐจะต้องไม่เป็นผู้คุกคามสิทธิเสรีภาพดังกล่าวนี้เสียเอง ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตามหน้าที่ของตนในการปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดและยุติการคุกคามสิทธิเสรีภาพดังกล่าวของประชาชนโดยทันที

ยิ่งไปกว่านั้น สถาบันการศึกษามีภารกิจในการส่งเสริมเสรีภาพทางวิชาการและสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีประวัติศาสตร์อย่างยาวนานที่มิใช่พียงแต่เป็นสถาบันซึ่งผลิตปัญญาชนเพื่อรับใช้ประชาชนและสังคมประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ยังเป็นต้นแบบของการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพความเสมอภาคและความเป็นธรรม โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นพื้นที่สำหรับสิทธิและเสรีภาพเสมอมา


ดังนั้นการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ห้ามกลุ่มนิติราษฎร์ซึ่งประกอบด้วยอาจารย์ของมหาวิทยาลัยเองใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยในการรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขประมวลกฎหมาอาญามาตรา ๑๑๒ อันเป็นสิทธิและเสรีภาพที่กลุ่มนิติราษฎร์และประชาชนทั่วไปสามารถกระทำได้ตามหลักการประชาธิปไตย จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการเป็นสถาบันศึกษาของรัฐและประเพณีปฏิบัติอันดีงามของมหาวิทยาลัยในการส่งเสริมเสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพความคิดและการแสดงออก ตามครรลองของกฎหมายและประชาธิปไตยเป็นการทำลายจิตวิญญาณของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงขอเรียกร้องให้ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้โปรดทบทวนคำสั่งห้ามกลุ่มนิติราษฎร์ใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำกิจกรรมตราบใดที่การทำกิจกรรมดังกล่าวอยู่ในกรอบของสันติวิธีและสิทธิมนุษยชน

อนึ่งพึงตระหนักว่า สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย บุคคลอาจไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของบุคคลอื่น แต่พึงปกป้องสิทธิในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของเขา


วันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๕
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)
เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (คนส.)
โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม



+++

224 นักวิชาการ-นักเขียน-นักกิจกรรมทางสังคมนานาชาติ หนุนนิติราษฎร์
จากมติชน ออนไลน์ วันพุธที่ 01 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เวลา 14:08:28 น.


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักวิชาการ นักเขียนและนักกิจกรรมทางสังคมนานาชาติ ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกที่ส่งถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีใจความว่า นักวิชาการ นักเขียน และนักกิจกรรมทางสังคมนานาชาติจำนวน 224 คน ได้แสดงความกังวลอย่างมากต่อการใช้มาตรา 112 และการลิดรอนสิทธิพื้นฐานของผู้ที่ถูกกล่าวโทษภายใต้มาตรานี้ ผู้ที่ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกยืนยันว่า "มาตรา 112 ได้กลายเป็นเครื่องมืออันทรงอิทธิพลในการใช้ปิดปากคู่ขัดแย้งทางการเมือง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่ขัดแย้งที่ถูกกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์"

ดร.เควิน ฮิววิสัน ศาสตราจารย์ด้านเอเชียศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนาแชเปิลฮิลล์ และผู้เชี่ยวชาญด้านไทยศึกษา แสดงความเห็นว่า "การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปในทางที่ผิดในทางการเมืองนั้น มีส่วนสัมพันธ์กับสภาวะเสื่อมถอยของสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย การใช้อำนาจตรวจสอบ การเซ็นเซอร์ตัวเอง และข้อกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดีเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกอย่างรุนแรง"

ผู้ลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกสนับสนุนคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 เพราะ "การปฏิรูปกฎหมายนี้เป็นสิ่งจำเป็นในการที่จะคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของประชาชนไทยและเสริมสร้างประชาธิปไตยและนิติรัฐในความหมายที่กว้าง"

การแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่นำเสนอโดยกลุ่มนิติราษฎร์จะทำให้การลงโทษได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด จำกัดให้ผู้ที่สามารถแจ้งความกล่าวโทษได้เป็นสำนักราชเลขาธิการแทนที่จะเป็นใครก็ได้ จำแนกการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตออกจากการอาฆาตมาดร้ายสถาบันกษัตริย์ และแยกการละเมิดมาตรา 112 ให้อยู่ในหมวดความผิดต่อเกียรติยศชื่อเสียงของสถาบันกษัตริย์แทนที่จะจัดให้อยู่ในหมวดความมั่นคงแห่งรัฐ

ผู้ลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ประกอบด้วย นักวิชาการ นักเขียนและนักกิจกรรมทางสังคมจาก 16 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย ออสเตรีย แคนาดา เดนมาร์ก เยอรมนี ฮ่องกง ญี่ปุ่น มาเลเซีย เนเธอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ สวีเดน ตรินิแดดและโตเบโก อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา



.