http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-02-12

หนุ่มเมืองจันท์: ทางเลือก, สิ่งที่มองไม่เห็น

.

ทางเลือก
โดย หนุ่มเมืองจันท์ boycitychan@matichon.co.th คอลัมน์ ฟาสต์ฟู้ด ธุรกิจ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1643 หน้า 24


วันก่อน มีน้องคนหนึ่งตั้งคำถามใน "เฟซบุ๊ก" สั้นๆ ว่าขาด "แรงบันดาลใจ" ทำอย่างไรดี
เจอคำถามแบบนี้ ก็งงเหมือนกัน
ยิ่งถามสั้น ยิ่งตอบยากครับ
จะบอกว่าแรงบันดาลใจ ไม่มีใครสร้างขึ้นมาได้ นอกจากตัวเราเอง

ลองดูอีกครั้งไหม
ตอบแบบนี้ก็ได้ ถือเป็นการปลอบประโลมใจรูปแบบหนึ่ง

ตบท้ายอีกนิด
"เชื่อว่าน้องทำได้"
แค่นี้ก็เท่แล้ว

แต่นึกดูอีกที เวลาที่เราหมดกำลังใจ คำปลอบใจช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้เราเห็นทางออกใหม่ๆ
วันนั้นผมตอบน้องไปว่า "แรง" ในโลกนี้มีหลายอย่าง ขาด "แรงบันดาลใจ" ก็ให้ลองหา "แรงอื่น" ดูบ้าง
เช่น แรงรัก แรงหึง ฯลฯ

ครับ ถ้าชีวิตจะเดินหน้าต่อไปด้วย "แรง"

โลกนี้ไม่ได้มีเพียง "แรง" เดียวในการฉุดดึงให้เราลุกขึ้นมา และก้าวต่อไป

ยังมีแรงอื่นๆ อีกมากมายให้เราเลือกใช้

คนบางคนใช้แรงแห่งความรักผลักชีวิตให้เดินหน้า

บางคนใช้ความรู้สึกที่ "ต่ำต้อย" รู้สึกว่าเราเรียนไม่จบ เป็นพลังให้เขาขยันและทำงานหนักกว่าคนอื่น

แค่มองโลกให้กว้าง มองปัญหาให้ครบทุกด้าน

อย่าพะวงอยู่กับสิ่งเดียว

โลกนี้มีหลายมุมให้มองครับ

มีหลายเส้นทางให้เลือก

มีคนเคยพูดขำๆ ว่าถ้าหา "ทางออก" ไม่ได้ก็ให้ออกที่ "ทางเข้า"

หรือออกทาง "ประตู" ไม่ได้ก็ให้ออกทาง "หน้าต่าง"

ทุกปัญหาไม่ได้มี "ทางออก" เพียงทางเดียว



"สตีฟ จ็อบส์" เป็นคนหนึ่งที่เชื่อใน "คนเก่ง"
"แอปเปิ้ล" จะเต็มไปด้วย "คนเก่ง"
แม้มีคนบอกว่า "คนเก่ง" อยู่ด้วยกันจะทะเลาะกัน แต่เขาไม่เชื่อ
ความเชื่อของ "จ็อบส์" ก็คือ คน "เกรดเอ" อยากทำงานกับคนในระดับเดียวกับเขา
วิธีคิดของ "จ็อบส์" ก็เหมือนการคัดเด็กห้องคิงส์
เอาคนเรียนเก่งมาอยู่ห้องเดียวกัน

ในขณะที่ผู้บริหารจำนวนไม่น้อยไม่เชื่อในทฤษฎีนี้
เขาเชื่อว่า "ทัศนคติ" เป็นเรื่องสำคัญที่สุด
ไม่ต้องเก่งมาก แต่ทำงานเป็นทีม และทำงานอย่างมีความสุข
คงเหมือนกับเด็กห้องธรรมดาที่มีทั้งคนเรียนเก่งและไม่เก่ง
ไม่ต้องแข่งขันกันมาก แต่ช่วยเหลือกันดี

ทฤษฎีสู่ความสำเร็จของ 2 ฝ่ายแตกต่างกัน
แต่ประสบความสำเร็จเหมือนกัน

ส่วนหนึ่ง เพราะคำว่า "ความสำเร็จ" ของแต่ละคนแตกต่างกัน
บางคนหมายถึง "ตัวเลข" ผลกำไร
แต่บางคนอาจอยู่ที่ "ความสุข" ของการทำงาน
ครับ "ความสำเร็จ" ก็เหมือน "เสื้อผ้า"
ต้องตัดให้พอดีตัว

เมื่อแต่ละคนรูปร่างไม่เหมือนกัน ชอบสีแตกต่างกัน
ช่างตัดเสื้อจะตัดชุดแบบไหนก็ต้องถามความต้องการของผู้ใช้ก่อน
เช่นเดียวกับ "ความสำเร็จ"
คำตอบที่ถูกต้องในเรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคน
เมื่อในโลกนี้ไม่มี "เสื้อผ้าสำเร็จรูป" ที่ทุกคนสามารถใส่แล้วหล่อหรือสวยเหมือนกันหมด

"ความสำเร็จ" ก็เช่นกัน

ไม่มี "ความสำเร็จ" ที่สำเร็จรูป

ทุก "คำถาม" จึงมีหลาย "คำตอบ"



วันก่อน มีคนเล่านิทานจีนเรื่องหนึ่งให้ฟัง
เป็นเรื่องของชาวนาคนหนึ่งเจอ "ถุงเงิน" หล่นอยู่กลางถนน
ในถุงเงินมีเงินอยู่ 3 ตำลึง
ชาวนาคนนี้แม้จะจน แต่ก็เป็นคนซื่อสัตย์
เขานำถุงเงินนี้ไปแจ้งตำรวจให้สืบหาเจ้าของ
ในที่สุด ตำรวจก็สืบหาเจ้าของจนพบ
เป็นเศรษฐีใจดี

เศรษฐีเห็นความซื่อสัตย์ของชาวนาจึงยกเงินจำนวนนี้ให้
แต่ชาวนาปฏิเสธ
เขาถือว่าเงิน 3 ตำลึงนี้เป็นของเศรษฐี ไม่ใช่ของเขา
แม้เศรษฐีจะดึงดันที่จะให้
ชาวนาก็ไม่เอา

เจรจากันเท่าไรก็ไม่มีใครยอมกัน
สุดท้าย ตำรวจจึงพาทั้ง 2 คนไปหาผู้พิพากษาเพื่อให้ช่วยตัดสินปัญหานี้
แม้จะผ่านคดีมามากมาย แต่ไม่เคยมีคดีใดเหมือนกับเรื่องนี้
คดีที่เคยเจอมักเป็นเรื่อง "ความอยาก" แต่คดีนี้กลับเป็นเรื่อง "ความไม่อยาก"

ผู้พิพากษารู้สึกชื่นชมในความดีของ "เศรษฐี" และ "ชาวนา"
เขาอยากให้ทุกคนกลับบ้านอย่างมี "ความสุข"
หลังจากนั่งตรึกตรองอยู่พักหนึ่ง ผู้พิพากษาก็ตัดสินว่าเมื่อทั้ง 2 ฝ่ายต่างไม่ยอมรับเงินทั้งหมด ดังนั้น จึงให้แบ่งเงินก้อนนี้คนละครึ่ง
แต่ในถุงมีเงินอยู่ 3 ตำลึง

แบ่งครึ่งไม่ได้
ผู้พิพากษาจึงควักเงินออกมา 1 ตำลึงแล้วหย่อนเพิ่มไปในกองกลาง
รวมเป็น 4 ตำลึง
แบ่งให้ชาวนา 2 ตำลึง เศรษฐี 2 ตำลึง

แล้วอธิบายเหตุผลของคำตัดสินนี้ว่าถ้าเขาตัดสินตามความต้องการของเศรษฐี
ชาวนาก็จะได้เงิน 3 ตำลึง

แต่ถ้าเขาตัดสินตามความต้องการของชาวนา
เศรษฐีก็จะได้เงิน 3 ตำลึง

ดังนั้น การที่เขาใส่เงินเข้าไปเพิ่มอีก 1 ตำลึงและแบ่งให้แต่ละคนคนละครึ่งจึงเป็นคำตัดสินที่ไม่มีใคร "ได้"
ทุกคนต่าง "เสีย" อย่างเท่าเทียมกัน
ขอทานที่ควรจะได้ 3 ตำลึงก็ได้แค่ 2 ตำลึง
เสียไป 1 ตำลึง

เช่นเดียวกับเศรษฐีที่ควรจะได้ 3 ตำลึง ก็ได้แค่ 2 ตำลึง
เสียไป 1 ตำลึง

ผู้พิพากษาก็เช่นกัน
เสียไป 1 ตำลึง

แต่สำคัญที่สุดคือทุกคนกลับไปบ้านอย่างมีความสุข

และนี่คือ "เป้าหมาย" ของคำตัดสินนี้



++

สิ่งที่มองไม่เห็น
โดย หนุ่มเมืองจันท์ boycitychan@matichon.co.th คอลัมน์ ฟาสต์ฟู้ด ธุรกิจ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 03 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1642 หน้า 24


เวลามีใครถามว่าชอบเรื่องไหนในหนังสือ "สตีฟ จ็อบส์" บ้าง
ผมจะตอบทันทีว่า เรื่อง "เบื้องหลังเครื่องแม็คอินทอช"
เป็นเรื่องเล็กๆ ที่สะท้อนความเป็น "จ็อบส์" ได้เป็นอย่างดี

ทุกคนรู้กันอยู่แล้วว่า "จ็อบส์" เป็นคนเนี้ยบมาก
เนี้ยบทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว
สินค้าของ "แอปเปิล" สะท้อนความเป็น "จ็อบส์" ได้เป็นอย่างดี
ไม่ว่าจะเป็นไอโฟน ไอแพด ไอพอด ฯลฯ

ดีไซน์ที่เรียบหรู ละเมียดในทุกอณูของสินค้า
ไม่ว่าจะเป็นกล่อง เสียงคลิกของสายเสียบหูฟัง ฯลฯ
ทุกอย่างต้องผ่านการดีไซน์

ชีวิตส่วนตัวของ "จ็อบส์" ก็เช่นกัน
เชื่อหรือไม่ว่าบ้านของ "จ็อบส์" มีเฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้นมาก
เพราะเขาไม่ถูกใจในดีไซน์
ถ้าจะต้องให้โต๊ะ ตู้ เตียง หรือเก้าอี้ที่ไม่ถูกใจมาไว้ในบ้าน
"จ็อบส์" ยอมปล่อยให้บ้านโล่งๆ ดีกว่า

ขนาดตอนป่วย "จ็อบส์" ยังเรื่องมากเลยครับ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอดจะเอาหน้ากากออกซิเจนครอบที่จมูกของเขาตอนที่ "จ็อบส์" กำลังจะหลับ
"จ็อบส์" เห็นหน้ากากแล้วดึงออกทันที
พูดแทบไม่ได้ แต่ "จ็อบส์" ก็ยังพึมพำออกมาว่าเขาเกลียดดีไซน์ของหน้ากากนี้
จากนั้นก็เริ่มโวยวายให้พยาบาลเอาหน้ากากแบบต่างๆ ทั้ง 5 แบบมาให้เลือก
ต้องปล่อยให้ "จ็อบส์" เลือกหน้ากากแบบที่เขาชอบที่สุดก่อน

แพทย์จึงสามารถเอาหน้ากากมาครอบใบหน้าของเขาได้
ตอนที่รู้สึกตัว "จ็อบส์" ยังบ่นกับภรรยาถึงเครื่องตรวจวัดออกซิเจนที่เสียบไว้ที่นิ้ว
เขาบอกว่ามันน่าเกลียดและซับซ้อนเกินไป
แล้วยังแนะนำด้วยว่าเครื่องนี้ควรจะดีไซน์อย่างไร
บ้าไหมเล่า !!
คาดว่าถ้า "จ็อบส์" ยังมีชีวิตอยู่
วงการแพทย์อาจได้เครื่องมือใหม่ที่ดีไซน์งดงามและใช้งานได้ง่าย ไม่ซับซ้อน

"หูฟัง" ต้องเป็นสีขาว ไร้สาย
มีเจ้า Siri คอยส่งเสียง
หัวใจเต้นแรงจัง
...มีตั้ง 6 ห้องแน่ะ



พ่อของ "จ็อบส์" เป็นช่างไม้ฝีมือดี

งานไม้ของเขาเนี้ยบแม้แต่ในจุดที่มองไม่เห็น เช่นผนังตู้ด้านหลัง ฯลฯ

ดังนั้น เมื่อเขาทำเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอช เขาจึงไม่สบอารมณ์เมื่อเห็นแผ่นวงจรพิมพ์ที่ยึดติดตัวชิปและอุปกรณ์อื่นๆ ภายในคอมพิวเตอร์

ตำแหน่งของแผงวงจรคือด้านในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ไม่มีใครเห็น

เขาวิจารณ์ว่ามันไม่สวย

"ดูหน่วยความจำนั่นสิ น่าเกลียดชะมัด ขอบมันอยู่ใกล้กันเกินไป"


วิศวกรหน้าใหม่งงกับคำวิจารณ์นั้นมาก เขาเถียงขึ้นมาว่าแผงวงจรนั้นสำคัญอยู่เพียงว่ามันทำงานดีแค่ไหน
"ไม่มีใครเห็นแผงวงจรในเครื่องคอมพิวเตอร์หรอก"
"จ็อบส์" เถียงกลับทันที
"ผมอยากเห็นมันสวยที่สุด ถึงแม้มันจะอยู่ในกล่องก็ตาม ไม่มีช่างไม้ฝีมือเยี่ยมคนไหนเอาไม้ชนิดเลวมาทำหลังตู้ แม้จะไม่มีใครเห็นก็ตาม"

วิธีคิดของ "จ็อบส์" ก็คือ ช่างฝีมือมือเยี่ยมต้องใส่ใจแม้ในรายละเอียดที่คนมองไม่เห็น

"แม้ไม่มีใครเห็น แต่คุณก็รู้อยู่แก่ใจว่ามีไม้อัดนั้นอยู่ด้านหลัง คุณจะข่มตาหลับได้ก็ต่อเมื่อมั่นใจว่าผลงานของคุณมีคุณภาพและความงามครบถ้วน ไม่บกพร่อง"

ความแตกต่างระหว่าง "ช่าง" กับ "ช่างฝีมือเยี่ยม" อาจอยู่ที่ตรงนี้

"จ็อบส์" เป็น "ศิลปิน" ที่สัมผัสถึงความละเอียดที่มองไม่เห็น

แต่ "รู้สึก" ได้

เขาต้องการให้คอมพิวเตอร์แมคอินทอช ไม่ใช่คอมพิวเตอร์ธรรมดาที่ใช้งานได้ดี

แต่เป็นคอมพิวเตอร์ที่ให้ความรู้สึกพิเศษแก่ผู้ใช้

อธิบายชัดๆ ถึงความแตกต่างไม่ได้

แต่ "รู้สึก" ได้

ครับ ในที่สุดวิศวกรทั้งหลายก็ต้องปรับเปลี่ยนตำแหน่งแผงวงจรใหม่ตาม "จ็อบส์"
ทั้งที่ใจไม่เห็นด้วยและรู้สึกว่าเป็นเรื่องไร้สาระ
แต่ทุกคนปฏิบัติตามหลักการบริหารเบื้องต้น
ข้อที่ 1 "เจ้านาย" ถูกต้องเสมอ
และถ้าวันใด มีความเห็นแย้งกับเจ้านาย
ให้กลับไปอ่านข้อ 1


วันที่คอมพิวเตอร์แมคอินทอชเสร็จสมบูรณ์
"จ็อบส์" เรียกทีมงานทุกคนมาเลี้ยงฉลอง
อยู่ดีๆ เขาก็ประกาศขึ้นมา
"เอ้า ศิลปินตัวจริงเสียงจริงมาเซ็นชื่อหน่อย"
"จ็อบส์" วางกระดาษแผ่นหนึ่งบนโต๊ะ
เขาเรียกชื่อทีมงานให้ยืนทีละคน
ส่งปากกาเมจิกยี่ห้อ "ชาร์ปปี" ให้เซ็นชื่อ
แต่ละคนก็เซ็นแบบงงๆ
ไม่รู้ว่า "จ็อบส์" จะเล่นอะไร
ครบ 45 คน "จ็อบส์" ก็เรียกชื่อตัวเอง
"สตีฟ จ็อบส์"
จากนั้นเขาก็ลงชื่อตรงกลางกระดาษ

เขียนชื่อด้วยตัวเขียนตัวเล็กๆ แต่สวยงาม
รู้ไหมครับว่า "จ็อบส์" เอาลายเซ็นทั้งหมดไปทำอะไร
เขานำไปสลักไว้ด้านในของคอมพิวเตอร์แมคอินทอชทุกเครื่อง
ไม่มีใครได้เห็นมัน
ยกเว้น "ช่างซ่อมคอมพิวเตอร์"
ประกาศจบ "จ็อบส์" ก็เปิดแชมเปญฉลอง

เขาทำให้วิศวกรทุกคนเข้าใจถึง "คุณค่า" ของ "สิ่งที่มองไม่เห็น" แล้ว

เป็นความภูมิใจทุกครั้งที่เห็นเครื่องแมคอินทอช

เพราะแม้ไม่มีใครเห็น แต่ทีมงานทุกคนรู้ว่าในเครื่องนี้มีชื่อของเขาซ่อนอยู่ข้างใน

เหมือนกับรู้ว่าแผงวงจรด้านในของเครื่องนี้ถูกจัดเรียงไว้อย่างสวยงาม

วิศวกรคนหนึ่งเล่าว่า วินาทีนั้น "จ็อบส์" ได้ทำให้ทุกคนได้รู้ว่า "งานที่เราทำเป็นงานศิลปะชั้นยอดจริงๆ"

เขาเข้าใจถึงจิตใจของช่างฝีมือมือเยี่ยมแล้ว

สิ่งที่ "มองเห็น" หรือ "ไม่เห็น" สำคัญเท่ากัน

เพราะถึงจะไม่มีใครเห็น

แต่ถ้าเรา "รู้" และ "รู้สึก"

นั่นคือ สิ่งสำคัญที่สุดของงานศิลปะ



.