http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-02-02

จับกระแส112: ชุมนุมหนุน-ต้าน "นิติราษฎร์", บทวิเคราะห์ของ "สมศักดิ์ เจียมฯ" และสกู๊ปข่าวจากบีบีซี

.

จับกระแส112: ชุมนุมหนุน-ต้าน "นิติราษฎร์", บทวิเคราะห์ของ "สมศักดิ์ เจียมฯ" และสกู๊ปข่าวจากบีบีซี
จากมติชน ออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 02 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เวลา 20:00:00 น.


บรรยากาศที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ มีการนัดหมาย ของกลุ่มหนุนและกลุ่มต้านคณะนิติราษฎร์ ในเวลา 14.00 น. ปรากฏว่า ฝนเทกระหน่ำลงมาตั้งแต่เวลา 13.00 น. แต่ไม่ได้ทำให้ทั้งสองกลุ่มหยุดกิจกรรมแสดงเจตนารมย์ของฝ่ายตนแต่อย่างใด


ทั้งนี้ กลุ่มต้านคณะนิติราษฎร์ ต่างสวมเสื้อสกรีน "วารสารฯ ต้านนิติราษฎร์" ได้ย้ายสถานรวมตัวกันจากหน้าคณะวารสารฯ ไปยังลานปรีดี หน้าตึกโดม ในช่วงเวลาที่ฝนซาลง และได้ทำกิจกรรมร้องเพลง ชูป้ายข้อความ ชูพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และยื่นหนังสือให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัย

นายยุทธนา มุกดาสนิท ผู้กำกับภาพยนตร์และละครเวที ในฐานะศิษย์เก่าคณะวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เป็นตัวแทนในการอ่านแถลงการณ์ของกลุ่มวารสารฯ ต้านนิติราษฎร์ โดยระบุว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ได้ตกเป็นเป้าหมายของการบ่อนทำลายอย่างต่อเนื่อง และเป็นขบวนการจากกลุ่มบุคคลที่มีแนวคิดจะล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ และระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีเป้าหมายเบื้องต้นที่การแก้ไข ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพื่อเปิดทางให้มีการดูหมิ่น กล่าวหา ว่าร้ายสถาบันพระกษัตริย์ได้โดยไม่มีฐานความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

กลุ่มวารสารฯ ต้านนิติราษฎร์ เป็นการรวมตัวกันของคณาจารย์ นักศึกษา และศิษย์เก่าทุกรุ่นของคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีความเห็นพ้องกันว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มนิติราษฎร์ ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องให้แก้ไข ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นทางวิชาการอย่างบริสุทธิ์ใจ แต่เป็นการใช้วิชาการบังหน้าจุดมุ่งหมายบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์

ที่ผ่านมา กลุ่มนิติราษฎร์ได้ใช้วาทกรรมที่คลุมเครือ ตรรกะที่บิดเบือน เทคนิคการนำเสนอความจริงเพียงครึ่งเดียว รวมทั้งการอ้างอิงหลักกฎหมายแต่ในด้านที่สนองเจตนาของตน มาสร้างความสับสนให้สังคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจที่ผิดว่า มาตรา 112 เป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นอุปสรรคต่อระบอบประชาธิปไตย ถูกใช้เพื่อกลั่นแกล้งทางการเมือง จนกระทั่งได้ยกระดับการเคลื่อนไหวเป็นการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ในที่สุด

การรณรงค์ดังกล่าว เป็นอีกครั้งหนึ่งที่กลุ่มนิติราษฎร์ได้ใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นฐานการเคลื่อนไหว โดยการอนุญาตของอธิการบดี ภายใต้ข้ออ้างเสรีภาพทางวิชาการ แต่เรา กลุ่มวารสารฯ ต้านนิติราษฎร์”ฃ เห็นว่า การรณรงค์ดังกล่าวได้ก้าวล้ำขอบเขตของข้ออ้างทางวิชาการไปเป็นการรณรงค์ทางการเมือง โดยมีมาตรา 112 เป็นเป้าหมายเชิงสัญลักษณ์ของการต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งไม่เป็นการสมควรที่สถาบันการศึกษาของเราจะถูกแอบอ้างโดยพฤตินัยไปสร้างความชอบธรรมให้การเคลื่อนไหวดังกล่าว

เราจึงเห็นพ้องกันว่า เพียงการแสดงความไม่เห็นด้วยในเชิงปัจเจก ผ่านช่องทางสื่อสารทางสังคมต่างๆ ไม่เป็นการเพียงพอที่จะหยุดยั้งความเหิมเกริมและเจตนาแอบแฝงของกลุ่มบุคคลดังกล่าว หากแต่จำเป็นที่เราต้องร่วมกันก้าวออกมาประกาศเจตนารมณ์คัดค้านการแก้ไข มาตรา 112 และต่อต้านทุกการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิติราษฎร์หรือกลุ่มคณะใดๆ ก็ตาม ที่มุ่งจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างถึงที่สุด โดยข้อเรียกร้องของกลุ่มวารสารฯ ต้านนิติราษฎร์ คือ

1. เรียกร้องต่อประชาคมธรรมศาสตร์ ให้ร่วมกันคัดค้านการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของคณะนิติราษฎร์ รวมทั้งการใช้ชื่อมหาวิทยาลัยไปสร้างความชอบธรรมให้กับการเคลื่อนไหวที่ล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์

2. เรียกร้องให้อธิการบดี มีคำสั่งคณะสอบสวนคณาจารย์คณะนิติราษฎร์ ในการกระทำที่อาจมีความผิดทั้งทางวินัยและกฎหมายให้เป็นที่กระจ่างแก่มหาชน พร้อมลงโทษตามมูลความผิด

3. เรียกร้องให้รัฐบาลแสดงจุดยืนในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเป็นรูปธรรม และดำเนินการตามกฎหมายกับผู้มีพฤติกรรมล่วงละเมิดสถาบันในทุกรูปแบบ อย่างจริงจังและเฉียบขาด

4. เรียกร้องต่อเพื่อนสื่อมวลชน ให้ใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารอันเกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112 เพื่อไม่ขยายผลการบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์

5. เรียกร้องต่อประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ให้ร่วมกันแสดงตนคัดค้านการแก้ไขมาตรา 112 ต่อต้านแนวคิดและการกระทำใดๆ ที่ส่อแสดงถึงการล่วงละเมิด ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์

กลุ่มวารสารฯต้านนิติราษฎร์















ขณะที่กลุ่มหนุนนิติราษฎร์ในนามเครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยได้จัดกิจกรรม "กราบเก้าอี้" ที่ป้ายด้านนอกมหาวิทยาลัยบริเวณทางเข้าหอประชุมใหญ่ โดยมีการชูป้ายให้กำลังใจคณะนิติราษฎร์ เผยแพร่ภาพเหตุการณ์ 6 ตุลา และทำการกราบเก้าอี้เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ในอดีต ที่มีการใช้เก้าอี้ฟาดทำร้ายคนที่มีความเห็นแตกต่าง โดยกราบเก้าอี้เพื่อบอกว่า อย่ากลัวเรา (คนที่คิดเห็นแตกต่าง)

โดยเครือข่ายดังกล่าวได้อ่านจดหมายเปิดผนึกถึงชาวธรรมศาสตร์และสังคมไทย เรื่อง "อย่าลืมว่าที่นี่มีนักศึกษาตายเพราะคนคลั่ง มหาวิทยาลัยควรเป็นเวทีแสวงหาทางออกของปัญหา ม.112 อย่างสันติ เปิดใจและมีเหตุผล" มีเนื้อหาว่า

"...มหาวิทยาลัยย่อมอุปมา ประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาส ที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักเสรีภาพของการศึกษา..." ปรีดี พนมยงค์

ภายหลังจากคณะนิติราษฎร์นำเสนอข้อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หลังจากนั้นได้มี คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 หรือ ครก.112 ได้ดำเนินการล่ารายชื่อเพื่อเข้าสู่กลไกรัฐสภา และเป็นที่ปรากฏว่ามีทั้งกระแสเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยทั้งในส่วนเห็นว่าควรยกเลิกไปเลย และไม่เห็นด้วยกับการแก้เลย แต่กระแสคัดค้านที่ต้องการให้คงสภาพ ม.112 เดิมและห้ามแตะต้องนั้น กลับนำไปสู่กระแสคลั่งสถาบันฯ ขาดการ "เปิดใจ" รับฟังเหตุผล ป้ายสี ใช้ความรุนแรง ข่มขู่ อย่างเช่นในอดีต

ด้วยความห่วงใยต่อปัญหาที่เกิด เรามีข้อเสนอและข้อเรียกร้องดังนี้

1.มหาวิทยาลัยควรเป็นเสาหลักของสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการใช้เหตุใช้ผลอย่างสันติ สิทธิในเสรีภาพในการแสวงหาความรู้ การใช้เหตุใช้ผลและข้อมูลในเชิงประจักษ์ อย่างสันติ เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยควรจะยึดมั่นและส่งเสริม ไม่ใช่นำเอาข้ออ้างการเคารพสถาบันพระมหากษัตริย์ มาลดทอนสิทธิในเสรีภาพและหลักการดังกล่าว นอกจากทำลายความเป็น มหา+วิทยาลัย ที่ควรเป็นแหล่งศึกษาของสาธารณะแล้ว ยังทำให้หลักการดังกล่าวขัดกับการเคารพสถาบันพระมหากษัตริย์อีก

2.นำบทเรียน ความรุนแรงที่เกิดจาก "ความใจแคบ" ในอดีตมาทบทวน ว่า "เสรีภาพ" ไม่ได้ก่อให้เกิด "ความรุนแรง" มีแต่การจ้องจำกัดเสรีภาพที่ชอบใช้ "ความรุนแรง" มากำจัด "เสรีภาพ" โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีบทเรียนจากความคับแคบในอุดมการณ์เผด็จการฟาสซิสต์ ที่ถูกเอามาใช้จัดการกับนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งนี้เองเมื่อ 6 ตุลา 19 ด้วยข้อหาที่เกี่ยวกับ ม.112 หรือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและเลยไปถึงการล้มล้างสถาบันที่ถูกปลุกขึ้นมาขณะนั้น หรือแม้กระทั่ง ปรีดี พนมยงค์ เองก็ถูกข้อหาในลักษณะนี้เล่นงาน ดังนั้นธรรมศาสตร์เองควรนำเอาบทเรียนเหตุการณ์นี้มาเป็นแนวทางให้การส่งเสริมให้คนในมหาลัยและสังคมได้ "เปิดใจ" ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง และลดการยึดมั่นในอุดมการณ์ที่เพิ่งสร้างเพื่อป้องกันความรุนแรงที่เคยมีบทเรียน แต่ไม่ใช่เอามาเป็นข้ออ้างในการปิดกันเสรีภาพเสียเอง

3.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ควรที่จะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดเวทีประชาพิจารณ์ปัญหามาตรา 112 เพราะมหาวิทยาลัยไม่เพียงต้องเป็นบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้ เท่านั้น และต้องเป็นผู้จุดไฟให้แสงสว่างทางปัญญาเพื่อสร้างบรรทัดฐานการแก้ปัญหา แก้ความขัดแย้งด้วยเหตุด้วยผล ด้วยสันติวิธี มากกว่าด้วยความรุนแรงและความศรัทธาแบบมืดบอด

4.กลุ่มคัดค้านข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ควรเปิดใจให้กว้าง รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง ศึกษาทำความเข้าใจข้อเสนอคณะนิติราษฎร์ หยุดสร้างกระแสคลั่งสถาบันฯ หยุดการใช้ความรุนแรง เรียนรู้ประสบการณ์และบทเรียนความรุนแรงที่เกิดจากอาการคลั่งในอดีต ยอมรับการเปลี่ยนแปลง

5.สื่อมวลชน ก็เช่นกัน ชนวนเหตุความรุนแรง 6 ตุลา 19 สื่อก็เป็นตัวกระตุ้นอาการคลั่งของคน จนเป็นเหตุให้มีนักศึกษาและประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก ไม่ต่างจากกรณีความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และกรณี เมษา – พ.ค.53 ที่สื่อมีส่วนส่งเสริมให้เกิดความเกลียดชังและความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

6.รัฐบาลควรนำเอาข้อเสนอแก้ ม.112 ของ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และคณะนิติราษฎร์ จัดให้มีการอภิปรายเกี่ยวกับปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างขวางขวางเพื่อนำไปสู่กระบวนการในการทำประชามติในการปรับปรุงแก้ไข ยกเลิกหรือดำรงสภาพเดิมต่อไป โดยให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพให้อภิปรายหรือตั้งกรรมการศึกษาเเละทำประชาพิจารณ์ ตามสำดับรวมถึงคุมครองความปลอดภัยของผู้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการเข้าชื่อแก้กฎหมายและแสดงความคิดเห็นตามสิทธิในเสรีภาพของพลเมือง

7.สังคมควรยึดมั่นใน "ความเป็นเหตุเป็นผล" และการแสดงหาทางออกอย่างสันติ หยุดการใช้ความรุนแรง หยุดปิดปากและความศรัทธาแบบไม่มีเหตุผล ยอมรับในความแตกต่างหลากหลายทางความคิด มี "ขันติธรรม" หรือความใจกว้างอดทนอัดกลั้นต่อความคิดเห็นและการแสดงออกที่แตกต่าง ให้ความสำคัญในสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ซึ่งคุณค่าที่สำคัญที่สังคมควรยึดถืออันจะนำไปสู่การสร้างระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคง


จึงเรียนมาเพื่อพิจารณา ในฐานะราษฎรผู้กระหายน้ำ

เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย(คกป.)
Activists for Democracy Network(ADN.)
กลุ่มประกายไฟ (Iskra Group)

กิจกรรมกราบเก้าอี้








อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เหตุการณ์ทั้งฝ่ายผู้สนับสนุนและต่อต้านคณะนิติราษฎร์ ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ผ่านไปด้วยดีแต่มีจุดหวิดปะทะเล็กน้อย เมื่อคนเสื้อแดงคนหนึ่งชูป้ายหนุนนิติราษฎร์ ที่หน้าตึกโดม ขณะที่กลุ่มต้านนิติราษฎร์ทำกิจกรรมอยู่ โดยมีการโห่ไล่และตำรวจควบคุมเสื้อแดงคนดังกล่าวออกจากบริเวณตึกโดมออกไป




----------

"สมศักดิ์ เจียมฯ" ชี้ "นิติราษฎร์" โดนโจมตีหนัก เพราะท่าทีไม่จริงใจของ "พท.-นปช."

นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เขียนวิเคราะห์สถานการณ์ที่นักวิชาการคณะนิติราษฎร์ถูกโจมตีอย่างหนัก เผยแพร่ในเฟซบุ๊กส่วนตัว มีเนื้อหาว่า

สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่ง ที่ นิติราษฎร์ โดนโจมตีหนัก ต้องโทษ ท่าทีแบบ cynical (ไม่จริงใจ) ของ เพื่อไทย และ นปช.


(1) ก่อน 19 กันยา ปีกลาย สื่อมวลชนกระแสหลัก แทบจะไม่รู้จักหรือแทบไม่เคยเสนอข่าว นิติราษฎร์ เลย

แต่จู่ๆ นิติราษฎร์ กลายเป็นข่าวหน้า 1 ขึ้นมา ก็เพราะ ทั้ง รบ. โดยคุณเฉลิม และ นปช. โดย อ.ธิดา ได้ออกมาพูดใหญ่โตว่า "เห็นด้วยกับแนวทางของ นิติราษฎร์" (เรื่องลบล้างผลพวงรัฐประหาร)

ดังที่ผมเขียนวิจารณ์ไปตอนนั้นว่า การ "เห็นด้วย" ของ รบ. และโดยเฉพาะของ นปช.นั้น เป็นการ "เห็นด้วย" แบบปลอมๆ (cynical) คือ ยกเอาเฉพาะประเด็นเรื่องการล้มคดีต่างๆ ที่เกิดจาก รปห. แต่ข้อเสนอ 112 ที่ความจริง ก็อยู่ในแถลงการณ์วันที่ 19 กย. นั้น ไม่ยอมพูดถึง

ช่วงนั้น อ.ธิดา ถึงกับออกมาให้สัมภาษณ์ว่า "นิติราษฎร์ เป็นแนวร่วมทางยุทธศาสตร์ กับ นปช."


(2) หลังจากนั้น นปช. ด้วยแรงกดดันจากมวลชนของตนเอง และผู้รักประชาธิปไตยอื่นๆ ที่ให้ทำอะไรสักอย่าง เกี่ยวกับคดีหมิ่นฯ โดยเฉพาะในกรณีอากง ก็ต้องค่อยๆออกมา แบบกระมิดกระเมี้ยน ในลักษณะว่า "เห็นด้วย" กับการแก้ไขกฎหมาย 112

วิธีที่ออกมา ก็เป็นในลักษณะ cynical คือ เริ่มจาก ไม่ยอมแม้แต่เอ่ยกรณีอากง, ต่อมา ก็ไม่ยอมแม้แต่เอ่ยชื่อกฎหมาย 112 อ.ธิดาจะใช้คำพูดประเภท "กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมทุกฉบับ โดยเราไม่ต้องระบุชื่อ" ... แต่ฟังดู ก็เพื่อให้มวลชน ฯลฯ เป็นที่รู้กันว่า หมายถึง 112 ต่อมา ก็ "ขยับ" อีกขั้น ยกข้อเสนอของ คณิต ณ นคร ขึ้นมาแสดงท่าทีเห็นด้วย


(3) ความจริง ถ้าจะว่าไป การที่เฉลิม อ.ธิดา ยกนิติราษฎร์ ให้ขึ้นมาเป็นข่าว ตอนกันยายนปีกลาย ก็เรียกว่า เป็นเรื่องดี คือ ช่วยโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้

แต่เพราะลักษณะ cynical ที่ว่า คือ ยกมาเฉพาะบางเรื่อง (แต่เชียร์ใหญ่โตราวกับเห็นด้วยทุกเรื่อง) และพอพูดเรื่อง 112 ก็พูดแบบชนิด ไม่แน่ไม่นอน


ด้านหนึ่ง ทาง รบ. ก็ทำท่าว่า จะปราบคดีหมิ่นฯใหญ่โต (ซึ่งดังที่ผมเขียนไปตอนนั้นว่า เป็นการ "ผูกคอตัวเอง" แท้ๆ )

ในขณะที่ อีกด้านหนึ่ง นปช. ก็มีท่าที แบบที่ว่า คือ แรกๆ ไม่แตะเลย ต่อมา ก็ค่อยๆ มาเอ่ยถึง ต่อมา ก็ถึงกับออกมาในทางสนับสนุนเห็นด้วยกับ คณิต คือ ให้แก้ 112 ในบางระดับ

พอนิติราษฎร์ โดนโจมตีคราวนี้ นปช. ก็เปลี่ยนท่าทีอีก จากที่เคยออกมาในแนวสนับสนุน อย่างน้อย ก็ข้อเสนอ คอป. ตอนนี้ ก็ออกมาว่า นปช. ไม่มีนโยบายแก้ไข 112


(4) ลักษณะการ เล่นการเมือง แบบ cynical แบบนี้แหละ ที่มีส่วนทำให้นิติราษฎร์เดือดร้อน และกลายเป็นจุดโจมตีหนักไปด้วย

ตอนนี้การโจมตีนิติราษฎร์ ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งจึงเป็นเรื่อง proxy คือ ใช้การโจมตีนิติราษฎร์ เป็นการโจมตีทักษิณ ที่ นิติราษฎร์ ไม่เกี่ยวข้องด้วย



----------

บีบีซีทำสกู๊ปเรื่อง "112" ชี้ รบ.ยิ่งลักษณ์ ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงแก้ไขสภาพที่เป็นอยู่


ราเชล ฮาร์วีย์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เขียนสกู๊ปชื่อ "ข้อเรียกร้องให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ"

ฮาร์วีย์ ได้สัมภาษณ์พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สนับสนุนให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งแสดงความเห็นว่ากฎหมายมาตรานี้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพิ่มสูงขึ้น เมื่อสังคมไทยมีความแตกแยกกันรุนแรงยิ่งขึ้น

นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่า คดีจากกฎหมายอาญามาตรา 112 มีจำนวนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นับตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่โค่นล้มอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ลงจากอำนาจ

"กฎหมายมาตรานี้ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด เพื่อต่อต้านฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีจุดยืนตรงกันข้ามกับการรัฐประหาร" พวงทองกล่าวและว่า "ประชาชนจึงไม่สามารถอภิปรายถึงสิ่งต่างๆ ได้อย่างเปิดเผย เพราะภัยคุกคามของกฎหมายมาตราดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เริ่มมีความวิตกกังวลกันมากขึ้นว่า ม.112 จะกลายเป็นอุปสรรคในการแสวงหาทางออกจากปัญหาทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นเสียเอง"


ขณะที่พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณบดี คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวกับผู้สื่อข่าวบีบีซีว่า ตนเองสนับสนุนหลักการโดยทั่วไปของการมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ถือเป็นกรณียกเว้นสำหรับการมีเสรีภาพดังกล่าว

"การทำให้กฎหมายอาญา ม.112 อ่อนแอลง อาจจะถือเป็นการลดสถานะของพระมหากษัตริย์ พระองค์ทรงเป็นผู้ได้รับความเคารพอย่างสูงสุด ฉะนั้นเราต้องไม่แก้ไขกฎหมายมาตราดังกล่าว" นักวิชาการจากนิด้า ระบุและว่า "นี่เป็นประเด็นอ่อนไหวอย่างยิ่ง การรณรงค์แก้ไข ม.112 อาจก่อให้เกิดปัญหาหนักมากขึ้นในสังคม ประเทศไทยมีความแตกแยกอยู่แล้ว การแก้ไขกฎหมายนี้จะนำไปสู่ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น"

ฮาร์วีย์รายงานว่า มุมมองแบบพิชาย ได้รับการเห็นพ้องสนับสนุนจากผู้มีอำนาจ ทั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. รวมทั้งบรรดาพรรคการเมืองหลักของประเทศ ที่ออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนการดำรงอยู่ของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ฉบับปัจจุบัน


ผู้สื่อข่าวบีบีซีระบุด้วยว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีความพยายามที่จะบล็อกเว็บไซต์ต่างๆ ที่ถูกเข้าใจว่าเผยแพร่เนื้อหาก้าวล่วงสถาบัน ขณะที่เครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ซึ่งบรรดาผู้ไม่เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงสามารถแสดงเหตุผลโต้เถียงของตนเองออกมาได้ ก็เริ่มถูกจับตาอย่างจริงจังโดยรัฐบาล จึงเป็นที่ชัดเจนว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่มีความปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพทางการเมืองแบบเดิมที่ดำรงอยู่ในยุคปัจจุบัน



.