http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-02-28

นามนั้นสำคัญไฉน โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

นามนั้นสำคัญไฉน
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1645 หน้า 30


หนังสือพิมพ์ฝรั่งที่มีชื่อฉบับหนึ่ง เพิ่งประกาศเมื่อไม่นานมานี้ว่า จะเรียกชื่อประเทศพม่าว่าเมียนมาร์ตามที่รัฐบาลพม่าได้ประกาศเปลี่ยนชื่อไปนานแล้ว

เหตุผลที่เขาอธิบายไว้ก็คือ คำว่าพม่า (Burma) ในภาษาอังกฤษ มีความหมายแฝง (loaded) มากกว่าคำว่าเมียนมาร์ เพราะตอนที่รัฐบาลทหารประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศนั้น โลกตะวันตกกำลังต่อต้านรัฐบาลนั้น จึงไม่ยอมเปลี่ยนตาม ความหมายแฝงของคำว่าพม่าจึงชัดเจนว่า รัฐชนิดที่รัฐบาลทหารสร้างขึ้นนั้น ไม่ควรเป็นที่ยอมรับ

อันที่จริงคำว่าเมียนมาร์เองก็มีความหมายแฝงไม่น้อยไปกว่าคำว่าพม่า คำนี้ไม่ใช่คำใหม่อะไร ตรงกับคำไทยที่ใช้กันในวรรณคดีว่า "มรัมมะประเทศ" มีความหมายถึงดินแดน ไม่ใช่ราชอาณาจักร เพราะชื่อของราชอาณาจักรก็เหมือนธรรมเนียมไทย คือใช้ชื่อของราชธานี เช่น กรุงรัตนบุระอังวะ เป็นต้น และคำนี้เองที่เป็นต้นกำเนิดของคำว่าพม่าในภาษาไทย หรือ Burma ในภาษาอังกฤษ

การย้อนกลับไปใช้ชื่อเก่าที่ออกเสียงตามเสียงของชาวพื้นเมือง แฝงความหมายว่ารัฐบาลที่นั่นไม่ต้องการใช้ชื่อประเทศตามสำเนียงของเจ้าอาณานิคม เพราะรัฐบาลทหารพม่าสร้างภาพว่า ประเทศของตนกำลังถูกเบียดเบียนด้วยประการต่างๆ จากเจ้าอาณานิคมเก่ากับพรรคพวก ชื่อเมียนมาร์จึงเป็นการประกาศอิสรภาพครั้งที่สองจากเจ้าอาณานิคม

ในขณะเดียวกัน การเอาชื่อดินแดนมาเป็นชื่อรัฐ ก็เท่ากับประกาศด้วยว่า ระหว่างการเป็นสหพันธรัฐกับการเป็นรัฐเดี่ยวนั้น รัฐบาลทหารเลือกจะเป็นรัฐเดี่ยว ฉาน, มอญ, คะฉิ่น, กะเหรี่ยง, ยะไข่ ฯลฯ ล้วนเป็นพลเมืองของรัฐเดี่ยวนี้เหมือนๆ กัน (แม้ในทางปฏิบัติอาจไม่เท่าๆ กัน) เพราะเป็นคนที่อยู่ในดินแดนนี้เหมือนกัน



ผมเองก็ถือแบบปฏิบัติเหมือนหนังสือพิมพ์ฝรั่ง คือไม่ยอมเปลี่ยนไปเรียกชื่อประเทศว่าเมียนมาร์ แต่ยังคงเรียกว่าพม่าตลอดมา ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลคนละอย่างกับฝรั่ง

ผมคิดว่าผมโชคดีที่เกิดมาในภาษาที่ไร้ความสำคัญอะไรในโลก และยังโชคดีที่ไม่ต้องเขียนอะไรที่แสดงจุดยืนของประเทศไทย ภาษาไทยรู้จักดินแดนนี้มาแต่โบราณว่าพม่า ถึงจะเปลี่ยนรัฐบาลไปอย่างไร ก็ยังเป็นพม่าที่เรารู้จักอย่างสืบเนื่องมาแต่โบราณ จะมีชื่อใหม่ว่าอะไร เราก็เรียกอย่างที่คนไทยทั่วไปรู้จักได้เหมือนเดิม

อย่างเดียวกับที่เราเรียกฝรั่งเศส, เยอรมนี, สเปน, ฯลฯ อย่างที่เคยเรียกกันมาแต่โบราณ

ก่อนหน้าที่ประเทศลาวจะกลายเป็น สปป. ฝรั่งเรียกลาวว่า Laos เพราะประเทศนั้นประกอบด้วยราชอาณาจักรลาวถึงสามราชอาณาจักรรวมกัน แต่เราก็ยังเรียกลาวว่าลาว ไม่ใช่ลาวทั้งหลายหรือลาวส์ แต่เมื่อกลายเป็น สปป. เขาก็เปลี่ยนเป็น Lao เฉยๆ ซึ่งมีความหมายแฝงแน่นอน นั่นคือ สปป.ลาวได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ที่ไม่รับมรดกของราชอาณาจักรทั้งสามและมรดกของยุคอาณานิคมอีกต่อไป

ผมยกเว้นให้แต่ชื่อของประเทศที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน เช่น หลายรัฐในแอฟริกาและละตินอเมริกา ก็เมื่อไม่รู้จักก็ไม่มีชื่อเดิมให้เรียก หรือยกเว้นให้แก่ดินแดนที่เราเคยรู้จัก แต่บัดนี้กลายเป็นรัฐใหม่แล้ว เช่น แคว้นเบงกอลหรือบังกลาหรือกุลาในภาษาไทยเดิม บัดนี้กลายเป็นรัฐใหม่ชื่อบังกลาเทศ ก็ต้องเรียกรัฐนั้นว่าบังกลาเทศ ขืนไปเรียกประเทศบังกลาก็อาจทำให้คนอื่นไม่รู้เรื่อง

ฉะนั้น หลักเกณฑ์อีกอย่างที่ผมยึดถือก็คือเรียกชื่อที่คนอื่นรู้เรื่องในภาษาไทย



ผมคิดว่า ปัญหาเรื่องชื่อประเทศนั้นเป็นกรรมของภาษาอังกฤษ เพราะเมื่ออยากเป็นภาษากลางของโลก ใครเปลี่ยนชื่อประเทศ ก็ต้องกำหนดไว้ในภาษาอังกฤษ กลายเป็นปัญหาแก่คนที่ใช้ภาษาอังกฤษว่า จะใช้ชื่อใหม่หรือชื่อเก่าดี แต่ปัญหาอย่างนี้ไม่น่าจะมีในภาษาไทยและภาษาสวาฮิลี เราเคยเรียกมาอย่างไร ก็เรียกไปอย่างนั้น

ถึงอย่างไร ชื่อต่างๆ ก็ล้วนมีความหมายแฝงทั้งนั้น บางทีก็ตั้งใจให้มี บางทีก็ไม่ได้ตั้งใจ ขึ้นชื่อว่าภาษาของมนุษย์ จะไม่ให้มีความหมายแฝงเลย เราก็ไม่มีวรรณคดีสิครับ

และเพราะความหมายแฝงนี่แหละครับ ที่ทำให้ปัญหามันยุ่งยากในการตัดสินมากขึ้น

ความหมายที่แฝงอยู่ในชื่อเก่าๆ ที่เราเคยใช้กันมาในทุกภาษา มันมีความทรงจำ, ความรู้สึก, และความรู้บางอย่างที่แฝงอยู่ในนั้นด้วย และความทรงจำ, ความรู้สึก และความรู้นี่แหละครับ ที่อาจไปกำหนดทัศนคติของเราที่มีต่อปัจจุบันด้วย บางครั้งก็กำหนดไปในทางดี บางครั้งก็กำหนดไปในทางไม่ดี

หากเราเรียกเมืองทวายว่าทะวอย เรียกเมืองตะนาวศรีว่าเทนแนสเซอริม (อย่างที่ผมเคยได้ยินจากทีวีบางช่อง) คนไทยพลัดถิ่นซึ่งอพยพเข้ามาอยู่เมืองไทย ก็ดูเป็นคนแปลกหน้าซึ่งไม่น่าจะได้สิทธิพิเศษอะไรในการแปลงสัญชาติเป็นไทย แต่หากเราเรียกชื่อเดิม ความรู้สึกที่มีต่อพวกเขาก็น่าจะเปลี่ยนไป กลายเป็นพี่น้องที่ตกระกำลำบากเพราะผลของระบบจักรวรรดินิยมเมื่อศตวรรษที่แล้ว

ชื่อมะระแหม่ง, เมาะตะมะ, เมาะลำเลิง ฯลฯ ทำให้รู้สึกว่าคนมอญกับเราก็ญาติๆ กันนั่นแหละ แต่โมลเมน และมะตะบัน ทำให้รู้สึกว่ามอญเป็นใครที่ไหนก็ไม่รู้

ชื่อพม่านั้น หากหลังหัวเรามีคำว่า "ข้าศึก" ต่อท้ายอยู่ตลอดเวลา แทนที่จะมองเห็นพระพุทธศาสนาและประชาชนผู้มีคุณสมบัติดีๆ ที่น่าคบหา ก็มองเห็นแต่ความโหดเหี้ยมไร้มนุษยธรรมซึ่งเราต้องซ่อนมีดไว้ข้างหลังในการจับมือกันทุกครั้งไป แต่ชื่อพม่าเดียวกันนี้แหละ เป็นที่ตั้งของพระเจดีย์มุเตา, พระธาตุอินทร์แขวน และพระมหาเจดีย์ชเวดากอง อันล้วนเป็นพุทธเจดีย์ที่คนไทยสมัยหนึ่ง อยากได้ไปกราบไหว้บูชา

ย้อนกลับไปไกลกว่านั้น ยังเป็นดินแดนที่แพร่พระพุทธศาสนานิกายภุกามเข้ามาในบางส่วนของเราด้วย


เมืองบัตตัมบอง เป็นเมืองในกัมพูชาที่ไม่เกี่ยวอะไรกับเรา แต่เมืองพระตะบองนั้น มีตำนานที่เชื่อมโยงอีสานแถบนครพนม, ลาวแถบเวียงจันทน์ และบางส่วนของกัมพูชาเข้าหากันหมด เตือนให้เราระลึกได้ว่า เส้นเขตแดนระหว่างสามประเทศซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้ น่าจะไร้ความหมายแก่คนทั้งสามประเทศที่ยังธำรงความทรงจำบางอย่างร่วมกัน

เมืองกึงตั๋งไม่เหมือนเมืองกว่างโจว เพราะกึงตั๋งเป็นแหล่งที่สำเภาจากเมืองไทยเคยนำสินค้าออกขาย และกว้านซื้อสินค้าที่ต้องการลงสำเภากลับเมืองไทย เตือนให้เรารำลึกได้ว่า จีนไม่ได้เพิ่งเป็น "ตลาด" หลักของไทยหลังกลับมาเปิดประเทศเมื่อเร็วๆ นี้ ถึงอย่างไรจีนที่ใหญ่โตเทอะทะมาแต่โบราณนี้ ก็ต้องเป็นศูนย์กลางของอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัญหาจึงมาอยู่ที่เราจะอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านที่เป็นนักเลงใหญ่นี้ได้อย่างไร ไม่ติดอยู่เพียงแค่จะทำเงินด่วนจากมหาอำนาจนี้ได้อย่างไรเท่านั้น

เช่นเดียวกับเอ้หมึงกับเซียะเหมิน ชื่อหลังคือเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีน ในนั้นคงมีการแข่งขันกันของธุรกิจจากหลายชาติหลายภาษา ซึ่งยากที่ไทยจะเข้าไปแข่งด้วยได้ แต่ถ้าเรียกเอ้หมึง ดูเราจะคุ้นเคยเสียจนไม่หวั่นกับการแข่งขันของใคร เพราะสำเภาจากไทยเคยทำการค้าที่นี่ ทำโดยเปิดเผย เมื่อจักรพรรดิจีนอนุญาตให้ทำ และลักลอบทำ ถ้าจักรพรรดิไม่อนุญาต ก็แถวหลังบ้านเรานี่เอง

เกาะลูซอนในฟิลิปปินส์ก็ใช่ว่าจะห่างไกลจนไม่เป็นที่รู้จัก ในแผนที่เก่าของไทยเรียกว่า "ลือซ่ง" ไต้หวันคือ "ไท้วันฮู" (คงจะเป็นโจ่วภาษาจีนซึ่งแปลว่าจังหวัด) เช่นเดียวกับ "เตียจิวฮู" เมืองนานกิงก็ปรากฏในแผนที่เรียกว่า "นำเกีย"

อินเดียยิ่งแล้วใหญ่ เพราะเราน่าจะรู้จักมาอย่างดีแต่ดึกดำบรรพ์ ฝั่งตะวันออกของอนุทวีปซึ่งบางทีคนไทยก็เรียกตามฝรั่งว่าฝั่งโคโรแมนเดล คำนี้คือโจฬมณฑลซึ่งติดต่อสัมพันธ์กับไทยมามากแต่โบราณ ปัจจุบันรัฐบาลอินเดียเปลี่ยนชื่อเมืองต่างๆ ที่คนไทยเคยรู้จักดี กลับไปใช้ภาษาพื้นเมืองหมด เช่นบอมเบย์กลายเป็นมุมไบ แต่ก็ยังมีอีกหลายชื่อซึ่งเป็นที่คุ้นเคยพอสมควรในเมืองไทยอยู่แล้ว ยังคงใช้ชื่อเดิมซึ่งสามารถออกเสียงเป็นไทยได้ (หลายชื่อปรากฏในชาดกเป็นประจำ) เช่น เมืองพาราณสี ไม่ใช่เบนาเรส, ราชวงศ์กุษาณะ ไม่ใช่กุชาน, แคว้นพิหาร ไม่ใช่บีฮาร์, เมืองมัทราสไม่ใช่มะดราส,

เลยไปถึงเมืองคันธาระในอัฟกานิสถาน ไม่ใช่กันดาฮาร์ ฯลฯ



การเรียกชื่อสถานที่ต่างๆ ซึ่งคนไทยเคยรู้จักมาอย่างดีด้วยสำเนียงฝรั่ง จึงเท่ากับตัดขาดจากความทรงจำ, ความรู้สึก และความรู้ที่สังคมของเราเคยมีมาทั้งหมด

ผมก็ไม่ปฏิเสธนะครับว่า ความทรงจำ, ความรู้สึก และความรู้ของเราที่ติดอยู่กับชื่อเก่าๆ เหล่านั้น ไม่จำเป็นว่าจะให้แต่สิ่งดีๆ เสมอไป ให้ความเคียดแค้น, การเหยียดหยาม และความชิงชังก็มีเหมือนกัน เพราะอย่างที่บอกแล้วว่า คำอะไรๆ ในโลกนี้ล้วนมีนัยยะบางอย่างแฝงอยู่มากกว่าความหมายเฉพาะทั้งนั้น

นัยยะทั้งหลายที่แฝงอยู่นี้ ตัวคำไม่ได้สร้างขึ้น สังคมเป็นคนยัดมันลงไปในคำนั้นๆ เอง

ผมจึงตัดสินไม่ได้หรอกครับว่า เราควรรักษาชื่อโบราณเหล่านั้นเอาไว้ เพื่อให้เกิดความสืบเนื่อง หรือควรเปลี่ยนเรียกตามฝรั่ง ซึ่งไม่ค่อยมีความหมายแฝงในวัฒนธรรมไทยดี

ผมชอบชื่อโบราณโดยไม่ได้มีเหตุผลดีวิเศษอย่างไร นอกจากว่าผมแก่และชอบอะไรเก่าๆ เท่านั้น



.