สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ชู้รัก "ศรีจุฬาลักษณ์" ไม่ใช่ "ศรีปราชญ์" โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ www.facebook.com/pensupa.sukkatajaiinn คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1645 หน้า 76
ตอนที่แล้วกล่าวถึงความอีนุงตุงนังเรื่องพระโอรสลับของพระนารายณ์ โดยมีพระเพทราชาเป็นตัวแปร หากถามว่าพระเพทราชามีฐานะเป็นพระญาติส่วนไหนกับพระนารายณ์หรือ? ก็คงยากที่จะตอบ
ฐานะแรกมีศักดิ์เป็น "พี่เขย" เหตุเพราะน้องสาว ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) เป็นสนมเอกของพระนารายณ์
อีกฐานะหนึ่งกลายเป็น "น้องเขย" ด้วยหลังจากที่สำเร็จโทษพระนารายณ์แล้วปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ ได้สถาปนาพระขนิษฐาของพระนารายณ์มาเป็นอัครมเหสีฝ่ายขวา นามกรมหลวงโยธาทิพ
เท่านั้นไม่พอ ยังเป็น "ลูกเขย" อีกสถานะหนึ่งด้วย เหตุที่ได้สถาปนาเจ้าฟ้าสุดาวดีพระราชธิดาของพระนารายณ์ ขึ้นเป็นอัครมเหสีฝ่ายซ้าย นามกรมหลวงโยธาเทพ
สรุปแล้วพระเพทราชาผู้เป็นสหชาติ พระสหายร่วมน้ำนมมารดาเดียวกันกับพระนารายณ์นี้ ได้ทำการยึดครองทั้งน้องและลูกแบบเทครัวมาเป็นชายาคู่ซ้าย-ขวา ทั้งนี้ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้พสกนิกรเห็นว่าราชินีในรัชกาลถึงสององค์ มีสายเลือดเดียวกันกับราชาองค์ก่อน
กรณีของน้องสาวพระเพทราชา (บางฉบับระบุว่าเป็นพี่สาว) นามท้าวศรีจุฬาลักษณ์นั้น มีประวัติโลดโผนไม่แพ้พี่ชาย เป็นถึงชายาองค์หนึ่งของกษัตริย์แท้ๆ แต่กลับมาจบชีวิตอนาถด้วยเรื่องฉาวโฉ่กับชายสองคน ชายคนแรกที่โจษขานให้เรารับรู้คือ "ศรีปราชญ์" นั้นมีประเด็นชวนสงสัยไม่น้อย
ส่วนชายอีกคนคืออนุชาของพระนารายณ์ บุรุษนิรนามไม่เป็นที่คุ้นหูของผู้คน แต่กลับมีพลานุภาพยิ่ง ทำให้หญิงสาวสองคนต้องพบกับโศกนาฏกรรม
คนหนึ่งหัวใจสลาย อีกคนต้องสังเวยชีวิต?
ท้าวศรีจุฬาลักษณ์
เป็นชู้กับศรีปราชญ์จริงหรือ?
ก่อนจะตอบคำถามนี้ คงต้องทำความกระจ่างเรื่องการมีตัวตนเป็นๆ ของศรีปราชญ์หรือไม่เสียก่อน เพราะแนวโน้มของนักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยเชื่อกันมานานแล้วว่า "ศรีปราชญ์" นั้นเป็นชื่อตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านกวีในราชสำนักพระนครศรีอยุธยา
หาใช่เป็นชื่อเฉพาะเรียกขานลูกชายอัจฉริยะของพระโหราธิบดีที่สามารถโต้ตอบโคลงกับใครต่อใครได้ตั้งแต่วัยเพียง 8-9 ขวบไม่
หากเชื่อว่าศรีปราชญ์คือผู้เขียนกำสรวลสมุทร (หรือที่เรียกแบบคลาดเคลื่อนว่า "กำสรวลศรีปราชญ์") ก็ย่อมหมายความว่ามีศรีปราชญ์อีกคนหนึ่ง ที่เกิดก่อนศรีปราชญ์ยุคพระนารายณ์ร่วม 200 ปี เหตุเพราะรูปแบบคำประพันธ์นั้นจัดเป็นโคลงโบร่ำโบราณที่เก่าถึงสมัยอยุธยาตอนต้น ใช้ภาษาแตกต่างไปจากอยุธยาตอนปลายโดยสิ้นเชิง
ให้เผอิญว่า ศรีปราชญ์ทั้งสองยุค ต่างก็มีผู้หญิงชื่อ "ท้าวศรีจุฬาลักษณ์" เหมือนกันเข้ามาพัวพัน เรื่องเลยยุ่งพัลวันพัลเกไปกันใหญ่
ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ที่กำสรวลสมุทรพรรณนาถึงอย่างสุดซึ้งนั้น มีฐานะเป็น "คนรัก" ร่วมหอห้องอยู่กินกันฉันสามีภรรยากับผู้รจนา มิใช่ชู้รักที่กวีแอบหลงใหลได้ปลื้มในตัวพระสนมของกษัตริย์เพียงข้างเดียว หลายตอนพรรณนาถึงบทอีโรติกเข้าพระเข้านาง เกินกว่าจะเป็นจินตนาการของชายชู้
ดวงเดียวนาภิศน้อง นางสวรรค์ กูเอย
กระแหน่วแนวนาภี พี่ดิ้น
ใครเห็นอรเอววรรณ ใจวาบ วางฤๅ
ปานปีกน้อยน้อยริ้น ฤๅร้างกลัวตาย
ชื่อ "ท้าวศรีจุฬาลักษณ์" เองก็เป็นตำแหน่ง 1 ใน 4 ของพระสนมเอกที่เจ้านายหัวเมืองสำคัญต้องนำธิดามาถวายเป็นบาทบริจาริกาแด่กษัตริย์พระนครศรีอยุธยา กอปรด้วย ท้าวศรีสุดาจันทร์ (จากเมืองละโว้) ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (จากสุโขทัย) ท้าวอินทรสุเรนทร์ (จากสุพรรณภูมิ) และท้าวอินทรเทวี (จากนครศรีธรรมราช)
สนมนางใดสามารถประสูติพระโอรสได้ก่อน ก็จะเลื่อนฐานะเป็นอัครมเหสีทันที
ดังนั้น จึงไม่แปลก หากจะมีบทกวีที่พรรณนาถึงหญิงสาวในนาม "ท้าวศรีจุฬาลักษณ์" ของคนสองยุคสมัย ที่พ้องจองกันโดยบังเอิญ รายแรกเป็นท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งต่อมากลายเป็นมเหสีของพระบรมราชาที่ 3 ไม่ใช่ท้าวศรีจุฬาลักษณ์น้องสาวพระเพทราชา ที่ชอบทะเลาะเบาะแว้งกับ "ศรีปราชญ์"
สิ่งที่ทำให้คนไทยไขว้เขวมาตลอด ก็คือโคลงบทแรกของกำสรวลสมุทร ฉบับที่คัดลอกใหม่ลงในสมุดข่อยนั้นขึ้นต้นว่า
กำสรวลศรีปราชญ์ร้าง แรมสมร
เสาะแต่ปางนคร ล่มแล้ว
ไป่พบไป่พานกลอน โคลงท่าน จบนา
จวบแต่ต้นปลายแคล้ว หนึ่งน้อยยืมถวาย
พิจารณาให้ดี ทั้งเรื่องมีการใช้คำว่าศรีปราชญ์เพียงครั้งเดียว เนื้อหาโคลงบทแรกนี้ อันที่จริงเสมือนบทนำของกวีว่าเขาได้ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการรวบรวมต้นฉบับโคลงในอดีตแล้วแต่งเสริมบางท่อนที่หายไปเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าผู้รวบรวมนี้มีทินนามว่า "ศรีปราชญ์"
นักวรรณกรรมเห็นพ้องว่าผู้รจนากำสรวลสมุทรคือพระบรมราชาที่ 3 หรือพระอินทราชา ผู้เป็นพระโอรสของพระบรมไตรโลกนาถ เขียนนิราศคราวออกศึกไปรบกับหัวเมืองมอญ ในช่วงที่พระราชบิดาเสด็จไปพิษณุโลก แล้วฝากฝังให้ดูแลพระนครศรีอยุธยา ซึ่งพระองค์ไม่ค่อยสันทัดการสงครามนักเพราะมีนิสัยค่อนไปทางศิลปิน
เนื้อหาในโคลงนิราศจึงแต่งขึ้นขณะเดินทางไปเป็นแม่ทัพศึกที่เมืองทวาย หาใช่การที่ศรีปราชญ์แต่งด้วยความอาดูรตอนที่ถูกพระนารายณ์เนรเทศให้ไปอยู่เมืองนครศรีธรรมราช ด้วยเหตุลอบเป็นชู้กับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ไม่
เพราะหากไปเมืองนครฯ จริง ไยจึงไม่มีการพรรณนาเมืองเบี้ยบ้ายรายทางที่อยู่ตอนใต้เลยปากน้ำเจ้าพระยาลงไปถึงเพชรบุรี ประจวบ ชุมพร สุราษฎร์ ทำไมฉากภูเขาลำคลองจึงหยุดอยู่แค่ภาคกลาง?
ในขณะที่ศรีปราชญ์ยุคพระนารายณ์นั้น ไม่ได้แต่งโคลงกำสรวลบทยาวๆ ถึงท้าวศรีจุฬาลักษณ์ มีแต่บทเกี้ยวพาราสีสั้นๆ ในทำนองสับปะดี้สีปะดน ทะลุ่มปุ่มปู โกวาปาเปิด บุคลิกของศรีปราชญ์เองอาจรูปชั่วตัวดำ ปากคอเราะราน ไม่น่าจะถูกสเป๊กท้าวศรีจุฬาลักษณ์เท่าใดนัก มิเช่นนั้นนางคงไม่เยาะเย้ยถากถางให้ก้มมองเงาหัวของตัวเองด้วยบทกวีชิ้นลือลั่นว่า
หะหายกระต่ายเต้น ชมจันทร์
มันบ่เจียมตัวมัน ต่ำต้อย
นกยูงหากกระสัน ถึงเมฆ
มันบ่เจียมตัวน้อย ต่ำต้อยเดียรฉาน
จนศรีปราชญ์ต้องตอบโต้ ด้วยบทกวีชิ้นท้าทายที่มีนัยะถึงการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนว่า
หะหายกระต่ายเต้น ชมแข
สูงส่งสุดตาแล สู่ฟ้า
ระดูฤดีแด สัตว์สู่ กันนา
อย่าว่าเราเจ้าข้า อยู่พื้นเดียวกัน
เมื่อเปรียบเทียบกับโคลงกำสรวลสมุทรนั้น โวหารกวีมีความอาจหาญประหนึ่งเจ้ามิใช่ไพร่ เพราะแค่จะออกเดินทางไป ก็มีสาวสนมมาแหนห้อมพิไรรำพันกันถึงท่าเรืออย่างอึกทึก ฉากนี้ยิ่งตอกย้ำว่า เป็นไปไม่ได้ที่กำนัลนางในทั้งหลายจะแห่มาส่ง "ชายผู้ถูกเนรเทศ" เหตุเพราะเป็นชู้กับสนมของกษัตริย์
ถ้าเช่นนั้น ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (น้องของพระเพทราชา) ลอบเป็นชู้กับใคร หากไม่ใช่ศรีปราชญ์?
ชู้รักตัวจริงของท้าวศรีจุฬาลักษณ์
บุรุษผู้นั้นคือเจ้าฟ้าน้อย มีศักดิ์เป็นพระอนุชาต่างมารดาของพระนารายณ์ มีน้องชายอีกคนชื่อเจ้าฟ้าอภัยทศ เชื่อว่าเจ้าฟ้าน้อยนี่ต้องเป็นคนหล่อเหลาเอาการ เพราะไม่เพียงแต่จะมีเสน่ห์ทำให้ท้าวศรีจุฬาลักษณ์กล้านอกใจพระนารายณ์ได้เท่านั้น ทว่ายังทำให้หญิงสาวอีกคนลุ่มหลงอย่างหัวปักหัวปำ นางคือเจ้าฟ้าสุดาวดี
เจ้าฟ้าสุดาวดี คราวก่อนบอกไปแล้วว่าแอบหลงรักอาของตัวเอง เพียงแต่มีความสับสนว่าควรเป็นอาองค์ไหน ระหว่างเจ้าฟ้าน้อย คนพี่ หรือเจ้าฟ้าอภัยทศ คนน้อง เอกสารฝรั่งเศสระบุว่าเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศ แต่เอกสารฝ่ายไทยกล่าวว่า ชายคนรักของสุดาวดีคือเจ้าฟ้าน้อย
รักกับสุดาวดีอยู่ดีๆ ไฉนเจ้าฟ้าน้อยจึงลอบเป็นชู้กับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ได้ลงคอ เอกสารบางเล่มระบุว่า ความจริงแล้วเจ้าฟ้าน้อยไม่ได้เป็นชู้ แต่ถูกกลั่นแกล้งโดยนางสนมท้าวอื่นที่ริษยา จับมือกับพระปีย์ (โอรสลับที่แท้จริงของพระนารายณ์?)
เมื่อเรื่องชู้ๆ คาวๆ แดงขึ้น พระนารายณ์จับได้คาหนังคาเขา เนื่องจากพบรองเท้าของอนุชาถอดวางอยู่หน้าห้องพระสนม ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าใครแกล้งเอาไปวาง หรือทำบ่อยจนเผลอไผล บทลงโทษของหญิงชั่วชายโฉดคู่นั้นที่ได้รับออกจะป่าเถื่อนเกินมนุษย์มนา
คือฝ่ายหญิง จับไปโยนกลางป่าให้เสือกิน (มีบางฉบับระบุว่าจับถ่วงน้ำ) ส่วนฝ่ายชาย ในฐานะที่เป็นน้องชายต่างมารดา แค่จับเฆี่ยนโบย เอาเหล็กร้อนหนีบแก้ม จนพิกลพิการ ไม่ถึงกับฆ่า
เหตุการณ์ตอนนี้บาดหลวงชาวฝรั่งเศสตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมพระเพทราชาไม่ขออภัยโทษไว้ชีวิตให้แก่น้องสาว(ท้าวศรีจุฬาลักษณ์) ทั้งๆ ที่ตัวก็ได้ดิบได้ดีเข้านอกออกในวังกลายเป็นคนสนิทของพระนารายณ์ขึ้นมา ก็ด้วยใช้น้องสาวเป็นสะพานเชื่อมในฐานะสนมนำร่องมาก่อน เป็นที่รู้ๆ กันอยู่ว่าพวกฝรั่งเศสถือหางฟอลคอน จึงย่อมเกลียดพระเพทราชาไม่ว่าจะทำหรือไม่ทำอะไรก็ตามย่อมผิดเสมอ
ในขณะที่พระเพทราชากับพระปีย์กลับแย่งชิงกันขอทำหน้าที่โบยเจ้าฟ้าน้อย จนหลังจากสลบแล้วฟื้น กลับกลาย (หรือแกล้ง) เป็นคนใบ้ไม่พูดไม่จาอีกเลย แม้กระนั้นเจ้าฟ้าสุดาวดีก็ยังสวามิภักดิ์และพร้อมที่จะให้อภัยกลับมาครองคู่อยู่เช่นเดิม แต่แล้วไม่นานเลยเจ้าฟ้าน้อยก็ถูกกำจัด ส่วนเจ้าหญิงสุดาวดีต้องตกเป็นของพระเพทราชา
สถานะของเจ้าฟ้าน้อยนั้น แท้จริงก็คืออุปราชว่าที่กษัตริย์องค์ต่อไปนั่นเอง เหตุเพราะพระนารายณ์ไม่ทรงมีพระโอรสอย่างเปิดเผย เจ้าฟ้าน้อยจึงถูกรุมรังแกทั้งโดยพระเพทราชาและพระปีย์
เรื่องที่น่าคิดอย่างหนักก็คือ บทลงโทษของเจ้าฟ้าน้อยนั้นถึงขั้นเฆี่ยนโบยปางตาย แต่ทำไมหากศรีปราชญ์เป็นชู้กับท้าวศรีจุฬาลักษณ์จริง (หมายถึงหากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าเจ้าฟ้าน้อย) ไยจึงแค่ถูกเนรเทศไปอยู่นครศรีธรรมราช ทั้งๆ ที่เจ้าฟ้าน้อยเป็นพระอนุชา ส่วนศรีปราชญ์เป็นแค่กวีไพร่
ความวุ่นวะวุ่นวายในราชสำนักพระนารายณ์นี้จะว่าไป ก็คล้ายนิยายประโลมโลกย์สิบตังค์ ประเภทรักห้าเส้าหกเส้า ไม่ผิดเพี้ยน ตัวละครแต่ละตัวก็ช่างแสบสันต์สุดๆ
จนเชื่อว่าหากนำไปสร้างภาพยนตร์แล้ว "ท้าวศรีจุฬาลักษณ์" อาจสนุกน่าตื่นเต้นเสียยิ่งกว่าเรื่อง "ท้าวศรีสุดาจันทร์" แม่หยัวเมืองวางยาเบื่อสวามี ฆ่าลูก แล้วยกบัลลังก์ให้ชู้รักนั้นก็เป็นได้
ว่าแต่ว่าเมื่อไหร่ แบบเรียนวิชาวรรณคดีไทยจักมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขประวัติของผู้แต่งกำสรวลสมุทรให้ถูกต้องกันเสียทีว่า เป็นศรีปราชญ์ยุคอยุธยาต้น คนละคนกับกวีเอกสมัยพระนารายณ์
.