.
เด็ดเส้นผมร้อยสายสยอง ชาติหน้าลาแล้วเพศหญิง!
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1643 หน้า 76
การอบรมบ่มเพาะเรื่องเพศวิถีในอดีต ว่าเพศหนึ่งเลิศเลอเหนือกว่าอีกเพศหนึ่ง นำไปสู่ความเชื่อฝังหัวจากรุ่นสู่รุ่น ไม่เพียงเฉพาะในละแวกอุษาคเนย์แต่ยังนับรวมถึงซีกโลกตะวันตก จนทำให้ผู้ชายส่วนใหญ่ต่างหลงทะนงตนว่าเพศของตนนั้นเป็นเพศที่บริสุทธิ์สูงส่งกว่าเพศหญิง
ชาวพุทธบางคนถึงกับแปรพระพุทธพจน์ให้กลายเป็นประเด็นเพศสภาพว่า "สตรีเป็นศัตรูของพรหมจรรย์"
ข้ออ้างเหล่านี้จริง-เท็จอย่างไร คงต้องหาโอกาสถกกันต่อไป แต่เท่าที่ทราบจากพระไตรปิฎกมีหลักฐานยืนยันถึงการบรรลุธรรมของสตรีเพศอยู่หลายอนงค์ ทั้งในเพศฆราวาสและในเพศบรรพชิตภิกษุณี โดยมิต้องรอให้เปลี่ยนเพศสภาพถึงชาติหน้า
แม้กระนั้น หลายคนในยุคสมัยของเรายังออกอาการรังเกียจรังงอน แทบจะเอาหน้าแทรกแผ่นดินหนี ทันที่ทราบผลการเลือกตั้งปีกลาย หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่แผ่นดินนี้ต้องมีนายกรัฐมนตรีเป็นเพศเดียวกับแม่ของตัวเอง
ความแตกต่างที่ทำให้ชายมองว่าหญิงเป็นเพศต่ำต้อย ต้องทนทุกข์ทรมานกว่าเพศตน ก็เพราะเพศหญิงมีเลือดประจำเดือนนี่เอง อันเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งปฏิกูล ความสกปรก
ทั้งๆ ที่ห้วงเวลา 4-5 วันอันน่ารำคาญในช่วงรอบเดือนนั้น มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยเลย ที่ได้ใช้มันเป็นอุปายโกศล แปรวิกฤติให้เป็นวิปัสสนา ใช้โอกาสนี้พิจารณาธรรม มองทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นซ้ำซากประหนึ่งอสุภกัมมฐานที่มาเยี่ยมเยือนถึงเนื้อถึงตัวให้รู้จักทุกข์และปลงสังเวช โดยมิต้องไปมัวเสียเวลาน้อยเนื้อต่ำใจที่เกิดมาเป็นหญิง
เส้นผมกับปริเทวนาทุกข์
ผูกเชื่อมร้อยชาตินี้-ชาติหน้า?
ถูกประณามว่าเป็นเพศบาปต่ำต้อยไม่บริสุทธิ์ไม่พอ ยังได้รับการตอกย้ำทั้งจากเพศเดียวกันและเพศตรงข้ามให้ยอมจำนนต่อความเชื่อที่ว่า อิสตรีเป็นเพศที่บรรลุธรรมยากยิ่ง เพราะเต็มไปด้วยความมี "อติมานะ" แม้แต่บริษัทหนึ่งในสี่ คือ "ภิกษุณี" ในที่สุดก็ต้องยกเลิกไปแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาล
"อติมานะ" ในที่นี้ ก็รวมทั้งความอยู่ยาก กินยาก นอนยาก พูดมาก เรื่องมาก แถมพกพาจริตจก้านติดตัวมาไม่รู้กี่ชาติแล้วจนกองพะเรอ
แสงหิ่งห้อยรำไรที่พอจะฉายแสงหลังจากการถูกกีดกันไม่ให้บวชเรียน ก็คือคำกล่าวที่ว่า หากอยากบรรลุธรรมไปพระนิพพาน ก็จักต้องอธิษฐานจิตขอให้ชาติหน้าได้เกิดเป็นชายเสียก่อน ไหนๆ ชาตินี้สายไปเสียแล้ว ป่วยการจะพิไรรำพัน
แล้วจะให้อธิษฐานจิตกันแบบไหนเล่า ต้องนุ่งขาวห่มขาวเดินสายไหว้พระวัดไหน กี่แห่ง ต้องนั่งสวดมนต์กันกี่ชั่วโมง กี่คืน กี่เดือน กี่ปี จึงจะการันตีว่าชาติหน้าได้เกิดเป็นเพศชายแน่ๆ
การอธิษฐานจิตให้เกิดเป็นชาย โบราณว่ามิใช่มานั่งพร่ำบ่นวิงวอนต่อเทพยดาฟ้าดินไปเรื่อยเปื่อย แต่ต้องเข้าร่วมใน "พิธีกรรมสายสยอง" ต่างหาก
ชื่อฟังดูทะแม่งๆ "สายสยอง" เป็นพิธีที่มีความเชื่อว่าหากผู้หญิงปรารถนาจะมีส่วนร่วมรับบุญใหญ่ โดยขอแบ่งมาจากเพศชาย จำเป็นอย่างยิ่งต้องมาอุทิศตนนั่งร้อยคัมภีร์ใบลาน โดยใช้เส้นผมของนางเองนั่นแหละต่างเชือก นำมาผูกใบลานแต่ละแผ่นเข้าด้วยกัน ขณะเด็ดเส้นผมไปก็ตั้งจิตอธิษฐานอย่างมุ่งมั่นว่าชาติหน้าขอให้ได้เกิดเป็นชาย เพื่อจะได้มีโอกาสบวชเรียนในพระพุทธศาสนา ง่ายต่อการบรรลุธรรม ว่างั้นเถอะ
ประเพณีการร้อยสายสยองด้วยการเด็ดเส้นผม ไม่ว่าจะมองในแง่ใด ล้วนเป็นการลงโทษผู้หญิงให้ได้รับความเจ็บปวดทั้งทางกายและทางใจ คือขณะเด็ดดึงผมทีละเส้น ย่อมรู้สึกเสียวสยองสั่นสะท้านไปทั่วอนูกะโหลกศีรษะ ดีไม่ดีเกิดอาการร่วงล้านผมไม่ขึ้นอีก นี่คือความเจ็บช้ำทางกาย
ส่วนความเจ็บปวดทางใจ ก็คือการบ่มเพาะความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจต่อการเกิดมาเป็นอิตถีเพศให้ช้ำใจหนักยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยความคิดที่ว่า นี่หากเราเกิดมาเป็นชายก็คงไม่ถูกผลักไสไล่ส่งให้ต้องมานั่งเสียวสยองอยู่อย่างนี้หรอก
พิธีกรรม "เปิดพื้นที่" ให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการพระพุทธศาสนา ด้วยการเด็ดเกศาร้อยสายสยองนั้น มีขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่บนแผ่นดินล้านนาไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน
เราทราบกันแต่ว่าในยุคมอญหริภุญไชยซึ่งร่วมสมัยกับทวารวดี ที่ภาคอีสาน ณ เมืองฟ้าแดดสงยางแถวกาฬสินธุ์เมื่อพันกว่าปีก่อน เคยมีประติมากรรมสลักหินบนใบเสมาชื่อ "พิมพาพิลาป" เป็นภาพพระนางยโสธราร่ำไห้ปิ้มว่าจะขาดใจ สยายเกศีเช็ดฝ่าพระบาทของเจ้าชายสิทธัตถะซึ่งบวชเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว อันเป็นธรรมเนียมการคารวะอย่างสูงสุดของสาวมอญต่อสวามี ต่อมาได้ส่งผ่านมายังกลุ่มตรละแม่ไทใหญ่ และล้านนา
ประเพณีการสยายเส้นผมเช็ดเท้าชายอันเป็นที่รัก รวมถึงบุคคลผู้ควรเคารพอย่างสูงสุด เช่น พระพุทธเจ้า มาสู่การพลีเกศาร้อยคัมภีร์นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ตั้งแต่เมื่อไหร่ ยังคงเป็นปริศนาที่ต้องช่วยกันสืบค้น
ปริศนาภาษิต
ปลายมือฝายเช็ดหัวพญานาค?
จาก "คำสอนพระญามังราย" หมวดการอบรมสตรีเพศให้อยู่ในโอวาทนั้น พบว่าแม่ญิงล้านนามีกรอบทางสังคมที่คอยควบคุมพฤติกรรมมากกว่าผู้ชายในทุกๆ มิติ การดำเนินชีวิตประจำวันของหญิงก็ล้วนแต่เต็มไปด้วยข้อควรระวังยิ่งกว่าชาย หากทำอะไรผิดจารีตแม้เพียงเล็กน้อยมักถูกประณามว่าตก "ขึด" คือเป็นกาลกิณี
เอกสารคัมภีร์ใบลานอีกชิ้นหนึ่ง ไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลายเท่าใดนัก แต่งโดยมหาอำมาตย์หมื่นสาร เป็นปราชญ์เอกคนสำคัญในสมัยพระญากือนาช่วงต้นพุทธศวรรษที่ 20 เขาได้เขียนหนังสือ "คำสอนหมื่นสาร" ในหมวดคุณสมบัติของแม่ญิงล้านนา มีแค่คำปริศนาสั้นๆ 5 ประการ
"มีแท่งคำแข็งยิ่งกว่าพร้า มือฆ่าเหล็กตาย ปลายมือฝายเช็ดหัวพระญานาค ปากคาบพระจันทร์ สองตีนยันพระอาทิตย์ สรรพสิริวุฒิจุ่งมี"
ภาษิตนี้เขียนสั้นๆ แต่ความหมายลึกซึ้ง คงต้องขยายความกันคำต่อคำ
"มีแท่งคำแข็งยิ่งกว่าพร้า" = แท่งคำหมายถึงหัวใจ ฉะนั้น ลูกผู้หญิงต้องมีใจเข้มแข็งหนักแน่นยิ่งกว่าอาวุธ อย่าอ่อนไหวง่าย
"มือฆ่าเหล็กตาย" = ลูกผู้หญิงต้องทำงานหนักเสมอชายได้
"ปลายมือฝายเช็ดหัวพญานาค" = ควรเปิดโอกาสให้หญิงได้เรียนหนังสือเหมือนชาย จะได้เขียนธรรมให้พระญากษัตริย์อ่านได้ (ฝาย = คม)
"ปากคาบพระจันทร์" = ให้เป็นผู้เจรจาอ่อนหวาน อย่าปากจัดด่าใครต่อใคร
"สองตีนยันพระอาทิตย์" = ทำงานหนักตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นยันพระอาทิตย์ตก เข้าทำนองภาษิตสยาม "ตื่นก่อนนอนทีหลังสามี"
"สรรพสิริวุฒิจุ่งมี" หากแม่ญิงนางไหนทำได้เช่นนี้ก็ย่อมเป็นสวัสดิมงคลแก่ตนและครอบครัว
ถือว่าเป็นกึ่งภาษิตสอนหญิง กึ่งข้อเสนอแนะที่มหาอำมาตย์หมื่นสารเขียนถวายแด่พระญากือนา ในคราวที่ตรัสถามว่า คุณสมบัติของผู้หญิงที่ดีควรประกอบด้วยสิ่งใดบ้าง
ดูเหมือนว่าแทบทุกข้อนั้นเป็นสิ่งที่แม่ญิงล้านนาสามารถปฏิบัติได้อยู่แล้ว ยกเว้นข้อเดียวคือ "ปลายมือฝายเช็ดหัวพญานาค" จะให้ปฏิบัติได้อย่างไรเล่า ในเมื่อข้อนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถหรือสติปัญญา แต่ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายชายจะเปิดโอกาสให้ฝ่ายหญิงได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเรียนรู้เขียนพระธรรมคัมภีร์ได้มากน้อยแค่ไหนต่างหาก
ถ้าเช่นนั้นเจตจำนงของหมื่นสารข้อนี้ คงจะต้องเป็นหมัน เพราะทางวัดไม่เอออวยเห็นดีเห็นงามด้วยอย่างแน่นอน พระคุณเจ้ามองว่าประเพณีการเขียนคัมภีร์ใบลานนั้น อักขระทุกตัวที่ได้จารลงไปแล้ว ถือว่าเป็นของขลังของศักดิ์สิทธิ์ คัมภีร์คือตำรามีค่าเท่ากับครูบาอาจารย์ ฉะนั้น การเขียนธรรมจึงเป็นกิจเฉพาะของสงฆ์หรือหนานทิดที่เคยผ่านการบวชเรียนมาแล้วเท่านั้น
เมื่อเกิดเป็นหญิงก็ไม่ได้บวช เมื่อไม่ได้บวช ก็ไม่ได้จารธรรม
ในมุมกลับกัน เมื่อไม่ได้จารธรรม ก็ไม่ได้เกิดเป็นชาย เมื่อไม่ได้เกิดเป็นชาย ก็ไม่ได้บวชอีก
วนเวียนเป็นงูกินหางอยู่เช่นนี้ แล้วจะให้ผู้หญิงทำฉันใดกัน ในเมื่อต้องการไปนิพพาน
ประตูช่องเล็กๆ ที่เปิดทางให้แม่ญิงสามารถก้าวเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างคัมภีร์ ทำได้เพียงแค่นำคัมภีร์ใบลานที่พระสงฆ์ได้จดจารพระธรรมไว้แล้วมาร้อยเรียงต่อลำดับกันเป็น "ผูก" โดยใช้ "สายสยอง" คือเส้นผมของพวกนางเป็นเครื่องผูกร้อยรัดดังที่เอ่ยมาแล้วนั่นเอง
แต่คำอธิบายของคนรุ่นใหม่ กลับมองว่าพิธีกรรมเด็ดเส้นผมของสตรีมาสอดร้อยสายสยองในอดีตนั้นไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับบุญกรรมหรือเรื่องเพศสภาพแต่อย่างใด เพราะตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว เส้นผมมีความหยุ่นคล้ายเอ็น ทำให้ไม่กินเนื้อใบลานฉีกขาดผิดกับเส้นเชือกที่ทำจากป่านปอหรือเส้นด้าน เวลาเปิดอ่านจะช่วยให้พลิกผูกง่าย ทั้งยังมีความเหนียวคล้ายเอ็นซึ่งเส้นเอ็นเป็นสิ่งหายาก
พูดแบบนี้ คล้ายกับว่าพิธีกรรมสายสยอง แท้ก็คือการแกล้งหลอกเอาเส้นผมของผู้หญิงที่มีความคงทนกว่าเส้นเชือกมาร้อยใบลานโดยไม่กล้าบอกตรงๆ หรือเช่นไร
จากการสัมภาษณ์แม่อุ๊ยอายุ 80-90 ปีเศษหลายคนที่ยังเกิดทันประเพณีนี้ สารภาพตรงกันว่าในช่วงวัยสาวรุ่น พ่อแม่ต่างพาไปทำพิธีตัดเป็นตัดตาย ประกาศลาความเป็นเพศหญิงชาติสุดท้าย ด้วยการเด็ดเส้นผมร้อยสายสยอง
โลกปัจจุบันเรากลับพบว่ามีประชากรชายน้อยกว่าประชากรหญิง เป็นเพราะคำอธิษฐานจิตของแม่ญิงในพิธีสายสยองนั้นขาดช่วงไปนานหรือไฉน ฤๅในทางกลับกัน เพศชายต่างหากขณะที่จารใบลานแอบขออธิษฐานจิตเพื่อให้ได้เกิดเป็นหญิง?
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย