.
- จม.เปิดผนึกอาจารย์ มธ. จี้มหาวิทยาลัยจัดถก 112 เอง
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * ** * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
จดหมายจากอธิการบดี ถึงอธิการบดี
โดย ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
ใน www.prachatai.com/journal/2012/02/39040 . . Wed, 2012-02-01 12:49
ที่มาจาก www.charnvitkasetsiri.com
จดหมายจากอธิการบดี ถึงอธิการบดี
A Letter to a Rector
เรื่อง หลักการประชาธิปไตย-เสรีภาพ-เสมอภาค-ภราดรภาพ กับการ “เปิด-ปิด” พื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรียน อธิการบดี ศ. สมคิด เลิศไพฑูรย์ และคณะกรรมการบริหาร มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์
เนื่องในโอกาสวันแห่ง “ความรัก” ที่เวียนมาถึงในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ศกนี้ ผมขอส่งความปรารถนาดี มายังท่านอธิการบดี กับคณะ และขออวยพรให้อายุ วรรณะ สุขะ พละ ทั้งนี้เพื่อจักได้ปฏิบัติงานเพื่อมหาวิทยาลัย และประเทศชาติ ประชาชนของเรา
สืบเนื่องจากการที่ท่านอธิการบดี กับคณะกรรมการบริหารฯ ได้แถลงว่า
“ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วยคณบดี ผู้อำนวยการสำนักสถาบัน มีมติเอกฉันท์ว่ามหาวิทยาลัยฯ คณะ สำนัก สถาบันจะไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยฯ เพื่อเคลื่อนไหวกรณีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกต่อไป เพราะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสถานที่ราชการ การอนุญาตต่อไปอาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนินการของมหาวิทยาลัยฯ หรือมหาวิทยาลัยฯ เห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างรุนแรงภายในบริเวณมหาวิทยาลัยฯ จนมหาวิทยาลัยฯ ไม่อาจดูแลความปลอดภัยของบุคคล และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยฯได้”
ผมในฐานะส่วนหนึ่งของประชาคมธรรมศาสตร์ และ ส่วนหนึ่งของสังคมประชาธิปไตย ของสยามประเทศไทย ขอแสดงความคิดเห็นมาดังต่อไปนี้
หนึ่ง) ผมมีความเห็นว่าคำแถลงดังกล่าว ไม่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ และจิตวิญญาณของการสถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (The University of Moral and Political Sciences UMPS) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามหลักประการที่ 6 ที่ว่า “จะต้องให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร” ของ “คณะราษฎร” ที่ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือ ราชาธิปไตย ให้เป็นประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
สอง) คำแถลงดังกล่าว ไม่ถูกต้องตามขนบประเพณีของธรรมศาสตร์ ที่ยืนยันในหลักการของ “เสรีภาพ-เสมอภาค-ภราดรภาพ” ที่ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยของผู้ประศาสตร์การปรีดี พนมยงค์ ตลอดจน ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และ ศ. สัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งเคยกล่าวเป็นหลักการหนึ่งของมหาวิทยาลัยว่า “ธรรมศาสตร์ มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว” (อธิการบดี 2514-2516)
สาม) ข้อเสนอของ “คณะนิติราษฎร์” ทั้ง 7 ข้อตามที่ทราบกันนั้น (ดูล่างสุด) ต้องการใช้หลัก “วิชาการ” เพื่อ “ปฏิรูป-แก้ไข” กฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ล้าหลัง
และเป็นมรดกของระบอบอำนาจนิยม และในขณะเดียวกัน ก็เพื่อให้สถาบันกษัตริย์สยามประเทศไทยของเรามั่นคง สถาพร อยู่คู่กับระบอบประชาธิปไตย ตามมาตรฐานสากล ของนานาอารยประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร ยุโรปตะวันตก และ/หรือญี่ปุ่น ข้อเสนอดังกล่าว หาใช่เป็นการทำลาย หรือ ล้มล้าง-ล้มเจ้าไม่
สี่) เราในแวดวงวิชาการทั้งหลายทราบกันดีว่า สถาบันกษัตริย์สมัยใหม่ ที่มั่นคง สถาพร อยู่คู่กับระบอบประชาธิปไตย ตามมาตรฐานสากลของโลก และนานาอารยประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร ยุโรปตะวันตก และ/หรือญี่ปุ่น นั้น เป็นสถาบันที่ใช้ “พระคุณ” หรือ “ความรัก”ความเมตตากรุณา (love) เป็นหลักปฏิบัติ และหลักกฎหมาย มากกว่าใช้ “พระเดช” หรือ “ความกลัว” ความเกลียดชัง (fear&hate) หรือการข่มขู่ ด้วยคุกด้วยตะรางอย่างเช่น รัสเซีย/ปรัสเซีย/ออตโตมันตุรกี/จีน/หรือ/เนปาล
ห้า) ข้อเสนอของ “คณะนิติราษฎร์” ทั้ง 7 ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาให้สถาบันกษัตริย์ของเรามั่นคง สถาพร และเป็นสมัยใหม่นั้น สมควรที่จะได้รับการพิจารณาด้วยสติปัญญา และ ขันติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงทางวิชาการและมหาวิทยาลัย มากกว่าที่จะใช้ “โลภะ โทสะ โมหะ” กับ “ภยาคติ” หรือ “อวิชชา”
หก) ผมมีความเห็นว่าแทนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของเรา จะ “ปิด” พื้นที่ในการแสวงหาแสงสว่างทางปัญญา ตามพุทธภาษิตที่ว่า “นตถิ ปญญา สมาอาภา” ด้วยการถกเถียง แลกเปลี่ยนทางวิชาการ ในกรอบของกฎหมาย ขนบประเพณี และรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรแล้ว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดจนสถาบันทางการศึกษาและภูมิปัญญาทั้งปวงทั่วประเทศ จำเป็นที่จะต้อง “เปิด” พื้นที่เหล่านี้ เป็นอย่างยิ่ง
เจ็ด) ผมขอเสนอให้ท่านอธิการบดีเอง และคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (คณบดี ผู้อำนวยการ ฯลฯ) ได้ดำเนินการ “เปิด” พื้นที่ดังกล่าว โดยท่านอธิการบดี และ/หรือคณะผู้แทน จัดให้มีการถกเถียง แลกเปลี่ยน อภิปราย และดำเนินการหา “ทางออก” ให้กับสังคมและประเทศชาติของเราในยามนี้
คงไม่มีเวลาไหน นับแต่เสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2310 ที่สังคมของเราแตกเป็นก๊ก เป็นเหล่า เป็นสี มากมายเช่นนี้ แหล่งศึกษาและ/หรือมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นที่ใด ที่นี่ ที่ท่าพระจันทร์ ที่รังสิต ที่ลำปาง หรือ ที่ไหนๆ ในสยามประเทศไทย น่าจะต้องเป็นองค์กรกลางในการช่วยกันแก้ปัญหา และหาทางออก
การระดมความคิด ทั้งสนับสนุน และคัดค้าน (แต่ต้องไม่ใช่ในรูปของการโต้วาที หรือไฮปาร์ค เอาชนะคะคาน) กันนั้น เป็นพันธกิจและภารกิจที่เร่งด่วนสุด และสำคัญสูงสุด
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง
นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ
(ข้าราชการบำนาญ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
1 กุมภาพันธ์ (ก่อนวันวาเลนไทน์ 2555/2012)
หมายเหตุ : ข้อเสนอของ “คณะนิติราษฎร์”
1. ให้ยกมาตรา 112 ออกจากลักษณะว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร
2. เพิ่มหมวดลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
3. แบ่งแยกการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ออกจากการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
4. เปลี่ยนบทกำหนดโทษ โดยไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ แต่กำหนดเพดานโทษสูงสุดจำคุกไม่เกินสามปีสำหรับการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และไม่เกินสองปีสำหรับ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
5. เพิ่มเหตุยกเว้นความผิด กรณีแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต
6. เพิ่มเหตุยกเว้นโทษ กรณีข้อความที่กล่าวหานั้นได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริง และการพิสูจน์นั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และ
7. ห้ามบุคคลทั่วไปกล่าวโทษผู้ที่ทำความผิด ให้สำนักราชเลขาธิการมีอำนาจเป็นผู้กล่าวโทษเท่านั้น แทนพระองค์
++
แชร์กระจาย เฟซบุ๊ค ‘อภินันท์ บัวหภักดี’ เขียนถึงเรื่องเดิม เหยื่อใหม่ ‘นิติราษฎร์’
จาก www.prachatai.com/journal/2012/02/39047 . . Wed, 2012-02-01 16:41
2 ก.พ.55 อภินันท์ บัวหภักดี อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ผู้ถูกกล่าวหาแสดงละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เนื่องจากภาพที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ มีใบหน้าคล้ายองค์รัชทายาท ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เขียนถึงสถานการณ์ที่เกิดกับนิติราษฎร์ โดยได้รับการแชร์อย่างกว้างขวาง
“วันนี้ ขอแสดงความคิดเห็นทางการเมืองสักครั้ง
ในฐานะคนที่เคยโดนทำร้ายด้วยกฎหมายมาตราที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ และ พระราชวงศ์
... อย่างไม่เป็นธรรม ย้ำอีกครั้ง อย่างไม่เป็นธรรม ...
แถมท้ายว่า เป็นการใส่ร้ายป้ายสี หลอกลวงคนทั้งประเทศ
ที่ประชาชนทั้งประเทศจำนวนไม่น้อย ก็ตั้งใจที่จะเชื่อด้วยว่า
การใส่ร้ายป้ายสี หลอกลวง นั้น ... เป็นความจริง
กรณี การล่าชื่อเพื่อให้แก้ไขมาตรา 112 ของคณะนิติราษฎร์ นั้น
ผมเห็นว่า กฎหมายมาตรานี้ ก็เป็นกฎหมายมาตราหนึ่ง
ทำไมกลุ่มคนที่จะต้องมีส่วนปฏิบัติตามกฎหมายนี้ ..จะขอให้แก้ไขบางส่วน ..ไม่ได้
สิทธินี้ ควรเป็นสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย
และจริงๆ วิธีการแก้ไขก็มีระบุไว้อยู่แล้ว
ทำไมฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย จึงต้องกระทำการดัง ... การล่าแม่มด ...
คือการกล่าวหา ...ใส่ร้ายป้ายสี ...หลอกลวงคนทั้งประเทศ ...
ว่าคณะ นิติราษฎร์ มีแผนการ มีความคิดว่าจะโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์
แล้วก็โยงใยไปถึง กลุ่ม นปช. คนเสื้อแดง รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ..แบบเหมารวม
ผมเห็นว่า เรื่องแนวคิดทางการเมือง ..ย่อมมีการเห็นตรงกันได้ ..
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ..จะต้องเป็นกลุ่มเดียวกัน ...
และผมก็ไม่เห็นว่า คณะนิติราษฎร์ จะมีแนวคิด มีแผนการ
จะคิดโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ตรงไหน
ฝ่ายที่ต่อต้านคณะนิติราษฎร์ กำลังกระทำการอย่างที่คุ้นเคย
คือการกล่าวร้าย ด่าทอ ใส่ร้ายป้ายสี หลอกลวงประชาชน
เพื่อสร้างความรู้สึกโกรธแค้น ชิงชัง ..จนทำให้ฝ่ายที่ได้รับข้อมูล พร้อมที่จะเชื่อ ...
เรื่องแบบนี้ทำมาเหมือนๆ กัน ตั้งแต่การกล่าวหา ..ท่านปรีดี กรณีลอบปลงพระชนม์ ร. 8
กรณี หมิ่นพระบรม ฯ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม ...ของผม
มาจนถึง คณะนิติราษฎร์ กำลังเป็นเหยื่อรายปัจจุบัน ครับ”
+++
จาก prachatai.com
+++
จม.เปิดผนึกอาจารย์ มธ. จี้มหา'ลัยจัดถก 112 เอง
ใน www.prachatai.com/journal/2012/02/39053 . . Wed, 2012-02-01 21:17
1 ก.พ.55 อาจารย์จากหลากหลายคณะในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ออกจดหมายเปิดผนึกถึง สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่เห็นด้วยกรณีกรรมการบริการมหาวิทยาลัยมีมติไม่ให้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเพื่อการเคลื่อนไหวมาตรา 112 ระบุเป็นลักษณะ “อธรรมศาสตร์” การเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงสาธารณะเป็นเกียรติภูมิแก่มหาวิทยาลัย การปิดพื้นที่เท่ากับผลักมาตรานี้ออกจากวงวิชาการ พร้อมทั้งเสนอให้มหาวิทยาลัยเป็นตัวกลางจัดกิจกรรมวิชาการเรื่องนี้เอง เพื่อเป็นตัวอย่างการถกเถียงที่สร้างสรรค์ให้สังคม
* * * * * * * * * * *
จดหมายเปิดผนึก
ถึง นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี และกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กรณีมีมติไม่ให้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อการเคลื่อนไหวมาตรา 112
สืบเนื่องจากอธิการบดีธรรมศาสตร์แจ้งในเฟสบุ๊คเมื่อวันที่ 30 มกราคมว่า ที่ประชุมกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยมีมติจะไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเพื่อการเคลื่อนไหวกรณีมาตรา 112 อีกต่อไป โดยอ้างว่าการอนุญาตอาจทำให้สาธารณะเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนินการของมหาวิทยาลัยเอง หรือมหาวิทยาลัยเห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าว และอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างรุนแรง จนมหาวิทยาลัยไม่อาจดูแลความปลอดภัยของบุคคลและทรัพย์สินของมหาลัยได้
พวกเรานักวิชาการซึ่งมีรายชื่อด้านล่างนี้มีความเห็นว่า
1. มติดังกล่าวทำลายหลักเสรีภาพทางวิชาการและพื้นที่ในการแสดงออก ซึ่งเป็นหลักประกันให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยสามารถทำหน้าที่เป็นเสาหลักทางปัญญาและแก้ไขปัญหาสาธารณะให้กับสังคมผ่านการถกเถียงทางวิชาการ
หากขาดหลักประกันนี้แล้วมหาวิทยาลัยย่อมไม่มีเหตุผลแห่งการดำรงอยู่ต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น มติดังกล่าวยังขัดต่อปรัชญาการก่อตั้งและจิตวิญญาณของความเป็นธรรมศาสตร์ นับแต่การก่อตั้ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ทำหน้าที่เป็นปราการปกป้องสิทธิเสรีภาพมาโดยตลอด จนกระทั่งมีคำขวัญกล่าวว่า “ธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว” มติดังกล่าวจึงมีลักษณะ “อธรรมศาสตร์” เป็นอย่างยิ่ง
2. ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ทำหน้าที่เป็นเวทีสาธารณะให้แก่กลุ่มต่างๆ ในการถกเถียง เคลื่อนไหว และดำเนินกิจกรรมทางสังคมและการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ปรากฏว่าสาธารณะชนจะเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนินการของมหาวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยเห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าว ในทางตรงข้ามการเปิดเวทีสาธารณะของธรรมศาสตร์กลับสร้างเกียรติภูมิให้แก่มหาวิทยาลัยมาโดยตลอด
3. มติดังกล่าวเท่ากับเป็นการผลักให้การถกเถียงเรื่องมาตรา 112 ซึ่งเป็นเรื่องอ่อนไหวต่อสังคม ออกจากพื้นที่มหาวิทยาลัย และหลุดลอยจากวงวิชาการออกไปสู่ท้องถนน ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญหน้าและความรุนแรงมากกว่าการที่มหาวิทยาลัยจะเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงด้วยเหตุด้วยผล และเป็นวิชาการ
4. เห็นได้ชัดเจนว่า สังคมไทยกำลังต้องการทำความเข้าใจให้กระจ่างยิ่งขึ้นเกี่ยวกับเรื่องมาตรา 112 ทำให้เกิดฝ่ายที่หวาดระแวงว่าการแก้ไขมาตรา 112 จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และอีกฝ่ายหนึ่งก็เห็นว่าการแก้ไขมาตรา 112 จะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่คู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงควรแสดงบทบาทนำในการให้ความรู้แก่ประชาชน โอกาสนี้จึงถือเป็นวาระสำคัญที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะมีส่วนดับอุณหภูมิความร้อนของความแตกต่างทางความคิด ให้กลายปัญญาเพื่อความก้าวหน้าของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
5. เพื่อเป็นการแก้ปัญหาที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยห่วงใยข้างต้น เราขอเสนอรูปธรรมของการแก้ปัญหา โดยให้มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพและตัวกลางในการจัดกิจกรรมทางวิชาการหลากหลายรูปแบบในประเด็นมาตรา 112 เพื่อให้ความรู้แก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไป เช่น การจัดเวทีให้แต่ละฝ่ายที่มีความคิดเห็นต่างกันผลัดกันนำเสนอความคิดของตน เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า และเพื่อเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายแสดงความคิดเห็นโดยไม่ต้องตกอยู่ท่ามกลางบรรยากาศของการโต้วาทีที่มุ่งเอาชนะซึ่งกันและกัน เป็นต้น
กิจกรรมดังกล่าวจะเป็นการสร้างตัวอย่างให้แก่สาธารณะว่าการถกเถียงปมปัญหาใดๆ ก็ตาม และไม่ว่าจะอ่อนไหวต่อความรู้สึกนึกคิดของสังคมเพียงใด ก็สามารถทำได้อย่างสุภาพ สร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์ต่อสังคม การจัดกิจกรรมเช่นนี้กลับจะเป็นการป้องกันความเข้าใจผิดของสาธารณะชนที่ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยกังวลได้เป็นอย่างดี
จึงเรียนมาเพื่อขอให้ผู้บริหารมหาวิทยาธรรมศาสตร์ทบทวนมติดังกล่าว และส่งเสริมให้มีการแสดงความคิดเห็นเรื่องมาตรา 112 ในมหาวิทยาลัยอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น
วันที่ 31 มกราคม 2555
ลงชื่อ
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สลิสา ยุกตะนันทน์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันรัก สุวรรณวัฒนา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สายพิณ ศุพุทธมงคล คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อัครพงษ์ ค่ำคูณ วิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อดีตนักศึกษาธรรมศาสตร์)
พรรณราย โอสถาภิรัตน์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อรอนงค์ ทิพย์พิมล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ธร ปีติดล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อรอุมา เตพละกุล คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มรกต ไมยเออร์ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จันทนี เจริญศรี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รัตนา โตสกุล คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อาดาดล อิงคะวณิช Centre for Research and Education in Arts and Media,University of Westminster
สร้อยมาศ รุ่งมณี คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พรเทพ เบญญาอภิกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศุพฤฒิ ถาวรยุติการต์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย