http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-02-20

ดร.ปรีดี พนมยงค์ ..สร้างชาติด้วยสมอง กาย ใจ โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.

ดร.ปรีดี พนมยงค์ มิใช่เพียงสร้างธรรมศาสตร์ แต่สร้างชาติด้วยสมอง กาย ใจ
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลา กลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1644 หน้า 20


การชุมนุมของกลุ่มต้านกลุ่มนิติราษฎร์ที่ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีคำถามที่หลายคนตั้งขึ้นว่านั่นเป็นการแสดงออกถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแบบไหน ใช้เสรีภาพชุมนุมเพื่อห้ามคนอื่นแสดงความคิดเห็น นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในธรรมศาสตร์... ต่อหน้ารูปปั้นอาจารย์ปรีดี

เมื่อไปถามเด็กรุ่นหลังว่ารู้จักท่านอาจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ แค่ไหน ส่วนใหญ่จะตอบว่า เป็นผู้ตั้ง ม.ธรรมศาสตร์ และเป็นคนสำคัญคนหนึ่ง ที่ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

ผู้เขียนคิดว่าคนรุ่นหลังคงจำได้แบบนี้ ทำให้นึกถึง อาจารย์สุพจน์ ด่านตระกูล ซึ่งเป็นผู้ศึกษาค้นคว้า ชีวประวัติ ความคิดและผลงานรับใช้ชาติของ ท่านปรีดี พนมยงค์ มายาวนานแม้ว่าอาจารย์สุพจน์ จะจากไปแล้วแต่ยังมีผลงานเกี่ยวกับอาจารย์ปรีดี ที่ควรนำมาพูดถึงอีกครั้ง เพราะตำแหน่งที่ท่านได้เคยดำรงอยู่และสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาตินั้นเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานด้วยกัน

ทั้งที่รัฐสภา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง

บทบาทของท่านจึงเป็นทั้งผู้ก่อการอภิวัฒน์ เป็นอาจารย์ เป็นผู้พิพากษา เป็นผู้ร่างกฎหมาย เป็น ส.ส. เป็นรัฐมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทย



ด้านการเมืองการปกครอง

เป็นบุคคลสำคัญที่สุดคนหนึ่งในคณะอภิวัฒน์หรือคณะราษฎร ทั้งในด้านการประสานงานและในด้านวางโครงสร้างของการปกครอง

เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญการปกครองชั่วคราว 2475 อีกทั้งในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก ท่านปรีดีในฐานะผู้รู้ระเบียบและแบบแผนพิธีการของระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างดีได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดการดำเนินการประชุม และได้รับความไว้วางใจให้เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

ในรัฐบาลของท่านพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ท่านปรีดีได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทย ท่านได้ผลักดันให้มีการเลือกตั้งเทศบาลทั่วประเทศมุ่งหมายเพื่อให้ประเทศก้าวหน้าในการปกครองระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ระดับท้องถิ่น

ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านได้ชื่อว่าเป็นผู้วางรากฐานของกระทรวงมหาดไทยยุคใหม่ เพราะต้องรับภาระหน้าที่ในการแนะนำทำความเข้าใจในเรื่องระเบียบการปกครองแผนใหม่กับข้าราชการผู้มีความรับผิดชอบทุกระดับชั้น ตั้งแต่ปลัดกระทรวงไปจนถึงนายอำเภอ และตำแหน่งผู้ตรวจการเทศบาล

การประชุมข้าหลวง (ผู้ว่าราชการจังหวัด) ก็ได้ริเริ่มให้มีขึ้นในยุคที่ท่านปรีดี เป็นรัฐมนตรีมหาดไทยนี้เอง


ด้านการศึกษา

ท่านได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองให้เป็นตลาดวิชาเพื่อจะพัฒนาประเทศไปสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ตามเป้าหมายของการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน

ท่านปรีดีได้เร่งพัฒนาคนอันเป็นทรัพยากรสำคัญ วัตถุประสงค์เพื่อปลูกฝัง และบ่มเพาะคนไทยให้มีความรู้ ความชำนาญ ทั้งในด้านกฎหมาย เศรษฐกิจ การเมือง โดยเฉพาะให้มีความเข้าใจในการปกครองระบอบประชาธิปไตย

ท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ร่างโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัย และเป็นผู้จัดหาสถานที่ ตลอดจนเป็นผู้วางหลักสูตร ส่วนทุนในการก่อสร้างก็มิได้เอามาจากงบประมาณแผ่นดิน แต่เอามาจากเงินค่าสมัครของนักศึกษาทั่วประเทศ

ท่านปรีดีในฐานะผู้ก่อตั้งจึงได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ประศาสน์การเป็นคนแรกและคนเดียว เพราะต่อมาไม่มีตำแหน่งนี้อีกต่อไปหากเปลี่ยนเป็นตำแหน่งอธิการบดี และตัดคำว่า การเมืองออก คงเหลือแต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ด้านการต่างประเทศ

ต่อมาท่านปรีดีได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ท่านได้เดินทางไปเจรจาแก้ไขสัญญาไม่เสมอภาคทั้งในการศาลและการเศรษฐกิจกับชาติมหาอำนาจหลายประเทศ เช่น การยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและภาษีร้อยชักสามกับสหรัฐ และอังกฤษ

การแก้ไขสัญญาอันไม่เป็นธรรมกับเนเธอร์แลนด์ อิตาลี ญี่ปุ่น เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส เยอรมัน สวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์ โปรตุเกส เป็นต้น

ทำให้ประเทศสยามมีเอกราชสมบูรณ์เป็นครั้งแรก นับเป็นการกู้เอกราชยุคใหม่ที่ไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ หากใช้ความสามารถในเชิงไหวพริบ และการเจรจาด้วยความเฉลียวฉลาดอย่างแท้จริง

นอกจากการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาแล้ว ท่านปรีดียังได้เจรจากับอังกฤษเพื่อปักปันเขตแดนใหม่ทางด้านจังหวัดระนองที่ติดต่อกับทวายและด้านจังหวัดเชียงรายที่ติดต่อกับแม่สาย

จากผลของการเจรจาทำให้เราได้ดินแดนเพิ่มเติมจำนวนหนึ่ง เนื่องจากกระแสน้ำในแม่น้ำทั้งสองซึ่งเป็นแม่น้ำกั้นเขตแดนระหว่างไทยกับพม่าได้เปลี่ยนเส้นทางเดินใหม่

อันเป็นผลให้ไทยได้ดินแดนเพิ่มเติมตามข้อตกลงสากลว่าด้วยการปักปันเขตแดน


ด้านการเงินการคลัง

ในรัฐบาลพลตรีหลวงพิบูลสงคราม ท่านปรีดีได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งบทบาทสำคัญของท่านที่มีในกระทรวงนี้คือ ยกเลิกเงินรัชชูปการ (ภาษี 4 บาท) ซึ่งผู้ชายทุกคนที่บรรลุนิติภาวะแล้วต้องเสียเงินให้รัฐปีละ 4 บาททุกคน จนกระทั่งอายุครบ 60 ปี ไม่ว่าเป็นเศรษฐีหรือยาจก เวลาไปไหนมาไหนต้องพกใบเสร็จติดตัวไปด้วย เรียกว่าใบ 4 บาท ถ้าไม่มีเงินเสียก็จะถูกจับตัวไปใช้งานโยธาแทนเงิน ตามที่ทางการกำหนด

ยกเลิกอากรค่านา ออกเงินประมวลรัษฎากร เพื่อจัดการภาษีให้เป็นระบบและมีความเป็นธรรมมากขึ้น คือมีมากเสียมาก มีน้อยเสียน้อย จัดทำระเบียบแบบแผนงบประมาณแผ่นดิน

ริเริ่มการจัดตั้งธนาคารชาติไทยเป็นครั้งแรกในประเทศเพื่อควบคุมเสถียรภาพทางการเงิน

จากการที่ท่านปรีดีมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลง และวางระบบการภาษีใหม่ ปรับปรุงการคลังให้เจริญก้าวหน้าสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ทำให้ฐานะการเงินของไทยมีเสถียรภาพมั่นคง

แต่เนื่องจากจอมพล ป. ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นมีสัมพันธ์อันดีกับประเทศญี่ปุ่น แต่การกระทำหลายๆ อย่างของท่านปรีดีเป็นการขัดผลประโยชน์ต่อญี่ปุ่น ทั้งนี้ เพื่อพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของชาติเอาไว้ ทำให้ญี่ปุ่นไม่พอใจและกดดันให้จอมพล ป. จัดการกับท่านปรีดี

แต่จอมพล ป. มิได้ทำอะไร มาประจวบเหมาะเมื่อท่านเจ้าพระยายมราช ผู้สำเร็จราชการในขณะนั้นถึงแก่อสัญกรรม สภาผู้แทนราษฎรจึงมีมติตั้งให้ท่านปรีดีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ทำให้ท่านปรีดีต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปโดยปริยาย



Ruth ผู้นำขบวนการเสรีไทย
และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เข้าร่วมสงครามเป็นฝ่ายเดียวกับญี่ปุ่น และประกาศสงครามกับอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ในขณะนั้นท่านปรีดีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ท่านได้สร้างคุณูปการอันยิ่งใหญ่อีกครั้งด้วยการจัดตั้งขบวนการเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่น เพราะท่านปรีดีมีความเชื่อมั่นว่าฝ่ายสัมพันธมิตรจะต้องชนะแน่นอน

ชื่อจัดตั้งในขบวนการของท่านคือ รู้ธ (Ruth)

ฉะนั้น เมื่อวันที่ไทยทำสัญญาร่วมรบกับญี่ปุ่น และประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ท่านปรีดีในฐานะผู้สำเร็จราชการจึงมิได้ลงนามในประกาศนั้น ซึ่งต่อมาท่านปรีดีถือเอาเหตุนี้เป็นข้ออ้างว่าการประกาศสงครามนั้นเป็นโมฆะ เพราะผู้สำเร็จราชการไม่ได้ลงนามครบถ้วน

จากการดำเนินการเจรจาในทางลับระหว่างขบวนการเสรีไทยกับสัมพันธมิตรซึ่งได้ดำเนินมาตลอดช่วงระยะเวลาสงคราม และไม่กี่เดือนก่อนสงครามจะยุติ ท่านปรีดีได้แจ้งไปยังฝ่ายสัมพันธมิตรว่าขบวนการเสรีไทยพร้อมใช้อาวุธต่อต้านญี่ปุ่นโดยเปิดเผย เป็นการแสดงความมุ่งหมายว่าราษฎรไทยมิใช่คู่สงครามกับสัมพันธมิตร

ความชาญฉลาดของท่านปรีดีและความสามัคคีของราษฎรไทยทำให้ประเทศไทยพ้นจากภาวะแพ้สงคราม หลังสงครามท่านปรีดีได้รับการยกย่องเป็นรัฐบุรุษ มีเกียรติภูมิสูงเด่นเป็นที่เคารพนับหน้าถือตาแก่ประชาชนทั่วไปเป็นอันมาก

งานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการ คือการสนับสนุนให้แก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญเสียใหม่ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยมากที่สุด (2489)

ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพราะรัฐบาลนี้มีฐานะเป็นศัตรูกับฝ่ายสัมพันธมิตร มาบัดนี้สัมพันธมิตรเป็นผู้ชนะสงคราม จึงควรเปิดทางให้รัฐบาลชุดใหม่ได้เข้ามาเจรจาความหาทางแก้ไขสถานการณ์เพื่อประโยชน์ของชาติต่อไป


นายกรัฐมนตรี

ในวันที่ 24 มีนาคม 2489 ท่านปรีดีได้รับเลือกและแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก เพราะต้องการที่จะปฏิบัติภารกิจของคณะราษฎรให้บรรลุตามความมุ่งหมายสูงสุด

เมื่อเข้ารับตำแหน่ง ท่านได้เจรจาแก้ไขสัญญาสมบูรณ์แบบที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้ลงนามไว้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งประเทศไทยเสียเปรียบมาก

แต่ท่านปรีดีได้ใช้ความสามารถเจรจาจนอังกฤษยอมผ่อนปรนข้อเรียกร้องต่างๆ อาทิเช่น แก้ไขสัญญาการให้ข้าวเปล่าเป็นการซื้อขาย

ท่านปรีดีได้ใช้ความรู้ความสามารถรับใช้ชาติอย่างเต็มกำลังด้วยความบริสุทธิ์ใจมาโดยตลอด แต่ยังความอิจฉาริษยา และความไม่พอใจให้นักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ไปจนถึงกลุ่มอำนาจเก่าที่ไม่ยอมปล่อยวางให้ประเทศก้าวเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยสมบูรณ์ หากไม่สามารถทำอะไรท่านปรีดีได้

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้เสด็จสวรรคตด้วยพระแสงปืน ศัตรูทางการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยมสบโอกาสใช้กรณีสวรรคตกลั่นแกล้งใส่ร้ายป้ายสีท่านปรีดีว่าเป็นผู้วางแผนลอบปลงพระชนม์

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 เกิดการรัฐประหาร โดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ น.อ.กาจ กาจสงคราม พ.อ.สวัสดิ์ ส.สวัสดิ์เกียรติ และ พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ร่วมกันยึดอำนาจล้มรัฐบาลฝ่ายท่านปรีดี ซึ่งขณะนั้นมีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากยึดอำนาจได้ตั้งรัฐบาลใหม่ และตั้งข้อหาท่านปรีดี เรื่องกรณีสวรรคต และมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์


ท่านปรีดีต้องลี้ภัยไปยังต่างแดน ไม่สามารถกลับประเทศไทยได้จนถึงแก่กรรม ณ บ้านพักชานกรุงปารีส

แม้ต้องจบชีวิตลงในต่างแดน แต่ก็ได้รับการยกย่องทั้งในระดับชาติและในระดับสากล

ชีวประวัติ ดร.ปรีดี พนมยงค์ อ่านแล้วได้รู้จักธาติแท้คน รู้จักพรรคการเมือง รู้ประวัติศาสตร์การเมือง ควรไปหาอ่าน ประมาณ 500 หน้า เท่านั้น จะได้เข้าใจว่าการเป็นคนดี ที่อยู่ในประเทศกับการเป็นคนดีที่ต้องอยู่ต่างประเทศต่างกันอย่างไร

คนดีมีความสามารถ เมื่อหมดอำนาจ และจากโลกนี้ไป แต่คำวิพากษ์วิจารณ์ที่ตามหลังมา จะไม่เปลี่ยนไปจากความเป็นจริง เหมือนทองแท้ที่ผ่านกาลเวลาได้นานแสนนาน



.