.
เร่งคิด-เร่งทำ : ความมั่นคงเฉพาะหน้า!
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1643 หน้า 41
"เรื่องสำคัญในอดีตของรัฐผูกมัดไว้อย่างแน่นแฟ้นกับประเด็นด้านความมั่นคง
แต่เรื่องสำคัญปัจจุบันนี้เกี่ยวข้องกับประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ดังนั้นลักษณะความขัดแย้งและบทบาทของกองทัพในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง
จึงเป็นสิ่งที่จะต้องทบทวนกันใหม่"
Lawrence Freedman
นักยุทธศาสตร์ชาวอังกฤษ
ในกระบวนการศึกษาการทำนโยบายของรัฐนั้น เราอาจแบ่งการเมืองออกเป็น 2 ระดับคือ ระดับสูงหรือที่เรียกกันว่า "high politics" และระดับต่ำหรือ "low politics"
ในยุคของสงครามเย็นที่รัฐต้องเผชิญกับภัยคุกคามทางทหารที่ชัดเจนของรัฐข้าศึกนั้น การเมืองระดับสูงจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาด้านความมั่นคง หรือที่เรียกว่า "ความมั่นคงแห่งชาติ"
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสงคราม การป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ การบริหารจัดการวิกฤตการณ์ทางทหาร การลดอาวุธและควบคุมอาวุธ ตลอดจนเรื่องของการสร้างระบบพันธมิตรทางทหารในเวทีระหว่างประเทศ
เรื่องราวเหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญสำหรับรัฐ จนอาจกล่าวได้ว่าเรื่องดังกล่าวครอบงำประเด็นด้านความมั่นคงของทุกรัฐในยุคสงครามเย็น
แม้ในยุคดังกล่าวการเมืองระดับต่ำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการทรัพยากรที่หายาก ตลอดรวมถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงของมนุษย์ จะถูกยอมรับว่าเป็นแหล่งของความขัดแย้ง แต่ก็มองว่าความขัดแย้งนี้ไม่มีสถานะเป็นภัยคุกคามต่อรัฐ ต่างจากปัญหาสงครามหรือวิกฤตการณ์ทางทหารซึ่งถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อความอยู่รอดของรัฐ
แต่หลังจากการสิ้นสุดของสงครามเย็น นักวิชาการด้านความมั่นคงเริ่มยอมรับว่า การจัดลำดับความสำคัญของปัญหาต้องทบทวนใหม่
ปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่ๆ หรือที่นักทฤษฎีเรียกว่า "Non-Traditional Security" กลายเป็นระเบียบวาระหลักมากกว่าเรื่องของประเด็นปัญหาเก่า
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ นักวิชาการด้านความมั่นคงร่วมสมัยให้ความสำคัญกับเรื่องของการเมืองระดับต่ำมากขึ้น
วงการความมั่นคงในทุกประเทศปัจจุบันมีการหยิบยกประเด็นปัญหาใหม่ๆ ขึ้นเป็นวาระของการศึกษาค้นคว้ากันอย่างกว้างขวาง อย่างน้อยก็เพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลและสังคมเกิด "ความตระหนักรู้" ว่าปัญหาความมั่นคงมีการเปลี่ยนรูปไปจากเดิม จึงต้องการการปรับตัวในกระบวนการคิดและทำนโยบาย
กล่าวคือ รัฐจะยึดโยงอยู่กับปัญหาภัยคุกคามแบบเก่าไม่ได้ เพราะปัญหาใหม่ที่แม้จะเป็นการเมืองระดับต่ำ แต่ก็เป็นความท้าทายอย่างมาก จนกลายเป็นแหล่งของภัยคุกคามอย่างสำคัญในสถานการณ์ปัจจุบัน
ดังนั้น หากจะลองพิจารณาถึงปัญหาความมั่นคงเฉพาะหน้าสำหรับปี 2555 เราอาจจะเห็นปัญหาสำคัญ 3 ประการ
ได้แก่
1) ปัญหาภัยคุกคามทางธรรมชาติกับความมั่นคง
ภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นตัวแบบของการเมืองระดับต่ำที่ชัดเจน แม้ภัยนี้จะมีความรุนแรงต่อการทำลายชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเท่าใดก็ตาม แต่ภัยพิบัตินี้ก็ไม่เคยถูกพิจารณาว่าเป็นการเมืองระดับสูง หรือไม่เคยถูกถือว่าเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคง
แต่ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตัวแบบของคลื่นความร้อน (หรือการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว) ในปี พ.ศ.2546 ทำให้ผู้คนเป็นจำนวนมากในยุโรปเสียชีวิต
หรือกรณีสึนามิในมหาสมุทรอินเดียในปี 2547 ก็ก่อให้เกิดการเสียชีวิตของคนเป็นจำนวนมาก หรือในกรณีของญี่ปุ่นในตอนต้นปี 2554 ก็เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว น้ำท่วมใหญ่ ดินถล่ม หิมะถล่ม ล้วนแต่เป็นปัญหาที่นำไปสู่ความสูญเสียทั้งสิ้น
โลกในปี 2554 ซึ่งอาจจะต้องเรียกว่าเป็นปีของ "มหาอุทกภัย" ก็เห็นถึงพายุฝนที่ก่อให้เกิดน้ำท่วมในหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในภูมิภาคละตินอเมริกา ออสเตรเลีย จีน ตลอดรวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ล้วนแต่ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมขนาดใหญ่
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเห็นได้ว่าทั้งไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา และฟิลิปปินส์ต้องพบกับภัยคุกคามทางธรรมชาติในรูปแบบของปัญหาน้ำท่วมที่ก่อความเสียหายกับชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนในวงกว้าง
ซึ่งกรณีของไทยก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง และเป็นตัวอย่างชัดเจนที่ปัญหาการเมืองระดับต่ำของปัญหาน้ำท่วมถูกทำให้กลายเป็นปัญหาการเมืองระดับสูงโดยทันที
วันนี้นักความมั่นคงไทยควรจะต้องยอมรับเอาปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติเช่นนี้เข้ามาเป็น "วาระสำคัญ" ของปัญหาความมั่นคงไทย จะคิดแบบเก่าว่าปัญหาทางธรรมชาติ เป็นปัญหาของภัยคุกคามระดับต่ำนั้น อาจจะไม่เพียงพอ เพราะปัญหานี้ในปี 2554 ได้ก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้างอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และกลายเป็นปัญหาการเมืองในตัวเอง
ดังนั้น การตระเตรียมรับมือกับภัยคุกคามนี้ในปี 2555 ถือได้ว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะคิดเอาเองว่าปัญหานี้คงไม่เกิดซ้ำ ก็อาจจะเป็นความประมาท จนอาจก่อให้เกิดความเสียหายได้อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากปัญหานี้เกิดอีกครั้ง ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อปัญหาทางเศรษฐกิจ เช่น การที่นักลงทุนทั้งภายในและภายนอกอาจคิดถึงการแสวงหาแหล่งลงทุนที่มีความปลอดภัยจากภัยคุกคามทางธรรมชาติมากกว่า เป็นต้น
ฉะนั้น การเตรียมประเทศรับกับปัญหานี้ในปี 2555 จึงเป็นประเด็นสำคัญที่มีความเร่งด่วน อย่างน้อยในช่วงปลายปี 2554 ต่อต้นปี 2555 ตัวอย่างของพายุในภาคใต้ไทยหรือในฟิลิปปินส์ล้วนแต่เป็นสัญญาณเตือนให้ต้องคิดเรื่องเช่นนี้มากขึ้น
2) ปัญหาการบริหารจัดการน้ำกับความมั่นคง
หากกล่าวถึงปัญหาความมั่นคงของน้ำ เราอาจนึกถึงเรื่องของการมีน้ำสะอาดเพียงพอแก่ความต้องการ หรือหมายถึงการมีขีดความสามารถที่จะเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดที่เพียงพอแก่การบริโภคในชีวิตประจำวัน ตลอดรวมถึงความพยายามในการปกป้องแหล่งน้ำให้ปลอดจากมลภาวะและของเสียในรูปแบบต่างๆ
แต่ในอีกด้านหนึ่งความมั่นคงของน้ำมีนัยถึงการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคม ซึ่งปัญหานี้เป็นประเด็นสำคัญในหลายๆ ประเทศ เพราะน้ำถือว่าเป็น "หัวใจ" ของเกษตรกรรม และเป็นความอยู่รอดของสังคมหรือชุมชนในอีกทางหนึ่งด้วย
ดังจะเห็นได้ว่าพื้นที่ที่ไม่มีน้ำเพียงพอ หรืออาจจะเกิดสภาพอากาศแห้งแล้งอย่างมากนั้นมักก่อให้เกิดปัญหาการอพยพของผู้คน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ "ปัญหาผู้ลี้ภัยทางธรรมชาติ" ซึ่งเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก
รวมทั้งในกรณีของประเทศไทยเองในฤดูร้อน ที่ในระยะหลายปีที่ผ่านมาเกิดความแห้งแล้งและขาดแคลนน้ำอย่างมาก จนนำไปสู่การเคลื่อนย้ายของผู้คนเป็นจำนวนมากจากชนบท
ปรากฏการณ์เช่นนี้อาจจะสอดรับกับ "ปัญหาโลกร้อน" ซึ่งหลายพื้นที่ของโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น
ในกรณีของไทยเราอาจจะต้องคิดเตรียมรับมือกับปัญหานี้ให้มากขึ้น จะคิดแต่เป็นเรื่อง "ความโชคร้าย" จากความผันผวนของอากาศไม่ได้ เพราะความแห้งแล้งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตและระบบเกษตรกรรมของประเทศ เช่น กรณีชาวสวนผลไม้ หรือชาวนาที่ทำนาปรัง เป็นต้น
ในอีกด้านหนึ่งไม่ใช่ปัญหาน้ำแล้ง แต่เป็นปัญหาน้ำมาก เช่น ในฤดูมรสุม ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ล้วนแต่ต้องเผชิญกับพายุฝนที่มีความรุนแรง และนำมาซึ่งปัญหาน้ำท่วมขนาดใหญ่ (ดังได้กล่าวแล้วในข้อ 1)
ฉะนั้น การบริหารน้ำในภาวะน้ำมากจึงเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่จะคิดสำหรับอนาคต
เพราะหากปราศจากระบบเก็บกักน้ำที่ดีแล้ว น้ำเป็นจำนวนมากในฤดูฝนจะหายไป และตามมาด้วยฤดูแล้งในเวลาต่อมาไม่นานนัก นอกจากนี้ การมีระบบเก็บกักน้ำที่ดีก็คือหลักประกันพื้นฐานของงานเกษตรกรรม
หลักคิดเช่นนี้เป็นเพียงปัญหา "หญ้าปากคอก" สำหรับนักเกษตรและนักชลประทานทั้งหลาย แต่สำหรับนักความมั่นคงแล้ว ทำอย่างไรที่ปริมาณน้ำเป็นจำนวนมากถูกบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม และแม้จะเกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่ แต่ก็จะใช้เวลาไม่นานนัก รวมทั้งหวังว่าจะท่วมในระดับที่ไม่สูง จนไม่ก่อให้เกิดความเสียหายมากนัก
เพราะหากการบริหารจัดการน้ำที่ดีเกิดขึ้นไม่ได้แล้ว ปัญหาน้ำท่วมก็จะกลายเป็นปัญหาความมั่นคงไปทันที และบางทีก็อาจจะไม่แตกต่างกันที่ปัญหาน้ำแล้งก็เป็นปัญหาความมั่นคงเช่นกัน
ดังนั้น ในปี 2555 นักความมั่นคงไทยอาจจะต้องให้ความสนใจกับการเมืองระดับต่ำอย่างเช่น "ปัญหาน้ำ" ซึ่งในปี 2554 ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัญหาน้ำได้กลายเป็นการเมืองระดับสูงในตัวเองไปแล้ว
3) ปัญหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
ประเด็นเศรษฐกิจที่ด้านหนึ่งเกิดจากปัญหาภายใน และอีกด้านหนึ่งก็เป็นปัญหาภายนอก ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจะยังคงเป็นเรื่องสำคัญในมิติด้านความมั่นคงของไทย
หากมองปัญหานี้จากบริบทภายในแล้ว เห็นได้ชัดเจนว่าผลพวงจากปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศ
สัญญาณเตือนที่สำคัญเห็นได้ชัดจากการที่ นายเซ็ตซึโอะ อิอูจิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของรัฐบาลญี่ปุ่น ได้เข้าพบรัฐบาลไทยในตอนต้นเดือนธันวาคม 2554 และได้กล่าวว่า นักลงทุนญี่ปุ่นอยากเห็นมาตรการที่ชัดเจนจากรัฐบาลไทยในการป้องกันน้ำท่วม
สัญญาณเช่นนี้บ่งบอกว่า ถ้ารัฐบาลไทยยังไม่จัดหามาตรการที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแล้ว ก็อาจส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติบางส่วนตัดสินใจย้ายฐานการผลิต หรือการแสวงหาแหล่งลงทุนใหม่ที่ปลอดภัยกว่าในอนาคต
ตัวแบบของปัญหาเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม โดยมีผลต่อมูลค่าจีดีพีของประเทศแล้ว ยังจะต้องเตรียมคิดแก้ปัญหาความไม่มั่นใจของนักลงทุนต่างชาติต่อการป้องกันปัญหาน้ำท่วมอีกด้วย
ในอีกด้านหนึ่งผลพวงจากระบบเศรษฐกิจโลกซึ่งมีอาการชะลอตัวอยู่แล้ว อันเป็นผลจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจของอียู เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ปัญหาเหล่านี้ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฉุดเศรษฐกิจโลกในปี 2555 ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งความกังวลต่อปัญหาเศรษฐกิจยุโรป
ซึ่งประเด็นสำคัญก็คือ จะเกิดการล่มสลายของ "ยูโรโซน" หรือไม่ หรือในอีกมุมหนึ่งก็กังวลว่าปัญหาดังกล่าวอาจจะก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ของยุโรปเช่นในปี 2535-2536 หรือกล่าวประเมินโดยภาพรวมก็คือ เศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วจะยังคงชะลอตัวต่อไป
สภาวะเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เศรษฐกิจไทยหลังน้ำท่วมใหญ่ในปี 2555 นอกจากจะเผชิญกับปัญหาภายในแล้ว ยังจะถูกท้าทายอย่างมากจากปัญหาภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
ซึ่งหากผนวกกับปัญหาการเมืองภายในของไทยเอง ซึ่งดูจะยังไม่มีเสถียรภาพอย่างแท้จริงเท่าใดนักแล้ว สภาวะของความมั่นคงทางเศรษฐกิจของไทยจึงเป็นประเด็นที่นักความมั่นคงไทยควรจะต้องให้ความสนใจอย่างมากด้วย
และที่สำคัญก็จะต้องไม่ลืมผลของปัจจัยภายนอกจากคำเตือนของ คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการใหญ่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ว่า "เศรษฐกิจโลกขณะนี้ยังอยู่ในสถานการณ์อันตราย"!
+ + + +
บทความของต้นปีที่แล้ว 2554
We have made history! โค่นเผด็จการตูนิเซีย
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 04 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1590 หน้า 36
"ในทุกรูปแบบของรัฐบาล
ประชาชนคือผู้ออกกฎหมายที่แท้จริง"
เอ็ดมันด์ เบิร์ก
นักปรัชญาชาวอังกฤษ
ยุคก่อนเอกราช
ตูนิเซียเป็นประเทศอยู่ในภูมิภาคแอฟริกาเหนือ และถือได้ว่าเป็นประเทศเก่าแก่ เนื่องจากเป็นที่ตั้งเดิมของพวกคาเธจ ซึ่งเป็นนักรบในยุคโบราณที่เคยทำสงครามกับจักรวรรดิโรมมาแล้วถึง 3 ครั้ง จนกระทั่งในที่สุดพ่ายแพ้ และถูกกวาดล้างแบบถอนรากถอนโคน จนอาณาจักรคาเธจต้องสูญสิ้นไป
หลังจากปี ค.ศ.1574 จักรวรรดิออตโตมันได้ขยายอิทธิพลเข้าครอบครองพื้นที่ในส่วนนี้ และได้กลายเป็นพื้นที่ภายใต้การปกครองของชาวอิสลามมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งในปี ค.ศ.1881 อิทธิพลของจักรวรรดิออตโตมันเริ่มอ่อนแอลง พร้อมกับการขยายตัวของจักรวรรดิตะวันตก และฝรั่งเศสได้เข้ามาเป็นผู้ดูแลพื้นที่นี้แทน แต่ก็ยังดำรงการปกครองให้อยู่ภายใต้ผู้ปกครองเดิมที่เรียกว่า "Bey"
จักรวรรดิฝรั่งเศสได้บริหารจัดการพื้นที่ พร้อมๆ กับการกำหนดเส้นพรมแดนระหว่างประเทศ และเตรียมจัดตั้งให้ตูนิเซียเป็นประเทศสมัยใหม่
แต่ขณะเดียวกัน ก็เกิดขบวนการเรียกร้องเอกราชในชื่อของ "ขบวนการรัฐธรรมนูญใหม่"
ยุคหลังเอกราช
ในที่สุด รัฐบาลฝรั่งเศสได้ถอนตัวออกจากการปกครองตูนิเซียในปี ค.ศ.1956 และคืนอำนาจให้แก่ Bey ในการแต่งตั้งรัฐบาล ซึ่งทำให้กลุ่มรัฐธรรมนูญใหม่ก้าวขึ้นสู่อำนาจ โดยมีอดีตทนายความ ฮาบิบ บัวร์กิบา (Habib Bourguiba) ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศ เขาได้รับเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหภาพแรงงานซึ่งเป็นฐานหลักในการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราช ต่อมาได้มีการล้มล้างระบอบการปกครองเก่า พร้อมกับประกาศให้ตูนิเซียเป็นสาธารณรัฐ
กลุ่มผู้นำใหม่เข้ามาบริหารประเทศพร้อมกับแนวคิดทางสังคมใหม่ที่ต้องการล้มล้างระบอบของผู้ปกครองอิสลามแบบเดิม พร้อมกับการนำเอาแนวคิดของการปฏิรูปทางสังคมแบบฝรั่งเศสมาใช้ จนทำให้ตูนิเซียกลายเป็นประเทศก้าวหน้าในโลกอาหรับ
ไม่ว่าจะเป็นการยึดที่ดินจากการถือครองของศาสนจักรมาเป็นของรัฐ
การยกเลิกโรงเรียนและศาลศาสนา แม้กระทั่งประกาศยกเลิกเทศกาลบางงานของศาสนาอิสลาม ตลอดรวมทั้งการยกสถานะของผู้หญิงในสังคม และยกเลิกประเพณีทางศาสนาบางประการ เป็นต้น
ตูนิเซียมีความก้าวหน้าอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศโลกที่สามอื่นๆ เพราะประเทศมีกองทัพขนาดเล็ก และไม่มีภาระจากงบประมาณทหารเป็นจำนวนมาก เช่น ประเทศโลกที่สามทั้งหลาย ทำให้รัฐบาลสามารถใช้งบประมาณเพื่อการพัฒนาทางสังคมได้มากขึ้น
ผลจากสภาพเช่นนี้ จะเห็นได้ว่า อย่างน้อยประมาณ 25 ปีหลังจากประเทศได้รับเอกราช บทบาทของทหารในการเมืองตูนิเซียอยู่ในระดับต่ำมาก
จนกลายเป็นกรณีแปลกสำหรับประเทศโลกที่สาม ซึ่งยุคหลังเอกราช มักจะเป็นยุคของการแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพ
ยุคของการปราบปราม
แต่ผลของการครองอำนาจอย่างยาวนานของผู้ปกครองจากยุคหลังเอกราช ทำให้ลักษณะการปกครองเป็นไปในทิศทางแบบอำนาจนิยมมากขึ้น การถอยออกจากนโยบายแบบสังคมนิยม จึงไม่ได้เป็นปัจจัยนำไปสู่การปกครองแบบเสรีนิยมแต่อย่างใด และในช่วงกลางทศวรรษของปี 1970 รัฐบาลได้ขยายบทบาทของกองทัพในการเมือง โดยเฉพาะการใช้กองทัพในการปราบปรามการประท้วงที่ขยายตัวมากขึ้น
แม้การเมืองจะมีความผันผวนอย่างมาก แต่ผลจากการค้นพบแหล่งน้ำมัน ทำให้ทุนต่างชาติไหลเข้าประเทศมากขึ้น แม้กระนั้นก็ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจของประเทศได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะอัตราการว่างงานสูง และแรงงานเป็นจำนวนมากไหลออกไปสู่ตลาดงานในยุโรป ประกอบกับการไหลเข้าพื้นที่เขตเมืองของแรงงานจากชนบท
แต่เมื่อการลงทุนจากต่างชาติลดลง พร้อมกับการตกต่ำของราคาน้ำมันในตลาดโลก ทำให้เศรษฐกิจของตูนิเซียอยู่ในภาวะวิกฤต และอัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก จนไอเอ็มเอฟ (IMF) ได้ตัดสินใจเข้าแทรกแซง และบังคับให้รัฐบาลต้องขึ้นราคาอาหาร โดยเฉพาะขนมปังและแป้งที่ใช้ทำอาหาร อันนำไปสู่การประท้วงและขยายตัวเป็นการจลาจลจากชนบทไปสู่เมือง และขยายตัวไปสู่เมืองใหญ่ของประเทศ
รัฐบาลแก้ปัญหาด้วยการปราบปรามเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการล้อมปราบ จับกุม ปิดหนังสือพิมพ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกล่าวหาว่าผู้ประท้วงเป็น "หุ่นของอิหร่าน" ที่ถูกส่งเข้ามาก่อความวุ่นวายในตูนิเซีย
ผลจากสถานการณ์เช่นนี้ทำให้นายพล ซินี เอล-อบิดีน เบน อาลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและหัวหน้าหน่วยความมั่นคงทางทหาร ได้รับคำสั่งให้ขยายการปราบปรามให้มากขึ้น
ซึ่งก็เป็นจุดที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลได้หันมาพึ่งพากองทัพในการปราบปรามประชาชน ต่างจากเดิมที่มักจะพึ่งกลไกของตำรวจ
ยุคหลังรัฐประหาร
แต่แล้วในที่สุด ผู้รับคำสั่งปราบก็ตัดสินใจทำรัฐประหารเสียเองในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1987 พร้อมกับสั่งปลดประธานาธิบดีบัวร์กิบาออกจากตำแหน่ง
ซึ่งผลของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ไม่ได้ทำให้การเมืองเปลี่ยนทิศทางแต่อย่างใด ส่วนที่แตกต่างจากเดิมได้แก่ รัฐบาลใหม่ใช้กลไกทางทหารในการควบคุมและการปราบปรามทางการเมืองมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม รัฐบาล เบน อาลี พยายามสร้างภาพลักษณ์ของ "ความปรองดอง" ด้วยการเปิดระบบการเมืองมากขึ้น การประกาศนิรโทษกรรม การเชื้อเชิญให้ผู้ลี้ภัยทางการเมืองกลับประเทศ การปฏิรูปรัฐธรรมนูญ และการหาทางเจรจากับกลุ่มผู้นำอิสลาม
พร้อมทั้งแสดงท่าทีใหม่ของรัฐบาลด้วยการสร้างมัสยิด การประกาศการสวดมนต์ผ่านสถานีวิทยุของรัฐ ความพยายามจัดตั้งมหาวิทยาลัยอิสลาม เป็นต้น
จุดเริ่มต้นของจุดจบ
แต่ในที่สุด สถานการณ์การเมืองในช่วงปลายปี ค.ศ.1989 ก็เริ่มถอยกลับสู่ที่เดิม ด้วยการจับกุมผู้นำฝ่ายค้านและห้ามการแข่งขันทางการเมือง (กับพรรครัฐบาล) และปี ค.ศ.1990 จึงเป็นการเริ่มต้นการปราบปรามและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง
แต่ขณะเดียวกัน ก็เกิดการขยายตัวของการต่อต้านรัฐบาล พร้อมๆ กับเศรษฐกิจของประเทศก็ตกต่ำลงอย่างมาก...สังคมการเมืองตูนิเซียตกอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดของรัฐบาล หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การเมืองตูนิเซียกลับสู่ระบอบอำนาจนิยมอย่างเต็มรูปอีกครั้งนับจากปี ค.ศ.1990 เป็นต้นมา
ในสังคมเผด็จการของตูนิเซียนั้น เศรษฐกิจของประเทศก็ตกต่ำอย่างมาก ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจกลายเป็นเพียงเรื่องเล่าในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบเศรษฐกิจที่ประสบปัญหามาตั้งแต่เมื่อครั้งไอเอ็มเอฟต้องเข้าแทรกแซงนั้น ไม่สามารถฟื้นตัวได้แต่อย่างใด
ยิ่งประกอบกับความขัดแย้งทางการเมืองภายในที่ประชาชนไม่สนับสนุนรัฐบาล แต่รัฐบาลกลับอยู่ในอำนาจได้ด้วยการค้ำประกันของกองทัพ และการใช้กลไกการปราบปรามเป็นเครื่องมือ
ก็ยิ่งทำให้การเมืองตูนิเซียอยู่ในลักษณะของการรอให้วิกฤตการณ์เกิดระเบิดขึ้นเพื่อให้การเมืองคลายตัวออกได้
จุดจบ
ดังนั้น เมื่อชายหนุ่มคนหนึ่งตัดสินใจ "เผาตัวเอง" เพื่อประท้วงรัฐบาล อันเป็นผลจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ห้ามไม่ให้เขาขายผักบนถนน เพราะเขาไม่มีใบอนุญาต...ผลของการ "เผาตัว" ในวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ.2010 (2553) ได้กลายเป็นดังการจุดประกายไฟให้เกิดการประท้วงและนำไปสู่การจลาจลในหลายพื้นที่ของประเทศ
จุดเริ่มต้นจากการเริ่มต้นของชายหนุ่มยากจนบนถนนที่ห่างไกลอำนาจรัฐ ได้นำพาให้คนจนอีกเป็นจำนวนมากในประเทศตระหนักว่า รัฐบาลเผด็จการไม่ได้ช่วยอะไรพวกเขา พร้อมๆ กับคนในเมืองที่ต้องประสบกับภาวะตกงาน พวกเขาก็รู้สึกเช่นเดียวกันว่า รัฐบาลเผด็จการไม่ใช่เครื่องมือของการแก้ปัญหาปากท้อง พวกเขาเชื่อมากขึ้นว่า ปัญหาของประเทศต้องแก้ไขด้วยการให้เสรีภาพแก่ประชาชน
แต่รัฐบาลแก้ปัญหาโดยการกล่าวว่า ผู้ประท้วงถูกจ้างโดยพรรคฝ่ายค้าน รวมไปถึงการกล่าวหาว่า คนเหล่านั้นเป็น "ผู้ก่อการร้าย" และตามมาด้วยการสั่งให้ตำรวจปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรง
ผลจากการตัดสินใจที่กองกำลังของรัฐใช้อาวุธยิงผู้ประท้วง แทนที่จะทำให้เกิดความกลัว กลับทำให้เกิดความโกรธ และยิ่งทำให้การประท้วงขยายตัวมากขึ้น การปะทะระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงกับกองกำลังของรัฐบาลในวันที่ 8-9 มกราคมที่ผ่านมา แม้รัฐบาลจะกล่าวว่ามีผู้เสียชีวิตเพียง 23 คน แต่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองกล่าวว่าผู้เสียชีวิตไม่น่าต่ำกว่า 60 คน และผลของการใช้มาตรการเด็ดขาดและรุนแรงก็ยิ่งกลายเป็นการ "เติมเชื้อไฟ" ให้การต่อต้านรัฐบาลขยายตัวจนกลายเป็นการประท้วงขนาดใหญ่ในเมืองหลวง
รัฐบาลแก้ปัญหาด้วยการสั่งปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เพื่อให้คนหนุ่มสาวอยู่กับบ้านและไม่ออกไปร่วมการประท้วง และประกาศจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการคอร์รัปชั่น พร้อมๆ กับประกาศนโยบายประชานิยมด้วยการขยายงานอีกมากกว่า 3 แสนตำแหน่ง
นอกจากนี้ รัฐบาลยังสัญญาว่าจะควบคุมราคาอาหาร ให้เสรีภาพแก่สื่อและอินเตอร์เน็ต และสัญญาอย่างสำคัญว่าจะสร้างประชาธิปไตยในตูนิเซีย
แต่ดูเหมือนว่าข้อเสนอและคำสัญญาดังกล่าวจะไม่มีใครเชื่อ หลังจากการถูกควบคุมเสรีภาพมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะการใช้กำลังปราบปราม การควบคุมข่าวสารในสื่อ และการควบคุมอินเตอร์เน็ต ทำให้ประชาชนไม่เชื่อรัฐบาล และการต่อต้านยังดำเนินต่อไป
ไพ่ใบสุดท้าย!
ผู้นำรัฐบาล "ทิ้งไพ่ใบสุดท้าย" ด้วยการประกาศลาออกและเตรียมเปิดการเลือกตั้งในอีก 6 เดือนข้างหน้า แต่ก็ตามมาด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉินพร้อมๆ กับการประกาศห้ามออกนอกบ้านทั่วประเทศ ห้ามชุมนุมเกินกว่า 3 คน และให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่สามารถยิงผู้ใดก็ได้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งนี้
ผลก็คือ ประชาชนยิ่งไม่เอารัฐบาลมากขึ้น จนในที่สุด ผู้นำรัฐบาลและครอบครัวต้องหนีออกนอกประเทศ จุดจบของเผด็จการไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นใคร มีอำนาจมากเท่าใด หรือยิ่งใหญ่เพียงใดก็ตาม คำสัญญาและคำหลอกลวงลมๆ แล้งๆ ไม่เคยช่วยอะไรได้จริง!
การประท้วงในขอบเขตทั่วประเทศใช้ระยะเวลา 4 สัปดาห์ ก็สามารถโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการที่มีอายุถึง 23 ปีภายใต้การสนับสนุนของทหารลงได้ และคงไม่ผิดนักที่จะสรุปดังคำกล่าวของชายหนุ่มที่ชื่อ อลาดีน เดอร์บารา (Alaedine Derbala) ว่า "พวกเราได้สร้างประวัติศาสตร์แล้ว...14 มกราคมจะเป็นวันที่ยิ่งใหญ่สำหรับตูนิเซีย และเป็นวันที่เราเปลี่ยนแปลงประเทศของเราตลอดไป"
บทเรียนการล้มลงของรัฐบาลเผด็จการตูนิเซีย เป็นข้อคิดทางการเมืองในปัจจุบันเป็นอย่างดี ส่วน "ท่านผู้นำ" คนไหนจะคิดได้หรือคิดไม่ได้ ก็คงขึ้นอยู่กับ "สติ" และ "สมอง" ที่ยังหลงเหลืออยู่ เท่านั้นเอง!
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย