.
กามารมณ์ไทย
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1643 หน้า 28
มีตัวละครตัวไหนในวรรณคดีไทยบ้างที่ได้เสียกันหลังแต่งงาน ถ้าไม่นับพระรามแล้วก็แทบจะหาไม่ได้เอาเลย ทั้งนี้ เพราะการได้เสียกับการมีเมียนั้นเป็นเรื่องเดียวกันในวัฒนธรรมเก่าของไทย
ทั้งหมดนี้ ผมคิดว่าสะท้อนทัศนคติของคนไทยโบราณที่มีต่อกามารมณ์ คือเห็นเป็นเรื่องธรรมชาติซึ่งเกิดได้แก่ทุกคน ทั้งผู้ชายและผู้หญิง บทอัศจรรย์ในวรรณคดีไทยพูดถึงความรู้สึกทางกามารมณ์ของผู้หญิงอย่างเปิดเผย ตรงนี้ต่างจากอีกหลายวัฒนธรรม เช่น ในวัฒนธรรมฝรั่งแบบวิกตอเรียน ที่สมมติว่าผู้หญิงปรกติแล้ว มีแต่ความรัก หาได้มีความรู้สึกใคร่ไม่ มีแต่หญิงสำส่อนร้อนสวาทเท่านั้นที่สามารถมีความรู้สึกใคร่ได้
ผมใช้คำว่าสมมติในวัฒนธรรมวิกตอเรียน เพราะที่จริงคนอังกฤษก็เข้าใจดีว่าผู้หญิงมีความรู้สึกทางกามารมณ์ได้เป็นปรกติ อย่างน้อยนวนิยายกระสันสวาทเรื่อง Fanny Hill ซึ่งแต่งและพิมพ์มาก่อนสมัยวิกตอเรียนก็เล่าไว้ชัดเจน
แม้ในวรรณคดี ผู้หญิงอาจมีความรู้สึกทางกามารมณ์ได้ แต่ความรู้สึกนี้ไม่เกิดขึ้นได้เอง ต้องถูกการเล้าโลมถึงตัวของผู้ชายเสียก่อน เพียงแต่โดนแพละโลมด้วยวาจา ผู้หญิงก็มีแต่ความรัก ต่อเมื่อโดนผู้ชายเข้าถึงตัว ได้เล้าโลมด้วยประการต่างๆ แล้ว ผู้หญิงจึงมีอารมณ์ความรู้สึกทางกามขึ้น
ข้อนี้ว่ากันตามนิยายในวรรณคดีนะครับ คนไทยโบราณจะเข้าใจตามนี้หรือไม่ผมไม่แน่ใจ แต่ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อจะบอกว่า ในวรรณคดีนั้นหากผู้ชายถึงได้จับนมจับต้มแล้ว ก็มักจะมีอะไรกันจนได้ทุกที ดูๆ จึงคล้ายกับว่า แม้ผู้หญิงสามารถควบคุมความรู้สึกทางกามารมณ์ได้ในระดับหนึ่ง แต่หากผู้ชายได้ถูกเนื้อต้องตัวแล้ว ก็ยากที่ผู้หญิงจะควบคุมความรู้สึกนั้นต่อไปได้ จึงอาจเป็นไปได้ว่า คนโบราณคิดว่าผู้หญิงมีความอ่อนแอในเรื่องถึงเนื้อถึงตัว ผู้หญิงจึงควรปิดโอกาสนั้นเสีย
ความคิดว่าผู้หญิงมีความอ่อนแอด้านกามารมณ์นั้น ไม่ได้มีเฉพาะในวัฒนธรรมโบราณของไทยเท่านั้น แต่พบได้ในอีกหลายวัฒนธรรมทั่วโลก
ก็เหมือนกับส่วนอื่นๆ อีกมากในวัฒนธรรมไทย กามารมณ์แบบที่ปรากฏในวรรณคดีไทย ก็ถูกกระทบด้วยวัฒนธรรมตะวันตกในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เหมือนกัน มาตรฐานกามารมณ์แบบวิกตอเรียนเข้ามาครอบงำความคิด โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูง ซึ่งได้รับการศึกษาจนอ่านภาษาฝรั่งออก
มิติด้านกามารมณ์แทบจะอันตรธานไปในงานวรรณกรรมไทยอยู่หลายทศวรรษ คำสั่งสอนกุลบุตรกุลธิดาด้านนี้ในโรงเรียน ก็เป็นไปตามอุดมคติของวิกตอเรียน การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองเป็นสิ่งน่ารังเกียจและมีอันตรายต่อสุขภาพอย่างใหญ่หลวง อะไรที่เกี่ยวกับกามารมณ์ (หรือแม้แต่เรื่องรักๆ ใคร่ๆ) ก็เป็นสิ่งพึงระวัง เพราะจะทำให้กุลบุตรกุลธิดาเสียผู้เสียคน
หญิงผู้ดีไม่พึงมีความรู้สึกทางกามารมณ์ ฯลฯ
ไม่กี่วันมานี้ ผมไปได้หนังสือเล่มหนึ่งซึ่งพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2477 ชื่อ "ประเวณีศาสตร์ เมถุนมรรค (คือทางโลกีย์ที่จะเร้ามนุษย์ขึ้นสวรรค์ทั้งเป็น)" ผู้เขียนใช้นามปากกาว่าอังศุมาน
ดูตามชื่อแล้วคงนึกว่าเป็นตำราสำหรับ "ปฏิบัติการ" แต่ไม่ใช่หรอกครับ หากเป็นตำราที่สอนเรื่องซึ่งปัจจุบันคงเรียกรวมๆว่าเพศศึกษา สำนักพิมพ์เดียวกันนี้ยังมีหนังสือประเภทเดียวกันพิมพ์ออกจำหน่ายอีกหลายเล่ม ขอยกเป็นตัวอย่างจากโฆษณาท้ายเล่ม เช่น กามโสตถี ผู้แต่งใช้นามปากกาว่าสวีร์รัตน์ ซึ่งยังเป็นผู้แต่งอีกสองเล่ม คือกามกรีฑา และกามสาโรช เป็นต้น อังศุมานผู้เขียนหนังสือเล่มที่ผมได้มานี้ ยังเขียนอีกสองเล่มมาก่อนและขายหมดแล้วด้วย คือเมถุนธรรมและเล่ห์เมถุน
แต่เนื่องจากผมไม่ได้เห็นหนังสือเล่มอื่น นอกจากเมถุนมรรค จึงจะขอเล่าเนื้อหาของหนังสือเฉพาะเล่มนี้
บทแรกๆ ว่าด้วยเรื่องภาษากายที่คนไทยไม่ค่อยใช้มากนัก คือการส่งสายตาและการจูบ-กอด เพื่อบอกความรู้สึกนานาชนิดทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับกามารมณ์ พูดอีกอย่างหนึ่งคือภาษากายของฝรั่งนั่นเอง
ผมคิดอย่างไรก็ไม่เข้าใจอยู่นั่นเองว่า จะสอนเพลงกามแก่คนไทย เหตุใดจึงต้องใช้ "ภาษา"ฝรั่ง ผมจึงเดาความคิดของผู้แต่งว่า ส่วนหนึ่งของกิริยาเหล่านี้ (เช่น การจูบปาก) ผู้แต่งต้องเชื่อว่าย่อมเร้าอารมณ์ของผู้หญิงเป็นสากล ไม่ใช่เพียงการสื่อความแบบฝรั่งเท่านั้น ความคิดว่ากามกิริยาย่อมมีผลเป็นสากลนั้นน่าสนใจนะครับ และสอดคล้องกับเหตุผลที่ผู้แต่งให้ไว้เสมอตลอดเล่มว่า การแสวงหาความสุขทางกาม "อย่างถูกต้อง" นั้นทำให้ราษฎรมี "อนามัย" ดี และด้วยเหตุดังนั้นจึงเป็นการสร้างความเจริญแก่ชาติด้วย
บทหลังๆ ว่าด้วยอวัยวะหญิง-ชาย ทั้งส่วนที่มีหน้าที่ทางกามารมณ์และมีหน้าที่ทางชีววิทยา แล้วก็มาถึงบทที่ตั้งชื่อว่า "ทางเดินของชาย" ว่าด้วยเรื่องผู้ชายพึงปลุกหรือเร้าอารมณ์หญิงอย่างไร ทั้งในฐานะคู่รักและในฐานะที่ต้องการจะหลับนอนกับผู้หญิงคนนั้น
สองบทท้ายว่าด้วยกามารมณ์ของหญิงชายที่อาจนำไปสู่นรก เพราะไม่รู้จักประมาณ
ถ้าเปรียบเทียบกับคำสอนเกี่ยวกับกามารมณ์แบบวิกตอเรียนตั้งแต่ ร.5 ลงมา ก็อาจมองได้ว่าหนังสือประเภทนี้คือการกบฏ เพราะเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อกามารมณ์กลับไปเหมือนก่อนหน้านั้น คือเห็นเป็นเรื่องธรรมชาติและมนุษย์ (โดยเฉพาะผู้ชาย) พึงแสวงหาความสุขจากกามารมณ์ได้เต็มที่ โดยไม่ให้ผิดศีลธรรมและ "อนามัย"
แต่การกบฏต่อศีลธรรมทางเพศของสมัยวิกตอเรียนไม่ได้เกิดในเมืองไทยเท่านั้น หากเกิดขึ้นในโลกตะวันตกก่อนนับตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา และเนื้อหาเกือบทั้งหมดของหนังสือก็ล้วนนำมาจากงานของฝรั่ง
ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ศีลธรรมวิกตอเรียนก็รับมาจากตะวันตก การกบฏต่อวิกตอเรียนก็รับมาจากตะวันตก
และอะไรที่เป็นตะวันตก ก็ย่อมหมายถึงวัฒนธรรมที่แพร่ขยายไปในวงจำกัดในสังคมไทยเท่านั้น
เช่น วัฒนธรรมทางเพศแบบวิกตอเรียน อาจกลายเป็นมาตรฐานของกลุ่ม"ผู้ดี" อย่างน้อยก็ใช้แสดงให้เห็นภายนอก แม้ขยายผ่านการสอนกุลบุตรกุลธิดาในระบบการศึกษา ก็คงขยายไปไม่ได้มากนัก เพราะเราขยายการศึกษาแบบโรงเรียนไปอย่างช้าๆ เท่านั้น
จนเมื่อสมัยผมเป็นเด็กในชนบท ก็ยังได้เห็นพฤติกรรมทางเพศของผู้คนไม่ได้แตกต่างไปจากที่พบได้ในวรรณคดี หมายความว่าคนไทยส่วนใหญ่ก็ยังมีทัศนคติต่อกามารมณ์ไม่ต่างไปจากอดีตมากนัก แม้ว่าพวก "ผู้ดี" อาจจะอ้างมาตรฐานใหม่จากตะวันตกอย่างไรก็ตาม
เช่น การได้เสียกันก่อนแต่งงานเป็นเรื่องที่ได้รู้กันเป็นปรกติ แม้แต่ที่ผมทะลึ่งไปเห็นด้วยตาตัวเองก็มี การลอบขึ้นเรือนเข้าหาลูกสาวก็ร่ำลือกันให้ได้ยินอยู่เสมอ แม้แต่ที่ดักฉุดไปเป็นเมียก็มี เป็นต้น
ในทางตรงกันข้าม ทัศนคติต่อกามารมณ์ในเชิงกบฏต่อวิกตอเรียนก็คงจะเหมือนกัน เพราะเป็นความคิดที่รับมาจากตะวันตก จึงแพร่หลายเฉพาะในหมู่คนอ่านหนังสือออกไม่กว้างขวางเท่าใดนัก สำนักพิมพ์ซึ่งพิมพ์เรื่องเมถุนมรรคบอกเลยว่า ไม่เคยพิมพ์หนังสือเหล่านี้เกินครั้งละ 2,000 เล่ม บางเล่มขายหมดแล้ว แต่ตัดสินใจไม่พิมพ์ใหม่อีก แม้มีผู้ขอซื้อเข้ามาบ้าง เพราะประมาณความต้องการของตลาดแล้ว คงไม่พอจะพิมพ์ใหม่
เป็นตลาดที่แคบมากๆ นะครับ
แต่การปะทะกันระหว่างวัฒนธรรมทางกามารมณ์ของวิกตอเรียนและหลังวิกตอเรียนในกรณีนี้ เกิดขึ้นในประเทศไทย จึงมีทัศนคติทางกามารมณ์ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นของวัฒนธรรมไทยแทรกอยู่ด้วย และส่วนนี้แหละครับที่น่าสนใจแก่ผมมากกว่า
และส่วนที่ผมพอจับได้จากการอ่านหนังสือเรื่องเมถุนมรรค มีประเด็นที่ผมอยากพูดถึงดังนี้
1.กลกามและความรู้เกี่ยวกับเพศศึกษาทั้งหมดที่บรรยายไว้ในหนังสือ ล้วนเพื่อประโยชน์ของผู้ชายทั้งสิ้น ไม่ถึงกับว่าผู้หญิงไม่พึงมีความสุขทางกามารมณ์อย่างเกณฑ์ของวิกตอเรียนนะครับ แต่ความสุขของเธอล้วนเกิดขึ้นจากความเชี่ยวชาญหรือความเหมาะสม(ทางสรีระ)ของผู้ชายทั้งสิ้น
ผมนึกเปรียบเทียบกับกามสูตรของอินเดีย และพบว่าผู้หญิงในกามสูตรเป็นสัตว์ทางกามารมณ์ที่เป็นฝ่ายกระทำ (active) กว่าแยะ
นี่เป็นผลมาจากวัฒนธรรมทางกามารมณ์ของฝรั่งหรือไทย ผมก็ไม่ทราบ เพราะความสนใจทางวิชาการต่อกามารมณ์ของผู้หญิงในโลกตะวันตกเองก็เกิดขึ้นหลังจากนี้มาก
2. อย่างไรก็ตาม ในบทท้ายที่เล่าเรื่องของผู้หญิงซึ่งหลงระเริงกับกามารมณ์เกินไป จนเป็นหนทางนำไปสู่นรกนั้น ทั้งหมดเป็นโสเภณี ที่เลือกเดินทางชีวิตที่ผิด น้ำเสียงของหนังสือออกจะดูหมิ่นเหยียดหยาม รวมทั้งระบุว่าสังคมไทยโดยรวมก็รังเกียจเหยียดหยาม ขนาดเลิกอาชีพไปเป็นพนักงานเสิร์ฟตามร้านอาหาร ก็ไม่มีใครอยากกินอาหารที่อดีตโสเภณีเสิร์ฟให้ นั่งเก้าอี้ตัวไหนก็ไม่มีใครอยากนั่งทับเพราะกลัวเสนียด
ผมไม่ทราบว่าจริงหรือไม่ในสมัยนั้น แต่อดคิดไม่ได้ว่าชีวิตของโสเภณีที่เล่าไว้ทั้งหมดนั้น คือผู้หญิงที่เป็นฝ่ายกระทำในชีวิตกามารมณ์ของตน อันอาจขัดกับอุดมคติของชีวิตกามารมณ์ในทัศนะของผู้เขียน ยิ่งไปกว่าขัดกับอุดมคติก็คือ ความเป็นฝ่ายผู้กระทำทางกามารมณ์ย่อมคุกคามความเชื่อมั่นของผู้ชายซึ่งมีทัศนคติว่า ตนเท่านั้นที่เป็นผู้กำกับกามารมณ์แต่ผู้เดียว
3. แม้แสดงความรังเกียจหญิงที่มีอาชีพนี้อย่างไร แต่ผู้แต่งไม่ได้ลังเลที่จะไปเยี่ยมเยือนสถานบริการ (บางครั้งก็อ้างว่าเพื่อ"ศึกษา" บางครั้งก็อ้างว่าถูกเพื่อนชวน) แสดงว่าผู้ชายชั้นกลางไทยไปเที่ยวโสเภณีมานานมากก่อนสงครามเวียดนาม
4. ผู้ชายพึงใช้ความรู้และกลกามที่ได้เรียนจากหนังสือนี้ได้อย่างแทบจะไม่มีข้อจำกัดทางศีลธรรมเลย หรืออย่างน้อยหนังสือก็ไม่ได้ใช้ศีลธรรมเป็นขอบเขตสำหรับปรามผู้ชาย ยกเว้นแต่จะผิดศีลข้อสาม
ทัศนคติเช่นนี้ไม่ต่างจากที่ปรากฏในวรรณคดีไทยแต่อย่างไร
5. ไม่มีข้อความตรงไหนที่ส่อให้เห็นว่า ผู้แต่งเห็นพรหมจรรย์ของผู้หญิงว่าเป็นคุณค่าสำคัญสุดของผู้หญิง
เช่นเดียวกับส่วนอื่นๆ ในวัฒนธรรมไทย กามารมณ์(sexutality)ของคนไทยก็เปลี่ยนแปลงมาตามเวลา และท้องถิ่นเหมือนกัน ในขณะที่สืบเนื่องกับแบบแผนที่มีมาก่อน น่าเสียดายที่การศึกษาเชิงวัฒนธรรมเกี่ยวกับกามารมณ์ไทยยังมีผู้ทำอยู่น้อย
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย