.
รายงานพิเศษ
- เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ นัวเนีย พัลวัน ท่ามกลางกระแส "ล้มรัฐบาล"
- "ดีเอสไอ" เฮือกท้าย เล็งสอบ "ไก่อู-สุเทพ" คดี "ผังล้มเจ้า" ส่อล่ม!
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
บทเรียน จากอดีต อดีตของ สมัคร สุนทรเวช กับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 03 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1642 หน้า 8
รัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช เป็นผลพวงมาจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนธันวาคม 2550
เริ่มเข้าบริหารราชการแผ่นดินในเดือนมกราคม 2551
พอถึงเดือนพฤษภาคม 2551 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็นัดชุมนุมใหญ่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์
เริ่มจากประเด็นคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550
จากนั้นก็เก็บเบี้ยบ้ายรายทางจากปัญหาข้อกล่าวหา นายจักรภพ เพ็ญแข บรรยายที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทยอันหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 และเกี่ยวกับปัญหาปราสาทเขาพระวิหารและปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา
ผลก็คือ นายจักรภพ เพ็ญแข ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ผลก็คือ นายนพดล ปัทมะ ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
จากนั้นก็ก่อการเคลื่อนไหวใหญ่ยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ยึดกระทรวงคมนาคม ยึดกระทรวงการคลัง ยึดกรมประชาสัมพันธ์ และลงเอยด้วยการยึดทำเนียบรัฐบาลในเดือนสิงหาคม 2551
เดือนกันยายน 2551 นายสมัคร สุนทรเวช ก็พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
แม้จะมี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี แต่การชุมนุมประท้วงก็ยังไม่ยุติ กระทั่งขยายไปสู่การยึดสนามบินดอนเมือง การยึดสนามบินสุวรรณภูมิ ในเดือนพฤศจิกายน 2551
เดือนธันวาคม 2551 มีคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชน รัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็เอวัง
หากมองในเชิงเปรียบเทียบชะตากรรมของรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช ใกล้เคียงกับชะตากรรมของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
แม้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พรรคเพื่อไทยจะได้รับเลือกมา 265 เสียง
แม้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะผนวกรวมพลังกับ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังชล พรรคมหาชน รวมแล้วเท่ากับ 300 เสียง
แต่กระแสคัดค้าน ต่อต้าน ก็กระหึ่มขึ้นตลอดเวลา
ในห้วง 3 เดือนแรก รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อาจประสบกับมหาอุทกภัยแทบจะเดินหน้านโยบายอะไรไม่ได้เลย
เข้าเดือนที่ 4 เดือนที่ 5 จึงเริ่มหายใจคล่องและเริ่มมีสมาธิมากขึ้น
การปรับ ครม. จำนวนมากถึง 16 ตำแหน่ง ด้านหนึ่ง เป็นพื้นฐานให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีความมั่นใจมากขึ้น ขณะเดียวกัน ด้านหนึ่ง จากการผิดหวังของบางคนบางฝ่ายนำไปสู่พลังแค้นและสร้างความแตกแยกภายใน
เมื่อประสานเข้ากับกระแสต่อต้าน คัดค้านจากภายนอก การขยับของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ยังมากด้วยอุปสรรค
แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะมี ส.ส. เป็นพื้นฐานมากถึง 265 เสียง แม้ว่ารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะประกอบส่วนขึ้นจาก 300 เสียงของพรรคร่วมรัฐบาล
ดูเหมือนว่าแข็งแกร่ง มั่นคง
แต่เป็นความแข็งแกร่ง มั่นคง อยู่บนฐานอันเปราะบางอย่างยิ่งทางการเมือง หากพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนหลักของรัฐบาลไม่สามารถกำหนดยุทธศาสตร์ทางการเมืองได้อย่างเด่นชัด
คำถามก็คือ รากฐานทางการเมืองอันแท้จริงของพรรคเพื่อไทยอยู่ที่ใด
หากตอบคำถามนี้ไม่ได้ หากตอบคำถามนี้ไม่สอดรับกับสภาพความเป็นจริง อนาคตของรัฐบาล อนาคตของพรรคเพื่อไทยก็ยังอยู่กับความไม่แน่นอน
++
ลึกแต่ไม่ลับ โดย จรัญ พงษ์จีน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 03 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1642 หน้า 8
แค่ประเดี๋ยวประด๋าว รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เข้ามาบริหารประเทศ เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกครบ 5 เดือนเข้าให้แล้ว ทั้งๆ ที่เดิมที มีการตั้งโจทย์สบประมาทว่า "3 เดือนจอด" เพราะ "ยิ่งลักษณ์" มือใหม่หัดขับ ปัญหาของชาติบ้านเมืองมีเรื่องหนักหมักหมมรอคอยให้แก้ไขอยู่มากมาย "ภาคการเมือง" แตกแยกกันรุนแรง คงต้านทานมวยเจนเวทีระดับประชาธิปัตย์ได้ไม่กี่น้ำ
แต่ "ยิ่งลักษณ์" นำรัฐนาวา วิ่งเลยเส้นสบประมาทมาได้เรียบร้อยแล้ว
จุดได้เปรียบของ "ยิ่งลักษณ์" คือ ความเป็นลูกผู้หญิง บวกกับมีน้ำอดน้ำทนเป็นเลิศ มี "หน่วยช่วยเหลือ" เกิดขึ้นทีละจุดสองจุด ที่เป็นเกราะให้ดีเยี่ยมคือ การดึงตัวบุคคลผู้มีชื่อเสียงจากหลากหลายวงการมาร่วมทำงานได้ เช่น "คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟู และสร้างอนาคตประเทศ" (กยอ.) วางตัวให้ "อาจารย์โกร่ง-วีรพงษ์ รามางกูร" เป็นประธาน มีทั้ง "วิษณุ เครืองาม-ประเสริฐ บุญสัมพันธ์-พงษ์ศักดิ์ อัสสกุล-ศุภวุฒิ สายเชื้อ-กิจจา ผลภาษี" ร่วมเป็นกรรมการ กยอ.
และที่กำแพงเหล็กค้ำยันได้ดีอีกจุดคือ "คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ" (กยน.) ซึ่งสามารถดึงบุคคลที่มีคุณภาพ มีชื่อเสียงมาร่วม ณ จุดนี้ได้อีกหลายคน
ที่เหนือความคาดหมาย คือ "ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล" เลขาฯ มูลนิธิชัยพัฒนา มาเป็นที่ปรึกษา มี "ปราโมทย์ ไม้กลัด-ปิติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา-สมิทธ ธรรมสโรช-รอยล จิตรดอน-รัชทิน ศยามานนท์-ชูเกียรติ ทรัพย์ไพศาล-ศรีสุข จันทรางศุ-สนิท อักษรแก้ว-อัชพร จารุจินดา" เป็นกรรมการ
แม้จะตกเป็นข่าวตามสื่อมาตลอดว่า "ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล " ได้ตัดสินใจไขก๊อกลาออกจากประธานที่ปรึกษา กยน. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และ "สมิทธ ธรรมสโรช" ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้ลาออกจาก กยน. พร้อมกัน เพราะไม่พอใจการบริหารจัดการ และขัดแย้งกับทีมงานคนอื่นๆ
แต่ทุกครั้งก็ได้รับการปฏิเสธจาก "ดร.สุเมธ-สมิทธ" ว่าไม่เป็นความจริง เป็นการกุข่าว
ไม่เพียงแต่ "ตัวช่วย" จาก "กยอ. และ "กยน." เท่านั้น ที่ทำให้ภาพลักษณ์ของ "ยิ่งลักษณ์" นับวันดูแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ กับแนวคิดตั้งคณะกรรมการ "โครงการปลูกป่า" ที่ "ยิ่งลักษณ์" ผู้ริเริ่มร่วมกับ กยน. ซึ่งทาง "ดร.สุเมธ" เป็นประธาน "เสนอแนะดึงผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการปลูกป่า" คือ "ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล" ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และเลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ มาเป็นประธานโครงการปลูกป่า
ทาง "ม.ร.ว.ดิศนันดา ดิศกุล" ตอบรับแล้วยังดึงบุคลากรมาร่วมทีมงานใน "โครงการปลูกป่า" ทั้ง "ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ" มาเป็นรองประธาน "นางรตยา จันทรเทียร-จอนิ โด่เอเชา" มาเป็นกรรมการ ร่วมกับปลัดกระทรวงมหาดไทย-ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์-ปลัดกระทรวงการคลัง อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นกรรมการ โดยเริ่มปฏิบัติภารกิจใหญ่กันทันทีช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์
ประเดิมด้วย "ดอยตุงโมเดล" ยึดหลัก ทำให้ป่าดีขึ้น ชาวบ้านมีรายได้โดยไม่ทำลายป่า ยึดแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว-สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์-สมเด็จพระเทพฯ-สมเด็จย่า
การเมืองร้อนระอุขึ้นมาทันที พลันที่ "คณะนิติราษฎร์" ออกมาขับเคลื่อนอีกหนึ่งย่างก้าว เพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อันเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดโทษในความผิดฐานหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า
"ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี"
หลังการเคลื่อนไหว มีการปล่อยข่าวเกทับ ปลั๊ฟฟ์แหลกละเลงใส่กันด้วยความเมามัน ฝ่ายหนึ่งระบุว่า เป็นแผนการเก่าของ "พรรคเพื่อไทย" โดยอาศัยภาพลักษณ์ของ "คณะนิติราษฎร์" เป็นหัวหอกนำร่อง
กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ดาหน้าออกมาปฏิเสธ ทั้งในรูปของการสัมภาษณ์ และแถลงการณ์ ทั้งในนามบุคคล และพรรค ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112
พร้อมโต้กลับทันควันว่า มีขบวนการบิดเบือน สร้างสถานการณ์ เป็นฝีมือของ "แก๊งออฟโฟร์" ที่ประกอบไปด้วย "กลุ่มทุน-นักวิชาการ-สื่อมวลชน-ทหารนอกแถว" มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการปั่นกระแสให้เกิดความวุ่นวาย สร้างเงื่อนไขให้ทหารใช้กำลังออกมา "ปฏิวัติ" ไล่รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ที่มาจากการเลือกตั้ง
"พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์" โฆษกพรรคระบุว่า แก๊งออฟโฟร์ที่ว่า ได้แอบไปประชุมลับกัน ณ เซฟเฮ้าส์แห่งหนึ่งย่านพุทธมณฑล แต่ไม่ได้ระบุนามว่า กลุ่มคน 4 ฝ่ายที่ว่า มีใครบ้าง
ขณะที่กลิ่นข่าวลือ "ปฏิวัติ" ถูกปล่อยมากลิ่นตลบ เพื่อตัดไฟไม่ให้บ้านเมืองเกิดความโกลาหล ต้นตอมาจากการแก้มาตรา 112
บังเอิญว่า ช่วงเวลาคาบเกี่ยวกันนั้นเกิด "ภาพเด็ด" การรวมพลคนกันเองของศูนย์อำนาจเก่า แก่นๆ จาก "บูรพาพยัคฆ์" ล้วนๆ อันประกอบด้วย "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม "พล.อ.สมทัต อัตตะนันทน์" อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด "พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา" อดีตผู้บัญชาการทหารบก และ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ผบ.ทบ.
มากันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาในวาระเดียวกัน เพื่อร่วมพิธีทำบุญใหญ่ ร่วมเททองหล่อพระเกตุมาลาพระนาคปรก "ปกเกล้า ปกแผ่นดิน" ที่วัดอ้อน้อย อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม โดยมี "หลวงปูธรรมอิสระ" เป็นประธานสงฆ์ในพิธี
นานมาแล้ว ไม่ปรากฏร่างเงาของบิ๊กจากวงการ "สีเขียว" มารวมตัวกันแบบเต็มทีม
ขณะที่เกิดข่าวลือเรื่องปฏิวัติ พอดิบพอดี
+++
เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ นัวเนีย พัลวัน ท่ามกลางกระแส "ล้มรัฐบาล"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 03 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1642 หน้า 9
เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เดินเกมการเมือง "เก็บทุกเม็ด"
ไม่ว่าการที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 145 คน เข้ายื่นหนังสือต่อ ประธานวุฒิสภา ให้ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ออกจากตำแหน่ง ฐานออกหนังสือเดินทางให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
การยื่นเรื่องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 2 ฉบับ คือ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555 การโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท ไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บริหาร ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
การที่ น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรค ปชป. ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ตรวจสอบเว็บไซต์ที่เข้าล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และเรียกร้องให้ดีเอสไอดำเนินคดีกับ นายกรัฐมนตรี, ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ไม่ดำเนินคดีกับเว็บไซต์ดังกล่าว
การที่ น.ส.จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี ทายาทเบียร์สิงห์ ในฐานะรองโฆษก ปชป. นำกลุ่มเยาวชนคนไทยหัวใจรักสถาบัน และ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสี ชุมนุมบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อวันที่ 28 มกราคม เพื่อรณรงค์ต่อต้านกลุ่มนิติราษฎร์ ที่เสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าว นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรค ปชป. ช่วยเติม "ภาพ" ให้เต็ม
ด้วยการระบุว่า มี ส.ส. ในพรรคเพื่อไทย เคยพูดต่างกรรมต่างวาระทั้งในและต่างประเทศ มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน ทำให้คนเข้าใจว่าต้องการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112
พร้อมกับโชว์หลักฐาน ที่อ้างว่า พรรคเพื่อไทยและแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) มีแนวคิดดังกล่าว
โดยเป็นคลิปภาพที่ นายวรวุฒิ วิชัยดิษฐ โฆษก นปช. ประกาศสนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112
เล่นกระแสประสานกับมวลชนนอกสภา ที่คัดค้านกลุ่มนิติราษฎร์ อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน
นี่ยังไม่นับรวมการแถลงถล่มรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แบบรายวัน
สะท้อนถึง "การไม่เป็นมิตร" ชัดเจน
และมีเป้าหมายที่จะให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร "เอาไม่อยู่" ทั้งที่บริหารประเทศยังไม่ครบ 6 เดือน
ด้วย "ยุทธวิธี" เอาให้ตาย ของพรรคประชาธิปัตย์ ดังกล่าว
ทำให้ พรรคเพื่อไทย ต้องแก้เกมด้วยการออกมาตีฆ้องร้องป่าวมีขบวนการ "จ้องล้มรัฐบาล" โดยตลอดเช่นกัน
อย่างเมื่อช่วงปลายปี 2554 นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรค อ้างข้อมูลจากเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงว่า มีกลุ่มการเมืองร่วมมือกับกลุ่มผู้สูญเสียอำนาจจ้องจะล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์
โดยวางแผนเป็นบันได 9 ขั้น คือ
1. ใช้สื่อโจมตีเพื่อไทยทุกประเด็น ทั้งนโยบายและตัวบุคคล
2. กลุ่มอำนาจเก่าสั่งให้ลูกน้องในกระทรวงต่างๆ เกียร์ว่าง
3. ยุยงข้าราชการให้ร้องทุกข์ว่าถูกย้ายไม่เป็นธรรม
4. ยุยงชาวบ้านให้มาร้องทุกข์ผู้บริหารเพื่อไทย
5. ให้เอ็นจีโอล่าชื่อทำลายความน่าเชื่อถือรัฐบาล
6. ใช้เครือข่ายสื่อที่มีรวมถึง โซเชียล มีเดีย โจมตีว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
7. โจมตีสมาชิกเพื่อไทยและคนในรัฐบาลในเรื่องเกี่ยวกับสถาบัน
8. ทำร้ายแกนนำคนเสื้อแดง สมาชิกเพื่อไทยรวมถึงบุคคลสำคัญในรัฐบาล
9. เมื่อดำเนินการตามข้อ 1-8 สำเร็จ ก็ให้เร่งประเด็นยุบเพื่อไทย
ต่อมาเมื่อมีเหตุ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกโจมตีว่าออก พ.ร.ฎ.อภัยโทษ หวังล้างผิดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
นายพร้อมพงศ์ ก็ได้เปิดเผยข้อมูลอีกชุด โดยระบุกลุ่มบุคคล นำโดยนักการเมืองใหญ่อักษรย่อ "ส." และ "น." และมี พล.อ. "ส." คนหนึ่ง ไปประชุมที่โรงแรมย่านประตูน้ำ โดยอาศัยการเคลื่อนไหวเรื่องกระแส พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ มาล้มรัฐบาล
ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ก็มาตีปี๊บอีกว่า พวกมือสั่นปากสั่น เพราะโรคพาร์กินสันและโรคจิต แพ้ไม่เป็นชอบกินข้าวแถวสุขุมวิท วางแผน
เช่นเดียวกับ นายพร้อมพงศ์ ที่มาตอกย้ำเรื่องนี้อีกครั้ง ว่ามีกลุ่มอำนาจเดิมเคลื่อนไหว ปลุกระดมมวลชนตามโรงงาน ใน จ.สมุทรสาคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม ปทุมธานี โดยมีการว่าจ้างวันละ 500 บาทต่อคน จากเงินที่เป็นการลงขันของนักการเมืองและผู้มีอำนาจกว่า 3 พันล้านบาท เพื่อล้มรัฐบาล
และเมื่อมีประเด็นร้อนเกี่ยวกับมาตรา 112 นายพร้อมพงศ์เจ้าเก่า ก็ออกมาระบุว่ามีเครือข่ายนักการเมือง นักวิชาการ สื่อมวลชน และทหาร นอกแถวบางคนไปสุมหัวที่เซฟเฮาส์ ย่านพุทธมณฑล เพื่อเคลื่อนไหวปลุกระดมกลุ่มผู้ใช้แรงงานย่านชานเมือง กทม. และ ปริมณฑล ให้เข้าใจว่ารัฐบาลและพรรคเพื่อไทย มีส่วนเกี่ยวข้องในการสนับสนุนการแก้ไขมาตราดังกล่าว
ขณะที่ นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาแถลงย้ำว่า ประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 เป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการลงขันล้มรัฐบาล
ซึ่งกลุ่มนี้มีตัวตนและมีความเคลื่อนไหวจริง
โดยประกอบด้วยนายทุน นักวิชาการ ทหารกลุ่มหนึ่ง และสื่อมวลชนบางส่วน
"สังเกตดูได้ว่าเมื่อทุนพร้อม มือไม้พร้อม ก็จะมีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งออกมาเคลื่อนไหวเพื่อสร้างประเด็นความขัดแย้ง ที่ผ่านมานักวิชาการคนหนึ่งที่หายหน้าหายตาไปนานในช่วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เกิดหายใจคล่องและเคลื่อนไหวทันทีในช่วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และหลังจากนี้ก็จะมีความเคลื่อนไหวการกลับมารวมตัวกันอีกของคนกลุ่มเดิม อย่างแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ก่อนหน้านี้แตกฉานซ่านเซ็นกันไปคนละทิศละทาง
เนื่องจากความขัดแย้งภายในก็จะมีการกลับมารวมตัวกันใหม่ ในรูปแบบใหม่ แบรนด์ใหม่ โดยใช้ประเด็นมาตรา 112 มาเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในการโค่นล้มรัฐบาล" นายอนุสรณ์ ระบุ
แน่นอนที่สุด "ข้อมูลขบวนการล้มรัฐบาล" ที่พรรคเพื่อไทยปล่อยออกมานั้น จะถูกพรรคประชาธิปัตย์ตอบโต้กลับแทบจะทันที และทุกครั้ง ว่า เป็นขบวนการปล่อยข่าวเพื่อเรียกร้องความเห็นใจให้รัฐบาลและเป็นการปลุกระดมมวลชนคนเสื้อแดงเท่านั้น ทั้งที่เรื่องดังกล่าวไม่มีมูลความจริง เป็นการสร้างข่าวลือ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ บอก พรรคประชาธิปัตย์ทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภา ไม่มีเรื่องพิสดารที่คิดจะโค่นล้มรัฐบาล ดังนั้น การพยายามพูดเรื่องนี้จึงเหมือนเป็นนิทานต่อเนื่อง
แต่กระนั้น เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยก็คงไม่หยุดที่จะปูดเรื่อง "ล้มรัฐบาล" เพราะถือเป็นการ "ดักคอ" เอาไว้ล่วงหน้า
เนื่องจากเรื่องที่จะขจัดรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกจากอำนาจ ก็มีเค้าอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน
เพียงแต่เมื่อไม่มีหลักฐานเอามายันกันได้ชัดๆ
ก็ต้องทำสงคราม "น้ำลาย" กันไปเรื่อยๆ อย่างที่เห็น
สะท้อนบรรยากาศ "หักโค่น" ทางการเมือง ที่เข้มข้น
และที่น่าห่วง คือมันเลยเถิด "ออกนอกระบบ" ไปถึงขั้นมีการเรียกร้อง "ปฏิวัติ" เสียด้วย
++
"ดีเอสไอ" เฮือกท้าย เล็งสอบ "ไก่อู-สุเทพ" คดี "ผังล้มเจ้า" ส่อล่ม!
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 03 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1642 หน้า 14
ถือกำเนิดขึ้นในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เป็นเครื่องมือกล่าวหาใส่ร้ายผู้ชุมชุมทางการเมืองเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 กระทั่งเรื่องเข้าสู่กระบวนการของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ
ปัจจุบันผ่านมาเกือบ 2 ปี ปรากฏว่าคดี "ผังล้มเจ้า" กลับเดินหน้าเข้าหาทางตันเข้าไปทุกขณะ
ถึงขั้นที่ พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีกล่าวยอมรับว่า
แม้ผ่านมาเกือบ 2 ปี แต่การสืบสวนสอบสวนพบแต่ความว่างเปล่า ไม่มีพยานหลักฐานหรือเอกสารใดยืนยันแหล่งที่มาของผังล้มเจ้าได้ชัดเจน
เค้าลางของผังล้มเจ้าที่ส่อให้เห็นว่าสุดท้ายแล้วอาจเป็นแค่ผังลวงโลกนั้น
มีมาตั้งแต่เมื่อครั้ง พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อดีตโฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) แถลงต่อศาลเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 แล้วว่า
เอกสารแผนผังเครือข่ายขบวนการล้มเจ้า ที่ พ.อ.สรรเสริญ ได้รับมาจากที่ประชุม ศอฉ. แล้วนำมาแจกจ่ายต่อสื่อมวลชนในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2553 นั้น
"มิได้หมายความว่าผู้ที่มีชื่อในเอกสารเป็นผู้เกี่ยวข้องในฐานะอยู่ในขบวนการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เป็นความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ในลักษณะต่างๆ ซึ่งให้สังคมพิจารณาและวินิจฉัยเอาเอง"
ต่อมา พ.อ.สรรเสริญ ได้เข้าให้ปากคำเพิ่มเติมต่อพนักงานสอบสวนดีเอสไออีกหลายครั้ง แต่ทุกครั้งไม่มีการระบุชัดถึงแหล่งที่มาของผังว่า ใครเป็นคนจัดทำขึ้น
เช่นเดียวกับ นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และอดีตเลขานุการ ศอฉ. ที่เข้าให้การเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2555 ก่อนออกมาให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า
"ผมจำไม่ได้จริงๆ ว่าบุคคลใดเป็นคนเสนอแผนผังดังกล่าวขึ้นมา เพราะทำงานกับคนจำนวนมาก อีกทั้งระยะเวลาผ่านมานานพอสมควรแล้ว บอกได้เพียงว่าเป็นฝ่ายข่าวฝ่ายความมั่นคงช่วยจัดทำขึ้นมา"
เป็นเพียงคำให้การกว้างๆ ที่ไม่สามารถระบุตัวคนทำผังได้
แม้แต่ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ที่นั่งเป็นกรรมการ ศอฉ. ด้วยในขณะนั้น
ก็ยังกล่าวยอมรับว่าตนเองนั่งประชุมเป็นกรรมการ ศอฉ. จริง แต่ไม่ได้รู้ที่มาของแผนผังล้มเจ้าว่าใครเป็นคนจัดทำ เพราะกรรมการ ศอฉ. ไม่ได้เป็นคนจัดทำ
"ผมเห็นแผนผังอย่างไม่เป็นทางการมาสักระยะจากการตีพิมพ์ของสื่อ แต่เห็นอย่างเป็นทางการวันที่ท่านสุเทพ (เทือกสุบรรณ) นำแผนผังนี้มาชี้แจงให้ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ"
การประชุมของ ศอฉ. มีหลายชุด หลายวง ทั้งฝ่ายยุทธศาสตร์ ฝ่ายข่าว แต่วงประชุมของผมไม่มีการพูดถึงแผนผังล้มเจ้า?อธิบดีดีเอสไอระบุ
เมื่อคดีเริ่มไปต่อไม่ได้ ทำให้ พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข หัวหน้าพนักงานสอบสวนทำเรื่องถึง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เพื่อเรียกพยานบุคคลอื่นมาให้การเพิ่มเติม และได้รับอนุมัติแล้วจากการหารือร่วมกับฝ่ายอัยการ
อาทิ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อดีตโฆษก ศอฉ. พ.อ.วิจารณ์ จดแตง ทหารสังกัด กอ.รมน. ผู้กล่าวหาในคดี และยังอาจรวมไปถึง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และผู้อำนวยการ ศอฉ. ในขณะนั้นด้วย
ทั้งยังเตรียมส่งหนังสือเร่งรัดไปยัง นายถวิล เปลี่ยนศรี ให้จัดส่งเอกสารคำชี้แจงผังล้มเจ้ามาให้ดีเอสไอเพิ่มเติม เนื่องจากหลักฐานที่มีอยู่ตอนนี้ ไม่เพียงพอดำเนินการใดๆ ต่อไปได้
พ.ต.อ.ประเวศน์ กล่าวว่า สิ่งที่พนักงานสอบสวนต้องการทราบมากที่สุดขณะนี้คือ ต้องการรู้ว่าใครเป็นผู้จัดทำผังล้มเจ้านี้ขึ้นมา และเอาข้อมูลมาจากไหน
เนื่องจากที่ผ่านมาพยานให้การแค่ว่า เป็นหน่วยข่าวฝ่ายความมั่นคงนำมาวิเคราะห์ว่าใครเป็นอย่างไร แต่ไม่สามารถระบุชื่อคนทำที่ดีเอสไอจะสามารถเรียกมาสอบสวนต่อได้
"ที่ผ่านมามีเพียงพยานบอกเล่า ไม่มีน้ำหนัก"
เป็นเรื่องแปลกที่กรณีแผนผังล้มเจ้า ซึ่งถือเป็นหนึ่งในคดีใหญ่และครึกโครมมากที่สุดเมื่อปี 2553
เนื่องจากมีกล่าวหาบุคคลจำนวน 39 คน ซึ่งถูกลากเส้นโยงเข้าหากันด้วยข้อหาร้ายแรงว่า เป็นขบวนการล้มล้างสถาบันกษัตริย์
แต่เมื่อเรื่องเข้าสู่กระบวนการสืบสวนสอบสวนของดีเอสไอ จากการให้ปากคำของกรรมการ เลขานุการและโฆษก ศอฉ. ในฐานะผู้เกี่ยวข้องโดยตรง
กลับไม่มีใครรู้ว่า "ผังล้มเจ้า" ที่ครั้งหนึ่งรัฐบาลอภิสิทธิ์ และ ศอฉ. เคยใช้เป็นเครื่องมือใส่ร้ายทำลายกลุ่มปรปักษ์ทางการเมืองนั้น มีที่มาอย่างไรหรือใครเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมา
พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข ยังกล่าวถึงกรณี นายถวิล เปลี่ยนศรี ให้สัมภาษณ์ในวันเข้าให้การกับพนักงานสอบสวน ยอมรับว่ารายชื่อบุคคลในผังล้มเจ้า จำนวน 39 รายชื่อ มีบางคนไม่ได้กระทำความผิด
อีกทั้งพยานฝ่ายทหารที่เข้าให้การก็ระบุตรงกันว่า มีบางคนไม่ได้กระทำความผิด
ซึ่งคำให้สัมภาษณ์ของนายถวิลและคำให้การของพยานฝ่ายทหาร ถือว่าขัดแย้งกับคดี เพราะที่ผ่านมา ศอฉ. ได้กล่าวโทษบุคคลทั้งหมดในผัง
เมื่อขัดแย้งคลุมเครือจึงต้องนำหลักฐานมาพิสูจน์ให้ชัดเจน เนื่องจากคดียืดเยื้อมาเกือบ 2 ปี ดีเอสไอจึงต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้น
แต่จะเสร็จสิ้นลงเอยแบบใดนั้น
หาก นายถวิล เปลี่ยนศรี ในฐานะอดีตเลขานุการ ศอฉ. ไม่สามารถชี้แจงที่มาของแผนผังล้มเจ้าได้
หรือเมื่อเรียก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะ ผอ.ศอฉ. มาให้การ หรือเมื่อนายสุเทพส่งเอกสารให้การเป็นลายลักษณ์อักษรมาแล้ว
แต่ไม่สามารถชี้แจงให้ชัดเจนได้ว่า
แผนผังดังกล่าวจัดทำขึ้นจากหลักฐานใด การเชื่อมโยงตัวบุคคลในผังมีหลักฐานความผิดอย่างไร และกระทำผิดในเหตุการณ์ใดเนื่องจากบางรายชื่อยังไม่มีการกระทำความผิด
พนักงานสอบสวนอาจพิจารณายกฟ้องคดี
เมื่อถึงตอนนั้นความจริงอีกด้านที่ถูกซุกซ่อนไว้ภายใต้คดี "ผังล้มเจ้า" ซึ่งยืดเยื้อมานานนับปี
ก็จะปรากฏขึ้นอย่างมิต้องสงสัย
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย