http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-02-28

3 กูรูมอง "สสร.ใหม่" ความหวัง หรือ ทางตันการเมืองไทย

.

3 กูรูมอง "สสร.ใหม่" ความหวัง หรือ ทางตันการเมืองไทย
ในข่าวสด ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เวลา 00:36 น.


หมายเหตุ : วันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ห้องกระดังงา รร.โกลเด้นทิวลิป สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย จัดเสวนาวิชาการ “ มาตรา 291 : ว่าด้วย สสร. 3 ในมุมมองอดีต สสร.” มีนายคณิน บุญสุวรรณ อดีตสสร. 2540 นายเดโช สวนานนท์ อดีตสสร. 2550 และนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีต สสร.2540 ร่วมเสวนา มีเนื้อหาน่าสนใจ ดังนี้


พงศ์เทพ เทพกาญจนา

เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และรัฐธรรมนูญปี 2550 รัฐธรรมนูญชุดใหม่ที่กำลังจะยกร่างน่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ยึดถือประโยชน์ของประชาชนมากที่สุด เพราะปี 2540 สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. มาจากให้ผู้สมัครแต่ละจังหวัดเลือกกันเองจนเหลือ 10 คน แล้วให้สภาเลือกจนเหลือจังหวัดละคน

ส่วนปี 2550 มีสมัชชา 2,000 คน เลือกกันเองเหลือ 200 คน แล้วให้ คมช. เลือกเหลือ 100 คน แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ อย่างน้อย สสร.ส่วนใหญ่ก็มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ใครที่กลัวว่าวิธีนี้พรรคการเมืองจะเข้ามาครอบงำ แสดงว่าท่านไม่เห็นด้วยกับระบอบประชาธิปไตย

มีคนตั้งคำถามว่า ทำไมจังหวัดเล็กและจังหวัดใหญ่ จึงกำหนดให้มี สสร. คนเดียวเท่ากัน ทำไมไม่ใช่ระบบสัดส่วน ส่วนตัวมองว่า สสร.จะทำงานได้ดี ต้องมีขนาดที่เหมาะสม ไม่ใหญ่เกินไป

ถ้ามีจำนวนมากเท่า สส. ก็จะใช้เวลาทำงานมากขึ้นอีก ที่ผ่านมามี สสร.ประมาณ 100 คน ก็ทำงานคืบหน้า และกระชับเวลาดีพอสมควร หรือถ้าจะมีเพิ่มขึ้นอีก ก็ไม่ควรเกิน 120-130 คน อีกส่วนที่หนักใจคือภาคของผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งกระบวนการสรรหาจะยุ่งยากมาก สสร. จะมาจากการเลือกตั้งอย่างเดียวก็เป็นไปได้ เพราะถ้าต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านการร่างรัฐธรรมนูญก็สามารถเรียกมาช่วยในฐานะคณะอนุกรรมการได้

ที่มีความกังวลว่าจะมีการครอบงำ สสร. นั้น อยากให้สังเกตดูว่า สสร.ปี 2540 ที่ตนเป็นอยู่ และสมาชิกรัฐสภามีบทบาทมากในการเลือกเข้ามา ก็ไม่ได้ถูกครอบงำ เพราะรัฐบาลในขณะนั้น คือพรรคความหวังใหม่ แกนนำหลายคนก็ไม่เห็นด้วยกับการยกร่าง ส่วนสว. ที่ว่ากันว่ามีบทบาทมาก ร่างที่เราเสนอในขณะนั้นก็เปลี่ยนที่มาของ สว.จากแต่งตั้ง เป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง แสดงให้เห็นว่า แสดงให้เห็นว่าสมาชิกสภาไม่สามารถครอบงำได้เลย ปัจจุบันยิ่งเป็นสว.ที่มาจากการเลือกตั้ง ยิ่งไม่ต้องกังวลเลย

ขอให้ประชาชนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ข้อครหาที่บอกว่ายกร่างเพื่อพรรคโน้นพรรคนี้ ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ถ้าประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และสื่อมวลชนเปิดเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างกว้างขวาง ถ้ากระบวนการเป็นอย่างนี้ สุดท้ายก็จะได้รัฐธรรมนูญที่ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก และเป็นรัฐธรรมนูญที่เรากลั่นกรองความคิดได้ดีที่สุดในระยะเวลาเช่นนี้

ส่วนข้อเสนอ 3 ข้อของฝ่ายค้าน ตนรู้สึกแปลกใจที่มีการพูดถึงหมวดสถาบัน เพราะเข้าใจมาตลอดว่า สสร. ไม่ว่าชุดไหน ไม่คิดจะไปแก้ไขหมวดนี้เองอยู่แล้ว จึงรู้สึกว่าเป็นความพยายามใช้ประเด็นนี้ปรักปรำผู้อื่นมากกว่า ส่วนประเด็นเรื่องศาลและองค์กรอิสระ โดยหลักการแล้วควรมีการถ่วงดุล ตรวจสอบกันและกัน เมื่อรัฐบาลถูกตรวจสอบ สมาชิกสภาถูกตรวจสอบ องค์กรเหล่านี้จึงต้องถูกตรวจสอบด้วย ขณะที่เรื่องการนิรโทษกรรม รัฐธรรมนูญปี 2550มาตรา 304 พูดถึงเรื่องการนิรโทษกรรมให้ผู้ก่อการยึดอำนาจ จึงไม่แน่ใจว่าทางฝ่ายค้านต้องการให้ยกเลิกมาตรานี้ หรือต้องการให้รับรองต่อไป

ที่มีการเสนอว่าควรจำกัดคุณสมบัติ สสร. ว่า ไม่ควรเป็นสมัครชิกพรรคการเมือง และไม่ควรเป็นบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารนั้น เห็นว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญ เกี่ยวข้องกับคนไทยทุกคน ไม่ควรมีใครถูกกีดกันออกจากกระบวนการยกร่าง น่าเสียดายถ้าจะมีการกีดกันคนเหล่านี้ เพราะคนที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองมีอยู่มาก และล้วนเป็นคนที่สนใจเรื่องการเมือง ควรให้โอกาสเขาและประชาชนจะเป็นคนกลั่นกรองเอง

ส่วนเรื่องระยะเวลา เห็นว่าถ้าสั้นไปจะทำให้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ทั่วถึง จะเพิ่มจาก 180 วัน เป้น 210 หรือ 240 วัน ไม่มีปัญหา ถ้าคิดว่าประชาชนจะมีส่วนร่วมมากขึ้น แต่ถ้าเกินกว่านี้ก็ไม่จำเป็น


เดโช สวนานนท์

ไทยมี สสร. มาแล้วมากกว่า 3 ชุด ชุดแรกเมื่อปี 2492 ชุดที่ 2 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ดังนั้นสสร. ชุดต่อไป จึงจะเป็นชุดที่ 5 ซึ่งควรจะเป็น สสร. ชุดสุดท้ายเสียที ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญมากที่สุดในโลก คือ 18 ฉบับ สสร.ชุดใหม่ควรตั้งเป้าให้รัฐธรรมนูญฉบับที่จะร่างใหม่นี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเสียที

สาเหตุที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาก เพราะมีการปฏิวัติกันมาก

ปฏิวัติครั้งหนึ่งก็เขียนรัฐธรรมนูญใหม่เสมอ ปัจจุบันเรามีรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติ 14 ฉบับ มีแค่ 4 ฉบับเท่านั้นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติ เราน่าจะใส่กรอบในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ชัดเจนว่า มีเจตจำนงที่ไม่ยอมรับการปฏิวัติ รัฐธรรมนูญฉบับ 2517 ก็เขียนข้อนี้ไว้ ยุคนั้นเป็นยุคที่นักศึกษาออกมาเคลื่อนไหว และเป็นยุคที่มีนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกฯ ถ้าไม่มีมาตรานี้ เขาก็นิรโทษกรรมกันทุกที

ส่วนเขียนแล้วจะมีประโยชน์จริงหรือ
ผมเห็นว่าอย่างน้อยก็ใส่ไว้เตือนสติ เดี๋ยวถ้าพอใจเหตุผล ทุกคนก็รับได้ปฏิวัติไม่ได้
ต้องเปลี่ยนเป็นไม่ให้มีเหตุผลใดสำหรับการปฏิวัติ ถ้าทำอย่างนี้ได้ รัฐธรรมนูญฉบับต่อไปจึงจะมีความหมาย กฎหมายข้ออื่นๆ ก็เช่นกัน ขอให้ระบุว่าแต่ละมาตรามีเจตนารมณ์อย่างไร เพื่อศาลจะได้วินิจฉัยได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ไม่ใช่วินิจฉัยตามความต้องการของใคร

กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่น่าสังเกตอีกอย่างคือเรื่องของเวลา ถ้าเร่งรัดเกินไปจะทำให้กระบวนการแปรญัติติเสียหาย ถ้าไม่ให้เวลาก็ไม่มีประโยชน์ ผมเคารพรัฐธรรมนูญปี 2540 มาก เพราะให้เวลา สสร. แปรญัติแบบไม่อั้น แต่ สสร.ปี 2550 กลับระบุว่า การแปรญัติมาตราใดๆ จะต้องมีผู้รับรอง 10 คน ทำให้แปรได้เพียง 7 ประเด็น จากกว่า 100 ประเด็น

มีคนพูดกันมากว่า ทำอย่างไรให้ สสร.ปลอดการเมือง ผมแปลกใจว่าทำไมต้องกีดกันนักการเมือง ถ้าเรากีดกันคนได้ 1 ประเภทแล้ว ก็ไม่รับประกันว่าจะมีการกีดกันคนประเภทอื่นๆ ต่อไปอีก สสร. 3 ถ้ามีการสมัคร ผมก็อาจจะพิจารณาลงสมัคร แต่ถ้าเป็นการแต่งตั้งผมไม่รับ

กระบวนการเลือกตั้งเป็นกระบวนการที่ต้องเคารพ ที่บอกว่า สสร.จำเป็นต้องมีสัดส่วนของนักวิชาการด้วยนั้น ผมว่าไม่จริง เราควรมีนักวิชาการมาช่วยแปรญัติ แต่เรื่องความคิดพื้นฐานควรมาจากประชาชน และประชาชนไม่ได้โง่ อย่างไรก็ตามการกำหนดคุณสมบัติ ผู้สมัคร สสร. ไว้สูงยังเป็นสิ่งจำเป็น แม้จะเปิดโอกาสให้ปราชญ์ชาวบ้านมาร่วมได้ แต่ก็ควรกำหนดไว้ว่าต้องมีคุณสมบัติเทียบเท่าระดับใด

ทั้งนี้ไม่ควรห้ามคนที่เคยเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารมายุ่งกับรัฐธรรมนูญ เพราะองค์คุลีมาลยังกลับใจ คนที่ทำรัฐประหารแล้วกลับใจอยากเลือกตั้งก็มี ปล่อยให้บทเรียนของประชาธิปไตยสอนเขาดีกว่า อย่าไปกีดกัน แต่ว่าให้ลาออกจากตำแหน่งที่อยู่เสียก่อนเป็นสำคัญ

ความสำเร็จของรัฐธรรมนูญ 2540 มาจากความโปร่งใส สังเกตได้จาก สสร. ไม่มีการประชุมลับเลย แต่เปิดให้สื่อมวลชนร่วมสังเกตตลอด นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับผุ้นำ คือ ประธาน สสร. และประธานยกร่างรัฐธรรมนูญ

ส่วนเรื่องของเวลา เสนอให้ต่อเวลาได้ถ้าจำเป็นจริงๆ อาจจะครั้งละ 30 วัน ไม่เกิน 2 ครั้ง แต่ถ้าร่างได้ภายใน 180 วันก็ถือว่าดีไป


คณิน บุญสุวรรณ

เห็นด้วยที่จะให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับสุดท้าย แต่ละฉบับที่เกิดจากการรัฐประหารสร้างความเสียหายใหญ่หลวงมาก สิ่งที่อยากเสนอ คือ

1. ที่มาขององค์กรร่าง ตั้งแต่มี สสร.มา ปี 2540 ชอบธรรมที่สุด แต่ยังไม่พอ เพราะที่มาต้องสอดคล้องกับประชาธิปไตย และหลักนิติธรรม คือทั้งหมดต้องมาจากการเลือกตั้ง

2. กระบวนการยกร่างต้องเป็นประชาธิปไตยและเป็นอิสระ ไม่เฉพาะจากพรรคการเมืองเท่านั้น แต่ต้องเป็นอิสระจากระบบราชการและระบบศาลด้วย

3.โครงสร้างและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ อำนาจทั้ง 3 ฝ่าย ต้องแบ่งแยกอำนาจอย่างชัดเจน เป็นอิสระ และถ่วงดุลกันได้ และต้องยึดโยงกับประชาชน

4.ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ และผู้อยู่เบื้องหลัง ต้องไม่มีเรื่องของผลประโยชน์ขัดกัน

5.การมีส่วนร่วมของประชาชน ต้องเริ่มตั้งแต่ที่มาของ สสร. และการมีส่วนร่วมต้องเป็นรูปธรรมชัดเจน นอกจากนี้ยังเห็นด้วยที่ระยะเวลาแปรญัติต้องมากพอ เพราะ สสร. ไม่ได้เอาความคิดของตัวเองมาแปร แต่เป็นตัวแทนเอาความคิดประชาชนมาเสนอ คิดว่า 240 วัน ยังน้อยเกินไปด้วยซ้ำ

6. เห็นด้วยกับการบัญญัติเรื่องห้ามกระทำปฏิวัติรัฐประหารไว้ในรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับต่อจากนี้ไปต้องมีภูมิต้านทานรัฐประหาร

ส่วนตัวเห็นว่า ทั้ง 3 ร่างที่ผ่านสภาไปแล้ว ร่างของรัฐบาล มีที่มาขององค์ร่างเหนือว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมา แต่ที่แตกต่างกันคือร่างของรัฐบาลไม่ได้กำหนดว่า ผู้สมัคร สสร. ต้องจบปริญญา ซึ่งเป็นร่างที่ก้าวหน้าที่สุด เพราะจะทำให้ประชาชนมีความรู้สึกร่วมว่าเขาเองเป็นเจ้าของประเทศ

แต่การกำหนดให้มี สสร. จังหวัดละ 1 คน นั้นขัดต่อหลักนิติธรรม ต้องเอาจำนวนประชากรเป็นหลัก มิฉะนั้นจะเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชนในเมืองใหญ่ เพราะผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายก็อยู่ในเมืองใหญ่ และการให้มี สว.จังหวัดละ 1 คน ก็ไม่มีเหตุผลอะไรรองรับ

ถ้าจะมีการห้ามคุณสมบัติต่างๆ ของ สสร. ควรห้ามเฉพาะคน 2 กลุ่ม ที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง คือ 1. สส. สว. ข้าราชการการเมือง และ 2. ข้าราชประจำ ไม่ได้หมายความว่าคนเหล่านี้เป็นคนไม่ดี แต่ท่านเป็นคนที่มีส่วนได้เสีย ส่วนสมาชิกพรรคการเมืองธรรมดา ไม่ควรจะไปจำกัด

ความสำเร็จของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปัจจัยสำคัญคือ ทำอย่างไรให้ผู้มีส่วนได้เสียโดยเฉพาะสมาชิกสภา หลุดพ้นจากพันธะเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยรัฐบาล ทำให้สมาชิกสภาหลุดพ้นจากพันธะนี้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า สสร. ร่างแล้วต้องส่งให้สภาพิจารณาก่อน แต่ที่รัฐบาลนี้เสนอคือ สสร. ร่างแล้วยกไปให้ประชาชนพิจารณาได้เลย โดยไม่ต้องผ่านสภา สภาจึงหลุดพ้นจากข้อครหาใดๆ ทั้งสิ้น

ส่วนเรื่อง สสร.ผู้เชี่ยวชาญก็สร้างปัญหาให้มาก ไม่ต้องห่วงว่า สสร.จะขาดผู้เชี่ยวชาญ ถ้ากติกาดีจะมีผู้เชี่ยวชาญไปร่วมลงสมัคร สสร.แน่นอน และถ้า สสร. มาจากการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ รัฐบาลก็จะพ้นจากข้อครหาใดๆ ทั้งสิ้น ย้ำว่าควรให้การเขียนรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของ สสร. ประชาชน และสื่อมวลชน อย่าให้มีการเมืองเข้าไปยุ่งเลย

ประการสุดท้าย ไม่ควรให้ สสร. สิ้นสลายไปเลยเมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ เพราะคนที่มาใช้อำนาจตีความบังคับใช้รัฐธรรมนูญจะเป็นคนใหม่ทั้งสิ้น หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว ขอเวลาให้ สสร. เดินสายชี้แจง ประชาสัมพันธ์ ถึงบทบัญญัติต่างๆ ในรัฐธรรมนูญก่อน



.