http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-02-14

นิธิ เอียวศรีวงศ์: แท็บเล็ต

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์: แท็บเล็ต
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เวลา 21:00:00 น.


แท็บเล็ตมีความหมายมากกว่าเทคโนโลยีทันสมัย หากตามความหมายของมันไปให้ทั่วถึง กระทรวงศึกษาฯไม่ได้เตรียมการอะไรแก่ความหมายอื่นเลย นอกจากซื้อจากจีน

รมต.ศึกษาฯคนเก่าพูดถึงการโหลดตำราเรียนลงแท็บเล็ตก่อนแจก ซึ่งก็ดี เพราะเบากว่าตำราหลายๆ เล่มที่นักเรียนต้องหอบไปจนหลังโก่ง แต่ก็ต้องคิดให้รอบคอบด้วยว่า แอพพลิเคชั่นหนังสือต้องเปิดให้นักเรียนสามารถขีดเส้นลงบนตำราได้ รวมทั้งสามารถเขียนอะไรเสริมลงไปได้เอง อย่างที่หนังสือกระดาษสามารถทำได้

แต่เพียงแค่ทำแท็บเล็ตให้เท่ากับหนังสือกระดาษ ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะต้องไปเสียเงินซื้อ เพราะยังมีวิธีอื่นอีกหลายอย่าง ในการลดน้ำหนักของตำราที่เด็กจะต้องหอบไปโรงเรียน แท็บเล็ตสามารถเพิ่มสมรรถภาพของตำราได้อีกมาก เช่นมีแอพพลิเคชั่น "ดรรชนี" ซึ่งรวมความรู้เรื่องต่างๆ ในหนังสือตำราทุกเล่มทุกวิชาให้มาอยู่บนจอได้หมด เพียงแค่นักเรียนแตะสิ่งที่อยากรู้ เช่น "ภูเขา" ก็จะปรากฏเรื่องภูเขาในตำราภูมิศาสตร์, ภาษาอังกฤษ, วรรณคดี, วาดเขียน หรือแม้แต่วิธีคำนวณความสูงด้วยสายตาซึ่งมีอยู่ในวิชาคณิตศาสตร์ ออกมาให้นักเรียนได้อ่านทั้งหมด

ลองใช้จินตนาการไปเถิด ก็จะเห็นศักยภาพของแท็บเล็ตในการเรียนรู้ของเด็กได้ไม่สิ้นสุด

ใช่แต่เท่านั้น หากใช้แท็บเล็ตให้เต็มตามศักยภาพของมัน การเรียนรู้จะเปลี่ยนจากคำบอกของครู มาเป็นการเรียนรู้จากการอ่าน, การพูดคุยแลกเปลี่ยน, การทดลองทำเอง ฯลฯ - พลิกแนวทางการเรียนรู้ในโรงเรียนไปอีกทางหนึ่ง - ซึ่งทำให้ต้องเตรียมตัวเตรียมการมากกว่าคิดสร้างแอพพลิเคชั่นที่เหมาะสมของแท็บเล็ตเท่านั้น

ดังนั้นตำราอย่างเดียวจึงไม่พอ หนังสือสำหรับอ่านเสริมอีกมาก รวมทั้งที่อยู่ในรูปการ์ตูน, นวนิยาย, กวีนิพนธ์, นิทาน, หรือคลิปวิดีโอ ก็ควรถูกเลือกสรรและโหลดลงไว้ในแท็บเล็ตของนักเรียนด้วย และหากรวมเข้าไปในแอพพลิเคชั่น "ดรรชนี" เพื่อการค้นหาอย่างสะดวกได้ก็ยิ่งดี

คุณค่าสำคัญของแท็บเล็ต (หรือคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล) คือช่องทางใหม่ของการสื่อสาร ซึ่งสามารถนำข้อมูลในหลายรูปแบบมาแบ่งปันกันในวงกว้างอย่างที่โลกไม่เคยรู้จักมาก่อน แจกแท็บเล็ตโดยไม่เปิดช่องของการสื่อสารเช่นนี้ จึงเท่ากับลดคุณค่าของแท็บเล็ตไปกว่าครึ่ง ฉะนั้นนอกจากด้านฮาร์ดแวร์ที่กระทรวงศึกษาฯต้องเตรียมการแล้ว (เช่นระบบสื่อสารไร้สาย) ยังต้องเตรียมการในด้านซอฟต์แวร์อีกหลายอย่าง ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะโปรแกรมหรือแอพพลิเคชั่นเท่านั้น แต่รวมถึงซอฟต์แวร์ด้านคนและกระบวนการเรียนรู้ด้วย

นักเรียนสามารถติดต่อกับครูได้โดยสะดวก ทั้งเพื่อส่งการบ้าน, ปรึกษาเรื่องงานที่ได้รับมอบหมาย, ถามคำถาม หรือตอบคำถาม ที่สำคัญคือได้พูดคุย และในทางกลับกัน ครูก็สามารถติดต่อสื่อสารกับนักเรียนทั้งเป็นรายบุคคลหรือโดยรวมทั้งชั้นได้สะดวกเช่นกัน ไม่เฉพาะแต่ครูกับนักเรียนเท่านั้น แต่นักเรียนด้วยกันเองก็สามารถติดต่อกันผ่านแท็บเล็ตได้

การสื่อสารเป็นส่วนใหญ่ส่วนหนึ่งของชีวิตคนทุกคน การที่การศึกษาเข้าไปแทรกในการสื่อสารในชีวิตของนักเรียน จึงหมายถึงการขยายการศึกษาให้ครอบคลุมชีวิตของนักเรียนมากกว่าชั้นเรียนอย่างเทียบกันไม่ได้ ดังนั้นจึงไม่ควรกังวลว่า นักเรียนจะใช้ช่องทางใหม่ของการสื่อสารนี้ไปในทางที่ "ผิด" เช่นทำให้ภาษาไทยวิบัติ, แชตกันในเรื่องไร้สาระ, หรือสื่อสารสิ่งที่เสื่อมเสียศีลธรรมและวัฒนธรรมไทย ทั้งหมดนี้คงเกิดขึ้นแน่ แต่ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะแท็บเล็ต (ถึงใช้มือถือก็ทำอย่างเดียวกันได้) หากเกิดขึ้นจากเงื่อนไขในชีวิตของนักเรียนเอง การแทรกเข้าไปในการสื่อสารของชีวิตนักเรียนผ่านแท็บเล็ต คือการสร้างเงื่อนไขใหม่ที่สร้างสรรค์กว่าเข้าไปแข่งกับเงื่อนไขอื่น จะสำเร็จหรือไม่ และมากน้อยอย่างไร ขึ้นอยู่กับวิธีที่จะเข้าไปแทรก

เช่นครูชวนชั้นเรียนคุยเรื่องอะไรผ่านแท็บเล็ต มีวิธีนำเสนอให้น่าสนใจแก่ชั้นเรียนอย่างไร จึงจะดึงนักเรียนให้หันมาใช้เวลาเพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุยเรื่องนั้น (กับครูและเพื่อนร่วมชั้นเรียน) แทนที่จะแชตกันเรื่องไร้สาระ แม้แต่เรื่องที่นักเรียนคุยกันเอง นักเรียนบางคนก็อาจดึงสาระจากเรื่อง "ไร้สาระ" ได้ และเปลี่ยนแนวทางการพูดคุยของชั้นเรียนได้

หลักการสำคัญคือทำให้พื้นที่พูดคุยเช่นนี้ในแท็บเล็ตเป็นสาธารณะแก่ชั้นเรียน ทุกคนรู้ว่าใครพูดอะไรและอย่างไร ครูไม่มีอำนาจเหนือการพูดคุยของชั้นเรียนมากไปกว่าเป็นสมาชิกคนหนึ่ง (ซึ่งมีวุฒิภาวะมากกว่า และด้วยเหตุดังนั้นจึงอาจกำกับการพูดคุยได้ด้วยกลวิธีที่ฉลาด โดยไม่ต้องใช้อำนาจ)

ประเด็นหลักคือปล่อยให้สาธารณะ หรือ "สังคม" ของชั้นเรียน กำกับพฤติกรรมการพูดคุยในเวทีนี้เอง

แน่นอนว่าแท็บเล็ตย่อมเปิดโอกาสให้นักเรียนสามารถค้นหาข้อมูลได้กว้างขวาง อันที่จริงทักษะในการค้นหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตเป็นทักษะพื้นฐานที่คนสมัยใหม่ต้องเรียนรู้ ฉะนั้นการได้ครอบครองแท็บเล็ตจึงเป็นโอกาสสำคัญที่นักเรียนจะได้เรียนรู้จนเกิดความเชี่ยวชาญ กระทรวงศึกษาฯต้องคิดออกแบบกระบวนการเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อจะนำนักเรียนไปสู่ทักษะด้านนี้ให้ได้ อาจต้องมีแอพพลิเคชั่นช่วยในการค้นหา ให้เหมาะกับวัยของนักเรียนด้วย จะอาศัยแต่ search engine ของฝรั่ง อาจไม่เหมาะกับเด็กในบางวัย (เพราะต้องรู้จักวิธีอ่านข้าม และอ่านเจาะ)

แท็บเล็ตช่วยทำให้ลอกการบ้านกันง่ายขึ้น แต่การลอกการบ้านนั้นไม่ดีไม่ใช่เพราะลอก ไม่ดีเพราะลอกโดยขาดกระบวนการทำความเข้าใจต่างหาก ฉะนั้นอาจถึงเวลาเสียทีสำหรับการเปลี่ยนแปลงแบบฝึกหัดในการศึกษาไทย เช่นทำให้กระบวนการคิดหาคำตอบมีความสำคัญกว่าตัวคำตอบ ทำให้คำตอบเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันค้นหา ทำให้คำตอบไม่มีอันเดียว แต่มีได้หลายอย่าง ขึ้นอยู่กับกระบวนการคิดที่แตกต่างกัน ทำให้คำตอบมีความสำคัญน้อยลงกว่าการพัฒนาคำถามใหม่จากกระบวนการหาคำตอบ ฯลฯ เป็นต้น

แต่แท็บเล็ตเฉยๆ ไม่ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ใหม่ขึ้นได้ จะใช้แท็บเล็ตให้เต็มศักยภาพของมัน จึงต้องหมายถึงการปรับเนื้อหาและหลักสูตรกันใหม่ ให้เอื้อต่อการเรียนรู้ที่นักเรียนต้องทำให้ตัวเอง โดยมีครูช่วยจัดการให้เกิดการเรียนรู้ขึ้น ทั้งนักเรียนเป็นคนคนไป และนักเรียนทั้งชั้น หลักสูตรที่ตายตัวเกินไป ทำให้ความสนุกสนานในการเรียนรู้หายไป เด็กเกิดอยากรู้อยากเห็นในเรื่องนอกหลักสูตรไม่ได้ และในทางตรงกันข้าม ไม่อยากรู้อยากเห็นในเรื่องที่มีอย่างตายตัวในหลักสูตรก็ไม่ได้ เด็กแต่ละคนพัฒนาความถนัดของตนเองไม่ได้ ฯลฯ ความอยากรู้อยากเห็นควรชี้นำหลักสูตร มากกว่าหลักสูตรชี้นำความอยากรู้อยากเห็น แท็บเล็ตเปิดโอกาสให้หลักสูตรโอนอ่อนตามความอยากรู้อยากเห็นของเด็กแต่ละคน ฉะนั้นแท็บเล็ตจึงเปิดโอกาสให้การศึกษาตอบสนองต่อเด็กเป็นรายบุคคลมากขึ้น (individualized)... หากจะใช้แท็บเล็ตให้เต็มศักยภาพของมัน

ทั้งหมดนี้นำมาสู่ครูพันธุ์ใหม่ ซึ่งสนุกในการเรียนรู้ และพร้อมจะเรียนรู้ร่วมไปกับนักเรียน ทำให้การเรียนไม่ใช่การท่องจำ แต่เพราะได้ใช้เหตุผลจนเข้าใจ จึงง่ายที่จะจดจำ ครูที่พร้อมจะใช้สติปัญญามากกว่าการลงโทษ แต่หันมาใช้กลวิธีนานาชนิด เพื่อตะล่อมให้นักเรียนสนุกในการเรียนรู้ ครูที่ไม่ได้สอนแต่ในห้องเรียน แต่เป็นครูที่สละเวลาเข้าไปเสริมกระบวนการเรียนรู้ของเด็กในบ้านด้วย

แต่ครูพันธุ์ใหม่ต้องถูกบ่มเพาะมาตั้งแต่ระดับฝึกหัดครู ซึ่งบัดนี้ก็ตกไปอยู่ในความดูแลของ สกอ.หมดแล้ว ในฐานะผู้กำกับ สกอ. กระทรวงศึกษาฯต้องโน้มน้าวให้ สกอ.ถือการปฏิรูปการฝึกหัดครูเป็นภารกิจใหญ่อีกอันหนึ่ง ผู้สำเร็จการศึกษาด้านครูต้องมีทักษะที่จะจัดการการเรียนรู้ให้เด็กได้ในระดับที่น่าพอใจ ในขณะเดียวกันก็ต้องรักการเรียนรู้พอจะต่อยอดทักษะที่ได้รับมาจากมหาวิทยาลัยให้เชี่ยวชาญยิ่งขึ้น

แม้กระนั้น แท็บเล็ตก็ยังอาจไม่ถูกใช้เต็มศักยภาพของมันได้อีก เพราะครูใหญ่หรือ ผอ.เฝ้าแต่บ่อนทำลายความเติบโตของครูพันธุ์ใหม่ กระทรวงศึกษาฯต้องทบทวนระบบการคัดเลือกคนเข้าสู่ตำแหน่งบริหารใหม่ เพื่อจะทำให้ผู้บริหารโรงเรียนเข้าใจจิตวิญญาณของการเรียนรู้ในโลกสมัยใหม่ เพื่อจะได้สนับสนุนครูให้ถูกทาง

อันที่จริง สังคมไทยทั้งหมดควรทบทวนเรื่องการบริหารโรงเรียนใหม่ทั้งหมดเลยทีเดียว เหตุใดกระทรวงศึกษาฯจึงต้องเป็นเจ้าของโรงเรียนทั่วพระราชอาณาจักร โรงเรียนควรเป็นของท้องถิ่น (ซึ่งได้งบสนับสนุนโดยตรงจากรัฐบาลกลางแทนกระทรวงศึกษาฯ) และผู้กำกับดูแลขั้นต้นของโรงเรียนคือกรรมการโรงเรียน ซึ่งเลือกตั้งขึ้นมาจากคนในท้องถิ่นบวกกับเจ้าหน้าที่ของท้องถิ่นและรัฐจำนวนหนึ่ง กระทรวงศึกษาฯคือผู้ให้บริการด้านวิชาการ, การตรวจสอบเพื่อประเมินมาตรฐานให้โรงเรียน และกรรมการโรงเรียนทราบ, กระทรวงยังอาจส่งเสริมให้โรงเรียนพัฒนาไปในทิศทางที่รัฐบาลกลางวางเป้าไว้ (โดยไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจ) เช่นหากต้องการให้เด็กได้เรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ชั้นประถม กระทรวงก็อาจช่วยจ่ายเงินเดือนครูภาษาอังกฤษให้ทั้งหมดหรือบางส่วน เป็นต้น

แท็บเล็ตที่ถูกใช้เต็มตามศักยภาพของมันจึงหมายถึงการปฏิรูปการบริหารด้านการศึกษาของประเทศครั้งใหญ่ด้วย

นอกจากครูใหม่, การบริหารใหม่แล้ว แท็บเล็ตยังต้องการโรงเรียนใหม่ด้วย ไม่จำเป็นว่าโรงเรียนต้องมีลักษณะเดียว คือมีอาคารหลังเสาธงภายในบริเวณที่มีรั้วรอบขอบชิด ในบางท้องที่และบางเงื่อนไข โรงเรียนอาจหมายถึงแท็บเล็ต, สัญญาณไร้สาย, กิจกรรมที่ครอบครัวหรือชุมชนจัดขึ้น, ห้องสมุดสาธารณะ, สื่ออื่นๆ และการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ตามโอกาสอันควร เท่านั้นก็ได้ โดยไม่ต้องมีอาคารและเสาธงล้อมรั้วเลย ไม่มีความจำเป็นต้องยุบโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะอาจใช้โรงเรียนขนาดเล็กเป็นฐานสำหรับการเรียนรู้แบบใหม่ ซึ่งครอบคลุมกว้างขวางทั้งนักเรียนและชุมชนโดยรอบได้

แม้แต่โรงเรียนแบบเดิมที่มีอาคารและเสาธง ก็ควรต้องเปลี่ยนไปเป็นศูนย์กิจกรรมการเรียนรู้นานาชนิดมากขึ้น

การนำเทคโนโลยีทันสมัยเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยไม่เตรียมการและเตรียมตัว เพื่อได้ใช้เทคโนโลยีนั้นเต็มศักยภาพของมัน เทคโนโลยีก็เป็นแค่เครื่องมือหาเสียงที่ไร้ความหมายแก่การศึกษาเท่านั้น



.