http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-02-21

ชนบท-ภาพที่เปลี่ยนไป โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

ชนบท-ภาพที่เปลี่ยนไป
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1644 หน้า 28


ชนบท แปลว่า ทางไปของคนหรือที่อยู่ของคนซึ่งอยู่นอกเมืองหลวงออกไป สำนวนเก่ามักใช้ว่า "คามนิคมชนบท" คงเพื่อจะย้ำความเป็นหมู่บ้าน (คาม) ให้เห็นชัดกระมัง

พื้นที่ชนบทในสมัยก่อนสืบมาจนสัก 30 ปีมานี้เอง คือพื้นที่การเกษตร หากไม่นับภาคใต้แล้ว ผู้คนตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มอยู่กลางไร่นาที่ล้อมรอบ เรียกว่า "บ้าน" (แต่มาในภายหลังคำนี้ไปปะปนกับคำว่า "เรือน" จึงมักเติมคำว่า "หมู่" ไว้ข้างหน้า) เฉพาะภาคใต้เท่านั้น ที่ผู้คนมักตั้งเรือนในพื้นที่การเกษตรของตนเอง จึงทำให้กระจายกันออกไป

ผู้คนในชนบทหรือในหมู่บ้านมีทัศนะต่อผู้คนในเมืองหลวงและหัวเมืองอย่างไร ไม่มีหลักฐานบอกได้ชัด แต่เข้าใจว่าไม่ค่อยได้ให้ความสนใจเท่าไรนัก เมืองในทัศนะของเขาเป็นที่มาของอำนาจสองอย่าง หนึ่งคืออำนาจทางการเมือง เช่น แต่งตั้งนายบ้านเพื่อเป็นตัวกลางระหว่างหมู่บ้านกับอำนาจในเมือง เรียกเกณฑ์สินค้าหรือแรงงานไปใช้ ตราบเท่าที่คนในหมู่บ้านยอมรับพันธะเหล่านี้แต่โดยดี เมืองก็ไม่เข้ามาเกี่ยวข้องอะไรด้วย

อำนาจอีกอย่างหนึ่งคืออำนาจทางวัฒนธรรม ซึ่งแวดล้อมอยู่กับสองสถาบันคือวังและวัด ความศักดิ์สิทธิ์, ความโอฬาร, ความเป็นสากล (ที่ไพศาลกว่าท้องถิ่น) ก็พึงแสวงหาได้จากสองแหล่งนั้น ใครที่อยากมีชีวิตใกล้ชิดกับสามอย่างนี้ ก็พึงออกไปจากหมู่บ้าน แล้วไปอยู่ในเมือง

หมู่บ้านจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นของตนเองได้อย่างอิสระ ป้องกันโจรผู้ร้ายด้วยตนเอง และเผชิญภัยพิบัติต่างๆ ด้วยตนเอง ฉะนั้น จึงออกกฎหมายได้เอง ซี่งมักอยู่ในรูปของประเพณีความเชื่อ แม้แต่ข้อพิพาทที่ไม่ร้ายแรงนัก ก็จัดการด้วยตนเองโดยอำนาจหลากหลายชนิดในท้องถิ่น

จัดการไม่ได้ก็แรง จนถึงต้องอพยพหนี หรือบ้านแตกสาแหรกขาดก็มี แต่เพราะ "ชนบท" กว้างใหญ่ไพศาล จึงสามารถเข้าไปใช้ทรัพยากรในที่อื่นๆ ได้ เช่น บุกเบิกป่าทำเป็นบ้านใหม่

ที่สำคัญก็คือชนบท "จัดการตนเอง" ในเรื่องต่างๆ ได้มาก โดยไม่ต้องพึ่งพาเมืองไปทุกเรื่อง ดังที่กล่าวแล้วว่าชนบทกับเมืองนั้น ต่างคนต่างอยู่ แม้ในความเป็นจริงต้องสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน แต่ส่วนที่สัมพันธ์นี้กินเนื้อที่อาจไม่ถึงครึ่งหนึ่งของชีวิตคนชนบท (เช่น เก็บส่วยให้หลวง 4 เดือน ก็ยังเหลืออีก 8 เดือนเป็นของตนเอง)

ทัศนคติของเมืองต่อชนบทเป็นตรงกันข้าม ชนบทเป็นที่แร้นแค้นไม่น่าอยู่ ผู้คนไร้การศึกษา (ซึ่งสมัยก่อนใช้คำว่าไม่รู้ขนบธรรมเนียมประเพณี) ทำให้ยากแก่การสื่อสารกันตามปรกติ นอกจากใช้กำลังสั่งการหรือบังคับ และเพราะไม่รู้ขนบธรรมเนียมประเพณี จึงหยาบกระด้าง สกปรกทั้งร่างกาย (สุนทรภู่บอกว่าหญิงชาวบ้านแถวระยองขี้ไคลกลบถึงใบหู) และอาหารที่กินเข้าไป

การมองคนชนบทให้ต่างจากตัวเองได้ถึงเพียงนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะไม่ได้ติดต่อพบเห็นกันเป็นปรกติ แต่อีกส่วนหนึ่งคือการทำให้คนชนบท ซึ่งมีจำนวนมหึมาและไม่น่าไว้วางใจนักนี้กลายเป็น "อื่น" ไปเสีย


ทัศนคติของเมืองต่อชนบทเปลี่ยนไปเมื่อสังคมไทยเริ่มย่างเข้าสู่สมัยใหม่นับตั้งแต่ ร.5 เป็นต้นมา การเสด็จออกไปพำนักในชนบทเริ่มมาตั้งแต่ ร.4 เช่น ทรงสร้างพระราชวังที่เพชรบุรี เข้าใจว่าคงจะรับประเพณีนี้มาจากตะวันตก แต่ที่สำคัญกว่านั้น คงเป็นสำนึกทางการเมืองที่มีต่อรัฐแตกต่างไปจากเดิม รัฐนับตั้งแต่ ร.5 ลงมา เริ่มมีความหมายถึงดินแดนและผู้คน (ใต้ร่มธง) ที่เป็นข้าราษฎรของพระมหากษัตริย์ ไม่ได้หมายถึงความเป็นหนึ่งของกษัตริย์ที่ไม่ต้องขึ้นต่อใคร (คือคำว่า "เอกราช" ตามความหมายเดิม)

นับตั้งแต่ ร.5 เป็นต้นมา การเสด็จประพาสชนบท-ไม่ใช่เพื่อนมัสการพระพุทธบาท-กลายเป็นกิจวัตรปรกติของพระมหากษัตริย์ไทย

เราก็เริ่มมองเห็นความเปลี่ยนแปลงด้านทัศนคติของเมืองที่มีต่อชนบท เพราะชนบทกลายเป็นที่อยู่ของคนซื่อๆ มีน้ำใจต่อกันและต่อคนแปลกหน้า อ่อนน้อมถ่อมตนต่อคนเมือง แม้ยังด้อยกว่าด้าน "การศึกษา" เช่น ยังนับถือผีควบคู่ไปกับพุทธ หรือแม้แต่พระยังไม่รู้จักศีลห้า แต่ก็หาใช่คนกักขฬะหยาบช้าไม่ ต่างมีชีวิตที่สุขสงบอย่างที่ไม่อาจหาได้ในเมือง

นับตั้งแต่คนในเมืองเริ่มรับธรรมเนียมส่ง ส.ค.ส. ของฝรั่งมาใช้ และเริ่มวาดและพิมพ์ ส.ค.ส. เองในเมืองไทย ภาพชนบทอันงดงามต่างๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งของ "ความสุข" ที่มอบให้แก่กันในบัตรอวยพร

แม้กระนั้น ชนบทก็ยังเป็น "อื่น" เพราะขาดการศึกษา ความเจริญและความสะดวกสบายในชีวิต ชนบทจึงต้องพึ่งพาเมือง และอยู่ในกำกับของเมืองเพื่อบรรลุความเจริญในภายหน้า

ความเป็น "อื่น" ของชนบทไม่อยู่ในลักษณะเป็นปรปักษ์กับเมือง เพียงแต่ด้อยกว่า อ่อนแอ และขาดแคลนเท่านั้น ความเป็น "อื่น" เช่นนี้ ทำให้ชนบทไม่เหมาะจะเข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองระดับชาติ ยังต้องอาศัยการฝึกปรือด้วยโครงการต่างๆ อีกมาก ก่อนที่จะพร้อมเข้ามาร่วมเล่นบนเวทีได้



ทัศนคติของเมืองต่อชนบทมาเปลี่ยนไป เมื่อคนในเมืองกลุ่มหนึ่งเริ่มมีประสบการณ์โดยตรงกับชนบทมากขึ้น คนกลุ่มนี้ประกอบด้วยปัญญาชน-นักวิชาการ และเอ็นจีโอ แทนที่จะเห็นความอ่อนแอ พวกเขากลับมองเห็นพลังของชนบท พลังในการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน และเป็นธรรมกว่าที่เมืองเข้ามาจัดการ ตราบเท่าที่อำนาจในท้องถิ่นยังเป็นอำนาจของท้องถิ่นแท้ๆ ไม่เชื่อมโยงกับอำนาจจากภายนอกเลย ชนบทสามารถกำกับควบคุมอำนาจนั้นได้ในระดับหนึ่ง แต่เพราะอำนาจใหม่ๆ ในชนบทล้วนเป็นอำนาจที่เชื่อมโยงกับภายนอก (กับรัฐหรือทุนก็ตาม) ทำให้คนชนบทตกเป็นเบี้ยล่าง ที่ไร้อำนาจต่อรองโดยสิ้นเชิง เพราะกลไกการต่อรองอำนาจอย่างที่เคยมีตามประเพณี ไม่สามารถใช้ได้กับอำนาจประเภทนี้อีกแล้ว

ในสายตาของคนเหล่านี้ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในชนบท คือความเสื่อมโทรม เพราะสิ่งดีงามทั้งหลายที่เคยมีในชนบทกำลังถูกรัฐและทุนทำลายลงอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดปัญหาแก่สังคมไทยทั้งสังคม ดังนั้น "คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน" ต้องบูรณะฟื้นฟูชนบทขึ้นใหม่ให้มีความเข้มแข็ง และพัฒนาไปในทางที่ต้องอาศัย "ภูมิปัญญา" ของชนบทเอง พร้อมกันไปกับการหนุนช่วยของวิทยาการสมัยใหม่ที่มาจากเมือง แต่การตัดสินใจต้องเป็นของคนชนบทเอง

หัวใจสำคัญของการพัฒนาชนบท ซึ่งจะเป็นคำตอบแก่สังคมไทยทั้งหมด จึงอยู่ที่การปลดปล่อยให้ชนบทมีอิสรภาพที่จะพัฒนาตนเอง มีอิสรภาพจากรัฐระดับหนึ่ง และมีอิสรภาพจากตลาดระดับหนึ่ง (อันเป็นที่มาของวนเกษตรและเศรษฐกิจพอเพียง)


ดัชนีชี้วัดพลังของชนบทอย่างหนึ่งซึ่งมักพูดถึงเสมอ คือการที่คนหนุ่มสาวไม่ต้องหลั่งไหลเข้ามาหางานทำในเมือง (ทั้งๆ ที่การปลดปล่อยแรงงานจากภาคเกษตรมาสู่การผลิตในสาขาอื่นๆ นั้น เป็นเงื่อนไขที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่)

ภาพที่ออกไปเชิงอุดมคติของชนบทเช่นนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างไพศาลของทั้งเมืองและชนบท เพราะเมืองและชนบทไม่ได้ต่างคนต่างอยู่อย่างในอดีตมาตั้งนานแล้ว เมืองเช่นกรุงเทพฯ เติบโตเป็นหลายเท่าตัวในช่วงไม่กี่ทศวรรษ (เมื่อตอนผมเป็นเด็ก กรุงเทพฯ ยังมีประชากรไม่ถึงล้านคนเลย) ฉะนั้น ส่วนใหญ่ของคนในเมืองคือคนที่มาจากชนบท ซ้ำไม่ได้ทิ้งขาดชนบทด้วย ยังมีญาติสนิทและเครือญาติในชนบทอีกมาก บางคนยังฝันว่าจะได้กลับไปใช้ชีวิตที่นั่นสักวันหนึ่งในอนาคต แบบแผนความสัมพันธ์ทางสังคมแบบชนบท คือแบบแผนความสัมพันธ์ของคนในสลัมซึ่งเพิ่มปริมาณในเขตเมืองอย่างรวดเร็ว

ชนบทเองก็เปลี่ยนไปมโหฬาร กว่าครึ่งของรายได้คนชนบทไม่ได้มาจากการเกษตรมาหลายทศวรรษแล้ว แม้ในภาคเกษตรเอง ทุน, เทคโนโลยี, วัสดุที่ต้องนำเข้าไปสู่ไร่นาส่วนใหญ่ (agricultural inputs) ก็มาจากเมือง สมาชิกในเกือบทุกครอบครัวเข้าไปหางานทำในเมือง และส่งรายได้กลับบ้าน ชนบทไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว แต่เชื่อมโยงกับเมืองอย่างแยกออกจากกันไม่ได้

ยิ่งในระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมา ชนบทยิ่งเปลี่ยนแปลงเร็ว แม้ว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ยังใช้ไปในการเกษตร แต่ประชากรส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในภาคการเกษตรอีกแล้ว ชนบทกลายเป็นเมืองขนาดเล็ก ที่เชื่อมต่อกับเมืองขนาดใหญ่ด้วยเส้นทางคมนาคมอันสะดวกสบาย การสื่อสารนานาชนิดเชื่อมชนบทเข้ากับเมืองและโลกภายนอก แทบไม่ต่างอะไรกับเมืองทั่วๆ ไปในโลก การอยู่เป็นอิสระจากรัฐและตลาดเป็นไปไม่ได้แก่คนส่วนใหญ่ในชนบท

ปัญหาจึงไม่ใช่เป็นอิสระจากรัฐและตลาด แต่จะเข้าไปต่อรองในรัฐและตลาดอย่างมีพลังมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่อย่างไรต่างหาก พรรคการเมืองหรือองค์กรทางการเมืองในระดับชาติมีความจำเป็นต่อคนชนบทไม่น้อยไปกว่าคนในเมือง ชีวิตต้องการกลไกการต่อรองกับตลาดใหม่ๆ ไม่ใช่การหันกลับไปเพาะปลูกแบบ "เหลือกินแล้วค่อยขาย" กลไกเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้จากการสนับสนุนของรัฐ และการตื่นรู้กับเศรษฐกิจสมัยใหม่

ในขณะที่เอ็นจีโอ, ปัญญาชน-นักวิชาการ, และรัฐ ยังมีจินตภาพเกี่ยวกับชนบทเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง คำตอบได้เปลี่ยนที่ออกไปจากหมู่บ้าน มาสู่โรงงานอุตสาหกรรม, บ้านเรือนของแรงงานรับจ้างรายชิ้น, ภาคบริการซึ่งอยู่ในเมือง (ตั้งแต่ระดับเล็กขึ้นไปถึงระดับใหญ่), แหล่งเรียนรู้, และองค์กรของสังคมสมัยใหม่

และส่วนนี้ต่างหากที่ไม่ได้รับการตอบสนอง



ดังนั้น ชนบทไทยจึงไม่ใช่ที่แห่งความสงบอย่างใน ส.ค.ส. อีกต่อไป ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ชนบทเต็มไปด้วยความปั่นป่วนวุ่นวาย เต็มไปด้วยการย้ายถิ่นและย้ายสถานะ (dislocation) ความคลอนแคลนของระเบียบทางสังคม, การดิ้นรนเอาตัวรอดถึงต้องห้ำหั่นฟาดฟันกัน

สิ่งที่น่าประหลาดก็คือ ภาพอุดมคติของชนบทในหมู่คนเมืองดูจะหายไปฉับพลัน แต่ภาพของชนบทที่เป็น "อื่น" ในลักษณะที่เป็นปรปักษ์แบบโบราณกลับฟื้นขึ้นใหม่ในจินตภาพของคนในเมือง

ภาพของชนบทที่หมายถึงคนไร้การศึกษา, โง่, โลภ, เห็นแก่ตัว, ไม่มีสัมมาคารวะ และกำลังกระด้างกระเดื่อง ซึ่งเวทีพันธมิตรประชาชนฯ และสื่อของ พธม. ปลุกขึ้น ได้รับการตอบรับจากคนในเมืองอย่างรวดเร็วและง่ายดายในหมู่คนในเมือง

นี่ไม่ใช่ความสำเร็จของ พธม. เท่ากับสะท้อนว่า ลึกลงไปในทัศนคติของคนในเมือง มีเงื่อนไขปัจจัยที่ทำให้พร้อมจะรับภาพนี้อยู่แล้ว



.