http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-02-06

นกุล: อาหาร-มรดกล้ำค่า/ จีระพร: มุมเล็กๆ..ปักกิ่ง, กาแฟ..วัฒนธรรมหัวใหม่ของจีน

.

อาหาร-มรดกวัฒนธรรมล้ำค่า
โดย นกุล ว่องฐิติกุล คอลัมน์ จากญี่ปุ่น
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 03 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1642 หน้า 46


เมื่อปีกลายผู้เขียนได้รับการชักชวนให้เขียนบทความแก่วารสาร "วัฒนธรรม" ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ทำให้ต้องมานั่งตรึกตรองหาความหมายของคำว่า "วัฒนธรรม" อยู่พักใหญ่

ที่สุดก็สรุปเอาเองว่า "วัฒนธรรม" น่าจะหมายถึงวิถีการดำรงชีวิต การกินอยู่ของชุมชนหรือหมู่เหล่าที่กระทำสืบทอดต่อๆ กันมาจนมีรูปแบบกลายเป็นประเพณีปฏิบัติ

เป็นวัตถุที่บ่งบอกถึงความเป็นหมู่เหล่าความเป็นชนชาติเฉพาะตัวที่ชัดเจน และวัฒนธรรมแรกๆ ที่เกิดขึ้นพร้อมกับมนุษยชาติก็น่าจะเป็นวัฒนธรรมการกินหรือ "อาหาร" นั่นเอง

องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO)ได้จัดให้อาหารเป็นหนึ่งในมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage) โดยให้คำจำกัดความของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ว่า "ให้หมายรวมถึงความคิดอ่านที่เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีหรือวิถีชีวิตที่สืบทอดมาแต่ครั้งบรรพชนที่จะตกทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ดังเช่น ขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดด้วยการเล่าด้วยปาก เสียง ศิลปการแสดง วิธีปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรมต่างๆ งานเทศกาล ความรู้หรือการปฏิบัติที่เกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาลและความรู้ความชำนาญในงานฝีมือดั้งเดิม"

ประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าของสถานที่ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกให้เป็นแหล่งมรดกวัฒนธรรมทางธรรมชาติของโลกแล้วถึง 12 แห่ง และกำลังจะเสนอขอขึ้นทะเบียนเพิ่มอีก 2 แห่ง คือภูเขาไฟฟูจิและเมืองโบราณคามาคุระให้เป็นมรดกวัฒนธรรมทางธรรมชาติ

พร้อมๆ กับเตรียมการเสนอให้อาหารญี่ปุ่นได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในปีนี้ต่อยูเนสโกด้วย

ยูเนสโกได้รับขึ้นทะเบียนอาหารเม็กซิกัน อาหารฝรั่งเศส และอาหารเมดิเตอร์เรเนียนของยุโรปเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ไปเรียบร้อยแล้ว

และเกาหลีใต้เป็นประเทศล่าสุดที่ได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนอาหารเกาหลีโบราณจากราชสำนักโชซอนต่อยูเนสโกเมื่อปีที่ผ่านมา



ประมาณห้าปีก่อนซึ่งเป็นช่วงที่อาหารญี่ปุ่นได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติอย่างกว้างขวางจนเกิดมีร้านอาหารญี่ปุ่นมากมายที่คนญี่ปุ่นบอกว่าสามารถจัดให้ได้ทุกอย่างยกเว้นอาหารญี่ปุ่นแท้ ทำให้กระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมงของประเทศญี่ปุ่นมีแนวคิดที่จะจัดทำเครื่องหมายรับรองคุณภาพให้แก่ร้านอาหารญี่ปุ่นในต่างประเทศที่ได้มาตรฐานแบบญี่ปุ่น

แต่ก็มีเสียงคัดค้านจากประชาชนชาวญี่ปุ่นว่ากระทรวงไม่ควรแทรกแซงกิจซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของตนอีกทั้งสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศยุโรปต่างแสดงความไม่สบายใจกับแผนการการจัดส่ง "สายตรวจซูชิ" ออกไปตรวจสอบคุณภาพของอาหารของภัตตาคารญี่ปุ่นในต่างประเทศ ทำให้แผนดังกล่าวต้องถูกยกเลิกไปในที่สุด

เพื่อเป็นการรักษาคุณค่ามาตรฐานดั้งเดิมของอาหารญี่ปุ่น กระทรวงเกษตรญี่ปุ่นได้เตรียมการมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมาเพื่อขอขึ้นทะเบียนอาหารญี่ปุ่นเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ต่อยูเนสโก ซึ่งน่าจะเป็นในช่วงเดือนมีนาคมที่จะมาถึงนี้


อาหารญี่ปุ่นเป็นอาหารที่แตกต่างจากอาหารของชาติเอเชียอื่นๆ โดยจะเน้นการใช้วัสดุที่เป็นอาหารที่สด ยึดหลักการรักษากลิ่นรสดั้งเดิมตามธรรมชาติ รสชาติละเมียดละไม มีความสมดุลทั้งด้านสีสัน ชนิดและคุณค่าทางโภชนาการทั้งยังได้รับความชื่นชมในด้านความสวยงามด้วยการจัดวางและตกแต่งอย่างประณีตพิถีพิถัน

ถึงขั้นมีคำกล่าวว่า เราสามารถมองเห็นความสวยงามและสีสันของธรรมชาติทั้งสี่ฤดูบนโต๊ะอาหารแบบญี่ปุ่นแท้ เช่น สีเขียวจากผักสดของฤดูร้อน สีหวานสดใสของดอกซากุระที่บานสะพรั่งในฤดูใบไม้ผลิ สีแดงจัดจ้านและน้ำตาลทึมของฤดูใบไม้ร่วงและสีขาวสะอาดของหิมะในฤดูหนาว

พ่อครัวชาวญี่ปุ่นถือว่าอาหารเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่ต้องเริ่มด้วยการมองเห็น ชื่นชมด้วยสายตาทำให้รูปลักษณ์ของอาหารญี่ปุ่นมีความสำคัญเท่าๆ กับรสชาติ

แม้แต่ภาชนะที่ใช้ก็จะสะท้อนอารมณ์และบรรยากาศของแต่ละฤดูกาล เช่น เลือกถ้วยชามสีฟ้าหรือน้ำเงินใสสำหรับฤดูร้อนซึ่งแม้แต่ตะเกียบก็ต้องมีสีฟ้าหรือสีน้ำเงินเข้ากัน

ชาวญี่ปุ่นยึดหลักของคุณค่าของอาหารมากกว่าปริมาณ โดยอาหารมื้อทั่วไปที่เป็นมาตรฐานหนึ่งสำรับจะประกอบด้วยข้าวสวยหนึ่งถ้วย ซุปหนึ่งถ้วย เนื้อสัตว์ (ปลา เนื้อ ฯลฯ) ตกแต่งด้วยผักหนึ่งอย่างและผักดองเป็นเครื่องเคียงอีกหนึ่งอย่าง ที่ให้ความสมดุลทางโภชนาการอย่างพอเพียงสำหรับแต่ละมื้ออาหาร

อาหารที่ปรุงโดยเน้นความสดใหม่ไม่นิยมการปรุงด้วยไขมันหรือน้ำมันทำให้อาหารญี่ปุ่นเป็นอาหารสุขภาพสำหรับผู้รักสุขภาพที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี

แน่นอนว่าจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นที่กระจัดกระจายอยู่ทุกมุมโลกก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นตามไปด้วย

จากการสำรวจของสำนักงานการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เฉพาะที่สหรัฐอเมริกามีร้านอาหารญี่ปุ่นมากถึง 14,129 ร้าน เพิ่มขึ้นสองเท่าตัวจากเมื่อ 10 ปีก่อน ในฝรั่งเศสมีประมาณ 1,000 ร้าน และประมาณ 500 ร้าน ในสหราชอาณาจักร กับอีกนับจำนวนไม่ถ้วนในแถบเอเชีย มากที่สุดในจีน ตามมาด้วยเกาหลีใต้ ไต้หวัน และไทย

เฉพาะในประเทศไทยก็มีมากถึงประมาณ 1,000 แห่ง ส่วนใหญ่บริหารโดยชาวไทยจึงยากที่จะพบความเป็นอาหารญี่ปุ่นของแท้



เพื่อให้เข้าถึงศาสตร์และศิลป์แห่งการทำอาหารญี่ปุ่นแบบของแท้ดั้งเดิม พ่อครัวชาวต่างชาติทั้งจากสหรัฐอเมริกา ยุโรปและหลายชาติในเอเชียต่างดั้นด้นเข้าไปเรียนการทำอาหารจากพ่อครัวชาวญี่ปุ่น "คิคุโนอิ ฮอนเตน" ภัตตาคารเก่าแก่ในเมืองเกียวโตที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1912 ได้เปิดรับพ่อครัวฝึกหัดชาวต่างชาติที่ต้องการเรียนรู้การทำอาหารแบบญี่ปุ่นแท้มาแล้วหลายปี พ่อครัวฝึกหัดชาวต่างชาติทั้งจากยุโรปและสหรัฐอเมริกาจำนวน 10 คน เมื่อสองสามปีก่อนได้เพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 20 คน ในปีนี้

ที่สถาบันอาหารสึจิในเมืองโอซาก้า จำนวนนักเรียนชาวต่างชาติทั้งจากชาติเอเชียและชาติตะวันตกได้เพิ่มจำนวนจาก 5 คน ในปี 2007 มาเป็น 54 คน ในปี 2011

ศูนย์อุตสาหกรรมอาหารแห่งชาติญี่ปุ่นได้จัดทำแสตมป์ประกันคุณภาพรับรองความเป็น "ของแท้" ให้แก่ผลิตภัณฑ์อาหารญี่ปุ่นที่ได้คุณภาพมาตรฐานที่กำหนดเป็นการรักษามาตรฐานและคุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหารจากประเทศญี่ปุ่น ในขณะเดียวกัน ทางการญี่ปุ่นเองก็มีดำริที่จะจัดทำใบประกาศนียบัตรสำหรับผู้ผลิตสินค้าอาหารภายในประเทศที่ได้คุณภาพมาตรฐานภายในปี 2016

การที่อาหารญี่ปุ่นกำลังเป็นที่นิยมชมชอบของชาวต่างชาติทั่วโลกได้ปลุกกระแสความตื่นตัวในการรื้อฟื้นตำรับอาหารดั้งเดิมของญี่ปุ่นขึ้นมาอีกครั้ง จนเกิดการเรียกขานว่าเป็น "renaissance" หรือการเกิดใหม่ของวัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม

นักวิจัยด้านวัฒนธรรมอาหาร นางชิเอโกะ มูคาสะ กล่าวว่า "การที่อาหารญี่ปุ่นได้รับคำสรรเสริญไปทั่วโลกทำให้ชาวญี่ปุ่นได้กลับมาค้นพบความสุขในวิถีชีวิตแบบญี่ปุ่นอีกครั้ง"

ถือเป็นมรดกวัฒนธรรมล้ำค่าที่บรรพชนได้มอบไว้ให้แก่ลูกหลานอย่างแท้จริง



++

มุมเล็กๆ ที่แตกต่างของปักกิ่ง
โดย จีระพร จีระนันทกิจ คอลัมน์ จากเมืองจีน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 03 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1642 หน้า 47


สมัยนี้ใครๆ ก็ไม่ชอบจะทำอะไรเหมือนใครๆ แต่ต้องคอยหาอะไรที่แหวกแนวออกไป หรือไม่ก็ให้ความรู้สึกว่าพิเศษไปกว่าปกติ โดยเฉพาะในสังคมวัตถุนิยมที่คนนิยมแสวงหาอะไรที่ใหม่ๆ ที่ไม่ธรรมดาอยู่เสมอ

และนั่นก็อาจจะเป็นที่มาหนึ่งของธุรกิจที่เรียกกันว่า "โรงแรมบูติค" (boutique hotel)

โรงแรม คือ องค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปในระยะใกล้หรือระยะไกล ขอเพียงแต่เป็นการเดินทางที่ห่างจากบ้านไป และไม่ได้มีบ้านใครคอยรับอยู่ที่ปลายทาง โรงแรมก็คือสถานที่ที่นักเดินทางอาศัยใช้พักแรม

สมัยก่อน เราค้นหาโรงแรมกันตามความต้องการที่แตกต่างกันไป ซึ่งส่วนใหญ่จะวัดด้วยความจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นระยะทาง ราคา บริการ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่โรงแรมแห่งนั้นมี

แต่ในยุคสมัยใหม่ อุปสงค์ต่อโรงแรมดูเหมือนจะขยายตัวมากไปกว่านั้น เพราะหลายครั้ง การเลือกโรงแรมยังขึ้นอยู่กับความชื่นชอบ ความพึงพอใจ และความสนใจในสไตล์ของโรงแรมแห่งนั้นๆ ด้วย

จึงไม่แปลกที่โรงแรมน้อยใหญ่ทั่วโลกจะควานหาเอกลักษณ์และความโดดเด่นของตัวเองมานำเสนอต่อแขกของโรงแรม

และในขณะที่โรงแรมใหญ่ๆ ทั่วโลกเน้นบริการและคุณภาพที่สุดแสนจะเลิศเลอตามจำนวนดาวที่ยิ่งมากยิ่งดี ก็มีโรงแรมอีกประเภทหนึ่งที่ฉีกกฎเกณฑ์เดิมๆ ออกมาเน้นสไตล์ที่แตกต่างเพื่อนำเสนอตัวตนในอีกมุมมองที่ต่างไปจากโรงแรมทั่วๆ ไป

โรงแรมจำพวกหลังนี่เองที่เราเรียกกันว่า "โรงแรมบูติค"



หลายคนคงคุ้นเคยกับคำว่า "โรงแรมบูติค" ไม่ว่าจะเคยพักหรือไม่เคย ก็รู้กันดีว่า โรงแรมในประเภทนี้มักจะมีขนาดที่ไม่ใหญ่มากนัก มีลักษณะการตกแต่งที่เป็นของตัวเอง เน้นความเป็นกันเอง ขายความเป็นส่วนตัว หรือบางที่ก็ขายความเป็นศิลปะของสถาปัตยกรรมที่ไม่ได้วิ่งตามกระแสตลาด

แต่สิ่งหนึ่งที่โรงแรมบูติคมักจะมีคล้ายๆ กันก็คือ ราคาที่ค่อนข้างแพงและมีความหรูหราในระดับหนึ่ง เนื่องจากว่า...ถึงเงินทองจะใช้ซื้อรสนิยมไม่ได้ แต่ก็เชื่อกันว่า การจะครอบครองรสนิยมที่ดีๆ ก็จำเป็นจะต้องมีฐานทางการเงินที่มั่นคงพอควร

และเมื่อโลกหมุนตามกระแสการพัฒนาของเศรษฐกิจ โรงแรมบูติคก็สยายปีกเข้าครอบครองพื้นที่ตามเมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อรองรับผู้คนที่นิยมความวิเวก (พอสมควร) ท่ามกลางความวุ่นวายของเมืองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ปักกิ่งเองก็เช่นกัน เป็นอีกพื้นที่ที่เริ่มจะมีโรงแรมบูติคที่น่าสนใจเกิดขึ้น

หลายคนที่เคยไปปักกิ่งมักจะรู้สึกว่า แม้ความเป็นปักกิ่งหมายถึงความยิ่งใหญ่ (ทางกายภาพ เพราะตึกรามบ้านช่อง ถนนหนทางในปักกิ่ง ทุกอย่างล้วนมีขนาดใหญ่ตามพื้นที่เมืองและจำนวนประชากรที่คับคั่งไปหมด) ก็จริง แต่ในความอลังการเหล่านั้น บางครั้งบางคราก็ให้ความรู้สึกที่เทอะทะ ใหญ่โต และหนาแน่นเกินไป

จริงๆ แล้ว ในปักกิ่งมีโรงแรมอยู่จำนวนนับไม่ถ้วนเลยทีเดียว โดยเฉพาะนับตั้งแต่ช่วงที่ปักกิ่งเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ปักกิ่ง 2008 โรงแรมแทบจะทุกดาวก็ผุดขึ้นในปักกิ่งราวกับหมู่เห็ดในวสันตฤดู เพื่อรองรับแขกจากทั่วทุกสารทิศของโลกที่อยากจะมาเป็นส่วนหนึ่งของกีฬาระดับโลกครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่ง

จนนักเศรษฐศาสตร์หลายคนต่างกังวลว่า อุปสงค์ในอนาคตหลังโอลิมปิกจบลง จะมีมากพอที่จะทำให้โรงแรมเหล่านี้อยู่ได้หรือ

(แต่กาลเวลาก็ได้พิสูจน์แล้วว่า แม้ภาวะหลังโอลิมปิก ความต้องการห้องพักในโรงแรมจะลดลงตามที่คาดไว้ ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย จะทำให้ธุรกิจโรงแรมในปักกิ่งถอนหายใจกันเฮือกแล้วเฮือกเล่า แต่สถานะทางเศรษฐกิจของจีนที่เติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง ก็ทำให้ธุรกิจโรงแรมในจีนยืนหยัดกันต่อมาได้ แม้ในบางครั้งอาจจะต้องมีการลดแลกแจกแถมกันพอสมควรก็ตาม)

ในขณะที่ธุรกิจโรงแรมตามกระแสของปักกิ่งยังคงเติบโตอยู่นั้น โรงแรมประเภทบูติค หรือประเภทที่เน้นขายความแปลกใหม่ก็เริ่มมีผุดพรายขึ้นตามซอกมุมต่างๆ ของปักกิ่ง โดยเฉพาะในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา

แต่หากจะเทียบกับเมืองใหญ่ๆ เมืองอื่นของโลก โดยเฉพาะแถบอเมริกาและยุโรป หรือแม้กระทั่งกรุงเทพฯ แล้ว ก็ต้องนับว่าโรงแรมประเภทนี้ของปักกิ่งยังมีสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อยมาก

อย่างไรก็ดี วันนี้อยากจะหยิบเอาโรงแรมที่เข้าข่ายโรงแรมบูติคของปักกิ่งมาเล่าสู่กันฟังสัก 3 โรงแรม

และที่เลือกทั้ง 3 แห่งนี้มา ก็เพราะต่างมีความน่าสนใจที่แตกต่างกันไป และยังชี้ให้เห็นถึงช่องทางด้านธุรกิจของเมืองใหญ่แห่งนี้ได้อีกด้วย



เริ่มต้นกันด้วยโรงแรมแห่งแรก ชื่อเป็นภาษาจีนแท้ และไม่ได้เป็นโรงแรมในเครือหัวฝรั่ง ก็คือ โรงแรมตู้เก๋อ (Duge)

หลายคนฟังชื่อแล้วอาจจะงง แท้จริงแล้วชื่อตู้เก๋อเป็นนามสกุลและชื่อของเจ้าของโรงแรมนั่นเอง

โรงแรมตู้เก๋อมีความน่าสนใจหลายอย่าง เริ่มจากแหล่งที่ตั้งซึ่งซุกซ่อน (ต้องขอใช้คำนี้จริงๆ) อยู่ในตรอก คนเดินที่เรียกกันว่า "หนานหลัวกู่เซี่ยง" ซึ่งเป็นตรอกขนาดเล็กที่เก่าแก่ที่สุดตรอกหนึ่งกลางกรุงปักกิ่ง กว้างเพียง 8 เมตร และทอดตัวเป็นแนวลึกที่ยาวถึง 786 เมตร

ปัจจุบันตรอกนี้เปิดเป็นถนนสำหรับให้คนเดินเที่ยวเล่นซื้อของตามร้านค้าเล็กๆ น้อยๆ ที่เรียงรายอยู่ริมสองข้างถนน และถือเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวสุดฮิตของปักกิ่งในเวลานี้

นอกจากพื้นที่กว้าง 8 เมตรที่เป็นเส้นหลักแล้ว ยังมีซอยเล็กซอยน้อยเรียงสลับกันไปทั้งซ้ายและขวาด้วย และโรงแรมตู้เก๋อก็อยู่ในซอยเล็กๆ ซอยหนึ่งในนั้น

เรียกได้ว่า ถ้าไป เดินเล่นเฉยๆ ไม่ได้ตั้งใจไปหาโรงแรม คงไม่สังเกตเห็นเป็นแน่ เพราะนอกจากประตูโรงแรมจะมีขนาดแสนเล็ก เป็นเพียงประตูไม้ทาสีแดงสองบานที่มาประกบกันแล้ว ยังปิดสนิทตลอดเวลา มีกริ่งเล็กๆ อยู่ข้างหน้าเหมือนกับบ้านคนมากกว่าจะเป็นสถานที่เปิดสำหรับบุคคลทั่วไป

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะโรงแรมนี้จะรับเฉพาะลูกค้าที่จองไว้ล่วงหน้าก่อนเท่านั้น แม้จะไปแค่ทานอาหาร ก็ต้องจองและจ่ายเงินล่วงหน้าก่อนเท่านั้น ไม่มีการรับแขกขาจรแต่อย่างใด

ภายในโรงแรมมีลักษณะเป็นบ้านแบบซื่อเหอย่วน (บ้านสไตล์จีนโบราณที่จะมีลานกลางบ้าน และมีอาคารรายล้อมรอบลาน) ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิง เรียกได้ว่า พอก้าวเข้าไปในประตูสีแดงบานดังกล่าวแล้ว โลกภายนอกก็จะค่อยๆ เลือนหายไปกับเสียงปิดประตู

กลายเป็นอีกโลกหนึ่งที่สงบและมีกลิ่นอายราวกับได้ย้อนเวลากลับไปในสมัยจีนโบราณ

ภายในมีห้องพักเพียง 6 ห้องเท่านั้น แต่ละห้องตกแต่งด้วยโทนสีและลักษณะที่ต่างกันออกไป แต่ล้วนเป็นศิลปะแบบจีนย้อนยุคที่ใช้เทคนิคการนำเสนอแบบสมัยใหม่ เน้นการขับสีให้โดดเด่น และครบครันด้วยอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสมัยใหม่ที่ซ่อนตัวอยู่ตามจุดต่างๆ

ในขณะที่ตรงบริเวณลานกลางบ้านได้รับการดัดแปลงให้เป็นมุมสำหรับรับประทานอาหารพร้อมกับบาร์ขนาดย่อมที่เข้ากันได้ดีกับบรรยากาศโดยรอบ

เชื่อกันว่า โรงแรมตู้เก๋อคือโรงแรมสไตล์บูติคแห่งแรกของจีนเลยทีเดียว

และที่ทำให้น่าทึ่งไปกว่านั้นก็คือ การออกแบบตกแต่งและบริหารงานของที่นี่เป็นฝีมือของชาวจีนทั้งหมดด้วย



เล่าถึงโรงแรมบูติคขนาดเล็กแสนเล็กไปแล้ว มาต่อกันที่ขนาดที่ใหญ่ขึ้นมาอีกนิดกับโรงแรม Aman Summer Palace อ่านชื่อแล้วอย่าได้เข้าใจไปว่า ตรงคำว่า summer palace หรือพระราชวังฤดูร้อนนั้น ตั้งขึ้นเก๋ๆ ตามแบบโรงแรมหลายแห่งที่ต้องมีคำว่า royal บ้าง grand บ้าง หรือ palace บ้างโดยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับพระราชวังเลย

แต่คำว่า "summer palace" ที่ต่อท้ายชื่อโรงแรม Aman เครือโรงแรมและรีสอร์ตที่ใหญ่ระดับโลกนั้น ไม่ใช่ราคาคุยแต่อย่างใด

โรงแรมแห่งนี้ตั้งอยู่ในบริเวณของพระราชวังฤดูร้อนของปักกิ่งจริงๆ เป็นส่วนหนึ่งทางด้านตะวันออกของพระราชวังฤดูร้อนที่เปิดประมูลให้เอกชนเข้าไปทำธุรกิจ

จุดขายของ Aman Summer Palace จึงอยู่ที่สถาปัตยกรรมที่กลมกลืนไปกับพระราชวังฤดูร้อน ราวกับย้อนเข้าไปในภาพยนตร์สมัยราชวงศ์ชิง แต่มีบริการที่ได้มาตรฐานระดับ 5 ดาว

และที่สำคัญมีประตูส่วนตัวที่ทะลุเข้าไปในสวนของพระราชวังฤดูร้อนได้

ใครที่มาพักเป็นแขกของโรงแรมนี้ สามารถใช้ประตูบานนี้เปิดเข้าไปเดินเล่นในพระราชวังได้ตลอดเวลา

โรงแรม Aman Summer Palace มีห้องพักมากขึ้นมาอีกนิด โดยอยู่ที่ 51 ห้อง แต่มีพนักงานบริการมากกว่า 350 คน ห้องทั้งหมดตกแต่งด้วยสไตล์จีนโบราณ มีโรงภาพยนตร์ขนาดย่อม ห้องเก็บไวน์ ร้านอาหาร ซาลอน ฟิตเนส และความทันสมัยต่างๆ แอบตัวอยู่อย่างเข้าที่เข้าทางในสถาปัตยกรรมโบราณที่รายรอบ

และด้วยจุดขายที่โดดเด่นของ Aman แห่งนี้ ทำให้ไม่เพียงแต่จะมีนักท่องเที่ยวนิยมไปพักแล้ว ธุรกิจต่างๆ ก็ยังนิยมไปเปิดตัวสินค้าที่นี่ รวมไปถึงยังเป็นทางเลือกสำหรับการจัดงานแต่งงานที่ต้องการให้ออกมาไม่ซ้ำแบบใครอีกด้วย

ที่สำคัญ ด้วยความเก๋และความเก๋า (ด้านการเงิน) ทำให้ Aman ตั้งราคาไว้ค่อนข้างจะสูงมาก

เปิดรับลูกค้าโดยเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ เพื่อรักษาคุณภาพมาตรฐานของโรงแรมเอาไว้



ผ่านไปแล้วสองโรงแรมที่มีความแปลกที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ก็มาถึงโรงแรมสุดท้ายที่หยิบมาฝากกันในวันนี้ ซึ่งมีความโดดเด่นไปอีกแบบด้วยการใช้กำแพงเมืองจีนมาเป็นจุดขายหลักของโรงแรม

นั่นก็คือ โรงแรม Commune by the Great Wall โรงแรมที่เลือกที่ตั้งห่างไกลจากตัวเมือง แต่อยู่ใกล้เชิงกำแพงเมืองจีนแทน ซึ่งเดิมทีผู้ที่เข้ามาบุกเบิกคือเครือ Kempinski แต่ตอนนี้ได้เปลี่ยนมือผู้บริหารไปแล้ว

กระนั้นก็ดี แม้จะเปลี่ยนทีมบริหาร แต่สถาปัตยกรรมที่รังสรรค์โดยสถาปนิกและวิศวกรชาวเอเชียที่มีชื่อเสียงกว่า 12 คน ก็ยังคงอวดโฉมความภูมิใจจากรางวัลด้านศิลปะการก่อสร้างที่ได้รับการการันตีมาจากเวนิสอยู่อย่างสง่างาม

โรงแรมมีขนาดค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับสองแห่งแรก โดยมีห้องพักประมาณ 200 ห้องกับวิลล่าอีก 42 หลัง และอย่างที่กล่าวมาแล้ว โรงแรมนี้มีจุดขายอยู่ตรงที่กำแพงเมืองจีน แต่ไม่ใช่แค่ใกล้กำแพงเมืองจีนเท่านั้น ตัวโรงแรมยังมีทางเชื่อมให้เดินลัดเลาะให้ค่อยๆ ไต่ขึ้นไปบนกำแพงเมืองจีนได้อีกด้วย โดยเป็นส่วนที่อยู่ใกล้กับทางออกสุ่ยกวานของด่านปาต๋าหลิ่ง ซึ่งเป็นด่านกำแพงเมืองจีนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแห่งในปักกิ่ง

และกำแพงในส่วนที่เชื่อมต่อกับโรงแรมนั้น ยังเป็นกำแพงที่ไม่เคยผ่านการบูรณะมาก่อน ความขลังของสัมผัสจากหินแต่ละก้อนบนกำแพงตรงบริเวณนี้ จึงยังคงมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม

และแม้ว่าโรงแรมนี้จะแตกต่างไปจากโรงแรมอีกสองแห่งในเรื่องของสไตล์การตกแต่งที่ไม่ได้เน้นความเป็นจีนมากนัก แต่เน้นการผสมผสานระหว่างความเป็นจีนและความเป็นเอเชียสมัยใหม่ที่ใช้สีตัดกันได้อย่างลงตัวและมีความเรียบง่ายแบบสมัยใหม่

แต่ก็มีอีกจุดที่คล้ายคลึงกัน นั่นก็คือ เสน่ห์อีกประการหนึ่งของโรงแรมนี้อยู่ที่ความเงียบสงบที่แตกต่างไปจากความจอแจในตัวเมือง

ฉากหลังที่เต็มไปด้วยสีเขียวของแมกไม้บนขุนเขาและสีเทาของหินก้อนโตที่เรียงรายเป็นกำแพงเมืองจีนยาวสุดลูกหูลูกตาจึงเป็นเสมือนภาพวาดอันวิจิตรที่มีชีวิตที่โรงแรมแห่งนี้เลือกมาประดับไว้เพื่อต้อนรับแขกนั่นเอง



...และด้วยสไตล์ที่แตกต่างจากกระแสหลัก ก็ทำให้โรงแรมทั้งสามแห่งที่หยิบยกมาเล่าสู่กันฟังมีความพิเศษต่างๆ ไปจากโรงแรมอื่นๆ ในปักกิ่ง ซึ่งความแปลกเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ทั้งในแง่ของธุรกิจและศิลปะหรือสถาปัตยกรรมแล้ว

แต่เมื่อพิจารณาจากมุมด้านเศรษฐกิจแล้ว โรงแรมทั้งสามแห่งยังถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะบางประการของการเติบโตทางเศรษฐกิจของปักกิ่งด้วย

กล่าวคือ นอกจากเศรษฐกิจจะขยายตัวตามกระแสทุนนิยมจนทำให้มีความเสรีมากพอที่นักธุรกิจจะหันมาจับกระแสใหม่ๆ นอกเหนือจากกระแสหลักที่ตอบสนองความต้องการพื้นฐานของคนเป็นหลักแล้ว อุปสงค์และอุปทานของโรงแรมประเภทนี้ก็ยังอยู่ในระดับที่ต้องใช้เงินทุนค่อนข้างสูง

แสดงให้เห็นถึงการขยับตัวของฐานะของเมือง อีกทั้งยังแสดงให้เห็นด้วยว่า แนวคิดการทำธุรกิจแบบทุนนิยมเชิงตะวันตกได้ผลิดอกออกผลขยายกิ่งแตกก้านในสังคมอย่างจีนมากขึ้นเป็นลำดับแล้วเช่นกัน

ใครว่า...สังคมจีนไม่ใช่สังคมวัตถุนิยม?



++

กาแฟ...วัฒนธรรมหัวใหม่ของจีน
โดย จีระพร จีระนันทกิจ คอลัมน์ จากเมืองจีน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1641 หน้า 48


เป็นที่ทราบกันดีว่า เครื่องดื่มสุดฮิตของชาวจีนนับแต่โบราณกาลก็คือ "ชา" ใบไม้จำพวกหนึ่งที่ส่งกลิ่นหอมและให้รสชาติชุ่มคอ มาพร้อมกับสรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพหลายต่อหลายประการ โดยได้รับการค้นพบมาแล้วยาวนานกว่า 3,000 ปี อีกทั้งยังเป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรมชาในอีกหลายต่อหลายประเทศในเอเชีย

แต่ใครเล่าจะคาดคิดว่า ในโลกใบใหม่ของชาวจีนที่กำลังหลอมรวมตัวเองเข้ากับกระแสโลกาภิวัตน์นั้น กลับกำลังเปิดโอกาสให้ "กาแฟ" คืบคลานเข้าสู่วิถีเครื่องดื่มของชาวจีน

และเริ่มสั่นคลอนวิถีแห่ง "ชานิยม" มากขึ้นเป็นลำดับ

ใครที่เคยไปเมืองจีนก่อนหน้านี้ไม่กี่ปีและเป็นคนติดกาแฟ คงต้องมีเสียงบ่นไม่มากก็น้อยถึงรสชาติกาแฟจีนที่แสนจะแปลกประหลาดหรือเจือจางจนแทบจะไม่ได้กลิ่นกาแฟ และอาการหายากของกาแฟจีนตามท้องถนนทั่วไป จะหาได้ก็เฉพาะในโรงแรมบางแห่งเท่านั้น

นั่นเป็นเพราะว่าสมัยก่อนคนจีนไม่ดื่มกาแฟ หรือจะกล่าวให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงก็คือ เครื่องดื่มร้อนยอดนิยมมีเพียงชาจีนร้อนเท่านั้น (อย่างเก็กฮวยก็ถือเป็นชาประเภทหนึ่งเช่นกัน จัดอยู่ในหมวดชาจากดอกไม้)

ดังนั้น เมื่อคนท้องถิ่นไม่ดื่ม อุปทานจึงยังไม่ปรากฏเกิดมากนักตามหลักเศรษฐศาสตร์

หากมองย้อนกลับไปไม่ต้องไกลมาก เอาสักทศวรรษหนึ่งก่อนหน้านี้ก็พอ ชายังคงครองสถานะเครื่องดื่มอันดับหนึ่งและอันดับเดียวในดวงใจของชาวจีนทุกรุ่น เป็นศาสตร์และศิลป์ที่มีเสน่ห์น่าหลงใหลตั้งแต่การเพาะปลูก พันธุ์ชาพิเศษของแต่ละท้องที่ วิธีการชง การเสิร์ฟ ไปจนถึงความชื่นชอบของแต่ละคน ล้วนเป็นเรื่องที่หากได้ศึกษาแล้ว จะพบว่ามีรายละเอียดที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

ในขณะที่กาแฟเป็นอะไรที่ค่อนข้างห่างไกลจากวิถีประจำวันอย่างมาก และหาได้ยากในชีวิตประจำวันทั่วไป


แต่เพียงไม่ถึงทศวรรษที่เวลาหมุนเวียนไป กาแฟได้สร้างปรากฏการณ์และวัฒนธรรมใหม่ให้กับคนเมืองของจีนไปเสียแล้ว และได้เข้ายึดครองส่วนแบ่งตลาดของเครื่องดื่มร้อนในจีนไปไม่น้อยทีเดียว

การเปิดกว้างของสังคมจีนที่ทวีความเข้มข้นมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะในสังคมเมืองใหญ่ที่มีระดับการเปิดกว้างมากกว่าเมืองในระดับรองๆ ลงไป ทำให้วัฒนธรรมตะวันตกและค่านิยมแบบวัตถุนิยมแทรกซึมเข้ามาพร้อมๆ กับความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ

ไม่เว้นแม้แต่วัฒนธรรมการกินดื่มที่เปิดประตูหน้าต่างให้กาแฟได้เข้ามาทักทายและสร้างความสัมพันธ์ในรูปแบบใหม่ๆ กับชาวจีน

โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในวัยทำงานและอยู่ในกลุ่มชนชั้นปานกลาง

หนุ่มสาวออฟฟิศชาวจีนในปัจจุบันบางส่วนได้เลิกนิสัยการพกกระติกน้ำหรือถ้วยน้ำที่บรรจุชาสีเข้มไปทำงาน (ซึ่งเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในประเทศจีน คนส่วนใหญ่จะมีกระติกน้ำใส่น้ำชาพกติดตัวเสมอ แม้แต่คนขับรถแท็กซี่ ก็จะมีกระติกใบโปรดที่พกไปด้วยทั้งวัน)

แต่ได้หันมานิยมการดื่มกาแฟแทน และเมื่ออุปสงค์มีมากขึ้น อุปทานก็ตามมา พร้อมด้วยสิ่งที่เรียกว่า รสนิยมที่เปลี่ยนไป

จนเมื่อสิบปีก่อนที่อุตสาหกรรมกาแฟในจีนมียอดจำหน่ายอยู่ที่เพียง 400 กิโลกรัมต่อเดือน ตอนนี้มียอดสั่งซื้อสูงกว่า 400 ตันต่อเดือน



ร้านกาแฟกลายเป็นธุรกิจใหม่ที่ถือกำเนิดขึ้นตามท้องถนนในเมืองใหญ่ของจีน โดยหากจะแบ่งประเภทแล้ว ก็คงจัดได้เป็น 2 ประเภทใหญ่

กล่าวคือ ร้านกาแฟที่มีสัญชาติตะวันตก แตกกิ่งก้านสาขาเข้ามายึดทำเลทองตามเมืองใหญ่ของจีนและทำท่าว่ากำลังจะแผ่ขยายอิทธิพลเข้าไปในเมืองระดับสองระดับสามของจีนในเร็ววันนี้ด้วย

ในประเภทนี้ ร้านกาแฟใหญ่ยักษ์ที่มีสาขาทั่วโลกอย่างสตาร์บักส์ (Starbucks) ก็คือผู้นำที่เข้ามายึดหัวหาดในจีนไว้อย่างเหนียวแน่นนั่นเอง

นับตั้งแต่ต้นปี 1999 ที่สตาร์บักส์เปิดสาขาแรกในปักกิ่ง ก็ได้ขยายสาขาอย่างไม่หยุดยั้ง

จนปัจจุบัน สตาร์บักส์มีสาขาในจีนเกือบ 400 สาขาในปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เฉิงตู ฉงชิ่ง ฉางซา เสิ่นหยาง คุนหมิง กว่างโจว รวมทั้งอีกหลายเมืองบนแผ่นดินใหญ่

และหากจะนับรวมไปถึงฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวันด้วยแล้ว สตาร์บักส์มีสาขามากถึงกว่า 500 สาขา

โดยกาแฟป้ายเขียวยี่ห้อนี้ได้วางสถานะตัวเองไว้อย่างชัดเจนว่า จะต้องเป็นแบรนด์กาแฟแถวหน้า (สุด) ของจีนที่เน้นการสร้างกระแส "กาแฟนิยมเพื่อความทันสมัย" ในกลุ่มคนทำงานและนักศึกษามหาวิทยาลัย

และที่เก๋ไปกว่านั้นก็คือ สตาร์บักส์พยายามเน้นการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ความทันสมัยผ่านวิถีชีวิตแบบใหม่ที่เน้นความล้ำหน้า ทำให้ลูกค้าของสตาร์บักส์รู้สึกว่า...การเสียเงิน (จำนวนไม่น้อย) เพื่อให้ได้มาซึ่งแก้วสตาร์บักส์ไว้ในมือนั้น นอกจากจะได้ลิ้มรสกาแฟแล้ว ยังได้ภาพลักษณ์ความเป็นคนรุ่นใหม่มาแปะไว้บนตัวอีกด้วย


สตาร์บักส์ในจีนไม่เพียงแต่จะนำเสนอโปรโมชั่นใหม่ๆ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ปกติของการตลาด แต่ยังพยายามทำให้ชาวจีนรู้สึกว่า สตาร์บักส์ ใส่ใจต่อสุขภาพของผู้บริโภคด้วย (ซึ่งเรื่องความปลอดภัยของอาหาร (food safety) นั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ยังไม่แพร่หลายนักในจีน)

เช่น ในช่วงที่เกิดปัญหานมผงปนเปื้อนเมลามีน เพื่อให้ลูกค้าสบายใจ สตาร์บักส์ก็หันมาใช้นมถั่วเหลืองเป็นส่วนผสมแทนนมวัว หรืออย่างช่วงที่ญี่ปุ่นประสบปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด ก็ระงับการนำเข้าผงชาเขียวที่นำมาใช้ทำเครื่องดื่มชาเขียวของร้าน เป็นต้น

และนอกจากสตาร์บักส์จะเป็นผู้นำกระแสกาแฟในจีนแล้ว ยังเป็นแนวทางการบริหารธุรกิจแบบใหม่ที่เน้นความเป็นตะวันตกแต่ประสบความสำเร็จอย่างมากในจีนด้วย

และไม่เพียงเท่านั้น สตาร์บักส์ยังกลายเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดที่พอจะทำให้เราพอจะคาดคะเนถึงกำลังซื้อหรือฐานะของคนในแต่ละเมืองของจีนได้อีกด้วยว่า หากมีสาขาของสตาร์บักส์ปรากฏโฉมอยู่ ก็น่าจะประเมินได้ว่า กำลังซื้อของกลุ่มชนชั้นกลางในเมืองนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงพอสมควร

และคงไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจแต่อย่างใด หากจะบอกว่า ผู้บริหารสตาร์บักส์ได้ประกาศแล้วเช่นกันว่า ตั้งใจจะพัฒนาให้จีนเป็นตลาดของสตาร์บักส์ที่ใหญ่ที่สุดนอกทวีปอเมริกาเหนือด้วยการขยายสาขาให้มากถึง 1,500 แห่งทั่วจีนภายในปี 2015

สำหรับกาแฟสัญชาติฝรั่งอื่นนอกจากสตาร์บักส์แล้ว ก็มีให้พบเห็นอยู่ประปราย และกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นลำดับตามคำขวัญที่ว่า "ถนนทุกสายมุ่งสู่ประเทศจีน" ไม่ว่าจะเป็นร้านที่เป็นพวกแฟรนไชส์ที่มีสาขาทั่วโลกหรือร้านที่ชาวต่างชาติไปลงทุนเปิดในจีนเป็นร้านเล็กๆ อาทิ Costa Coffee, Blenz, Jamaica Blue, Coffee Bean หรือแม้กระทั่งเครื่องทำกาแฟยี่ห้อดังอย่าง Nespresso ก็ยังเปิดร้านกาแฟ Nespresso Boutique ในปักกิ่งกับเขาด้วย

อ้อ...และนี่ยังไม่นับรวมกาแฟที่มีเสิร์ฟกันมากขึ้นในร้านอาหารจานด่วนสัญชาติอเมริกันที่เข้าไปยึดครองพื้นที่ในจีนอย่าง McDonald's หรือ KFC เช่นกัน



ส่วนประเภทที่สองของร้านกาแฟในจีน ก็คือ ร้านกาแฟท้องถิ่นที่เปิดโดยชาวจีนเอง

ร้านกาแฟประเภทนี้จะมีลักษณะที่แตกต่างจากร้านกาแฟจำพวกแรกทั้งในแง่ของลักษณะและคุณภาพกาแฟ รวมไปถึงวิธีการบริหารและบริการของร้าน

โดยมีทั้งร้านประเภทแฟรนไชส์ที่มีหลายสาขา และร้านที่เปิดตามมุมถนนต่างๆ โดยเฉพาะย่านธุรกิจและย่านท่องเที่ยว

สำหรับร้านแฟรนไชส์ที่พบเห็นได้ทั่วไปก็คือ SPR Coffee ก่อตั้งมากว่า 30 ปี ถือเป็นแบรนด์กาแฟท้องถิ่นที่ใหญ่ที่สุด มีสาขาแล้วมากกว่า 200 แห่งใน 60 เมืองของจีน (แต่ยังไม่มีสาขาในฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน)

โดยมีแผนจะมีขยายร้านกาแฟด้วยกระบวนการการขายแฟรนไชส์ให้กับชาวจีนที่สนใจจะมีร้านกาแฟเป็นของตัวเอง

นอกจากนี้ SPR Group ยังมีโรงแรมและร้านเบเกอรี่อยู่ในเครือด้วย

จุดเด่นของ SPR Coffee อยู่ที่เข้าถึงกลุ่มคนท้องถิ่นของจีนได้ในวงที่กว้างกว่า เพราะไม่ได้จำกัดภาพลักษณ์อยู่ที่ความล้ำสมัย ดังนั้น จึงเข้าถึงคนท้องถิ่นได้มากกว่าสตาร์บักส์ และที่สำคัญก็คือ ราคาย่อมเยากว่าพอควร

แต่ในขณะเดียวกัน กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของ SPR Coffee ก็ไม่ใช่คนที่มีความเป็นคอกาแฟแบบตะวันตกเสียทีเดียว ดังนั้น ก็ไม่ได้แสวงหาความเป็นกาแฟที่จัดจ้านมากนัก

แต่มีสิ่งหนึ่งที่จุดประกายให้ชาวต่างชาติส่วนใหญ่ที่ไปจีนมักจะเกิดความสงสัยก็คือ การเน้นโทนสีเขียวเป็นสัญลักษณ์ของร้าน SPR Coffee เกี่ยวข้องอะไรกับการที่สตาร์บักส์เองก็ใช้สีเขียวหรือไม่?

ซึ่งก็เป็นเรื่องเชิงธุรกิจที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน


การเติบโตของกระแส "กาแฟนิยม" ดังกล่าวได้ส่งผลให้ธุรกิจกาแฟกลายเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพอย่างยิ่งยวดในแผ่นดินใหญ่ไปอีกธุรกิจหนึ่ง

มีการวิเคราะห์กันว่า เมื่อปี 1997 จีนผลิตกาแฟอยู่ที่เพียง 3,600 ตันเท่านั้น แต่พอมาถึงปี 2009 ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 28,000 ตัน บนพื้นที่ 2 ล้านตารางเมตร และคาดว่าในช่วง 15 ปีข้างหน้า พื้นที่การผลิตจะขยายเป็น 16 ล้านตารางเมตร

ซึ่งปัจจุบัน นอกจากจีนจะผลิตกาแฟเพื่อรองรับการเติบโตของตลาดภายในประเทศแล้ว ยังเริ่มส่งออกไปยังต่างประเทศแล้วด้วย

และนอกจากกระแสฮิตของร้านกาแฟที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ตลาดกาแฟสำเร็จรูปภายในจีนก็ขยายตัวอย่างก้าวกระโดดเช่นกัน

ซึ่งเมื่อปี 2010 ที่ผ่านมา มูลค่าการจำหน่ายสินค้ากาแฟสำเร็จรูปในจีนสูงถึง 5,100 ล้านหยวน ด้วยอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 13 โดยมี Nestle เป็นผู้นำในตลาดกาแฟสำเร็จรูปในจีน

ทั้งนี้ ความน่าสนใจของกระแสความนิยมกาแฟในจีน คงไม่ใช่เพียงแค่ว่า กาแฟได้กลายเป็นธุรกิจที่นำมาซึ่งผลกำไรจากทั้งอุปสงค์และอุปทานที่แย่งกันขยายตัวเท่านั้น แต่ยังเป็นธุรกิจที่เล่นกับความเป็นชนชาติหรือวัฒนธรรมของท้องถิ่นด้วยการสร้างค่านิยมใหม่ให้กับคนเมืองของจีนด้วยการจัดวางให้ "กาแฟ" มีนัยเท่ากับ "ความทันสมัย" หรือการใช้ชีวิตแบบตะวันตกนั่นเอง

และไม่น่าเชื่อด้วยว่า ค่านิยมแบบตะวันตกเช่นนี้จะสามารถเปิดศึกสั่นสะเทือนรากเหง้าที่ฝังลึกอยู่ในสังคมจีนอย่าง "ชา" ได้อย่างสำเร็จเสียด้วย

แม้ว่าทุกวันนี้ ความนิยมในกาแฟจะยังไม่ได้แผ่ขยายเข้าซึมแทรกในกลุ่มคนจีนทุกผู้ทุกวัยทั่วประเทศ แต่ก็ยึดพื้นที่ตามเมืองใหญ่ๆ ในกลุ่มชนชั้นกลางไปได้ไม่น้อย

และก็มีแนวโน้มว่า จะขยายตัวจนสามารถประสบความสำเร็จอย่างที่ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดจากชาติตะวันตกเคยทำได้ในจีนมาแล้วได้ด้วย



ไม่อยากจะเชื่อ แต่ก็คงต้องเชื่อว่า ในขณะที่ชาวต่างชาติหลายคนกำลังหลงใหลกับศาสตร์และศิลป์ของชาจีนตามวิถีตะวันออก คนจีนเองกลับกำลังวิ่งตามกระแสตะวันตกด้วยการช่วยกันอุดหนุนปรากฏการณ์ "กาแฟนิยม" ในจีนให้เข้ามาแทนที่ "ชา" สัญลักษณ์ที่สะท้อนความเป็นตัวตนของชาวจีนได้มากที่สุดสัญลักษณ์หนึ่ง

แต่ในมุมกลับกัน หากจะมองกันในแง่ดี บนโลกที่ปราการเรื่องพรมแดนกำลังลดความสำคัญลงเป็นลำดับอย่างทุกวันนี้ การแบ่งปันหรือก้าวข้ามวัฒนธรรมก็คงถือเป็นเรื่องดีที่คนของอีกซีกโลกจะได้สัมผัสกับความหลากหลายที่มาพร้อมวัฒนธรรมที่แตกต่างได้มากยิ่งขึ้นเช่นกัน

ซึ่งก็คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า กระแส "กาแฟ" ในจีนจะไปได้ไกลเพียงใดในแผ่นดินใหญ่แห่งนี้



.