http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-02-20

W.E."รักบันลือโลก", +THE KING'S SPEECH โดย นพมาส แววหงส์

.
W.E. "รักบันลือโลก"
โดย นพมาส แววหงส์ คอลัมน์ ภาพยนตร์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1644 หน้า 87


กำกับการแสดง Madonna
นำแสดง Abbie Cornish
Andrea Riseborough , James D'Arcy
Oscar Isaac , Judy Parfitt
Natalie Dormer


W.E. สะกดเป็นคำแปลว่า "เรา" ซึ่งมีความหมายที่ผูกพันคนสองคน (หรือหลายคน) เข้าไว้ด้วยกัน แต่ความหมายที่แท้จริงของชื่อหนังมาจากอักษรย่อชื่อคนสองคนคือ Wallis และ Edward ผู้กลายเป็นตำนานรักบันลือโลกเมื่อต้นศตวรรษที่ยี่สิบ

คนแรกคือ มิสซิสวอลลิส ซิมป์สัน สตรีสาวเจ้าเสน่ห์ผู้เขย่าบัลลังก์อังกฤษในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง

คนหลังคือกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่แปดแห่งอังกฤษ ที่สละราชบัลลังก์เพื่อความรัก เนื่องจากจารีตประเพณีในราชวงศ์อังกฤษไม่ยอมให้กษัตริย์เสกสมรสกับหญิงสามัญชาวต่างชาติ (อเมริกัน) ผู้ผ่านการแต่งงานมาแล้วสองครั้ง แถมยังอยู่ในสถานะหญิงที่สมรสแล้ว ซึ่งยังต้องดำเนินเรื่องหย่าร้างกับสามีคนที่สอง

เรื่องราวของเอ็ดเวิร์ดกับวอลลิสตกเป็นข่าวครึกโครมที่สุดข่าวหนึ่งของโลก และส่งผลให้พระอนุชาอัลเบิร์ตขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าจอร์จที่หก หลังจากจอร์จที่หกสวรรคต ราชบัลลังก์ก็ตกแก่พระราชินีอลิซาเบธที่สององค์ปัจจุบันนี้เอง


เรื่องราวของอัลเบิร์ตเพิ่งได้รับการนำเสนอไปหยกๆ ในภาพยนตร์ที่ได้รางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมไปเมื่อปีที่แล้ว คือ The King's Speech (คอลิน เฟิร์ธ, เจฟฟรีย์ รัช)

The King's Speech เล่าเผินๆ ถึงความสัมพันธ์ของเอ็ดเวิร์ดกับวอลลิสอย่างไม่ค่อยเห็นอกเห็นใจทั้งสองคน และในฐานที่เป็นต้นเหตุทำให้อัลเบิร์ตต้องกลายเป็น "กษัตริย์จำเป็น เพราะต้องทรงขึ้นครองราชย์อย่างจำพระทัยด้วยเกรงว่าความบกพร่องทางการพูดของพระองค์จะทำให้ไม่สามารถทรงปฏิบัติพระราชภารกิจองค์ประมุขของจักรวรรดิอังกฤษได้สมความคาดหวัง

ส่วนหนังเรื่อง W.E. เล่าถึง W. กับ E. สองคู่ คือ วอลลิส (แอนเดรีย ไรซ์เบอโรห์) กับเอ็ดเวิร์ด (เจมส์ ดาร์ซี) และวอลลี (แอบบี คอร์นิช) กับเอฟเกนี (ออสการ์ ไอแซก)

โดยมีหญิงสาวสองคนเป็นจุดศูนย์กลางของเรื่อง และเดินเรื่องสลับไปมาระหว่างชีวิตของหญิงสาวผู้มั่งคั่ง ภรรยาของหมอที่ให้เธอลาออกจากงานมาอยู่บ้านเฉยๆ ในนิวยอร์กในช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด ซึ่งเป็นยุคปัจจุบัน กับชีวิตของวอลลิส ซิมป์สัน ในช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ

วอลลี วินธรอป ได้ชื่อตาม วอลลิส ซิมป์สัน เนื่องจากแม่กับยายซาบซึ้งตรึงใจกับเรื่องราวความรักบันลือโลกของวอลลิสกับเอ็ดเวิร์ด จนตั้งชื่อลูกกับหลานตามสตรีเรืองนามคนนั้น เมื่อโตขึ้น วอลลีก็คลั่งไคล้หมกมุ่นอยู่กับวอลลิสเหลือเกิน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีเวลาว่างมากมายในชีวิตแม่บ้านที่ไม่ได้ทำงานในนิวยอร์ก และเมื่อมีการจัดนิทรรศการเพื่อจัดประมูลข้าวของเครื่องใช้ของวอลลิส กับเอ็ดเวิร์ด ที่ซอธบีส์ ซึ่งเป็นบริษัทที่วอลลีเคยทำงานอยู่เมื่อสมัยก่อนแต่งงาน เธอจึงมาเดินชมนิทรรศการทุกวันตั้งแต่เช้ายันเย็น

จนเป็นที่สะดุดตาของเอฟเกนี รปภ.ชาวต่างชาติ (รัสเซีย) ที่ดูแลรักษาความปลอดภัยในสถานที่จัดนิทรรศการ

ความคล้ายคลึงในชีวิตของหญิงสาวต่างศตวรรษสองคนนี้ยังมีมากกว่าการที่เธอใช้ชื่อเหมือนๆ กัน

วอลลีตกอยู่ในการแต่งงานที่สามีอยากเก็บเธอไว้อยู่กับบ้านเฉยๆ ในขณะที่ดูเหมือนเขาจะนอกใจเธอ ใช้ชีวิตอยู่นอกบ้านดึกๆ ดื่นๆ โดยปกปิดจากภรรยา แถมยังลงไม้ลงมือกับเธออย่างรุนแรงเมื่อเกิดเรื่องไม่ถูกใจ ไม่ผิดอะไรกับสามีคนแรกของวอลลิสที่ตบตีเธอจนแท้งลูก



หนังเรื่องนี้กำกับฯ โดย มาดอนนา ซูเปอร์สตาร์ที่ผันตัวเองมาเป็นผู้กำกับฯ แม้ว่าหลายคนอาจไม่ยอมเชื่อหน้าและตั้งป้อมดูแคลนฝีมือเธอและพร้อมจะร้องยี้ไว้ล่วงหน้า แต่ผู้เขียนซึ่งไม่ได้ชื่นชมมาดอนนามาก่อน ต้องยอมรับนับถือในฝีมือกำกับฯ ของ Material Girl คนนี้ทีเดียว แม้หนังจะยังมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง แต่โดยรวมแล้ว เป็นหนังที่น่านับถือในฝีมือทีเดียว

การถ่ายภาพงดงาม เครื่องแต่งกายสวยจับตา ดนตรีไพเราะ แอ็กติ้งก็ใช้ได้โดยรวม และโดยเฉพาะ แอนเดรีย ไรซ์เบอโรห์ ที่นำเสนอแคแร็กเตอร์ที่น่าสนใจของ มิสซิสวอลลิส ซิมป์สัน

ใน The King's Speech มิสซิสซิมป์สันเป็นสตรีเจ้าเสน่ห์ผู้ปั่นหัวเอ็ดเวิร์ดที่มีชื่อเรียกในหมู่คนสนิทว่า เดวิด จนอย่างที่ศัพท์สามัญจะเรียกว่า "หัวปักหัวปำ" หรือ "โงหัวไม่ขึ้น" แถมยังไม่สวยพอจะทำให้ใครๆ เข้าใจว่าทำไมเอ็ดเวิร์ดถึงหลงรักเธอขนาดนั้น

แต่ใน W.E. แอนเดรีย ไรซ์เบอโรห์ ทำให้เธอสวยจับตาและมีเสน่ห์ลึกล้ำ แม้จะแสดงออกนอกหน้าว่าเธอมุ่งหวังจะจับเอ็ดเวิร์ดให้อยู่มือ ว่าเธอเป็นสาวสังคมที่ต้องการไต่ขึ้นสู่จุดสูงสุด และเสนอความสัมพันธ์ของเธอกับมิสเตอร์ซิมป์สันอย่างแปลกประหลาดทีเดียว

แม้ว่าหลายคนจะตั้งข้อกังขาและข้อเดียดฉันท์ต่อผู้หญิงคนนี้ด้วยเหตุผลหนึ่งคือการมีสัมพันธภาพที่ดีกับพวกนาซีในขณะที่อังกฤษกำลังขับเคี่ยวกับฮิตเลอร์จนนำไปสู่การประกาศสงครามกันในที่สุด

ผู้เขียนคิดว่ามาดอนนาจับแก่นของเรื่องสำหรับหนังได้อยู่มือและโดนใจทีเดียว


คําถามที่อยู่ในใจคนส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้หญิง ดังที่ วอลลี วินธรอป ฉงนฉงายและต้องการค้นหา คือ จะรู้สึกอย่างไรหนอที่ได้ครอบครองความรักของผู้ชายที่ยอมเสียสละสิ่งล้ำค่าในชีวิตเพื่อเธอได้

และคำตอบข้อหนึ่งที่วอลลีได้ค้นพบและเกิดความเข้าใจ ก็คือ ใครๆ พากันนึกแต่ว่าเอ็ดเวิร์ดช่างเสียสละเพื่อเธอเหลือเกิน แต่ไม่มีใครมองเลยว่าเธอก็ต้องเสียสละเพื่อเขาไม่น้อยเหมือนกัน เธอถูกตั้งข้อรังเกียจ ตกเป็นขี้ปาก เป็นเป้าคำครหานินทา ถูกขับไล่ไม่ให้เข้าประเทศ ฯลฯ

ความติดตรึงใจของวอลลีต่อวอลลิสนำเธอไปสู่มหาเศรษฐีผู้ครอบครองจดหมายส่วนตัวของวอลลิสเพื่อไขปริศนาชวนพิศวงนี้ มหาเศรษฐีคนนี้คือ อัล ฟายิด ผู้มีชื่อเสียงก้องโลกอย่างที่เราๆ ท่านๆ รู้จักกันนั่นเอง

สรุปว่าชอบนะคะหนังเรื่องนี้ ที่ชอบมากที่สุดคือเครื่องแต่งกายย้อนยุคที่สวยสะดุดตาเหลือเกิน มีโอกาสก็ไปดูกันนะคะ รู้สึกจะฉายน้อยโรงมาก



++++
บทความของต้นปีที่แล้ว 2554

THE KING'S SPEECH "หนังเต็งหนึ่งของปี"
โดย นพมาส แววหงส์ คอลัมน์ ภาพยนตร์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 04 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1590 หน้า 87


กำกับการแสดง Tom Hooper
นำแสดง Colin Firth
Geoffrey Rush , Helena Bonham Carter
Guy Pearce , Michael Gambon
Derek Jacobi


ค.ศ.1939 ในช่วงระยะเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองจะปะทุขึ้นในปีถัดมา อังกฤษต้องการผู้นำที่จะพาประเทศชาติและโลกทั้งโลกฝ่าฟันการแผ่อิทธิพลคุกคามของนาซีภายใต้ฮิตเลอร์

วิทยาการก้าวหน้าพาผู้นำที่เข้มแข็งเข้าใกล้ประชาชนขึ้นอีกก้าว ด้วยหนังข่าวและวิทยุกระจายเสียงคำปราศรัยครั้งสำคัญๆ ไปสู่หูของคนฟังในบ้านช่องทั่วทุกแห่งหนทุกมุมโลก

ในโอกาสสำคัญๆ กษัตริย์อังกฤษต้องเข้าถึงราษฎรในเครือจักรภาพที่แผ่อยู่ทั่วโลกแทบทุกทวีป พระเจ้าจอร์จที่ห้า (ไมเคิล แกมบอน) ยังทรงปรารภว่าบทบาทของกษัตริย์แปรโฉมหน้าไปจากเดิมแล้วในโลกยุคใหม่

องค์รัชทายาทลำดับแรกคือเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด (กาย เพียร์ซ) ดูท่าว่าจะทรงมีปัญหาในการสืบราชบัลลังก์ เนื่องจากทรงติดพันอยู่กับ มิสซิสวอลลิส ซิมป์สัน ผู้อื้อฉาว

ประเด็นหลักที่ทำให้มิสซิมซิมป์สันไม่เหมาะจะเป็นคู่อภิเษกของกษัตริย์อังกฤษองค์ต่อไป ก็เพราะเธอแต่งงานและหย่ามาแล้วสองครั้ง และขณะนั้นยังมีสามีอยู่ด้วยซ้ำ โบราณราชประเพณีและคริสตจักรแห่งอังกฤษย่อมไม่ยอมรับสตรีที่มีประวัติแบบนี้มาเป็นพระราชินีแห่งเครือจักรภพ

บุคคลผู้อยู่ในตำแหน่งที่จะขึ้นครองราชย์ถัดไปในลำดับการสืบสันตติวงศ์คือเจ้าชายอัลเบิร์ต (คอลิน เฟิร์ธ) ผู้เกิดมาเป็นโอรสกษัตริย์ก็จริง แต่ไม่ได้ทรงนึกฝันว่าจะต้องขึ้นครองราชย์ แต่เมื่อสถานการณ์บีบบังคับ เจ้าชายอัลเบิร์ตจึงต้องขึ้นครองราชย์ หนึ่งในพระฉายาที่ผู้คนมักจะเรียกขานพระองค์คือ "กษัตริย์ผู้ไม่ทรงเต็มพระทัยจะขึ้นครองราชย์" (the reluctant king)

พระเจ้าจอร์จที่หกเป็นกษัตริย์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มี วินสตัน เชอร์ชิล เป็นนายกรัฐมนตรีคู่บารมี และพาอังกฤษผ่านพ้นสงครามมาด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร

ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือทรงเป็นพระราชบิดาของสมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่สอง ที่ทรงเป็นประมุของค์ปัจจุบันของอังกฤษ



นี่คือเรื่องราวความเป็นมาในประวัติศาสตร์ที่กลายมาเป็นท้องเรื่องของ The King's Speech

ตำราประวัติศาสตร์บอกเราแค่ว่าเจ้าชายอัลเบิร์ตเป็น "กษัตริย์ผู้ไม่ทรงเต็มพระทัย" เพราะไม่ได้ทรงเตรียมพระทัยมาก่อน แต่ต้องทรงจำยอมเพื่อเห็นแก่ประเทศชาติและราชวงศ์ เนื่องจากพระเชษฐาเอ็ดเวิร์ดยอมสละราชบัลลังก์เพื่อจะได้ทรงสมรสกับสตรีสามัญชาวอเมริกัน ผู้มีข้อด่างพร้อยสำคัญจากการหย่ามาแล้วสองครั้ง

จะมีใครสักกี่คนที่รู้ว่าเจ้าชายอัลเบิร์ตไม่มีพระประสงค์จะรับพระราชกรณียกิจของกษัตริย์เนื่องจากข้อบกพร่องในพระบุคลิกภาพของพระองค์เอง

นั่นคือทรงติดอ่างอย่างน่าสังเกต และทรงถูกล้อเลียนมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์

การเป็นกษัตริย์ย่อมหมายถึงพระราชกรณียกิจที่จะต้องมีพระราชดำรัสเป็นทางการต่อหน้าคนนับพันนับหมื่น และนั่นคือความประหวั่นพรั่นพรึงข้อใหญ่ของเจ้าชายอัลเบิร์ตผู้ที่ประสูติในวันสิ้นพระชนม์ของพระปิตุลาที่เป็นพระสวามีของสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย จนพระราชมารดาต้องตั้งพระนามตามพระปิตุลา เพื่อไม่ให้ควีนวิกตอเรียทรงรังเกียจ

เจ้าชายอัลเบิร์ตทรงขึ้นครองราชย์ด้วยพระนามว่าพระเจ้าจอร์จที่หก เพื่อให้ประชาชนรู้สึกถึงความต่อเนื่องของสถาบันกษัตริย์จากพระราชบิดาพระเจ้าจอร์จที่ห้า

The King's Speech ทำให้เราเห็นด้านที่เป็นมนุษย์ปุถุชนของ "กษัตริย์ผู้ไม่ทรงเต็มพระทัย" พระองค์นี้



พระชายาของเจ้าชายอัลเบิร์ต ซึ่งต่อมาคนอังกฤษทั้งประเทศจะเรียกกันว่า "ควีนมัม" ทรงพระนามว่าเอลิซาเบธเหมือนกัน มีบทบาทสำคัญเบื้องหลังพระสวามี เฮเลนา บอนนัม คาร์เตอร์ เล่นบทได้น่าประทับใจเหลือเกิน สำหรับราชนิกูลผู้ยืนอยู่เบื้องหลังราชบัลลังก์องค์นี้ และบุคคลที่ต่อมาจะกลายเป็น "ควีนมัม" ผู้น่ารักที่ทรงพระชนมายุยืนยาวกว่าหนึ่งร้อยปี และเพิ่งสิ้นพระชนม์ไปเมื่อไม่ถึงสิบปีมานี้เอง

แม้ว่าเรื่องราวส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นใน ค.ศ.1939 แต่หนังเปิดเรื่องในปี 1925 ในฉากที่เจ้าชายอัลเบิร์ตกำลังจะต้องมีพระราชกระแสเปิดนิทรรศการของจักรวรรดิอังกฤษต่อหน้าฝูงชนนับแสนและที่ฟังทางวิทยุอยู่ทั่วโลก

อัลเบิร์ตซึ่งทรงรู้ในข้อบกพร่องทางการพูดของพระองค์ ต้องทรงต่อสู้เอาชนะความกลัวจะ "หน้าแตก" ต่อหน้าประชาชี แต่ก็เป็นหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติให้ลุล่วง

หนังไม่ได้ให้เราเห็นความ "หน้าแตก" ครั้งนั้น แต่มีการอ้างถึงในภายหลังว่าพระราชดำรัสครั้งนั้นทรงตะกุกตะกักน่าดู

พระชายาทรงเป็นกำลังใจอยู่ตลอด และทรงหาหมอเก่งๆ มารักษา แต่ก็ไม่ช่วยให้อัลเบิร์ตดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยการให้พูดขณะอมลูกแก้วไว้เต็มปาก ในฐานะอย่างนั้น เรียกว่าถ้ามีหมอเทวดาคนไหนที่รักษาได้ คงกวาดมาทั่วแผ่นดินแล้ว

ในที่สุด ก็มาลงเอยเอาที่ ไลโอเนล โล้ก (เจฟฟรีย์ รัช) นักแสดงละครคลาสสิคจากออสเตรเลีย ที่เปิดคลินิคฝึกทักษะการพูด

หนังทั้งเรื่องเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างอัลเบิร์ตกับโล้ก ผู้ที่อัลเบิร์ตมาทรงทราบเอาภายหลังว่าไม่ได้มีดีกรีแพทย์ติดตัวอยู่ด้วยซ้ำ

แน่นอน ว่าถ้าอัลเบิร์ตทำไม่สำเร็จ เรื่องราวนี้ก็คงไม่น่าจะได้รับการนำเสนอออกมาเป็นหนังแบบนี้



ความสำเร็จของโล้กในการรักษาโรคติดอ่าง กลายเป็นชัยชนะของอัลเบิร์ตทั้งในฐานะปุถุชนและประมุขของสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพอังกฤษไปด้วยพร้อมๆ กัน

ถ้าอัลเบิร์ตผู้กลายเป็นพระเจ้าจอร์จที่หก ไม่ทรงสามารถปราศรัยต่อโลกทั้งโลก ประกาศสงครามกับเยอรมนีอย่างหนักแน่น แน่วแน่ได้ ก็จะทรงกลายเป็นตัวตลกต่อหน้าคนทั้งโลก ในขณะที่ฮิตเลอร์เป็นนักพูดที่เก่งฉกาจ สามารถโน้มน้าวใจให้คนฟังเคลิ้มและเชื่อถือ

แต่ถ้าเราไม่ดูหนังเรื่องนี้ในด้านที่เกี่ยวกับบุคคลในประวัติศาสตร์ เราก็ยังสามารถซาบซึ้งกับชัยชนะของปุถุชนสามัญที่สามารถเอาชนะอุปสรรคยิ่งใหญ่ในชีวิตของตนได้อย่างสวยงาม

นอกจากฝีมือการแสดงระดับเทพแล้ว เนื้อหาของหนังก็ยังให้อะไรดีๆ แก่เรามากมาย

ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ ก็จะได้รู้กันแล้วว่าหนังเรื่องนี้จะหอบรางวัลกลับอังกฤษสักกี่ตัว ยิ่งหนังอังกฤษ ดาราอังกฤษและออสเตรเลียมักจะเป็นที่ชื่นชอบของคนอเมริกันอยู่ด้วย



.