http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-02-17

ที่ใดมีการกดขี่, 'การเมือง' มากไป?, "แม่" ผู้ต้องหา112 โดย สุริวงค์, วรศักดิ์, สมศักดิ์

.
บทความเพิ่ม - ศราวุฒิ ประทุมราช: สิทธิได้รับการประกันตัวคือ สิทธิมนุษยชน
บทความเพิ่ม - เกษียร เตชะพีระ : " ที่ว่าแผ่นเสียงตกร่องของนักสันติวิธี "

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน : ที่ใดมีการกดขี่
คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 จากมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เวลา 21:00:00 น.
ภาพโดย "เดชชาติ พวงเกษ "


หากเรามองปัญหาแบบแคบๆ ตื้นๆ ก็คงจะร่วมป่าวประณามพวกก่อการร้ายอิหร่าน ที่เข้ามาวางแผนก่อเหตุในประเทศเรา แล้วอาจจะสมน้ำหน้าที่เกิดความผิดพลาดจนระเบิดตูมตามเสียเอง เป็นเหตุให้ความแตก แผนร้ายต้องล่มสลาย ขาขาดอีกต่างหาก

แน่นอนว่า ในฐานะประชาชนคนไทย ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องหรือเป็นศัตรูคู่อาฆาตกับชาติในตะวันออกกลาง ย่อมไม่พอใจ ที่คนพวกนี้มาใช้บ้านเราเป็นพื้นที่ปฏิบัติการ เพื่อเล่นงานมหาอำนาจคู่อาฆาต

โดยในกรณีนี้ ชัดเจนว่า เป้าหมายการสังหารคือเจ้าหน้าที่ทูตอิสราเอลในไทย เนื่องจากลักษณะการประกอบระเบิด เหมือนกับที่เพิ่งก่อเหตุปองร้ายทูตอิสราเอลในอินเดียและในจอร์เจีย

เราอาจไม่ชอบใจนักกับเหตุการณ์แบบนี้

แต่เราก็ต้องมองจากสภาพปัญหาที่เป็นจริงว่า สามารถเกิดเหตุได้ทุกเมื่อและในทุกพื้นที่ทั่วโลก

ตราบใดที่สหรัฐอเมริกาและอิสราเอลยังไม่หาทางคลี่คลายความขัดแย้งกับชาติอาหรับ ด้วยแนวทางเจรจาอย่างสันติวิธี

ตราบใดที่ชาติมหาอำนาจยังใช้พลังอำนาจทางทหาร ใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ที่เหนือกว่า เข้ารุกรบในดินแดนต่างๆ ด้วยข้ออ้างเป็นตำรวจโลก

ไปจนถึงยังไม่เปลี่ยนนโยบายต่างประเทศ ในการเข้าแทรกแซงกิจการภายในหลายๆ ประเทศ

จุ้นจ้านไปทั่วโลก

การก่อการร้ายเป็นอาวุธอันทรงพลังของชาติเล็กกว่า ที่ต้องงัดออกมาใช้

อีกทั้งลัทธิก่อการร้ายยังแพร่ขยายไปทั่วทุกพื้นที่ เพื่อต่อต้านชาติมหาอำนาจ ทั้งในเป้าหมายสังหารตัวบุคคล และทำลายอาคารสถานที่

คำกล่าวว่า ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นมีการต่อสู้ เป็นเช่นนี้แหละ

เราคงไม่สนับสนุนลัทธิก่อการร้าย เพราะบ้านเราไม่เกี่ยวข้องด้วย ยังมีโอกาสซวยไปด้วยอยู่ตลอดเวลา

สิ่งที่กระทบต่อไทยเราแน่นอนคือการท่องเที่ยว ขุมทรัพย์ธรรมชาติของบ้านเรา

ข้อเรียกร้องให้ไทยต้องเข้มงวดกวดขันคนเข้าประเทศนั้น ย่อมทำได้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อเราเป็นเมืองเปิด อ้าแขนรับนักท่องเที่ยวแบบสุดเหยียด คงจะทำอะไรไม่ได้กว่านี้มากนัก

ตราบใดที่ไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อต้องห้าม จะไปเข้มงวดเฉพาะกับคนตะวันออกกลางที่เขามาบ้านเราได้หรือ จะกลายเป็นการเหยียดหยามเชื้อชาติไปอีก

แนวทางหนึ่งที่อาจพอทำกันได้ เข้มงวดระบบรักษาความปลอดภัย ตรวจอาวุธตรวจระเบิด ในทุกสถานที่

เจ้าของบ้านเช่าทั้งหลาย ต้องช่วยกันกลั่นกรองผู้เข้าพักอาศัย ไม่แค่ก่อการร้ายเท่านั้น อาจจะถูกหวยเป็นแหล่งเก็บยาเสพติดก็ได้

แต่ถึงที่สุดแล้ว คนทั่วโลกต้องช่วยกัน

ไม่ใช่เอาแต่ต่อต้านผู้ก่อการร้าย เพราะถ้าไม่หยุดนโยบายต่างประเทศอันผิดๆ ของมหาอำนาจ โลกนี้ย่อมไม่สงบลงได้ง่ายๆ

ต้องต่อต้านทั้งสองฝ่ายและทั้งสองด้าน

อย่าใช้สายตาแคบๆ ตื้นๆ ไปมองปัญหา อย่าหลงงมงายว่าอเมริกา ยุโรป อิสราเอล คือพระเอก แบบในหนังน้ำเน่าฮอลลีวู้ด

คล้ายๆ กับพวกต่อต้านนิติราษฎร์ด้วยสติปัญญาตื้นๆ ทำนองนั้นแหละ


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
สามารถอ่านต้นฉบับ ที่ www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1329479716&grpid=&catid=02&subcatid=0207
หรือติดตาม คอลัมน์อัพเดทของ www.asiaupdate.tv ที่ www.asiaupdate.tv/2012/02/41546.html มีทั้งภาพและเสียง

http://www.youtube.com/watch?v=SHBtNKZ_Cn4



++

วรศักดิ์ ประยูรศุข : 'การเมือง' มากไป ?
คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 จากมติชน ออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เวลา 21:00:00 น.


การเมืองยังเข้มข้น ทั้งการเมืองภายในและการเมืองระหว่างชาติ
ระเบิดตูมตาม ผลงานอิหร่าน 3 นาย กลางกรุงเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ในเชิงเหตุการณ์ก็ไม่ธรรมดาอยู่แล้ว
ปัญหาใหญ่กว่านั้น คือ รัฐบาลไทยจะดูแลไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีกได้อย่างไร

ประเทศไทยหลัง 3 ก.ค.2554 มีเพื่อนฝูงมากขึ้น ตัวเลข นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แต่การเปิดกว้างก็มี "ราคา" ที่ต้องจ่าย
โลกยังมีความขัดแย้ง ความแค้นระหว่างชาติ หาพื้นที่แสดงออก เมื่อหวยมาออกตูมตามกลางกรุง ก็เหนื่อยเป็นธรรมดา
ฝ่ายค้านสรุปทันทีว่า คนไทย นักลงทุน นักท่องเที่ยว สถานทูต ไม่สามารถเชื่อมั่นการรักษาความปลอดภัยในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลนี้ได้แล้ว ถือว่าความมั่นใจได้หมดลงแล้ว
เป็นสภาพปกติของการเมืองไทย ที่ต้องชิงความได้เปรียบทางการเมืองกันไว้ก่อน
รัฐบาลหนีความรับผิดชอบไม่พ้นแน่นอน ทั้งเรื่องผู้กระทำผิด และวางมาตรการป้องกันต่อไป ส่วน "ความเชื่อมั่น" จะสิ้นสูญหรือไม่ ต้องไปวัดกันอีกที


ที่น่าสนใจคือ เรื่องของ "การเมือง" ที่เป็นปัจจัยให้เรื่องราวต่างๆ เพิ่มความยุ่งยากได้อย่างน่ามหัศจรรย์
อย่างกรณีบอร์ดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประชุมหารือ ก่อนสรุปมติย้ำอีกครั้ง ห้ามใช้พื้นที่เคลื่อนไหวการเมืองมาตรา 112
ถามกันว่าอย่างไร คือ "การเมือง" ในกรณีของนิติราษฎร์ เพราะนิติราษฎร์เอง ยืนยันว่าทั้งหมดที่ทำเป็นการเคลื่อนไหวทางวิชาการ ในกรอบของรัฐธรรมนูญ
หลายคนเสนอ "เส้นแบ่ง" ง่ายๆ ว่า การเสวนาพูดจา ให้ข้อมูลความรู้ คือวิชาการ ส่วนการล่ารายชื่อ เพื่อเสนอ แก้กฎหมาย คือการเคลื่อนไหวการเมือง
ตัดตอนกันง่ายๆ แต่ไม่ได้ข้อยุติอยู่ดี เพราะถ้าจะเอา "เจตนา" คนเคลื่อนไหวก็ยืนยันว่าวิชาการจริงๆ


เรื่องนี้ อาจารย์พวงทวง ภวัครพันธุ์ แห่งรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เขียนไว้ในเว็บประชาไท หลายวันแล้ว ใครสนใจลองไปอ่านเรื่องเต็มๆ ได้ ชื่อเรื่องว่า "พวงทอง ภวัครพันธุ์ ตอบ ชำนาญ จันทร์เรือง กรณีบทความ ความผิดพลาดของนิติราษฎร์"
ตอนหนึ่งอาจารย์พวงทอง เขียนว่า "...การไม่มองมิติทางการเมืองนั้น เป็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งของนิติราษฎร์
จุดอ่อนคือ ไม่ได้สนใจเรื่องจังหวะก้าวทางการเมืองอะไรสักเท่าไร
จุดแข็งคือ มันทำให้นิติราษฎร์มุ่งผลักดันข้อเสนอต่างๆ ของตัวเอง โดยไม่สนใจแรงปะทะทางการเมืองที่จะกลับมาสู่ตนเท่าไรนัก แต่ผลักดันด้วยความเชื่อมั่นในหลักการ เหตุผล ความซื่อตรง และความบริสุทธิ์ใจของตนเองเป็นสำคัญ

เราจะเห็นลักษณะเช่นนี้เด่นชัดมาก โดยเฉพาะในตัว อ.วรเจตน์ (ภาคีรัตน์) การไม่สนใจมิติการเมือง หรือไม่เป็นการเมือง จึงทำให้เราได้คนที่กล้าหาญ มั่นคงในหลักการของตัวเอง

แม้ว่าจะโดนกระหน่ำอย่างรุนแรงจากรอบทิศ ก็ไม่ท้อ ไม่เคยโอดครวญเรียกร้องความเห็นใจจากสังคม ในทางตรงกันข้าม คนที่คำนึงถึงการเมืองมากๆ ก็มักเป็นคนประเภท "รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง" หรือคนประเภทจะทำอะไรแต่ละครั้ง ไม่เพียงต้องประเมินว่าผลการเมืองจะเป็นอย่างไร แต่ต้องประเมินว่าตัวเองจะได้หรือเสียอะไรด้วย

แต่ดิฉันคิดว่านิติราษฎร์ไม่ได้สนใจเรื่องสิ่งนี้เลย

แม้ว่าจะเห็นข้ออ่อนบางประการของนิติราษฎร์ แต่ดิฉันเคารพในคุณลักษณะดังกล่าวของพวกเขา ที่นับวันก็หายากขึ้นทุกที.."

นั่นคือ ความเห็นของนักวิชาการที่มีต่อนักวิชาการด้วยกันเอง ที่กำลังโดนบดขยี้ด้วย "การเมือง"

ทั้งการเมืองจากครูบาอาจารย์กันเอง และ "การเมือง" โดยนักการเมือง



++

"สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" เปรียบเทียบ "แม่" ผู้ต้องหา112 กับ "แม่" ตัวเองช่วงหลัง 6 ตุลา 19
จาก จากมติชน ออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เวลา 22:00:00 น.


ภายหลัง นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เดินทางไปเยี่ยมนายปณิธาน พฤกษาเกษมสุข ซึ่งอดข้าวประท้วงหน้าศาลอาญา รัชดา เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้แก่นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องหาคดี 112 ผู้เป็นบิดา โดยระหว่างเยี่ยมนายปณิธาน นายสมศักดิ์ได้มีโอกาสพบและพูดคุยกับมารดาของนายสุรภักดิ์ (ขอสงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาคดี 112 อีกรายหนึ่ง ซึ่งไม่ได้รับการประกันตัวเช่นกัน เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

นายสมศักดิ์ได้เขียนเปรียบเทียบประสบการณ์เรื่องราวของมารดานายสุรภักดิ์ในปัจจุบันกับเรื่องราวของมารดาตนเองในช่วงที่นักประวัติศาสตร์ผู้นี้ถูกจับกุมตัวหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว มีเนื้อหาดังนี้

เมื่อวานที่ได้เจอคุณแม่ของคุณสุรภักดิ์ (ขอสงวนนามสกุล) ที่มากับคุณอานนท์ นำภา ได้คุยกันพอสมควร

คุยแล้วก็เศร้ามาก

คุณแม่คุณสุรภักดิ์ เป็นคนบึงกาฬ แต่ตอนนี้ มาอยู่กรุงเทพฯ เสียเยอะ เพื่อมาคอยดูแลเรื่องคุณสุรภักดิ์

คุณแม่พยายามสอบถามว่า มีทางไหนจะช่วยให้ประกันตัวได้ไหม เช่น ใช้คนที่มีตำแหน่งราชการ (หรือกระทั่งถามในแง่รูปคดีบางอย่าง ซึ่งผมขอไม่เล่า)

ท่าทางคุณแม่เป็นกังวล ไม่สบายใจมากๆ

พูดจริงๆ คุยๆ แล้ว ชวนให้นึกถึงแม่ผมเองเหมือนกัน
ตอนที่ผมติดคุกอยู่บางเขน 2 ปี แม่ผมก็อายุ 50-60 แล้ว แต่ยังขายของอยู่ (ร้านชำ อาหารเล็กๆ น้อยๆ)
แต่ทุกๆ เย็น หลังขายของเสร็จ แม่ก็จะหากับข้าวหรือของกินใส่ถุง นั่งรถเมล์จากบ้านที่ลาดพร้าว มาบางเขน
มาถึงมันก็เย็นเกินกว่าจะได้เยี่ยมแล้ว แม่ก็เอาของฝากนั้น ฝากยามส่งขึ้นมาให้

ไม่ได้เยี่ยม แต่ว่า ที่ห้องที่ขังผมอยู่ มันมีหน้าต่างที่มีเหล็กขวางอยู่ ที่พอจะมองลงไปข้างล่าง เห็นบางมุมได้

แม่ฝากของเสร็จ ของที่ฝาก ยามเอาขึ้นมาให้ข้างบน ผมก็จะรู้ว่า แม่มา ก็จะไปนั่งที่ริมหน้าต่าง คอยดู และตะโกนคุยกัน (ต้องตะโกนดังๆ เพราะห้องผมอยู่ชั้นบนสุด ชั้น 4 หรือ 5 นี่แหละ) ก็ตะโกนคุยกันได้ไม่กี่คำ แม่ค่อยเดินทางกลับไป

ทำอย่างนี้ แทบทุกวันไม่เว้นเลย
ไม่ว่าผมจะทั้งขอ ทั้งพูดแบบหนักๆ ทั้งบอกให้พี่ชายช่วยคุยอย่างไรว่า
ไม่ต้องมาๆ ทุกวันแบบนี้ เพราะไม่จำเป็น ของกิน ก็มีเยอะแยะแล้ว มาก็ไม่ได้เยี่ยม เหนื่อยด้วย ฯลฯ

แต่แม่ก็ไม่ฟัง ยังมาอยู่เสมอ (พี่ชายบอกว่า คุย-ขอ ไปยังไงก็ไม่มีประโยชน์หรอก แม่อยากมา คือให้ได้มาเห็น "ตัวตึก" ก็ยังดี)
...................

คุยกับคุณแม่คุณสุรภักดิ์ แล้วได้ความรู้สึก แบบที่สมัยก่อนคุยกับแม่ตัวเองจริงๆ

คือรู้สึกถึงความรู้สึกเศร้า กังวล ห่วง ลูกชายมากๆ แต่ไม่รู้จะทำยังไง ไม่รู้จะช่วยยังไง แต่ก็ยังพยายาม เจอผมเป็นครั้งแรก ก็พยายามคุยถามเรื่องจะประกันยังไง จะให้การยังไง จะช่วยยังไง

ฯลฯ



+++

ศราวุฒิ ประทุมราช: สิทธิได้รับการประกันตัวคือ สิทธิมนุษยชน
ใน www.prachatai.com/journal/2012/02/39249 . . Tue, 2012-02-14 16:29


ศราวุฒิ ประทุมราช

ผมเคยเขียนบทความเรื่องสิทธิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวคือสิทธิมนุษยชน เมื่อปีที่แล้ว ไม่คิดว่าจะต้องมาเขียนซ้ำในเรื่องเดียวกันอีก เพราะได้รับความเศร้าใจต่อการที่ “ลูก”ของผู้ต้องขัง ต้องตากหน้าอดอาหารประท้วงศาลที่ไม่ยอมให้ประกัน พ่อของเขา ใช่แล้วครับ ผมกำลังพูดถึงการณีน้อง ไท หรือ ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข ซึ่งขณะนี้อดอาหารคัดค้านระบบยุติธรรมของไทย ที่ไม่ยินยอมให้ประกันตัวนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งถูกการเมืองพ่นพิษให้ต้องเป็นจำเลย ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อันเป็นที่ทราบโดยทั่วไป

สิทธิในการได้รับการประกันตัวนั้นเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาที่ต้องได้รับในฐานะเป็นหลักประกันความก้าวหน้าของกระบวนการยุติธรรม และเป็นสากล หมายถึงว่าการได้รับการประกันตัวเป็นสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหาทุกคน ทุกคดี ทุกข้อกล่าวหา

การไม่ให้ประกันตัวในกรณีของคดีดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ หรือกรณีคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงอื่นๆนั้น เหตุผลที่ศาลมักไม่ให้ประกันตัว มักให้เหตุผลว่า เช่น ตามพฤติการณ์แห่งคดีและลักษณะการกระทำนำมาซึ่งความเสื่อมเสีย สู่สถาบันกษัติริย์อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ หรือว่าพนักงานสอบสวนได้คัดค้าน จึงเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรให้ปล่อยตัวชั่วคราว เป็นต้น

คำถามคือว่า การมิให้ประกันตัวตามหลักสิทธิมนุษยชนนั้นสามารถกระทำได้เพียงใด และข้อคำนึงถึงการใช้ดุลพินิจ ในการไม่อนุญาตให้ประกันตัวนั้น เป็นไปตามหลักความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย (Due Process of Law) หรือไม่


หลักสิทธิมนุษยชน ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในการได้รับการประกันตัวหรือปล่อยชั่วคราว คือ กติการะหว่างประเทศว่าด้วย สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ซึ่งมีหลักการว่า สิทธิประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี จะต้องเป็นหลักที่ได้รับความคุ้มครอง การมิให้ประกันตัวถือเป็นข้อยกเว้นหรือจะกระทำได้ต่อเมื่อไม่มีวิธีการที่เบากว่านี้

โดยปกติบุคคลผู้ถูกตั้งข้อหาคดีอาญามีสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดี โดยการวางหลักประกันหรือมีบุคคลค้ำประกัน การปฏิเสธคำขอประกันตัวควรจะเป็นข้อยกเว้น อย่างเช่น มีความเป็นไปได้ว่าบุคคลนั้นจะหลบหนีและไม่มาปรากฏตัวในศาลในช่วงการพิจารณาคดี หรือบุคคลนั้นอาจจะทำลายหลักฐาน หรือบุคคลนั้นอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้อื่น การปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยระหว่างการพิจารณา ถือว่าเป็นการละเมิดข้อ 9(3) ของ ICCPR ซึ่งกำหนดว่า “ การควบคุม คุมขังบุคคลระหว่างการพิจารณาคดี ไม่ควรเป็นกฎที่ใช้ทั่วไป”

การคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีนานเกินระยะเวลาที่สามารถยกเหตุผลอันเหมาะสมมากล่าวอ้างได้ เป็นการกระทำโดยไม่มีกฎเกณฑ์และละเมิดข้อ 9(1) ของ ICCPR ที่ว่า “ บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย บุคคลจะถูกจับกุมหรือควบคุมโดยอำเภอใจมิได้ บุคคลจะถูกลิดรอนเสรีภาพของตนมิได้”

สิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีภายในเวลาที่เหมาะสมนั้นมาจากหลักการที่ว่า การรอนเสรีภาพ จักต้องไม่นานเกินกว่าระยะเวลาที่จำเป็นสำหรับสถานการณ์เฉพาะนั้นๆ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเน้นว่า ในกรณีที่ศาลปฏิเสธการประกันตัว บุคคลผู้ถูกกล่าวหาจักต้องได้รับการพิจารณาคดีโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้



กระนั้นก็ตาม สำหรับในประเทศไทยโดยเฉพาะในคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคง เช่นคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 (หรือคดีทางจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือคดีของคนเสื้อแดง) สิทธิของผู้ถูกกล่าวหาในการ ได้รับการประกันตัวได้ถูกละเมิดอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงกรณีนายสมยศ นี้ด้วย เพราะการไม่ให้ประกันตัวย่อมทำให้เกิดความล่าช้าในการพิจารณาคดี และเป็นการละเมิดสิทธิในการได้รับโอกาสในการต่อสู้คดีที่เป็นธรรม เพราะนายสมยศ ไม่อาจออกมาหาพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองได้ทัดเทียมกับฝ่ายอัยการโจทก์ ประกอบกับการเป็นอยู่ในเรื่อนจำที่มีสภาพแออัด และไม่ถูกสุขลักษณะ ย่อมทำให้สิทธิในร่างกายของนายสมยศได้รับความกระทบกระเทือนด้วย

นี่ยังไม่รวมถึงระยะเวลาในการต่อสู้คดีที่ต้องเนิ่นนานออกไป เพราะการอุทธรณ์ที่กินเวลายาวนานเป็นปี เป็นเรื่องไม่ปกติที่เกี่ยวโยงกับการไม่ได้รับการประกันตัวสำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่จะต้องถูกคุมขัง เป็นเวลาหลายปีนับแต่ถูกจับกุม จนถึงการดำเนินคดีสิ้นสุด และถือเป็นการละเมิดสิทธิบุคคลในการได้รับการพิจารณาคดี ภายในเวลาที่สมเหตุผลภายใต้ข้อ14(3)(c) ของ ICCPR และสิทธิที่ต้องได้รับการปล่อยตัวตามข้อ 9(3) ของกติกาฯ

ปํญหาต่อมาก็คือ การใช้ดุลพินิจของศาลในการไม่ให้ประกันตัวนั้น เป็นไปตามหลักความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมายหรือไม่

หลักความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย ถือเป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติธรรมในเรื่องระบบการพิจารณาคดีที่ว่ากระบวนการใช้อำนาจรัฐทุกรูปแบบต้องมีการคุ้มครองให้กระบวนวิธีพิจารณาทางอาญา ทำด้วยความเป็นธรรม ไม่มีอคติ ไม่เลือกปฏิบัติ พอสมเหตุสมผลด้วย ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรม ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล และทนายความต้องคำนึงถึง และปฏิบัติตามหลักการนี้โดยเคร่งครัด

ตัวอย่างในคดีตามมาตรา 112 หากจะดำเนินการตามหลักความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมายในการไต่สวนคำร้องขอประกันตัวจะต้องเริ่มต้นว่า คดีนี้ผู้ต้องหามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มี ศาลต้องจัดหาทนายความให้ เพราะเป็นคดีที่มีโทษจำคุกกมากกว่า 10 ปี (ซึ่งนับว่าเป็นโทษที่หนักเกินสมควร) เหตุผลที่ทนายความได้เขียนเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ประกันตัว เป็นไปตามหลักการสากลดังกล่าวข้างต้นและรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลได้อนุญาตหรือได้มีการไต่สวนพยานหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับหลักการที่ว่านั้นหรือไม่ ศาลได้ไต่สวนถึงเหตุที่ว่าผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานอย่างไร ซึ่งในประเด็นการจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานนี้ ต้องให้พนักงานสอบสวนหรือศาลมีภาระในการพิสูจน์ว่า หากปล่อยตัวไปแล้วผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิง หรือไปทำลายพยานหลักฐานอย่างไร จนทำให้ศาลพอใจ และฝ่ายผู้ต้องหาหรือจำเลย ต้องสามารถคัดค้านหลักฐานของพนักงานสอบสวนได้ด้วย ซึ่งในทางปฏิบัติ ข้ออ้างของพนักงานสอบสวนต่อศาล มักเป็นการอ้างลอยๆ โดยขาดพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือ และศาลอาจไม่ได้ทำการไต่สวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงตามที่มีการกล่าวอ้างด้วย ในวงการกฎหมายคำว่า “ภาระการพิสูจน์” นั้นหมายความว่า ผู้ใดยกข้อกล่าวอ้างอย่างไร ผู้นั้นต้องนำสืบให้ได้ความจริงตามที่กล่าวอ้างนั้น เช่น อ้างว่าหากปล่อยตัวไปแล้วผู้ถูกปล่อยตัวนี้ เป็นผู้มีอิทธิพลจะไปข่มขู่พยานหรือออกไปยักย้ายถ่ายเทเอกสารสำคัญที่จะใช้เป็นหลักฐานในการลงโทษจำเลยหรือผู้ต้องหานั้นได้ เป็นต้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้ล้วนต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย หากไม่มีการดำเนินการเช่นนี้ ย่อมทำให้กระบวนพิจารณาคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฝ่ายผู้ต้องหาหรือจำเลย ต้องยกเหตุผลนี้ขึ้นมาต่อสู้ เพื่อให้มีการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีใหม่

การที่ศาลยุติธรรมเคารพหลักการสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรมในเรื่องสิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องหาหรือจำเลย และ ความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย ย่อมจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริสุทธิ์อีกเป็นจำนวนมากในคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง โดยเฉพาะในคดีการเมือง ที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

หากศาลไทยจะได้ชื่อว่าเป็นศาลที่ดำเนินการสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลและหลักนิติธรรมที่นานาประเทศให้การรับรองแล้ว จะมีความสง่างามและเป็นแบบอย่างของสังคมโลก อันจะนำเกียรติและชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติและประชาชน ส่งผลให้สังคมมีความสงบ ร่มเย็นได้ต่อไป เราปรารถนาสิ่งนั้นร่วมกันมิใช่หรือ



+++

เกษียร เตชะพีระ : " ที่ว่าแผ่นเสียงตกร่องของนักสันติวิธี "
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เวลา 20:35:00 น.
( ต้นฉบับที่ www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1329479185&grpid=&catid=02&subcatid=0207 มีรูป พระไพศาล วิสาโล, ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, นารี แซ่ตั้ง )


เมื่อคุณตกเป็นเหยื่อของอำนาจ และการต่อสู้เพื่อสิ่งที่คุณเชื่อกำลังดุเดือดเข้มข้นบีบรัด เป็นธรรมดาที่คุณจะรู้สึกได้ที่จะรำคาญนักสันติวิธี

ผมก็เคยรู้สึกแบบนี้ โดยเฉพาะเวลาปักใจเชื่อในความชอบธรรมของพลังการเมืองฝ่ายหนึ่งที่เป็นฝ่ายถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม และยังเห็นพวกเขาถูกอำนาจรัฐ/อำนาจทุนรังแกข่มเหงคาตา

ผมโกรธมากที่เพื่อนอาจารย์นักสันติวิธีไม่เลือกข้าง

มันต้องนานจริงๆ เมื่อพายุข้างนอกและในใจสงบลงแล้ว ที่คุณจะเห็นได้ถึงความจำเป็นที่พวกเขาบางคนไม่เลือกข้าง

ไม่เลือกข้าง ไม่ได้แปลว่าไม่ทำอะไร

ในท่ามกลางการฆ่ากันอย่างเมามันไม่ฟังเสียงปราม ในท่ามกลางอันตรายของลูกหลง ความเข้าใจผิด และความเกลียดชัง (ผมหมายถึงระหว่างเวลาอย่างเมษา-พฤษภาอำมหิต เป็นต้น) นักสันติวิธีที่ผมรู้จัก เดินหน้าทำงานหาทางออกให้ผู้คนไม่ต้องฆ่ากันอย่างไม่หยุด อย่างกล้าหาญ อย่างยืนหยัด อย่างอดทน

คุณจะเอาอะไรล่ะ? ตั้งแต่วิ่งเข้าพูดคุยกับผู้มีอำนาจสั่งการทั้งสองฝ่าย, ติดต่อหาทางพาคนออกจากที่ชุมนุมไปยังเขตอภัยทานที่สร้างขึ้น, นัดประชุมแกนนำทุกฝ่ายเพื่อพูดคุยหาจุดร่วมและทางลงเท่าที่เป็นไปได้

ทั้งก่อนขัดแย้ง ระหว่างขัดแย้ง และหลังขัดแย้ง

แม้แต่ข้อเสนอต่างๆ ที่ให้มีพื้นที่พูดเรื่องนี้, ให้ได้ประกันตัวแก่ผู้ต้องหาคดีอุกฉกรรจ์ ฯลฯ ก็ริเริ่มโดย พวกเขา-เงียบๆ

น่าเสียดายที่พวกเขาไม่ได้ออกมาโฆษณาบอกกล่าวป่าวร้องให้สังคมทราบ สังคมจึงหมั่นไส้โกรธเคือง พวกเขานักว่าไม่ทำอะไร แผ่นเสียงตกร่อง ไม่เลือกข้าง

ด้วยความเคารพ แต่ผมยังไม่เห็นคนกลุ่มไหนแคร์คุณค่าชีวิตมนุษย์ และริเริ่มสร้างสรรค์ในท่ามกลางการทำร้ายฆ่าฟันกัน เทียบเท่าพวกเขาเลย


แน่นอน นักสันติวิธีมีหลายกลุ่มหลายแนวคิด บางกลุ่มก็อาจไม่สร้างสรรค์ ท่องคาถาสำเร็จรูป หรือกระทั่งรับใช้อำนาจ ให้ความชอบธรรมกับระเบียบอธรรมของอำนาจ

แต่ไม่ใช่ทุกกลุ่ม ดังนั้น เราไม่ควรเหมารวม

เราไม่ชอบที่ใครมาเหมารวมพวกเรา เราถือว่าการที่มาตราหน้าเหมารวมว่าพวกเราคิดเหมือนกัน กล่าวหาเสียๆ หายๆ โดยฝ่ายอำนาจนั้นไม่ชอบธรรม

เราก็ไม่ควรทำเช่นนั้นกับคนอื่น รวมทั้งนักสันติวิธี

สภาพทางการเมืองในรอบ 5 ปีที่ผ่านมามีพลวัตสูง บางด้านก็เปลี่ยนแปลงเร็วยิ่ง แต่บางด้านก็ไม่เปลี่ยน ยังติดหล่ม ติดกับดัก และเป็นตัวก่อปัญหาความเสี่ยงต่อความรุนแรงอยู่


ในขณะที่ไม่จำต้องยืนยันยอมรับหรือปกป้องทุกอย่างที่นักสันติวิธีกลุ่มต่างๆ พูดหรือเสนอ แต่เป็นไปได้ไหมว่าที่เนื้อหาบางส่วนในข้อเสนอของพวกเขาฟังดูซ้ำซาก จำเจ เหมือนแผ่นเสียงตกร่อง ก็เพราะความเป็นจริงบางส่วนก็ตกร่องด้วย คนจำนวนมากยังไม่เปลี่ยนวิธีคิดพฤติกรรมอันสุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรง

แผ่นเสียงของผมตกร่องมานานปีตั้งแต่ผมเดินออกจากป่าและตัดสินใจวางปืนเมื่อ พ.ศ.2524

เป็นโชคดีในชีวิตผม ที่ในช่วงจังหวะนั้น ผมพบนักสันติวิธีที่เป็นครู เป็นเพื่อน เป็นกัลยาณมิตร

ที่ทำงานทั้งเบื้องหน้า และทำงานเบื้องหลังอีกเยอะแยะมากมายยิ่งกว่าเบื้องหน้า

ในฐานะคนที่เคยอยู่ในสถานการณ์สงครามที่คนฆ่าคนด้วยกัน และได้ผ่านเหตุการณ์ที่คนไทยฆ่าคนไทย ด้วยกันกลางเมืองเพราะเหตุผลทางอุดมการณ์และการเมืองมา 4-5 ครั้งแล้ว สำหรับผมขอพูดจากประสบการณ์ว่า

อุดมการณ์อาจจะสำคัญ แต่สันติวิธีสำคัญกว่าอุดมการณ์

มันแปลทางปฏิบัติว่าทุกฝ่ายสู้เพื่ออุดมการณ์ตัวเองได้ โดยไม่ต้องฆ่ากัน

เผื่ออุดมการณ์ผิด จะได้มีชีวิตไปเรียนรู้และต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ใหม่ได้



ดังนั้น ประเด็นสำคัญใน 5 ปีที่ผ่านมา และยังเป็นความจริงตกร่องอยู่ ให้แผ่นเสียงต้องตกร่องตาม คืออันนี้ครับ

1) อันตรายของอาการคลั่งลัทธิคับแคบสุดโต่ง เพราะในนามของการแสวงหาเป้าหมายในอุดมคติอันหนึ่ง มันกลับมองข้าม ละเลยและทำร้าย อุดมคติอื่นทั้งหมด ทั้งที่เอาเข้าจริงชีวิตมนุษย์มีหลากหลายมิติและไม่อาจอยู่อย่างมีความสุข และความหมายได้ในโลกที่แห้งแล้งบริสุทธิ์ภายใต้อุดมคติหนึ่งเดียว

2) วิธีการสำคัญกว่าเป้าหมาย เพราะวิธีการคือหน่ออ่อนของเป้าหมายที่กำลังคลี่คลายขยายตัวไปประจักษ์เป็นจริง ฉะนั้นวิธี การที่ผิดพลาดชั่วร้าย ย่อมไม่อาจนำไปสู่เป้าหมายที่ถูกต้องดีงามได้

3) ไม่มีหลักการนามธรรมใดในโลกมีค่าควรแก่การเอาชีวิตผู้อื่นไปสังเวย

แผ่นเสียงของผมตกร่องอยู่ตรงนี้มา 5 ปีแล้ว เพราะความเป็นจริงก็ตกร่องอยู่ตรงนี้มา 5 ปีเช่นกัน ฝ่ายต่างๆ ในความขัดแย้งยังมีลักษณะบ้าลัทธิคับแคบสุดโต่ง, ไม่เลือกวิธีการ, และพร้อมจะเอาชีวิต มนุษย์ ทั้งของฝ่ายตนเองและฝ่ายตรงข้ามไปสังเวยหลักการนามธรรมที่ตนเชื่อ

เก่งจริงมาช่วยกันไปให้พ้น 3 ข้อนี้สิ แล้วเราจะได้เปิดแผ่นใหม่ด้วยกัน



.