http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-02-25

คนมองหนัง: มอเตอร์ไซค์รับจ้าง/ นพมาส: DESCENDANTS,THE

.

มอเตอร์ไซค์รับจ้าง
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก "กระแส"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1645 หน้า 85


"เกิดเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง นั่งข้างทาง คนก็มองว่าไม่ดี ส่งเธอไปทุกทาง ไปให้ทุกที่ ยังไม่มี ใครจะมาสนใจ เพราะไม่หล่อ (เพราะไม่หล่อ) ไม่รวย (ไม่รวย) เหมือนใครใคร "


ถ้าพิจารณาจากบริบทปัจจุบัน "มอเตอร์ไซค์รับจ้าง" แบบที่ปรากฏในเพลงของ "เสก โลโซ" อาจจะฟังดูล้าสมัย ไร้พลวัต และถูกแช่แข็งเกินไปเสียหน่อย

โดยเฉพาะเมื่อโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนของมอเตอร์ไซค์รับจ้างชื่อ "เดชชาติ พวงเกษ" ซึ่งใช้งานเครือข่ายทางสังคมออนไลน์อย่างคล่องแคล่ว และเป็นประโยชน์ต่ออาชีพเมสเซ็นเจอร์ของตนเอง
สามารถจับ "ช็อตเด็ด" จากเหตุระเบิดที่ซอยสุขุมวิท 71 ได้
กระทั่งกลายเป็นภาพแรกๆ จากเหตุการณ์ดังกล่าว ที่ถูกเผยแพร่ออกสู่สายตาของสาธารณชน
ก่อนหน้าภาพและข้อมูลจากสื่อมวลชนสำนักใดๆ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ


นับตั้งแต่เหตุการณ์กลุ่มคนเสื้อแดงเดินทางเข้ามาเคลื่อนไหวทางการเมืองที่กรุงเทพมหานคร ในช่วงปี 2552 และ 2553 เป็นต้นมา
ดูเหมือนภาพจากสมาร์ทโฟนของเดชชาติ จะเป็นหมุดหมายแรกๆ ที่แสดงให้เห็นว่า พลวัต, ความก้าวหน้า หรือความทันสมัยของชาวบ้านรากหญ้า ก็สามารถมีภาพลักษณ์เป็น "บวก" ในสายตาของชาว กทม. ส่วนใหญ่ได้

"เคลาดิโอ โซปรานเซ็ตติ" นักศึกษาระดับปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้เขียนวิทยานิพนธ์หัวข้อ "มอเตอร์ไซค์รับจ้างและการเมืองในประเทศไทย" เคยเสนอเอาไว้ว่า
ผู้ประกอบอาชีพขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง มิได้มีสถานะเป็นเพียงแค่ "ตัวเชื่อม" ทางการขนส่ง ซึ่งช่วยแก้ปัญหาเรื่องระบบผังเมืองในกรุงเทพฯ เท่านั้น
หากลักษณะเฉพาะทางวิชาชีพยังส่งผลให้บุคคลเหล่านี้เป็น "ตัวเชื่อม" ทางชนชั้นและวิถีชีวิตอันแตกต่าง ระหว่างคนชั้นสูง-คนชั้นกลาง กับ คนชั้นล่างในเมืองหลวง

นอกจากนี้ การมีโอกาสเดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัดบ่อยครั้งกว่าผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ ก็ส่งผลให้มอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็น "ตัวเชื่อม" สังคม กทม. เข้ากับสังคมต่างจังหวัด ผ่านเทคโนโลยี, แนวคิด และสินค้าต่างๆ นานา
เมื่อผนวกเข้ากับบทบาท "สื่อกลาง" ของเดชชาติ ที่เชื่อมโยงผู้คนหลากหลายชนชั้นให้เข้าถึงข่าวสารว่าด้วยภัยก่อการร้ายจาก "ภายนอก" อย่างเท่าทันสถานการณ์
ด้านหนึ่ง สถานะความเป็นพระเอกและเป็นที่ยอมรับจากคนทุกกลุ่มของ เดชชาติ พวงเกษ จึงสะท้อนถึงความเป็น "ตัวเชื่อม" ของมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งคล้ายจะเข้มข้นเด่นชัดมากยิ่งขึ้น



ทว่า ในอีกด้าน การที่ผู้ประกอบอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้างมีฐานะเป็นประจักษ์พยานที่มองเห็นชีวิตของคน 2 กลุ่ม (หรือมากกว่านั้น) และสังคมไทย 2 แบบ ก็มิได้หมายความว่าพวกเขาจะปฏิบัติหน้าที่เป็น "ตัวเชื่อม" เพียงอย่างเดียว

เพราะในชั่วขณะเดียวกัน มอเตอร์ไซค์รับจ้างก็จะได้พบเห็นถึงรอยแตกร้าวของความไม่เท่าเทียมหรือความเหลื่อมล้ำ ที่ปรากฏอยู่ชัดเจนในสังคมไทย

ปัจจัยดังกล่าวนี่เองที่นำพาให้สิงห์มอเตอร์ไซค์ใส่เสื้อกั๊กเหล่านี้เข้าไปแสดงบทบาทในหลายๆ สถานการณ์สำคัญทางการเมืองไทย

"ชนบทไทย" ก็เช่นเดียวกันกับ "มอเตอร์ไซค์รับจ้าง" ที่ไม่ได้หยุดนิ่งตายตัว
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เพิ่งเขียนบทความลงในมติชนสุดสัปดาห์ ถึงความเปลี่ยนแปลงในชนบท ซึ่งรายได้หลักไม่ได้มาจากภาคการเกษตรอีกต่อไป แต่ชนบทกลายเป็นเมืองขนาดเล็ก ที่มีความเชื่อมต่อกับเมืองขนาดใหญ่
ชนบทจึงเต็มไปด้วยความปั่นป่วนวุ่นวาย การย้ายถิ่นโยกสถานะ และความคลอนแคลนของระเบียบสังคม ซึ่งขัดแย้งกับภาพอุดมคติแบบ ส.ค.ส. ในหมู่คนเมือง

คล้ายกันกับปาฐกถาของ อ.ธงชัย วินิจจะกูล เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ที่ระบุว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจส่งผลให้คนชนบทเข้าถึงการศึกษาระดับสูง รู้จักแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจ พวกเขาคือ "ชาวนาที่กลายเป็นชนชั้นกลาง" และเป็น "พลังการเมืองขนาดใหญ่อย่างใหม่" ที่ต้องการระบบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง
พิจารณาจากมุมมองนี้ พลวัตของมอเตอร์ไซค์รับจ้างและสังคมชนบท จึงหลีกเลี่ยงประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันไปได้ยาก

และหากมองด้วยสายตาของคน กทม. จำนวนมาก ที่มีต่อเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในปี 2552-2553 แล้ว

มอเตอร์ไซค์รับจ้างหรือคนชนบท อาจกลับกลายสถานะเป็นภัยที่ก่อตัวขึ้นจาก "ภายใน" ด้วยซ้ำไป

เช่น ถ้ามีมอเตอร์ไซค์รับจ้างคนไหนจับภาพ "ช็อตเด็ด" ของมือสไนเปอร์หรือคนยิงปืนเข้าไปในวัดปทุมวนารามตอนปี 2553 ได้ ตำแหน่งแห่งที่ของเขาในโลกทัศน์ของคนเมืองหลวง คงแตกต่างจากเดชชาติอย่างลิบลับ



++

THE DESCENDANTS "มรดกตกทอด"
โดย นพมาส แววหงส์ คอลัมน์ ภาพยนตร์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1645 หน้า 87


กำกับการแสดง Alexander Payne
นำแสดง George Clooney
Shailene Woodley
Amara Miller
Nick Krause


หลังจากได้รางวัลใหญ่ๆ มาแล้วจากหลายสถาบัน The Descendants เป็นคู่ชิงหนังยอดเยี่ยมสำหรับออสการ์ปีนี้ และอีกหลายรางวัล โดยเฉพาะสำหรับผู้กำกับฯ และสำหรับนักแสดงชาย จอร์จ คลูนีย์ อีกไม่กี่วันก็จะได้ทราบผลกันแล้ว

ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร หนังเรื่องนี้ก็มีความเป็นสุดยอดอยู่ในตัว และแฟนหนังพลาดไม่ได้อยู่แล้ว

หลังจากความสำเร็จสองเรื่องซ้อนในฐานะผู้กำกับฯ ของหนังที่โดนใจคนดูและนักวิจารณ์อย่าง About Schmidt (แจ๊ก นิโคลสัน) และ Sideways (พอล จิอาแมตตี) อเล็กซานเดอร์ เพย์น ก็ทำดรามา-คอเมดีที่โดนใจคนดูจะๆ อีกครั้ง

และสร้างบทบาทอันโดดเด่นให้แก่ตัวเอกที่ "หลงทาง" กำลังหาทางออกให้แก่ชีวิต และแสวงหาตัวตนที่แท้ของตัวเอง


แมตต์ คิง (จอร์จ คลูนีย์) มีภูมิลำเนาอยู่บนดินแดนที่ใครๆ เรียกว่าเป็น "สวรรค์บนดิน" เป็นสถานที่ที่ผู้คนใฝ่ฝันจะเดินทางไปเวเคชั่นอยู่บนเกาะสวาทหาดสวรรค์กลางมหาสมุทรแปซิฟิก

บรรพบุรุษของแมตต์เป็นราชนิกุลร่วมสายโลหิตกับคิงคาเมฮาเมฮา กษัตริย์องค์สุดท้ายของฮาวาย ซึ่งทำให้เขาได้รับมรดกตกทอดเป็นที่ดินแสนสวยหลายหมื่นเอเคอร์บนเกาะคาวาอี ซึ่งยังเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ที่ยังไม่มีนักลงทุนและนักพัฒนาที่ดินเข้าไปแตะต้อง

แต่แมตต์ก็ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่บนกองเงินกองทองของบรรพบุรุษ เขาเป็นทนายความที่ทำงานหนักหาเลี้ยงชีพ และเป็นคนบ้างานเสียจนแทบไม่ได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว เขาเรียกตัวเองว่าเป็น "back-up parent" หรือพ่อฝ่ายกองหนุน คือไม่ได้เลี้ยงดูลูกๆ ได้แต่คอยช่วยอยู่วงนอก หากเกิดความจำเป็นต้องยื่นมือเข้าไปช่วย

ดังนั้น เมื่อเอลิซาเบธ ภรรยาผู้ชอบใช้ชีวิตโลดโผนโจนทะยานของเขา เกิดอุบัติเหตุระหว่างการแข่งเรือ ศีรษะถูกกระทบกระเทือนอย่างแรง จนต้องนอนแบ็บไร้สติอยู่ในโรงพยาบาล เขาจึงต้องรับมือกับการดูแลลูกสาววัยสิบขวบชื่อสกอตตี้ (อามารา มิลเลอร์) ซึ่งกำลังอยู่ในวัยเฮี้ยวสุดๆ

แมตต์ซึ่งเป็นแค่กำลังหนุนฝ่ายแบ๊กอัพในการเลี้ยงดูลูกมาตลอด แทบหมดปัญญาจะจัดการกับลูกสาวที่เริ่มมีพฤติกรรมโรคจิต เช่น ถ่ายรูปแม่ขณะที่นอนในสภาพโคม่าเป็นช็อตๆ ไปอวดเพื่อน แถมบรรยายอาการอย่างละเอียดลออ


และในขณะที่หมอเฝ้าดูอาการของเอลิซาเบธมาจนได้ข้อสรุปว่าเธอจะไม่มีโอกาสฟื้นคืนสติขึ้นมาอีกแล้ว และเธอเคยแสดงเจตจำนงไว้ว่าจะไม่ขอใช้ชีวิตด้วยเครื่องช่วยหายใจในกรณีแบบนี้
หน้าที่ของแมตต์คือแจ้งข่าวนี้แก่ญาติสนิทมิตรสหาย และที่สำคัญคือลูกสาวสองคน

แมตต์เดินทางไปรับอเล็กซ์ ลูกสาวคนโตวัยสิบเจ็ดปี (ไชลีน วูดลีย์) จากโรงเรียนประจำ และพบว่าอเล็กซ์เป็นเด็กวัยรุ่นที่ต่อต้านทุกอย่างและกำลังมีปัญหามาก
อเล็กซ์เป็นคนระเบิดใส่พ่อว่าแม่นอกใจพ่อไปมีผู้ชายอีกคน ซึ่งทำให้แมตต์ทั้งโกรธ งุนงง สับสนและจับต้นชนปลายไม่ถูก จนต้องออกสืบหาตัวผู้ชายคนนั้นให้ได้
สามคนพ่อลูก รวมทั้งซิด (นิก เคราส์) เพื่อนหนุ่มของอเล็กซ์ ซึ่งพ่วงท้ายไปไหนมาไหนด้วยโดยแมตต์ไม่ได้เต็มใจเลย จึงออกเดินทางข้ามเกาะไปสืบหาตัวผู้ชายคนนั้น


หนังเดินเรื่องด้วยโทนของคอเมดีผสมผสานอยู่ ทำให้หนังไม่หนักอึ้งจนเกินไป แต่เจือด้วยอารมณ์ขันประปราย

คลูนีย์ซึ่งฝีมือการแสดงดีวันดีคืน ใช้ชีวิตคลุกคลีกับชาวฮาวายในอยู่ในสถานะสังคมเดียวกับตัวละครจนซึมซัมบุคลิกลักษณะ อากัปกิริยา ความคิดความอ่านแบบคนที่อยู่ฮาวายมาแต่เกิด จนสามารถใช้ชีวิตอยู่ในแคแร็กเตอร์ที่มีทั้งความละเอียดและลุ่มลึกและสมจริงอย่างยิ่ง

นักแสดงรุ่นเยาว์ที่น่าจับตาอีกคนคือ ไชลีน วูดลีย์ ลูกสาววัยสิบเจ็ด ซึ่งถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกและบุคลิกลักษณะของตัวละครตัวนี้มาได้อย่างยอดเยี่ยม

โรเบิร์ต ฟอสเตอร์ เล่นเป็นพ่อของเอลิซาเบธ ที่จำต้องมากล่าวลากับลูกสาวที่นอนแบ็บไร้สติอยู่ ก่อนที่หมอจะดึงสายเครื่องช่วยหายใจออก และเล่นได้อย่างเด็ดขาดโดนใจจริงๆ


คงต้องชมผู้กำกับฯ อเล็กซานเดอร์ เพย์น ที่สามารถชี้นำให้นักแสดงแต่ละคนสามารถถ่ายทอดแคแร็กเตอร์ออกมาได้อย่างละเอียดลออ นักแสดงที่เขากำกับล้วนสร้างบทบาทความเป็นดรามาน่าประทับใจทั้งนั้น ตั้งแต่ แจ๊ก นิโคลสัน และ พอล จิอาแมตตี มาจนถึง จอร์จ คลูนีย์

นอกจากนั้น การเดินเรื่องยังนำไปสู่ตอนจบที่ออกจะเหนือความคาดหมายจากการที่แมตต์ได้แก้แค้นเล็กๆ ต่อชายผู้ที่เคยทำผิดต่อเขา ซึ่งเป็นนายหน้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ทว่า เหนือสิ่งอื่นใด การตัดสินใจของแมตต์ที่จะไม่ขายที่ดินมหาศาลของตระกูลนั้นยังแฝงไปด้วยความหมายแสนประเสริฐและน่าคิดในการธำรงรักษามรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ แม้ว่าการตัดสินใจครั้งนี้จะหมายถึงการสูญเสียผลประโยชน์มหาศาลของเขาและลูกพี่ลูกน้องอีกหลายคนในตระกูล

ในโลกที่ทุกคนหายใจเป็นเรื่องผลประโยชน์และความร่ำรวยส่วนตัวกันไปหมด การเก็บรักษาธรรมชาติบริสุทธิ์ไว้ให้ลูกหลานต่อไปนั้นนับเป็นความคิดและจิตใจที่สูงส่งอย่างหาไม่ได้อีกแล้ว



.