http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-02-13

อย่าพูดแต่ ม.112 ทำเป็นลืม ม.113 กม.อาญา โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.

อย่าพูดถึงแต่มาตรา 112 ทำเป็นลืมมาตรา 113
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลา กลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1643 หน้า 20


การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย
คือการเปลี่ยนที่คนส่วนใหญ่เป็นผู้กำหนด

การเมืองไทยเปลี่ยนแปลงมาเป็นร้อยปี ปีนี้แม้ครบรอบ 80 ปี ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

80 ปี ของการเปลี่ยนแปลงที่ทุกคนต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เป็นประชาธิปไตยบ้าง เผด็จการบ้าง

แม้ใน 10 ปีหลังนี้การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นได้สร้างความตื่นตัวให้กับประชาชนให้รู้สึกถึงอำนาจและหน้าที่ของตนเอง แต่ยังไม่ได้ฝังความรู้สึกเรื่องความเสมอภาคและเสรีภาพลงในจิตสำนึกของประชาชนได้ทั้งหมด

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการเคลื่อนไหวของกลุ่มศิษย์เก่าคณะวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 50-60 คน ที่ออกมาเรียกร้องให้กลุ่มนิติราษฎร์หยุดการเคลื่อนไหวเรื่องมาตรา 112 ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นี่คือคนเรียนสูง ที่จบออกมาแล้วไปเป็นสื่อมวลชน แต่ยังไม่ยอมแยกเรื่องความเสมอภาคและเสรีภาพออกจากจุดยืนทางการเมือง ทำให้มองอนาคตการปฏิรูปการเมืองในประเทศไทยว่ายากพอสมควร (แต่อาจมีศิษย์เก่าส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวนี้ก็ได้)

การปฏิรูปต่างๆ การแสดงความคิดเกิดขึ้นมาได้ยากในอดีต เพราะจะต้องผ่านด่านหลายด่าน ผู้ที่มีความคิดแปลกใหม่ จะต้องเจอกับด่านแรกคือข้อหาไม่รักชาติ ข้อหาหมิ่นประมาท หมิ่นสถาบัน หมิ่นศาล วิจารณ์กองทัพ เมื่อไม่สามารถเสนอแนะสิ่งใหม่ๆ ที่มีลักษณะสร้างสรรค์ การพัฒนา การเปลี่ยนแปลงจึงไม่เกิดขึ้น และในวงจรเก่าทุกวงจร เมื่อเวลาผ่านไป ย่อมเกิดความขัดแย้ง

มองไปทั่วทั้งโลก จะเห็นการเปลี่ยนแปลงแบบปฏิวัติและกึ่งปฏิวัติ ไม่ว่าผู้ปกครองจะเป็นใคร อยู่ในระบบไหน แม้แต่ในค่ายคอมมิวนิสต์ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง จากนี้ไปจะเห็นการเปลี่ยนแปลง ในแอฟริกา ตะวันออกกลาง เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะไม่มีข้อยกเว้นแม้แต่ประเทศเดียว เพียงแต่ช้าเร็วต่างกัน

ถ้าการเปลี่ยนแปลงถูกขัดขวาง จะกลายเป็นการต่อสู้ด้วยความรุนแรง และจะมีกลุ่มคนที่ถูกเบียดให้ตกไปจากเวทีจำนวนหนึ่ง ทุกประเทศทั่วโลกจะมุ่งไม่สู่การปกครองที่คนส่วนใหญ่ในประเทศนั้นเป็นผู้กำหนด


กฎหมายความมั่นคงมีมานาน
และปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย

กฎหมายเป็นเครื่องมือที่ใช้ปกครองคนจำนวนมาก ตัวบทและการบังคับใช้จึงต้องยุติธรรม ถ้าไม่เหมาะสมก็แก้ไขปรับปรุง กฎหมายอาญาเกี่ยวกับความมั่นคงมีมานาน ขนาดปรับปรุงแก้ไขแล้วก็ยังอยู่ในเดือนพฤศจิกายน 2499

ข่าวความขัดแย้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ปะทุขึ้นมาจนดูร้อนแรงและไปร้อนฉ่าตรงมาตรา 112 ทั้งๆ ที่เป็นกฎหมายมาตราเดียวที่เล็กกว่ารัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

ทำให้ต้องมองย้อนกลับไปถึงรากฐานของปัญหาต่างๆ ในสังคม และก็พบว่าความขัดแย้งหลัก คือ ระบบยุติธรรม ดีพอสำหรับยุคสมัยปัจจุบันแล้วหรือยัง?

สามารถบังคับใช้ได้อย่างเสมอภาคหรือไม่?

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ทำได้สำเร็จหรือไม่ จะเป็นตัวชี้วัดว่ากลุ่มต่างๆ ในสังคมยอมรับการเปลี่ยนแปลงหรือไม่

แต่ไม่อยากให้ผู้คนลืมกฎหมายมาตราที่อยู่ติดกันคือมาตรา 113


กฎหมายอาญามีทั้งมาตรา 112
และมาตรา 113

มารู้จักมาตรา 112 และมาตรา 113 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งลงนามสนองพระบรมราชโองการ โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2499

ประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

หมวด 1 ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

มีหลายมาตรา เช่น มาตรา 108 ผู้ใดกระทำการประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2519)

หมวด 2 ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร

มาตรา 113 ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ

(1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ

(2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญหรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ

(3) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร

ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

กฎหมาย 2 มาตรานี้อยู่ชิดกันบนกระดาษ แต่มาตรา 112 มีผู้คนถูกกล่าวหามากมาย คนหลายร้อย ติดอยู่ในคุก มีคนวิพากษ์วิจารณ์หลายแง่มุม ถกเถียงกันไม่เลิกจนทุกวันนี้

แต่อีกสองบรรทัดถัดมาเป็นเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวพันกับบ้านเมือง กลับถูกนำไปบังคับใช้น้อยมาก คือมาตรา113 ว่าด้วยความผิดในข้อหากบฏ มีการลงโทษผู้ทำรัฐประหารน้อยมาก ส่วนใหญ่จะได้ดี มีการยกเว้นโทษ และได้เป็นใหญ่เป็นโต ไม่รู้ว่าจะเขียนมาตรานี้ไว้ทำไม ในเมื่อผู้ทำรัฐประหารได้รับการรับรองว่า ถูกต้อง


ในการชุมนุมต้านเผด็จการวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นปรากฏการณ์ที่เจ็บปวดมาก คือ หลังจากสร้างกระแส หมิ่น ผ่านสื่อ บางส่วนได้สำเร็จ กำลังของฝ่ายขวาก็ปิดล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่กลางคืน เพราะกลัวว่าถ้าผู้ชุมนุมหนีไปหมดจะไม่มีข้ออ้าง พอเช้าก็ล้อมฆ่า ล้อมจับ ตอนเย็นประกาศการรัฐประหาร

แถมคณะรัฐประหารชุดนั้นยังกลบเกลื่อนความโหดร้ายด้วยการเพิ่มโทษคดีหมิ่น ในมาตรา 112 ให้สูงขึ้น ใน 2 สัปดาห์ต่อมา แต่มาตรา 113 ที่อยู่บรรทัดถัดไปไม่มีใครมองเห็น คนที่มองเห็น ถ้าไม่หนีเข้าป่า ก็ต้องหนีไปต่างประเทศ

ปี 2521 เมื่อนำคดี 6 ตุลาคม ไปพิจารณาคดีในศาลทหาร ซักพยานฝ่ายโจทก์ไปแค่ 7 ปาก เรื่องก็ทำท่าจะเปิดเผยขึ้นมา ว่าใครอยู่เบื้องหลัง หน่วย SWAT ที่ซุ่มยิงหน่วย รปภ. ของนักศึกษาตายเกือบหมดและนำกำลังบุกเข้าธรรมศาสตร์ พยานที่เป็นนายสิบ ก็ชี้ไปที่ร้อยเอก ร้อยเอกเผยชื่อนายพันและพลตำรวจโท (ข้อมูลนี้ได้จากคำให้การในศาลของพยาน 3 ปาก) กลุ่มผู้ทำรัฐประหารจึงต้องรีบขอนิรโทษกรรมทุกฝ่าย อ้างว่าเพื่อความสามัคคี ขอให้ลืมอดีต

แต่หลายคนยังไม่สำนึก หลายคนก็ตายจากไป มรดกเล็กๆ ที่ทิ้งไว้อย่างหนึ่งก็คือการเพิ่มโทษในมาตรา 112

มีคนกล่าวว่ามาตรา 113 คงเพิ่มโทษไม่ได้เพราะโทษประหารชีวิตสูงสุดแล้ว มีกบฏยุคหลัง 2500 ที่ถูกประหารชีวิตอยู่คนเดียว คือ พลเอกฉลาด หิรัญศิริ ความผิดที่สำคัญคือ ฆ่าคนตาย และแพ้

ในยุคหลังนี้ใครรู้ว่ามาตรา 113 ได้บังคับใช้กับใครได้บ้างช่วยบอกที และถ้าไม่สามารถทำได้ควรจะแก้ไขมาตรา 113 หรือไม่? อย่างไร?



รูปธรรม
ของการแก้ปัญหาที่ซ้อนกัน
ในหัวเลี้ยวหัวต่อการเปลี่ยนแปลง

ถ้าถามว่าประเทศเราต้องแก้กฎหมายอะไรก่อนในวันนี้ บางคนบอกว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญ บางคนเสนอให้ลบผลพวงการรัฐประหาร บางคนก็เสนอให้แก้กฎหมายมาตรา 112

ผู้วิเคราะห์มีความเห็นว่า การเสนอให้ลบผลพวงการรัฐประหาร เป็นข้อเสนอที่ถูกต้อง ผู้เสนอไม่มีความผิด คนที่ทำรัฐประหารต่างหากที่เป็นคนผิด

แต่ข้อเสนอนี้เป็นเหมือนประกาศจับตาย ผู้ที่ทำความผิดจะมีโทษถึงประหารชีวิตหรือติดคุกตลอดชีวิต ตามมาตรา 113 ถ้าทำเรื่องนี้ ก็เหมือนต้อนโจรเข้าไปจนตรอก คงต้องสู้กันให้ตายไปข้างหนึ่ง ถ้ามีกำลังเหนือกว่าอย่างเด็ดขาดก็ทำได้ อาจมีคนติดคุกเป็นร้อยคน และต่อไปอาจไม่มีคนกล้าทำรัฐประหารอีก

แต่สถานการณ์วันนี้คงทำได้แค่ปล่อยให้บางกลุ่มทำไป อย่าหวังผลมาก เรื่องนี้ต้องใช้เวลาและอำนาจ

ส่วนข้อเสนอแก้กฎหมายมาตรา 112 ที่จริงมีผลกระทบในวงแคบกว่าเรื่องอื่น แต่เรื่องนี้สามารถนำไปเป็นข้ออ้าง ประเภทเดียวกับผังการล้มเจ้า การเสนอกฎหมายแก้มาตรานี้ จึงกลายเป็นเรื่องยุ่งยาก เพราะเมื่อฝ่ายที่ต้องการให้แก้ไข เสนอข้อมูลทางวิชาการและทางกฎหมาย แต่ฝ่ายคัดค้านไม่ถกเถียงด้วย ใช้ข้ออ้างว่าเป็นการละเมิดเบื้องสูง เสรีภาพในการถกเถียงทางวิชาการจึงไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ กลายเป็นความขัดแย้งจากจุดยืนทางการเมือง โดยไม่ต้องถกเนื้อหาและเหตุผลกัน

ที่จริงทางออกของเรื่องนี้ ควรจะเริ่มที่สถาบันการศึกษา ผู้ที่มีความรู้ทางนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ในสถาบันต่างๆ ควรเข้ามาช่วยแก้ไขไม่ใช่ผลักปัญหาออกจากสถาบัน (ที่เขาให้ไปเรียนสูงๆ มาก็หวังว่าจะมาช่วยแก้ปัญหาแบบนี้ หรือจะยกไปให้พวกนายแพทย์แก้ไขแทน)

ถ้าผู้รู้ทั้งหลายนิ่งเฉยหรือหลีกเลี่ยง ความขัดแย้งจะย้อนกลับเข้าสู่สังคมในรูปของการซุบซิบนินทาใส่ร้าย เป็นการแสดงความเห็นผ่านปากและปลายนิ้วออกไปยังจอคอมพิวเตอร์และสื่อสิ่งพิมพ์ อาจเป็นที่สนุกสนานของคนบางกลุ่ม แต่ปัญหาจะขยายออกไปเรื่อยๆ เรื่องนี้การเคลื่อนไหวจะเป็นไปตามธรรมชาติ เหมือนน้ำที่ซึมเข้าสู่คันกั้นน้ำ ไม่มีใครห้ามใครได้

ข้อสุดท้ายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 เป็นสิ่งนี้น่าจะทำเป็นอันดับ 1 มีโอกาสทำได้มากที่สุดและมีเหตุผลดังที่เคยเขียนมาแล้ว ผู้วิเคราะห์คาดว่าทุกกลุ่มคงจะรวมกำลังทำเรื่องนี้เพื่อเปิดทางสำหรับเรื่องอื่นๆ



อย่าคิดว่ารัฐบาลควบคุม
บทบาทของกลุ่มต่างๆ ได้

ความขัดแย้งที่ผ่านมาได้สะท้อนปัญหาว่ารัฐบาลไม่สามารถไปควบคุมกลุ่มต่างๆ ได้ กลุ่มที่เป็นตัวของตัวเองและเสนอความเห็นหลายเรื่องคือกลุ่มนิติราษฎร์ ทั้งเรื่องให้ลบผลพวงรัฐประหาร แก้ไขรัฐธรรมนูญ และแก้ไขกฎหมาย มาตรา 112 ซึ่งกลุ่มนิติราษฎร์ก็มีแนวร่วมของตนเอง กลุ่มคนเสื้อแดงมีบางส่วนที่เห็นด้วยกับนิติราษฎร์ทุกเรื่อง แต่บางส่วนก็เห็นด้วยเฉพาะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คนในรัฐบาลไม่กล้าแตะกฎหมาย 112 เพราะยังเห็นว่ามีแรงต้านเยอะ แต่อยากแก้เฉพาะรัฐธรรมนูญ ส่วนกลุ่มอำนาจเก่าและลูกสมุน ค้านการแก้ไขทุกเรื่อง

ปัญหาจะยังไม่จบ ตราบที่คนกลุ่มเล็กๆ อยากมีอำนาจ และปกครองคนส่วนใหญ่ตามแนวทางที่ตนเองคิดว่าดี แต่คนส่วนใหญ่อยากคัดเลือกผู้ปกครองเอง

ในความเห็นที่แตกต่างกันนี้จะนำไปสู่ความแตกต่างของแนวทางแก้ปัญหา โดยขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ตัวอย่างเช่น ถ้ามีคนใช้ข้ออ้างการแก้กฎหมายมาตรา 112 ว่าหมิ่นสถาบัน และนำกำลังมารัฐประหาร ล้มรัฐบาล แนวทางการปฏิวัติ ก็จะถูกเลือกนำมาใช้ตอบโต้แทนกฎหมายมาตรา 113

แต่ถ้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้สำเร็จ คนส่วนใหญ่ยอมรับ การปฏิรูปประชาธิปไตย ก็จะเดินไปตามเส้นทาง แม้จะช้าหน่อย แต่เลือดก็ไม่นองท้องถนน

จะให้ยุติธรรม ต้องบังคับใช้กฎหมายทุกมาตรา และใช้อย่างเท่าเทียมกันทุกคน กฎหมายแยกหมวดแยกมาตราได้ แต่ไม่ควรแยกสี



.