http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-02-28

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : "หมิ่นศาล"

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : หมิ่นศาล
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เวลา 21:00:00 น.


ผมคิดว่า มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับกฎหมายที่เรียกกันว่า "หมิ่นศาล" บางคนไปคิดว่ากฎหมายนี้ลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อคำพิพากษา บางคนไปคิดว่ากฎหมายนี้ให้อภิสิทธิ์แก่บุคคลที่มีอาชีพเป็นผู้พิพากษา บางคนเชื่อว่าขึ้นศาลต้องผูกเนกไท แม้แต่คนที่เป็นผู้พิพากษาเอง ก็อาจเข้าใจผิดได้ ดังเช่นมีข่าวหนังสือพิมพ์หลายปีมาแล้วว่า ผู้ประกอบอาชีพนี้ท่านหนึ่งในจังหวัดสงขลา เกิดเหตุพิพาททางจราจรกับผู้ขับรถยนต์อีกท่านหนึ่ง ในการทุ่มเถียงกันนั้น ผู้มีอาชีพเป็นผู้พิพากษาขู่คู่กรณีในถนนว่า ตัวเขาเป็นผู้พิพากษา หากล่วงเกินด้วยวาจาก็จะโดนคดีหมิ่นศาลอีกคดีหนึ่ง

ในฐานะคนที่ไม่เคยเรียนกฎหมายเลย ผมจึงอยากทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ เพราะความเข้าใจอื่นๆ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นความเข้าใจผิดนั้น บั่นรอนหลักการประชาธิปไตย ซึ่งผมเห็นว่าย่อมเป็นไปไม่ได้


กฎหมาย "หมิ่นศาล" ปรากฏในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 อยู่ในลักษณะความผิดที่เรียกว่า "ความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม" และในหมวดที่ 1 ว่าด้วยความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม รวมความผิดเช่น ให้การเท็จ ฟ้องเท็จ ฝ่าฝืนคำพิพากษาด้วยประการต่างๆ เป็นต้น ความผิดอื่นในหมวดเดียวกันนี้ ย่อมสะท้อนเจตนารมณ์ของ ม.198 ให้เห็นได้ ความของ ม.198 ก็คือ

"ผู้ใดหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี หรือกระทำการขัดขวางการพิจารณาหรือพิพากษาของศาล ต้องระวางโทษ..."

เห็นเจตนารมณ์ได้ชัดเจนว่า กฎหมายมาตรานี้มีจุดมุ่งหมายจะพิทักษ์ปกป้อง กระบวนการ พิจารณา พิพากษาคดี ให้เป็นไปโดยสงบเรียบร้อย คำว่า สงบเรียบร้อยที่ผมใช้ในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องนั่งพับเพียบหมดนะครับ แต่หมายความว่าทำให้กระบวนการแห่งการพิจารณาพิพากษา สามารถดำเนินไปจนผู้พิพากษาพอจะจับความจริงจากทุกแง่มุมได้หมด และสามารถประเมินได้ว่า จำเลยทำผิดกฎหมายจริงหรือไม่ จึงจะสามารถให้คำพิพากษาที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายได้

ฉะนั้น หากจำเลยลุกขึ้นด่าแม่หรือเถียงพยานโจทก์ที่กำลังให้การอยู่ด้วยเสียงอันดังตลอดเวลา แม้ไม่ได้ละเมิดผู้พิพากษาด้วยวาจาแต่ประการใด ก็อาจถือว่า "หมิ่นศาล" ได้ ถ้าผู้พิพากษาได้สั่งให้เงียบแล้วไม่ยอมเงียบ (น่าสังเกตด้วยว่า กฎหมายใช้คำว่า "หมิ่นศาลหรือผู้พิพากษา" แปลว่าสองอย่างนี้ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ศาลรวมทุกอย่างนับตั้งแต่ตัวจำเลยเองไปจนถึงทนายทั้งสองฝ่ายและพยานทั้งสองฝ่าย และแน่นอนตัว ผู้พิพากษาด้วย ทุกคนต้องสามารถทำหน้าที่ของตนได้โดยสะดวกใจ นับเป็นส่วนสำคัญของ "กระบวนการ" ที่จำเป็นในการพิจารณาพิพากษาคดีตามระบอบประชาธิปไตย)

เพื่อบรรลุเจตนารมณ์ดังกล่าว ท่านจึงให้อำนาจ ผู้พิพากษาในคดีนี้ไว้เป็นพิเศษ คือสามารถ "สั่ง" (ซึ่งบางกรณีหมายถึงการลงโทษจำขังหรือปรับ) ได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการปกติในการนำคดีขึ้นสู่ศาล (จากตำรวจถึงอัยการถึงศาล) เพราะผู้พิพากษามีหน้าที่ในการรักษาให้กระบวนการพิจารณาและ พิพากษาดำเนินไปได้โดยยุติธรรม จึงต้องมีอำนาจพิเศษตรงนี้

ดังนั้นการใช้อำนาจพิเศษดังกล่าว ต้องคิดให้รอบคอบว่า การกระทำของบุคคลนั้นๆ ไปขัดขวางกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีหรือไม่ อย่างไร ไม่ใช่เพียงไม่ชอบการกระทำนั้นๆ เท่านั้น เพราะ "หมิ่นศาล" ไม่ได้หมายถึงหมิ่นตัวผู้พิพากษา



ความต่อมาในกฎหมายที่ว่า "กระทำการขัดขวางการพิจารณาหรือพิพากษาของศาล" ตอกย้ำว่ากฎหมายต้องการให้กระบวนการพิจารณาพิพากษาสามารถดำเนินไปจนบรรลุเป้าหมายอันเป็นอุดมคติให้ได้มากที่สุด

นั่นคือความจริงและความยุติธรรม

แต่ความตรงนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนกว่าการลุกขึ้นด่าแม่พยานหรือผู้พิพากษา เพราะการกระทำหลายอย่างอาจเป็นการ "ขัดขวาง" กระบวนการได้ ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา เช่นเข้าไปนั่งฟังการพิจารณาคดี แต่ตดเหม็นมากทุก 3 นาที ตลบอบอวลไปทั้งห้องพิจารณา ผู้พิพากษาอาจขอให้ผู้นั้นออกจากห้องพิจารณาคดีเสีย (แม้ว่าเขามีสิทธิที่จะนั่งฟัง เพราะการพิจารณาคดีในระบอบประชาธิปไตย ต้องเป็นการพิจารณาเปิด คือไม่แอบทำในห้องลับ) แต่เพื่อเคารพต่อสิทธิของเขา จึงจะถ่ายทอดเสียงให้เขาไปฟังในที่โล่งคนเดียว

โดยไม่ได้เจตนา บุคคลผู้นั้นขัดขวางกระบวนการ พิจารณาพิพากษาคดี

อย่างไรก็ตาม เรื่องมันไม่ง่ายเพียงแค่นี้ แต่ไปกระทบกับพฤติกรรมอื่นๆ ของผู้ที่อยู่ในห้องพิจารณา พิพากษาคดีได้อีกหลายอย่าง

ทำไมถึงต้องแต่งกายให้เรียบร้อย ที่จริงเรียบร้อยในที่นี้ไม่เกี่ยวกับเนกไท แต่ต้องทำให้คนอื่นในห้องไม่เสียสมาธิในการพิจารณาพิพากษา เช่นโป๊เกินไป หรือเหม็นเกินไป หรือดูน่ากลัวเกินไป (สวมแว่นดำหรือพกปืนอันเป็นเครื่องแบบของมาเฟีย เป็นต้น) แต่มาตรฐานความเรียบร้อยในการแต่งกายเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ปัญหามาอยู่ที่ว่าผู้พิพากษาซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการรักษาระเบียบในกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดี จะตามทันความเปลี่ยนแปลงนี้หรือไม่ หากเคร่งครัดตามแบบแผนเก่าอย่างไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงเลย ก็อาจทำให้ห้องพิจารณาคดี รวมทั้งผู้พิพากษาเอง "ศักดิ์สิทธิ์" เกินไป อันเป็นบรรยากาศที่ไม่เหมาะแก่การดำเนินการพิจารณาพิพากษาคดีเพื่อบรรลุความยุติธรรมได้เหมือนกัน

ผมเคยขึ้นศาลหนเดียวในชีวิต ในฐานะพยานจำเลย และได้พบว่าแบบธรรมเนียมต่างๆ ของการเข้าไปในห้องพิจารณาพิพากษาคดี ตามที่ทนายสรุปให้ฟังก่อนเข้าห้อง ดูจะเป็นแบบธรรมเนียมโบราณ คงจะใช้กันมาตั้งแต่เราเริ่มมีระบบศาลยุติธรรมในรัชกาลที่ 5 และในปัจจุบันก็ไร้ความหมายไปหมดแล้ว แบบธรรมเนียมที่ใช้ผิดยุคผิดสมัยเช่นนี้ ทำให้ทุกคนรู้สึก "ระย่อ" ไปหมด และเจ้าความ "ระย่อ" นี้เองที่ผมเห็นว่าขัดขวางกระบวนการเสียยิ่งกว่าการนุ่งกางเกงขาสั้นเสียอีก

ความ "ศักดิ์สิทธิ์" ของศาลนั้นต้องมีแน่ แต่ไม่ใช่เกิดจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจของผู้พิพากษา หากเป็นเพราะศาลคือส่วนสำคัญของอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย อันเป็นอำนาจสูงสุด

การทำให้อำนาจส่วนนี้ของปวงชนชาวไทย ไม่สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพก็ตาม หรือ เป็นที่ระแวงสงสัยว่าเป็นอำนาจที่ถูกฉ้อฉลได้โดยง่ายก็ตาม อำนาจนี้ก็ขาดความศักดิ์สิทธิ์ และอาจก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมแก่สังคมประชาธิปไตยได้อย่างใหญ่หลวง


ยังมีปัญหาอีกอย่างหนึ่งว่า การกระทำนอกห้องพิจารณาคดีจะถือว่าเข้าข่ายมาตรานี้หรือไม่ ผมคิดว่ามีเหมือนกันที่เข้าข่าย แต่ไม่สู้จะมากนัก เช่นพ่อของจำเลยประกาศแก่สาธารณชนว่า หากลูกของเขาถูกพิพากษาประหารชีวิต ผู้พิพากษาก็จะถูกเขาพิพากษาอย่างเดียวกัน ผมคิดว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการขัดขวางกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีอย่างแน่นอน ผู้พิพากษาก็เป็นมนุษย์ ย่อมมีความกลัวเป็นธรรมดา การข่มขู่เอาชีวิตผู้พิพากษาจึงอาจกระทบต่อกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีให้บิดเบือนไปได้ แม้แต่ผู้พิพากษาที่ไม่เกรงกลัวต่อคำขู่ แต่พิพากษาไปตามเนื้อผ้ายกฟ้องจำเลย สาธารณชนก็อาจระแวงสงสัยต่อ "กระบวนการ"ได้ ไม่เป็นผลดีแต่อย่างไรต่ออำนาจตุลาการ

ตรงกันข้าม หลังจากที่ผู้พิพากษาได้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยซึ่งเป็นลูกไปแล้ว ในเวลาต่อมาพ่อจำเลยได้พบบุคคลซึ่งเป็นผู้พิพากษากลางตลาด และตะโกนให้ของลับแก่ผู้พิพากษา พ่อของจำเลยทำผิดกฎหมายแน่ แต่ไม่ใช่มาตรา 198 เพราะการกระทำของเขาไม่ได้ขัดขวางกระบวนการพิจารณา พิพากษาแต่อย่างใด



คราวนี้มาถึงประเด็นที่พูดกันมาก นั่นคือเรา วิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาได้หรือไม่ หลักการที่มักพูดกันก็คือวิพากษ์วิจารณ์ได้ ตราบเท่าที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมีเหตุผลตามหลักวิชาการ ผมไม่สู้จะเห็นด้วยกับหลักการนี้นัก เพราะเท่ากับปิดปากคนไปกว่า 99% ของประเทศ (เพราะแม้แต่นักวิชาการอื่นที่ไม่ใช่นักนิติศาสตร์ก็อาจพูดอะไรไม่ "มีเหตุมีผล" ทางวิชาการไปได้ด้วย)

ความมีเหตุมีผลนั้น ไม่ได้มีอยู่อย่างเดียว ฉะนั้น นักวิชาการจะผูกขาดการตราว่าอะไรเป็นเหตุเป็นผล อะไรไม่ใช่แต่เพียงกลุ่มเดียวไม่ได้ ถึงที่สุด แล้วระบบเหตุผลทุกชนิดก็ไปสิ้นสุดลงที่สมมติฐานบางอย่างซึ่งตกลงรับร่วมกันเท่านั้น พูดง่ายๆ ก็คือความเชื่อแหละครับ

ยิ่งกว่านี้ในฐานะที่เคยทำอะไรที่เรียกกันว่า "วิชาการ" มาบ้างนิดๆ หน่อยๆ ผมพบว่าระบบเหตุผลที่ผมใช้นั้น ก็หาได้แตกต่างจากระบบเหตุผลของช่างตัดผมไม่ หากวิชาการมีระบบเหตุผลที่ไม่อาจสื่อกับช่างตัดผมได้ วิชาการมีปัญหาแล้วล่ะครับ เพราะอยู่ไปก็รุงรัง

ผมจึงเห็นว่า ใครๆ ก็วิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาได้ ตามเหตุผลของตนเองซึ่งอาจไม่ตรงกับนักวิชาการก็ได้ ตราบเท่าที่การวิพากษ์วิจารณ์นั้นไม่ได้ปั้นแต่งข้อเท็จขึ้นมาเป็นข้อจริง เพราะการกระทำเช่นนั้นย่อมบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการพิจารณา พิพากษาคดี และตราบเท่าที่การวิพากษ์วิจารณ์นั้นไม่ได้มีเจตนาจะทำให้กระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีที่ใช้ในระบบยุติธรรมของไทยไม่เป็นที่น่าไว้วางใจลงทั้งหมด

หมายความว่า การวิพากษ์วิจารณ์บางส่วนของกระบวนการเพื่อกระตุ้นให้เกิดการแก้ไขปรับปรุงย่อมทำได้ เพราะเจตนาก็เห็นชัดอยู่แล้วว่ายังศรัทธาต่อกระบวนการทั้งหมดอยู่

ประเด็นสำคัญคือต้องดูที่เจตนาครับ เหมือนความผิดในกฎหมายอาญาส่วนใหญ่ก็ต้องดูที่เจตนา (ทั้งในตัวบัญญัติและในการกระทำของจำเลย)

การวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาทั้งในทางวิชาการและโดยคนธรรมดานั้น ทำได้และพึงทำอย่างยิ่งด้วย ไม่ควรทำให้กฎหมาย "หมิ่นศาล" คลุมเครือจนอำนาจตุลาการกลายเป็นอำนาจอิสระ จนหลุดลอยออกไปจากอธิปไตยของปวงชนชาวไทย



.