http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-02-17

ทราย: รัก"ซ้ำ-ซ้ำ"/ อภิชาต: Development as Freedom

.
รายงาน - เช็กสต๊อกหนังสือ โดย หนุงหนิง . . 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

รัก"ซ้ำ-ซ้ำ"
โดย ทราย เจริญปุระ charoenpura@yahoo.com คอลัมน์ รักคนอ่าน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1644 หน้า 80


ไหนๆ ก็ไหนๆ
ขออีกสักครั้งละกันกับวันไม่ธรรมดาวันนี้
ฉันเขียนต้นฉบับประจำสัปดาห์นี้ในวันวาเลนไทน์
มันก็เหมือนๆ กับทุกวันแหละ มีความรักความสดชื่น คิกคัก กิ๊วก๊าวอะไรประมาณนั้น
และแน่นอนว่ามีข่าวที่ต้องมีให้สอดคล้องกับเทศกาล

มีหลายครั้งเหมือนกันที่วันนี้เกิดไปตรงกันหรือใกล้เคียงอย่างยิ่งกับวันสำคัญทางศาสนา ก็จะต้องมีวิวาทะค่อนแคะกันไปมาประเภทว่า "พวกเห่อตามฝรั่ง ไม่สนใจวันสำคัญของไทย แถมเป็นวันสำคัญทางศาสนาประจำชาติของเราอีก" "วันนี้มันก็แค่วันวันนึงเท่านั้นแหละ รักพ่อรักแม่สิยืนยาว"

ไม่เถียงหรอก ฉันไม่ชอบเถียงคน

แต่ก็รู้เท่าๆ กับที่คนพูดรู้นั่นแหละว่าการอ้างถึงคุณค่าอื่นๆ ในวันนี้ออกจะเป็นเรื่องไม่ยุติธรรมอยู่หน่อยๆ

มันก็มีทั้งคนที่ไม่ได้สนใจมันจริงๆ กับหมั่นไส้ขวางหูขวางตาจริงๆ

เลยงัดไม้ตายประเภทเรื่องพ่อเรื่องแม่มาใช้กำราบความคิกคักลิงโลดกันเสียเหลือเกินในวันนี้

ฉันว่าไม่ยุติธรรมเพราะมันก็มีคุณค่าคนละอย่างกัน

และบางทีคนพูดก็ไม่ได้หมายความตามนั้นจริงๆ

แค่หมั่นไส้ ขวางหูขวางตาเลยยกไม้ตายมาใช้ก็มี


เรื่องที่ได้ยินเสมอในเทศกาลนี้เรื่องต่อมาก็คือเรื่องของกฎ กติกา มารยาทในวันวาเลนไทน์
ก็คล้ายๆ ของเดิม ปีนี้ทางตำรวจสั่งห้ามเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี ออกมาเตร็ดเตร่นอกบ้านหลังสี่ทุ่ม แล้วก็จะจัดให้มีการตรวจตราสอดส่องเป็นพิเศษตามร้านอาหาร ผับ บาร์ โรงโบว์ลิ่ง และแน่นอน, โรงแรมม่านรูด
ใครงอแงออกมาหวานชื่นดึกดื่นแบบนี้เป็นเข้าจับกุม ก่อนจะเชิญผู้ปกครองมารับกลับไป

คนรอบๆ ตัวรวมถึงฉันเองต่างก็มีความรู้สึกว่ามันออกจะอ่อนต่อโลกและน่าเอ็นดูไป ซักหน่อยกับการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กเป็นพิเศษในวันนี้
ห้ามออกหลังสี่ทุ่มเหรอ? แล้ววันทั้งวัน กับเวลาตั้งหลายชั่วโมงนั้นคนที่คิดจะก่อสถานการณ์ความรักขึ้นมาจริงๆ คงหาทางได้เป็นแน่อีกอย่าง

ถ้ามองกันในแนวทางหนึ่งมันก็เป็นการเอากฎความน่าจะเป็นและศีลธรรมไปจำกัดเสรีภาพ ผู้ใหญ่บอกได้เสมอว่าเราไม่ควรริรักในวัยเรียน,

การมีเพศสัมพันธ์ทั้งที่ยังไม่รู้ถึงความรับผิดชอบ (ฉันไม่ใช้คำว่า "วัยอันควร" เพราะเชื่อว่าจริงๆ แล้วเราไม่มีทางรู้หรอกว่า "ควร" นั้นมันอยู่ตรงไหนในย่างก้าวชีวิต) เป็นการสร้างความเสี่ยงอย่างมหันต์ การกอดจูบโจ๋งครึ่มกันเป็นเรื่องไม่งามอย่างยิ่ง และอีกหลากหลายคำเตือน

แต่ในความเป็นห่วงมันก็มีการบังคับไปด้วย ผู้ใหญ่ไม่เคยเป็นเด็กหรือ?

คนแต่ก่อนก็แต่งงานกันเร็วไม่ใช่หรือ? ผู้ใหญ่ก็ล้มเหลวในความรักได้ไม่ใช่หรือ?

ถ้าเป็นผู้ใหญ่พาเด็กไปเข้าโรงแรมม่านรูดก็แปลว่าไม่ผิดงั้นหรือ?

กฎศีลธรรมกับสิทธิเสรีภาพของมนุษย์จึงดูสวนทางกันในกรณีนี้



สุดท้ายก็คือเรื่องของการจัดชุมนุมมงคลสมรส หลักการเดียวกับการอุปสมบทหมู่ในวันสำคัญทางศาสนา วันแห่งความรักก็มีการสมรสหมู่เช่นกันตามที่ทำการอำเภอซึ่งได้ครอบครองชื่ออันเป็นมงคลในความรักก็จะได้รับการเยี่ยมเยียนมากเป็นพิเศษในวันนี้
ข่าวโทรทัศน์ก็จะต้องไปตามทำข่าว ถ่ายทอดความรักความหวานชื่น
การท่องเที่ยวก็จะจัดงานสมรสโลดโผนต่างๆ ให้คู่รักได้มาเข้าร่วม ทั้งแต่งบนฟ้า แต่งในน้ำ และอีกมากมายเกินจินตนาการ

การแต่งงานคืออะไร
คือการใช้ชีวิตร่วมกันระหว่างคนสองคนเป็นหลัก และคนรอบๆ ตัวที่คอยห้อมล้อมใช่หรือไม่

ถ้าแก่นแกนของการแต่งงานเป็นเช่นนั้นจริง
ทำไมเราถึงยังไม่มีการอนุญาตให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ในหลายๆ ประเทศเล่า เขาหรือเธอทั้งสองคนมีความรักต่อกัน สามารถดูแลกันและกันได้ในทุกช่วงชีวิต คนรอบตัวคงมีบ้างทั้งที่ยอมรับและไม่ยอมรับ (ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับการแต่งงาน ระหว่างเพศตรงข้ามหรอก) แล้วทำไมถึงจะแต่งงานกันแบบถูกต้องตามกฎหมายไม่ได้?

ทำไมเวลามีงานแต่งแบบนี้ถึงได้แค่ผูกข้อไม้ข้อมือและได้ลงหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์เพราะความ "แปลก"


เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมา
มันมีทุกปี แล้วพวกเราก็แสดงความคิดเห็นกันทุกปี
เห็นด้วยบ้าง เห็นต่างบ้าง ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป ยึดเอาเสรีภาพและสิทธิ์ของความเป็นมนุษย์บ้าง ยึดหลักศีลธรรมบ้าง ยึดความน่าจะเป็นบ้าง

คุณเป็นแบบไหน? แล้วคุณยึดมั่นกับหลักคิดในแนวเดียวกันทุกเรื่องหรือไม่

หนังสือเล่มนี้มีคำตอบสำหรับคุณ

มันเป็นหนังสือที่สนุกมาก, สนุกทั้งเรื่องราวในตัวหนังสือเอง และสนุกสำหรับการมาคิดต่อ เปรียบเทียบ และสร้างคำถามใหม่ๆ

ส่วนมนุษย์สายลมแสงแดดและอายุเกิน 18 อย่างฉัน

ซึ่งมีสิทธิ์จะออกไปทำอะไรก็ได้ที่อยากทำในคืนนี้และรับรู้ถึงความสำคัญของมัน

พอๆ กับไม่ได้ให้ความสำคัญอะไรกับมันก็จะมีชีวิตในแบบที่ตัวเองชอบต่อไป

ขอให้มีความสุขกับสิ่งที่เชื่อกันทุกคนค่ะ


* * * * * * * * * * * * * * * * * * *

"ความยุติธรรม" ( Justice : What's The Right Thing To Do? ) เขียนโดย ไมเคิล เจ. แซนเตล แปลโดย สฤณี อาชวานันทกุล ฉบับพิมพ์ครั้งแรก โดยสำนักพิมพ์โอเพ่นเวิลต์ส ตุลาคม, 2554



++

Amartya Sen: Development as Freedom (หนังสือดีที่ท่านอธิการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ควรอ่าน)
โดย อภิชาต สถิตนิรามัย apichat@econ.tu.ac.th
ใน http://thaipublica.org/2012/02/amartya-sen-development-as-freedom/ . . 8 กุมภาพันธ์ 2012


หนังสือของอมาตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์ระดับรางวัลโนเบลเล่มนี้ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดครั้งใหญ่ในแวดวงการพัฒนา งานชิ้นนี้เสนอว่า การขยายขอบเขตของเสรีภาพในหลายๆ ด้านของทุกผู้คนในสังคม ควรเป็นเป้าหมายหลักแห่งการพัฒนา เพื่อให้ผู้คนสามารถเลือก หรือมีทางเลือกที่จะดำเนินชีวิต หรือเลือกที่จะมีวิถีชีวิตในแบบที่ตนให้คุณค่าได้ ในแง่นี้ เราควรข้ามพ้นการวางเป้าหมายการพัฒนาอย่างแคบๆ เช่น การขยายตัวของรายได้ประชาชาติ เนื่องจากรายได้อย่างมากก็เป็นเพียงแค่เครื่องมือในการดำรงชีพเท่านั้น แนวคิดนี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากทั้งนักปฎิบัติและนักคิด จนกลายเป็นปรัชญาพื้นฐานต่อการพัฒนาในยุคปัจจุบัน

สาเหตุที่เซนเสนอให้เสรีภาพเป็นเป้าหมายของการพัฒนานั้น เนื่องจากเขาเห็นว่า เสรีภาพและสิทธิทางการเมืองมีความสำคัญต่อการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจใน 3 ลักษณะ คือ


1. เสรีภาพมีคุณค่าโดยตัวมันเอง (constitutive role)

เซนเสนอว่า เสรีภาพมีความสำคัญและมีคุณค่าในตัวมันเอง คนในยุคสมัยปัจจุบันอาจลืมไปแล้วว่า ในยุคที่การบังคับใช้แรงงานทาสและแรงงานไพร่เป็นเรื่องถูกกฎหมายนั้น ไม่ว่าจะเป็นสังคมตะวันตกหรือตะวันออก ก็จะมีปรากฎการณ์ไพร่หรือทาสหนีนายเพื่อแสวงหาอิสระภาพ ทั้งๆ หากถูกตามจับกลับมาได้ ก็อาจต้องเผชิญกับการลงโทษอย่างรุนแรงของผู้มีอำนาจ ในประวัติศาสตร์ของอเมริกา มีตัวอย่างของทาสผิวดำจำนวนมากที่หลบหนีขึ้นเหนือเพื่อกลายเป็นแรงงานเสรี ทั้งๆ ที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ชี้ว่า ชีวิตความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจของแรงงานเสรีของรัฐทางเหนือไม่ได้สูงไปกว่าทาสในมลรัฐทางใต้เลย

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ เสรีภาพจากความหิวโหย ในกรณีนี้ เซนเปรียบเทียบระหว่างคนที่หิวโหย เพราะขาดซึ่งปัจจัยอันจำเป็นแก่การดำรงชีวิต กับคนที่หิวโหยเพราะอดอาหารตามความเชื่อทางศาสนา (หรือทางการเมืองก็ตาม) ผลทางกายภาพที่เกิดแก่คนในทั้งสองกรณีย่อมเหมือนกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ ผู้ที่อดอาหารตามความเชื่อย่อมมีเสรีภาพที่จะเลิกอดอาหารเมื่อใดก็ได้ ในขณะที่อีกคนหนึ่งไม่ได้มีเสรีภาพที่จะทำเช่นนั้น ตัวอย่างทั้งสองนี้สะท้อนว่า คนเรามีเหตุผลที่จะให้คุณค่ากับเสรีภาพโดยตัวมันเอง โดยไม่จำเป็นต้องหาเหตุผลเชิงเครื่องมือหรือเชิงอื่นมารองรับความสำคัญของเสรีภาพ กล่าวในแง่นี้แล้ว เสรีภาพจึงมีคุณค่าโดยตัวมันเอง ดังนั้นมันจึงควรเป็นเป้าหมายแห่งการพัฒนาของสังคม


2. เสรีภาพในฐานะเครื่องมือ-วิธีการในการพัฒนา (instrumental role)

เสรีภาพและสิทธิทางการเมือง นอกจากจะมีคุณค่าโดยตัวเองแล้ว ยังเป็นเครื่องมือ-วิธีการเพื่อการพัฒนาที่มีประสิทธิผลสูงอีกด้วย ในความหมายนี้ เซนเสนอว่า จากหลักฐานเชิงประจักษ์แล้ว ไม่เคยพบว่าภาวะทุพภิกขภัย (famine) เกิดขึ้นในสังคมการเมืองที่เป็นเอกราช, มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีการเลือกตั้งสม่ำเสมอ, มีฝ่ายค้านคอยวิจารณ์รัฐบาล, สื่อมวลชนมีเสรีภาพที่จะรายงานข่าวและตั้งคำถามต่อนโยบายของรัฐบาลโดยไม่ถูกเซ็นเซอร์ ตรงกันข้าม ภาวะการอด (จน) ตายนี้กลับเคยเกิดขึ้นในระบอบการปกครองแบบเผด็จการ, ในประเทศราชอาณาจักรโบราณ, ในสังคมอำนาจนิยม, ในสังคมเผด็จการที่ปกครองด้วยเทคโนแครต, ในประเทศอาณานิคม หรือโดยระบบการปกครองแบบพรรคเดียวที่ไม่ฟังเสียงใคร

การที่ภาวะทุพภิกขภัยไม่เกิดในประเทศประชาธิปไตยนั้น เป็นเพราะผู้ปกครองหรือผู้ดำรงตำแหน่งสาธารณะในระบบนี้ มีแรงจูงใจที่จะต้องฟังเสียงและแก้ปัญหาให้แก่ประชาชน เพราะบุคคลสาธาณะเหล่านี้ต้องเผชิญกับการวิภาษวิจารณ์ของสื่อและฝ่ายค้าน ที่มีต่อนโยบายและการทำงานของรัฐ และยังต้องเผชิญกับการออกเสียงเลือกตั้ง ซึ่งก็คือการแต่งตั้งและถอดถอนผู้ปกครองโดยประชาชนอีกด้วย ในแง่นี้ เสรีภาพและสิทธิทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตยจึงทำหน้าที่เป็นเครื่องมือซึ่งบังคับให้ผู้ปกครองต้องตอบสนองความต้องการ (needs) ของประชาชน กล่าวอีกแบบคือ สิทธิและเสรีภาพไม่เพียงมีคุณค่าเชิงนามธรรมเท่านั้น แต่มัน “กินได้” ด้วย


3. เสรีภาพในฐานะเครื่องมือเพื่อการก่อร่างสร้างระบบคุณค่า (constructive role)

นอกจากเสรีภาพจะมีบทบาทเป็นเครื่องมือ ที่ช่วยให้ประชาชนได้รับการตอบสนองความจำเป็นทางเศรษฐกิจแล้ว เสรีภาพและสิทธิทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพทางการเมืองในการแสดงความเห็น, ถกเถียง, แลกเปลี่ยนความคิด, การโต้แย้ง, การวิภาษวิจารณ์อย่างเปิดเผย และการไม่เห็นด้วย (dissent) ยังมีบทบาทในการเสริมสร้าง-ทำความเข้าใจ (constructive role) ต่อทั้งมโนทัศน์ (concept) และความหมาย (comprehension) ของ “ความจำเป็น” (needs) อีกด้วย เนื่องจาก “ความทุกข์ทน” (miseries) และ “ความขาดแคลน” (deprivation) มีมากมายหลายแบบหลายประเภท

หากเรานำคำทั้งสองมารวมกันทื่อๆ เพื่อสร้างมโนทัศน์ว่าอะไรคือ “ความจำเป็น” แล้ว มันก็จะมีความหมายที่หยาบมาก ตัวอย่างเช่น มีของมากมายหลายสิ่งที่เรามีเหตุผลพอที่จะบอกว่ามันมีคุณค่าและเราอยากได้ เช่น เราอยากได้ชีวิตที่ยืนยาวและไม่มีวันตาย แต่ความเป็นอมตะจะกลายเป็น “ความจำเป็น” ไม่ได้ เนื่องจากมันเป็นไปไม่ได้ ในแง่นี้ มโนทัศน์ว่าอะไรคือความจำเป็นนั้นเกี่ยวพันอย่างยิ่งกับความคิดของเราว่า อะไรคือความทุกข์ยากและความขาดแคลนที่ป้องกันได้ และความเข้าใจว่าเราจะจัดการกับมันได้หรือไม่อย่างไร ในแง่นี้ การอภิปรายสาธารณะจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในกระบวนการเสริมสร้างความเข้าใจต่อความคิดเหล่านี้

ดังนั้น สิทธิทางการเมือง ซึ่งรวมถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จึงไม่เป็นเพียงแค่กระตุ้นให้สังคมตอบสนองต่อความจำเป็นทางเศรษฐกิจในเชิงเครื่องมือเท่านั้น แต่ยังเป็นแกนกลางของกระบวนการสร้างมโนทัศน์ว่า อะไรคือ “ความจำเป็น” อีกด้วย


กล่าวให้ซับซ้อนขึ้นแล้ว เสรีภาพและสิทธิทางการเมืองในการแสดงความคิดเห็น เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ของกระบวนการสร้างคุณค่า (formation of value) และการจัดลำดับความสำคัญ เป็นไปไม่ได้เลยที่คุณค่าและลำดับความสำคัญของเราจะเป็นอิสระจาก หรือไม่ได้รับอิทธิพลจากความแตกต่างระหว่างการมีกับการไม่มีกระบวนการแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างเสรี กล่าวอีกแบบนั้น การอภิปราย-การถกเถียงสาธารณะมีผลต่อเศรษฐกิจและสังคม ตัวอย่างเช่น การอภิปรายสาธารณะมีผลอย่างมากต่ออัตราการเจริญพันธุ์ของประเทศกำลังพัฒนา ในรัฐของประเทศอินเดียที่มีอัตราการรู้หนังสือสูงนั้น อัตราการเจริญพันธุ์ลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผลของการถกเถียงสาธารณะถึงผลร้ายของการมีอัตราเจริญพันธุ์สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้หญิงวัยเยาว์ การอภิปรายนี้มีผลต่อการสร้างคุณค่าว่า ครอบครัวสมัยใหม่ที่เป็นสุขนั้นจะต้องมีขนาดเล็ก การอภิปรายเรื่องนี้ในรัฐเคราล่า (Kerala) ทำให้รัฐนี้มีอัตราการเจริญพันธุ์เพียง 1.7 เท่านั้น ในขณะที่จีนซึ่งบังคับใช้นโยบายการมีบุตรหนึ่งคนต่อครอบครัวอย่างเข้มงวดและรุนแรง กลับมีอัตราการเจริญพันธุ์สูงถึง 1.9 ประสบการณ์ของจีนและเคราล่าสะท้อนว่า ในหลายเรื่องหลายประเด็น การใช้มาตรการบังคับนั้นไม่ได้มีประสิทธิผลสูงกว่าการเปิดให้มีการถกเถียงโดยเสรีเลย

เขียนมาถึงตรงนี้ ผมอดนึกถึงประกาศของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ห้ามจัดการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขมาตรา 112 ไม่ได้ ผมเดาว่าท่านอธิการบดีธรรมศาสตร์คงไม่เคยอ่านงานชิ้นนี้ของเซ็น เนื่องจากท่านเป็นนักกฎหมาย ผมหวังเพียงแค่ว่า หากท่านมีโอกาสอ่านแล้ว ท่านอาจจะหันไปทบทวนมติข้างต้นก็เป็นได้



+++

เช็กสต๊อกหนังสือ โดย หนุงหนิง nu_ning_inlove@hotmail
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1644 หน้า 81


๐๐ 100 ขั้นตอนสู่การเลิกรา (สำนักพิมพ์แซลมอน, จำนวน 216 หน้า, ราคา 220 บาท) โดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

รอให้คล้อยหลังวันแห่งความรักไปก่อนซะหน่อย แล้วค่อยหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านจะดีกว่านะ

เมื่อมี 100 ขั้นตอนการบอกรักได้ ทำมั้ยจะมี *100 ขั้นตอนสู่การเลิกรา* ไม่ได้ล่ะ

ทั้งๆ ที่ การบอกเลิกน่ะ ยากกว่า การบอกรัก หลายช่วงตัวทีเดียว ต้องใช้ศิลปะชั้นสูงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งเชียวนา

หนังสือเล่มนี้ไม่เชิงสอนวิธีการบอกเลิก แต่บอกวิธีว่า ถ้าต้องการเลิกรากันต้องทำอย่างไรให้ความรัก ความรู้สึกดีที่เขามีต่อเราจบสิ้นสะบั้นลง ประมาณว่าให้เขาทนไม่ได้ไปเอง อะไรยังเงี้ย เอ๊...แล้วมันต่างกันตรงไหนหว่า

ขั้นแรกเลย ต้อง *"หมดรัก"* นี่เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด และไม่มีไม่ได้เลย ถ้าหากอยากจะประสบความสำเร็จในการ "เลิกรา" รับรองว่าถ้าทำได้ ขั้นตอนที่เหลือก็ไม่มีอะไรยากอีกแล้ว

แต่ แต่ช้าแต่... ถามใจตัวเองให้แน่เสียก่อนว่า ต้องการแบบนั้นจริงๆ รึป่าว ถ้ายังอ้ำๆ อึ้งๆ อยู่กลับไปนอนคิดก่อนก็ได้นะ

แต่ถ้าคุณมีคุณสมบัติขั้นแรกนี้ไปแล้วละก็ ก้าวขึ้นสู่ขั้นตอนต่อไปนี้ได้เลย

ให้ทำตัวเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ อยากรู้ไปหมด ไม่เชื่อใจ ชอบจับผิด หึงหวงไม่เข้าท่า เรียกร้องความสนใจ ก้าวก่ายไปทุกเรื่อง ไม่มีเวลาให้ สนแต่เรื่องตัวเอง จู้จี้ขี้บ่น ของขึ้นง่าย ชอบควบคุม เงื่อนไขเยอะ ขี้งอน เชื่อแต่เพื่อน ไม่ดูแลตัวเอง ฯลฯ

เฮ้อ! เหนื่อย นี่แค่บางส่วนยังเพลียขนาดนี้ บางทีไม่ต้องเหนื่อยถึง 100 ข้อหรอก *แค่ 3 ข้อแรกบางคนเค้าก็ไปแล้วแหละ*

นั่นแน่ รู้นะแอบด่าอยู่ในใจล่ะสิ โรคจิตป่ะเนี่ย มาแนะนำอะไรกันแบบนี้ อยากเห็นคนเค้าโกรธกันหรือยังไงยะ อย่าเพิ่งให้พรกันขนาดนั้น ลองคิดในมุมกลับกันดูซิ เพราะการได้เห็นในสิ่งที่ไม่ดีก็ยิ่งทำให้เราตระหนักรู้ว่าสิ่งที่ดีเป็นอย่างไรใช่ป่ะ

ฉันใดก็ฉันเพล เอ้ย...ฉันนั้น ถ้าเราทำให้สิ่งตรงกันข้ามรับรองรักของเราก็จะยิ่งยืนยาวววววไงจ๊ะ


๐๐ กล้าล้ม...เพื่อที่จะชนะ (สำนักพิมพ์ Feel Good So Cool, จำนวน 176 หน้า, ราคา 145 บาท) โดย ศริยา ตั้งโฉลก

ทุกคนกลัวการล้ม เพราะคิดว่าเมื่อล้ม หมายถึงแพ้

หนังสือเล่มนี้พยายามบอกว่า อย่ากลัวที่จะล้ม ใครๆ ก็ล้มกันได้ ใครก็แพ้กันได้

*ความกลัวไม่เคยทำให้ใครชนะ*

แต่ไม่มีใครล้มไปตลอดชีวิตหรอก กล้าล้มวันนี้เพื่อที่จะชนะในวันหน้า

หากอยากได้ชัยชนะในทุกเป้าหมาย จงอย่ากลัว แน่นอนว่าไม่มีใครการันตีว่า เราจะชนะในทุกสิ่งที่หวัง แต่ที่แน่ๆ คุณชนะได้อย่างหนึ่งแล้วล่ะ ก็ชนะใจตัวเองไง

ยิ่งใหญ่กว่าอะไรทั้งหมดอีกนะ


๐๐ ต้นไม้ ไข่ไก่ และหัวใจหกคะเมน (สำนักพิมพ์แพรวเยาวชน, จำนวน 251 หน้า, ราคา 179 บาท) ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ แปลจากเรื่อง Flipped ผลงานของ เวนเดอลิน แวน ดราเน็น

เหตุเกิดเมื่อตอน ป.2 เมื่อไบรซ์ย้ายมาอยู่บ้านฝั่งตรงข้ามจูลี และห้องเรียนห้องเดียวกัน

ครั้งแรกที่จูลีเห็นไบรซ์ เธอแทบจะละลายลงไปตรงนั้น บางอย่างในดวงตาเขา ที่ทำให้เธอเสียสติไปเลยและอยากอยู่ใกล้ๆ เขาตลอดเวลา

แต่ครั้งแรกที่ไบรซ์เห็นจูลี เขาวิ่งหนี เห็นเธอเป็นตัวประหลาดน่ารำคาญ และอยากให้เธอเลิกยุ่งกะเขาเสียที

ไบรซ์มองว่าจูลีชอบทำอะไรแปลกๆ ปีนขึ้นไปอยู่บนต้นไม้ตรงป้ายรถเมล์ทุกเช้า เลี้ยงไก่ในสวนหลังบ้านดูสกปรกๆ และชอบนำไข่มาให้ที่บ้านเขาเป็นประจำ ซึ่งไบรซ์ก็เอาไปทิ้งทุกครั้ง

เป็นอย่างนี้อยู่ 6 ปี จนถึงชั้นมัธยม 2 จนกระทั่งต้นไม้ต้นโปรดของจูลีถูกตัดทิ้ง และเธอก็พบความจริงเรื่องไข่ ทำให้จูลีมองเห็นโลกในอีกมุมหนึ่ง ความจริงแล้วไบรซ์ไม่ใช่เทพบุตรอย่างที่เธอเคยคิด ส่วนไบรซ์ก็เริ่มเปลี่ยนความคิดที่เคยมีต่อจูลีเช่นกัน

นั่นแหละจึงเป็นที่มาของชื่อหนังสือ ต้นไม้ ไข่ไก่ และหัวใจหกคะเมน

หนังสือเล่มนี้แนะนำไว้ว่า *บางทีชีวิตเราก็พลาดสิ่งที่ดีที่สุดหรือคนที่ดีที่สุดไป*

เพียงเพราะความคิดแรกพบเท่านั้นเอง


๐๐ ศิลปวัฒนธรรม (ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2555,ราคา 120 บาท)

"แทบไม่น่าเชื่อ เมื่อรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ถูกสถาปนาขึ้นจากกระบวนการรวมศูนย์อำนาจทางการเมืองกลับเข้าสู่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ปรากฏผลสำเร็จขึ้นในปี 2435

แต่เพียงราว 2 ปี ภายหลังรัชกาลของพระผู้ทรงสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และพระผู้ทรงเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของสยามได้สิ้นสุดลง (2453) ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันเป็นพระราชมรดกของพระองค์ได้ถูกท้าทายอย่างหนักหน่วงจากกระแสความคิดสมัยใหม่ที่ก่อตัวขึ้นในกลุ่มคนชั้นใหม่ภายในสังคมสยาม

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ร.ศ.130 (2455) รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้เข้าจับกุมกลุ่มนายทหารและพลเรือนหัวก้าวหน้ากลุ่มหนึ่งที่คิดเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบประชาธิปไตย"

ณัฐพล ใจจริง กล่าวไว้ในบทความ *"สยามบน "ทางสองแพร่ง":1 ศตวรรษของความพยายามปฏิวัติ ร.ศ.130"*

ซึ่งทั้งน่าสนใจและชวนให้ติดตามยิ่งนัก


๐๐ ถ้าแฟนของคุณกำลังบ่น กำลังวีน กำลังเหวี่ยง กำลังเยอะ ไม่ว่าจะเพราะอะไรก็เถอะ

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า กรุณาอย่า "อธิบาย" เพราะมันจะกลายเป็น "ถกเถียง"

ฉะนั้น "อย่าอธิบาย" อย่าได้มี "เสียง" ปล่อยให้เธอบ่นไปเดี๋ยวเธอก็เหนื่อย ก็พาเธอไปพักเหนื่อยบนเตียง

ทีนี้คุณจะ "เรียบเรียง" ยังงัยแล้วแต่ฝีมือแต่ละคนล่ะกันนะ



.