http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-02-16

ไหนว่าแค่การบังคับใช้ โดย ใบตองแห้ง/ องค์กรสิทธิไทย-เอเชียชี้ 'สมยศ' ต้องได้ประกันตัว

.
รายงาน - ภรรยา-หลาน 'อากง' เข้าเยี่ยม 'ไท' วอนปล่อยตัวนักโทษ-ผู้ต้องหาคดีม. 112

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

'ใบตองแห้งออนไลน์': ไหนว่าแค่การบังคับใช้
จาก www.prachatai.com/journal/2012/02/39270 . . Wed, 2012-02-15 17:27


ใบตองแห้ง
15 ก.พ.55

การอดอาหารเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้พ่อ ของไท พฤกษาเกษมสุข ผ่านมา 4 วันแล้วยังไม่มีปฏิกิริยาตอบรับ ขณะที่สมยศถูกนำตัวไปสืบพยานถึงจังหวัดสงขลา แต่พยานไม่มาศาล เพราะพักอยู่ปทุมธานี สะดวกให้ปากคำที่กรุงเทพฯ

ก่อนหน้านี้ สมยศถูกนำตัวไปสืบพยานที่จังหวัดสระแก้ว เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ โดยถูกนำตัวตระเวนไปฝากขังตามเรือนจำจังหวัดต่างๆ ทั้งที่พยานส่วนใหญ่พักอยู่ในกรุงเทพฯ หรือปริมณฑล สามารถออกหมายเรียกให้มาสืบพยานที่กรุงเทพฯ ได้ แต่จำเลยกลับถูกนำตัวใส่ขื่อคาตระเวนไปทั่วประเทศ จนทนายบอกว่าเหมือนกลั่นแกล้งกัน

ถามว่านี่ใช่ไหม ปัญหาการบังคับใช้มาตรา 112 ที่ใครต่อใครแห่ออกมาพูดกันเซ็งแซ่ ว่าไม่ต้องแก้ ม.112 ให้แก้การบังคับใช้ ตั้งแต่ทักษิณไปจนอภิสิทธิ์ ตั้งแต่ ดร.เหลิมไปจน ดร.สุวินัย ตั้งแต่มีชัยไปจนบวรสาก

แต่ไม่ยักมีใครกล้าพูดชัดเจนเหมือนธงชัย วินิจจะกูล ที่บอกว่า “การใช้มาตรา 112 ในแบบล่าสุดระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมาคือใช้ทำลายจิตวิญญาณ หมายถึงการใช้อย่างไร้ความปรานีจนกว่าจะยอมรับสารภาพ คือมักจับไว้ก่อน ไม่ให้ประกันตัว พิจารณาลับ ลงโทษรุนแรง แต่ให้ความหวังว่าจะพ้นคุกได้เร็วถ้ายอมรับสารภาพ จนหลายคนยอมแพ้ในที่สุด นี่คือการทำร้ายถึงจิตวิญญาณ หากต้องการอิสรภาพทางกายต้องยอมแพ้ราบคาบทางมโนสำนึก ชีวิตที่มีอิสระทางกายต้องขังจิตวิญญาณเสรีไว้ข้างในตลอดไป”

ปัญหาการบังคับใช้ 112 จึงไม่ใช่แค่ใครก็แจ้งความร้องทุกข์ได้ ปัญหาการบังคับใช้ยังรวมถึงการที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยมักไม่ได้ประกัน โดยอ้างว่าเกรงจะหลบหนี ซึ่งก็เป็นปัญหาวัวพันหลัก ในเมื่อคดีนี้ มักไม่ให้ประกัน ใครโดนคนนั้นก็ต้องหนี ใครเล่าอยากสู้คดีโดยต้องตระเวนไปนอนเรือนจำ 77 จังหวัดอย่างสมยศ

และแน่นอน ยังเกี่ยวพันกับอัตราโทษ เพราะศาลมักอ้างว่าโทษสูง เกรงจำเลยหลบหนี

การไม่ได้ประกันตัวทำให้จำเลย 99.99% เลือกยอมรับสารภาพ เพื่อให้คดีถึงที่สุด เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งก็มักได้รับพระมหากรุณาธิคุณ แต่ผลทางกฎหมายคือ มีคดีน้อยมากที่ขึ้นถึงศาลฎีกาจนมีคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐาน

พูดอีกอย่างคือ คำพิพากษาคดี 112 กว่า 99.99% ไม่ถือเป็นบรรทัดฐาน เพราะเป็นแค่คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่จำเลยส่วนใหญ่ไม่สู้คดีด้วยซ้ำ หรือสู้ไปแล้วก็ต้องถอดใจ ทั้งที่เป็นคนมีจิตใจแข็งแกร่งอย่างดา ตอร์ปิโด

นั่นทำให้ความผิดฐาน “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ยิ่งกว้างขวางคลุมเครือ เพราะเมื่อใครคนหนึ่งถูกกล่าวหาว่าทำผิด ใครคนหนึ่งไปแจ้งความร้องทุกข์ แล้วคนที่ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ได้ประกันตัว ศาลสืบพยานไป 2-3 ปาก จำเลยชิงรับสารภาพ คดีเป็นสิ้นสุด สรุปความได้ว่าพฤติกรรมเช่นนี้ ผิดตาม 112 ต่อมาใครทำอย่างนี้ก็โดนอีก

ทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นบรรทัดฐานว่า พฤติกรรมเช่นนี้ ผิดจริงหรือไม่

พฤติกรรม A พฤติกรรม B พฤติกรรม C….. ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ทั้งที่ถ้าคดีขึ้นสู่ศาลฎีกา อาจมีเพียงพฤติกรรม C ที่ผิดจริง แต่แทบทุกคดีถูกยุติก่อนขึ้นศาลฎีกา

นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวกับมาตรา 112 ซึ่งต้องถามว่าเป็นแค่ปัญหาการบังคับใช้ หรือเกี่ยวกับตัวมาตรา หรือยิ่งกว่านั้นคืออุดมการณ์ “กษัตริย์นิยม” ของผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม


ในฐานะผู้สนับสนุนนิติราษฎร์ ผมไม่มีปัญหาเลยถ้าการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 คว้าน้ำเหลว แต่มีการแก้ไขปัญหาในทางปฏิบัติ เช่น ยับยั้งการดำเนินคดีที่ไม่มีมูลเพียงพอ อย่างกรณีก้านธูป หรือนักปรัชญาชายขอบ ให้ประกันตัวผู้ที่ถูกดำเนินคดี หรืออยู่ระหว่างพิจารณาคดี ขณะเดียวกันก็เร่งกระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษ สำหรับผู้ที่คดีสิ้นสุดแล้ว

ถ้าปัญหาในทางปฏิบัติจบลง หรือลดลงไป ไม่มีใครถูกเล่นงานด้วย 112 อีก กระแสแก้ไขก็จะโทรมลงไป นี่คือวิถีของการเมือง แต่ตราบใดยังมีปัญหาในทางปฏิบัติ เชื้อไฟนี้ก็ยังคุโชนอยู่ รอเวลาปะทุอีกครั้งเท่านั้น

อย่าลืมนะครับว่า พ้น 112 วัน ครก.อาจยื่นรายชื่อ 10,000 คนแล้วสภาไม่รับ ข้อเสนอตกไป แต่ตัวร่างของนิติราษฎร์ยังอยู่ 1 ปีข้างหน้า 2 ปีข้างหน้า 3 ปีข้างหน้า ใครก็หยิบไปล่ารายชื่อใหม่ได้ทุกเมื่อ

ไม่มีใครชนะ



การได้ฟังปาฐกถาของธงชัย วินิจจะกูล ถือเป็นการเปิดกะโหลกเติมปัญญาอย่างแท้จริง ทำให้มองทะลุสถานการณ์ที่วิสัยคนทำข่าวมักพัวพันแต่เฉพาะหน้า

นอกจากนั้นยังเป็นการสรุปประวัติศาสตร์ให้ชัดเจน เช่นการมองว่า ประชาธิปไตยแบบอำมาตย์เพิ่งถือกำเนิดเมื่อ 14 ตุลา 2516 นี่เอง มิน่า รุ่นพี่ๆ เราที่ผ่าน 14 ตุลามา หลายคนถึงกลายเป็นผู้สนับสนุนประชาธิปไตยแบบอำมาตย์

น่าเสียดายที่สื่อกระแสหลักไม่กล้าเสนอประเด็นสำคัญในปาฐกถาธงชัย นั่นคือการกล่าวถึงประชาธิปไตยแบบอำมาตย์ ภายใต้ “ลัทธิกษัตริย์นิยม” ว่าแยกไม่ออกจากตัวบุคคล ถ้าไม่ยอมปรับตัว ก็อาจทำให้สถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตยไปด้วยกันไม่ได้

สื่อไม่กล้าแม้แต่จะเอาไปโจมตี ซึ่งจะทำให้ประเด็นของธงชัยขึ้นมาเป็นกระแสสนใจ นี่ก็เข้าตามที่ธงชัยพูดอีกนั่นแหละ สังคมไทยหลอกตัวเอง พวกลัทธิกษัตริย์นิยมหลอกตัวเองไปวันๆ ว่าสภาพที่ดำรงอยู่นี้จะเป็นไปชั่วนิรันดร์ หรือชั่วชีวิตของตน (ถ้าเป็นชั่วชีวิตของ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร คงไม่เถียง)


อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ผมประทับใจในปาฐกถาของธงชัย ไม่ใช่จุดแตกหักระหว่างประชาธิปไตยกับ “กษัตริย์นิยม” แต่เป็นคำเตือนที่ว่า ถ้ามันเกิดขึ้นจริง ก็แพ้กันหมด ไม่มีใครชนะ

หลายคนที่ฟังปาฐกถา สะใจว่างานนี้ธงชัย “แรง” “จัดหนัก” แต่สำหรับผม เห็นว่านี่คือความกล้าหาญ พูดความจริงอย่างตรงไปตรงมา และไม่ใช่พูดให้สะใจ แต่พูดเพื่อเตือนสติ เพื่อให้พวกกษัตริย์นิยม “ปรับตัว”

ธงชัยย้ำอยู่ 2-3 ครั้งว่า ถ้าไปถึงจุดที่สถาบันกษัตริย์กับระบอบประชาธิปไตยไปด้วยกันไม่ได้ มันก็ไม่ใช่ความสะใจ แต่มันคือสถานการณ์ที่ “แพ้กันหมด ไม่มีใครชนะตอนหนึ่งยังกล่าวว่าเขามักถูกเพื่อนพ้องเก่าๆ มองว่าเขาเห็นอกเห็นใจรอแยลลิสต์ แต่ธงชัยยืนยันว่าไม่ใช่ เขาไม่ได้ห่วงใยอย่างนั้น แต่เขากลัวว่าถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ก็เป็นอันตรายทั้งสถาบันและประชาธิปไตย และจะทำให้ทุกคนเสียหายหมด

ผมไม่เคยสนิทกับธงชัยสมัยเรียนธรรมศาสตร์ เพราะทำกิจกรรมคนละกลุ่ม ไม่เคยเจอกันจนวิกฤต 4-5 ปีที่ผ่านมา จึงได้ฟังได้คุยทั้งวงเล็กวงใหญ่ วงนอกวงใน แต่กระทั่งในวงที่คุยกันได้หมดเปลือก ธงชัยก็ย้ำเช่นนี้เสมอมา ช่วงหนึ่งที่เสื้อแดงพูดๆ กันถึง “ปฏิวัติประชาชน” ธงชัยก็ไม่ได้สนับสนุน เพราะเขาเห็นว่ามันจะสร้างความเสียหาย โดยเฉพาะชีวิตคนที่ไม่ควรสูญเสีย

แอคทิวิสต์รุ่นหลังที่เข้าข้างเสื้อเหลือง มักมองคนรุ่น 6 ตุลาว่ากลายเป็น “ตุลาแดง” เพราะความเคียดแค้นจากอดีต ผมไม่ปฏิเสธสำหรับบางคน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด และน่าจะไม่ใช่ส่วนใหญ่ด้วย เพราะผมเชื่อว่ามีเพื่อนจำนวนมากคิดอย่างธงชัย


ในฐานะคนรุ่น 6 ตุลา เราคงไม่กระแดะพูดว่า “จงรักภักดี” คงไม่บอกว่าอยากให้แก้ 112 อยากให้ปฏิรูปสถาบัน “ด้วยความจงรักภักดี” แต่มันก็ไม่ได้แปลว่าเราคิดตรงข้าม มันไม่ได้แปลว่าทุกคนในสังคมไทยต้องเลือกระหว่าง “รักเจ้า” กับ “ล้มเจ้า” ทางเลือกไม่ได้มีแค่นี้

คนรุ่น 6 ตุลาไม่ได้ตัดตอนความคิดอุดมการณ์แค่เพื่อนเราถูกฆาตกรรมกลางเมือง เพราะหลังจากนั้น เรายังเข้าสู่การสู้รบในสงครามกลางเมืองกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย พลีชีวิต เลือดเนื้อ หยาดเหงื่อ แรงใจ ก่อนที่จะเกิดความขัดแย้งกับ “เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ” ขบวนแตก อุดมการณ์ล่มสลาย กลับกลายเป็นมนุษย์รุ่นที่ผิดหวัง เคว้งคว้าง ว่างเปล่า

เราผ่านอะไรมามากกว่าที่คนคิด เจ็บปวดมากกว่าที่คนรู้ สูญเสียมากกว่าชีวิต ร่างกาย หรือสถานะทางสังคม นั่นคือบทเรียนที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก ไม่ว่ากับใคร ไม่อยากเห็นความสุดขั้วสุดโต่ง ไม่ว่าฝ่ายไหน

ฉะนั้น ในขณะที่เราจะไม่กระแดะพูดว่า “จงรักภักดี” แต่เราก็พูดได้เต็มปากว่าเราไม่ต้องการเห็นจุดที่สถาบันกษัตริย์กับระบอบประชาธิปไตยไปด้วยกันไม่ได้ เพราะถ้าเกิดสถานการณ์อย่างนั้น ก็คือหายนะของประเทศ จะเกิดความสูญเสีย ทั้งชีวิต เลือดเนื้อ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกว้างขวางต่อชะตากรรมของคนไทย 70 ล้านคน

แต่ถ้าจะไม่ให้เราผลักดันต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยตามอุดมการณ์ ก็เป็นไปไม่ได้ จะให้มวลชนที่เติบโตเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ เสมอภาค ถอยหลังเข้าคลอง ก็เป็นไปไม่ได้ ธงชัยจึงเรียกร้องให้ฝ่ายกษัตริย์นิยม “ปรับตัว” เพื่อการอยู่ร่วมกัน ก่อนที่จะ “แพ้ด้วยกันทั้งหมด” ไม่มีใครได้ มีแต่ความสูญเสีย

นี่คือสิ่งที่ผมประทับใจจากการฟังธงชัยเสมอมา ไม่ว่าเนื้อหา “จัดหนัก” อย่างไรแต่เป้าหมายของเขาชัดเจน



++

องค์กรสิทธิไทย-เอเชียชี้ 'สมยศ' ต้องได้ประกันตัว
จาก www.prachatai.com/journal/2012/02/39274 . . Wed, 2012-02-15 21:36


10 องค์กรสิทธิไทย-เอเชีย เรียกร้องจนท.รัฐปล่อยตัวสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องหาคดีม. 112 แนะศาลทบทวนการตีความและใช้กฎหมายเพื่อให้สอดคล้องหลักสิทธิเสรีภาพ ตามเจตนารมณ์ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล

15 ก.พ. 55 - องค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและเอเชีย 10 แห่ง เช่น เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องต่อเจ้าหน้าที่พนักงานและศาลไทย ให้สิทธิการประกันตัวนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องหาคดีม. 112 จากการเป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสารวอยซ์ ออฟ ทักษิณ โดยชี้ว่า สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสากลที่มนุษย์ควรได้รับอย่างเท่าเทียม

แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า หากมีการตีความยกเว้นของกฎหมายกรณีไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ศาลจำเป็นต้องมีพยานหลักฐานที่เป็นภาวะวิสัยและน่าเชื่อถือ และตีความกฎหมายอย่างเคร่งครัด ถ้าเจ้าหน้าที่พนักงานไม่มีหลักฐานที่ทำให้เชื่อได้ว่าพยานจะหลบหนีหรือยุ่งกับหลักฐาน ก็จำเป็นต้องให้ประกันตัวแก่จำเลย และปฏิบัติแก่ผู้ต้องหาในฐานะผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะสามารถพิสูจน์ความผิดตามกระบวนการทางกฎหมาย ตามที่ระบุไว้เป็นหลักการว่าในคดีอาญา รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 39 วรรค 2 ประกอบ วรรค 3

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

แถลงการณ์การปล่อยตัวชั่วคราว นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข
และจำเลยในคดีอาญาอื่น ที่ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

สืบเนื่องจากกรณีที่ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมด้านแรงงาน แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และบรรณาธิการบริหาร นิตยสาร วอยซ์ ออฟ ทักษิณ ได้ถูกจับกุมดำเนินคดีข้อหาละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 112 ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2554 และไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวนับตั้งแต่ถูกจับกุมต่อเนื่องจนมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 10 เดือน ล่าสุดนายปณิธาน พฤกษาเกษมสุข บุตรชายของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ได้ออกมาอดข้าวประท้วงคำสั่งของศาลอาญาที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวแก่นายสมยศ ทั้งที่มีการยื่นคำร้องไปแล้วถึง 7 ครั้ง ด้วยการเสนอหลักทรัพย์ประกันที่สูงพอสมควร เพื่อเรียกร้องสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวให้แก่บิดา ปรากฏเป็นข่าวตามสื่ออย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

องค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ เห็นว่า ประเด็นเรื่องสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และเป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามจากสังคมถึงความถูกต้องเหมาะสมมาโดยตลอด จึงขอแสดงความเห็นและข้อเสนอในประเด็นดังกล่าว ดังต่อไปนี้

1. สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เป็นสากล ซึ่งมนุษย์ทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียม

สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 40 (7) หรือแม้แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 107 เองก็ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “เมื่อได้รับคำร้องให้ปล่อยชั่วคราว ให้เจ้าพนักงานหรือศาลรีบสั่งอย่างรวดเร็ว และผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 108 มาตรา 108/1 มาตรา 109 มาตรา 110 มาตรา 111 มาตรา 112 มาตรา 113 และมาตรา 113/1” ซึ่งสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ( International Covenant on Civil and Political Rights) ที่ประเทศไทยได้ลงนามเข้าร่วมเป็นภาคีด้วย ได้ระบุไว้โดยชัดแจ้งในข้อ 9 ข้อย่อย 3 ว่า มิให้ถือเป็นหลักว่าผู้ถูกจับจะต้องถูกควบคุมตัวไว้ในระหว่างการพิจารณาคดี ดังนั้น สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจึงเป็นหลักกฎหมายที่สำคัญ ซึ่งทั้งกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในของไทยได้บัญญัติรับรองไว้อย่างชัดแจ้ง และผูกพันให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเคารพและยึดถือปฏิบัติอย่างเท่าเทียม

2. การตีความข้อยกเว้นของกฎหมายกรณีไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ต้องเป็นกรณีที่จำเป็นอย่างยิ่ง โดยต้องมีพยานหลักฐานที่เป็นภาวะวิสัยและน่าเชื่อถือรองรับทุกกรณี

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1 ได้บัญญัติข้อยกเว้นที่ให้เจ้าพนักงานหรือศาลมีอำนาจไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้หากมีเหตุอันควรเชื่อบางประการ ได้แก่

(1) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี

(2) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

(3) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น

(4) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ

(5) การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล

ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยตัวชั่วคราวพึงตระหนักเสมอว่า การไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเป็นเพียงข้อยกเว้นเท่านั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัด โดยในกรณีที่จะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเป็นต้องมีพยานหลักฐานที่เป็นภาวะวิสัยและน่าเชื่อถือประกอบในทุกกรณี หากพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่สามารถหาพยานหลักฐานที่เป็นภาวะวิสัยและน่าเชื่อถือมาสนับสนุนการคัดค้านการให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้ ศาลก็ต้องอนุญาตให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวเสมอ

3. ศาลมีหน้าที่ตีความกฎหมายให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ และเป็นไปตามหลักสากล เพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยทำให้สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นจริงในทางปฏิบัติในทุกกรณี

กฎหมายลายลักษณ์อักษรที่บัญญัติรับรองและคุ้มครองสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยย่อมไร้ความหมายหากองค์กรที่มีหน้าที่บังคับใช้และตีความกฎหมายไม่ตีความให้สอดคล้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลย เนื่องจากกฎหมายจะนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริงก็แต่โดยการใช้การตีความของผู้ปฏิบัติ

ดังที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 27 ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า “สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยายหรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง” ด้วยเหตุนี้เจ้าพนักงานตำรวจและศาลจึงไม่อาจตีความกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาได้ แต่ต้องตีความกฎหมายโดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญมาตรา 40 (7) บัญญัติรับรองไว้เป็นหลักสำคัญ เพื่อทำให้สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นจริงในทางปฏิบัติ

4. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 39 วรรค 2 ประกอบ วรรค 3 ได้บัญญัติไว้เป็นหลักการว่าในคดีอาญาต้องสันนิษฐานว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด

ดังนั้นก่อนศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าบุคคลใดกระทำความผิด การปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดแล้วย่อมไม่อาจกระทำได้ การที่นายสมยศ พฤกษาเกษมสุขและผู้ต้องหาหรือจำเลยคนอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีอาญา ต้องถูกคุมขังเพราะเหตุไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวอยู่ในเรือนจำรวมกับผู้ต้องขังที่ศาลได้พิพากษาจนถึงที่สุดแล้วนั้น จึงขัดต่อหลักการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรานี้ด้วย

จากหลักการและเหตุผลที่กล่าวมา เราขอเรียกร้องให้เจ้าพนักงานตำรวจและศาลตีความ และปรับใช้กฎหมายเรื่องปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้ความสำคัญและเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลยในฐานะที่เป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ในขณะที่สังคมกำลังให้ความสนใจในคดีของ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ศาลก็มีหน้าที่ในการที่จะแสดงให้สังคมเห็นว่า ตนได้ใช้และตีความกฎหมายโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของจำเลยตามที่กฎหมายกำหนดอย่างครบถ้วนแล้ว โดยพิจารณาให้ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวตามกฎหมาย เพื่อเป็นบรรทัดฐานที่ดีในการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอื่นๆ ต่อไป

แถลง ณ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555

เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA)
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม(CrCF)
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.)
โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม(EnLAW)
มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม(MAC)
สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย(AIHR)
ศูนย์ข้อมูลชุมชน(CRC)
เครือข่ายพลเมืองเน็ต(Thai Netizen Network)
ศูนย์พัฒนาเด็กและเครือข่ายชุมชน
โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ



+++
ภาพรณรงค์ปล่อยตัวชั่วคราวแก่ผู้ต้องหาในอดีตของสมยศ

ภรรยา-หลาน 'อากง' เข้าเยี่ยม 'ไท' วอนปล่อยตัวนักโทษ-ผู้ต้องหาคดีม. 112
จาก www.prachatai.com/journal/2012/02/39260 . . Wed, 2012-02-15 12:13


15 ก.พ. 55 - เวลา 12.00 น. บริเวณหน้าฟุตบาท หน้าศาลอาญา ถนนรัชดา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 'ไท' หรือปณิธาน พฤกษาเกษมสุข ยังคงอดอาหารต่อเป็นวันที่ 5 โดยในวันนี้ยังคงมีผู้ให้กำลังใจเดินทางเข้ามาเยี่ยมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงภรรยาและหลานของ 'อากง' หรือนายอำพล (สงวนนามสกุล) ผู้ถูกตัดสินจำคุก 20 ปี เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จากการถูกกล่าวหาว่าส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือหมิ่นเบื้องสูงไปยังเลขาฯ ของอดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

นอกจากนี้ มีรายงานว่า สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาคประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เดินทางมาเยี่ยมและเข้าพูดคุยกับนายปณิธานด้วย

โดยกลุ่มผู้จัด ระบุว่า ในวันนี้ จะมีกิจกรรมให้ผู้ที่สนใจร่วมอดอาหารกับ "ไท" ระหว่าง 6 โมงเช้า ถึง 6 โมงเย็น

มารดาของนายสุรภักดิ์ (ขอสงวนนามสกุล) ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ได้เข้าเยี่ยมนายปณิธานด้วย ทั้งนี้นายสุรภักดิ์ ถูกจับกุมหลังโพสต์ความเห็นลงในเฟซบุค โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินคดี โดยไม่ได้รับอนุมัติการประกันตัว



.